Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 อาหารโบราณราคาหลัก10 “ปัสมอส”  สลัดแขกสูตรโบราณ ขายดีสวนกระแสเศรษฐกิจฝืด

อาหารโบราณราคาหลัก10 “ปัสมอส”  สลัดแขกสูตรโบราณ ขายดีสวนกระแสเศรษฐกิจฝืด

สตูล – แม่ค้าชาวบ้านเกตรี สืบสานสูตรอาหารโบราณ “ปัสมอส” หรือสลัดแขก รสชาติดั้งเดิมที่เด็กทานง่าย ผู้ใหญ่ทานดี ขายในราคาเพียงถุงละ 10 บาท หวังให้คนในชุมชนได้อิ่มท้อง   โดยไม่ลำบากกระเป๋าสตางค์ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง

 

นางสาวยามิตา หมาดมานัง อายุ 42 ปี ชาวบ้านเกตรี อำเภอเมืองสตูล เปิดเผยว่า ตนทำปัสมอสขายมาตั้งแต่วัยเด็ก เพราะเคยช่วยน้าขายตามตลาด จนซึมซับสูตรโบราณติดตัวมานานหลายสิบปี

 

 “หัวใจสำคัญของปัสมอสคือน้ำราด ต้องใช้ถั่วลิสงคั่วตำใหม่ๆ  เคี่ยวไม่ให้นาน  เพราะจะแตกเป็นน้ำกะทิ ต้องมีรสหอมมัน เค็มหวานกลมกล่อม” นางสาวยามิตากล่าว

 

ปัสมอสสูตรดั้งเดิมของร้าน ประกอบด้วย หมี่ลวกหรือหมี่เหลือง แตงกวาซอย กุ้งผสมแป้งทอดกรอบ และไข่ต้มแบ่งสี่ส่วน ราดน้ำถั่วเข้มข้น ใส่ถุงละ 10 บาทเท่านั้น โดยมีลูกค้านำไปเติมพริก มะนาว หรือเนื้อไก่ตามชอบ

 

 “สมัยก่อนขายถุงละ 5 บาท พอของแพงขึ้นก็ขยับเป็น 10 บาท แต่ยังขายในราคานี้ เพราะอยากให้ครอบครัวใหญ่ที่มีลูกหลายคนได้ทานอิ่มทุกคน วันดีๆ เคยขายได้วันละ 150–200 ถุง บางวันตลาดเงียบก็ยังต้องสู้ต่อไป” แม่ค้ากล่าว

 

นอกจากนี้ หากลูกค้าต้องการจัดชุดใหญ่เพิ่มไก่ทอดหรือกุ้งทอด ทางร้านก็สามารถทำได้ในราคาชุดละ 30 บาท แต่ต้องโทรสั่งล่วงหน้า

แม่ค้ารายหนึ่งซึ่งเป็นลูกค้าประจำกล่าวว่า “ราคาแค่สิบบาท แต่อิ่มอร่อยเกินคุ้ม น้ำราดเข้มข้นไม่เหมือนใคร ทุกครั้งที่มาซื้อ จะรู้สึกดีใจที่ยังมีอาหารราคานี้ให้คนธรรมดาได้ทาน”

 

ผู้สนใจสามารถติดต่อสั่งซื้อหรือสอบถามได้ที่ โทร. 087-391  5501 (นางสาวยามิตา หมาดมานัง)

ตารางขายปัสมอส ตลาดชุมชนสตูล มีดังนี้

วันจันทร์และศุกร์ : ตลาดเช้า หัวสะพานเกตรี

วันพุธและเสาร์ : ตลาดเย็น บ้านดุ

วันพฤหัสบดี : ตลาดเช้า กาเนะ

วันอาทิตย์ : ตลาดเย็น ซอยเอวหัก คลองขุด

ลูกค้าที่ต้องการนั่งรับประทานที่ร้านก็สามารถใช้บริการ

 

“ปัสมอส” สลัดแขกโบราณถุงละสิบบาท จึงไม่เพียงเป็นอาหารอิ่มท้อง แต่ยังเป็นรสชาติของความทรงจำ และความเอื้ออาทรในยุคข้าวยากหมากแพง

………………………………

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

ปั่นจักรยานกินทุเรียนหมอนทอง สัมผัสสวนผลไม้แสนสุข เทศกาลใหญ่ “ปั่นชมสวน ชวนชิมอิ่มผลไม้ ครั้งที่ 11” สตูล ยิ่งใหญ่กว่าที่เคย

ปั่นจักรยานกินทุเรียนหมอนทอง สัมผัสสวนผลไม้แสนสุข เทศกาลใหญ่ “ปั่นชมสวน ชวนชิมอิ่มผลไม้ ครั้งที่ 11” สตูล ยิ่งใหญ่กว่าที่เคย

          สตูล – ยกขบวนนักปั่น นักท่องเที่ยวกว่าพันชีวิตร่วมเปิดประสบการณ์ใหม่ในงาน เทศกาลปั่นชมสวน ชวนชิมอิ่มผลไม้ ครั้งที่ 11 (Bike and Taste Food Festival 2025) ที่องค์การบริหารส่วนตำบลควนกาหลง  อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล

         วันที่นี้ ภายในงานเต็มไปด้วยรอยยิ้ม บรรยากาศแห่งความสุข และเส้นทางท่องเที่ยวที่ควรมาเยือนสักครั้งในชีวิต

          นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 2 จังหวัดสตูล ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล นายอำเภอควนกาหลง  ข้าราชการ ผู้นำท้องถิ่น และหัวหน้าหน่วยงานสำคัญ อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสตูล ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสตูล การกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดสตูล ที่พร้อมใจสนับสนุนเทศกาลยิ่งใหญ่ของคนรักสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชน

 

         นายณัฐภาพงษ์  สุวรรณชนะ  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลควรกาหลง ในนามคณะกรรมการจัดงาน เปิดเผยว่า เทศกาลปีนี้ยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้ง มีนักปั่นจากทั่วประเทศและต่างประเทศ เช่น เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช สงขลา ยะลา ปัตตานี พัทลุง และประเทศมาเลเซีย เดินทางมาร่วมกว่า 675 คน และนักท่องเที่ยวที่มาร่วมกิจกรรมรวมกว่า 1,100 คน ทำให้พื้นที่ตำบลควนกาหลงคึกคัก สร้างรอยยิ้มและกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างแท้จริง

 

         กิจกรรมไฮไลต์ที่พลาดไม่ได้  ปั่นจักรยานตามเส้นทางเลียบสวนผลไม้และธรรมชาติแสนร่มรื่น  ชิมทุเรียนหมอนทองฟรีกว่า 200 ลูก พร้อมแจกกลับบ้านอีก 800 ลูก  ปล่อยพันธุ์ปลาอนุรักษ์ระบบนิเวศ  เลือกซื้อสินค้าพื้นเมือง สินค้าโอท็อป และของฝากคุณภาพดี  ชมการแสดงศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านแบบใกล้ชิด

 

           ค่าลงทะเบียนเพียง 350 บาท สำหรับเสื้อแขนสั้น และ 390 บาท สำหรับเสื้อแขนยาว ทุกคนจะได้รับเสื้อที่ระลึกพร้อมสิทธิพิเศษในการชิมผลไม้สดจากสวนอย่างจุใจ ที่สำคัญ นักปั่นและนักท่องเที่ยวหลายคนได้โชคดี รับทุเรียนหมอนทองกลับบ้านไปเป็นของขวัญแทนใจจากคนสตูล

 

         “การจัดงานนี้ ไม่ได้มีแค่ความสนุก แต่ยังเป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวของตำบลควนกาหลง ให้เป็นจุดหมายปลายทางด้าน ปั่นจักรยานเที่ยวสวนผลไม้ ของจังหวัดสตูลอย่างยั่งยืน” นายณัฐภาพงษ์ กล่าว

         งานปีนี้ยังจัดเต็มการบริการอย่างอบอุ่น ประชาชนและผู้นำชุมชนให้ความร่วมมืออย่างดี นักท่องเที่ยวต่างประทับใจทั้งรสชาติของผลไม้ บรรยากาศการต้อนรับ และเส้นทางธรรมชาติที่สวยงามสมคำร่ำลือ

                               

         หากคุณกำลังมองหากิจกรรมที่รวมความสนุก ความอร่อย และความประทับใจ เทศกาลนี้คืองานที่ ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

 

           เที่ยวสตูล ปั่นจักรยานชมสวน ชิมทุเรียนหมอนทองแท้ สดจากสวน ปีละครั้งเท่านั้น ติดตามข่าวสารและกิจกรรมท่องเที่ยวดี ๆ เพิ่มเติมได้ที่ เพจองค์การบริหารส่วนตำบลควนกาหลง

……………………………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวเด่น

  สะเทือนใจ! พบซากโลมาเน่าเกยหาดบ้านสน สัญญาณเตือนภัยทะเลสตูล 

สะเทือนใจ! พบซากโลมาเน่าเกยหาดบ้านสน สัญญาณเตือนภัยทะเลสตูล

          6 กรกฎาคม 2568 – ภาพเศร้าสะเทือนใจเกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อหน่วยรักษาความปลอดภัยทางทะเล กองทัพเรือ (นรภ.ทร.) เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล รับแจ้งจากชาวบ้านว่า พบซากโลมาเสียชีวิตถูกคลื่นซัดขึ้นมาเกยหาดบ้านสนกลาง ตำบลแหลมสน อำเภอละงู  จังหวัดสตูล

 

         เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ พบโลมาไม่ทราบเพศ ความยาวกว่า 2 เมตร ในสภาพเน่าเปื่อยจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม กลิ่นคาวคลุ้งไปทั่วริมหาด เสียงคลื่นกระทบฝั่งคล้ายกำลังเรียกร้องให้มนุษย์ตื่นตัวกับความเปราะบางของผืนทะเล

 

        ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนล่าง จังหวัดตรัง ระบุว่า ซากโลมาดังกล่าวเสื่อมสภาพเกินกว่าจะผ่าชันสูตรหาสาเหตุ เจ้าหน้าที่จึงต้องรีบดำเนินการฝังกลบ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโรคและการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม

          เหตุการณ์นี้ไม่ใช่เพียงข่าวธรรมดา หากแต่เป็น เสียงเตือนให้เราหันมาใส่ใจทะเลอันดามันและสิ่งมีชีวิตที่ต้องพึ่งพามนุษย์ในการปกป้อง โลมาหนึ่งชีวิตที่จากไป อาจสะท้อนถึงขยะทะเล มลพิษ และภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นจนสัตว์ทะเลต้องจบชีวิตโดยไม่มีใครล่วงรู้สาเหตุ

 

          หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอความร่วมมือประชาชนและนักท่องเที่ยว หากพบสัตว์ทะเลเกยตื้นหรือตาย อย่าละเลย ให้รีบแจ้งหน่วยงานโดยด่วน เพื่อร่วมกันดูแลและรักษาสมดุลธรรมชาติ

 

          วันนี้ โลมาตัวหนึ่งสิ้นใจ…พรุ่งนี้จะมีชีวิตใดตามมาอีกหรือไม่? ขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของเราทุกคน

………………………………..

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวเด่น

  ป.ป.ช.ลุยตรวจการ์ดเรลแขวงทางหลวงสตูล หลังพบประเด็นสร้างไม่ได้มาตรฐานในพัทลุง

ป.ป.ช.ลุยตรวจการ์ดเรลแขวงทางหลวงสตูล หลังพบประเด็นสร้างไม่ได้มาตรฐานในพัทลุง

        สตูล – วันที่ 4 กรกฎาคม 2568 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำจังหวัดสตูล ลงพื้นที่สุ่มตรวจสอบมาตรฐานการติดตั้ง การ์ดเรล หรือราวเหล็กริมทาง ภายใต้ความรับผิดชอบของแขวงทางหลวงจังหวัดสตูล หลังได้รับเบาะแสว่าอาจก่อสร้างไม่ได้ตามแบบแปลนคล้ายกรณีในจังหวัดพัทลุง

 

         การตรวจสอบครั้งนี้ครอบคลุมพื้นที่ ตำบลฉลุง อำเภอเมืองสตูล และตำบลท่าแพ อำเภอท่าแพ โดย นายธนกฤต เลิศวิริยวรางกูร ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.สตูล เปิดเผยว่า เบื้องต้นเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่สำนักงาน ป.ป.ช.ภาค 9 มอบหมาย หลังประชาชนร้องเรียนเรื่องคุณภาพโครงการ ว่ามีข้อสงสัยความหนา ความยาว และวิธีติดตั้งไม่เป็นไปตามมาตรฐานกรมทางหลวง

 

       “จากการตรวจจุดแรก บริเวณสะพาน พบความหนาของราวเหล็กยังเป็นไปตามเกณฑ์ ส่วนจุดถัดไปจะตรวจความลึกของเสาที่ต้องฝังดิน 1.2 เมตร และเทคอนกรีตรัดรอบ  ความสูงเหนือพื้นดิน 80 ซ.ม. ความหนาเหล็กต้องไม่ต่ำกว่า 3.2  ส่วนตัวเสาหนา 4 มิลลิเมตรต่อแบบรายการ ทั้งนี้การตรวจเป็นการสุ่ม เพราะถ้าพบจุดใดมีปัญหา ส่วนอื่นๆ ก็มักจะเป็นลักษณะเดียวกัน ซึ่งขึ้นอยู่กับความซื่อตรงของผู้รับจ้างและความละเอียดรอบคอบของผู้ควบคุมงาน” นายธนกฤตกล่าว

        ด้าน นายปิยะวัฒน์ คุระพูล ผู้อำนวยการกลุ่มประสานการป้องกันการทุจริตภาค 9 ระบุว่า การลงพื้นที่วันนี้เน้นตรวจวัดมิติต่างๆ เช่น ความหนา ความยาว ความสูง ซึ่งจากการสุ่มตรวจยังไม่พบสิ่งผิดปกติชัดเจน แต่มีข้อสังเกตสำคัญคือแผ่นราวเหล็กไม่มี สติกเกอร์รับรอง จากกรมทางหลวง ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันแหล่งที่มาของวัสดุ อาจเกิดจากความผิดพลาดช่วงขนย้ายหรือติดตั้ง จึงได้มอบหมายให้แขวงทางหลวงเร่งตรวจสอบและรายงานผลเพิ่มเติม

 

         ในส่วนของแขวงทางหลวงจังหวัดสตูล นายสมเกียรติ โมควงศ์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสตูล ชี้แจงว่า โครงการนี้ใช้งบประมาณกว่า 490,000 บาท ติดตั้งการ์ดเรลบริเวณคอสะพานรวม 7 แห่ง ระยะทางกว่า 212 เมตร แล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยยืนยันว่าได้กำชับเจ้าหน้าที่ควบคุมงานให้ปฏิบัติตามรูปแบบและมาตรฐานกรมทางหลวงทุกขั้นตอน

         “การที่ ป.ป.ช.ลงมาตรวจสอบครั้งนี้ถือเป็นเรื่องดี ช่วยเพิ่มความรอบคอบโปร่งใส หากประชาชนพบข้อผิดสังเกตสามารถแจ้งแขวงทางหลวงหรือป.ป.ช.ได้โดยตรง เช่น หากเห็นเสาก่อนติดตั้งมีความยาวสั้นกว่ามาตรฐาน 2 เมตร อาจตั้งข้อสงสัยไว้ได้ แต่หากติดตั้งเรียบร้อยแล้วจะตรวจสอบด้วยสายตาค่อนข้างยาก” นายสมเกียรติกล่าว

 

         ทั้งนี้ ป.ป.ช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องย้ำว่า การร่วมมือของประชาชนในการให้ข้อมูลเบาะแสเป็นกำลังสำคัญ เพราะยุคปัจจุบันสังคมตื่นตัวเรื่องการใช้งบประมาณและการตรวจสอบการทุจริตงานก่อสร้างมากขึ้น หากพบข้อพิรุธ สามารถแจ้งผ่านช่องทางสำนักงาน ปปช.สตูล หรือสายด่วน ป.ป.ช.ได้ตลอดเวลา

……………………………………………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวเด่น

  สตูลเดินหน้าแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก! เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นศึกษาผลกระทบโครงการบรรเทาอุทกภัยควนโดน–เมืองสตูล

สตูลเดินหน้าแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก! เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นศึกษาผลกระทบโครงการบรรเทาอุทกภัยควนโดน–เมืองสตูล

          วันที่ 3 ก.ค. 68 ที่ห้องประชุมกาหลง ชั้น 2 อาคารศูนย์วิทยบริการ วิทยาลัยชุมชนสตูล ตำบลเกตรี อำเภอเมือง  จังหวัดสตูล  นายศักระ กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล มอบหมายให้ นายธนพัฒน์ เด่นบูรณะ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสตูล เป็นประธานเปิดการประชุมปฐมนิเทศ  โครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น  เพื่อการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่อำเภอควนโดน  และอำเภอเมืองสตูล  โดยมีนายมิตร บุญจันทร์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสตูล  พร้อมด้วยผู้แทนจากกรมชลประทาน หน่วยงานราชการ ภาคประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟังข้อมูลและร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างพร้อมเพรียง

        สำหรับโครงการดังกล่าว กรมชลประทานมอบหมายให้สำนักงานบริหารโครงการว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท คอนซัลแทนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินการศึกษา โดยมีเป้าหมายเพื่อหาแนวทางบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบซ้ำซาก โดยเฉพาะบริเวณคลองดุสน คลองฉลุง และคลองตาลีไกล ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศที่ทำให้เกิดน้ำไหลหลากลงสู่พื้นที่ลุ่มอย่างรวดเร็ว และคลองระบายน้ำไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำได้เพียงพอ

 

           การศึกษาครั้งนี้เป็นการพิจารณาทางเลือกในการพัฒนาโครงการที่เหมาะสมทั้งในด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการออกแบบระบบระบายน้ำ การจัดการวัสดุก่อสร้าง การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ตลอดจนการคำนึงถึงผลกระทบต่อแหล่งโบราณคดีและระบบนิเวศชายฝั่งทะเล เพื่อรองรับการวางแผนออกแบบและการก่อสร้างในอนาคต

…………………………………

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท้องถิ่น-การเมือง

อบต.ละงู เดินหน้ายกระดับตลาดนัด สร้างมาตรฐาน “ตลาดน่าซื้อ” ผู้สัมผัสอาหารรับความรู้-บัตรรับรอง

อบต.ละงู เดินหน้ายกระดับตลาดนัด สร้างมาตรฐาน “ตลาดน่าซื้อ” ผู้สัมผัสอาหารรับความรู้-บัตรรับรอง

         องค์การบริหารส่วนตำบลละงู จังหวัดสตูล จัดกิจกรรมอบรมผู้สัมผัสอาหาร ภายใต้โครงการ “พัฒนาตลาดสู่มาตรฐานตลาดน่าซื้อ” ประจำปีงบประมาณ 2568 ณ ตลาดนัดเพิ่มพูนสุข หมู่ที่ 4 ตำบลละงู โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 60 คน. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568

        การอบรมครั้งนี้ มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขาภิบาลอาหาร ความปลอดภัยของอาหารและน้ำ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้สัมผัสอาหาร โดยผู้เข้าอบรมจะได้รับ บัตรประจำตัวผู้สัมผัสอาหาร และ เกียรติบัตรผ่านการอบรม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือรับรองคุณภาพและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค

         นายจำรัส ฮ่องสาย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลละงู เปิดเผยว่า ตำบลละงูมีตลาดสด 1 แห่ง และตลาดนัดอีก 5 แห่ง โดย “ตลาดนัดเพิ่มพูนสุข” เป็นพื้นที่นำร่องในการยกระดับสู่ “ตลาดน่าซื้อ” อย่างแท้จริง

“เราต้องการให้ตลาดในพื้นที่ เป็นแหล่งค้าขายที่ปลอดภัย มีมาตรฐาน และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค ทั้งในเรื่องของสุขอนามัย และความเป็นระเบียบของตลาด” นายจำรัสกล่าว

          ปัจจุบัน ตลาดนัดเพิ่มพูนสุขมีแผงค้ากว่า 66 แผง มีผู้ประกอบการประมาณ 100 คน จำหน่ายทั้งอาหารสด อาหารพร้อมบริโภค เสื้อผ้า และของใช้ต่างๆ การส่งเสริมความรู้แก่ผู้สัมผัสอาหารจึงเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

         โครงการนี้จัดโดย กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม อบต.ละงู ที่มุ่งมั่นสร้างพื้นที่ค้าขายที่ “น่าซื้อ” ทั้งในแง่ของคุณภาพ ความสะอาด และการมีส่วนร่วมของผู้ค้าและประชาชนในชุมชน โดยคาดว่าจะขยายผลไปยังตลาดอื่น ๆ ในพื้นที่ต่อไป

……..

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป

อบต.ฉลุง  จัดใหญ่งานเทศกาลอาหารฮาลาลตำบลฉลุง ครั้งที่ 1 ส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จักสู่สากล

อบต.ฉลุง  จัดใหญ่งานเทศกาลอาหารฮาลาลตำบลฉลุง ครั้งที่ 1 ส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จักสู่สากล

         ที่บริเวณสระใหญ่ หลังที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลฉลุง อ.เมืองสตูล จ.สตูล นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงานเทศกาลอาหารฮาลาลตำบลฉลุง ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมี นายคณิต คงช่วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล นายพิบูลย์ รัชกิจประการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล เขต 1  หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น และประชาชนเข้าร่วมงานจำนวนมาก

.

             โดยภายในงานประกอบด้วย การจำหน่ายสินค้าฮาลาลกว่า 100 ร้าน การจัดนิทรรศการจากหน่วยงานต่าง ๆ และออกบูทเพื่อสาธิตและชิมสินค้าขนมพื้นบ้าน ในพื้นที่จำนวน 14 หมู่บ้าน การแข่งขันการทำอาหาร(ข้าวเหนียวแกงแพะ) และยังมี การแสดงกิจกรรมต่างๆ บนเวทีตลอดทั้งการจัดงาน นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสต้อนรับพี่น้องจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียในการมาร่วมงานในครั้งนี้ด้วย

.

 

             งานเทศกาลอาหารฮาลาลตำบลฉลุง ประจำปี 2568 จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 27-29 มิถุนายน 2568 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของตำบลฉลุงหวัดสตูลให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปอย่างแพร่หลาย เพื่อส่งเสริมให้มีกิจกรรมจำหน่ายอาหารฮาลาลและอาหารพื้นเมืองที่สะอาด ปลอดภัย เพื่อเป็นภาพลักษณ์ แก่นักท่องเที่ยว สร้างความเชื่อมั่นในการกระตุ้นเศรษฐกิจของเมือง สามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชนจากการจำหน่ายอาหารและสินค้าพื้นเมือง ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในกิจกรรมการท่องเที่ยวพื้นที่จังหวัดสตูลอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนอีกด้วย

………………………

อัพเดทล่าสุด
Categories
เยาวชน-การศึกษา

“28 ปี แห่งความภาคภูมิใจ วิทยาลัยการอาชีพละงู” คว้ารางวัลสถานศึกษารางวัลพระราชทาน ประจำปี 2566

สตูล “28 ปี แห่งความภาคภูมิใจ วิทยาลัยการอาชีพละงู” คว้ารางวัลสถานศึกษารางวัลพระราชทาน ประจำปี 2566

          วันที่ 28 มิถุนายน 2566  นายสะเทือน สรรพจักร ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพละงู  พร้อมคณะครู  นักศึกษา  กลุ่มแม่บ้าน  อัญเชิญรางวัล  “สถานศึกษารางวัลพระราชทาน” ประจำปีการศึกษา 2566   แห่รอบเมืองละงู  จ.สตูล  ก่อนเข้าสู่  พิธีอัญเชิญและเฉลิมฉลอง รางวัล  “สถานศึกษารางวัลพระราชทาน” ซึ่งได้ถูกจัดขึ้นอย่างสมเกียรติ เปี่ยมด้วยความปลื้มปีติ และความภาคภูมิใจสูงสุดของครอบครัวชาว วิทยาลัยการอาชีพละงู  ณ อาคารโดม วิทยาลัยการอาชีพละงู จังหวัดสตูล

         

        บรรยากาศงานเต็มไปด้วยความอบอุ่นและซาบซึ้งใจ มีผู้บริหาร ข้าราชการ ชุมชนร่วมเป็นสักขีพยาน โดยมี  นายคณิต คงช่วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ประธานในงาน   นายสะเทือน สรรพจักร ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพละงู อัญเชิญรางวัลพระราชทานฯ ร่วมประกาศความภาคภูมิใจร่วมกัน  มีนายวิเชียร บุญเตี๋ยว ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสตูล ประธานสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัด  ผู้นำทุกภาคส่วน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งสองเขตการเลือกตั้ง  นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล และแขกผู้มีเกียรติ จำนวนมากที่มาร่วม แสดงความยินดี

 

         28 ปีแห่งการสร้างคนดี คนเก่งสู่สังคม  วิทยาลัยการอาชีพละงู ก่อตั้งเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2540 บนพื้นที่กว่า 100 ไร่ ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จากวันแรกที่มีนักเรียนเพียงไม่กี่สิบคน สู่วันนี้ที่เปิดสอนหลักสูตรหลากหลายกว่า 10 สาขา ตั้งแต่ ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า ช่างเชื่อมโลหะ อิเล็กทรอนิกส์ การบัญชี เทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล การโรงแรม การท่องเที่ยว โลจิสติกส์ และอื่นๆอีกมากมาย เพื่อผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพ มาตรฐานสูง พร้อมก้าวสู่ตลาดแรงงานและสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดสตูล

 

        แม้ในการประเมินรางวัลพระราชทานครั้งแรกเมื่อปี 2565 วิทยาลัยจะได้รับเพียงรางวัลชมเชย แต่ความไม่สมหวังวันนั้น กลับกลายเป็นแรงผลักดันมหาศาล ทุกคนร่วมแรงร่วมใจ พัฒนาทุกมิติ บนความศรัทธา ความมุ่งมั่น และหัวใจที่ไม่ยอมแพ้

 

        และวันนี้…ความเพียรพยายามตลอด 28 ปีได้ตอบแทนด้วยรางวัลสูงสุด  รางวัลสถานศึกษารางวัลพระราชทาน ประจำปี 2566 เกียรติยศสูงสุดที่เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระราชทานกำลังใจให้ครู นักเรียนและสถาบันการศึกษาได้เดินหน้าพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง

 

         นี่คือพลังแห่งหัวใจชาว วก.ละงู ที่ไม่ยอมแพ้ต่อทุกอุปสรรค นี่คือความสำเร็จของสถานศึกษาเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ในหัวใจคนสตูล

…………………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวเด่น

  สตูลซ้อมอพยพสึนามิ…บทเรียนที่ไม่มีวันลืม   ชุมชนริมทะเลรวมพลังเรียนรู้เพื่อเอาชีวิตรอด

มวลชนชาวสตูลกว่า 500 คน รวมพลังสวมเสื้อเหลือง มอบช่อดอกไม้–ส่งกำลังใจแม่ทัพภาค 2 ถึงค่ายสมันตรัฐฯ 

         เสียงไซเรนเตือนภัยดังก้องริมชายฝั่งอันเงียบสงบของหมู่บ้านหาดทรายยาว จังหวัดสตูล ทำเอาหลายคนสะดุ้งเฮือก ภาพความทรงจำอันโหดร้ายเมื่อสองทศวรรษก่อนย้อนกลับมาในหัวทันที  สึนามิครั้งนั้นคร่าชีวิตผู้คนและทิ้งบาดแผลลึกไว้ในหัวใจคนไทย…และไม่มีใครอยากให้มันเกิดซ้ำอีก

 

        บ่ายวันนี้ นายศักระ   กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานเปิดการฝึกซ้อมแผนเตรียมความพร้อมรับมือภัยสึนามิที่โรงเรียนบ้านหาดทรายยาว ตำบลตันหยงโป โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสตูลร่วมกับส่วนราชการ ทหาร และภาคประชาชน จัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับสัญญาณเตือนภัย วิธีการอพยพที่ถูกต้อง การสื่อสารฉุกเฉิน รวมถึงสาธิตการใช้โดรนสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัย

 

        การฝึกซ้อมครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ ลดความตื่นตระหนกเมื่อเกิดเหตุการณ์จริง และปลูกฝังทักษะเอาตัวรอดให้ชาวบ้านทุกวัย โดยเฉพาะเด็กนักเรียนที่อาจไม่เคยเห็นภัยพิบัติร้ายแรงด้วยตาตนเอง การเรียนรู้เช่นนี้อาจเป็นกุญแจสำคัญในการปกป้องชีวิตคนรุ่นใหม่

       นางรอนี แซะอุหมาก วัย 71 ปี เล่าด้วยน้ำเสียงเมื่อคิดถึงวันนั้นแล้วยังกลัวไม่หาย เธอบอกว่าการซ้อมอพยพครั้งนี้ช่วยให้ทุกคนตื่นตัวและเตรียมใจเสมอว่า สึนามิอาจกลับมาอีกเมื่อไรก็ได้

        เช่นเดียวกับนายยะหยา ฮะยีบิลัง อายุ 63 ปี ที่มองว่านี่ไม่ใช่แค่กิจกรรมตามหน้าที่ แต่คือโอกาสให้คนเฒ่าคนแก่ได้เล่าบทเรียนชีวิตให้ลูกหลานได้เรียนรู้เส้นทางอพยพ และเข้าใจว่าทุกวินาทีมีค่าต่อความอยู่รอด

          “คนรุ่นใหม่บางคนไม่เคยเห็นความรุนแรงของสึนามิ การได้ซ้อม ได้เห็นขั้นตอนชัดๆ จะช่วยให้เขาไม่ประมาท” เขากล่าว

          แม้วันนี้เพียงแค่การจำลอง แต่บรรยากาศจริงจังและเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกตระหนักถึงความเปราะบางของชีวิต ทุกคนต่างรู้ดีว่าเมื่อภัยธรรมชาติถาโถมเข้ามา เราไม่มีทางสู้มันได้เลย หากไม่รู้จักเตรียมตัว

          ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลย้ำว่าการซักซ้อมและเฝ้าระวังต้องทำต่อเนื่อง เพราะความเสียหายจากสึนามิอาจเกิดขึ้นทุกเมื่อ การเข้าใจสัญญาณเตือนภัย ฝึกความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ และช่วยเหลือกันในชุมชน คือหัวใจสำคัญที่อาจหมายถึง “ความอยู่รอด” หรือ “การสูญเสีย”

        “เราไม่รู้หรอกว่าสึนามิจะมาเมื่อไหร่ แต่เราเลือกได้ว่าจะรับมืออย่างไร” เสียงเตือนใจนี้ยังคงก้องในหัวของชาวบ้านทุกคนที่ร่วมซ้อมอพยพในวันนี้

       และนี่คือบทเรียนที่ไม่มีวันลืม…บทเรียนที่ต้องส่งต่อไปถึงรุ่นลูกหลาน ให้จดจำว่าธรรมชาติยิ่งใหญ่เพียงใด และมนุษย์ต้องเตรียมพร้อมทุกลมหายใจ

………………………………………

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 สมูทตี้จำปาดะ เมนูชวนลิ้มลอง ที่สวนจูหอดตัวอย่างเกษตรกรต้นแบบ บ้านโคกมุดพัฒนา สวนจำปาดะพันธุ์ดี กำลังผลิดอกออกผล พร้อมเดินหน้าสู่พืช GI เมืองสตูล

สมูทตี้จำปาดะ เมนูชวนลิ้มลอง ที่สวนจูหอดตัวอย่างเกษตรกรต้นแบบ บ้านโคกมุดพัฒนา สวนจำปาดะพันธุ์ดี กำลังผลิดอกออกผล พร้อมเดินหน้าสู่พืช GI เมืองสตูล

         บ้านสวนจูหอด ม.6 บ้านโคกมุดพัฒนา ตำบลเกตรี (อ่านว่า  เกด-ตรี)  อำเภอเมือง จังหวัดสตูล พื้นที่ 6 ไร่ของ “นายหอด แดสา” วัย 74 ปี กำลังกลายเป็นความหวังของชุมชนและวงการเกษตรในพื้นที่ เมื่อสวนผสมของเขาซึ่งประกอบด้วย จำปาดะพันธุ์ทองเกษตร ขวัญสตูล และไร้เมล็ด กว่า 160 ต้น เริ่มให้ผลผลิตอย่างต่อเนื่อง เตรียมพร้อมเข้าสู่กระบวนการขึ้นทะเบียนพืชเศรษฐกิจ GI (Geographical Indication) หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดสตูล

          นายหอด  เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า  สวนแห่งนี้แต่เดิมเคยเป็นสวนยางพารา ก่อนจะตัดสินใจโค่นยางเมื่อราว 4 ปีก่อน เพื่อเปลี่ยนมาเป็นสวนผสมโดยปลูกพืชหมุนเวียนหลากหลายทั้งทุเรียนหมอนทอง 140 ต้น จำปาดะ 160 ต้น รวมถึงอ้อย กระเจี๊ยบ และพืชผักฤดูกาล เช่น แตงกวา ที่สามารถเก็บเกี่ยวขายได้วันละ 600-800 บาทในช่วงฤดูกาล

          “ปีที่แล้วจำปาดะ 5 ต้นให้ผลผลิตรวม 35 ลูก ปีนี้นับเฉพาะต้นเดียวได้ถึง 50 ลูกแล้ว” เขากล่าวด้วยรอยยิ้ม

          จำปาดะจากสวนจูหอดมี 3 สายพันธุ์หลัก ได้แก่  พันธุ์ขวัญสตูล เนื้อหนา กลิ่นหอมเฉพาะ  พันธุ์ทองเกษตร สีเหลืองสวย หวานละมุน  พันธุ์ไร้เมล็ด หายาก นิยมนำมาทอดหรือแปรรูป

          นางสาวนิลุบล เชื้อศรีชัย เจ้าหน้าที่เกษตรตำบลเกตรี สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองสตูล ให้ข้อมูลว่า นายหอดเป็นหนึ่งในเกษตรกรรายใหญ่ที่สุดของอำเภอเมืองสตูลที่มีการปลูกจำปาดะมากที่สุด  ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมเอกสารขอขึ้นทะเบียน GI ผลไม้ประจำถิ่น  อำเภอเมืองสตูล  เพื่อยกระดับผลิตผลให้มีมูลค่าเพิ่มในตลาดระดับประเทศ โดยก่อนหน้านี้สวนได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP แล้ว

          ทางเกษตรตำบลยังได้แนะนำการแปรรูปจำปาดะเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น การทำ “สมูทตี้จำปาดะ”  ซึ่งให้รสชาติคล้ายไอศกรีม เมื่อผ่านการแช่แข็ง เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภครุ่นใหม่ และช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรในท้องถิ่น

          นายการียา  เดชสมัน  ผู้ใหญ่บ้าน ม.6 บ้านโคกมุดพัฒนา กล่าวย้ำว่า นายหอด  คือเกษตรกรต้นแบบของชุมชน ด้วยความขยัน อดทน และมีการบริหารจัดการสวนผสมอย่างเป็นระบบ จนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ชาวบ้าน พร้อมเผยแผนต่อไปคือการรณรงค์ให้ชาวบ้านปลูกจำปาดะเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็น “พืชเศรษฐกิจประจำถิ่น” และสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

          สำหรับผู้ที่สนใจผลผลิตจำปาดะแท้จากสวนจูหอด สามารถติดต่อได้ที่  หมาดกอเฉ็ม ลูกชายของนายหอด โทร. 085-117-4338  หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ เกษตรอำเภอเมืองสตูล

          จำปาดะเป็นผลไม้เนื้อสีเหลือง มีรสหวาน กลิ่นหอมเฉพาะตัว คล้ายขนุนผสมกับทุเรียน นิยมนำมาทานสด ทอด หรือแปรรูปเป็นขนมและเครื่องดื่ม เป็นอีกหนึ่งอัตลักษณ์ที่สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้แห่งนี้  “การเกษตรไม่ใช่แค่เพาะปลูก แต่คือการเพาะความหวังให้แก่ชุมชน”

……………………………………

อัพเดทล่าสุด