Categories
ข่าวทั่วไป

 สตูล-ตักบาตรเทโว ก่อนร่วมชักพระ สืบสาน ประเพณี

สตูล-ตักบาตรเทโว ก่อนร่วมชักพระ สืบสาน ประเพณี

          ที่วัดมงคลมิ่งเมือง เทศบาลตำบลคลองขุด  อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ชาวพุทธศาสนิกชน ร่วมทำบุญตักบาตรเทโวข้าวสาร อาหารแห้ง แด่พระภิกษุสงฆ์ เพื่อระลึกถึงวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์เสด็จ หลังจากที่พระองค์แสดงพระอภิธรรมโปรดพระมารดา ทรงจำพรรษาที่นั้นเป็นเวลา 3 เดือน และกลับจากเทวโลก

 

          จากนั้นทุกคนก็จะไป ร่วมทำบุญ ด้วยการนำ ขนมต้ม ไปแขวนที่เรือพระ  ซึ่งเป็นอีกหนึ่ง ประเพณีที่เชื่อว่าเรือลากพระจะช่วยให้เกิดอานิสงส์ผลบุญ ทำให้ฝนตกตามฤดูกาล และการทำบุญจะช่วยส่งผลบุญกุศลให้ประสบความสำเร็จ 

         นอกจากนี้ประเพณีลากพระยังเป็นการแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิตของคน และแสดงถึงความพร้อมใจที่จะทำบุญทำกุศลรวมถึงความสนุกสนานครื้นเครงในกิจกรรม

 

           และในบ่ายวันนี้เทศบาลตำบลคลองขุด  ได้จัดงานลากพระหรือชักพระอย่างยิ่งใหญ่ โดยมีการประกวดเรือลากพระ การประกวดแทงต้มการประกวดทำน้ำยาขนมจีน  การแข่งขันปีนเสาน้ำมันและการละเล่นพื้นบ้านอีกมากมายเพื่อเป็นการสืบสานประเพณี วัฒนธรรมพื้นบ้าน และสืบสาน ตามหลักพระพุทธศาสนา โดยมีการจัดขึ้นบริเวณหน้าโรงเรียนสตูลวิทยา ตำบลคลองขุด  อำเภอเมือง   จังหวัดสตูล

……..

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

PT สตูล เสมอ ยะลา ในศึกไทยลีก 3 โซนใต้

PT สตูล เสมอ ยะลา ในศึกไทยลีก 3 โซนใต้

          เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ณ สนามสตูลสเตเดียม หรือสนาม อบจ.เดิม ได้มีการแข่งขันฟุตบอลไทยลีก 3 โซนภาคใต้ ระหว่าง PT สตูลเอฟซี เปิดบ้านรับการมาเยือนของทีมยะลาเอฟซี ท่ามกลางบรรยากาศคึกคักของแฟนบอลที่เข้ามาชมเกมเต็มความจุสนาม

 

         ทีมผู้บริหารสโมสร PT สตูลเอฟซี อย่างนายพงศพัศ  ทิ้งนุ้ย  ประธานสโมสรฯ  นายเฉลิมพล  แท่นประมูล  รองประธานฯ  นายอดิศร  ภัคดี  ผู้อำนวยการสโมสรฯ  นายพีรพัฒน์  รัชกิจประการ  ผู้จัดการทีม  นายพณกฤช  จินดากุลเวศ  ตบเท้าเข้ากำลังใจกันอย่างคับคั่ง

  

         ก่อนเริ่มการแข่งขัน นายพีรพัฒน์ รัชกิจประการ ผู้จัดการทีม PT สตูลเอฟซี ได้อัดฉีดนักเตะเก็บ 3 แต้มเข้าตาราง โดยประกาศให้รางวัลแก่ทีม ที่ทำประตูให้เป็นของขวัญชาวสตูลเป็นเงิน 50,000 บาท

         การแข่งขันครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่านมาร่วมชม อาทิ นายคณิต คงช่วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล, ท่านอัยการจังหวัด, นางทิพรัตน์ รัชกิจประการ, พันตำรวจเอกเสกสิทธิ์ ปรากฏชื่อ ผู้กำกับ สภ.เมืองสตูล, ประธานสภา SME สตูล, นายก อบต.บ้านควน รวมถึงผู้นำท้องที่และท้องถิ่น ตลอดจนประชาชนชาวสตูลและยะลาที่มาร่วมเชียร์ทีมรักกันอย่างคับคั่ง

 

         ตลอดการแข่งขัน 90 นาที PT สตูลเอฟซี ต้องเล่นด้วยผู้เล่นเพียง 10 คน แต่ทั้งสองทีมก็ไม่สามารถทำประตูใส่กันได้ จบเกมด้วยผลเสมอ 0-0 ทำให้แต่ละทีมได้ไป 1 คะแนน ส่งผลให้ทั้งสองทีมมีคะแนนรวมเท่ากันที่ 9 คะแนน

 

          อย่างไรก็ตาม ด้วยประตูได้เสียที่ดีกว่า ทำให้ยะลา FC ครองอันดับ 1 ของตาราง ในขณะที่ PT สตูลเอฟซี อยู่ในอันดับ 2

 

         สำหรับการแข่งขันนัดต่อไปของ PT สตูลเอฟซี จะมีขึ้นในวันที่ 19 ตุลาคมนี้ โดยจะบุกไปเยือน ปัตตานี FC ขอเชิญชวนแฟนบอล “หมอผี” ร่วมเดินทางไปเชียร์และให้กำลังใจทีมรักกันอย่างคับคั่ง

…………………………………..

Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

สตูล-แถลงจัดงาน ” Satun Surf Festival ” เทศกาลฟิลกู๊ดริมทะเล หาดกาสิงห์

สตูล-แถลงจัดงาน ” Satun Surf Festival ” เทศกาลฟิลกู๊ดริมทะเล หาดกาสิงห์

           วันที่ 16 ต.ค.2567  ที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา  ต.ปากน้ำ  อ.ละงู  จ.สตูล   นายคณิต  คงช่วย  รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล  พร้อมด้วย  นายไพรัช  สุขงาม  ผู้อำนวยการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานสตูล  นายสัมฤทธิ์  เลียงประสิทธิ์  นายก อบจ.สตูล  และ  นายบำรุงรัตน์  พลอยดำ  หน.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา  ร่วมกันแถลงข่าวการจัดงาน  “ SATUN SURF FESTIVAL”  เพื่อประชาสัมพันธ์การจัดงาน  ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 18-20 ตุลาคม 67 ณ บริเวณหาดกาสิงห์ บ้านบ่อเจ็ดลูก ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล

 

           ทั้งนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสตูล ร่วมกับจังหวัดสตูล จัดงาน” SATUN SURF FESTIVAL” กิจกรรมส่งท้ายปิดฤดูกาลโต้คลื่นของปี โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริม และ กระตุ้นการท่อง เที่ยวนอกฤดูกาล เพื่อตอกย้ำว่าสตูลเป็นจังหวัดที่สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดปี พร้อมผลักดันให้จังหวัดสตูลเป็น Sport City เมืองชายแดนใต้ ทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วย สร้างรายได้สู่ชุมชนและผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวจากกิจกรรมกีฬาเพื่อการท่องเที่ยวใน พื้นที่ด้วย

            SATUN SURF FESTIVAL เป็นกิจกรรมความสนุกส่งท้ายก่อนปิดฤดูกาลโต้คลื่นประจำปีของ จังหวัดสตูล ภายใต้แนวคิด surf eco craft music โดยเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยว และผู้ที่สนใจได้สัมผัส และเรียนรู้การเล่นเซิร์ฟจากนักเล่นเซิร์ฟระดับแนวหน้าของเมืองไทยทั้ง Surfboard SUPboard และ Skimboard นอกจากนี้ยังมี Workshop งาน craft รักษ์สิ่งแวดล้อม การแสดงดนตรี จากศิลปินต่าง ๆ อาทิ โฟล์คซองจากToompood วง TR1IX และวงแทมมารีน เป็นต้น พร้อมการ จำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าชุมชน และแพ็คเกจทัวร์ราคาพิเศษ ซึ่งทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นนั้นถูก ขับเคลื่อนตามนโนบายการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ ท่ามกลางบรรยากาศอันสวยงามของ ชายหาดและท้องทะเล อันเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของจังหวัดสตูล

 

          SATUN SURF FESTIVAL เทศกาลฟิลกู๊ดริมทะเลหาดกาสิงห์ สนุกครบจบในงานเดียวทั้งเซิร์ฟ ตนตรี อาหาร เครื่องดื่ม Workshop และ Shopping 18-20 ตุลาคม 67 ณ บริเวณหาดกาสิงห์ บ้าน บ่อเจ็ดลูก ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล เพิ่มเติมรายละเอียดได้ที่ FB. Satun Surf Festival

…………………..

Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา เกษตร - อาชีพ

“ตาแปแยะ”  ขนมรับแขกบ้านแขกเมือง สูตรเข้มข้นฝีมือแม่บ้านชายแดนไทยมาเลเซีย

สตูล – “ตาแปแยะ”  ขนมรับแขกบ้านแขกเมือง สูตรเข้มข้นฝีมือแม่บ้านชายแดนไทยมาเลเซีย ขนาดประเทศต้นตำรับยังแห่ซื้อเป็นของฝาก หาทานยากมีที่ชุมชนรักษ์ท่องเที่ยวตำมะลัง จ.สตูล

           ที่จังหวัดสตูล  จะพาไปรู้จักขนมพื้นถิ่นที่หาทานยาก  ขนมที่มีลักษณะคล้ายข้าวเกรียบทอด แต่มีถั่วลิสงตกแต่งบนหน้าและมีปลาจิ้งจั้ง  ชาวบ้านเรียกขนมนี้ว่า  “ตาแปแยะ” เป็นชื่อเรียกภาษามลายูแปลว่าเครื่องเทศเยอะ

 

          ที่หมู่บ้านริมชายฝั่งตำบลตำมะลัง หมู่ที่ 3 อำเภอเมืองสตูล (ชายแดนไทยมาเลเซีย)  ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านนางยาตี  นาวา อายุ 46 ปี  สมาชิกวิสาหกิจชุมชนรักษ์ท่องเที่ยวตำมะลัง  พร้อมด้วยทุกคนในครอบครัวกำลังเร่งมือทำขนมพื้นเมือง  ตาแปแยะ  เพื่อให้ทันตามออเดอร์ของลูกค้า 

 

         โดยส่วนผสมของขนมชนิดนี้ประกอบไปด้วย  แป้งข้าวเจ้าผสมกับไข่ไก่  น้ำปูนใสสะอาด  พริกแห้งบดละเอียด  เครื่องเทศ พริกไทย ข้าวเล็กๆ ข้าวใหญ่นำส่วนผสมทั้งหมดคลุกเคล้ากันแล้วตักใส่พิมพ์แต่งหน้าด้วยถั่วลิสง และปลาจิ้งจั้ง นำมาทอดในน้ำมันที่ร้อนกำลังดี  โดยการทำขนมในแต่ละครั้งจะใช้ส่วนผสมครั้งละ  7 กรัมเมื่อหมดก็จะปรุงขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ได้ขนมที่มีคุณภาพดี

 

        การทำขนมครั้งละ 7 กรัมจะได้ขนมประมาณ 5-6 ถุง (ถุงละ 35 ชิ้น) ขายราคาถุงละ 50 บาท โดยวันนึงจะทำ 2 รอบเป็นธุรกิจในครัวเรือน  มีลูกสาวและสามีของนางยาตี มาช่วยทอดและสามารถทำงานแทน  ฝีมือไม่แพ้คุณแม่เลย

            นางยาตี  นาวา เจ้าของสูตรขนมตาแปแยะ  บอกว่า  ขนมนี้ทำขายเป็นอาชีพที่สองของครอบครัว รองจากขายโรตีอาหารเช้าและอาหารเย็น   ซึ่งจริงแล้วสูตรขนมได้มาจากเพื่อนอีกทอดหนึ่ง  ที่ไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียเมื่อ 8 ปีที่แล้วมาปรับสูตรให้เข้มข้นทำขายตามออเดอร์   เป็นขนมพื้นเมืองที่ทำขายทานเจ้าของในตำมะลัง  ส่งขายให้นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวไทยมาเลเซีย

 

            และนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย ต่างชาติที่มาเที่ยวชุมชนตำมะลังได้ชิมลิ้มรสชาติที่มีส่วนผสมของเครื่องเทศได้รสชาติเฉพาะตัว ของถั่วลิสงและปลาจิ้งจั้งที่อร่อยกรอบ เป็นของฝากและของทานเล่น   จะขายดีในช่วงเดือนฮารีรายอ  มีออเดอร์เข้า 200 ถึง 400 ถุง  สนใจโทร.0949615776 ,0950251108

 

          นางสาวรุ่งญาดา  เจริญทรัพย์  เลขาวิสาหกิจชุมชนรักษ์ท่องเที่ยวตำมะลัง บอกว่า  ทุกครั้งที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวชุมชนจะนำกลุ่มแม่บ้านไปทำโชว์และชิมกันเลย ได้รับความสนใจกับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก หลายคนติดใจซื้อเป็นของฝากกับไปจำนวนมาก โดยเฉพาะต้นกำเนิดของขนมที่มาจากมาเลเซีย เมื่อมาชิมสูตรใหม่ของไทยหลายคนติดใจกันเป็นแถว 

………………..

Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา เกษตร - อาชีพ

สตูลกลุ่มธนาคารปูม้าบ้านทุ่งริ้น  ต่อยอดสินค้าชุมชนสู่การเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนนกอาหารท้องถิ่นสร้างรายได้เพิ่ม หลังพบปริมาณในธรรมชาติลดน้อยลง

สตูล-กลุ่มธนาคารปูม้าบ้านทุ่งริ้น  ต่อยอดสินค้าชุมชนสู่การเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนนกอาหารท้องถิ่นสร้างรายได้เพิ่ม หลังพบปริมาณในธรรมชาติลดน้อยลง

          ที่ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบ้านทุ่งริ้น  หมู่ที่ 1 ตำบลสาคร  อำเภอท่าแพ  จังหวัดสตูล  โดยชาวบ้านได้เข้าร่วมโครงการนวัตกรรมธนาคารปูม้าสู่การจัดการทรัพยากรชายฝั่งตามแนวทางเศรษฐกิจสีน้ำเงินในจังหวัดสตูล โดยได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยและนวัตกรรมจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ในการส่งเสริมอาชีพและการจัดการทรัพยากรชายฝั่งที่ยังยืน

 

         นายดาด  ขุนรายา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 (ปธ.ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบ้านทุ่งริ้น)  บอกว่า  จุดเริ่มต้นมาจากชุมชนได้ทำธนาคารปูม้า  ที่มีชาวประมงพื้นบ้าน 20 คน  มาร่วมกันเป็นสมาชิก โดยทุกคนได้เล็งเห็นความสำคัญของทรัพยากร ของการ ดำเนินการโครงการฯ  และได้รับการสนับสนุน ภายใต้โครงการนวัตกรรมธนาคารปูม้า สู่การพัฒนาทรัพยากรชายฝั่งตามแนวทางเศรษฐกิจสีน้ำเงินในจังหวัดสตูล   โดยมี ผศ.ดร.ทัศนภา ว่องสนั่นศิลป์  เป็นหัวหน้าโครงการที่ได้รับทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

 

         ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 (ปธ.ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบ้านทุ่งริ้น)  บอกด้วยว่า จากนั้นได้ทำต่อมาเรื่อย ๆ  และมีการต่อยอดให้สมาชิกในกลุ่มมีรายได้เพิ่มจนเป็นที่มาของโครงการเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนนก    โดยได้เล็งเห็นว่าตลาดน่าจะไปได้เพราะขายในพื้นที่ก็ไม่เพียงพอ  อีกทั้งในธรรมชาติเริ่มหาน้อยเต็มที  และยังหาทานยาก    โดยข้อดีของการเพาะเลี้ยงพบว่าสาหร่ายไม่มีทราย  หรือเศษดินปะปน  เพียงแค่นำมาล้างและรับประทานได้เลย  ถ้าเป็นสาหร่ายที่ขึ้นตามธรรมชาติจะมีเม็ดทรายปะปนและมีกลิ่นคาวของน้ำ   แต่การเพาะเลี้ยงลักษณะนี้รับประทานได้อย่างอร่อย  สามารถมีทานได้ตลอดทั้งปี อนาคตจะต่อยอดขยายให้กับสมาชิกเพิ่มอีก  ดูแล้วทิศทางเป็นไปได้ โดยวันนี้เป็นเพียงตัวอย่างก็ได้รับการตอบรับอย่างดี เชื่อว่าจะเพิ่มช่องทางรายได้ให้กับชาวประมงพื้นบ้านได้เป็นอย่างดี 

 

         นอกจากที่นี่จะศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบ้านทุ่งริ้น  และเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนนกแล้ว ทางกลุ่มฯยังเป็นแหล่งท่องบเที่ยวชุมชนมีแพกลางน้ำของชุมชนบริหาร นักท่องเที่ยวสายแคมปิ้งในคลองทุ่งริ้น ได้ดื่มด่ำธรรมชาติ และทานอาหารทะเลสด ๆตามฤดูกาลด้วย   หากสนใจสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที  โทร 063-7302873

 

         การเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนนก ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบ้านทุ่งริ้น  หมู่ที่ 1 ตำบลสาคร  อำเภอท่าแพ  ได้เพาะเลี้ยงจำนวน 10 ตะกร้า โดยใช้ออกซิเจนในการดูแลสาหร่ายอยู่ภายใต้โรงเรือน  สมาชิกได้กลุ่มจะได้รับการสร้างองค์ความรู้ก่อนเลี้ยง โดยการให้ปุ๋ย  วัดค่าน้ำเพียง  2 อาทิตย์ก็สามารถเก็บขายได้แล้ว 

 

         ทางกลุ่มจะหมุนเวียนโดยเก็บขาย  อาทิตย์ละครั้ง /เก็บครั้งละ 2 ตะกร้าได้ 1 กิโลกรัม  ขายกิโลกรัมละ 200 บาท สาหร่ายขนนกนอกจากจะทานสดกับน้ำจิ้มซีฟู้ดแล้ว  ยังสามารถไปปรุงเมนูยำสาหร่ายขนนก   สลัดสาหร่ายขนนก   ข้าวเกรียบสาหร่ายขนนกได้อีกด้วย 

 

        ลักษณะเฉพาะของสาหร่ายขนนกคือ จะตายง่ายเมื่อถูกน้ำจืด จึงควรรับประทานสด ๆ ทันทีที่ขึ้นจากน้ำไม่นานเพราะจะเสียรสชาติความอร่อย

…………………………………

Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

สตูล ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดงาน “SATUN CITY MUSIC LIVE 2024” ส่งเสริมภาพลักษณ์กระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจและการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่

สตูล ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดงานโครงการ “SATUN CITY MUSIC LIVE 2024” ส่งเสริมภาพลักษณ์กระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจและการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่

          ที่บริเวณถนน หน้าเทศบาลเมืองสตูล จังหวัดสตูล นายคณิต คงช่วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานในการเปิดงานโครงการ “SATUN CITY MUSIC LIVE 2024” มีหัวหน้าส่วนราชการ คณะทำงานที่เกี่ยว พร้อมด้วยสื่อมวลชน และประชาชนที่ให้ความสนใจเข้าร่วมงาน

 

       ซึ่งงานนี้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์และกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่เกิดการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวในอำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล   เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งยังเป็นการกระตุ้น ฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับพื้นที่ในจังหวัดอีกด้วย

        ​จังหวัดสตูล เป็นจังหวัดแห่งการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ที่มีมาอย่างยาวนาน สิ่งปลูกสร้าง สถานที่เก่าแก่ที่มีความสำคัญ รองรับการท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบ ล่องแก่ง ดำน้ำ เที่ยวเกาะ เมืองเก่า เที่ยวถ้ำ ชมความงามสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ การจัดงาน  Satun City Music Live 2024  จึงถือเป็นครั้งแรกของเทศกาลดนตรี ที่เกิดขึ้นในเขตพื้นที่ของอำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล นอกเหนือจากเทศกาลดนตรีแล้วนั้น มีการนำศิลปะและการแสดงของพี่น้องชาวใต้อย่างมโนราห์ การแสดงของพี่น้องชาวไทยมุสลิมมาให้แขกผู้ร่วมงานได้รับชมกันอย่างเพลิดเพลินและเต็มไปด้วยความสุข สนุกสนานไปกับมินิคอนเสิร์ต จากศิลปิน โตโน่ ภาคิน และที่พลาดไม่ได้กับร้านค้าที่พร้อมนำเสนอ ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม และสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่มาจากชุมชนในจังหวัดสตูล

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

เกษตรสตูล ส่งมอบสารชีวภัณฑ์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสตูล

เกษตรสตูล ส่งมอบสารชีวภัณฑ์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสตูล

          วันที่ 8 ตุลาคม 2567 นางสุดา ยาอีด เกษตรจังหวัดสตูล พร้อมด้วย นางสาวพรรษกร จันทร์แก้ว  หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช และเจ้าหน้าที่กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดสตูล ส่งมอบสารชีวภัณฑ์ ได้แก่ เชื้อราไตรโคเดอร์มา (เชื้อสด) และหัวเชื้อไตรโคเดอร์มา โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริม และเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสงขลา จำนวน 420 กิโลกรัม และหัวเชื้อไตรโคเดอร์มา จำนวน 240 ขวด เพื่อใช้ควบคุมโรครากเน่า โคนเน่า หลังน้ำลด อีกทั้งได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ผัก และถั่วฝักยาวไร้ค้าง (พันธุ์สุรนารี 1) จากศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จังหวัดตรัง

 

        ซึ่งได้ส่งมอบให้แก่สำนักงานเกษตรอำเภอ ทั้ง 7 อำเภอในจังหวัดสตูล เพื่อให้เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ นำมอบให้แก่เกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติ (อุทกภัย) ด้านพืช ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่จังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา โดยส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และเกิดน้ำท่วมขัง ในพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยจังหวัดสตูลมีเกษตรกรผู้ประสบภัย จำนวน 2,281 ครัวเรือน พื้นที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 9,422 ไร่ และพื้นที่คาดว่าจะเสียหาย จำนวน 1,664 ไร่

          ทั้งนี้ เกษตรกรผู้ปลูกพืชที่ได้รับผลกระทบ สามารถติดต่อขอรับการสนับสนุนเชื้อราไตรโคเดอร์มาเพื่อควบคุมโรครากเน่า โคนเน่า และขอรับคำปรึกษาด้านการป้องกันกำจัดโรคพืชได้ ณ ศูนย์บริการเกษตรพิรุณราชสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน

Categories
ข่าวเด่น

สตูล-กรมทางหลวงชนบทยอมรับเปลี่ยนโครงการซ่อมแซมถนน มูลค่า 24 ล้าน หลังชาวบ้านทักท้วง 

สตูล-กรมทางหลวงชนบทยอมรับเปลี่ยนโครงการซ่อมแซมถนน มูลค่า 24 ล้าน หลังชาวบ้านทักท้วง  พร้อมยืนยันว่าเส้นทางที่ชาวบ้านอยากให้ปรับปรุงอยู่ในงบประมาณปี 2568 แล้วเพียงแค่คนละช่วงเวลาดำเนินการเท่านั้น

          วันที่ 9 ต.ค.2567  ที่อบต.ควนโพธิ์  อำเภอเมือง จังหวัดสตูล  กรมทางหลวงชนบท   โดยกระทรวงคมนาคม  ได้ประสานขอให้นายบุญมา  โดยพิลา นายก อบต.ควนโพธิ์  เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น เพื่อชี้แจงเหตุที่ชาวบ้านและผู้นำอาจจะมีความเข้าใจคาดเคลื่อนกรณีการก่อสร้างของ   กรมทางหลวงชนบท   กระทรวงคมนาคม  โครงการก่อสร้างด้วยเงินภาษีอากรของประชาชน  งานก่อสร้างโครงการซ่อมแซมผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีต ปรับปรุงชั้นทาง งานบำรุงถนนสายสต 3001 แยกทางหลวง 404 บ้านฉลุง   อำเภอเมือง   จังหวัดสตูล ด้วยงบประมาณ 24,492,000 บาท

          หลังชาวบ้านเรียกร้องว่าเส้นทางถนนที่กรมกรมทางหลวงชนบทจังหวัดสตูล  กำลังจะทำนั้นเส้นทางยังคงใช้การได้ดี แต่มีเส้นทางอีกช่วงหนึ่งประมาณ 1 กิโลเมตรครึ่ง  กลับยังไม่ได้รับการดูแลหรือซ่อมแซม ซึ่งเป็นเส้นทางสต.3001 เหมือนกัน  ทำให้เป็นที่มาของการชี้แจงไขข้อข้องใจของชาวบ้านและผู้นำชุมชนในครั้งนี้  

          ซึ่งในเรื่องนี้ทางนายวิเชียร  พรหมยก  นายช่างโยธา อาวุโส  สำนักบำรุงทาง กรมทางหลวงชนบท , พร้อมรองผู้อำนวยการทางหลวงจังหวัดสตูล และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ชี้แจงและสร้างความเข้าใจให้กับผู้นำชาวบ้านท้องที่และท้องถิ่น ถึงเส้นทางที่ชาวบ้านอยากให้มีการดำเนินการนั้นอยู่ในแผนการซ่อมแซมอยู่แล้วในปี 2568  ซึ่งเข้าใจว่าชาวบ้านบางส่วนอาจจะยังไม่ทราบ

           นายช่างโยธา อาวุโส  สำนักบำรุงทาง กรมทางหลวงชนบท  บอกด้วยว่า  เมื่อชาวบ้านไม่อยากให้มีการปรับปรุงจุดเริ่มต้นของโครงการฯก่อน  เพราะเห็นว่ามีสภาพที่ดีอยู่แล้วนั้น   ซึ่งในความเป็นจริงคือใช้งานมา 4 ปีกว่าแล้ว สภาพถนนดังกล่าวเป็นเส้นทางหลักมีการสัญจรจำนวนมาก  ทั้งรถบรรทุกขนาดใหญ่ทำให้สภาพถนนเสียรูปและเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์มุ่งหน้าสู่การท่องเที่ยว   

 

         แต่เมื่อชาวบ้านมีความต้องการให้ย้ายจากเส้นทางต้นโครงการ  มาทำเส้นทางเชื่อมต่อกิโลเมตรที่ 3001 ก่อน   โดยกรมทางหลวงจะเร่งนำกลับไปปรับเปลี่ยนโครงการให้ตรงตามความต้องการและร้องขอ  ซึ่งเป็นเส้นทางระยะทาง 1 กิโลเมตรครึ่ง  แต่ยืนยันว่าทั้งสองเส้นทางที่ชาวบ้านได้ร้องขอนั้นได้ตั้งงบไว้แล้ว  ในการดำเนินการซ่อมแซมปรับปรุงในปี 2568    เพียงแค่งบดำเนินการ  จะลงมาคนละช่วงเวลาในการดำเนินการเท่านั้น     หลังมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางตามความต้องการของชาวบ้านยืนยันว่าจะดำเนินการได้ก่อนสิ้นปีนี้อย่างแน่นอน

 

        นายจำรัส  ชิกวี  ผญบ.หมู่ 7 ต.ควนโพธิ์ บอกว่า  ขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและชี้แจงการดำเนินการในครั้งนี้ โดยเฉพาะท่านผู้ว่าราชการจังหวัดหลังทราบข่าวความต้องการของชาวบ้าน  ได้รีบประสานงานให้ทันที  พร้อมยอมรับว่าอาจจะเป็นการเข้าใจผิด  แต่ชาวบ้านต้องการสะท้อนความเดือดร้อนถนนสาย 3001 สายบ้านควนโพธิ์  กาลันยีตัน  บ้านปาเต๊ะ ปันนังปูเลา  ว่า ถนนเส้นนี้ได้ก่อสร้างมานานกว่า 15 ปีแล้ว   อยากให้มีการขยายถนน 8 เมตรเป็น 12 เมตร เพื่อปรับปรุงเส้นนี้ให้เป็นเส้นทางมุ่งหน้าไปสู่แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดสตูล อย่าง  สันหลังมังกร   อีกทั้งเป็นการลดอุบัติเหตุให้กับชาวบ้านในชุมชนอีกด้วย  พร้อมขอบคุณหน่วยงานของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง   ที่ทำให้ชาวบ้านพอใจ  และเชื่อว่า คุ้มค่ากับภาษีของประชาชนอย่างแน่นอน  

……………………………………

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล-อดีตผู้รับเหมาก่อสร้าง  ชีวิตพลิกผัน  ทำไม้กวาดขาย  สู้ชีวิตไม่ย่อท้อ

สตูล-อดีตผู้รับเหมาก่อสร้าง  ชีวิตพลิกผัน  ทำไม้กวาดขาย  สู้ชีวิตไม่ย่อท้อ

         นายไตรรงค์   คงปาน วัย 57 ปี อดีตผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่   ผู้ที่ชีวิตพลิกผันหลังประสบอุบัติเหตุขี่รถตกหลุมจนร่างกายไม่เหมือนเดิม  แต่ด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง เขาเลือกที่จะลุกขึ้นสู้ทันทีที่ร่างกายดีขึ้น  ด้วยการผันตัวมาทำไม้กวาดขาย  โดยจำวิธีการจากคนอื่นแล้วมาทดลองทำเองจนสร้างรายได้

        “ผมไม่อยากเป็นภาระให้ใคร”   นายไตรรงค์กล่าวขณะสาธิตการทำไม้กวาดทางไม้ไผ่จากไม้ไผ่สีสุก   ที่กระท่อมหลังเล็กสร้างขึ้นอย่างง่ายเพื่ออยู่อาศัย   ในที่ดินของน้องสาวย่านซอยคลองขุด 19 ( หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าซอยน้องแป้น)  หมู่ที่ 7 เขตเทศบาลตำบลคลองขุด  อำเภอเมือง จังหวัดสตูล

          ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น  เขาเลือกเชื่อว่าจะช่วยสร้างรายได้แม้ไม่มาก แต่ไม่เป็นภาระน้องสาวหรือภาระใคร  โดยใช้ไม้ไผ่สีสุกที่มีคุณสมบัติโค้งงอได้ดีมาทำเป็นซี่ไม้กวาด   ส่วนด้ามจะใช้ไม้ไผ่ที่มีเปลือกหนาเพื่อความแข็งแรง เพื่อจำหน่ายในราคาย่อมเยา   โดยไม้กวาดด้ามเล็กราคาขายเพียง  50 บาท ส่วนด้ามใหญ่ตามความสูงของลูกค้าราคาอยู่ที่  80 บาท

         จุดเริ่มต้นของธุรกิจเล็ก ๆ  นี้ เริ่มจากการทำตัวอย่างเพียง 2 อันไปเสนอตามร้านค้า  เมื่อได้รับการตอบรับที่ดี จึงรับออร์เดอร์ครั้งละ 10 อัน  ใช้เวลาประมาณ 10-15 วันในการผลิตและส่งมอบสินค้าแต่ละรอบ

          นอกจากการทำไม้กวาดแล้ว    นายไตรรงค์  เขายังใช้พื้นที่ว่างของน้องสาวเพื่อปลูกผักสวนครัว  โดยตั้งใจแบ่งปันให้น้องสาวและเพื่อนบ้านได้ทานโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย  สะท้อนให้เห็นถึงน้ำใจที่มีต่อชุมชน แม้สภาพร่างกายยังไม่สมบูรณ์นักจากอุบัติเหตุ

          นายชัยณรงค์  ไชยจิตต์  ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองสตูลในพื้นที่  เล่าว่า   “ผมติดตามชีวิตของเขามากว่า 2 ปี เห็นถึงความมุ่งมั่นและการเป็นคนที่มีน้ำใจ แม้สภาพร่างกายจะไม่สมบูรณ์ แต่ก็ไม่เคยย่อท้อ” พร้อมเสริมว่าในอนาคตอยากผลักดันให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ที่กำลังท้อแท้ได้เห็นว่า ชีวิตยังมีหนทางให้สู้เสมอ

          การไม่ย่อท้อต่อโชคชะตาของชีวิตที่พลิกพัน ชั่วข้ามคืนจากที่เคยมีเงิน  มีงาน มีครอบครัว  มีลูกน้องจำนวนมาก  แม้วันนี้จะเหลือเพียงน้องสาวกับแม่บังเกิดเกล้า  แต่เขาก็ไม่คิดจะให้เป็นภาระกับใคร  พอใจกับรายได้ที่ทำด้วยน้ำพักน้ำแรง  มีข้าวกิน  มีเงินจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ  และได้แบ่งปันสังคมบ้างตามกำลัง     โดยเฉพาะเงินหมื่นบาทที่ได้รับจากรัฐบาลมาก็ตั้งใจจะเอาไปต่อยอดธุรกิจ ซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อขยายการผลิตไม้กวาดต่อไป

         ผู้สนใจสามารถติดต่อสั่งซื้อไม้กวาดได้ที่ โทร. 093-054-1664

…………………………………………….

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

เทคโนโลยีพร้อมใช้สู่แก้ปัญหาให้กับเกษตรกรผู้เพาะเห็ดจังหวัดสตูล

เทคโนโลยีพร้อมใช้สู่แก้ปัญหาให้กับเกษตรกรผู้เพาะเห็ดจังหวัดสตูล

          ที่ฟาร์มเห็ดบ้านช่าง ตำบลอุไดเจริญ  อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ซึ่งมีนายทวีศักดิ์  เรหนูกลิ่น (เกษตรกร) เป็นหนึ่งในเกษตรกรพื้นที่โมเดลที่มีการส่งเสริมอาชีพด้วยการใช้โรงเรือนแบบอัจฉริยะ  จากทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จ.สงขลา  ซึ่งวันนี้ ผศ.ดร.อภิรักษ์  สงรักษ์   รองอธิการบดี  มทร.ศรีวิชัยพร้อมด้วยคณะวิศวกรรมศาสตร์ , อ.ดีน อาจารย์มทร.ศรีวิชัย หัวหน้าโครงการวิจัยฯ

 

          ลงพื้นที่ติดตามความก้าวโครงการ พบว่ากระบวนการผลิตก้อนเห็ดยังคงต้องมีการพัฒนา และ นำเทคโนโลยีควบคุมอุณหภูมิการบ่มเพาะก้อนเห็ดรวมทั้งการใช้เทคโนโลยีราคาย่อมเยาว์มาใช้เพื่อทุ่นแรงกรณีมีความต้องการของที่มากขึ้น  ส่วนการใช้เทคโนโลยีแบบอัจฉริยะมาควบคุมอุณหภูมิโรงเรือนและก้อนเห็ดในสภาพอากาศที่แปรปรวนของพื้นที่ จ.สตูล  สามารถสร้างผลผลิตให้ออกอย่างสม่ำเสมอ และตรงความต้องการของตลาด

 

          ผศ.ดร.อภิรักษ์  สงรักษ์   รองอธิการบดี  มทร.ศรีวิชัย  บอกว่า   ส่งเสริมอาชีพการใช้โรงเรือนแบบอัจฉริยะทางมหาวิทยาลัยได้เข้ามาช่วยดูเรื่องกระบวนการผลิตและพบว่า การพัฒนาก้อนเห็ดของจังหวัดสตูลมีปริมาณเพียงพอที่จะตอบโจทย์โจทย์ก้อนเห็ดและการปลูกเห็ด  ต่อไปคือทำอย่างไรให้ก้อนเห็ดมีคุณภาพก็ให้ลูกค้าได้ก้อนเห็ดมีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ พบว่าที่นี่ยังต้องการความรู้การจัดการก้อนเห็ดอย่างมีคุณภาพในช่วงบ่มก้อนเห็ดหลังสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป  การใช้เครื่องทุ่นแรงในกรณีมีความต้องการมาก  ที่เป็นเทคโนโลยีอย่างง่ายไม่ได้แพงเกินไป  มาปรับใช้ให้เหมาะกับพื้นที่  ปัญหาที่ต้นน้ำเรื่องของ supply คนปลูกและก้อนเห็ดเป็นการเตรียมความพร้อมหากต้องเจอกับตลาดใหญ่  ความต้องการที่มากขึ้นเกษตรกรสามารถตั้งรับได้  แล้วสามารถเชื่อมโยงกับ B2B หรือ b2c ที่เชื่อมโยงมาอย่างต่อเนื่องได้  นั่นหมายความว่าความมั่นคงของอาชีพครัวเรือนและรายได้ที่เราคาดหวังมีอย่างต่อเนื่องและมั่นคง  

 

          เกษตรกรเพาะเห็ดสตูลพลิกวิกฤตด้วยเทคโนโลยี หลังขาดทุนกว่า 5 หมื่นจากสภาพอากาศแปรปรวน

เกษตรกรผู้เพาะเห็ดในจังหวัดสตูลเผยความสำเร็จหลังนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในการผลิต แก้ปัญหาผลผลิตไม่สม่ำเสมอจากสภาพอากาศแปรปรวน พร้อมวางแผนขยายกำลังการผลิตรองรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น

        นายทวีศักดิ์ เรหนูกลิ่น เกษตรกรผู้เพาะเห็ดในจังหวัดสตูล เปิดเผยว่า ฟาร์มเห็ดของตนประสบปัญหาขาดทุนกว่า 50,000 บาทในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัดและแห้งแล้ง ส่งผลให้การผลิตไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในขั้นตอนการบ่มก้อนเห็ดที่ใช้เวลานานขึ้นจาก 30 วัน เป็น 45 วัน

        “ผมแบ่งการผลิตเป็น 2 ส่วน คือ การผลิตก้อนเห็ดและการเพาะดอกในโรงเรือน ซึ่งได้นำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ที่ 30-32 องศา และรักษาความชื้นให้สม่ำเสมอ ทำให้มั่นใจว่าในปีหน้าจะสามารถรับมือกับสภาพอากาศแปรปรวนได้ดีขึ้น  ปัจจุบัน ฟาร์มมีลูกค้าประจำรับซื้อผลผลิตวันละ 50 กิโลกรัม โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ช่วยให้ผลผลิตมีความสม่ำเสมอ  ไม่ขึ้นลงตามสภาพอากาศเหมือนแต่ก่อน  นอกจากนี้ ยังสร้างความได้เปรียบทางการตลาด เนื่องจากเกษตรกรทั่วไปยังไม่มีการใช้เทคโนโลยีนี้ ทำให้ได้รับคำสั่งซื้อก้อนเห็ดจำนวนมากในช่วงฤดูเย็นชื้น” นายทวีศักดิ์ กล่าว 

 

มทร.ศรีวิชัย แนะเทคโนโลยีช่วยเกษตรกรเพาะเห็ด พร้อมเป็นพี่เลี้ยงผู้สนใจลงทุนใหม่

          ผศ.พิทักษ์ สถิตวรรธนะ  เจ้าของผลงานวิจัยฯ อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เปิดเผยถึงความสำเร็จของการนำเทคโนโลยีไปช่วยเกษตรกรผู้เพาะเห็ด โดยเฉพาะกรณีของ “ช่างเดี่ยว” เกษตรกรที่มีพื้นฐานช่างไฟฟ้า  “จากเดิมที่เคยดูแลเพียงโรงเรือนและควบคุมความชื้น นวัตกรรมใหม่นี้สามารถควบคุมอุณหภูมิของก้อนเห็ดโดยตรง เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ระบบจะให้ความชื้นอัตโนมัติตามเวลาที่กำหนด ส่งผลให้เห็ดออกดอกสม่ำเสมอ” ผศ.พิทักษ์ กล่าว

 

          เทคโนโลยีดังกล่าวได้พิสูจน์ประสิทธิภาพแล้วกับโรงเรือน 4 หลังของช่างเดี่ยว ทำให้ทางมหาวิทยาลัยต้องการผลักดันให้เป็นต้นแบบสำหรับเกษตรกรรายใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้เกษียณอายุที่สนใจทำธุรกิจเพาะเห็ด เพื่อป้องกันความเสียหายจากการลงทุนที่อาจสูงถึงหลักแสนบาท   สำหรับผู้สนใจเริ่มต้นธุรกิจเพาะเห็ด ผศ.พิทักษ์แนะนำว่า “ควรเริ่มจากตู้เพาะเห็ดก่อน เพื่อเรียนรู้ทักษะการดูแลและการจัดการโรค เมื่อมั่นใจแล้วจึงค่อยลงทุนขยายเป็นโรงเรือน ซึ่งในจังหวัดสตูลมีให้เห็นทั้งสองรูปแบบ”  ทางมหาวิทยาลัยได้พัฒนาอุปกรณ์ 2 รูปแบบ:   ตู้เพาะเห็ดพร้อมกล่องควบคุม สำหรับผู้เริ่มต้น กล่องควบคุมอย่างเดียว สำหรับผู้ที่มีโรงเรือนอยู่แล้ว   “ราคาชุดอุปกรณ์อยู่ที่ 5,500 บาท รับประกัน 1 ปี พร้อมให้คำปรึกษาตลอดการใช้งาน ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่สถาบันดูแลนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยโดยตรง” ผศ.พิทักษ์กล่าวทิ้งท้าย

 

          และในวันเดียวกันได้มีการ “อบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนานักวิจัยและนวัตกรรมชุมชน สรุปผลถอดบทเรียนและวางแผนงานวิจัยเพื่อขยายผลการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแบบมีส่วนร่วม”  โดยเชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วม  ที่ห้องประชุมสมาคม วัฒนพลเมืองอำเภอละงู  จังหวัดสตูล

 

          ด้าน นางสุดา  ยาอีด   เกษตรจังหวัดสตูล  กล่าวว่า  ในส่วนของการต่อยอดเทคโนโลยีจากงานวิจัยนี้เราดูแล้วในส่วนของการเพาะเห็ดซึ่งส่วนมากเกษตรกรจะใช้ขั้นตอนวิธีการแบบเดิม ๆ ซึ่งก็เป็นโอกาสดีที่ทางมหาวิทยาลัยฯ นำงานวิจัยตรงนี้มาใช้สำหรับพี่น้องเกษตรกรโดยนำเอานวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อที่จะให้พี่น้องเกษตรกรมีผลผลิตในเรื่องของเห็ดเพิ่มมากขึ้นต่อยอดในเรื่องของรายได้สร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับพี่น้องเกษตรกร  ในส่วนของการขยายผลคิดว่างานวิจัยตรงนี้น่าจะมีการขยายผลให้กับพี่น้องเกษตรกรที่อยากมีอาชีพเสริมในเรื่องของการเพาะเห็ด  ก็อาจจะมีงบประมาณมาสนับสนุนส่งเสริมให้กับพี่น้องเกษตรกรทำให้พี่น้องเกษตรกรเรามีรายได้เพิ่มขึ้นและมีอาชีพที่มั่นคง

 

          “นอกจากเพราะเห็ดก็สามารถนำไปสู่ผลผลิตชนิดอื่นได้  ผลผลิตจากเห็ดนี้ถ้ามีจำนวนมากเราก็อาจจะสนับสนุนถ่ายทอดความรู้ในเรื่องของการแปรรูปเพื่อที่จะให้มีผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น และมีหลากหลายสินค้าที่ส่งเสริมให้กับพี่น้องเกษตรกรเพราะว่าสตูลของเราเองเป็นเมืองท่องเที่ยว  สามารถนำเป็นของฝากของขวัญให้แก่พี่น้องเกษตรกร และผู้ที่มากท่องเที่ยวจังหวัดสตูล  สุดท้ายก็เป็นนโยบายของทางภาครัฐโดยตลาดนำ   นวัตกรรมเสริม   เพิ่มรายได้  งานวิจัยนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พี่น้องเกษตรกรสามารถที่จะดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐได้” เกษตรจังหวัดสตูลกล่าวในที่สุด

 

           สำหรับเครือข่ายเกษตรกรผู้เพาะเห็ดในจังหวัดสตูล  ทางทีมวิจัยได้พัฒนาโจทย์ ภายใต้โครงการวิจัย “ขยายผลการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมแบบมีส่วนร่วมเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากให้เครือข่ายเกษตรกรผู้เพาะเห็ดในจังหวัดสตูล โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) มีกลุ่มเป้าหมาย 10 กลุ่มเป้าหมาย ในพื้นที่ 9 ตำบล 4 อำเภอของจังหวัดสตูล

 

           ชุดเทคโนโลยีการเพาะเห็ดอัตโนมัติของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ประเภทเทคโนโลยีการเกษตรและนวัตกรรมเกษตร ลักษณะเด่นและคุณสมบัติการใช้งานเทคโนโลยีโครงตู้สามารถถอดประกอบได้ง่ายมีน้ำหนักเบาภายในตู้บรรจุก้อนเห็ดได้สูงสุด 120 ก้อน  มีระบบการให้ละอองน้ำ. แบบจานหมุนเหวี่ยงความเร็วสูงกล่องควบคุมสั่งงานผ่านระบบไร้สายและมีปุ่มเปิดปิดระบบให้น้ำแบบสัมผัสด้านหน้าระบบใช้พลังงานไฟฟ้ากระแสตรงแรงดันไม่เกิน 12 โวลต์ขนาดไม่เกิน 15 วัตต์

 

         การนำไปใช้ประโยชน์ตู้เพาะเห็ดออกแบบให้ผู้ใช้สะดวกในการประกอบขึ้นเป็นโรงเรือนขนาด ขนาดเล็กใช้สำหรับนำก้อนเห็ดจำนวนไม่เกิน 120 ก้อนเข้าไปเพราะดอกเห็ดเพื่อใช้จำหน่ายหรือบริโภคภายในครัวเรือนสามารถควบคุมให้ความชื้นก้อนเห็ดแบบอัตโนมัติ  โดยระบบการให้ละอองน้ำแบบจานหมุนเวียนความเร็วสูงผ่านกล่องควบคุมที่ใช้กำลังไฟฟ้าทั้งระบบไม่เกิน 15 วัตต์  ระบบควบคุมผ่านสัญญาณ WiFi จากกล่องควบคุมแบบออฟไลน์หมดได้

 

         โครงการวิจัยขยายผลการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมแบบมีส่วนร่วมเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากให้เครือข่ายเกษตรกรผู้เพาะเห็ดในจังหวัดสตูล  ภายใต้กรอบวิจัยการขยายผลเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและแก้หนี้ครัวเรือนสนับสนุนโดยกองทุนส่งเสริมกอวนและหน่วยบ.พ.ท

………………………………………..