Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล-ชวนล่องเรือหา  สาหร่ายสาย  เรียบป่าโกงกางเมนูธรรมชาติพื้นถิ่นมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง  มีเยอะฤดูแล้ง เตรียมส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

สตูลชวนล่องเรือหา  สาหร่ายสาย  เรียบป่าโกงกางเมนูธรรมชาติพื้นถิ่นมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง  มีเยอะฤดูแล้ง เตรียมส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

            ในช่วงน้ำ 14 ถึง 15 ค่ำ  และ 1 ถึง 2 ค่ำฤดูแล้งชาวบ้านหมู่ที่ 8 บ้านนาพญา  ตำบลละงู อำเภอละงู  จังหวัดสตูล  จะนำเรือออกล่องไปตามลำคลองเรียบป่าโกงกางเพื่อหา  สาหร่ายสาย (สาหร่ายขนนก)  หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าหา  ลาโต๊ส  , ลาสาย หรือ สาย

          โดยแหล่งหาสาหร่ายสาย   จะมีด้วยกัน 2 ลำคลองคือ 1 โซนท่านาพญา  และ 2 โซนท่าพะยอม   ทันทีระดับน้ำในลำคลองลดลง   จนเกือบถึงยอดอกชาวบ้านที่ว่างเว้นการออกเรือหาปูดำ  หรือออกเรือหาแมงกะพรุน  ก็จะพากันออกไปหาในช่วงฤดูแล้งเพื่อเป็นรายได้เสริม

         โดยทุกคนที่มาหาจะมีทั้งวัยรุ่นและผู้สูงอายุอย่างคุณลุงปิยะศักดิ์  เภอสม  วัย  68  ปี ที่ยอมรับว่าออกมาหาสาย  ตั้งแต่วัยหนุ่มนานถึง 30 ปีแล้ว   โดยเคยหามากสุดในชีวิตคือ 40 กิโลกรัม เมื่อหลายสิบปีก่อน  แต่ตอนนี้หาได้มากสุด 10 กว่ากิโลกรัม   โดยอุปกรณ์ก็จะมีแว่นตาดำน้ำ   และภาชนะสำหรับใส่   สาหร่ายสาย  โดยการหาในแต่ละครั้งจะต้องดำดิ่งลงไปในน้ำที่มีความลึกประมาณยอดอก  แต่หากลึกกว่านั้น   ก็จะหลีกเลี่ยงไปหาพื้นที่อื่นเพื่อเซฟร่างกายด้วยเช่นกัน   เพราะจะต้องกลั้นหายใจให้นานเพื่อที่จะไปดึง สาหร่ายสาย   ขึ้นมาจากน้ำให้ได้

        น้องวินกับน้องแม๊ค    บอกว่า  หากวันไหนไม่ออกเรือหาปูดำ  หรือหาแมงกะพรุน  พอเข้าสู่ฤดูแล้งก็จะออกมาหา   สาหร่ายสาย  หรือ  สาย  โดยช่วงแรก ๆ ก็จะออกมาหากับคุณพ่อ   พอรู้แหล่งพิกัดก็จะออกมาหาตามลำพัง     โดยพบว่า  สาหร่ายสาย  มักจะอยู่กันเป็นกลุ่มเป็นก้อนริมป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์   เมื่อกระโดดลงน้ำและเท้าถึงพื้น   สัมผัสว่ามีความนิ่มก็หมายความว่าบริเวณนั้นมี  สาหร่ายสาย  เป็นจำนวนมากนั่นเอง   ใน 1 ปีหาได้เพียงไม่กี่เดือน  โดยจะหาได้มากสุดก็ช่วงที่น้ำลดลงต่ำสุด  เพราะต้องใช้ความชำนาญในการกลั้นลมหายใจในการดำน้ำดึงสาหร่ายขึ้นมา  

          การออกมาหา  สาหร่ายสาย(สาหร่ายขนนก) หรือ  ลาโต๊ส  ในครั้งนี้ทีมเกษตรอำเภอละงูและทีมผู้ใหญ่บ้านรวมทั้งสมาชิกอบต.ละงู  ก็หวังจะผลักดันให้พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  กับอาหารพื้นถิ่นที่ขึ้นชื่อที่มีลักษณะเฉพาะ  เพราะจะมีทานในช่วงน้ำลงและฤดูแล้งเท่านั้น 

          นางสาวมนัสนันท์   นุ่นแก้ว   เกษตรอำเภอละงู  บอกว่า  หลังจากลงพื้นที่ในครั้งนี้จะเข้ามาส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มกันส่งเสริมอาชีพ  ร่วมกันทำกิจกรรม เช่น  การอนุรักษ์สาหร่ายสายให้อยู่คู่กับลูกหลาน และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์   โดยจะทำร่วมกับผู้นำท้องที่ท้องถิ่นเพื่อต่อยอด   โดยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอละงู

 

           นายตารอด   ใบหลำ   ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8  บอกว่า   สาหร่ายสาย  นับเป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการเป็นอย่างมากและที่นี่ก็จัดเป็นอีกหนึ่งแหล่งที่มีสาหร่ายสาย หรือ  ลาโต๊ส  เยอะที่สุดอีกหนึ่งแหล่งในจังหวัดสตูล   โดยอนาคตก็เตรียมผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์   โดยนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาชมป่าโกงกางที่อุดมสมบูรณ์มาดูวิถีชีวิตของชาวบ้านในการหาสาหร่าย   ชิมกันสดๆ  ถึงอรรถรสความกรอบ  ใหม่สดของสาหร่ายชนิดนี้  ที่ชาวบ้านนาพญา  ตำบลละงู  อำเภอละงูจังหวัดสตูลพร้อมดูแล  

         

         ด้าน   กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 5 สตูล  ได้ศึกษาวิจัยการใช้  สาหร่ายสาย  หรือ  สาหร่ายขนนก  พบสรรพคุณที่โดดเด่นคือมีสารต้านอนุมูลอิสระป้องกันมะเร็งมีวิตามินที่ร่างกายต้องการ     สาหร่ายชนิดนี้จะเจริญเติบโตในที่มีคุณภาพน้ำที่สะอาดเท่านั้น   ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้รับประทานเป็นผักจิ้ม (โดยการล้างให้สะอาดก่อนนำมากิน เพราะสาหร่ายสายเมื่อถูกน้ำจืดเพียงไม่นานก็จะตายหากไม่รีบทาน )   พบในช่วงฤดูแล้งเดือนมีนาคม – พฤษภาคมและจะเริ่มลดลงเมื่อเข้าหน้าฝนในช่วงมิถุนายนถึงตุลาคม   สำหรับพื้นที่พบสาหร่ายสาย   ตามแนวชายฝั่งอำเภอท่าแพ,ละงู ,ทุ่งหว้า  เพราะมีลักษณะคล้ายคลึงกันมีลักษณะเป็นหินดินดานเป็นโคลนทราย

 

           พื้นที่ความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนนั้นพบว่า  มีคุณประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ไม่ว่าจะเป็นทางตรงและทางอ้อม   สรรพสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดที่เข้ามาพึ่งพิงจะใช้ประโยชน์จากป่าชายเลน   ในแง่ของแหล่งอาหารที่อยู่อาศัยแหล่งหลบภัยเช่นเดียวกับสาหร่ายสาย หรือ สาหร่ายขนนก   ที่ยึดเอาป่าชายเลนเป็นเสมือนบ้านของตนเองยังคุณประโยชน์ให้แก่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น   ได้เก็บหามาบริโภคในครัวเรือน   และยังสามารถขายเพื่อเป็นรายได้จนเจอครอบครัวอีกด้วย    นับเป็นการเกื้อกูลเอื้อประโยชน์แก่กัน    ทั้งป่าชายเลน  สาหร่าย  และชาวบ้านในบริเวณนั้นประโยชน์จากสาหร่ายสาย   ชาวบ้านมีการถ่ายทอดองค์ความรู้และนำไปสู่วิถีแห่งภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นได้ต่อไป

         ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : 064-0456565

………………………………………….

อัพเดทล่าสุด

น้ำท่วมสตูล! ปิดช่องจราจรสายหลัก ชาวบ้านอพยพ-ใช้ปี๊บกั้นน้ำ วัวชนแสนบาทหนีขึ้นที่สูง

น้ำท่วมสตูล! ปิดช่องจราจรสายหลัก ชาวบ้านอพยพ-ใช้ปี๊บกั้นน้ำ วัวชนแสนบาทหนีขึ้นที่สูง  

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล-ชาวสตูลแห่สั่งแกงไตปลาเพื่อประกาศศักดา   เมนูยอดเยี่ยม  แนะวิธีทานไม่ใช่ซุป แม่ค้าลั่นกระแสตีกลับรับออเดอร์กันรัวๆ

สตูล-ชาวสตูลแห่สั่งแกงไตปลาเพื่อประกาศศักดา   เมนูยอดเยี่ยม  แนะวิธีทานไม่ใช่ซุป แม่ค้าลั่นกระแสตีกลับรับออเดอร์กันรัวๆ

 

        วันที่ 4 เมษายน 67  หลังต่างชาติได้จัดอันดับให้เมนูพื้นถิ่นปักษ์ใต้อย่างแกงไตปลาเป็นเมนูยอดแย่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก   ได้มีกระแสตีกลับส่งผลให้ order  หลายร้านสั่งกันรัวๆ  เพิ่มยอดขายให้กับหลายร้านค้าในพื้นที่จังหวัดสตูล 

        อย่างเช่นที่ร้านอาหารน้องเบียร์  (ตรงข้ามศาลากลางจังหวัดสตูล) ตำบลพิมาน  อำเภอเมืองสตูล  ร้านอาหารเก่าแก่ ที่เปิดมานานกว่า 35 ปี ที่ขึ้นชื่อเกี่ยวกับอาหารพื้นถิ่นปักษ์ใต้โดยเฉพาะเมนูแกงไตปลา  มียอดสั่งรัวๆ จากลูกค้าเข้าเช้าเดียวถึง  40 ชุด  โดยสั่งเป็นกับข้าว  บ้างสั่งเป็นอาหารชุดทานกับหมูฮ้อง(เมนูพื้นที่)    บ้างก็สั่งทานกับขนมจีน  ทำให้เมนูที่ต่างชาติบอกว่าเป็นเมนูยอดแย่  แต่ในภาคใต้  กับเป็นเมนูยอดเยี่ยม และทำเงินสร้างงานให้กับหลายร้านค้า

 

        นางอุไรวรรณ  ธชพันธ์   แม่ครัวมือหนึ่งของร้านอาหารน้องเบียร์ บอกว่า  สูตรความอร่อยของแกงไตปลา  อยู่ที่เครื่องแกงและไตปลาที่ใช้ของแต่ละครัว  เหมือนอย่างที่ร้านจะใช้ไตปลาจรวด และเครื่องแกงที่ทำเองแบบสดวันต่อวัน  นอกจากนี้ส่วนผสม  เหมือนอย่างที่ร้าน  จะใส่หน่อไม้  มะเขือพวง กุ้งสดสับเพิ่มความเข้มข้นของน้ำแกงไตปลา   เนื้อปลาหางแข็งที่ผ่านการย่างให้แห้งแกะเป็นชิ้นใหญ่ๆ   แล้วนำส่วนผสมทุกอย่าง  ใส่ลงไปทันทีที่เครื่องแกงไตปลาเดือด  โดยไม่ต้องปรุงอะไรเพิ่มเติม  เพราะแกงไตปลามีความเค็ม  มีความหวานของปลา   กุ้งสับ  และความหวานของผักที่ใส่อยู่ในตัวอยู่แล้ว 

       

        ด้านนางอจรี   ธชพันธ์   เจ้าของร้านบอกว่า   หลังการจัดอันดับให้เมนูแกงไตปลาเป็นเมนูยอดแย่ในเรื่องนี้เห็นว่า   ชาวต่างชาติอาจจะทานแกงไตปลาไม่เป็น   อาจจะทานเหมือนกับทานซุป   ตักซดเพียวๆ   ก็ทำให้รสชาติดูเหมือนแย่ได้   แต่การทานแกงไตปลาของทางภาคใต้จะต้องราดบนข้าวสวยร้อนๆ  หรือทานกับขนมจีน  หรือจะต้องมีเครื่องเคียงอย่างหมูฮ้อง  ก็ใช้ความหวานตัดรสชาติก็จะยิ่งเพิ่มความอร่อย  หรือจะเป็นไข่ต้ม  นับเป็นอาหารที่ยอดเยี่ยมของคนภาคใต้มากกว่าจะให้เป็นอาหารยอดแย่    

       

         และยิ่งมีการจัดอันดับให้เป็นอาหารยอดแย่ของชาวต่างชาตินั้นยิ่งทำให้มีออเดอร์สั่งอาหารเมนูแกงไตปลาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเหมือนอย่างเช่นวันนี้   มีลูกค้าสั่งเข้ามาทันที เพื่อจะยืนยันว่าเมนูแกงไตปลาเป็นอาหารยอดเยี่ยมอย่างแท้จริง  หากลูกค้าท่านใดสนใจอยากชิมเมนูแกงไตปลาสูตรร้านอาหารน้องเบียร์สามารถต่อได้ที่หมายเลข  074-722-490 

………….

อัพเดทล่าสุด

น้ำท่วมสตูล! ปิดช่องจราจรสายหลัก ชาวบ้านอพยพ-ใช้ปี๊บกั้นน้ำ วัวชนแสนบาทหนีขึ้นที่สูง

น้ำท่วมสตูล! ปิดช่องจราจรสายหลัก ชาวบ้านอพยพ-ใช้ปี๊บกั้นน้ำ วัวชนแสนบาทหนีขึ้นที่สูง  

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล-ร้อนนี้ปลูกอ้อยขายน้ำ   สร้างเงินเดือนแตะแสนบาท  

สตูล-ร้อนนี้ปลูกอ้อยขายน้ำ   สร้างเงินเดือนแตะแสนบาท  

          ในช่วงสภาพอากาศที่ร้อนและแล้งในระยะนี้  ได้ส่งผลให้ไร่อ้อยในพื้นที่หมู่ 4 บ้านลาหงา  ตำบลละงู  อำเภอละงู จังหวัดสตูล  มีรสชาติที่หวานหอมและพร้อมจะบริโภค  สู่ตลาดที่มีความต้องการในระยะนี้เพื่อดื่มคลายร้อน

          นายเจ๊ะหยัน   ลัดเลีย  วัย 74 ปี เปิดเผยว่า  ทำมาแล้วหลายอาชีพ  ทั้งประมงและทัวร์นำเที่ยว  แต่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต  เมื่อหันมาตั้งหน้าตั้งตาทำไร่อ้อยแม้จะเป็นอาชีพที่ไม่โดดเด่น   แต่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้  โดยตัดสินใจโค่นต้นยางพารา 7 ไร่  เพื่อปลูกอ้อยพันธุ์  สายน้ำผึ้งนานร่วม 12 ปี  ด้วยรสชาติอร่อย  หอม  หวาน  ขายได้ตลอดทั้งปีโดยเฉพาะในเดือนรอมฎอน  ยอดสั่งซื้อจะดีมากหลายเท่าตัว  

         การปลูกอ้อยสำหรับคุณลุงเจ๊ะหยัน  จะปลูกเพียงครั้งเดียวสามารถให้ผลผลิตนานถึง 7 ปี จัดเป็นพืชตระกูลเดียวกับไผ่  เพียงตัดให้เหลือหน่อไว้   การดูแลให้ปุ๋ย  บำรุงดิน  และตกแต่งพันธุ์อ้อยให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์  ตรงตามความต้องการของตลาดผู้บริโภคที่นิยมซื้อเป็นลำเพื่อไปขายต่อ  และสั่งเป็นน้ำอ้อยที่คั้นสำเร็จรูปก็สร้างรายได้อย่างงามให้กับครอบครัวของคุณลุงเจ๊ะหยัน

         วิธีการเลือกต้นอ้อยที่สามารถตัดขายได้ต้องอายุ 8 เดือนขึ้นไป เลือกสีลำอ้อยที่น้ำตาลแก่เข้ม ลูกค้าจะจะมาซื้อเป็นลำวันละ 400-600 กิโลกรัม จำหน่ายกิโลกรัมละ 6 บาท หากทำเป็นน้ำอ้อยคั้นขายวันละ 200 ถุงจำหน่ายถุงละ 7 บาทหากเป็นขวดละ 10 บาท    สำหรับพื้นที่หมู่ 4 บ้านลาหงา  จะปลูกต้นอ้อยไม่น้อยกว่า  200 ไร่ เฉลี่ยเจ้าละประมาณ 3 ไร่ โดยอ้อยที่ปลูกพันธุ์สายน้ำผึ้งจะมีเปลือกที่บาง ลูกค้าจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็มาหาซื้ออ้อยจากที่นี่

          นายเจ๊ะหยัน   ลัดเลีย  วัย 74 ปี  บอกด้วยว่า   โดยอ้อยพันธุ์นี้มีรสชาติหวานหอม  ก่อนหน้านี้เคยปลูกพันธุ์สิงคโปร์ช่วงหลังๆไม่ได้รับความนิยม  การปลูกอ้อยอยู่ที่การดูแลบางคนปลูก 1 ปีหรือ 2 ปีก็ผ่านพ้นไม่ได้ตกแต่งดูแล สำหรับของป๊ะดูแลพันธุ์อ้อยเพียงครั้งเดียวสามารถอยู่ได้ 6-7 ปี สร้างรายได้ปีละแสนบาท  อนาคตอยากจะกระตุ้นให้ลูกหลานเดินตามรอยแปรรูปและส่งเสริมการปลูกอ้อยเป็นสินค้า OTOP จากอ้อยให้นักท่องเที่ยวเข้ามาหมู่บ้านเรา  หากสนใจติดต่อมาช่องทางเบอร์โทร 082-4283950

 

         นายวิทวัส เกษา  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 บ้านลาหงา  บอกว่า  ก่อนหน้านี้จะมีการปลูกปาล์มน้ำมัน ในช่วงนั้นต้นปาล์มยังเล็กอยู่ก็มีการนำอ้อยมาปลูกเสริม  ในช่วงแรกๆก็จะเป็นการเร่ขายภายในหมู่บ้าน  หลังจากนั้นก็มีเพื่อนบ้านต่างจังหวัดเข้ามาซื้อ  วันละหลายตัน  ในขณะนั้นก็จะมีเพียง 5-6 เจ้าเท่านั้น แล้วปัจจุบันก็มีหลายร้อยไร่  ตอนนี้ 10 กว่าเจ้าภายในหมู่บ้านขายตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำขายน้ำอ้อย 

 

          นางสาวมนัสนันท์   นุ่นแก้ว  เกษตรอำเภอละงู  บอกว่า  จากลงพื้นที่ทางสำนักงานเกษตรอำเภอละงูจะเข้ามาช่วยผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย  สำหรับพื้นที่ตรงนี้  หมู่ที่ 4 บ้านลาหงา  มีการปลูกอ้อยร้อยกว่าไร่ กับเกษตรกร 20 กว่าราย  จะผลักดันให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อจดวิสาหกิจชุมชนโดยทางเกษตรอำเภอละงู  จะเข้ามาส่งเสริมในเรื่องของการบริหารจัดการกลุ่ม  การแปรรูป  เท่าที่ดูกลุ่มนี้ก็มีการแปรรูปเบื้องต้น ทั้งแปรรูปเป็นน้ำอ้อย และน้ำตาลอ้อย อาจจะมีการต่อยอดให้มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น

………………………………..

อัพเดทล่าสุด

น้ำท่วมสตูล! ปิดช่องจราจรสายหลัก ชาวบ้านอพยพ-ใช้ปี๊บกั้นน้ำ วัวชนแสนบาทหนีขึ้นที่สูง

น้ำท่วมสตูล! ปิดช่องจราจรสายหลัก ชาวบ้านอพยพ-ใช้ปี๊บกั้นน้ำ วัวชนแสนบาทหนีขึ้นที่สูง  

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล สืบทอดขนมโบราณ “ลอเป๊ะ” จากรุ่นคุณยายขายดีช่วงรอมฎอน เด็กรุ่นใหม่ชื่นชอบ

สตูล สืบทอดขนมโบราณ “ลอเป๊ะ” จากรุ่นคุณยายขายดีช่วงรอมฎอน เด็กรุ่นใหม่ชื่นชอบ

          ขนมโบราณพื้นบ้านอย่าง  ขนมลอเป๊ะ  ขนมตาล และหม้อแกงต่างๆ  ต้องปรับราคาขึ้น  เนื่องจากราคาวัตถุดิบหลักอย่างน้ำตาล ไข่ และข้าวเหนียว พุ่งสูงขึ้น  ทำให้ร้านค้าต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

          แม้วัตถุดิบหลายอย่างปรับราคาขึ้น  แต่ทางร้านในพื้นที่จังหวัดสตูลยังคงทำขนมพื้นบ้าน  ขายในห้วงเดือนรอมฎอน  หรือเดือนถือศีลอดของชาวไทยอิสลาม  อย่างขนมลอเป๊ะ  หรือ ขนมลูเป๊ะ  ที่ใช้ข้าวเหนียวเป็นวัตถุดิบหลัก คลุกกับมะพร้าวทึนทึกไปทางอ่อน  ทานกับน้ำตาลอ้อย   รสชาติอร่อย  เป็นหนึ่งเมนูขนมที่ขายดี  และเป็นขนมที่หลายคนคิดถึง   

          นางมาเรีย นาคบรรพต อายุ 30 ปี เจ้าของร้าน “กระจิ๊กandหวาชา” กล่าวว่า  ทำขนมไทยพื้นบ้านมาตั้งแต่รุ่นคุณตาคุณยาย   โดยเฉพาะ “ขนมลอเป๊ะ”  ขนมไทยโบราณที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินโดนีเซีย โดยคนไทยที่ไปทำงานที่อินโดนีเซียนำวัฒนธรรมขนม  เข้ามาประยุกต์ให้เข้ากับพื้นที่จังหวัดสตูล  โดยส่วนผสมมีข้าวเหนียว 100%  กวนกับน้ำปูนหรือน้ำด่าง ก่อนนำมาห่อด้วยใบตอง  นำไปต้มประมาณ 45 นาที เมื่อต้มเสร็จพักให้เย็นนำมาตัดเป็นแว่น คลุกกับมะพร้าว  ตัวข้าวเหนียวจะมีรสชาติจืดๆ  ทานด้วยน้ำตาลอ้อยที่นำมาเคี่ยวราดลงไป  ก็จะหวานลงตัวพอดี  เป็นขนมที่ถือว่าโบราณมากๆ  คุณแม่บอกว่าทำตั้งแต่รุ่นโต๊ะ หรือคุณยาย  เป็นขนมที่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้เลย  เมื่อก่อนจะหากินได้เฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น  แต่ตอนนี้ก็มีวางขายตามปกติทั่วไปแล้วในช่วงเช้าของคนจังหวัดสตูลด้วย

            นอกจากขนม ลอเป๊ะ ที่เป็นต้นตำรับแล้วยังมีขนมอื่นๆอีกด้วย  ไม่ว่าจะเป็นหม้อแกงถั่ว  หม้อแกงไข่ และข้าวเหนียวสังขยา  นี่ก็เป็นขนมที่อยู่ในช่วงเทศกาล   ปกติขายกล่องละ 10 บาท  แต่ตอนนี้ต้องปรับขึ้นเป็น 12 บาท   ส่วนราคาส่งจาก 8 บาท  ปรับเป็น 10 บาท   สาเหตุหลักมาจากราคาวัตถุดิบ เช่น น้ำตาลทราย จากเดิมกิโลกรัมละ 21 บาท  ขึ้นเป็น 30 บาท  ไข่ไก่ จากแผงละ 90 กว่าบาท  ขึ้นเป็น 117 บาท  และข้าวเหนียว จากกิโลกรัมละ 25 บาท  ขึ้นเป็น 34-35 บาท  ทำให้รายได้ลดลง จากเดิมขายได้วันละ 4,000 บาท  เหลือเพียง 600-700 บาท 

            ด้านนายอนัญลักษณ์  สุขเสนา  ลูกค้าคนรุ่นใหม่  กล่าวหลังได้ชิมขนมว่า  ขนมลอเป๊ะนี้มีความแน่นของข้าวเหนียว  เมื่อได้กินคู่กับน้ำตาล  และมะพร้าวที่คลุกมากับข้าวเหนียว  จะให้ความรู้สึกว่าเคี่ยวเพลิน  มีความเค็มเล็กๆของมะพร้าว ตัดกับน้ำหวาน  จากใจเด็กรุ่นใหม่ คิดว่าขนมชนิดนี้จะเป็นขนมทานเล่นระหว่างวันได้เลย  และยอมรับว่าเพิ่งเคยทานที่นี่เป็นครั้งแรก  ก็ติดใจ  เคี่ยวเพลิน สามารถทานได้เรื่อยๆ

           ปัจจุบัน  ทางร้านเน้นรับออเดอร์ออนไลน์ และฝากขายที่ร้านลูกชิ้นซอย 17 ต.พิมาน อ.เมือง  จ.สตูล เพียงร้านเดียว   จากเดิมที่เคยฝากขาย 10 ร้าน   เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี   ทำให้บางร้านต้องเลิกขาย    สำหรับลูกค้าที่สนใจ  สามารถติดต่อร้าน “กระจิ๊กandหวาชา”   ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 080-545-5196   Line @0805455196   หรือ Facebook : maria nbpt

อัพเดทล่าสุด

น้ำท่วมสตูล! ปิดช่องจราจรสายหลัก ชาวบ้านอพยพ-ใช้ปี๊บกั้นน้ำ วัวชนแสนบาทหนีขึ้นที่สูง

น้ำท่วมสตูล! ปิดช่องจราจรสายหลัก ชาวบ้านอพยพ-ใช้ปี๊บกั้นน้ำ วัวชนแสนบาทหนีขึ้นที่สูง  

Categories
สัมภาษณ์พิเศษ-คอลัมน์นิสต์

สัมภาษณ์พิเศษ  ปีเตอร์  พีรพัฒน์  รัชกิจประการ  ทายาท ส.ส.สตูล แนวคิดปลุกสตูลให้ตื่น เปลี่ยนโต้รุ่ง เป็น ตลาดแลจันทร์ ดึงลูกทัวร์มาเลเซียเข้าพื้นที่

สัมภาษณ์พิเศษ  ปีเตอร์  พีรพัฒน์  รัชกิจประการ  ทายาท ส.ส.สตูล  กับแนวคิดปลุกสตูลให้ตื่น เติมสีสัน เปลี่ยนโต้รุ่ง เป็น ตลาดแลจันทร์ ดึงลูกทัวร์มาเลเซียเข้าพื้นที่

           เป็นความหวังของชาวสตูลอีกครั้ง  เมื่อผู้บริหารหนุ่มคนรุ่นใหม่ มีแนวคิดจะเปลี่ยนโฉมตลาดโต้รุ่งเมืองสตูลที่หลายคนคุ้นเคย  ซึ่งมีมานาน 30 ปี  สู่  “ตลาดแลจันทร์” ศูนย์อาหารครบจบในที่เดียว ด้วยงบประมาณ 10 ล้านบาท  ให้ชาวสตูลมีช่องทางทำมาค้าขาย  และต้อนรับนักท่องเที่ยว  ชาวไทยและต่างชาติ ที่จะเข้ามาจับจ่ายซื้อสินค้า

ทีมข่าวได้พูดคุยกับ “ปีเตอร์”  คุณพีรพัฒน์  รัชกิจประการ  วัย 30 ปี  บุตรชาย โกโต  คุณพิบูลย์  รัชกิจประการ  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์จังหวัดสตูล เขต 1  กับแนวคิดที่จะปลุกเมืองสตูลที่หลับใหล  ให้เศรษฐกิจสตูลกลับมาคึกคัก  

 

@ แนวคิด “ตลาดแลจันทร์”     

ครับ  ผมมีโอกาสไปเรียนที่ประเทศสิงคโปร์ ตั้งแต่เด็ก  จบจากคณะสถาปัตย์  พอกลับมาประเทศไทยก็อยากทำโปรเจคที่ได้ใช้ความสามารถที่ได้เรียนรู้มาในเรื่องของการดีไซน์    ไอเดียของตลาดนี้เป็นสิ่งที่ทางบ้านผมอยากทำมานานแล้ว   แต่พอผมกลับมาเข้าช่วงโควิดพอดี  หลังจากโควิดเศรษฐกิจสตูลก็เห็นได้ชัดว่ามันแย่ลง    หลายคนบ่นว่าในเมืองสตูลนี้ค่อนข้างเงียบ   ไม่มีสีสัน   ผมจึงคุยกับคุณพ่อว่า เราทำอะไรได้บ้าง?  

สำหรับตัวผมเองเวลาเพื่อนจากต่างประเทศ   ญาติจากต่างจังหวัดมาสตูล   ถามผมว่าที่สตูลไปเที่ยวที่ไหนได้บ้าง?   ในฐานะที่เป็นคนสตูลเองก็รู้สึกอาย   ก็คิดว่าโปรเจคตลาดแลจันทร์ที่จะเกิดขึ้นจะตอบสนองความต้องการของคนสตูลได้ดี   ให้เมืองมีสีสันมากขึ้น   มีความคึกคักมากขึ้น

 

@ รูปแบบของตลาดเป็นแบบไหน วาง concept ไว้ยังไง ?

          ตลาดแลจันทร์เป็นตลาดกลางคืน เปิดตั้งแต่ 4 โมงเย็นไปจนถึง 4 ทุ่ม   ส่วนตัวตลาดเองก่อนหน้านี้เป็นตลาดโต้รุ่ง  ตลาดโตรุ่งเองก็มีพ่อค้าแม่ค้าอยู่แล้วประมาณ 70 ล็อค   หลักๆของผมที่ออกแบบตลาดจะคิดว่าถ้ามีพ่อค้าแม่ค้ามากขึ้น   ผมก็ต้องหาลูกค้ามาให้มากขึ้นเช่นกัน   วันนี้คนมาเดินโต้รุ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่เดินมาซื้ออาหารซะส่วนใหญ่   เป็นกลุ่มลูกค้าที่เช็คอเวย์  จะมี LINE MAN มาซื้อ   ก็เลยคิดว่าถ้าหาลูกค้าเพิ่ม   ก็ต้องเข้าใจก่อนว่าคุณสตูลชอบแบบไหน  คนสตูลเวลากลางคืนชอบไปนั่งร้านน้ำชา    ตอนดีไซน์ตลาดขึ้นมาคิดว่าต้องมีโซนนั่งชิลล์   ให้คนมานั่งทานอาหาร   ซึ่งเป็นที่โล่งๆ  สามารถดูดาวหรือพระจันทร์ได้   มันเป็นส่วนหนึ่ง  

 

         นอกจากนี้ก็จะมีโซนหลักๆอีกสองโซน   จะเป็นโซนลานจัดกิจกรรม   จะมีของตกแต่งสวยงามมีต้นไม้   แสงสี   เป็นจุดเช็คอิน    คิดว่าการจัดกิจกรรมจะทำให้เมืองมีสีสันมากขึ้น  ถ้าในพื้นที่มีการจัดงานไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มใหญ่   หลักๆคืออยากให้พื้นที่จัดงานตรงนี้สามารถมาจัดได้ฟรี   อยากให้คนสตูลได้ออกอีเวนท์ต่างๆ   ถ้าในตลาดมีจุดเช็คอินสวยๆ  ก็จะดึงลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ว่าจะเป็นชาวต่างชาติ   หรือคนต่างจังหวัดเข้ามา   ไหนๆก็จะทำตลาดทั้งทีจึงคิดว่าก็ทำให้ดีไปเลย    ของเราจะมีการคัดแม่ค้า   อยากจะประชาสัมพันธ์ตัวเองว่าเป็น Local best   หรือ สินค้าท้องถิ่นที่ดีที่สุด   ที่จะมาขายในตลาดของเรา   ตัวตลาดเองก็จะเป็นพื้นที่ปูนคอนกรีต   ทางตลาดจะมีสิ่งอำนวยความสะดวก   เช่น  ห้องน้ำ   ลานจอดรถ   จะมีแม่บ้าน   มียาม  มีกล้องวงจรปิด   ดูแลเรียบร้อย

@ รองรับจำนวนลูกค้าได้มากน้อยแค่ไหน ?

          ปัจจุบันนี้ลูกค้ามาที่โต้รุ่งก็เกือบ 1,000 หรือมากกว่า 1,000 คน   ในอนาคตก็จะมีที่จอดรถเพิ่มให้ด้วยหลัก 2,000 คน ก็น่าok.  เพราะตลาดเรามีถนนล้อมสามด้าน  มีที่จอดรถเยอะเป็นพิเศษ

 

@ กลุ่มเป้าหมายนอกจากเป็นคนในท้องถิ่น  คนต่างจังหวัด  และต่างประเทศ  เราเล็งกลุ่มไหนไว้เป็นพิเศษ ?

          หลักๆก็ต้องเป็นเพื่อนบ้าน   คือกลุ่มนักท่องเที่ยวมาเลเซีย  ที่จริงคนมาเลเซียมาเที่ยวสตูลเยอะมาก   เพียงแต่ไม่ได้ผ่านเข้ามาในเมือง   ก็ได้มีการเข้าไปคุยกับกลุ่มทัวร์ในมาเลเซียว่า  คุณสนใจที่จะมาลงที่นี่ไหม  เพราะเขาทำทัวร์เหมือนกัน   เวลามาสตูลก็จะไปดูนกที่ตำมะลัง  ไปทานอาหารทะเลที่ตันหยงโป  จึงเสนอไปว่า  “ทัวร์ของคุณจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นไหมถ้าคุณมีที่อื่นให้ไปด้วย”   ซึ่งเค้าก็สนใจติดต่อเข้ามา

 

@ สิ่งที่เป็นห่วงของการทำตลาดตรงนี้คือคุณพ่อให้คำชี้แนะยังไงบ้าง?

          พ่อเป็นคนอยากให้ทำ   พ่อเข้าใจดีว่าพี่น้องชาวสตูลต้องการอะไร   แต่ผมโชคดีตรงที่ผมมีที่ปรึกษาที่ดีเยอะ   เพราะพ่อมีเพื่อนเยอะ เจ้าของตลาดกรีนเวย์ ก็เป็นเพื่อนกับพ่อ  จริงๆแล้วมีเจ้าของตลาดเป็นที่ปรึกษาที่สำคัญมากสำหรับตลาดแลจันทร์   คือเวลามีอะไรก็จะถาม

 

@ ปัญหาอุปสรรค?

          เรื่องฝนก็เป็นปัญหาหลักปัญหาหนึ่ง   แต่โซนที่เป็นอาหารก็จะมีโซนที่ไม่มีหลังคา   ส่วนโซนที่มีหลังคาก็มีเช่นกัน    ปัญหาหลักๆที่นึกได้ก็คือ   พ่อค้าแม่ค้าชาวสตูลต้องเข้าใจว่าพวกเขามีงบไม่เยอะ   ส่วนหลักๆคือทำยังไงให้ค่าเช่าต่ำที่สุด   โชคดีตรงที่ว่าเจ้าของที่ดินเป็นที่ดินของกงสี ผมก็ไปเจรจากับทางกงสี  ซึ่งที่ดินกลางเมืองสี่ไร่นี้ถ้าคิดค่าเช่าจริงๆ คิดได้เยอะเลย   แต่ก็เจรจาขอให้ตลาดติดก่อนไม่ต้องขึ้นค่าเช่ากับแม่ค้า

 

@ สิ่งที่มุ่งหวัง?

           ผมหวังว่า   หลักๆการที่ผมทำโปรเจคตลาดแลจันทร์   จะทำให้เศรษฐกิจสตูลดีขึ้น   อย่างน้อยพ่อค้าแม่ค้ามีลูกค้ามาเดินตลาดเยอะๆ  ชีวิตของพ่อค้าแม่ค้าก็จะสบายขึ้นเยอะ  นอกจากนั้นก็มองว่าถ้าตลาดสำเร็จจริงๆ   มันจะไม่ใช่ตลาดอย่างเดียวที่ได้รับผลประโยชน์   เพราะถ้านักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัดมา   กิจการอย่างอื่นเช่น   โรงแรม   ก็มีผลพลอยได้ไปด้วยก็อยากจะขอฝากพี่น้องชาวสตูลว่า  เราเป็นสตูลเหมือนกัน อยากให้พี่น้องชาวสตูลมาช่วยสนับสนุนเพราะถ้าเราไม่ช่วยสนับสนุนกันเองก็ไม่รู้ว่าใครจะมา

          ตอนนี้ยังเปิดรับสมัครพ่อค้าแม่ค้าทางเพจ Facebook ตลาดแลจันทร์ มาช่วยกันสนับสนุนตลาดสตูลกันนะครับ

……………

น้ำท่วมสตูล! ปิดช่องจราจรสายหลัก ชาวบ้านอพยพ-ใช้ปี๊บกั้นน้ำ วัวชนแสนบาทหนีขึ้นที่สูง

น้ำท่วมสตูล! ปิดช่องจราจรสายหลัก ชาวบ้านอพยพ-ใช้ปี๊บกั้นน้ำ วัวชนแสนบาทหนีขึ้นที่สูง  

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท้องถิ่น-การเมือง ท่องเที่ยว-กีฬา

 กีฬาสูงวัยใจเกินร้อย  จัดหนักจัดเต็มกับกีฬามหาสนุกเน้นเสียงหัวเราะและสุขภาพดี   

สตูล-กีฬาสูงวัยใจเกินร้อย  จัดหนักจัดเต็มกับกีฬามหาสนุกเน้นเสียงหัวเราะและสุขภาพดี

          หลังประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ  หลายพื้นที่เข้ามาส่งเสริมสนับสนุนจัดกิจกรรมให้ผู้สูงอายุ  ได้อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข และสุขภาพดี 

         เหมือนอย่างเช่นที่เทศบาลตำบลคลองขุด   อำเภอเมือง จังหวัดสตูล  นายสุนทร พรหมเมศร์  นายกเทศมนตรีตำบลคลองขุด  ร่วมกับนางประมูล มีบุญ  ประธานชมรมผู้สูงอายุตำบลคลองขุด และ นางประไพ อุบลพงศ์  ประธานโครงการฯ   ได้ร่วมกันจัดการแข่งขันกีฬามหาสนุก  ภายใต้โครงการ ผู้สูงอายุสุขภาพกายดี สุขภาพจิตดี ชีวีมีสุข ประจำปีงบประมาณ 2567  ซึ่งมีการจัดขึ้นภายในอาคารอเนกประสงค์ โรงเรียนบ้านคลองขุด  โดยนักกีฬาแต่ละสี แต่ละทีม  ก็แต่งกายจัดหนักจัดเต็มแบบไม่มีใครยอมใคร ย้อนวัยสวยสมวัยกับชุดเดินพาเหรด

        โดยเกมกีฬาเป็นการละเล่นที่เน้นความสนุกสนาน  ความสามัคคีในหมู่คณะ  การละเล่นที่เน้นเสียงหัวเราะ และปลอดภัยเหมาะสมกับสุขภาพของผู้สูงอายุ  เช่น  เกมทูนของ  เป็นการนำถาดใส่แตงโมแล้วนำมาวางไว้บนศีรษะ  โดยผู้เข้าร่วมแข่งขันจะต้องไม่ให้ถาดหล่นลงมาที่พื้น  ไม่งั้นจะถือว่าแพ้เกมการแข่งขัน  ซึ่งการแข่งขันลักษณะนี้ก็มีหลายคน  ที่มีความเชี่ยวชาญในการนำถาดมาทูนบนหัว  แต่ก็มีหลายคนที่ไม่สามารถทำได้สำเร็จ  สร้างเสียงหัวเราะให้กับกองเชียร์และผู้เล่นได้ไม่น้อย

        เกมแชร์บอล เป็นเกมทดลองประสิทธิ์ภาพความแม่นยำการเล็งของผู้สูงอายุ  ที่หลายคนก็สามารถเล่นได้อย่างสบาย ๆ  นอกจากนี้ยังมีเกมส่งข่าวสาร ที่เน้นเล่นเป็นทีม  ถึงข่าวสารที่ได้รับมาและส่งต่อ  ว่าจะเหมือนเดิมหรือมีการแปลงข่าวสารหรือไม่  ก็เป็นเกมที่เล่นง่ายๆ  แต่ก็เล่นเอาผู้สูงอายุฟังผิดเพี้ยนไปตามๆ กันเลยทีเดียว   ส่วนเกมส่งลูกมะพร้าวเล่นกันเป็นทีม  ยังเป็นการฝึกสมาธิให้ผู้สูงอายุ และการยืดเหยียดไปในตัวด้วย 

          ส่วนเกมไกวเปล ก็เล่นค่อนข้างจะยาก  เพราะต้องเน้นความพร้อมเพียงกัน  ไม่อย่างนั้นลูกโป่งที่ใส่น้ำที่นำมาไกวเปล  ก็จะหล่นแตกเหมือนอย่างหลายกลุ่ม เกมสุดท้ายด่านยาก   เกมปิดตากินแตงโมงร้อยเข็มและกรอกน้ำ  ก็สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้เล่นได้ไม่น้อย  รวมทั้งกองเชียร์ที่หลายคนยอมรับว่า  เป็นเกมกีฬาที่สร้างความสนุกสนานและเสียงหัวเราะให้กับพวกตนได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน   สำหรับทีมผู้ชนะในครั้งนี้ทางนายกเทศมนตรีตำบลคลองขุด  ยังมีรางวัลให้เป็นของขวัญ  กับทีมสีผู้สูงอายุที่ชนะ และรองชนะทั้งหมดด้วย 

         นายสุนทร  พรหมเมศร์  นายกเทศมนตรีตำบลคลองขุด  บอกว่า  การส่งเสริมการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ต้องการให้ผู้สูงอายุออกมาจากบ้านมาร่วมกิจกรรมกันเพื่อความผ่อนคลาย และร่วมกันออกกำลังกาย  ได้ยิ้มแย้มแจ่มใสไม่เน้นชัยชนะมากเกินไป เช่นการส่งลูกมะพร้าวเพื่อให้ทุกคนมีสมาธิฝึกร่วมกิจกรรม และเชื่อมความสัมพันธ์กัน โดยปกติทุกวันกลุ่มผู้สูงอายุชุดนี้ก็จะมีการออกกำลังกายรวมกันอยู่แล้ว  กลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มนี้ถือว่ามีความเข้มแข็งมาก ทางเทศบาลตำบลคลองขุดเองจะเข้ามาผลักดันและพร้อมส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีความสุขทั้งกาย ใจและสุขภาพแข็งแรง

…………………………….

อัพเดทล่าสุด

น้ำท่วมสตูล! ปิดช่องจราจรสายหลัก ชาวบ้านอพยพ-ใช้ปี๊บกั้นน้ำ วัวชนแสนบาทหนีขึ้นที่สูง

น้ำท่วมสตูล! ปิดช่องจราจรสายหลัก ชาวบ้านอพยพ-ใช้ปี๊บกั้นน้ำ วัวชนแสนบาทหนีขึ้นที่สูง