ลูกหยี ผลไม้ป่าโบราณ  ทางวัดทำสวนป่าปลูกอนุรักษ์เป็นศูนย์เรียนรู้

       ลูกหยีผลดกดำ  อายุกว่า 20 ปี  ยืนต้นสูงเด่น 15 เมตร  เป็นหนึ่งในพันธุ์ไม้หายาก  ขึ้นอยู่ภายในพื้นที่วัดนิคมพัฒนารามผัง 7  ต.นิคมพัฒนา  อ.มะนัง  จ.สตูล   พร้อมๆกับ  ลูกตะขบ   ลูกละไม   ลองกอง  มังคุด  สละอินโด  มะม่วง และมะพร้าว

        ในฤดูกาลนี้ลูกหยี ให้ผลผลิตจำนวนมาก   แต่การเก็บผลลูกหยีที่มีขนาดเล็กบนต้นใหญ่  เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก  ผู้เก็บเกี่ยวต้องใช้ทักษะและความชำนาญเฉพาะตัว  ปีนขึ้นไปตัดกิ่งขนาดใหญ่  ผูกเชือกค่อยๆหย่อนลงมา  ทำให้ได้ผลลูกหยีที่มีคุณภาพ  ผลไม่หลุดร่วงจากช่อ    

         พระครูโสภณปัญญาสาร เจ้าอาวาสวัดนิคมพัฒนาราม  ผัง 7  //เจ้าคณะอำเภอมะนัง  นำทีมชาวบ้านในพื้นที่  เก็บลูกหยีในสวนป่าภายในวัดอย่างชำนาญ  ได้ผลลูกหยีจำนวนมาก  พร้อมขายผลสดเป็นพวงละ 50-100  บาท  รายได้ส่วนหนึ่งนำมาเป็นค่าแรง และเป็นปุ๋ยบำรุงต้น 

        สำหรับ “ลูกหยี “ เป็นผลไม้ป่าชนิดหนึ่งที่มีรสเปรี้ยวอมหวาน เปลือกสีดำ เนื้อในสีแดงส้ม เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ให้ผลผลิตปีละ 1 ครั้ง ประมาณเดือน ตุลาคม – พฤศจิกายน มีรสเปรี้ยวจัด หากนำเมล็ดออกแล้ว คลุกน้ำตาล รสชาติอร่อย ส่วนผลสด จะมีขายตามตลาดนัด เฉพาะในช่วงฤดูกาลเท่านั้น และจะขายตามตลาดออนไลน์ อยู่ที่กิโลกรัมละ 80 ถึง 165 บาทขึ้นไป

       ลูกหยีต้นนี้  เป็นไม้ป่าโบราณผลหาทานยาก   ที่ทางเจ้าอาวาสวัดนิคมพัฒนาราม ผัง 7 ตั้งใจปลูกและขยายพันธุ์ไว้ พร้อมต้นไม้หาทานยากอีกกว่า 20 ชนิด บนพื้นที่ 20 ไร่  เพื่ออนุรักษ์และต้องการทำเป็นศูนย์เรียนรู้ส่งต่อไปยังคนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป

          พระครูโสภณปัญญาสาร เจ้าอาวาสวัดนิคมพัฒนาราม  ผัง 7  กล่าวว่า  เคยมีแนวคิดว่าเราจะหาพันธุ์ไม้ผล  ผลไม้พื้นถิ่นใน 14 จังหวัดภาคใต้มาปลูกรวมไว้ที่วัดพัฒนารามผัง 7  เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้   อนุรักษ์พันธ์ไม้หายาก   ซึ่งปัจจุบันจะมีประเภทไม้ผล 20 กว่าชนิดด้วยกัน   ลูกหยีก็เป็นไม้พื้นบ้านที่ปลูกไว้ใช้เวลายาวนาน 20 กว่าปี  ปีนี้เป็นปีที่สองแล้วที่ให้ผลและดกมาก

        ด้าน นางภาสพิชญ์  นาควงค์   อายุ 58 ปี ชาวบ้านที่ชอบทานผลไม้ป่าโบราณ  บอกกับทีมข่าวว่า  มีโอกาสเห็นต้นลูกหยีที่วัด  มันสูงใหญ่  ยิ่งเมื่อเห็นการเก็บเกี่ยวรู้สึกสงสารคนปีนไปเก็บ  มันเสี่ยงมาก   ซึ่งลูกหยีผลสดจะหาทานยากในยุคสมัยนี้ คนที่ปลูกก็มีน้อย ใช้เวลาหลายปีกว่าจะโตให้ผลที่กินได้   

……………………………………………………………………

อัพเดทล่าสุด

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน