Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

ใหญ่กว่านี้มีอีกไหม! กล้วยงาช้างสตูล-ลูกใหญ่ เนื้อแน่เยอะ หวานกรอบ จากสวนยางสู่กล้วยกรอบแก้วระดับพรีเมียม

ใหญ่กว่านี้มีอีกไหม! กล้วยงาช้างสตูล-ลูกใหญ่ เนื้อแน่เยอะ หวานกรอบ จากสวนยางสู่กล้วยกรอบแก้วระดับพรีเมียม

          ที่สวนของสมาชิกในกลุ่ม  “วิสาหกิจชุมชนกล้วยสวนกรอบแก้ว”   529/1 หมู่ที่ 5 ตำบลน้ำผุด  อำเภอละงู  จังหวัดสตูล ได้มีการปลูกกล้วยเพื่อแซมสวนยางพารา  ร่วมกับต้นกาแฟ ต้นกระท่อม เพื่อเป็นรายได้เสริมให้กับสมาชิกในกลุ่ม  โดยเฉพาะการปลูกกล้วยงาช้าง ที่เป็นวัตถุดิบชั้นเยี่ยมของทางกลุ่มในการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อ  ภายใต้แบรนด์  กล้วยงาช้างกรอบแก้ว “สวนตาอุ้ย” กรอบอร่อย ทุกที่ทุกเวลา  ที่ได้รับเลขทะเบียน อย.การันตีความอร่อยสะอาดถูกหลักอนามัยด้วย

 

          จากการลองผิด ลองถูก เพื่อให้เกิดความแตกต่างมาลงตัวที่  กล้วยงาช้าง  ด้วยคุณสมบัติผลใหญ่ (ใหญ่สุดลูกเดียว 1.8 ขีด)  ปลูกเพียง 8 เดือนก็สามารถให้ผลผลิต  เนื้อเนียน  เนื้อเยอะ  ไม่มีเมล็ด  รสชาติดีทำให้ทางกลุ่มของคุณป้าเย็น และคุณจิต และเพื่อนๆ สมาชิกได้ตกลงใช้กล้วยสายพันธุ์นี้ทำ  กล้วยกรอบแก้ว  ที่มีรสชาติลงตัวที่สุดกับ รสหวาน รสเค็มและรสปาปิกา  จำหน่ายเพียงถุงละ 35 บาท (3 ถุงร้อย) ถุงละ 50 บาทหรือจะซื้อเป็นกิโลกรัมละ 180 บาท (2-3 กิโลกรัมขึ้นไป) 

 

          ขั้นตอนการทำที่ไม่ยุ่งยาก  เน้นความสะอาด  กล้วยที่ได้มาเป็นกล้วยแก่ 70 เปอร์เซ็นต์  ล้างน้ำทำความสะอาดจากนั้นแช่ในน้ำเปล่า ตัดหัวตัดท้ายออกปลอกเปลือกและแช่ในน้ำส้มสายชู  เพื่อล้างยางในตัวกล้วย และนำมาสไลด์เป็นแผ่นบาง ๆ  ตั้งไฟใส่น้ำมันร้อนลงไปทอดไม่ทันเหลืองให้ยกขึ้นจากกระทะ  ให้สะเด็ดน้ำมันแล้วนำไปใส่ในหม้อน้ำตาลที่ผ่านการเคี้ยวจนหอมน้ำใบเตย  ไม่ถึงนาทียกขึ้นให้สะเด็ดน้ำตาลจากนั้นนำไปทอดในกระทะอีกครั้ง เพิ่มความเหลืองกรอบในระดับหนึ่งก่อนยกขึ้นให้สะเด็ดน้ำมัน  วางบนกระดาษซับน้ำมัน เป็นอันเสร็จ ชิมความอร่อยของกล้วยกรอบแก้ว รสหวานได้เลย

          นางเกสร  เตชะศิริประภา (ป้าเย็น) ประธานกลุ่ม “วิสาหกิจชุมชนกล้วยสวนกรอบแก้ว”  นางเขมนิจ   เมืองแก้ว (ป้าจิต) รองประธานฯ พร้อมสมาชิก 20 คน   บอกว่า   ทางกลุ่มผลิตกล้วยกรอบแก้วจาก “กล้วยงาช้าง” ที่มีคุณภาพ  เพราะลูกใหญ่ รสชาติหวาน กรอบ และเก็บได้นาน  ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดตอบรับเป็นอย่างดี 

 

           สำหรับสมาชิกของทางกลุ่มฯ ส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ ชาวสวน ที่มารวมกลุ่มกันสร้างรายได้เสริม  ปัจจุบันแม้ประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบเนื่องจากปีที่ผ่านมาประสบภัยแล้ง   แต่ทุกคนยังคงมุ่งมั่นในการที่จะผลิตสินค้าคุณภาพ เพราะมีใจรักในการทำ และใส่ใจคุณภาพ สมาชิกทุกคน 20 คนได้รับการปันผลรายได้ทันทีตามผลประกอบการแต่ก็ไม่ใช่สาระหลัก  เพราะทุกคนอยากมารวมตัวกันเจอกันรายได้เสริมเป็นแค่ส่วนหนึ่งในการทำกลุ่มมากกว่า

 

          นางสาวมนัสนันท์  นุ่นแก้ว เกษตรอำเภอละงู  กล่าวว่า  สำหรับพื้นที่อำเภอละงูมีการปลูกกล้วยงาช้าง 40 ไร่ พบว่าผลผลิตก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เนื่องจากมีกระแสตอบรับดีมาก ทำให้ทางสำนักงานมีแนวความคิด ขยายพื้นที่การปลูกกล้วย กล้วยงาช้างให้เพิ่มขึ้น โดยจะส่งเสริมไปในส่วนของสมาชิกกลุ่มก่อน และจะขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นในบริเวณใกล้เคียง   สำหรับ  กล้วยงาช้าง  มีความพิเศษคือมีผลขนาดใหญ่เปลือกบาง เนื้อเนียนแน่นไม่มีเมล็ด ทำให้เหมาะกับการมาแปรรูปเป็นกล้วยฉาบ เมื่อแปรรูปเสร็จเนื้อจะกรอบเนียนอร่อย

 

         สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ นี้มาตั้งแต่ปี 2562 ทางเกษตรอำเภอได้เข้ามาช่วยส่งเสริมการบริหารจัดการกลุ่ม เพื่อให้กลุ่มมีความเข้มแข็งมากขึ้น นอกจากนี้ก็จะเป็นในส่วนของการตลาดและมาตรฐาน นอกจากนี้ทางกลุ่มก็ได้รับมาตรฐานอย.แล้วด้วย   อยากจะฝากกล้วยกับแก้วของทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยสวนกรอบแก้วเพราะมีรสชาติอร่อย

 

        สามารถติดตามได้ทางช่องทาง Facebook ของกลุ่ม หรือของทางสำนักงานเกษตรอำเภอละงูได้ โทร. 0896571242  , 0918147759

……………………………….

อัพเดทล่าสุด

“เทศกาลข้าวโพดหวานและอาหารอร่อยจังหวัดสตูล ครั้งที่ 14” งานยิ่งใหญ่แห่งปีที่คอการท่องเที่ยวเชิงอาหารห้ามพลาด!

“เทศกาลข้าวโพดหวานและอาหารอร่อยจังหวัดสตูล ครั้งที่ 14” งานยิ่งใหญ่แห่งปีที่คอการท่องเที่ยวเชิงอาหารห้ามพลาด! 18

Categories
ข่าวเด่น

สตูล-จิตอาสากู้ภัยภาคใต้เตรียมพร้อมรับมือ  ทบทวนเสริมความรู้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย  น้ำท่วมและน้ำป่า  ภายใต้หลักสูตร Swift Water and Flood Rescue ยกระดับการกู้ภัยสู่มาตรฐานสากล

สตูล-จิตอาสากู้ภัยภาคใต้เตรียมพร้อมรับมือ  ทบทวนเสริมความรู้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย  น้ำท่วมและน้ำป่า  ภายใต้หลักสูตร Swift Water and Flood Rescue ยกระดับการกู้ภัยสู่มาตรฐานสากล

           จังหวัดสตูล – วันนี้สำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสตูลได้แจ้งเตือนภัยเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันน้ำป่าไหลหลาก  น้ำท่วมขัง  ดินถล่ม   ระหว่างวันที่ 20 – 26  พฤศจิกายน 2567  โดยปริมาณน้ำฝนวันนี้เยอะสุดที่อำเภอท่าแพ 16.6  ลูกบาศก์เมตร รองลงมาคือที่อำเภอควนกาหลง 8.4  ลูกบาศก์เมตรปริมาณน้ำในคลองดุสน เพิ่มขึ้นเล็กน้อย   ขณะที่คลองละงูปริมาณน้ำลดลง

 

         ขณะที่คลองฉลุง ตำบลฉลุง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล  ขณะนี้ปริมาณน้ำในคลองกำลังไหลเชี่ยวปริมาณน้ำไม่สูงมากนัก   โดยวันนี้เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่กลุ่มจิตอาสากู้ภัยจากภาคใต้ตอนล่างรวมตัวฝึกซ้อมรับมือสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากและน้ำไหลเชี่ยวกราด ในหลักสูตร Swift Water and Flood Rescue เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ

 

        นายสาโรจน์ ศรีน้อย จากมูลนิธิกู้ภัยร่มไทรสตูล เปิดเผยว่า การฝึกอบรมครั้งนี้จัดขึ้นเป็นรุ่นที่ 3 มีผู้เข้าร่วมจาก 5 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และกระบี่ โดยใช้เวลาฝึก 3 วัน เน้นการเรียนรู้เทคนิคการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำโดยเฉพาะ เพื่อรองรับสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง

 

         “การฝึกอบรมจัดขึ้นทุก 1-2 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความปลอดภัยให้ผู้ปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่กู้ภัยจำเป็นต้องเรียนรู้หลักสูตรการช่วยเหลือที่ถูกต้องตามมาตรฐาน เพื่อลดความสูญเสียและเพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย” นายสาโรจน์กล่าว

           ด้านนายนฤภัทร วัฒนกุล ประธานชมรมตอบโต้ภัยพิบัติ RRVT อธิบายว่า หลักสูตรกู้ภัยประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ การกู้ภัยทางน้ำ กู้ภัยในที่สูง และกู้ภัยทางทะเล โดยใช้หลักสูตรมาตรฐานสากลที่ปรับให้เหมาะสมกับบริบทประเทศไทย มีการจัดอบรมไม่เกิน 6 รุ่นต่อปี โดยมีศูนย์กลางการฝึกอยู่ที่จังหวัดนครนายก  และจะทำการฝึกให้กับอาสากู้ภัยในพื้นที่ที่ต้องการความรู้เพิ่มเติม ใน รูปแบบของการเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย ที่มีเทคนิค มากขึ้น  การที่ทุกพื้นที่มีความรู้เบื้องต้นจะทำให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้รับความช่วยเหลือ รวดเร็วยิ่งขึ้น

……………………………………

อัพเดทล่าสุด

“เทศกาลข้าวโพดหวานและอาหารอร่อยจังหวัดสตูล ครั้งที่ 14” งานยิ่งใหญ่แห่งปีที่คอการท่องเที่ยวเชิงอาหารห้ามพลาด!

“เทศกาลข้าวโพดหวานและอาหารอร่อยจังหวัดสตูล ครั้งที่ 14” งานยิ่งใหญ่แห่งปีที่คอการท่องเที่ยวเชิงอาหารห้ามพลาด! 18

Categories
ข่าวเด่น

ตำรวจสตูลรวบแล้วหัวขโมยลูกมะพร้าว 10 ลูก  ฉกไปพร้อมไข่ไก่ นมและข้าวราดแกง แม่ค้าเจ้าทุกข์ไม่แจ้งเอาความแต่ขอให้สาบานสัญญาว่าจะไม่ไปทำกับใครอีก!

ตำรวจสตูลรวบแล้วหัวขโมยลูกมะพร้าว 10 ลูก  ฉกไปพร้อมไข่ไก่ นมและข้าวราดแกง แม่ค้าเจ้าทุกข์ไม่แจ้งเอาความแต่ขอให้สาบานสัญญาว่าจะไม่ไปทำกับใครอีก!

         วันที่ 21 พฤศจิกายน 2567   ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ภาพนาทีที่ตำรวจชุด สภ.เมืองสตูลเข้าจับหัวขโมยพร้อมของกลางลูกมะพร้าวจำนวน 10 ลูก เมื่อวานนี้ เวลาประมาณ 21.30 น. พ.ต.อ.เสกสิทธิ์ ปรากฎชื่อ  ผกก.สภ.เมืองสตูล   มอบหมายให้พ.ต.ท.สำเร็จ  ใจเอื้อ  รอง ผกก.สส.ฯ พ.ต.ท.เฉลิมรัฐ แก้วเนียม  สว.สส.ฯ  สั่งการให้ ร.ต.อ.ฮาซัน แหละหมัน  รอง สว.สส.ฯ  ร.ต.อ.รัฐศักดิ์ จีนหวั่น  รอง สว.สส.ฯ พร้อมชุดสืบสวน ร่วมกับ ชปข.ร้อย ตชด.436, เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองจังหวัดสตูล

         สืบสวนและจับกุมผู้ก่อเหตุขโมยมะพร้าวของแม่ค้าขายกะทิสดหายไปจำนวน 10 ลูก และยังหยิบไข่ไก่จำนวน 15 ฟองในตู้เย็นไปพร้อมกับยาคูลย์ 6 ขวด และตักข้าวพร้อมราดแกงไปอีกจานใหญ่  โดยกล้องวงจรปิดของแม่ค้าขายกะทิสดจับภาพไว้ได้คาหนังคาเขา

          แม้แม่ค้าขายกะทิสดจะไม่แจ้งความดำเนินคดี  เมื่อตำรวจทราบเรื่องได้ให้ชุดสืบสวนติดตามจับกุม   หนุ่มเร่รอนดังกล่าวไว้ได้ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้กับจุดก่อเหตุ  คือที่ที่บริเวณสี่แยกคอกเป็ด ถ.สถิตยุติธรรม ต.พิมาน อ.เมือง จ.สตูล 

          ทราบภายหลังว่า  ชื่อว่าเป็นนายอาทิตย์ หรือดี้ อายุ 36 ปี  ได้ก่อเหตุลักทรัพย์ขโมยมะพร้าว ที่ร้านขายกะทิสดสี่แยกเจ๊ะบิลัง ต.พิมาน อ.เมืองสตูล เมื่อคืนวันที่ 16 พ.ย.67 เวลาประมาณ 23.30 น.

          แม้แม่ค้ากะทิสดผู้เสียหาย   ไม่ประสงค์จะแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุดังกล่าว  เพียงแค่ต้องการให้มาขอโทษและสัญญาสาบานต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าจะไม่ลักทรัพย์ของผู้ใดอีก

          หลังได้ตัวและของกลางเป็นมะพร้าวแล้วจำนวน 10 ลูก ตำรวจได้เชิญผู้เสียหายมารับทราบยัง  สภ.เมืองสตูล พร้อมให้ผู้ก่อเหตุ  คืนมะพร้าวให้แก่ผู้เสียหายและได้รับปากว่าจะไม่กระทำความผิดลักทรัพย์อีก

          แต่ทางเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนฯ ได้ถ่ายรูปจัดทำประวัติและดำเนินการตามกฎหมาย  จึงทำได้ว่ากล่าวตักเตือน และติดต่อญาติให้ทราบช่วยดูแลพฤติกรรมไม่ให้ไปก่อเหตุที่ไหนอีก  นอกจากนี้ผู้ก่อเหตุยังพบประวัติเป็นบุคคลไม่สมประกอบทางด้านสมองอีกด้วย 

…………………………………………………………………

อัพเดทล่าสุด

“เทศกาลข้าวโพดหวานและอาหารอร่อยจังหวัดสตูล ครั้งที่ 14” งานยิ่งใหญ่แห่งปีที่คอการท่องเที่ยวเชิงอาหารห้ามพลาด!

“เทศกาลข้าวโพดหวานและอาหารอร่อยจังหวัดสตูล ครั้งที่ 14” งานยิ่งใหญ่แห่งปีที่คอการท่องเที่ยวเชิงอาหารห้ามพลาด! 18

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

ถั่วลิสงแซมยาง สร้างเงิน! เกษตรกรสตูลเผยสูตรสำเร็จ ปลูก 2 ไร่ 3 เดือนรายได้งาม

ถั่วลิสงแซมยาง สร้างเงิน! เกษตรกรสตูลเผยสูตรสำเร็จ ปลูก 2 ไร่ 3 เดือนรายได้งาม

         เกษตรกรต้นแบบที่ จ.สตูล สร้างรายได้เสริมด้วยการปลูกถั่วลิสงแซมในสวนยางพารา  ที่บ้านอุใดใต้  หมู่ที่ 5 ตำบลอุใดเจริญ  อำเภอควนกาหลง  จังหวัดสตูล

         

         โดยนางสาวสุภาพ  ศรีทอง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ รักษาราชการแทนเกษตรอำเภอควนกาหลง พร้อม น.ส.จุฑามาศ เกียรติอุปถัมภ์  นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ และ นายธารสวาท พิมเสน  นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ลงพื้นที่เยี่ยมเกษตรกรและให้คำแนะนำการปลูกและดูแลพืชระยะสั้นที่ให้ผลผลิตเร็ว อย่างการปลูกถั่วลิสง

 

          ซึ่งเกษตรรายนี้คือ  นายนิรันดร  คลิ้งนวล อายุ 63 ปี  คุณลุงพร้อมภรรยา  เกษตรกรชาวบ้านอุใดใต้  ได้ปลูกถั่วลิสงแซมในสวนยางที่ยังไม่เปิดกรีด  เป็นทางเลือกที่ดีในการสร้างรายได้เสริม โดยใช้พื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์ระหว่างรอยางโตบนพื้นที่ปลูก 2 ไร่  โดยใช้เมล็ดพันธุ์เพียง 15 กิโลกรัมต่อไร่ มีเทคนิคการปลูกที่ไม่ยุ่งยาก เริ่มจากการไถดินและหว่านปูนขาวเพื่อป้องกันหนอน ปลูกโดยเว้นระยะห่าง 1 ไม้บรรทัด ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15 สองครั้งในช่วงอายุ 15 และ 30 วัน

         นางสาวสุภาพ ศรีทอง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ รักษาราชการแทนเกษตรอำเภอควนกาหลง กล่าวว่า   ถั่วลิสงเป็นพืชที่ปลูกง่าย ใช้เวลาสั้นเพียง 3 เดือนก็เก็บผลผลิตได้ และยังช่วยบำรุงดินอีกด้วย ที่สำคัญ ในพื้นที่ 1 ไร่ สามารถให้ผลผลิตถึง 300 กิโลกรัม ขายได้กิโลกรัมละ 50 บาท และหากแกะล้างเรียบร้อยราคาจะเพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 75 บาท สร้างรายได้เสริมให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดี

 

         โดยรายได้จากการขายถั่วลิสงต่อไร่ 15,000 บาท   ในพื้นที่จำนวน 2 ไร่  คุณลุงนิรันดร สามารถสร้างรายได้ภายใน 3 เดือน 30,000 บาท ควบคู่ไปกับพืชชนิดอื่นที่ปลูกแซมไปพร้อมกันด้วย

 

         นอกจากนี้ หลังเก็บเกี่ยวถั่วลิสงแล้ว ยังสามารถปลูกพืชหมุนเวียนอื่น ๆ เช่น ข้าว ข้าวเหนียวดำ หรือข้าวโพด ข้าวไร่  ได้อีกด้วย เกษตรกรที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณลุงนิรันดร คลิ้งนวล โทร 083-656-1525 หรือที่สำนักงานเกษตรอำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล

……………………………………………

อัพเดทล่าสุด

“เทศกาลข้าวโพดหวานและอาหารอร่อยจังหวัดสตูล ครั้งที่ 14” งานยิ่งใหญ่แห่งปีที่คอการท่องเที่ยวเชิงอาหารห้ามพลาด!

“เทศกาลข้าวโพดหวานและอาหารอร่อยจังหวัดสตูล ครั้งที่ 14” งานยิ่งใหญ่แห่งปีที่คอการท่องเที่ยวเชิงอาหารห้ามพลาด! 18

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

เยาวชนสตูล ร่วมสืบสานวิถีชาวนาพื้นบ้าน เรียนรู้ตั้งแต่เก็บเกี่ยวถึงการแปรรูป

เยาวชนสตูล ร่วมสืบสานวิถีชาวนาพื้นบ้าน เรียนรู้ตั้งแต่เก็บเกี่ยวถึงการแปรรูป

         บรรยากาศอันสวยงามของทุ่งข้าวเหนียวดำพันธุ์พื้นเมืองที่กำลังออกรวงเต็มท้องทุ่ง พร้อมให้เก็บเกี่ยวบนพื้นที่ 30 ไร่ในแปลงยางพาราอายุไม่เกิน 3 ปี ณ บ้านนาโต๊ะขุน ตำบลแป-ระ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล ได้กลายเป็นห้องเรียนธรรมชาติที่มีชีวิตสำหรับเยาวชนรุ่นใหม่

        วันนี้ (20 พ.ย. 67) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนพิมานพิทยาสรรค์จำนวน 38 คน ได้มีโอกาสเรียนรู้วิถีชีวิตชาวนาผ่านการแข่งขันเก็บเกี่ยวข้าวด้วย “แกะ” เครื่องมือพื้นบ้านที่สืบทอดมาแต่โบราณ โดยมีนายหร่ออ๊บ มุเส็มสะเดา นายอำเภอท่าแพ นางสาวกำไลทิพย์ เศรษฐ์ วิชัย เกษตรจังหวัดสตูล  นายอารีย์  โส๊ะสันสะ เกษตรอำเภอท่าแพ และชาวบ้านในชุมชนร่วมลงแขกเก็บเกี่ยวไปพร้อมกัน

         เพื่อสืบสานภูมิปัญญาการทำข้าวเม่า  หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ผู้ร่วมงานได้เรียนรู้กระบวนการทำข้าวเม่าแบบดั้งเดิม เริ่มจากการคั่วข้าวเหนียว ตำในครก และฟัดด้วยกระด้ง ก่อนนำไปแปรรูปเป็นเมนูพื้นบ้าน “ข้าวเม่าคลุกมะพร้าวอ่อน” ที่ใช้ส่วนผสมจากวัตถุดิบในท้องถิ่น 

         นางสาวชนกสุดา เจริญศิลป์  และนายธนกฤต เพชรสงค์  นักเรียน ชั้น ม.6  โรงเรียนพิมานพิทยาสรรค์     เปิดเผยว่า “แม้จะเป็นคนสตูลแต่ไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสกับการเก็บเกี่ยวข้าวมาก่อน การได้มาเรียนรู้วันนี้ทำให้ภูมิใจในภูมิปัญญาท้องถิ่นของเรา และเห็นศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดเป็นวิสาหกิจชุมชน”

 

        ด้าน นางรำไพ สตันน๊อด ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลผลิตบ้านนาโต๊ะขุน เล่าถึงที่มาของโครงการว่า เกิดจากแนวคิดในการใช้ประโยชน์พื้นที่ว่างหลังการโค่นยางพารา โดยหันมาปลูกข้าวเหนียวดำเพื่อสืบสานวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชน

 

        ปัจจุบัน อำเภอท่าแพมีพื้นที่ปลูกข้าวรวม 3,048 ไร่ จาก 615 ครัวเรือน โดยเฉพาะในตำบลแป-ระมีพื้นที่ปลูกข้าว 1,576 ไร่ แบ่งเป็นนาข้าว 778 ไร่ และข้าวไร่ 798 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกแซมในสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน สะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างวิถีเกษตรดั้งเดิมกับการเกษตรสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว

………………………

อัพเดทล่าสุด

“เทศกาลข้าวโพดหวานและอาหารอร่อยจังหวัดสตูล ครั้งที่ 14” งานยิ่งใหญ่แห่งปีที่คอการท่องเที่ยวเชิงอาหารห้ามพลาด!

“เทศกาลข้าวโพดหวานและอาหารอร่อยจังหวัดสตูล ครั้งที่ 14” งานยิ่งใหญ่แห่งปีที่คอการท่องเที่ยวเชิงอาหารห้ามพลาด! 18

Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา เกษตร - อาชีพ

“ขาหมูจันทร์เจริญ” สูตรลับจากจีนสู่ร้านดังเมืองสตูล ทายาท วัย33 ปีบริหารด้วยใจรักงานบริการ ตอบโจทย์ทุกวัยสายหมู

“ขาหมูจันทร์เจริญ” สูตรลับจากจีนสู่ร้านดังเมืองสตูล ทายาท วัย33 ปีบริหารด้วยใจรักงานบริการ ตอบโจทย์ทุกวัยสายหมู

         เส้นทางความสำเร็จของร้านขาหมูจันทร์เจริญ  เริ่มต้นจากคุณแม่เพ็ญผู้ได้รับการถ่ายทอดสูตรอันเป็นเอกลักษณ์จากชาวจีนใน จ.พังงา  ก่อนจะมาเปิดร้านของตัวเองที่อำเภอควนกาหลง  เป็นเวลาเกือบ 10 ปี จนได้ย้ายเข้าสู่ตัวเมืองสตูล โดยแวะพักที่แฟลตตำรวจ 1 ปี ก่อนจะมาตั้งรกรากที่ปัจจุบันบนถนนยนตรการกำธร ตำบลคลองขุด อำเภอเมืองสตูล

 

          ปัจจุบัน กิจการได้ส่งต่อมาถึงรุ่นที่ 2 โดยคุณวันจันทร์  จีวตระกูล วัย 33 ปี ผู้มีใจรักในการค้าขายและการทำอาหาร ซึ่งเสริมอาชีพจากอาชีพกู้ชีพที่ภูเก็ต มาเป็นผู้บริหารร้านร่วมกับครอบครัว

         

         โดยจุดเด่นของร้านเคล็ดลับความอร่อยที่ใครก็ต้องลอง  กับเมนูขาหมูนุ่มละลายในปาก ที่ผ่านการตุ๋นนาน 3-4 ชั่วโมง – น้ำจิ้มซีฟู้ดรสเด็ดได้ใช้น้ำมะนาวสดๆ  และวัตถุดิบคุณภาพ  โดยปริมาณการขายต่อวัน:ขาหมู 8-10 ขา   หมูทอด 6 กิโลกรัม หมูกรอบ 10 กิโลกรัม

         สำหรับเมนูแนะนำและราคา   ข้าวขาหมูธรรมดา 60 บาท , ข้าวขาหมูพิเศษ 70 บาท , ข้าวหมูทอด 50 บาท ,ก๋วยจั๊บ (เพิ่มเครื่องใน) 50 บาท , ขาหมูล้วน (กล่อง) 100 บาท- คากิล้วน (กล่อง) 100 บาท  นอกจากนี้ยังมีเมนูอื่นๆ เช่น หมูกรอบ หมูแดง แกงส้ม และบริการจัดเลี้ยงแบบกล่อง

 

          ร้าน- เปิดบริการ: 07:30 – 15:00 น. หยุดทุกวันอาทิตย์   ที่ตั้ง: ถนนยนตรการกำธร (ตรงข้าม อบจ.สตูล) ต.คลองด อ.เมืองสตูล  – โทร: 098-369-2536, 096-792-7024  และ เร็วๆ นี้มีบริการสั่งอาหารออนไลน์

 

          สำหรับร้านขาหมูจันทร์เจริญ เป็นที่นิยมในทุกกลุ่มลูกค้า  ทั้งข้าราชการและลูกค้าขาจร ด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์และการบริการที่ใส่ใจ ทำให้ร้านนี้กลายเป็นหนึ่งในร้านขาหมูที่ได้รับความนิยมในจังหวัดสตูล

 

…………

อัพเดทล่าสุด

“เทศกาลข้าวโพดหวานและอาหารอร่อยจังหวัดสตูล ครั้งที่ 14” งานยิ่งใหญ่แห่งปีที่คอการท่องเที่ยวเชิงอาหารห้ามพลาด!

“เทศกาลข้าวโพดหวานและอาหารอร่อยจังหวัดสตูล ครั้งที่ 14” งานยิ่งใหญ่แห่งปีที่คอการท่องเที่ยวเชิงอาหารห้ามพลาด! 18

Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา เกษตร - อาชีพ

“วันเดียวเที่ยวฉลุง” สัมผัส 6 จุด มนต์เสน่ห์วิถีชุมชนดั้งเดิมแห่งสตูล

วันเดียวเที่ยวฉลุง” สัมผัส 6 จุด มนต์เสน่ห์วิถีชุมชนดั้งเดิมแห่งสตูล

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสตูล ร่วมกับเครือข่ายผู้ผลิตข่าวสตูล เชิญชวนนักท่องเที่ยวร่วมสัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวสุดพิเศษในโครงการ “วันเดียวเที่ยวฉลุง” เส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่จะพาทุกท่านย้อนรอยประวัติศาสตร์ผ่าน 6 จุดหมายสำคัญของชุมชนฉลุง โดยการเดินทางด้วยรถส้มท้องถิ่นที่จะทำให้การท่องเที่ยวครั้งนี้มีเสน่ห์ยิ่งขึ้น

### ไฮไลท์การท่องเที่ยว 6 จุดหมายห้ามพลาด

**1. วัดดุลยาราม** – สักการะหลวงพ่อแก่ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง พระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามญาติที่แกะสลักจากไม้ด้วยฝีมือช่างล้านนา มีประวัติความเป็นมาอันน่าอัศจรรย์จากการลอยน้ำมาตามคลองฉลุง

**2. บ้านแตนาน** – คาเฟ่สุดคลาสสิกในบ้านโบราณอายุกว่า 80 ปี แหล่งรวมของสะสมโบราณที่หาชมได้ยาก เหมาะสำหรับการพักผ่อนและซึมซับบรรยากาศย้อนยุค

**3. พิพิธภัณฑ์บ้านมีชีวิต หมอฮวด** – แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์การแพทย์แผนโบราณของสตูล ผ่านเรื่องราวของหมอฮวด ฉัตรชัยวงศ์ หมอแผนโบราณผู้เป็นที่เคารพนับถือของชุมชน

**4. ชิมขนมตาหยาบ** – สัมผัสรสชาติขนมพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

**5. มัสยิดกลางฉลุง** – ศาสนสถานเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี สะท้อนความงดงามของวิถีชีวิตพหุวัฒนธรรม

**6. ร้านจูนีฮาลาล สตรีทฟู้ด** – อิ่มอร่อยกับอาหารท้องถิ่นรสเด็ด ทั้งจิ้มจุ่ม ย่างเนย โรตีนาน และชาปากีเครื่องดื่มขึ้นชื่อ

### การเดินทางและการติดต่อ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสตูล

– โทร: 074-740-724, 062-595-7748

– อีเมล: tatsatun@tat.or.th

– Facebook: ททท.สำนักงานสตูล : TAT Satun Office

– Line: tatsatun

– ที่อยู่: เลขที่ 52 ถนนคูหาประเวศน์ ตำบลพิมาน อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล 91000

ร่วมสัมผัสมนต์เสน่ห์แห่งวิถีชีวิตดั้งเดิม เรียนรู้ประวัติศาสตร์ และลิ้มรสอาหารท้องถิ่นในทริปเดียว กับ “วันเดียวเที่ยวฉลุง” เส้นทางท่องเที่ยวที่จะทำให้คุณหลงรักเสน่ห์ของสตูลอย่างไม่รู้ลืม

อัพเดทล่าสุด

“เทศกาลข้าวโพดหวานและอาหารอร่อยจังหวัดสตูล ครั้งที่ 14” งานยิ่งใหญ่แห่งปีที่คอการท่องเที่ยวเชิงอาหารห้ามพลาด!

“เทศกาลข้าวโพดหวานและอาหารอร่อยจังหวัดสตูล ครั้งที่ 14” งานยิ่งใหญ่แห่งปีที่คอการท่องเที่ยวเชิงอาหารห้ามพลาด! 18

Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา เกษตร - อาชีพ

สตูล-สืบสานขนมพื้นบ้านโบราณ จนเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ชุมชน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหัวเขาพัฒนาสูตรดั้งเดิมสู่ธุรกิจยั่งยืน

สตูล-สืบสานขนมพื้นบ้านโบราณ จนเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ชุมชน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหัวเขาพัฒนาสูตรดั้งเดิมสู่ธุรกิจยั่งยืน

          ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหัวเขา หมู่ที่ 9 ตำบลฉลุง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล แม่บ้านกว่า 10 คน ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มฯ กำลังร่วมแรงร่วมใจกันทำขนมตามออเดอร์ลูกค้า โดยเฉพาะขนมไข่กรอบและขนมโกยบังเกต ที่ส่งกลิ่นหอมหวานชวนน้ำลายสอ

 

         ขนมไข่กรอบ หนึ่งในผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของกลุ่ม ใช้วัตถุดิบหลักเพียง 3 อย่าง ได้แก่ แป้งสาลี 700 กรัม ไข่ไก่ 10 ฟอง ไข่เป็ด 5 ฟอง และน้ำตาลทรายขาว 900 กรัม วิธีทำเริ่มจากตีไข่กับน้ำตาลให้ขึ้นฟู ใส่แป้งคลุกเคล้าให้เข้ากัน ก่อนหยอดแป้งในพิมพ์และอบ 15 นาที จนได้ขนมไข่หอมกรุ่น มีทั้งพิมพ์รูปปลาราคาชิ้นละ 5 บาท และพิมพ์รูปมะเฟืองชิ้นละ 3 บาท

 

          ส่วนขนมโกยบังเกตหรือขนมผิง อีกหนึ่งเมนูยอดนิยม ใช้แป้งมันสำปะหลัง 800 กรัม แป้งสาลี 200 กรัม ไข่ไก่ 5 ฟอง น้ำตาลทรายขาว 1.5 กิโลกรัม และน้ำกะทิ 1 กิโลกรัม นำไปเคี่ยวจนข้น ผสมแป้ง พิมพ์เป็นรูปดอกไม้ และอบจนสุกหอม เหมาะรับประทานคู่กับชากาแฟยามสาย ราคาชิ้นละ 3 บาท

 

         นางปรีดะ อายาหมีน ประธานกลุ่มฯ เล่าว่า กลุ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2548 จากการรวมตัวของสตรีในหมู่บ้าน 15 คน เริ่มจากการผลิตขนมพื้นเมือง 2-3 ชนิด ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการ จนพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มเป็น 13 ชนิด ปัจจุบันมีสมาชิก 12 คน มีรายได้เฉลี่ยคนละ 4,000-5,000 บาทต่อเดือน

 

       “นอกจากสร้างรายได้ให้สมาชิกแล้ว กลุ่มยังสนับสนุนชุมชนด้วยการรับซื้อไข่ไก่และไข่เป็ดจากคนในพื้นที่” นางปรีดะกล่าว

 

        ด้านนางสาวณฉัตร ยุงคุณ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองสตูล กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้จัดอยู่ในระดับดี มีจุดเด่นที่ผลิตภัณฑ์หลากหลาย เป็นขนมพื้นเมืองที่มีเอกลักษณ์และรสชาติเฉพาะตัว ได้รับมาตรฐานจนเป็นที่ไว้วางใจของผู้บริโภค

 

          สำหรับขนมของกลุ่ม  มีหลายชนิดอย่าง  ขนมไข่กรอบ  ขนมโดนัท  คุกกี้สิงค์โปร์  ขนมโกยบังเกตหรือขนมผิง  ขนมเสี้ยวจันทร์  ขนมมกระหรี่ปั๊บอบ  ขนมเจาะหู  ขนมไข่เต่า  ขนมผูกรัก โรตีกาปาย และบุหงาบูดะ

 

        ผู้สนใจสามารถสั่งซื้อขนมได้ในราคาถุงละ 35 บาท หรือ 3 ถุง 100 บาท และถุงละ 50 บาท นอกจากนี้ยังรับจัดกระเช้าราคาเริ่มต้น 500 บาท มีขนมให้เลือกมากกว่า 10 ชนิด สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 086-9554522 หรือ 083-1682878

………………….

อัพเดทล่าสุด

“เทศกาลข้าวโพดหวานและอาหารอร่อยจังหวัดสตูล ครั้งที่ 14” งานยิ่งใหญ่แห่งปีที่คอการท่องเที่ยวเชิงอาหารห้ามพลาด!

“เทศกาลข้าวโพดหวานและอาหารอร่อยจังหวัดสตูล ครั้งที่ 14” งานยิ่งใหญ่แห่งปีที่คอการท่องเที่ยวเชิงอาหารห้ามพลาด! 18

Categories
ข่าวเด่น

สตูลไขน็อตปัญหาโจรกรรมหม้อแปลง และอุปกรณ์ไฟฟ้าส่องสว่าง  พุ่งเป้าร้านรับซื้อของเก่าพบผิดยึดใบอนุญาตทันที

สตูลไขน็อตปัญหาโจรกรรมหม้อแปลง และอุปกรณ์ไฟฟ้าส่องสว่าง  พุ่งเป้าร้านรับซื้อของเก่าพบผิดยึดใบอนุญาตทันที

         ที่ห้องประชุมแขวงทางหลวงสตูล ชั้น 3 นางสาวดุษฎี  พฤกษเศรษฐ  รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล  เป็นประธานในการประชุมเพื่อบูรณาการร่วมกันในการแก้ไขปัญหาการโจรกรรมทรัพย์สินในเขตทางหลวง โดยมีนายณรงค์ศักดิ์ นันทคำภิรา ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสตูล พร้อมผู้อำนวยการทางหลวงชนบทสตูล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียงกัน

 

        ด้วยที่ผ่านมา แขวงทางหลวงสตูล และแขวงทางหลวงชนบทสตูล ได้ประสบกับปัญหาทรัพย์สินในเขตทางหลวงถูกโจรกรรม ซึ่งสินทรัพย์ส่วนใหญ่ที่ถูกโจรกรรมเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้า สายไฟ หม้อแปลงไฟฟ้า ป้ายจราจร และอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยต่าง ๆ และยังมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอีกในอนาคต โดยพื้นที่ที่ทรัพย์สินถูกโจรกรรมของแขวงทางหลวงสตูลอยู่ในท้องที่ ตำบลบ้านควน ตำบลควนโพธิ์ ตำบลควนขัน ตำบลคลองขุด ตำบลตำมะลัง ตำบลทุ่งนุ้ย และพื้นที่ที่ทรัพย์สินถูกโจรกรรมของแขวงทางหลวงชนบทสตูล อยู่ในท้องที่ ตำบลตันหยงโป ตำบลคลองขุด ตำบลฉลุง และตำบลละงู ซึ่งแต่ละปีส่งผลให้ภาครัฐต้องสูญเสียงบประมาณในจัดซื้อ จัดหา มาติดตั้งทดแทน อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อความปลอดภัย และอาจทำให้เกิด อุบัติเหตุเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ใช้เส้นทางได้

 

         จากนั้น  รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล และนายณรงค์ศักดิ์ นันทคำภิรา ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสตูล ได้ลงพื้นที่ที่ทรัพย์สินถูกโจรกรรมของแขวงทางหลวงชนบทสตูลบริเวณตำบลตำมะลัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการโจรกรรมทรัพย์สินในเขตทางหลวง

 

         ชาวบ้านผู้ใช้เส้นทาง  บอกว่า  ผู้ใช้เส้นทางรายหนึ่งบอกว่าทุกครั้งที่ไฟดับยอมรับว่ามีความหวาดกลัวมากเนื่องจากไม่รู้เลยว่า 2 ข้างทางมีอะไรอยู่ ยิ่งเป็นผู้หญิงแบบเราขี่รถไปทำงานในตัวเมืองและเปลี่ยนกะเข้าทำงานกลางคืน ทั้งเส้นทางมืดหมดเลยทำให้น่ากลัวเป็นอย่างมาก  เมื่อรู้ว่าเส้นทางที่ใช้อยู่เป็นประจำได้มีการซ่อมแซมและเร่งติดตั้งไฟให้ส่องสว่างกลับมาเหมือนเดิมส่วนตัวรู้สึกอบอุ่นใจ มองเห็นข้างทางได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่ามีอะไรอยู่ระหว่างทางทำให้ขับขี่ได้อย่างสบายใจ มากยิ่งขึ้นขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับชาวบ้าน

         นางสาวดุษฎี  พฤกษเศรษฐ  รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล  กล่าวว่า  แนวทางการแก้ปัญหาคือการบูรณาการร่วมกันทุกฝ่ายทั้งตำรวจฝ่ายปกครองท้องถิ่นแล้วเจ้าของสวนราชการเองที่เป็นเจ้าของทรัพย์สิน โดยอันดับแรกของการแก้ปัญหาอยากให้มีการตรวจสอบร้านค้าของเก่าก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อป้องปรามเพราะเห็นว่าสถานที่ดังกล่าวมีความสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหา  แม้ดูเหมือนจะเป็นปลายเหตุแต่หากไม่มีคนรับซื้อ ทำให้ปัจจัยการก่อเหตุน้อยลง

 

          ส่วนการติดกล้อง CCTV จะมีปัจจัยเรื่องงบประมาณเข้ามาเกี่ยวข้อง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอยากให้มีการบูรณาการร่วมกับฝ่ายความมั่นคง ในการติดตั้งกล้องในพื้นที่เสี่ยง โดยมีเจ้าของพื้นที่อย่างทางหลวงชนบทและแขวงทางหลวงให้มีอนุญาตด้วย

 

          การขโมยทรัพย์สินของทางราชการไม่ได้เป็นเพียงแค่ทำลายทรัพย์สินนั้นๆ  มันมี มูลค่าทางเศรษฐกิจ จังหวัดสตูลเป็นจังหวัดท่องเที่ยวการดูแลทรัพย์สินเป็นสิ่งสำคัญ  ที่ทางจังหวัดคำนึงถึง รวมทั้งความปลอดภัยด้านอุบัติเหตุ เราก็ให้ความสำคัญอยากจะขอความร่วมมือ ช่วยสอดส่องตรวจตราดูทรัพย์สินของทางราชการ  ที่มีผลต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของท่าน

 

          นายณรงค์ศักดิ์ นันทคำภิรา ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสตูล กล่าวว่า  ตั้งแต่ปี 2564-2567 ได้เก็บข้อมูลความเสียหายของทรัพย์สินภาพรวมพบว่าอยู่ที่ 1,500,000 บาท  ซึ่งปัจจุบันแขวงทางสตูลได้ดูแลทางหลวงจังหวัดสตูลตรังและสงขลา    แนวทางการแก้ปัญหาอันดับแรกคือการแจ้งผู้ประกอบการที่รับซื้อของเก่า ให้ทราบถึงโทษและรูปแบบของทรัพย์สินของทางราชการ ที่ผู้โจรกรรมจะนำไปขายเพื่อให้ทราบชัดเจนว่าหากท่านรับซื้อจะผิดกฎหมายรับซื้อของหลวง

 

         ในส่วนการนำนวัตกรรมมาใช้ในการป้องปรามได้มีการหารือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เนื่องจากหม้อแปลงไฟฟ้ามีราคาสูงถึง 200,000 กว่าบาท ปัจจุบันทางการไฟฟ้าได้มีการใช้นวัตกรรมใหม่ในเรื่องของน็อตที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาจากหม้อแปลงเดิมอีก 3,000 กว่าบาท โดยในปี 2569 เราจะนำนวัตกรรมนี้มาใช้เพื่อป้องกันการโจรกรรมทรัพย์สินของทางราชการโดยการขโมยหม้อแปลงไฟฟ้า   ในส่วนพื้นที่ที่ถูกโจรกรรมหม้อแปลงไฟฟ้าและอุปกรณ์โดยเฉพาะในพื้นที่ตำบลตำมะลังระยะทางกว่า 5 กิโลเมตรขณะนี้ทางแขวงทางหลวงสตูลได้แก้ปัญหาจนสามารถเปิดจ่ายไฟให้กับผู้ใช้เส้นทางได้แล้ว 100%   พร้อมฝากประชาชนที่พบเห็นผู้ที่ส่อเจตนาในการที่จะขโมยทรัพย์สินของทางราชการ  ให้แจ้งทางแขวง 1586 หรือทาง facebook แขวงทางหลวงสตูลกรมทางหลวง

…………………………….

อัพเดทล่าสุด

“เทศกาลข้าวโพดหวานและอาหารอร่อยจังหวัดสตูล ครั้งที่ 14” งานยิ่งใหญ่แห่งปีที่คอการท่องเที่ยวเชิงอาหารห้ามพลาด!

“เทศกาลข้าวโพดหวานและอาหารอร่อยจังหวัดสตูล ครั้งที่ 14” งานยิ่งใหญ่แห่งปีที่คอการท่องเที่ยวเชิงอาหารห้ามพลาด! 18

Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

รักษ์เล ป่า เปิดฟ้าอันดามันสตูล” มหกรรมรักษ์ทะเลครั้งยิ่งใหญ่ พร้อมต้อนรับฤดูกาลท่องเที่ยวทะเลอันดามัน

รักษ์เล ป่า เปิดฟ้าอันดามันสตูล” มหกรรมรักษ์ทะเลครั้งยิ่งใหญ่ พร้อมต้อนรับฤดูกาลท่องเที่ยวทะเลอันดามัน

          จังหวัดสตูลเตรียมพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวทางทะเลอย่างยิ่งใหญ่ ผ่านโครงการ “รักษ์เล ป่า เปิดฟ้าอันดามันสตูล” ครั้งที่ 22 ประจำปี 2567 ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสตูล อุทยานแห่งชาติตะรุเตา และภาคีเครือข่าย

 

       ในระหว่างวันที่ 9-11 พฤศจิกายน 2567 จิตอาสากว่า 500 คนจากทั่วประเทศได้ร่วมแรงร่วมใจทำความสะอาดเกาะสำคัญในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ได้แก่:  – เกาะไข่   – เกาะอาดัง   – เกาะราวี  – เกาะหลีเป๊ะ  ซึ่งพบขยะส่วนใหญ่จำพวก พลาสติก เป็นเศษอวน  เชือก ที่ถูกคลื่นซัดสาดมาในช่วงมรสุม

         นายสัมฤทธิ์   เลียงประสิทธิ์   นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล   กล่าวว่า   การทำความสะอาดครั้งนี้ครอบคลุมทั้งบริเวณชายหาดและใต้ท้องทะเลตามแนวปะการัง พร้อมจัดกิจกรรมพิเศษในการฉีดวัคซีนและทำหมันสัตว์บนเกาะหลีเป๊ะ เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างครบวงจร   พร้อมต้อนรับฤดูกาลท่องเที่ยว     

       

        โดยโครงการนี้ไม่เพียงแต่เป็นการทำความสะอาดเท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้และจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้แก่:  นักท่องเที่ยว   จิตอาสา   และผู้ประกอบการในพื้นที่

 

         สำหรับโครงการนี้จัดขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับฤดูกาลท่องเที่ยวทางทะเลหรือไฮซีซั่น ซึ่งเริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคมของทุกปี โดยมุ่งหวังให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้สัมผัสความงดงามของทะเลสตูลในสภาพแวดล้อมที่สะอาดและสมบูรณ์

 

          การร่วมมือกันครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของทุกภาคส่วนในการดูแลรักษาแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของจังหวัดสตูล พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาเยือนในฤดูกาลท่องเที่ยวนี้

……………………………………

อัพเดทล่าสุด

“เทศกาลข้าวโพดหวานและอาหารอร่อยจังหวัดสตูล ครั้งที่ 14” งานยิ่งใหญ่แห่งปีที่คอการท่องเที่ยวเชิงอาหารห้ามพลาด!

“เทศกาลข้าวโพดหวานและอาหารอร่อยจังหวัดสตูล ครั้งที่ 14” งานยิ่งใหญ่แห่งปีที่คอการท่องเที่ยวเชิงอาหารห้ามพลาด! 18