สัมภาษณ์พิเศษกลุ่มออกแบบ นักสร้างสรรค์ และหน่วยงานสำคัญ   ที่ช่วยผลักดัน “มาแต่ตรัง” เทศกาลท่องเที่ยวสร้างสรรค์ ให้เกิดขึ้นได้

          คุณเพ็ญศิริรัตน์ อาจทวีกุล ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง  งาน “มาแต่ตรัง” ดำเนินการภายใต้กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน จังหวัดตรัง โดยสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง คุณเพ็ญศิริรัตน์ อาจทวีกุล ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง เผยถึงแนวคิดในการจัดงานครั้งนี้ว่า “เราริเริ่มมาจากสำนวนโบราณของคนตรังที่มักพูดกันว่า “มาแต่ตรัง ไม่หนังก็โนราห์” ซึ่งเป็นสำนวนที่สื่อให้เห็นว่าเมืองตรังเป็นแหล่งศิลปะการแสดงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมโนราห์ หรือหนังตะลุง นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นด้วยว่าเมืองตรังเป็นเมืองแห่งศิลปิน ตัวคนตรังเป็นคนมีปฏิภาณไหวพริบ  มีความเป็นศิลปิน การจัดงานนี้ก็จะเหมือนเป็นการเปิดเวทีให้ศิลปิน นักสร้างสรรค์ รวมถึง  ผู้ประกอบการต่าง ๆ ได้มานำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนความมคิดเห็นซึ่งกันและกัน รวมถึงสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในจังหวัดตรังด้วย”

         “นอกจากนี้เราคาดหวังในเรื่องของการสร้างเครือข่ายกลุ่มนักสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดกลไกการทำงานร่วมกันในกลุ่มคนพื้นที่ และคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นในห้วงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองเก่า รวมถึงเกิดการต่อยอดธุรกิจใหม่ และมีการรับรู้การจัดการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองเก่าตรังเป็นวงกว้าง”

         ดร. สัญญา ศรีวิเชียร นายกเทศมนตรีนครตรัง    หนึ่งในหน่วยงานที่มีบทบาทอย่างมากในเทศกาลท่องเที่ยวสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรม “มาแต่ตรัง” คือเทศบาลนครตรัง โดยดร. สัญญา ศรีวิเชียร นายกเทศมนตรีนครตรัง กล่าวว่า “เทศบาลนครตรังเป็นหน่วยงานท้องถิ่น มีนโยบายและภารกิจเรื่องการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และแก้จน พัฒนาคน พัฒนาเมือง เรามุ่งพัฒนาเมืองทุกส่วนให้เกิดความยั่งยืน พัฒนาสวนสาธารณะให้พี่น้องได้พักผ่อนได้ออกกำลังกาย”

           “ผมต้องการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม เพื่อที่จะให้อนุชนรุ่นหลังมีความเข้าใจ อาทิ การคัดแยกขยะ การดูและแยกพลาสติกไม่ให้ลงแม่น้ำลำคลองที่จะไหลลงไปสู่ทะเล ซึ่งตอนนี้เราได้ดำเนินการทำ MOU กับมูลนิธิของเยอรมัน เราทำโครงการบำบัดน้ำเสีย ต้องการไม่ให้น้ำเสียลงคลองห้วยยาง ไม่ให้น้ำในครัวเรือนลงในคลองน้ำเย็น ทั้งสองคลองในเทศบาลนครตรัง เพื่อต้องการความยั่งยืนเช่นกัน ฉะนั้นเรามีของดีอยู่แล้ว เราก็พยายามให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคตในทุกเรื่อง”

“ซึ่งบัดนี้ น้ำในคลองห้วยยางก็ดูสะอาดมากยิ่งขึ้น คลองสวยน้ำใส สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแหล่งหนึ่งในทางวัฒนธรรม ในทางประวัติศาสตร์ของคลองห้วยยาง การที่เราจัดงานนี้เพื่อต้องการที่จะสืบสานพัฒนาเมืองเก่าของเรา พัฒนาสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น และช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย”

 

         พยุงศักดิ์ ช่องลมกรด กลุ่ม Back Yard Cinematic พูดถึงการมีส่วนร่วมในงาน “มาแต่ตรัง” ในครั้งนี้ว่า “Back Yard Cinematic เป็นกลุ่มฉายหนังนอกกระแส เหมือนเป็นตัวเลือกหนึ่งในการดูหนัง เพิ่มความหลากหลายในการดูหนัง ปกติในตรังจะมีโรงหนังที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าซึ่งฉายหนังตลาดอยู่แล้ว เราเป็นกลุ่มที่เพิ่มมุมมอง เพิ่มกิจกรรมในการดูหนังขึ้นมา อาจจะแตกต่างออกไป เราจะฉายหนังที่หาดูยากหน่อย พอดูจบแล้วเราก็จะคุยกันถึงความรู้สึกของคนดูว่ารู้สึกอย่างไร หรือมีอะไรไปทัชใจเขา เป็นความรู้สึกร่วมกับหนัง ปกติทุกคนดูจบก็จะลุกไป ของเราดูจบก็จะได้มาคุยกัน เป็นคอมมูนิตี้ใหม่ ๆ”

กลุ่มนักออกแบบสร้างสรรค์ หัว – Born 

      กลุ่มหัว – Born  (หัวบอน) คือ หัวที่เกิดความคิดสร้างสรรค์ให้วัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่เข้าถึงงานศิลปะและมีความคิดสร้างสรรค์ในจังหวัดตรังมากขึ้น คุณอัจจิมา รัตตมณี (ผึ้ง) ตัวแทนจากกลุ่มหัวบอนเล่าถึงกิจกรรมที่กลุ่มหัวบอนได้จัดขึ้นที่ ตึกตรังชาตะ (ตึกเก่า) โดยเริ่มตั้งแต่ 10.00 – 21.00 น. ตลอด 5วัน

       “งานนี้เราใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ตั้งแต่เริ่มเดินเข้ามาในตึกชาตะ เราจะมี Blind Test มีอาหาร มีเวิร์คชอปต่าง ๆ ที่ใช้วัสดุธรรมชาติ มีดินปั้นแปะเป็นผลงานสร้างสรรค์ของทุกคน และจะมีนิทรรศการภาพถ่ายในห้องมืด เพื่อให้คนที่ไปร่วมชมงานได้มีส่วนร่วมกับคนที่ถ่ายทอดภาพด้วย ส่วนฝั่งตรงข้ามตึกตรังชาตะเป็นปศุสัตว์ เราจัดเป็นตลาดนัดครีเอทีฟ เรียกว่า เถเพลย์ครีเอทีฟมาร์เก็ต แนวคิดคือ ต้องการนำวัสดุของผู้ประกอบการในตรังมาใช้ อาจจะเป็นสิ่งของที่ไม่ใช้แล้ว เราก็เอามาทำให้เป็นงานศิลปะแนวใหม่ ๆ เช่น กระดาษของสำนักพิมพ์ แกนผ้า ตระกร้าผลไม้ ตระกร้าขนมจีนที่วางทิ้งไว้ พอมาอยู่ในมือนักสร้างสรรค์ก็จะเกิดเป็นงานศิลปะ”

        “ตลาดนัดครีเอทีฟ เป็นการรวมตัวของผู้ค้าในจังหวัดตรังและจังหวัดใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็น สงขลา นครศรีธรรมราช ยะลา ปัตตานี ในงานมีส่วนการจัดแสดงของ Plan Toys (ผู้ผลิตของเล่นไม้เจ้าดังของไทย) มีเกมที่ทางหัวบอนจะจัดให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เข้ามาร่วมสนุกและมีการแสดงโชว์ทั้งเด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ มาเต้นลีลาศ รองเง็ง นอกจากนี้ยังมีหน่วยย่อยของนิทรรศการ เป็นเวิร์คชอป ลองเล่น. ลองทำ. ลองเถ เมืองประชา – ซน คนช่างเถ ที่เราอยากให้คนในจังหวัดตรัง และจังหวัดใกล้เคียง ได้มามีส่วนร่วม มาเล่น ให้เขารู้สึกสนุก เรามีเกมและของรางวัลเล็กๆ น้อยๆ ให้คนที่มาร่วมงานด้วย ทางกลุ่มทีมหัวบอนจึงอยากให้รู้ว่าจังหวัดตรังไม่ได้มีแค่ของกิน แต่เรามีงานศิลปะ งานแสดงที่คนรุ่นใหม่ต้องการถ่ายทอดให้ทุกคนได้ชมกัน”

กลุ่มนักออกแบบสร้างสรรค์ Urban Seeker

         กลุ่ม Urban Seeker คือกลุ่มที่ตามหาคุณค่าของเมืองว่าเมืองนี้มีคุณค่าอย่างไร เราได้ใช้ความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรมมาจัดการ เรียบเรียง เผยแพร่ให้คนอื่น ๆ ดู ทำให้คนที่สนใจ รักเมืองนี้ หรือมีงานอดิเรกได้ติดตามต่อได้

       

        คุณยิ่งยศ แก้วมี (กอล์ฟ) จากกลุ่ม Urban Seeker ให้ความเห็นถึงแนวคิดในการส่งเสริมการท่องเที่ยวว่า “ถ้าเราเป็นเจ้าบ้านที่ดี มีข้อมูลที่ดี ทุกคนสามารถเป็นไกด์ให้เมืองได้หมดทุกอย่าง ซึ่งจะมีเรื่องที่สงวนไว้ให้คนเมืองเท่านั้นที่จะรู้ ฉะนั้นเวลานักท่องเที่ยวมาก็ต้องตามหาคนเมือง เข้าถึงจะรู้เรื่องราวนั้น ๆ”

       งาน “มาแต่ตรัง” ในครั้งนี้ กลุ่ม Urban Seeker ได้นำเสนอผลงานสร้างสรรค์การท่องเที่ยวเมืองเก่า ในรูปแบบศิลปะการจัดวาง Installation Art อาทิ “ผักบุ้งริมคลอง ตัวแทนพืชผักริมคลองในอดีตประกอบกับชุมชนในอดีตเขาเลี้ยงหมู ชาวบ้านเขาก็จะนำ 2 อย่างนี้มาผสมกัน เกิดเป็นนวัตกรรมอย่างนึง เรียก “หัวหมูผักบุ้ง” ซึ่งน่าจะมีเฉพาะที่ตรังเท่านั้น” ผลงานสร้างสรรค์ชิ้นนี้สะท้อนถึงความมั่นคงทางอาหารที่เกิดจากความอุดมสมบูรณ์ของคลองห้วยยาง ในเมื่อครั้งอดีตคนตรังทับเที่ยงได้นำหมูที่เลี้ยง และผักบุ้งที่ปลูกริมคลอง มารังสรรค์อาหารร่วมกับน้ำราดสีแดงอันเป็นเอกลักษณ์ เพื่อเรียกร้องให้ผู้คนหันกลับมาทบทวนถึงความมั่นคงทางอาหารในชุมชนเมืองทับเที่ยงนี้อีกครั้ง

        “เรื่องที่สองคือ ไซดักทรัพย์ สามารถเห็นได้ตามร้านค้า เราจำลองมาเพื่อดักทรัพย์ให้กับเมือง ไซดักทรัพย์ ยังไปพ้องกับไซจับปลา ซึ่งในอดีตมีปลาชุกชมอยู่ในคลอง สะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของคลองห้วยยางในอดีตได้อีกด้วย”

          อีกไฮไลท์ของกลุ่ม Urban Seeker คือ Pocket Park พื้นที่นั่งเล่นสร้างสรรค์ที่เล่าผ่านภูมิปัญญาของทางเดินห้าฟุต (หง่อคาขี่) ใต้อาคารบ้านแถวตึกแถวในอดีต พื้นที่แห่งนี้บ่งบอกถึงความเข้าใจในสภาพบริบทของที่ตั้งอาคาร รวมทั้งเป็นหนึ่งในการแสดงออกถึงความใจกว้างของเจ้าของอาคารที่ให้ความสำคัญต่อประโยชน์แห่งสาธารณะในกรรมสิทธิ์ของตน เพราะแม้เป็นพื้นที่ใต้ที่ดินของคนอื่น แต่เราสามารถเดินผ่านได้ สามารถหลบแดดหลบฝนได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความใจกว้างของคนตรังนั่นเอง

ชมภาพบรรยากาศ “งานมาแต่ตรัง” ได้ที่เพจ https://facebook.com/TrangRenown

อัพเดทล่าสุด