สตูล-ดันประเพณีลอยเรือชาวเลอูรักลาโว้ย  สู่  ซอฟต์พาวเวอร์ หลังถูกขึ้นบัญชีให้เป็นมรดกภูมิปัญญา  ทางวัฒนธรรม ระดับชาติ ประจำปี 2566

          ประเพณีลอยเรือชาวเลอูรักลาโว้ย  เป็นหนึ่งใน 18  บัญชี  ประกาศให้เป็นมรดกภูมิปัญญา  ทางวัฒนธรรม ระดับชาติ ประจำปี 2566  ด้านแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล 

          จากการเสนอของคณะกรรมการส่งเสริม  และรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และผ่านการพิจารณาคัดเลือก  จากคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง  ตามลักษณะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม  ที่”เสี่ยงต่อการสูญหาย” ต้องได้รับการส่งเสริมและรักษาอย่างเร่งด่วน

           นางแสงโสม  หาญทะเล  รักษาการแทน ผอ.โรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ  กล่าวว่า   ในนามชาวเลอูรักลาโว้ย  รู้สึกภาคภูมิใจและ ดีใจที่มีภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงวัฒนธรรม  ได้เห็นความสำคัญของงานประเพณีที่มีการสืบทอดกันมาร่วม  300 ปี  งานประเพณีนี้ยังมีคุณค่าทางจิตใจ อีกทั้งยังเป็นงานที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วโลกได้เข้ามามีส่วนร่วมสัมผัส   และศึกษาความงดงาม  ของงานประเพณีลอยเรือชาวเล  บนเกาะหลีเป๊ะ ที่มีขึ้นเป็นประจำปีละ 2 ครั้ง

 

          นางสาวอาซีซ๊ะ  สะมะแอ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสตูล  กล่าวว่า การขับเคลื่อนประเพณีลอยเรือชาวเลอูรักลาโว้ยของจังหวัดสตูล  เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการจัดประเพณีลอยเรืออูรักลาโว้ยของจังหวัดสตูล  ร่วมกับชุมชนชาวเลอูรักลาโว้ยสตูล ประชาสัมพันธ์การจัดประเพณีลอยเรือของจังหวัดสตูล  ส่งเสริมการท่องเที่ยว  สนับสนุนข้อมูลองค์ความรู้  เกี่ยวกับประเพณีลอยเรืออูรักลาโว้ย  สำหรับต่อยอดงานวิชาการ การวิจัย และพัฒนาเพื่อการเรียนรู้ สืบสานและต่อยอด  ให้คงอยู่ต่อไป  อีกทั้ง   เห็นว่างานประเพณีนี้เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ของจังหวัดสตูล

 

          การจัดพิธีลอยเรือของชาวเลอูรักลาโว้ยมีความเชื่อว่า เพื่อเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ โดยการสะเดาะเคราะห์ร้าย  และโรคภัยไข้เจ็บให้หมดสิ้นไป เป็นการแสดงความเคารพบรรพบุรุษ  ส่งวิญญาณกลับสู่แดนฆูนุงฌีรัย และล้างบาปอันเกิดจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตที่แล้วมา  นอกจากนี้  ยังเป็นพิธีการเสี่ยงทาย  การทำมาหากินของชาวเลตลอดทั้งปี   ชาวเลอุรักลาโว้ยสตูล มีความเชื่อว่า  ผู้ที่ผ่านพิธีลอยเรือ  จะเป็นผู้ที่ผ่านทุกข์โศกโรคภัยไข้เจ็บไปหมดแล้ว ชีวิตต่อไปข้างหน้าจะประสบแต่ความสุข  และโชคดีในการทำมาหากิน

 

          ประเพณีลอยเรือเป็นประเพณีของชาวเล หรือว่า ชาวน้ำ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณหมู่เกาะแถบทะเลอันดามัน เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ  อันเกี่ยวเนื่องกับตำนาน ความเชื่อ ความเป็นมา วิถีชีวิต และทุกอย่างของชาวเลอูรักลาโว้ย

 

          พิธีลอยเรือ   จัดขึ้น 2 ครั้งต่อปีในวันพระจันทร์เต็มดวง  ของเดือน 6 และเดือน 11 ตามปฏิทินจันทรคติ จัดครั้งละ 3 วัน  เรือที่ใช้ในพิธีเรียกว่า ปลาจั๊ก หรือ เปอลาจั๊ก ทำจากไม้ตีนเป็ดและไม้ระกำ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ “ยาน” ที่จะนำวิญญาณของคนและสัตว์ไปอีกภพหนึ่ง   ไม้ระกำทำหน้าที่นำเคราะห์โศกโรคภัยของสมาชิกในแต่ละครอบครัว  เดินทางไปกับเรือ  และเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ ที่จะให้วิญญาณบรรพบุรุษนำไปยังถิ่นฐานเดิม  ที่เรียกว่า ฆูนุงฌีรัย  บุคคลสำคัญที่สุดในพิธีลอยเรือ คือ โต๊ะหมอ เป็นผู้นำทั้งทางโลกและทางธรรม เป็นบุคคลที่ชาวเลศรัทธา มีความแม่นยำในพิธีการ และสื่อสารกับวิญญาณบรรพบุรุษได้

 

          ทั้งนี้ทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเผยแพร่คุณค่าสาระความสำคัญ รวมทั้งให้การส่งเสริมสนับสนุนในด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการดำรงรักษาต่อไป

………………………………………………………

อัพเดทล่าสุด

เกษตรสตูล ส่งมอบพันธุ์พืช ให้แก่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อดำเนินการมอบให้แก่เกษตรกรและผู้ประสบภัยพิบัติในจังหวัดสตูล

เกษตรสตูล ส่งมอบพันธุ์พืช ให้แก่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อดำเนินการมอบให้แก่เกษตรกรและผู้ประสบภัยพิบัติในจังหวัดสตูล