Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

รองปลัดวธ.เยือนชุมชน ร่วมพิธีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ ส่งวิญญาณกลับแดนบรรพชน

สตูล-รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรมเยือนชุมชน ร่วมพิธีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ ส่งวิญญาณกลับแดนบรรพชน

เมื่อวันที่ 10–12 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา บนเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ได้มีการจัดงาน “มหกรรมวัฒนธรรมท้องถิ่น : วิถีชาวเล เสน่ห์หลีเป๊ะ” ขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ โดยได้รับการสนับสนุนจากนายศักระ กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล พร้อมด้วยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสตูล นำโดยนายกิตตพงษ์  แก้วยอดทอง วัฒนธรรมจังหวัดสตูล  ร่วมกับภาคีเครือข่ายและกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโว้ย

 

พิธีเปิดได้รับเกียรติจาก  นางโชติกา อัครกิจโสภากุล  รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงาน โดยมีนายชัยวุฒิ บัวทอง ปลัดจังหวัดสตูล ให้การต้อนรับ ณ ลานกิจกรรมโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล

 

กิจกรรมสำคัญภายในงานสะท้อนวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวเลอูรักลาโว้ย ซึ่งมีความผูกพันแน่นแฟ้นกับท้องทะเล ทั้งในมิติของการดำรงชีวิตและจิตวิญญาณ  โดยรองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมคณะ ได้เยี่ยมชมชุมชนสิเข่งและสุสานโต๊ะฆีรี สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวเล ซึ่งเปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจ โดยมีโต๊ะหมอทำพิธีสื่อสารกับวิญญาณบรรพชน เพื่อขอพรให้ปกปักรักษาผู้มาเยือน

 

หนึ่งในไฮไลท์ของงานคือ **พิธีลอยเรือ “ปาจั๊ก” อันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งชาวเลจัดขึ้น ปีละ 2 ครั้ง  ในคืนวันเพ็ญเดือน 6 และเดือน 11 ตามปฏิทินจันทรคติ เพื่อสะเดาะเคราะห์ ส่งวิญญาณบรรพชนกลับสู่ “ฆูนุงฌีรัย” และล้างความผิดที่อาจเกิดจากการล่าสัตว์ทะเลหรือการกระทำที่ส่งผลต่อธรรมชาติ โดยเรือปาจั๊กทำจากไม้ตีนเป็ดและไม้ระกำ ซึ่งถือว่าเป็นพาหนะวิญญาณ ช่วยพัดพาโรคภัยและความทุกข์ออกจากครอบครัว

 

เมื่อเรือปาจั๊กประกอบเสร็จ ผู้หญิงในชุมชนจะช่วยกันตกแต่งเรือด้วยดอกไม้สีสันสดใส เป็นการเริ่มพิธีเฉลิมฉลองยามค่ำคืน ซึ่งเต็มไปด้วยความสนุกสนาน  ทั้งการแสดงของเยาวชนชาวเล การขับกล่อมบทเพลงพื้นบ้าน และรำมะนาตามจังหวะดนตรีวัฒนธรรม  ก่อนจะร่วมกันอัญเชิญเรือไปยังทะเลเปิดในยามรุ่งสาง เพื่อปล่อยความทุกข์และโรคภัยให้ลอยไปกับคลื่น

 

ภายในงานยังมีการออกบูธจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น อาทิ ของที่ระลึกจากชาวเล อาหารพื้นบ้านหาทานยาก เช่น ยำไข่หอยเม่น แกงปลิงทะเล และนิทรรศการเครื่องเซ่นในพิธีลอยเรือ ถ่ายทอดองค์ความรู้และความเชื่อผ่านงานจัดแสดงรูปแบบสมัยใหม่

 

**ประเพณีลอยเรือของชาวอูรักลาโว้ย** ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระดับชาติเมื่อปี 2566 และยังคงเป็นพิธีกรรมสำคัญที่สื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ การเคารพบรรพชน และการส่งผ่านอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์จากรุ่นสู่รุ่น

 

นับเป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนอันงดงามของวัฒนธรรมชายฝั่ง ที่ไม่เพียงแต่ตราตรึงใจผู้มาเยือน แต่ยังบอกเล่าความหมายของการใช้ชีวิตร่วมกับท้องทะเลอย่างลึกซึ้ง

………………………………..

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

อัพเดทล่าสุด