Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 สตูลเปิดฤดู “ผสมพันธุ์ดอก เก็บผล แปรรูปสละ” ยกระดับสละสุมาลีสู่ผลไม้เศรษฐกิจแห่งท่าแพ

สตูลเปิดฤดู “ผสมพันธุ์ดอก เก็บผล แปรรูปสละ” ยกระดับสละสุมาลีสู่ผลไม้เศรษฐกิจแห่งท่าแพ

           สำนักงานเกษตรจังหวัดสตูลจัดกิจกรรมส่งเสริมการผลิตและแปรรูปสละคุณภาพ   เปิดเทคนิคผสมเกสรเพิ่มผลผลิตกว่า 70% พร้อมต่อยอดแปรรูปสละน้ำปลาหวานสร้างมูลค่าเพิ่ม

         

           บรรยากาศเต็มไปด้วยความรู้และความตื่นเต้น ณ แปลงต้นแบบการผลิตสละคุณภาพของนายประชา กาสาเอก หมู่ที่ 6 ตำบลท่าแพ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล เมื่อสำนักงานเกษตรจังหวัดสตูลร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอท่าแพ จัดกิจกรรม “ผสมดอก เก็บผล แปรรูปสละ” โดยมีนายหร่ออ๊บ มุเส็มสะเดา นายอำเภอท่าแพ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยนางสาวกำไลทิพย์ เศรษฐ์วิชัย เกษตรจังหวัดสตูล และคณะเจ้าหน้าที่ ร่วมถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจที่เข้าร่วมกิจกรรม

         

           กิจกรรมเริ่มต้นอย่างน่าสนใจด้วยการสาธิตเทคนิคการผสมเกสรดอกสละแบบต่างๆ ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยเพิ่มอัตราการติดผล  จากเดิมที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติเพียง 20-30% ให้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 70%  นายอารีย์  โส๊ะสันสะ เกษตรอำเภอท่าแพ อธิบายพร้อมสาธิตเทคนิคการผสมเกสรทั้ง 4 วิธี ได้แก่ การเขย่าถุง การถูดอก การปักดอก และการพ่นเกสร  โดยเน้นการใช้เกสรตัวผู้ที่มีคุณภาพและจังหวะเวลาที่เหมาะสม

 

          “การผสมเกสรไม่ใช่แค่เพิ่มปริมาณการติดผล แต่ยังช่วยยกระดับคุณภาพของผลสละให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เนื้อแน่น และรสชาติหวานฉ่ำยิ่งขึ้นด้วย”

         แปลงสละของนายประชา กาสาเอก เป็นแปลงต้นแบบการผลิตสละคุณภาพ พื้นที่ 3 ไร่  ได้เปลี่ยนสภาพจากต้นยางพารา ปาล์มน้ำมัน มาปลูกสละสายพันธุ์สุมาลีมานานกว่า 3 ปี และได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP เมื่อปี 2567 ทำให้ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาด เจ้าของแปลงเล่าถึงประสบการณ์การดูแลสละว่า “สละเป็นพืชที่ต้องการความชื้นและร่มเงาพอสมควร การจัดการระบบน้ำและปุ๋ยที่เหมาะสมเป็นปัจจัยสำคัญ ที่สำคัญคือการผสมเกสรที่ถูกวิธีจะช่วยให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง”

 

          จากนั้น คณะได้เดินชมสวนสละที่ปลูกอย่างเป็นระบบ โดยมีการจัดการแถวปลูก ระยะปลูก การให้น้ำ และระบบระบายน้ำที่เหมาะสม รวมถึงการปลูกต้นตัวผู้ร่วมประมาณ 10% เพื่อการผสมเกสรที่มีประสิทธิภาพ นางสาวกำไลทิพย์ เศรษฐ์วิชัย เกษตรจังหวัดสตูล กล่าวว่า “อำเภอท่าแพมีศักยภาพสูงในการผลิตสละคุณภาพ ด้วยผลผลิตเฉลี่ยสูงถึง 1,156 กิโลกรัมต่อไร่ และสละสุมาลีมีจุดเด่นที่เนื้อหนา กลิ่นหอม รสหวานฉ่ำ ถือเป็นจุดขายสำคัญ”

          ไฮไลท์สำคัญของงานคือการสาธิตการแปรรูปสละน้ำปลาหวาน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและยืดอายุการเก็บรักษาผลผลิต   เจ้าหน้าที่สาธิตขั้นตอนการคัดเลือกสละที่มีคุณภาพ การปอกเปลือก แกะเมล็ด และการหมักกับน้ำปลาหวานตามสูตรเฉพาะ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีการแนะนำผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ เช่น สละลอยแก้ว และสละทรงเครื่อง ที่สามารถพัฒนาเป็นสินค้า OTOP ของชุมชน

 

           “เราต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตั้งแต่การผลิตที่มีคุณภาพ การเก็บเกี่ยวที่ถูกต้อง และการแปรรูปที่หลากหลาย เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาและเพิ่มช่องทางสร้างรายได้” นายหร่ออ๊บ มุเส็มสะเดา นายอำเภอท่าแพ กล่าวทิ้งท้าย

 

           สำนักงานเกษตรจังหวัดสตูลพร้อมให้การสนับสนุนเกษตรกรผู้สนใจในการปลูกสละอย่างครบวงจร ทั้งด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยีการผลิต และช่องทางการตลาด เพื่อส่งเสริมให้สละกลายเป็นผลไม้เศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืน ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ต่อไป

 

           สนใจติดต่อสอบถามเพิ่มเติม 0652393811 , 0805457923

……………………………………………………

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 สตูลสร้างงาน สร้างอาชีพวัยเกษียณ สร้างความสุข

สตูลสร้างงาน สร้างอาชีพวัยเกษียณ สร้างความสุข

          ในยุคที่หลายคนมองหาความมั่นคงหลังเกษียณ “สวนบ้านริมเขา ทุ่งนายร้อย” เป็นตัวอย่างของการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงและสร้างรายได้ไปพร้อมกัน บนพื้นที่เจ็ดไร่ของนายปรีชา อ่อนประชู อดีตข้าราชการ อบจ.สตูล  และภรรยา นางอำพร อ่อนประชู อดีตกุ๊กร้านอาหาร พวกเขาได้พลิกพื้นที่สวนให้กลายเป็นแหล่งสร้างรายได้จากการทำเกษตรผสมผสาน

         

         หนึ่งในไฮไลท์ของสวนนี้คือแปลงดาวเรือง  ที่ปลูกไว้เพื่อจำหน่ายดอกเป็นช่อ  โดยสามารถขายได้ทุกวันพระ สัปดาห์ละ 100-150 ช่อ ในราคาสามดอกสิบบาท  คิดเป็นรายได้ต่อเดือนหลักหมื่นบาท   นอกจากสร้างรายได้แล้ว  ยังสร้างความสุขให้กับทั้งผู้ปลูกและลูกค้าที่มารับซื้อถึงสวน

         นอกจากดาวเรือง พื้นที่สวนยังมีการปลูกพืชหลายชนิด เช่น พริก, ส้มโอ, ชมพู่ โดยการปลูกพืชแบบผสมผสาน  ช่วยให้แมลงศัตรูพืชลดลงตามธรรมชาติ   มีการใช้ขวดน้ำ  แขวนตามแปลงเพื่อไล่แมลงโดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี  พื้นที่สวนยังแบ่งออกเป็นแปลงไผ่ซางนวล   ซึ่งไม่ได้ขายลำต้นแต่ขายหน่อไผ่ปีละ 10,000-20,000 บาท

 

          ภายในสวนมีการขุดสระน้ำและทำระบบน้ำล้น เพื่อให้มีน้ำใช้ตลอดปีในการรดพืชผัก  และดูแลสวน ระบบน้ำที่ดีช่วยลดต้นทุนการผลิต และทำให้พืชสามารถเติบโตได้ดีโดยไม่ต้องพึ่งพาน้ำประปา

           

          นอกจากการปลูกพืชผักไว้บริโภคเองแล้ว   รายได้จากการขายผลผลิต เช่น พริก และเป็ดอี้เหรียง ที่ให้ไข่วันละแผง ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน   ทำให้ชีวิตหลังเกษียณของทั้งสองมีความสุข ไม่ต้องเร่งรีบกับการทำงานเหมือนแต่ก่อน รายได้เกิดจากความพอใจในการทำเกษตร มากกว่าการหวังกำไรสูงสุด

           อนาคตของสวนบ้านริมเขา นายปรีชาและอำพร วางแผนให้สวนแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชน  และที่พักแนวโฮมสเตย์  ด้วยบรรยากาศธรรมชาติที่ติดภูเขาและอากาศสดชื่น ทำให้ลูกชายคนเล็กมีแนวคิดต่อยอดธุรกิจครอบครัวให้เป็นสถานที่พักผ่อนที่มีการเกษตรเป็นจุดขาย

 

          นี่คือตัวอย่างของชีวิตหลังเกษียณที่เต็มไปด้วยความสุขและรายได้แบบพอเพียง

………………………………………..

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 คนสู้ชีวิต! หนุ่มช่างคอมพิวเตอร์ พลิกสวนยางโค่นเป็นไร่สับปะรด แปรรูปขาย สร้างรายได้ครึ่งล้านต่อปี 

คนสู้ชีวิต!! หนุ่มช่างคอมพิวเตอร์ พลิกสวนยางโค่นเป็นไร่สับปะรด แปรรูปขาย สร้างรายได้ครึ่งล้านต่อปี

          เสียงเก็บสับปะรดในสวนดังขึ้นเป็นจังหวะ   นายอิสมาแอน ไชยมล วัย 40 ปี ชาวบ้านหมู่ 6 ต.ควนโพธิ์ อ.เมือง จ.สตูล กำลังเร่งเก็บผลผลิตชุดสุดท้ายจากสวนสับปะรด 20 ไร่ ซึ่งเดิมเคยเป็นสวนยางพาราทั้งของตนเองและของญาติๆ ก่อนจะโค่นเพื่อปลูกใหม่ แต่เขากลับเลือกใช้พื้นที่ว่างนี้  ปลูกสับปะรดพันธุ์ภูเก็ตแทน   เพื่อฟื้นฟูดิน และสร้างรายได้ให้ครอบครัว

 

         นายอิสมาแอน กล่าวว่า  “ผมเคยเป็นช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ ก่อนจะหันมาทำเกษตรเต็มตัวเมื่อ 8 ปีก่อน ได้แรงบันดาลใจจากการไปดูงานที่กระบี่ จึงลองปลูกบนที่ดินของตนเอง และต่อมาญาติ ๆ ก็ให้ใช้พื้นที่สวนยางที่โค่นใหม่”

 

         อิสมาแอนใช้เทคนิคการปลูกแบบเว้นช่วงเก็บเกี่ยว    ไม่ให้ผลผลิตออกพร้อมกันทั้งแปลง ช่วยให้ขายได้ต่อเนื่องไม่กระทบราคา ทั้งยังเปิดหน้าร้านขายเองที่สวน ทำให้ไม่ต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง ปัจจุบันขายได้ลูกละ 15-30 บาท มีรายได้เฉลี่ยปีละกว่า 400,000 บาท โดยเฉพาะช่วงรอมฎอนที่ผ่านมา ขายได้ถึง 30,000 ลูกในเดือนเดียว

          นางสาวกำไลทิพย์ เศรษฐ์วิชัย เกษตรจังหวัดสตูล  บอกว่า “เกษตรกรรายนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้พื้นที่ว่างหลังโค่นยางพารา มาปรับปรุงดินและสร้างรายได้ เขามีการจัดการที่ดีมาก ทั้งในแปลงและการตลาด”

          นอกจากขายสด ยังมีการแปรรูปหลากหลายเมนู เช่น น้ำสับปะรดขวดละ 12 บาท สับปะรดกวน และนมสดสับปะรดขวดละ 20 บาท โดยมีครอบครัวช่วยกัน ทั้งแม่ หลานสาว และน้องสะใภ้ ดูแลการแปรรูปและหน้าร้าน

           เกษตรจังหวัดสตูล. บอกอีกว่า.  “อิสมาแอนเป็นเกษตรกรที่ได้รับมาตรฐาน GAP และ Q ซึ่งการันตีคุณภาพและความปลอดภัย อยากให้เกษตรกรคนอื่นที่ปลูกในพื้นที่ของญาติ   หรือพื้นที่เอกสารสิทธิ์ มาขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพื่อรับสิทธิ์ช่วยเหลือหากเกิดภัยพิบัติ”

 

          แม้หน่อพันธุ์สับปะรดจะยังไม่พอแบ่งขาย   เพราะต้องใช้ขยายแปลงในอนาคต   แต่ของเหลือจากการแปรรูป   เช่น กากและเปลือก ก็ยังนำไปทำปุ๋ยหมักต่อได้   ถือเป็นการใช้ประโยชน์ครบทุกส่วน. สนใจสอบถาม. โทร. 082-376-2450

……………………………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 ขนม”จูจอ” สานสัมพันธ์ชุมชน ฟื้นชีวิตขนมโบราณควนสตอ

ขนม“จูจอ” สานสัมพันธ์ชุมชน ฟื้นชีวิตขนมโบราณควนสตอ

          ที่อบต.ควนสตอ อ.ควนโดน จ.สตูล  ความร่วมแรงร่วมใจของแม่บ้าน 30 คน  จากหลากหมู่บ้านใน ตำบลควนสตอ วันนี้ได้รวมตัวกันสืบสานวัฒนธรรมการทำขนมโบราณ  เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับงานบุญที่กำลังจะถึง โดยมี “นางฮาหยาด  เกปัน” วัย 67 ปี ปราชญ์ชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของสูตรขนม “จูจอ” หรือ “ดอกบัว” นำทีมในการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น

         การรวมตัวครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการทำขนมเพื่องานบุญ 300 โต๊ะ หากยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์และสานต่อวัฒนธรรมอันดีงามของชุมชน พวกเขาได้ร่วมกันผลิตขนมหลากชนิด อาทิ ขนมโค กล้วยหยำ และจูจอ รวมทั้งสิ้น 12 กิโลกรัม หรือประมาณ 1,200 ชิ้น

          สูตรลับของขนม “จูจอ” ประกอบด้วยแป้งสาลี 1 กิโลกรัม  แป้งข้าวเจ้าครึ่งกิโลกรัม  น้ำตาลทรายขาว 8 กรัม น้ำตาลอ้อย 2 กรัม และเกลือเล็กน้อย ขั้นตอนการทำต้องอาศัยความชำนาญ โดยเฉพาะการหยอดแป้งทอดให้เป็นรูปดอกไม้ และค่อยๆ ปรุงไฟให้สุกอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

          ขนมจูจอกลายเป็นของขึ้นชื่อประจำตลาดเช้า นิยมทานคู่กับโกปี้อ้อและชาเย็น ราคาเริ่มต้นเพียง 3-5 บาท สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวใต้มุสลิมที่เรียบง่ายแต่ทรงคุณค่า

         การอนุรักษ์และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมผ่านขนมโบราณเช่นนี้  นับเป็นพลังสำคัญในการเชื่อมโยงคนในชุมชน สร้างความภาคภูมิใจ และถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่คนรุ่นต่อไป

……..

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 จากพนักงานบริษัทสู่เจ้าของกิจการ  “ขนมครกไส้โคตรทะลัก” สร้างรายได้วันละ 2,000 บาท

จากพนักงานบริษัทสู่เจ้าของกิจการ  “ขนมครกไส้โคตรทะลัก” สร้างรายได้วันละ 2,000 บาท

          ที่ตลาดรอมฎอน  ต.ฉลุง  อ.เมือง  จ.สตูล  นางสาวฐิติภัทร โลณะปาลวงษ์ อายุ 36 ปี เจ้าของร้าน “ขนมครกไส้โคตรทะลัก” เล่าให้ฟังถึงเส้นทางการเปลี่ยนชีวิตจากพนักงานบริษัทในแผนกซีพี สู่การเป็นผู้ประกอบการขนมไทยที่มีรายได้วันละ 2,000 บาท จากขนมครกเพียง 3 กิโลกรัมต่อวัน

 

          นางสาวฐิติภัทรเล่าว่า “เริ่มต้นจากการตั้งครรภ์ลูกคนที่สอง และความชอบส่วนตัวในการขายของ” “ดิฉันได้ศึกษาการทำขนมครกจากช่องทางออนไลน์ แล้วทดลองทำด้วยตัวเอง ลองผิดลองถูกจนได้สูตรที่ลงตัวอย่างทุกวันนี้”

 

          โดยความพิเศษของขนมครกร้านนี้อยู่ที่การใช้แป้งข้าวไรซ์เบอร์รี่ ผสมกับน้ำกะทิคุณภาพดี ทำให้ได้เนื้อขนมที่นุ่ม หอม ไม่แข็งกระด้าง โดยเมื่อทำแป้งเสร็จแล้วจะเติมหัวกะทิอีกครั้ง และตามด้วยไส้ที่หลากหลายถึง 4 ชนิด ได้แก่:  – ไส้ฟักทอง  – ไส้มันม่วง  – ไส้ข้าวโพด  – ไส้เผือก

 

         “ความลับอยู่ที่เราใส่ใจในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบ การผสมแป้ง และการทำไส้ที่สด ใหม่ทุกวัน หวานพอดี มันจากหัวกะทิ ไม่ใช้วัตถุกันเสีย” คุณฐิติภัทรกล่าว

 

         ด้วยประสบการณ์จากการทำงานในบริษัท คุณฐิติภัทรได้นำความรู้ด้านการตลาดมาปรับใช้กับธุรกิจขนมครก จัดแคมเปญ “ซื้อขนมครก 20 บาท แถมคูปอง 1 ใบ” เมื่อสะสมครบ 10 ใบ สามารถแลกขนมครกฟรี 1 กล่อง  

          “การทำแคมเปญนี้ช่วยเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น เพราะลูกค้าอยากได้คูปองมากๆ จึงซื้อในปริมาณมากขึ้น และในเดือนนี้มีลูกค้าไม่น้อยกว่า 3 รายแล้วที่มาแลกขนมฟรีจากการสะสมแต้ม” คุณฐิติภัทรกล่าวด้วยรอยยิ้ม

              ความอร่อยของขนมครกไส้โคตรทะลักไม่เพียงเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าทั่วไป แต่ยังได้รับการยอมรับจากนายกเทศมนตรีตำบลฉลุง  และผู้รับสัมปทานตลาดที่ยอมรับว่า “ขนมครกเป็นอีกหนึ่งเมนูที่ได้รับความนิยม เป็นอาหารว่าง อาหารแก้บวชของพี่น้องชาวไทยมุสลิม”

 

           สำหรับเวลาเปิดให้บริการ  ในเดือนรอมฎอน  ตั้งแต่เวลา  13.00-18.00 น.  เดือนปกติ เริ่มตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. ที่สามแยกฉลุง  สนใจสั่งขนมครกไส้โคตรทะลัก สามารถติดต่อได้ที่ 099-304-2659

 

     “จากความฝันเล็กๆ สู่ความสำเร็จวันนี้ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในช่วงไหนของชีวิต ก็สามารถเริ่มต้นทำธุรกิจได้ ขอเพียงมีใจรัก ตั้งใจ และลงมือทำอย่างจริงจัง” คุณฐิติภัทรทิ้งท้าย

…………………………………..

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 แม่บ้านสตูลสร้างรายได้จากขนมโบราณ ‘โกยเปต’ สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นกว่า 20 ปี

แม่บ้านสตูลสร้างรายได้จากขนมโบราณ ‘โกยเปต’ สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นกว่า 20 ปี

          ที่หมู่บ้านเขาน้อยใต้ หมู่ 12 ตำบลฉลุง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล นางฝาตีม๊ะ ดาหมาด อายุ 58 ปี พร้อมด้วยญาติพี่น้องในครอบครัวกำลังเร่งมือทำขนมโบราณที่เรียกว่า “โกยเปต” หรือ “ขนมทองพับ” เพื่อให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะในช่วงใกล้เทศกาลฮารีรายาของพี่น้องชาวไทยมุสลิม

         

         ขนมโกยเปตที่นี่มีเอกลักษณ์พิเศษด้วยการใช้สูตรโบราณและวิธีการทำแบบดั้งเดิม โดยใช้เตาถ่านในการย่าง ซึ่งช่วยเพิ่มความหอมให้กับขนม ทำให้มีรสชาติที่แตกต่างและน่ารับประทานยิ่งขึ้น

 

          “เริ่มจากทำกินในครอบครัว แล้วค่อยพัฒนามาเป็นอาชีพ” นางฝาตีม๊ะเล่าถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจขนมโกยเปตที่ดำเนินมากว่า 20 ปี จนเป็นที่รู้จักในนาม “โกยเปตมะหลง” 

 

          ส่วนผสมหลักของขนมโกยเปตประกอบด้วย แป้งข้าวเจ้า กะทิ น้ำตาล และไข่ไก่ โดยหนึ่งกระปุกจะบรรจุประมาณ 70 แผ่น กำลังการผลิตอยู่ที่วันละ 3-4 กิโลกรัม หรือประมาณ 7 กระปุก โดย 1 กิโลกรัมจะใช้มะพร้าวถึง 4 ลูกและไข่ไก่.  ซึ่งทางร้านเน้นทั้งคุณภาพและปริมาณ

 

          วิธีการทำขนมโกยเปตมีเคล็ดลับอยู่ที่การสังเกตสีของแป้ง หลังจากวางแท่นพิมพ์ลงบนเตาถ่าน ให้รอจนแป้งที่อยู่รอบขอบแท่นพิมพ์เปลี่ยนเป็นสีเหลือง แล้วจึงรีบยกขึ้นมาพับเป็นรูปสี่เหลี่ยมทันที จะได้ขนมที่มีสีเหลืองสวย แบน และง่ายต่อการบรรจุลงกล่อง

 

          ขนมโกยเปตของนางฝาตีม๊ะ  เป็นที่นิยมอย่างมากในช่วงเทศกาลฮารีรายา  เนื่องจากทุกบ้านจะต้องซื้อไว้รับรองแขกที่มาเยี่ยมเยียน  แต่ทางร้านยังคงเปิดขายตลอดทั้งปี ทำให้เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับของฝากหรือของขวัญในโอกาสพิเศษต่างๆ

          ด้านนายสุจริต  ยามาสา  นายก อบต.ฉลุง ยอมรับว่าขนมร้านของนางฝาตีม๊ะ  มีความอร่อยและรักษาคุณภาพของอาหารได้อย่างยอดเยี่ยมจนเป็นที่ขึ้นชื่อ แต่สิ่งที่ต้องการพัฒนาต่อไปคือเรื่องของตราสินค้าให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งทาง อบต. จะเข้ามาช่วยหนุนเสริมในส่วนนี้ เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า นอกจากนี้ ทางองค์การบริหารส่วนตำบลยังจะช่วยส่งเสริมการขายผ่านช่องทางต่างๆ และสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่ม เพื่อให้ภาครัฐสามารถเข้ามาช่วยเหลือได้มากขึ้น

 

          สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสั่งซื้อขนมโกยเปตได้ในราคากระปุกใหญ่ และกระปุกเล็ก

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 11 ปีแห่งตำนานไก่ย่างกอและโบราณไม้ละ 5 บาท  อร่อยเท่าเดิม ราคาคงเดิม ท่ามกลางค่าครองชีพพุ่ง

11 ปีแห่งตำนานไก่ย่างกอและโบราณไม้ละ 5 บาท  อร่อยเท่าเดิม ราคาคงเดิม ท่ามกลางค่าครองชีพพุ่ง

          ในยุคที่ราคาอาหารถีบตัวสูงขึ้น มีร้านเล็กๆ ริมคลอง(เอวหัก)  ม.7 ซอยทรายทอง  ทต.คลองขุด อ.เมืองสตูล แห่งหนึ่งที่ยังคงยืนหยัดขายไก่ย่างไม้ละ 5 บาทมาเนิ่นนานถึง 11 ปี “ร้านสามพี่น้องริมคลองเอวหัก” ของคุณอัญชลี บิลเต๊ะ หรือที่ลูกค้ารู้จักกันในนาม “น้องกิ๊ก” วัย 38 ปี คือตัวอย่างของความมุ่งมั่นที่หาได้ยากในปัจจุบัน

 

         “ขายราคานี้ลูกค้าอยู่ได้ เราก็อยู่ได้” คือคำพูดติดปากของคุณอัญชลี ลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาซื้อส่วนใหญ่ก็จะเป็นลูกค้าประจำ และนักเรียน อีกทั้งเป็นผู้ซึ่งใช้อาชีพขายไก่ย่างเลี้ยงดูครอบครัว 6 ชีวิต รวมลูกอีก 4 คน โดยทางร้านเปิดให้บริการวันละสองรอบ ช่วงเช้าตั้งแต่ 06.00-09.00 น. และช่วงบ่ายตั้งแต่ 15.00-18.00 น. (และหยุดทุกวันเสาร์)  ยกเว้นช่วงเดือนรอมฎอนที่จะเปิดขายตอน 14.00 น. ทุกวันไม่มีวันหยุด

 

          เมนูยอดนิยมของทางร้านคือ “ไก่ย่างสามรส” ในราคาเพียงไม้ละ 5 บาท และ “ไก่กอและ” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ไก่แดงโบราณ” ในราคาไม้ละ 10 บาท พร้อมข้าวเหนียวห่อละ 5 บาท โดยทั้งหมดมีหอมกระเทียมเจียวโรยหน้าให้เพิ่มความหอม

             คุณอัญชลี  เล่าว่า น้ำราดไก่กอและสุดพิเศษใช้สูตรจากพี่เขยที่จังหวัดตรัง มีส่วนผสมของเครื่องแกง ถั่วลิสง พริกแห้ง ผสมแป้งข้าวโพดเล็กน้อย น้ำตาลทราย และเกลือ ทำให้ได้รสชาติที่หวาน มัน เค็ม และเผ็ดเล็กน้อย ที่สำคัญคือทำสดใหม่ทุกวัน

 

          ทางร้านปรับตัวเข้ากับเทศกาลรอมฎอนด้วยการเพิ่มเครื่องดื่มหลากหลายชนิด ทั้งน้ำพุทรา น้ำกระเจี๊ยบ โอเลี้ยง ชาดำเย็น และน้ำลิ้นจี่ ในราคาเพียงถุงละ 10 บาท

 

          ทุกวันคุณอัญชลีจะเตรียมไก่ย่างวันละประมาณ 10 กิโลกรัม แบ่งเป็นช่วงเช้า 5 กิโลกรัม (ซึ่ง 1 กิโลกรัมสามารถแบ่งได้ประมาณ 60 ไม้ ) โดยชิ้นส่วนที่ขายดีที่สุดคือหนังไก่และเนื้อสะโพก

 

           ป้ายิ้ม ลูกค้าประจำของร้าน กล่าวว่า “ซื้อที่ร้านนี้เป็นประจำเพราะรสชาติอร่อย ราคาถูก ซื้อประจำทั้งเช้าและเย็น”

 

           หากใครสนใจอยากลิ้มลองไก่ย่างราคาประหยัดที่คงราคาเดิมมานานถึง 11 ปี สามารถไปอุดหนุนได้ที่ “ร้านสามพี่น้องริมคลอง” ตั้งอยู่ที่ซอยเอวหัก ริมคลอง. หรือทรายทอง หมู่ 7 เขตเทศบาลตำบลคลองขุดอำเภอเมืองสตูล หรือติดต่อคุณอัญชลีได้ที่ 065-015-0955

…………

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 เกษตรกรสตูลปลูก “ขมิ้นแดงสยาม-ขมิ้นตรัง” แปรรูปด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ สร้างมูลค่าเพิ่มสมุนไพรไทย

เกษตรกรสตูลปลูก “ขมิ้นแดงสยาม-ขมิ้นตรัง” แปรรูปด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ สร้างมูลค่าเพิ่มสมุนไพรไทย

            ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จังหวัดสตูลยกระดับการเกษตรสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่อำเภอควนโดนปลูกขมิ้นแดงสยามและขมิ้นตรัง พร้อมพัฒนาการแปรรูปด้วยเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสมุนไพรท้องถิ่น ตอบสนองความต้องการตลาดที่เพิ่มขึ้น

             นางวรรณนภา คงเคว็จ เกษตรอำเภอควนโดน พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอควนโดน และนายสมยศ จิตเที่ยง นายอำเภอควนโดน ร่วมกับ ผศ.กิติศักดิ์ ชุมทอง ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมการปลูกขมิ้นแดงสยามของกลุ่มเกษตรกรในอำเภอควนโดน ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตเพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรหลากหลายชนิด

           นายเจ๊ะมูสอด สามารถ อายุ 73 ปี เจ้าของพื้นที่ปลูกขมิ้นแดงสยามในพื้นที่หมู่ที่ 10 ตำบลควนโดน เปิดเผยว่า ตนได้เริ่มปลูกขมิ้นในพื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน ซึ่งสามารถจำหน่ายขมิ้นแดงสยามในราคา 21 บาทต่อกิโลกรัม โดยเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวประมาณ 2-3 เดือน ขมิ้นจะถูกขุดขึ้นมาและทำความสะอาดเพื่อเตรียมแปรรูป ทั้งนี้ การปลูกในกระสอบปุ๋ยและวงล้อรถยนต์ช่วยให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้สะดวกมากขึ้น

          ด้านนางสายฝน นุ่งอาหลี อีกหนึ่งเกษตรกรผู้ปลูกขมิ้นในวงล้อ และลงดิน ที่ปลูกพื้นที่หมู่ที่ 8 ตำบลควนสะตอ ได้ขยายพื้นที่ปลูกขมิ้นถึง 5 ไร่ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น

         โดยนางสายฝน นุ่งอาหลี  กล่าวว่า  ปลูกขมิ้นทำรายได้เลี้ยงกลุ่มและครอบครัวได้ดี เป็นที่ต้องการที่จะนำไปเป็นสมุนไพรทางการแพทย์ จึงไม่เพียงพอต่อการผลิตแปรรูป รวมทั้งการปลูกขมิ้นใช้พื้นที่น้อยข้างบ้านก็ปลูกได้ ในกระสอบ วงล้อก็ทำได้

           ทางด้านนายฮูสรี  หีมมะหมัด นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอควนโดน กล่าวว่า  ได้ให้การสนับสนุนโดยส่งเสริมการแปรรูปขมิ้นด้วยเทคโนโลยีการตากแห้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต และนำไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรหลายชนิด เช่น ลูกประคบสมุนไพรราคา 60 บาท น้ำมันเหลืองราคา 80 บาท และยาดมราคา 35 บาท

           นายสมยศ จิตเที่ยง นายอำเภอควนโดน กล่าวว่า “การแปรรูปขมิ้นเป็นสมุนไพรถือเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งไม่เพียงแค่สร้างรายได้ แต่ยังเป็นการสนับสนุนการใช้สมุนไพรเพื่อสุขภาพ ขมิ้นที่ผลิตในพื้นที่มีคุณภาพสูงและส่งไปยังโรงพยาบาลในพื้นที่เพื่อการรักษาผู้ป่วย แต่ขณะนี้ผลผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงอยากให้เกษตรกรหันมาปลูกขมิ้นเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับตลาดที่กำลังเติบโต”

          ทั้งนี้ โครงการส่งเสริมการปลูกขมิ้นแดงสยามและขมิ้นตรังในพื้นที่อำเภอควนโดน ถือเป็นตัวอย่างของการพัฒนาเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ใช้ทรัพยากรท้องถิ่นและพลังงานสะอาด สร้างความมั่นคงทางอาชีพให้กับเกษตรกรในพื้นที่ และตอบสนองต่อความต้องการผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน

………………………………………………………

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา เกษตร - อาชีพ

“กะน๊ะปลาส้ม” ความอร่อยที่มาพร้อมกลิ่นหอมชวนลิ้มลอง

สตูล- “กะน๊ะปลาส้ม” ความอร่อยที่มาพร้อมกลิ่นหอมชวนลิ้มลอง

          ร้าน “กะน๊ะปลาส้ม” โดดเด่นด้วยเมนูยำปลาส้มพร้อมทานที่มาพร้อมมะนาว หัวหอมแดง พริกทอด และใบมะกรูดทอด ในราคาเพียงชุดละ 50 บาท ได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้าในท้องถิ่น

         นางกนิษฐา รับไทรทอง เจ้าของร้าน เผยเคล็ดลับความอร่อยว่า “การทอดปลาส้มต้องใช้ไฟอ่อน เพื่อให้ได้สีเหลืองทองและความกรอบที่กำลังดี” เธอเลือกใช้ปลาจีนในการทำปลาส้มเพราะให้เนื้อที่หอมนุ่มและเนื้อเยอะ โดยทำการผลิตครั้งละ 50 กิโลกรัม ซึ่งสามารถขายหมดภายในเวลาเพียง 2 วัน  สร้างรายได้  2000 -3000  ต่อครั้ง

         วิธีทำปลาส้มของกะน๊ะ  จะเลือกใช้ปลาจีน โดยจะสั่งซื้อจากจังหวัดข้างเคียง  ส่วนปลานิลจะรับซื้อจากบ่อของชาวบ้านในพื้นที่บ้านหัวทาง  ชุมชนท่านายเนาว์  และพื้นที่อำเภอละงู  ซึ่งเป็นการอุดหนุนชาวบ้านด้วย  เมื่อได้ปลามาแล้ว  จากนั้นนำล้างให้สะอาด  หมักเกลือ 1 คืน  ใส่ข้าวเหนียวกับกระเทียม 3 คืน  รสชาติกำลังพอดีพร้อมขาย  เจ้าของร้าน กล่าว

         นอกจากปลาส้มที่เป็นเมนูขึ้นชื่อแล้ว ทางร้านยังได้เพิ่มเมนูใหม่อย่าง “แหนมปีกไก่ทอด” เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า

 

         ด้านน้องแจม หรือ นางสาวจันทิมา ดาหมาน หนึ่งในลูกค้าประจำ กล่าวว่า “ปลาส้มที่นี่อร่อยมาก รสชาติไม่ส้มจนเกินไป พอได้ลองครั้งแรกก็ติดใจ จนต้องกลับมาซื้อซ้ำ โดยเฉพาะราคาที่จับต้องได้”

         ท่านที่สนใจสามารถพบกับร้าน “กะน๊ะปลาส้ม” ได้ที่ :  – ตลาด ธกส. ทุกวันศุกร์   – ตลาดเกษตร ทุกวันพุธ  – ตลาดประชารัฐที่บิ๊กซี ทุกวันพฤหัสบดีและวันเสาร์   และในช่วงวันที่ 19-25 มกราคม 2568 ร้านจะไปร่วมงานมหกรรมอาหารจานเด็ด ที่ถนนเลี่ยงเมืองบายพาส ตำบลพิมาน อำเภอเมือง จังหวัดสตูล

 

         สนใจสั่งซื้อสามารถติดต่อได้ที่ โทร. 098-3452799  ด้วยสโลแกนที่ว่า “ทอดหอม ทานอร่อย กลิ่นจะมาก่อน ลูกค้าจะมาตามกลิ่น” ร้านกะน๊ะปลาส้มได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นร้านอาหารพื้นบ้านที่คุ้มค่าแก่การลิ้มลอง

…………………………………

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา เกษตร - อาชีพ

สตูล-ลูกค้าแห่ซื้อซุปพุงวัวรสเด็ดชั่งกิโลขาย   เส้นทางความสำเร็จของ ‘บังเอ็ม’ ผู้สร้างรายได้หลักหมื่นต่อวัน

สตูล-ลูกค้าแห่ซื้อซุปพุงวัวรสเด็ดชั่งกิโลขาย   เส้นทางความสำเร็จของ ‘บังเอ็ม’ ผู้สร้างรายได้หลักหมื่นต่อวัน

              ความสำเร็จไม่เคยหอมหวานเท่ากลิ่นซุปพุงวัวที่ต้มด้วยฟืน  เกือบทุกตลาดนัด  ที่จะมีลูกค้ามายืนห้อมล้อมกระทะ 2 ใบใหญ่  เพื่อตักชิ้นส่วนของซุปพุงวัวที่ตนชื่นชอบได้ตามสบาย   ร้านของ  นายอิบรอเฮ็ม อารีหมาน หรือที่รู้จักกันในนาม “บังเอ็ม” เจ้าของตำรับซุปพุงวัวรสเลิศ  ที่ครองใจลูกค้ามานานกว่า 5 ปี เผยเคล็ดลับความสำเร็จที่ทำให้ธุรกิจเติบโตจนสร้างรายได้วันละหลักหมื่นบาท

 

            ด้วยสูตรพิเศษที่ผสมผสานสมุนไพรไทยอย่างลงตัว ทั้งหอม กระเทียมเจียว ส้มขามแขก และใบชะมวง พร้อมเทคนิคการต้มด้วยไม้ฟืน  ที่ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง  ทำให้เนื้อนุ่มเปื่อย หอมกรุ่น ปราศจากกลิ่นคาว จากนั้นใช้แก๊สมาอุ่นให้ร้อนอีกครั้ง  ในช่วงตระเวนขายในตลาดนัด   จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่ลูกค้าติดใจ  ตักเลือกชิ้นส่วนของพุงวัว  ที่ชื่นชอบได้ตามสบาย โดยจะมีกิโลเป็นเครื่องวัดราคาในการขาย

            “เคล็ดลับอยู่ที่การแยกน้ำต้ม” บังเอ็มเล่าถึงวิธีการทำที่พิถีพิถัน “น้ำต้มครั้งแรกเราทิ้งหมด แล้วใช้น้ำใหม่มาปรุงรส ทำให้ซุปใส สะอาด  ไม่คาว และอร่อย” ทุกครั้งที่ลูกค้าเลือกชิ้นส่วนของพุงวัวได้ตามใจชอบแล้ว จะนำมาปรุงเพิ่มด้วยถั่วงอก กระเทียมเจียว มะนาว พริกสดตามความชื่นชอบให้ได้รสชาติที่กลมกล่อมลงตัว นิ่มละมุนลิ้น ในราคาที่คุณเลือกได้

 

           ปัจจุบัน ร้านซุปพุงวัวบังเอ็มเปิดขายทั้งในตลาดนัดและงานต่างๆ ทั่วจังหวัด ด้วยราคาเริ่มต้นที่กรัมละ 35 บาท หรือกิโลกรัมละ 350 บาท โดยในช่วงเดือนรอมฎอนยอดขายพุ่งสูงถึงวันละ 100 กิโลกรัม

           “ความสำเร็จไม่ได้มาง่ายๆ ต้องทุ่มเทและใส่ใจในทุกขั้นตอน” บังเอ็มทิ้งท้าย พร้อมเชิญชวนผู้สนใจลิ้มลองซุปพุงวัวรสเด็ดได้ :

– วันอังคาร: ที่ตลาดนัดบ้านควน – วันพุธ: ที่หลาดนัดเปิดท้ายกัมปงฆัวร์ (15:00-20:00 น.)

– วันพฤหัสบดี: ที่ตลาดปากแรดท่าแพ

– วันศุกร์: ที่ตลาดท่าแพ 

– วันเสาร์: ที่ตลาดหาดราไวย์

– วันอาทิตย์: ที่ตลาดควนเก  หรือ 

สนใจสั่งซื้อหรือสอบถามเพิ่มเติม โทร. 088-385 5580

…………………………………………

อัพเดทล่าสุด