สตูลชวนล่องเรือหา  สาหร่ายสาย  เรียบป่าโกงกางเมนูธรรมชาติพื้นถิ่นมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง  มีเยอะฤดูแล้ง เตรียมส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

            ในช่วงน้ำ 14 ถึง 15 ค่ำ  และ 1 ถึง 2 ค่ำฤดูแล้งชาวบ้านหมู่ที่ 8 บ้านนาพญา  ตำบลละงู อำเภอละงู  จังหวัดสตูล  จะนำเรือออกล่องไปตามลำคลองเรียบป่าโกงกางเพื่อหา  สาหร่ายสาย (สาหร่ายขนนก)  หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าหา  ลาโต๊ส  , ลาสาย หรือ สาย

          โดยแหล่งหาสาหร่ายสาย   จะมีด้วยกัน 2 ลำคลองคือ 1 โซนท่านาพญา  และ 2 โซนท่าพะยอม   ทันทีระดับน้ำในลำคลองลดลง   จนเกือบถึงยอดอกชาวบ้านที่ว่างเว้นการออกเรือหาปูดำ  หรือออกเรือหาแมงกะพรุน  ก็จะพากันออกไปหาในช่วงฤดูแล้งเพื่อเป็นรายได้เสริม

         โดยทุกคนที่มาหาจะมีทั้งวัยรุ่นและผู้สูงอายุอย่างคุณลุงปิยะศักดิ์  เภอสม  วัย  68  ปี ที่ยอมรับว่าออกมาหาสาย  ตั้งแต่วัยหนุ่มนานถึง 30 ปีแล้ว   โดยเคยหามากสุดในชีวิตคือ 40 กิโลกรัม เมื่อหลายสิบปีก่อน  แต่ตอนนี้หาได้มากสุด 10 กว่ากิโลกรัม   โดยอุปกรณ์ก็จะมีแว่นตาดำน้ำ   และภาชนะสำหรับใส่   สาหร่ายสาย  โดยการหาในแต่ละครั้งจะต้องดำดิ่งลงไปในน้ำที่มีความลึกประมาณยอดอก  แต่หากลึกกว่านั้น   ก็จะหลีกเลี่ยงไปหาพื้นที่อื่นเพื่อเซฟร่างกายด้วยเช่นกัน   เพราะจะต้องกลั้นหายใจให้นานเพื่อที่จะไปดึง สาหร่ายสาย   ขึ้นมาจากน้ำให้ได้

        น้องวินกับน้องแม๊ค    บอกว่า  หากวันไหนไม่ออกเรือหาปูดำ  หรือหาแมงกะพรุน  พอเข้าสู่ฤดูแล้งก็จะออกมาหา   สาหร่ายสาย  หรือ  สาย  โดยช่วงแรก ๆ ก็จะออกมาหากับคุณพ่อ   พอรู้แหล่งพิกัดก็จะออกมาหาตามลำพัง     โดยพบว่า  สาหร่ายสาย  มักจะอยู่กันเป็นกลุ่มเป็นก้อนริมป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์   เมื่อกระโดดลงน้ำและเท้าถึงพื้น   สัมผัสว่ามีความนิ่มก็หมายความว่าบริเวณนั้นมี  สาหร่ายสาย  เป็นจำนวนมากนั่นเอง   ใน 1 ปีหาได้เพียงไม่กี่เดือน  โดยจะหาได้มากสุดก็ช่วงที่น้ำลดลงต่ำสุด  เพราะต้องใช้ความชำนาญในการกลั้นลมหายใจในการดำน้ำดึงสาหร่ายขึ้นมา  

          การออกมาหา  สาหร่ายสาย(สาหร่ายขนนก) หรือ  ลาโต๊ส  ในครั้งนี้ทีมเกษตรอำเภอละงูและทีมผู้ใหญ่บ้านรวมทั้งสมาชิกอบต.ละงู  ก็หวังจะผลักดันให้พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  กับอาหารพื้นถิ่นที่ขึ้นชื่อที่มีลักษณะเฉพาะ  เพราะจะมีทานในช่วงน้ำลงและฤดูแล้งเท่านั้น 

          นางสาวมนัสนันท์   นุ่นแก้ว   เกษตรอำเภอละงู  บอกว่า  หลังจากลงพื้นที่ในครั้งนี้จะเข้ามาส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มกันส่งเสริมอาชีพ  ร่วมกันทำกิจกรรม เช่น  การอนุรักษ์สาหร่ายสายให้อยู่คู่กับลูกหลาน และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์   โดยจะทำร่วมกับผู้นำท้องที่ท้องถิ่นเพื่อต่อยอด   โดยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอละงู

 

           นายตารอด   ใบหลำ   ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8  บอกว่า   สาหร่ายสาย  นับเป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการเป็นอย่างมากและที่นี่ก็จัดเป็นอีกหนึ่งแหล่งที่มีสาหร่ายสาย หรือ  ลาโต๊ส  เยอะที่สุดอีกหนึ่งแหล่งในจังหวัดสตูล   โดยอนาคตก็เตรียมผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์   โดยนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาชมป่าโกงกางที่อุดมสมบูรณ์มาดูวิถีชีวิตของชาวบ้านในการหาสาหร่าย   ชิมกันสดๆ  ถึงอรรถรสความกรอบ  ใหม่สดของสาหร่ายชนิดนี้  ที่ชาวบ้านนาพญา  ตำบลละงู  อำเภอละงูจังหวัดสตูลพร้อมดูแล  

         

         ด้าน   กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 5 สตูล  ได้ศึกษาวิจัยการใช้  สาหร่ายสาย  หรือ  สาหร่ายขนนก  พบสรรพคุณที่โดดเด่นคือมีสารต้านอนุมูลอิสระป้องกันมะเร็งมีวิตามินที่ร่างกายต้องการ     สาหร่ายชนิดนี้จะเจริญเติบโตในที่มีคุณภาพน้ำที่สะอาดเท่านั้น   ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้รับประทานเป็นผักจิ้ม (โดยการล้างให้สะอาดก่อนนำมากิน เพราะสาหร่ายสายเมื่อถูกน้ำจืดเพียงไม่นานก็จะตายหากไม่รีบทาน )   พบในช่วงฤดูแล้งเดือนมีนาคม – พฤษภาคมและจะเริ่มลดลงเมื่อเข้าหน้าฝนในช่วงมิถุนายนถึงตุลาคม   สำหรับพื้นที่พบสาหร่ายสาย   ตามแนวชายฝั่งอำเภอท่าแพ,ละงู ,ทุ่งหว้า  เพราะมีลักษณะคล้ายคลึงกันมีลักษณะเป็นหินดินดานเป็นโคลนทราย

 

           พื้นที่ความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนนั้นพบว่า  มีคุณประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ไม่ว่าจะเป็นทางตรงและทางอ้อม   สรรพสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดที่เข้ามาพึ่งพิงจะใช้ประโยชน์จากป่าชายเลน   ในแง่ของแหล่งอาหารที่อยู่อาศัยแหล่งหลบภัยเช่นเดียวกับสาหร่ายสาย หรือ สาหร่ายขนนก   ที่ยึดเอาป่าชายเลนเป็นเสมือนบ้านของตนเองยังคุณประโยชน์ให้แก่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น   ได้เก็บหามาบริโภคในครัวเรือน   และยังสามารถขายเพื่อเป็นรายได้จนเจอครอบครัวอีกด้วย    นับเป็นการเกื้อกูลเอื้อประโยชน์แก่กัน    ทั้งป่าชายเลน  สาหร่าย  และชาวบ้านในบริเวณนั้นประโยชน์จากสาหร่ายสาย   ชาวบ้านมีการถ่ายทอดองค์ความรู้และนำไปสู่วิถีแห่งภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นได้ต่อไป

         ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : 064-0456565

………………………………………….

อัพเดทล่าสุด