Categories
ข่าวทั่วไป

สตูล – กอ.รมน.ภาค 4 จัดกิจกรรมพบปะเสวนาสื่อมวลชนจังหวัดสตูล  จัดตั้งครอบครัวข่าว กอ.รมน.ภาค 4 จังหวัดสตูล สานสัมพันธ์สื่อมวลชนและช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข่าวสารกิจกรรมของกองทัพ

สตูล – กอ.รมน.ภาค 4 จัดกิจกรรมพบปะเสวนาสื่อมวลชนจังหวัดสตูล  จัดตั้งครอบครัวข่าว กอ.รมน.ภาค 4 จังหวัดสตูล สานสัมพันธ์สื่อมวลชนและช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข่าวสารกิจกรรมของกองทัพ

วันที่   24 พฤศจิกายน 2566  เวลา 13.30 น. ณ โรงแรมเดอะวัน บูติค โฮเทล อ.เมืองสตูล จ.สตูล สื่อมวลชนในพื้นที่จังหวัดสตูล   จำนวน 32 ท่าน นำโดย นายจรัส บำรุงเสนา ประชาสัมพันธ์จังหวัดสตูล  ,นายปณต วิศาลกิจ ผู้ช่วยประชาสัมพันธ์จังหวัดสตูล พร้อมด้วย หน่วยงาน กอ.รมน.จว.ส.ต.,หน่วย ร.5  พัน.2   เข้าร่วมประชุมกับ กองอำนวยการรักษาความมั่นภายในภาค 4 เพื่อจัดตั้งครอบครัวข่าว โดยมี พันเอก ภัทรชัย แทนขำ  ผู้อำนวยการกองกิจการมวลชนและสารนิเทศ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เป็นผู้แทน ในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เริ่มกล่าวต้อนรับโดย นายจรัส บำรุงเสนา  ประชาสัมพันธ์จังหวัดสตูล

            สำหรับวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสื่อมวลชนในพื้นที่ และแลกเปลี่ยนข่าวสารในการประชาสัมพันธ์ภารกิจของกองทัพให้เกิดการสร้างการรับรู้อย่างแพร่หลาย    ในกิจกรรมได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้และข้อเสนอแนะของการที่ “สื่อสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของหน่วยทหารได้อย่างไร “และ “สื่อจะทำงานกับหน่วยทหารในการเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้อย่างไร” ทั้งนี้ สื่อมีความยินดีที่จะให้ความร่วมมือในการเผยแพร่กิจกรรมของกองทัพ รวมถึงข่าวสารที่เป็นผลงานของกองทัพในช่องทางที่สื่อมวลชนมีอยู่ เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับพี่น้องประชาชน

.

พันเอกภัทรชัย แทนขำ กล่าวว่า”การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ จังหวัดสงขลาเป็นจังหวัดที่ 4 ต่อจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร และ สงขลา ซึ่ง กอ.รมน.ภาค 4 จะเป็นโซ่ข้อกลาง เพื่อเชื่อมต่อสื่อมวลชนทั้ง 14 จังหวัด ในการส่งต่อข่าวสารให้กับพี่น้องประชาชน ในนามสื่อพลเมืองอาสา และจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการสื่อมวลชน กอ.รมน.ภาค 4 เพื่อกำหนดแนวทางให้สื่อนำเสนอข่าวไปในทิศทางเดียวกัน เป็นสื่อสร้างสรรค์ในเชิงบวก เพื่อรักษาความมั่นคงภายใน และการเข้าถึงพี่ประชาชนโดยมีสื่อเป็นแกนกลางโดยศูนย์ประชาสัมพันธ์ของหน่วยทหารทุกหน่วยกับสื่อในพื้นที่จะทำงานร่วมกัน   ซึ่งทหารจะทำหน้าที่ผลิตสื่อทั้งเรื่องของการช่วยเหลือประชาชน เรื่องภารกิจการรักษาความมั่นคงให้กับสื่อมวลชน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ และพี่น้องประชาชน”

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป

รองผู้ว่าฯ สตูล นำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอ.สว. ออกให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลคมนาคม ณ โรงเรียนเพียงหลวง อำเภอละงู

สตูล-รองผู้ว่าฯ สตูล นำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอ.สว. จังหวัดสตูล ออกให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลคมนาคม ณ โรงเรียนเพียงหลวง อำเภอละงู

        วันที่ 23 พ.ย. 66 ที่โรงเรียนเพียงหลวง หมู่ที่ 5 บ้านสุไหงมูโซ๊ะ ตำบลแหลมสน อำเภอละงู จังหวัดสตูล นายชูชีพ ธรรมเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอ.สว. จังหวัดสตูล ออกให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ทุรกันดารอำเภอละงู โดยมีนางนงคราญ ธรรมเพชร รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดสตูล พร้อมด้วยนายภาษิต พิศาลสุทธิกุล รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสตูล นายอำเภอละงู หัวหน้าส่วนราชการ คณะกรรมการเหล่ากาชาดและสมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัดสตูล พมจ. อสม. ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น รวมถึงคณะแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสตูล ตลอดจนประชาชนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงเข้าร่วมรับบริการเป็นจำนวนมาก

.

          โอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดสตูล และหัวหน้าส่วนราชการ ได้ร่วมมอบถุงยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุ จำนวน 18 คน เพื่อเป็นการบรรเทาทุกข์ตามนโยบายของสภากาชาดไทย พร้อมได้ตรวจเยี่ยมและติดตามการออกให้บริการและพบปะกับประชาชนที่มารับบริการ ซึ่งการออกหน่วยแพทย์ พอ.สว. เพื่อช่วยเหลือให้การรักษา ป้องกันโรค ส่งเสริมสุขภาพและฟื้นฟูสุขภาพอนามัยของประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดาร ห่างไกลคมนาคมให้ได้รับบริการทางการแพทย์อย่างทั่วถึง โดยในวันนี้มีการให้บริการ ดังนี้ ตรวจรักษาโรคทั่วไป บริการแพทย์แผนไทย (ตรวจวินิจฉัย จ่ายยาสมุนไพร) ให้คำปรึกษาโรคมะเร็งเต้านม บริการทางทันตกรรม รวมถึงให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพด้านต่าง ๆ ซึ่งมีผู้รับบริการ ตรวจรักษาโรคทั่วไป 42 คน ทันตกรรม 25 คน (ตรวจฟัน 25 คน /ถอนฟัน 4 คน/ 5 ซี่ / ทาฟลูออไรด์วานิช 21 คน) แพทย์แผนไทย 47 คน กายภาพบำบัด 10 คน และสอนการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม 12  คน

.

         หลังจากนั้น รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล พร้อมด้วยรองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดสตูล นำหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พอ.สว.จังหวัดสตูล และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจผู้ยากไร้ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่ จำนวน 2 คน พร้อมมอบเงินช่วยเหลือ ถุงธารน้ำใจเครื่องใช้อุปโภคและบริโภค เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่พี่น้องประชาชนที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ที่ได้รับความลำบากในพื้นที่ พร้อมรับฟังปัญหาความเดือดร้อน และความต้องการของประชาชนชน เพื่อประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนชนให้เร็วที่สุด

…………………………

ภาพ-ข่าว : ศุภาพิชญ์ ดวงไข / ส.ปชส.สตูล

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล-ชาวบ้านกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงชันโรงป่าชายเลน  สินค้าเด่น  กลุ่มเข้มแข็ง   ภายใต้แบรนด์  PCปลายชล

สตูล-ชาวบ้านกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงชันโรงป่าชายเลน  สินค้าเด่น  กลุ่มเข้มแข็ง   ภายใต้แบรนด์  PCปลายชล

       ในป่าชายเลนติดหมู่ที่ 4 ตำบลคลองขุด  อำเภอเมือง จังหวัดสตูล  ชาวบ้านกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงชันโรงป่าชายเลน  ได้นำลังผึ้งของกลุ่มเข้าไปวางห่างกันเป็นจุด  ๆ จำนวน 100 ลัง เพื่อให้ผึ้งได้เข้ามาทำรัง  ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีการเลี้ยงผึ้ง ของศูนย์เรียนรู้  การเลี้ยงผึ้งโพรง ผึ้งชันโรงป่าชายเลนของชาวบ้านกลุ่มนี้ 

       ทางกลุ่มยังได้รับการยกระดับให้เป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล  โดยมีทางเทศบาลตำบลคลองขุดให้การสนับสนุน   ในการแบ่งปันความรู้ให้กับชาวบ้านในชุมชน  เรียนรู้วิถีของผึ้งโพรง การแยกรังผึ้งจาก 1  เป็น 2  สาธิตให้สมาชิกในกลุ่มได้เรียนรู้  และสามารถนำกลับวิชาความรู้นี้ไปต่อยอดเป็นอาชีพได้  เพื่อเป็นรายได้เสริมจากงานประจำ อีกทั้งน้ำผึ้ง  ยังมีสรรพคุณทางยาสามัญประจำบ้านด้วย

         หลังทางกลุ่มได้น้ำผึ้งมาแล้ว  วันนี้ทางสมาชิกที่เป็นแม่บ้าน  ที่ได้รับความรู้จากวิทยาลัยชุมชนสตูลได้ช่วยกันทำสบู่น้ำผึ้งมังคุด  สบู่น้ำผึ้งสมุนไพร ขายกันภายในชุมชน   และยังมีสินค้า  ที่ทำจากน้ำผึ้งป่าชายเลน  อาทิ  แชมพูน้ำผึ้งสมุนไพร   โลชั่นน้ำผึ้งสมุนไพร   ในราคาที่เข้าถึงง่าย อีกทั้งยังมีน้ำผึ้งป่าชายเลนขวดเล็กใหญ่ ตามความต้องการด้วย ภายใต้ชื่อสินค้า  “PC ปลายชล”

        นายชัยวัฒน์   ขุนศรี   ประธานกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงผึ้งชันโรงป่าชายเลน  บอกว่า  น้ำผึ้งจากป่าชายเลนถือว่ามีสรรพคุณมากมาย เพราะพืช  ที่ผึ้งดูดซับน้ำผึ้งมาไว้   เมื่อนำมาทานจัดว่าเป็นยาระบายอ่อน ๆ รสชาติจะหวานอมขมนิด ๆ แต่ถ้าเป็นผึ้งชันโรงจะหวานอมเปรี้ยว

      นายสุนทร  พรหมเมศก์  นายกเทศมนตรี ตำบลคลองขุด   บอกด้วยว่า เทศบาลตำบลคลองขุดได้เข้ามาสนับสนุนในเรื่องวัสดุภัณฑ์   ในการทำโรงเรือนและผึ้งโพรง  ป้ายประชาสัมพันธ์กลุ่ม และพื้นที่ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือกลุ่มนี้มีความสามัคคีและเข้มแข็ง มีการจัดทำกลุ่มอย่างเป็นระบบ

       ปัจจุบันสมาชิกของกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงชันโรงป่าชายเลน ตำบลคลองขุด มีมากกว่า 50 คน ขณะนี้ได้จดทะเบียนขึ้นเป็นสินค้าโอทอป  9 ผลิตภัณฑ์ คือ จำหน่าย ผึ้ง  จำหน่ายลังผึ้ง  น้ำผึ้ง  และการแปรรูปเป็นสินค้าจากน้ำผึ้งทั้งหมด   โดยทางกลุ่มฯ บอกด้วยว่า  ทางหากท่านใดสนใจจะเลี้ยงผึ้งสามารถติตต่อขอซื้อลังเลี้ยงผึ้ง หรือรับความรู้ได้  ที่เบอร์โทร. 082-413-7598

………………………………………………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป

คลิปภาพความน่ารัก และน่าสงสาร น้ำใจของน้องหมาในวัด ที่พยายามช่วยเพื่อนหมาด้วยกันที่หัวติดในไห

คลิปภาพความน่ารัก และน่าสงสาร น้ำใจของน้องหมาในวัด ที่พยายามช่วยเพื่อนหมาด้วยกันที่หัวติดในไห

         วันที่ 17 พ.ย.2566  ผู้สื่อข่าวอยากจะชวนไปดูความน่ารัก น้ำใจของเพื่อนสุนัขด้วยกัน  หรือว่าจะสงสารดี    โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่วัดนิคมพัฒนารามผัง 7 อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล  โดยมีเจ้าสุนัขภายในวัดตัวหนึ่งชื่อว่า  ไอ้แดง  อายุปีเศษซึ่งเป็นลูกสุนัขที่มีชาวบ้านเอามาทิ้งไว้ที่วัด 

        วันนี้จู่ ๆ ก็เอาหัวมุดเข้าไปในไหสงสัยคงคิดว่า  มีอาหาร หรือด้วยความซุกซน  โดยสุดท้ายอย่างภาพที่เห็นคือ  เอาหัวออกมาจากไหไม่ได้

        งานนี้ก็เดือดร้อนกับเพื่อนสุนัขแม่ลูกอ่อนด้วยกันซิคะ   ก็อยู่วัดเดียวกันก็ต้องช่วยเหลือกันก็เป็นเรื่องธรรมดา  แต่การช่วยเหลือนี่ซิ  ดูแลน่ารัก  หรือว่า  น่าสงสารดี  เพราะเพื่อนสุนัขในวัดด้วยกันก็พยายามคาบขาหน้าไอ้แดงบ้าง  คาบขาหลังไอ้แดงบ้าง  ก็ไม่สามารถเอาหัวออกจากไหได้  จนได้แดงต้องร้องระงม

        สุดท้ายงานนี้ก็ต้องเดือดร้อนท่านพระครูโสภณ  ปัญญาสาร  เจ้าอาวาสวัดนิคมพัฒนารามผัง 7 / ท่านเจ้าคณะอำเภอมะนัง  ต้องเลือกเอาว่าจะเก็บไหไว้  หรือว่า  เก็บไอ้แดงไว้  สุดท้ายท่านก็ตัดสินยอมสละไห  ด้วยการทุบไหให้แตกเพื่อให้ไอ้แดง   รอดชีวิตได้

        ท่านพระครูโสภณ  ปัญญาสาร  เจ้าอาวาสวัดนิคมพัฒนารามผัง 7 / ท่านเจ้าคณะอำเภอมะนัง  บอกด้วยว่า  ไอ้แดง เป็นลูกหมาที่ชาวบ้านเอามาทิ้งที่วัดตั้งแต่เล็ก ๆ แต่ก่อนมันจะขึ้นมานอนที่หน้ากุฏิอาตมาทุกคืน   แต่ปัญหาคือ  มันขี้เยี่ยวใส่หน้ากุฏิ    ตอนหลังอาตมาไม่ให้ขึ้นมานอน   หลังจากนั้นเริ่มคาบรองเท้าไปแอบ   ต้องหากันทุกวัน รองเท้าหายไปแล้ว 3 ข้าง   สงสัยมันโกรธไม่ให้ขึ้นมานอนหน้ากุฏิ เลยคาบรองเท้าไปแอบทุกวัน    วันนี้ช่วยมันแล้วไม่แน่   ไอ้แดงมันน่าจะคิดได้หรือเปล่า  ต้องดูกันตอนต่อไปจ้าพระครูโสภณ  กล่าวในที่สุด

……………………………………………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล-ขับเคลื่อนการน้อมนำแนวพระราชดำริ ปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นคงทางอาหาร ภายใต้กิจกรรม “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง”

สตูล-ขับเคลื่อนการน้อมนำแนวพระราชดำริ ปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นคงทางอาหาร ภายใต้กิจกรรม “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง”

          วันที่ (15 พ.ย. 66) ที่สวนเศรษฐกิจพอเพียงจวนผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล อำเภอเมือง จังหวัดสตูล นายศักระ  กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล พร้อมด้วยทันตแพทย์หญิงสุกีรติ กปิลกาญจน์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสตูล นำส่วนราชการและภาคประชาชนสร้างพลังความต่อเนื่องในการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่ปฏิบัติการปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืน โดยมี นายชาตรี ณ ถลาง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล นายชูชีพ ธรรมเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ปลัดจังหวัดสตูล หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัดสตูล สมาชิกชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสตูลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก

           สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ จังหวัดสตูล ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแนวทางปฏิบัติการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคง ทางอาหาร สู่ปฏิบัติการปลูกผักสวนครัว มีกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ดังนี้ รณรงค์ปลูกพืชผักสวนครัว สมุนไพร ไม้ผล การรณรงค์ส่งเสริมการสร้างทักษะวิถีใหม่ เยาวชนไทยสร้างอาหารเป็น แก่เยาวชนในสถานศึกษา รวมทั้งการรณรงค์ขับเคลื่อนการปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ณ ที่ว่าการอำเภอ, สถานศึกษา, วัดและมัสยิด

.

          ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลสร้างพลังความต่อเนื่องในการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่ปฏิบัติการปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืน และเพื่อเป็นต้นแบบตัวอย่างที่เห็นจริงให้แก่ข้าราชการและประชาชน ซึ่งมีการปลูกพืชผักสวนครัว  สมุนไพร  และไม้ผลมากกว่า 30 ชนิด อาทิ ผักบุ้ง, ผักกวางตุ้ง, พริก, มะเขือ, โหรา, กะเพรา, แมงลัก, ถั่วฝักยาว, ถั่วพู, แตงกวา, คะน้าเคล, กะหล่ำปลี, ผักชีฝรั่ง, ผักหวาน, กล้วย, มะละกอ, กระชาย เป็นต้น

……………………..

ภาพ-ข่าว : ภาสินี  จันทจักษุ/ ส.ปชส.สตูล

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป

สตูล – ผู้ว่าฯ สตูล นำส่วนราชการและภาคเอกชน ร่วมจัดทำผีเสื้อประดิษฐ์จากผ้าไทย ผ้าพื้นถิ่นประจำจังหวัด เพื่อใช้สำหรับงานกาชาด 100 ปี ร้านกาชาด กระทรวงมหาดไทย

สตูล – ผู้ว่าฯ สตูล นำส่วนราชการและภาคเอกชน ร่วมจัดทำผีเสื้อประดิษฐ์จากผ้าไทย ผ้าพื้นถิ่นประจำจังหวัด เพื่อใช้สำหรับงานกาชาด 100 ปี ร้านกาชาด กระทรวงมหาดไทย

          วันที่  15 พ.ย. 66  ที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล อำเภอเมือง จังหวัดสตูล นายศักระ  กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล พร้อมด้วยทันตแพทย์หญิงสุกีรติ กปิลกาญจน์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสตูล นำส่วนราชการและภาคเอกชน ร่วมจัดทำผีเสื้อประดิษฐ์จากผ้าไทย ผ้าพื้นถิ่นประจำจังหวัด เพื่อใช้สำหรับงานกาชาด 100 ปี พุทธศักราช 2566 ร้านกาชาด กระทรวงมหาดไทย โดยมีนายชาตรี ณ ถลาง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล นายชูชีพ ธรรมเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ปลัดจังหวัดสตูล หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัดสตูล สมาชิกชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสตูลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก

          สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้มอบหมายให้จังหวัดสตูล จัดทำผีเสื้อประดิษฐ์จากผ้าไทย ผ้าพื้นถิ่นประจำจังหวัด เพื่อใช้สำหรับงานกาชาด 100 ปี พุทธศักราช 2566 ร้านกาชาด กระทรวงมหาดไทย จำนวน 600 ตัว โดยภายในงานผู้ราชการจังหวัดพร้อมประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสตูล นำสาธิตการประดิษฐ์ผีเสื้อจากผ้าไทย ผ้าพื้นถิ่นประจำจังหวัดสตูล ในโอกาสนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ร่วมรับมอบผีเสื้อจากส่วนราชการ ภาคเอกชนและภาคประชาชนที่ได้ร่วมกันประดิษฐ์จากผ้าไทย เพื่อนำไปประดับในร้านกาชาด กระทรวงมหาดไทย งานวันกาชาดไทย 100 ปี พุทธศักราช 2566 ที่มีกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 8 – 18 ธันวาคม 2566 ณ บริเวณสวนลุมพินี กรุงเทพมหานครอีกด้วย

……………………………..

ภาพ-ข่าว : ภาสินี  จันทจักษุ/ ส.ปชส.สตูล

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

   สตูล-นอภ.เนรมิตที่ว่าการอำเภอมะนังสร้างสุข   มะนังยั่งยืน  เป็นคลังอาหาร  บริการปชช.พร้อมเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ครบวงจร

สตูล-นอภ.เนรมิตที่ว่าการอำเภอมะนังสร้างสุข   มะนังยั่งยืน  เป็นคลังอาหาร  บริการปชช.พร้อมเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ครบวงจร

       

          หลังกระทรวงมหาดไทยให้ทุกอำเภอ   ทำโครงการบำบัดทุกข์บำรุงสุข   โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน   โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่     

 

           ทำให้ที่บริเวณด้านหลังที่ว่าการอำเภอมะนัง  จังหวัดสตูล  นายเชษฐ บุตรรักษ์    นายอำเภอมะนัง   ได้ใช้พื้นที่ว่างเปล่า 20 ไร่ ของทางอำเภอเป็น บ่อปลาดุก  บ่อปลานิล ขนาดไซส์ต่างๆ ไว้เพื่อเป็นคลังอาหาร   ให้กับข้าราชการ และบุคลากรภายในอำเภอ    อีกทั้งยังสร้างโรงเลี้ยงแพะ   ภายในสวนปาล์มน้ำมันของที่ว่าการทางอำเภอ   โรงเลี้ยงไก่ไข่  ไก่บ้าน  และ เป็ดบ้าน รวมทั้งได้แบ่งพื้นที่  3 ส่วนได้แก่  ด้านประมง  ปศุสัตว์  รวมทั้งด้านการเกษตร  

 

            ซึ่งขณะนี้  สวนกล้วยพันธ์เพชรบุรี  ที่กำลังให้ผลผลิตสามารถเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านที่มาศึกษาดูงาน   ที่ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้   นำพันธุ์ไปปลูกขยาย ในครัวเรือนได้อีกด้วย  นอกจากพันธุ์พืชแล้ว  ยังมีพันธุ์ปลา  ก็สามารถมาขอแบ่งปัน   จากที่ว่าการอำเภอมะนังได้  

 

พันธุ์สับปะรดในสวนผสม  เลี้ยงผึ้ง  และผักสวนครัวเพื่อเป็นคลังอาหาร โดยผลผลิตทั้งหมดนี้   นอกจากเป็นอาหารให้กับข้าราชการและบุคลากรภายในอำเภอแล้ว   ส่วนหนึ่งที่นำมาจำหน่าย   รายได้เฉลี่ยเดือนละ 10,000 บาท  จากผลผลิตปาล์มน้ำมัน   และผลผลิตทางด้านเกษตรและปศุสัตว์  โดยเม็ดเงินทั้งหมดจะนำมาหมุนเวียนจัดซื้ออุปกรณ์อาหารสัตว์ภายในที่ว่าการอำเภอ

            นายเชษฐ บุตรรักษ์   นายอำเภอมะนัง   กล่าวเพิ่มเติมว่า   สำหรับพื้นที่อำเภอมะนัง  มีจุดแข็งคือมีพื้นที่ของทางราชการ มากถึง 20 ไร่จากที่ประชุม 7 ภาคีเครือข่ายมีแนวทางในการพัฒนา บำบัดทุกข์บำรุงสุข  ภายใต้ชื่อมะนังสร้างสุข มะนังยั่งยืน  โดยใช้พื้นที่ที่มีอยู่เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้ข้าราชการบุคลากรของอำเภอ  ไปพร้อมกับเป็นศูนย์กลางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน     

 

          โดยแบ่งพื้นที่ เป็น 3 ส่วนได้แก่ด้านการเกษตรประมงและปศุสัตว์  โดยเฉพาะการส่งเสริมการปลูกกล้วยหอมเพชรบุรี ด้านประมงการเลี้ยงปลาดุก  การเลี้ยงปลานิล  ด้านปศุสัตว์ส่งเสริมการเลี้ยงแพะเลี้ยงเป็ดพื้นบ้านเลี้ยงไก่ไข่และไก่พื้นบ้าน  โดยส่งเสริมให้ชาวบ้านได้เข้ามาเรียนรู้  เพื่อนำไปปรับใช้ในครัวเรือนของตัวเองเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและลดรายจ่ายในครัวเรือน   ผลผลิตที่ได้จะนำไปช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนอีกส่วนนำไปจำหน่ายเพื่อมาเป็นรายได้หมุนเวียนในการจัดซื้อวัตถุอุปกรณ์อาหารสัตว์  เพื่อบริหารจัดการในพื้นที่

 

อยากให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้เข้ามาเรียนรู้เพื่อนำไปฝึกเป็นอาชีพเสริมในการจัดหารายได้ว่าให้คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นได้ ไปทางอำเภอก็พร้อมจะสนับสนุนในเรื่องของพันกล้าพันธุ์สัตว์ให้กับพี่น้องประชาชนได้

……………………………..

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป

สตูล-เลขาธิการ “บุญสงค์” เผย ความสำคัญ เลือกตั้ง คกก.ประกันสังคม เชิญชวน นายจ้างผู้ประกันตน ลงทะเบียนใช้สิทธิได้แล้ว วันนี้ถึง 10 พ.ย. 66

สตูล-เลขาธิการ “บุญสงค์” เผย ความสำคัญ เลือกตั้ง คกก.ประกันสังคม เชิญชวน นายจ้างผู้ประกันตน ลงทะเบียนใช้สิทธิได้แล้ว วันนี้ถึง 10 พ.ย. 66

            วันที่ 7 พ.ย.2566 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจัดการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม (ศอ.กต.นจ.ผปต.)  พร้อมคณะลงพื้นที่ยังสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสตูล  เพื่อตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม และให้แนวทางการทำงาน  โดยมี นางธาราทิพย์    ธนูทอง  ประกันสังคมจังหวัดสตูล และเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ

         

          โอกาสนี้  นายบุญสงค์  ทัพชัยยุทธ์  เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจัดการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม (ศอ.กต.นจ.ผปต.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานประกันสังคมได้มีการจัดการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน  เป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม ในวันที่ 24 ธันวาคม 2566 เป็นการจัดการเลือกตั้งครั้งแรกของสำนักงานประกันสังคม  เพื่อคัดสรรค์ตัวแทนในการดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน และบริหารกองทุนประกันสังคมให้มีเสถียรภาพ  โดยคณะกรรมการประกันสังคมมีหน้าที่ในการบริหารจัดการและกำกับดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน  พร้อมกำหนดแนวทางเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ การบริหารเงินกองทุนรวมทั้งจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนประกันสังคม โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง อีกทั้งมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและแนะนำคณะกรรมการ /สำนักงานประกันสังคม และปฏิบัติการอื่นๆ ใด ตามกฎหมาย หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมอบหมาย ซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ฝ่ายละ 7 คน นั้น มาจากผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 มาตรา 40 และนายจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม

 

          ในการนี้สำนักงานประกันสังคมได้เปิดโอกาสให้นายจ้างและผู้ประกันตนลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม ภายในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ผ่านทางเว็บไซต์ www.sso.go.th ตลอด 24 ชั่วโมง  หรือที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด ทั่วประเทศ ในเวลา 08.30 – 16.30 น. ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ

 

          เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม   กล่าวอีกว่า   จากตัวเลขยอดผู้ลงทะเบียน ณ วันที่ 7 พ.ย.2566 จำนวน 7 แสนกว่ารายทั่วประเทศ  ซึ่งถือว่ายอดผู้ลงทะเบียนไม่น้อย  เพราะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรก  โดยทางประกันสังคมได้สื่อสารทุกช่องทาง   

  

            นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวย้ำว่า ขอเชิญชวนนายจ้าง ผู้ประกันตน รีบลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม ตั้งแต่วันนี้ถึง 10 พฤศจิกายน 2566 เพื่อเป็นตัวแทนในการดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน และบริหารกองทุนประกันสังคมให้มีเสถียรภาพ อันจะนำไปสู่การยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของนายจ้าง ผู้ประกันตน สามารถสอบถามรายละเอียด และคำแนะนำในการจัดการเลือกตั้งเพิ่มเติม ได้ที่ ศูนย์อำนวยการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม (ศอ.กต.นจ.ผปต.) โทร. 02-956-2222 ในเวลา 08.30 – 16.30 น. ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ

 

        ด้านนางสาวโชติรส  ขุนเศษ  อายุ 29 ปี  ผู้ประกันตนมาตรา 39 (บริษัททัวร์)กล่าวหลังเดินทางมาลงทะเบียนเลือกตั้ง   ว่า   หลังทราบข่าวก็ได้มาลงทะเบียนและจะไปลงเลือกตั้ง  แม้ไม่ทราบสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนที่จะได้จากบอร์ดผู้ประกันสังคม แต่คิดว่าจะมีทิศทางที่ดี  สำหรับสิ่งที่อยากให้ประกันสังคมเพิ่มเติมคือ อยากให้เพิ่มยอดเงินจากการรักษาฟันบเพราะยอดต่อปี  900 บาท มันน้อยไป

 

          สำหรับจังหวัดสตูล ตัวเลขการลงทะเบียนผู้ใช้สิทธิในการเลือกตั้งผู้แทนผ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน  ณ วันที่ 6 พ.ย.2566  จำนวนนายจ้างทั้งหมด 950 ราย  ผู้ประกันตน  48,486  ราย  คาดการณ์ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง  แยกเป็นนายจ้าง 706 ราย   ผู้ประกันตน  24,161  ราย  รวมผู้มีสิทธิเลือกตั้ง  24,867  ราย   ส่วนยอดผู้ลงทะเบียนแล้ว  แยกเป็นนายจ้าง  18 ราย  ผู้ประกันตน  2,107  ราย  รวม  2,125 ราย(8.55%)   มีผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน จำนวน 1 ราย   

………………………………………………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

   สตูล-เลี้ยงปลาดุกอุยในสวนยางข้างบ้าน ต่อยอดแปรรูปส่งขาย   

สตูล-เลี้ยงปลาดุกอุยในสวนยางข้างบ้าน ต่อยอดแปรรูปส่งขาย

        ชาวบ้านหมู่ที่ 8 ตำบลนิคมพัฒนา   อำเภอมะนัง  จังหวัดสตูล ใช้พื้นที่ว่างในสวนยางพารา  และ พื้นที่ข้างบ้าน เป็นกระชังบก ขนาด 3x 6 เมตรเพื่อเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย จำนวน 700 ตัว  ไว้บริโภคอีกทั้งเป็นการลดรายจ่ายในครัวเรือน

 

          ซึ่งนายวิชิต  ชูน้อย  อายุ 65 ปี ส.อบต.นิคมพัฒนา  บ้านเลขที่  115  ม.8  นิคมพัฒนา อ.มะนัง บอกว่า ก่อนที่จะลงมือเลี้ยงทางตนได้เข้าอบรมรับความรู้จากประมงจังหวัด เรื่องเทคนิคการเลี้ยง  การดูแลระบบน้ำ  การให้อาหาร  ดูแล้วไม่ยาก  เพราะใช้พื้นที่ข้างบ้านในการเลี้ยงที่ไม่มากนัก  หลือจากรับประทานก็สามารถขายเพื่อนบ้านในราคาถูกกว่าท้องตลาดได้   ขณะนี้ทางชาวบ้านได้มีการตั้งเป็นกลุ่ม ชื่อ  กลุ่มประมงน้ำจืดหมู่ที่ 8  มีสมาชิก 15 คนทุกครัวเรือนมีกระชังบกทุกบ้าน

 

         สำหรับปลาดุกบิ๊กอุย ที่เหลือจากรับประทานภายในครัวเรือนยังสามารถที่จะนำมาแปรรูปส่งขายไปนอกพื้นที่ได้   ซึ่งกลุ่มชาวบ้านภายใต้ชื่อสวนลุงธา  ตำบลนิคมพัฒนา  อำเภอมะนัง  จังหวัดสตูล  เป็นอีกหนึ่งแหล่งเรียนรู้ ในการสอนแปรรูปปลาดุกร้า  (ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในวิธีการถนอมอาหาร) โดยใช้เกลือในสัดส่วน 15 ถุงน้ำตาลทราย 5 กิโลกรัมและปลาดุก 15 กก. คลุกเคล้าและยัดเกลือและน้ำตาลที่ผสมกันแล้วลงไปในท้องปลาดุก  พักไว้ในกล่องพลาสติกที่มีฝาปิดมิดชิดจำนวน 3 วัน จากนั้นนำมาล้างให้สะอาดและนำไปตาก 3 แดด ก็สามารถนำมารับประทานและส่งขายได้ในกิโลกรัมละ 330 บาท

      นายนิพนธ์   เสนอินทร์  ประมงจังหวัดสตูล  กล่าวว่า  โครงการนี้เป็นงบประมาณเหลือจ่ายประจำปี 2566 เป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร  โดยโครงการนี้อุดหนุนในเรื่องของพันธุ์ปลาดุก  อาหารและกระชังปลา  ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่อำเภอท่าแพ  อำเภอทุ่งหว้า  อำเภอมะนัง  อำเภอควนกาหลง  และอำเภอควนโดน จำนวน 5 รุ่นรุ่นละ 35 รายรวมทั้งสิ้น 175 ราย

 

          โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้  ไม่มีบ่อดินและขาดโอกาส  สามารถใช้พื้นที่เล็กน้อยและไม่มีแหล่งน้ำสามารถเลี้ยงไว้ข้างบ้าน  หลังครบ 40 วัน จากนั้นก็จะมีการติดตามผลโดยมีปราชญ์ทางด้านเกษตร ผู้แทนภาคประชาชน  มาร่วมให้คำแนะนำและวางแผน  จากการติดตามพบว่าอัตราการรอดดีมากรวมทั้งการเติบโตของปลาดี

 

          นอกจากจะมีรับประทานภายในครัวเรือนแล้วสำนักงานประมงจังหวัดสตูลยังคาดหวังว่าจะสามารถแบ่งปันขายในชุมชนรวมทั้งการแปรรูปเป็นสินค้าภายในชุมชนหรือส่งขายไปด้านนอกชุมชนได้  เป็นผลิตภัณฑ์ปลาดุกร้าหรือปลาดุกเค็มต่อไปได้

……………..

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป

SONP ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดอบรมสื่อมวลชน เสริมทักษะยุคดิจิทัล เชิญ Tellscore แชร์มุมมองธุรกิจ เพิ่มช่องทางการหารายได้ พัฒนาคอนเทนต์ข่าวผ่าน Influencer

SONP ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดอบรมสื่อมวลชน เสริมทักษะยุคดิจิทัล เชิญ Tellscore แชร์มุมมองธุรกิจ เพิ่มช่องทางการหารายได้ พัฒนาคอนเทนต์ข่าวผ่าน Influencer

         สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดโครงการฝึกอบรม One Day Training แลกเปลี่ยน – เรียนรู้กับกูรูออนไลน์ครั้งที่ 1 ในหัวข้อ Digital Journalism in the context of Influencer Economy Business Model & Monetization เพื่อเสริมสร้างพัฒนาทักษะให้แก่บุคลากรด้านงานข่าวให้สอดคล้องกับการปรับตัวขององค์กรสื่อบนความเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อในยุคดิจิทัล โดยเชิญ Tellscore เอเจนซี่ ด้าน Influencer marketing ครบวงจร มาร่วมแลกเปลี่ยนให้ความรู้ในการอบรมครั้งนี้

 

         คุณนันทสิทธิ์ นิตย์เมธา นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้ถูกจัดขึ้นทั้งหมด 4 ครั้งในหัวข้อที่แตกต่างกันไป โดยสมาคมมุ่งหวังเพื่อพัฒนาทักษะ และยกระดับให้สมาชิกผู้ผลิตข่าวออนไลน์ได้รับความรู้ใหม่ในยุคดิจิทัล และสามารถนำไปปรับใช้ได้ทันกับเทคโนโลยีด้านการสื่อสารที่มีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว รวมถึงให้สมาชิกพัฒนาบุคลากรขององค์กรจนเองในการสร้างเนื้อหาการายงานข่าวที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

         ด้าน คุณสุวิตา จรัญวงศ์ CEO & CO – Founder, Tellscore ร่วมบรรยายในหัวข้อ Current & Trend Influencer Economy and The New Age Journalism โดยระบุว่า สื่อในยุคดิจิทัลต้องรับมือการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่ได้มีเพียงการรับมือกับแพลตฟอร์มที่เกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา แต่ยังต้องแข่งขันกับ Influencer ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในมุมธุรกิจที่บางแบรนด์สินค้าหันมาใช้บริการ Influencer ในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพิ่มมากขึ้น

 

        อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนหรือ Influencer ยังมีความท้าทายเดียวกันคือการสร้างคอนเทนต์อย่างสร้างสรรค์ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญในการทำสื่อยุคดิจิทัล

 

         “การผลิตคอนเทนต์ที่แข็งแรงยังเป็นหัวใจสำคัญในการทำสื่ออย่างยั่งยืน และอยากให้มองแพลตฟอร์มเป็นเพียงภาชนะใส่คอนเทนต์เท่านั้น ในอนาคตยังมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นการเล่าเรื่องที่ดียังเป็นสิ่งสำคัญที่สุด” คุณสุวิตา กล่าว

 

          ขณะที่ คุณอัยยา ตันติเสรีรัตน์ Head of Partnership & Co – Managing Director, Tellscore บรรยายในหัวข้อ Opportunity in Digital Journalism The Rise of Content Creator Economy โดยระบุตอนหนึ่งว่า พฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียที่เปลี่ยนไป ทำให้ Influencer มีบทบาทสำคัญมากขึ้น เช่น สร้างความเชื่อมั่นและเชื่อถือให้กับผู้สนใจมากกว่าแบรนด์พูดเอง , เล่าเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายทำให้เข้าถึงผู้คนได้ง่าย และรวมกลุ่มคนให้เกิดเป็นชุมชนการสื่อสาร ซึ่งทำให้เกิดอิทธิพลมากขึ้น

 

        โดยปัจจุบันมีคำกล่าวว่า ใครๆ ก็สามารถเป็น Influencer ได้ แต่สื่อมวลชนและองค์กรสื่อถือว่ามีข้อได้เปรียบกว่าคนอื่น โดยเฉพาะการเข้าถึงข้อมูลที่รวดเร็ว การกลั่นกรองข้อมูล เพื่อนำเสนอแต่ข้อเท็จจริง และยังมีความน่าเชื่อถือภายใต้กรอบจรรยาบรรณทางวิชาชีพ นอกจากนี้ยังหวังว่าในอนาคตจะเห็นสื่อมวลชนในยุคดิจิทัลจะรับมือการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นในฐานะ Content Creator หรือ Influencer ก็ตาม

        นอกจากนี้ในการฝึกอบรมยังได้รับเกียรติจาก คุณพิชิตชัย โพธิ์ศิริ หรือ เบลล์ Influencer แพลตฟอร์ม Tiktok เจ้าของช่อง @somethingjingglebell มาร่วมแชร์ความรู้ เทคนิคการเล่าเรื่องผ่านคลิปวิดีโอสั้นให้น่าสนใจ

 

          คุณพิชิตชัย กล่าวว่า ปัจจุบันมีเครื่องมือมากมายที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำคลิปวิดีโอได้ง่ายมากขึ้น และปฏิเสธไม่ได้ว่าคลิปแนวตั้ง ยังคงเป็นเทรนด์ที่น่าสนใจในเวลานี้ และคาดว่าจะยังได้รับคาวมนิยมต่อเนื่องในปีหน้า

 

         ทั้งนี้มี 3 แนวคิดสำคัญที่จะทำให้การผลิตคลิปวิดีโอมีประสิทธิภาพสูงสุด ประกอบด้วย 1.มนุษย์ชอบรู้เรื่องของมนุษย์เป็นแนวคิดที่ช่วยในการตัดสินใจเลือกคอนเทนต์ได้เป็นอย่างดี 2.คำนึงถึงความยาวของคลิป ต้องไม่สั้นหรือยาวเกินไป และ 3.สร้างเนื้อหาที่ทำให้เกิดความรู้สึกร่วมกันของผู้ชม เป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้คอนเทนต์มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

 

#สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ # SONP #Onedaytraining #Influencermarketing #tellscore

#กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

อัพเดทล่าสุด