Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

ใหญ่กว่านี้มีอีกไหม! กล้วยงาช้างสตูล-ลูกใหญ่ เนื้อแน่เยอะ หวานกรอบ จากสวนยางสู่กล้วยกรอบแก้วระดับพรีเมียม

ใหญ่กว่านี้มีอีกไหม! กล้วยงาช้างสตูล-ลูกใหญ่ เนื้อแน่เยอะ หวานกรอบ จากสวนยางสู่กล้วยกรอบแก้วระดับพรีเมียม

          ที่สวนของสมาชิกในกลุ่ม  “วิสาหกิจชุมชนกล้วยสวนกรอบแก้ว”   529/1 หมู่ที่ 5 ตำบลน้ำผุด  อำเภอละงู  จังหวัดสตูล ได้มีการปลูกกล้วยเพื่อแซมสวนยางพารา  ร่วมกับต้นกาแฟ ต้นกระท่อม เพื่อเป็นรายได้เสริมให้กับสมาชิกในกลุ่ม  โดยเฉพาะการปลูกกล้วยงาช้าง ที่เป็นวัตถุดิบชั้นเยี่ยมของทางกลุ่มในการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อ  ภายใต้แบรนด์  กล้วยงาช้างกรอบแก้ว “สวนตาอุ้ย” กรอบอร่อย ทุกที่ทุกเวลา  ที่ได้รับเลขทะเบียน อย.การันตีความอร่อยสะอาดถูกหลักอนามัยด้วย

 

          จากการลองผิด ลองถูก เพื่อให้เกิดความแตกต่างมาลงตัวที่  กล้วยงาช้าง  ด้วยคุณสมบัติผลใหญ่ (ใหญ่สุดลูกเดียว 1.8 ขีด)  ปลูกเพียง 8 เดือนก็สามารถให้ผลผลิต  เนื้อเนียน  เนื้อเยอะ  ไม่มีเมล็ด  รสชาติดีทำให้ทางกลุ่มของคุณป้าเย็น และคุณจิต และเพื่อนๆ สมาชิกได้ตกลงใช้กล้วยสายพันธุ์นี้ทำ  กล้วยกรอบแก้ว  ที่มีรสชาติลงตัวที่สุดกับ รสหวาน รสเค็มและรสปาปิกา  จำหน่ายเพียงถุงละ 35 บาท (3 ถุงร้อย) ถุงละ 50 บาทหรือจะซื้อเป็นกิโลกรัมละ 180 บาท (2-3 กิโลกรัมขึ้นไป) 

 

          ขั้นตอนการทำที่ไม่ยุ่งยาก  เน้นความสะอาด  กล้วยที่ได้มาเป็นกล้วยแก่ 70 เปอร์เซ็นต์  ล้างน้ำทำความสะอาดจากนั้นแช่ในน้ำเปล่า ตัดหัวตัดท้ายออกปลอกเปลือกและแช่ในน้ำส้มสายชู  เพื่อล้างยางในตัวกล้วย และนำมาสไลด์เป็นแผ่นบาง ๆ  ตั้งไฟใส่น้ำมันร้อนลงไปทอดไม่ทันเหลืองให้ยกขึ้นจากกระทะ  ให้สะเด็ดน้ำมันแล้วนำไปใส่ในหม้อน้ำตาลที่ผ่านการเคี้ยวจนหอมน้ำใบเตย  ไม่ถึงนาทียกขึ้นให้สะเด็ดน้ำตาลจากนั้นนำไปทอดในกระทะอีกครั้ง เพิ่มความเหลืองกรอบในระดับหนึ่งก่อนยกขึ้นให้สะเด็ดน้ำมัน  วางบนกระดาษซับน้ำมัน เป็นอันเสร็จ ชิมความอร่อยของกล้วยกรอบแก้ว รสหวานได้เลย

          นางเกสร  เตชะศิริประภา (ป้าเย็น) ประธานกลุ่ม “วิสาหกิจชุมชนกล้วยสวนกรอบแก้ว”  นางเขมนิจ   เมืองแก้ว (ป้าจิต) รองประธานฯ พร้อมสมาชิก 20 คน   บอกว่า   ทางกลุ่มผลิตกล้วยกรอบแก้วจาก “กล้วยงาช้าง” ที่มีคุณภาพ  เพราะลูกใหญ่ รสชาติหวาน กรอบ และเก็บได้นาน  ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดตอบรับเป็นอย่างดี 

 

           สำหรับสมาชิกของทางกลุ่มฯ ส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ ชาวสวน ที่มารวมกลุ่มกันสร้างรายได้เสริม  ปัจจุบันแม้ประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบเนื่องจากปีที่ผ่านมาประสบภัยแล้ง   แต่ทุกคนยังคงมุ่งมั่นในการที่จะผลิตสินค้าคุณภาพ เพราะมีใจรักในการทำ และใส่ใจคุณภาพ สมาชิกทุกคน 20 คนได้รับการปันผลรายได้ทันทีตามผลประกอบการแต่ก็ไม่ใช่สาระหลัก  เพราะทุกคนอยากมารวมตัวกันเจอกันรายได้เสริมเป็นแค่ส่วนหนึ่งในการทำกลุ่มมากกว่า

 

          นางสาวมนัสนันท์  นุ่นแก้ว เกษตรอำเภอละงู  กล่าวว่า  สำหรับพื้นที่อำเภอละงูมีการปลูกกล้วยงาช้าง 40 ไร่ พบว่าผลผลิตก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เนื่องจากมีกระแสตอบรับดีมาก ทำให้ทางสำนักงานมีแนวความคิด ขยายพื้นที่การปลูกกล้วย กล้วยงาช้างให้เพิ่มขึ้น โดยจะส่งเสริมไปในส่วนของสมาชิกกลุ่มก่อน และจะขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นในบริเวณใกล้เคียง   สำหรับ  กล้วยงาช้าง  มีความพิเศษคือมีผลขนาดใหญ่เปลือกบาง เนื้อเนียนแน่นไม่มีเมล็ด ทำให้เหมาะกับการมาแปรรูปเป็นกล้วยฉาบ เมื่อแปรรูปเสร็จเนื้อจะกรอบเนียนอร่อย

 

         สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ นี้มาตั้งแต่ปี 2562 ทางเกษตรอำเภอได้เข้ามาช่วยส่งเสริมการบริหารจัดการกลุ่ม เพื่อให้กลุ่มมีความเข้มแข็งมากขึ้น นอกจากนี้ก็จะเป็นในส่วนของการตลาดและมาตรฐาน นอกจากนี้ทางกลุ่มก็ได้รับมาตรฐานอย.แล้วด้วย   อยากจะฝากกล้วยกับแก้วของทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยสวนกรอบแก้วเพราะมีรสชาติอร่อย

 

        สามารถติดตามได้ทางช่องทาง Facebook ของกลุ่ม หรือของทางสำนักงานเกษตรอำเภอละงูได้ โทร. 0896571242  , 0918147759

……………………………….

อัพเดทล่าสุด

เกษตรสตูล ส่งมอบพันธุ์พืช ให้แก่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อดำเนินการมอบให้แก่เกษตรกรและผู้ประสบภัยพิบัติในจังหวัดสตูล

เกษตรสตูล ส่งมอบพันธุ์พืช ให้แก่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อดำเนินการมอบให้แก่เกษตรกรและผู้ประสบภัยพิบัติในจังหวัดสตูล

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

ถั่วลิสงแซมยาง สร้างเงิน! เกษตรกรสตูลเผยสูตรสำเร็จ ปลูก 2 ไร่ 3 เดือนรายได้งาม

ถั่วลิสงแซมยาง สร้างเงิน! เกษตรกรสตูลเผยสูตรสำเร็จ ปลูก 2 ไร่ 3 เดือนรายได้งาม

         เกษตรกรต้นแบบที่ จ.สตูล สร้างรายได้เสริมด้วยการปลูกถั่วลิสงแซมในสวนยางพารา  ที่บ้านอุใดใต้  หมู่ที่ 5 ตำบลอุใดเจริญ  อำเภอควนกาหลง  จังหวัดสตูล

         

         โดยนางสาวสุภาพ  ศรีทอง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ รักษาราชการแทนเกษตรอำเภอควนกาหลง พร้อม น.ส.จุฑามาศ เกียรติอุปถัมภ์  นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ และ นายธารสวาท พิมเสน  นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ลงพื้นที่เยี่ยมเกษตรกรและให้คำแนะนำการปลูกและดูแลพืชระยะสั้นที่ให้ผลผลิตเร็ว อย่างการปลูกถั่วลิสง

 

          ซึ่งเกษตรรายนี้คือ  นายนิรันดร  คลิ้งนวล อายุ 63 ปี  คุณลุงพร้อมภรรยา  เกษตรกรชาวบ้านอุใดใต้  ได้ปลูกถั่วลิสงแซมในสวนยางที่ยังไม่เปิดกรีด  เป็นทางเลือกที่ดีในการสร้างรายได้เสริม โดยใช้พื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์ระหว่างรอยางโตบนพื้นที่ปลูก 2 ไร่  โดยใช้เมล็ดพันธุ์เพียง 15 กิโลกรัมต่อไร่ มีเทคนิคการปลูกที่ไม่ยุ่งยาก เริ่มจากการไถดินและหว่านปูนขาวเพื่อป้องกันหนอน ปลูกโดยเว้นระยะห่าง 1 ไม้บรรทัด ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15 สองครั้งในช่วงอายุ 15 และ 30 วัน

         นางสาวสุภาพ ศรีทอง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ รักษาราชการแทนเกษตรอำเภอควนกาหลง กล่าวว่า   ถั่วลิสงเป็นพืชที่ปลูกง่าย ใช้เวลาสั้นเพียง 3 เดือนก็เก็บผลผลิตได้ และยังช่วยบำรุงดินอีกด้วย ที่สำคัญ ในพื้นที่ 1 ไร่ สามารถให้ผลผลิตถึง 300 กิโลกรัม ขายได้กิโลกรัมละ 50 บาท และหากแกะล้างเรียบร้อยราคาจะเพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 75 บาท สร้างรายได้เสริมให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดี

 

         โดยรายได้จากการขายถั่วลิสงต่อไร่ 15,000 บาท   ในพื้นที่จำนวน 2 ไร่  คุณลุงนิรันดร สามารถสร้างรายได้ภายใน 3 เดือน 30,000 บาท ควบคู่ไปกับพืชชนิดอื่นที่ปลูกแซมไปพร้อมกันด้วย

 

         นอกจากนี้ หลังเก็บเกี่ยวถั่วลิสงแล้ว ยังสามารถปลูกพืชหมุนเวียนอื่น ๆ เช่น ข้าว ข้าวเหนียวดำ หรือข้าวโพด ข้าวไร่  ได้อีกด้วย เกษตรกรที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณลุงนิรันดร คลิ้งนวล โทร 083-656-1525 หรือที่สำนักงานเกษตรอำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล

……………………………………………

อัพเดทล่าสุด

เกษตรสตูล ส่งมอบพันธุ์พืช ให้แก่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อดำเนินการมอบให้แก่เกษตรกรและผู้ประสบภัยพิบัติในจังหวัดสตูล

เกษตรสตูล ส่งมอบพันธุ์พืช ให้แก่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อดำเนินการมอบให้แก่เกษตรกรและผู้ประสบภัยพิบัติในจังหวัดสตูล

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

เยาวชนสตูล ร่วมสืบสานวิถีชาวนาพื้นบ้าน เรียนรู้ตั้งแต่เก็บเกี่ยวถึงการแปรรูป

เยาวชนสตูล ร่วมสืบสานวิถีชาวนาพื้นบ้าน เรียนรู้ตั้งแต่เก็บเกี่ยวถึงการแปรรูป

         บรรยากาศอันสวยงามของทุ่งข้าวเหนียวดำพันธุ์พื้นเมืองที่กำลังออกรวงเต็มท้องทุ่ง พร้อมให้เก็บเกี่ยวบนพื้นที่ 30 ไร่ในแปลงยางพาราอายุไม่เกิน 3 ปี ณ บ้านนาโต๊ะขุน ตำบลแป-ระ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล ได้กลายเป็นห้องเรียนธรรมชาติที่มีชีวิตสำหรับเยาวชนรุ่นใหม่

        วันนี้ (20 พ.ย. 67) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนพิมานพิทยาสรรค์จำนวน 38 คน ได้มีโอกาสเรียนรู้วิถีชีวิตชาวนาผ่านการแข่งขันเก็บเกี่ยวข้าวด้วย “แกะ” เครื่องมือพื้นบ้านที่สืบทอดมาแต่โบราณ โดยมีนายหร่ออ๊บ มุเส็มสะเดา นายอำเภอท่าแพ นางสาวกำไลทิพย์ เศรษฐ์ วิชัย เกษตรจังหวัดสตูล  นายอารีย์  โส๊ะสันสะ เกษตรอำเภอท่าแพ และชาวบ้านในชุมชนร่วมลงแขกเก็บเกี่ยวไปพร้อมกัน

         เพื่อสืบสานภูมิปัญญาการทำข้าวเม่า  หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ผู้ร่วมงานได้เรียนรู้กระบวนการทำข้าวเม่าแบบดั้งเดิม เริ่มจากการคั่วข้าวเหนียว ตำในครก และฟัดด้วยกระด้ง ก่อนนำไปแปรรูปเป็นเมนูพื้นบ้าน “ข้าวเม่าคลุกมะพร้าวอ่อน” ที่ใช้ส่วนผสมจากวัตถุดิบในท้องถิ่น 

         นางสาวชนกสุดา เจริญศิลป์  และนายธนกฤต เพชรสงค์  นักเรียน ชั้น ม.6  โรงเรียนพิมานพิทยาสรรค์     เปิดเผยว่า “แม้จะเป็นคนสตูลแต่ไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสกับการเก็บเกี่ยวข้าวมาก่อน การได้มาเรียนรู้วันนี้ทำให้ภูมิใจในภูมิปัญญาท้องถิ่นของเรา และเห็นศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดเป็นวิสาหกิจชุมชน”

 

        ด้าน นางรำไพ สตันน๊อด ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลผลิตบ้านนาโต๊ะขุน เล่าถึงที่มาของโครงการว่า เกิดจากแนวคิดในการใช้ประโยชน์พื้นที่ว่างหลังการโค่นยางพารา โดยหันมาปลูกข้าวเหนียวดำเพื่อสืบสานวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชน

 

        ปัจจุบัน อำเภอท่าแพมีพื้นที่ปลูกข้าวรวม 3,048 ไร่ จาก 615 ครัวเรือน โดยเฉพาะในตำบลแป-ระมีพื้นที่ปลูกข้าว 1,576 ไร่ แบ่งเป็นนาข้าว 778 ไร่ และข้าวไร่ 798 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกแซมในสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน สะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างวิถีเกษตรดั้งเดิมกับการเกษตรสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว

………………………

อัพเดทล่าสุด

เกษตรสตูล ส่งมอบพันธุ์พืช ให้แก่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อดำเนินการมอบให้แก่เกษตรกรและผู้ประสบภัยพิบัติในจังหวัดสตูล

เกษตรสตูล ส่งมอบพันธุ์พืช ให้แก่สำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อดำเนินการมอบให้แก่เกษตรกรและผู้ประสบภัยพิบัติในจังหวัดสตูล