ธนาคารปูม้าสตูลโชว์ผลงานเข้มแข็ง เปิดศูนย์เรียนรู้แห่งใหม่ที่ตะโล๊ะใส

              ผศ.ดร.ทัศนภา ว่องสนั่นศิลป์ หัวหน้าโครงการ พร้อมด้วยนายประพัตร์ แก้วมณี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลสตูล และคณะทีมวิจัย ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามผลการดำเนินงานธนาคารปูม้าในจังหวัดสตูล ครอบคลุม 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ท่าแพ ทุ่งหว้า และละงู  รหว่างวันที่ 16-19 มกราคม 2568

                การติดตามผลในรอบ 8 เดือนที่ผ่านมา มุ่งเน้นการประเมินในหลายด้าน อาทิ การติดตามจำนวนแม่ปูม้าที่เข้าสู่ธนาคาร การปล่อยลูกปูม้าแรกฟักคืนสู่ทะเลไทย และรายได้จากการจำหน่ายสาหร่ายขนนก ผลการดำเนินงานพบว่า กลุ่มธนาคารปูม้าสามารถบรรลุเป้าหมายตามแผนการดำเนินงานที่กำหนดไว้ทุกประการ โดยแต่ละธนาคารได้มีการจัดเก็บสถิติอย่างเป็นระบบ ทั้งจำนวนแม่ปูม้าและการปล่อยลูกปูม้าแรกฟักในแต่ละวันและเดือน

            นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้ติดตามผลการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปูม้าของสมาชิกครอบครัวธนาคารปูม้า ทั้งเพื่อการบริโภคในครัวเรือนและการพัฒนาด้านการตลาด เพื่อขยายโอกาสทางการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์แปรรูปปูม้า

              ในโอกาสนี้ ได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้า” ประจำปีงบประมาณ 2567 ณ ธนาคารปูม้าตะโล๊ะใส อำเภอละงู จังหวัดสตูล โดยมีนายกัมพล ถิ่นทะเล ประธานธนาคารปูม้าตะโล๊ะใส เป็นผู้รับมอบป้ายศูนย์เรียนรู้ ป้ายนิทรรศการองค์ความรู้ และอุปกรณ์สนับสนุนต่างๆ

            ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้จะเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับ:- การอนุรักษ์และการจัดการปูม้า   – การเพาะเลี้ยงหอยชักตีน  – การเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนนก

              ทางศูนย์ได้เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร โดยจัดเตรียมชาวบ้านและอาสาสมัครมัคคุเทศก์น้อย (เยาวชน/นักเรียน) เพื่อเป็นผู้บรรยายให้ความรู้แก่ผู้เยี่ยมชม ทั้งในด้านการจัดการธนาคารปูม้าและแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ เช่น อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา และสะพานข้ามกาลเวลา

              การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ครั้งนี้ มีเป้าหมายสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของธนาคารปูม้าต่อความยั่งยืนด้านอาหารทะเลของประเทศไทย ทั้งในพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน

อัพเดทล่าสุด