คืบหน้า…สตูลเรือปลากะตักทวงสัญญากดดันต่อ   หลังถูกจับ 3 ลำ 12 คน

        (11 มิถุนายน 2566)  จากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลกระบี่ บูรณาการร่วมกับหน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเลเกาะหลีเป๊ะ (สตูล) ออกปฏิบัติงานตรวจปราบปรามผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก. การประมง พ.ศ.2558 และ พ.ศ.2560 (ฉบับแก้ไข) ปรากฏพบมีเรือประมงใช้เครื่องมือ อวนครอบปลากะตัก  ที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) กำลังลักลอบทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่งบริเวณ  เกาะเละละ ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล (ห่างจากชายฝั่งเกาะเละละ ประมาณ 969 เมตร)

            จึงเข้าทำการตรวจสอบและจับกุม ทราบต่อมาว่าเรือประมงอวนครอบปลากะตัก  ที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) จำนวน 3 ลำได้แก่เรือ ประกอบด้วยเรือซิฟาร์     เรือโชคอามีหรน    และเรือโชคสมุทร   พร้อมลูกเรือรวมจำนวนทั้งสิ้น 12 คน  ซึ่งถูกควบคุมตัวดำเนินคดี  ที่สถานีตำรวจภูธรเกาะหลีเป๊ะ   อำเภอเมือง    จังหวัดสตูล  ส่งผลให้ชาวประมงเรือ  อวนปลากะตักทุกลำ  ที่ทำการประมงในพื้นที่   ไม่กล้าออกทำการประมงต่อไปอีกได้

           ส่งผลให้วันนี้  มีการนำเรือมาจอด  บริเวณปากเส้นทางเข้าออก  ร่องน้ำปากบารา  ตำบลปากน้ำ  อำเภอละงู  จังหวัดสตูล  เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  หาแนวทางแก้ไขในเรื่อง  พื้นที่ทำการประมง    ตามพระราชบัญญัติฉบับใหม่  และพื้นที่ทับซ้อนของเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา    พร้อมอ้างถึง   วันที่ได้มาทำข้อตกลงร่วมกัน  ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เช่น   นายอำเภอ   ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสตูล    หัวหน้าอุทยานเกาะตะรุเตา   สมาชิกสภาจังหวัด   สมาคมประมงจังหวัดและผู้นำชุมชนในพื้นที่   เพื่อให้มีการลดหย่อนพื้นที่  ออกทำการประมงพื้นบ้าน  ที่มีขนาดไม่เกิน 10 ตันกอส  จนกว่าจะหาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน  

 

          อีกทั้งได้อ้างถึงเอกสาร  ประกอบกับวันที่ 17 มีนาคม 2566  พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์    หักพาล   รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  และเชิญตัวแทนประมงพื้นบ้านเข้าร่วมประชุมหารือแนวทางแก้ไขปัญหา  พื้นที่ทำประมงในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา    และได้มีคำสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัด  รับเรื่องความเดือดร้อน  จากการประกาศเขตไมล์ทะเลไว้พิจารณา   และเร่งรัดการประชุมกับคณะกรรมการประมงจังหวัด  ซึ่งประกอบด้วยประมงจังหวัด  และอุทยาน   ว่าจะกำหนดเขตใหม่  มีร่องน้ำใดที่ชาวบ้านสามารถประกอบอาชีพต่อไปได้    ซึ่งทางอำเภอละงูได้ทำหนังสือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล   เพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือ  จึงขอให้ท่านช่วยติดตามความคืบหน้าดังกล่าว  และแจ้งให้กรมประมงทราบอีกทางหนึ่งด้วย

         ด้าน นายวรวิทย์   หมีนหวัง  อายุ 38 ปี   ตัวแทนประมงปลากะตัก  ผู้ยื่นข้อเรียกร้องเปิดเผยว่า  การนำเรือมาครั้งนี้เพื่อทวงสิทธิ์ในครั้งนั้นที่มีการพูดคุย   มาวันนี้ยังมีการจับกุมอีก  และหากมีการเสียค่าปรับไปแล้วตามที่เจ้าหน้าที่จับกุมกล่าวอ้าง  ว่าไม่รู้การทำข้อตกลงกัน  แล้วจะจับกุมอีกหรือไม่     การจอดเรือในครั้งนี้  ไม่ต้องการให้ใครเดือดร้อนหรือเสียหาย แต่จะจอดอยู่แบบนี้ไปจนกว่าจะได้คำตอบที่ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรไม่เอาแล้วด้วยวาจา 

 

อัพเดทล่าสุด

         จากนั้นได้มีการพูดคุยเจรจากับนายธวัช   ช่วยเกตุ  ปลัดอาวุโสอำเภอละงู (รักษาการแทนนายอำเภอละงู) พร้อมรับหนังสือข้อเสนอต่อผู้บังคับบัญชา และเชื่อว่าจะสามารถพูดคุยกันได้  สถานการณ์น่าจะคลี่คลายในเร็ววัน  เพราะที่ผ่านมากลุ่มประมงดังกล่าวก็พร้อมจะปฏิบัติตาม  หากมีการชี้แจงพูดคุย  เพื่อให้พวกเขามีพื้นที่ทำกิน

         ขณะที่เรือสปีดโบทโดยสารจำนวน   20 ลำ  วิ่งจากท่าเทียบเรือปากบารา ตำบลปากน้ำ  ไปยังเกาะตะรุเตาและหลีเป๊ะ  (ซึ่งต้องวิ่งผ่านร่องน้ำคลองปากบารา)  ยังไม่เชื่อมั่นถึงสถานการณ์ว่า  จะยืดเยื้อหรือไม่   ได้นำเรือไปจอดลอยลำบริเวณชายหาดปากบารา  และที่บริเวณแหลมเต๊ะปันไว้ชั่วคราวทั้ง 2 จุด   เพื่อเตรียมความพร้อมหากเกิดเหตุการณ์    ชาวประมงเรือเล็กเครื่องมือพาณิชย์  (ปลากะตัก) เกิดนำเรือปิดอ่าว  บริเวณร่องน้ำปากคลองปากบารา  จะได้ไม่เกิดผลกระทบกับนักท่องเที่ยว  ที่จะเดินทางจากท่าเทียบเรือปากบารา  ไปยังเกาะหลีเป๊ะได้

………………………………………………