ปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต แม้ไม่ละเมิดแต่รัฐยังต้องรับผิด !

ดย ลุงถูกต้อง

          “หลักความรับผิดโดยปราศจากความผิด อาจไม่ค่อยคุ้นหูมากนัก แต่หลักการนี้สำคัญ
และคุ้มครองประชาชนที่ได้รับความเสียหายหรือรับผลกระทบจากการจัดทำบริการสาธารณะหรือการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งการรับภาระสาธารณะเกินสมควรกว่าบุคคลทั่วไป และการรับความเสี่ยงภัย
เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งวันนี้ … จะมาคุยกันถึงเรื่องการรับความเสี่ยงภัยจากการปฏิบัติหน้าที่ในการจับกุมผู้ร้าย

 

            ทั้งนี้ หลักความรับผิดโดยปราศจากความผิดและทฤษฎีเสี่ยงภัยมาจากแนวคิดที่ว่า รัฐมีอำนาจในการดำเนินงานต่าง ๆ ตามกฎหมาย แต่หากการดำเนินกิจกรรมบางลักษณะก่อให้เกิดความเสี่ยงภัย
หรืออันตรายซึ่งทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน และประชาชนบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้รับภัยนั้น
เป็นกรณีพิเศษ แม้รัฐจะไม่ได้กระทำความผิดใด ๆ ก็ตาม รัฐก็ต้องรับผลในการกระทำนั้น รวมทั้งต้องเยียวยา
ความเสียหายอันเกิดจากการดำเนินกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงภัยนั้นด้วย

 

            ลุงถูกต้องได้นำคดีตัวอย่างที่รัฐต้องรับผลในการกระทำของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นไปตามหลักการข้างต้นมาให้ศึกษากันครับ !  

             ประเด็นปัญหา : บุตรชายของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง (บิดา-มารดา) ถูกชุดปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นพิสูจน์และจับกุมบุคคลตามหมายจับ (เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี) ยิงจนถึงแก่ความตาย ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า บุตรของตนมิใช่บุคคลตามหมายจับและมิได้กระทำความผิด (นายบีเป็นบุคคลตามหมายจับในข้อหาร่วมกันก่อการร้าย) จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้สำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดี) ในฐานะหน่วยงาน
ต้นสังกัดชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงาน
ทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง

              ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาว่า : เมื่อบุตรของผู้ฟ้องคดีถูกยิงเสียชีวิตเป็นผลมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นพิสูจน์และจับกุม โดยขณะปฏิบัติหน้าที่ได้พบกลุ่มของผู้ตาย
ซึ่งต้มน้ำกระท่อมในพื้นที่ป่า และเกิดการปะทะกันระหว่างหลบหนี ทั้งนี้ จากผลการตรวจพิสูจน์และพยานหลักฐานต่าง ๆ ฟังได้ว่าผู้ตายมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อการร้าย ไม่มีประวัติอาชญากร ไม่พบ
สารเสพติด โดยพบอาวุธปืนเล็กกล จำนวน 1 กระบอก และพบลูกระเบิด 1 ลูก (ด้านใช้งานไม่ได้) อยู่ในกระเป๋ากางเกง แต่ไม่พบ DNA ของผู้ตายที่อาวุธปืน ทั้งผู้ตายเป็นเพียงเยาวชนอายุ 18 ปี จึงยังไม่มีน้ำหนักพอที่จะ
รับฟังได้ว่าผู้ตายยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ

              อย่างไรก็ตาม เมื่อบริเวณที่เกิดเหตุเป็นป่าละเมาะ โดยเจ้าหน้าที่ได้รับรายงานว่าบุคคล
ตามหมายจับมีการเคลื่อนไหวเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งแม้จะฟังได้ว่าผู้ตายมิได้ยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่
แต่ในสถานการณ์เช่นว่านี้ เจ้าหน้าที่ย่อมชอบที่จะใช้สิทธิป้องกันตัวโดยการยิงต่อสู้ กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่า
เป็นการกระทำละเมิด
โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อผู้ตาย ทั้งนี้ แม้การปฏิบัติหน้าที่จะเป็นไป
เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามหมายจับโดยชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่สำนักนายกรัฐมนตรียังต้องรับผิด
จากการใช้อาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ผู้ก่อให้เกิดความเสี่ยงภัยหรืออันตรายแก่ราษฎรคือผู้ตาย อันถือเป็นความรับผิดอย่างอื่นของรัฐ (รับผิดโดยปราศจากความผิด) อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย สำนักนายกรัฐมนตรี
จึงต้องเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 969/2566)

            สรุปได้ว่า : กรณีที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ใช้อำนาจตามกฎหมายอันมีลักษณะก่อให้ความเสี่ยงภัยหรืออันตรายแก่ประชาชน แม้จะดำเนินการโดยชอบหรือไม่เข้าลักษณะการกระทำละเมิด แต่หน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ยังต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เป็นไป
ตามหลัก “ความรับผิดโดยปราศจากความผิดและทฤษฎีเสี่ยงภัย” นั่นเองครับ

             

          (ปรึกษาการฟ้องคดีปกครองได้ที่ “สายด่วนศาลปกครอง 1355”)

 

สตูล – ผู้นำท้องถิ่นขับเคลื่อนสร้างสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมสายน้ำ  ลำคลอง   หลังพบคุณภาพน้ำเปลี่ยนไป  ผ่านกิจกรรมคลองสวยน้ำใส 

สตูล-ผู้นำท้องถิ่นขับเคลื่อนสร้างสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อมสายน้ำ  ลำคลอง   หลังพบคุณภาพน้ำเปลี่ยนไป  ผ่านกิจกรรมคลองสวยน้ำใส   

อัพเดทล่าสุด