Categories
ข่าวทั่วไป

อบต.ฉลุง  จัดใหญ่งานเทศกาลอาหารฮาลาลตำบลฉลุง ครั้งที่ 1 ส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จักสู่สากล

อบต.ฉลุง  จัดใหญ่งานเทศกาลอาหารฮาลาลตำบลฉลุง ครั้งที่ 1 ส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จักสู่สากล

         ที่บริเวณสระใหญ่ หลังที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลฉลุง อ.เมืองสตูล จ.สตูล นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงานเทศกาลอาหารฮาลาลตำบลฉลุง ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยมี นายคณิต คงช่วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล นายพิบูลย์ รัชกิจประการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล เขต 1  หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น และประชาชนเข้าร่วมงานจำนวนมาก

.

             โดยภายในงานประกอบด้วย การจำหน่ายสินค้าฮาลาลกว่า 100 ร้าน การจัดนิทรรศการจากหน่วยงานต่าง ๆ และออกบูทเพื่อสาธิตและชิมสินค้าขนมพื้นบ้าน ในพื้นที่จำนวน 14 หมู่บ้าน การแข่งขันการทำอาหาร(ข้าวเหนียวแกงแพะ) และยังมี การแสดงกิจกรรมต่างๆ บนเวทีตลอดทั้งการจัดงาน นอกจากนี้ยังได้มีโอกาสต้อนรับพี่น้องจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียในการมาร่วมงานในครั้งนี้ด้วย

.

 

             งานเทศกาลอาหารฮาลาลตำบลฉลุง ประจำปี 2568 จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 27-29 มิถุนายน 2568 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของตำบลฉลุงหวัดสตูลให้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไปอย่างแพร่หลาย เพื่อส่งเสริมให้มีกิจกรรมจำหน่ายอาหารฮาลาลและอาหารพื้นเมืองที่สะอาด ปลอดภัย เพื่อเป็นภาพลักษณ์ แก่นักท่องเที่ยว สร้างความเชื่อมั่นในการกระตุ้นเศรษฐกิจของเมือง สามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชนจากการจำหน่ายอาหารและสินค้าพื้นเมือง ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในกิจกรรมการท่องเที่ยวพื้นที่จังหวัดสตูลอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนอีกด้วย

………………………

รู้เท่าทันสื่อ ..หากคุณสั่งของมาแล้วไม่ตรงปก…อย่าปล่อยผ่าน! มารู้วิธีเอาคืนแบบผู้รู้ทัน

รู้เท่าทันสื่อ ..หากคุณสั่งของมาแล้วไม่ตรงปก…อย่าปล่อยผ่าน! มารู้วิธีเอาคืนแบบผู้รู้ทัน “หากเราสั่งของออนไลน์…เปิดกล่องมา ‘โป๊ะ!’

อัพเดทล่าสุด
Categories
เยาวชน-การศึกษา

“28 ปี แห่งความภาคภูมิใจ วิทยาลัยการอาชีพละงู” คว้ารางวัลสถานศึกษารางวัลพระราชทาน ประจำปี 2566

สตูล “28 ปี แห่งความภาคภูมิใจ วิทยาลัยการอาชีพละงู” คว้ารางวัลสถานศึกษารางวัลพระราชทาน ประจำปี 2566

          วันที่ 28 มิถุนายน 2566  นายสะเทือน สรรพจักร ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพละงู  พร้อมคณะครู  นักศึกษา  กลุ่มแม่บ้าน  อัญเชิญรางวัล  “สถานศึกษารางวัลพระราชทาน” ประจำปีการศึกษา 2566   แห่รอบเมืองละงู  จ.สตูล  ก่อนเข้าสู่  พิธีอัญเชิญและเฉลิมฉลอง รางวัล  “สถานศึกษารางวัลพระราชทาน” ซึ่งได้ถูกจัดขึ้นอย่างสมเกียรติ เปี่ยมด้วยความปลื้มปีติ และความภาคภูมิใจสูงสุดของครอบครัวชาว วิทยาลัยการอาชีพละงู  ณ อาคารโดม วิทยาลัยการอาชีพละงู จังหวัดสตูล

         

        บรรยากาศงานเต็มไปด้วยความอบอุ่นและซาบซึ้งใจ มีผู้บริหาร ข้าราชการ ชุมชนร่วมเป็นสักขีพยาน โดยมี  นายคณิต คงช่วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ประธานในงาน   นายสะเทือน สรรพจักร ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพละงู อัญเชิญรางวัลพระราชทานฯ ร่วมประกาศความภาคภูมิใจร่วมกัน  มีนายวิเชียร บุญเตี๋ยว ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสตูล ประธานสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัด  ผู้นำทุกภาคส่วน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งสองเขตการเลือกตั้ง  นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล และแขกผู้มีเกียรติ จำนวนมากที่มาร่วม แสดงความยินดี

 

         28 ปีแห่งการสร้างคนดี คนเก่งสู่สังคม  วิทยาลัยการอาชีพละงู ก่อตั้งเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2540 บนพื้นที่กว่า 100 ไร่ ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จากวันแรกที่มีนักเรียนเพียงไม่กี่สิบคน สู่วันนี้ที่เปิดสอนหลักสูตรหลากหลายกว่า 10 สาขา ตั้งแต่ ช่างยนต์ ช่างไฟฟ้า ช่างเชื่อมโลหะ อิเล็กทรอนิกส์ การบัญชี เทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล การโรงแรม การท่องเที่ยว โลจิสติกส์ และอื่นๆอีกมากมาย เพื่อผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพ มาตรฐานสูง พร้อมก้าวสู่ตลาดแรงงานและสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดสตูล

 

        แม้ในการประเมินรางวัลพระราชทานครั้งแรกเมื่อปี 2565 วิทยาลัยจะได้รับเพียงรางวัลชมเชย แต่ความไม่สมหวังวันนั้น กลับกลายเป็นแรงผลักดันมหาศาล ทุกคนร่วมแรงร่วมใจ พัฒนาทุกมิติ บนความศรัทธา ความมุ่งมั่น และหัวใจที่ไม่ยอมแพ้

 

        และวันนี้…ความเพียรพยายามตลอด 28 ปีได้ตอบแทนด้วยรางวัลสูงสุด  รางวัลสถานศึกษารางวัลพระราชทาน ประจำปี 2566 เกียรติยศสูงสุดที่เกิดจากพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระราชทานกำลังใจให้ครู นักเรียนและสถาบันการศึกษาได้เดินหน้าพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง

 

         นี่คือพลังแห่งหัวใจชาว วก.ละงู ที่ไม่ยอมแพ้ต่อทุกอุปสรรค นี่คือความสำเร็จของสถานศึกษาเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ในหัวใจคนสตูล

…………………….

อัพเดทล่าสุด

รู้เท่าทันสื่อ ..หากคุณสั่งของมาแล้วไม่ตรงปก…อย่าปล่อยผ่าน! มารู้วิธีเอาคืนแบบผู้รู้ทัน

รู้เท่าทันสื่อ ..หากคุณสั่งของมาแล้วไม่ตรงปก…อย่าปล่อยผ่าน! มารู้วิธีเอาคืนแบบผู้รู้ทัน “หากเราสั่งของออนไลน์…เปิดกล่องมา ‘โป๊ะ!’

Categories
ข่าวเด่น

  สตูลซ้อมอพยพสึนามิ…บทเรียนที่ไม่มีวันลืม   ชุมชนริมทะเลรวมพลังเรียนรู้เพื่อเอาชีวิตรอด

มวลชนชาวสตูลกว่า 500 คน รวมพลังสวมเสื้อเหลือง มอบช่อดอกไม้–ส่งกำลังใจแม่ทัพภาค 2 ถึงค่ายสมันตรัฐฯ 

         เสียงไซเรนเตือนภัยดังก้องริมชายฝั่งอันเงียบสงบของหมู่บ้านหาดทรายยาว จังหวัดสตูล ทำเอาหลายคนสะดุ้งเฮือก ภาพความทรงจำอันโหดร้ายเมื่อสองทศวรรษก่อนย้อนกลับมาในหัวทันที  สึนามิครั้งนั้นคร่าชีวิตผู้คนและทิ้งบาดแผลลึกไว้ในหัวใจคนไทย…และไม่มีใครอยากให้มันเกิดซ้ำอีก

 

        บ่ายวันนี้ นายศักระ   กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานเปิดการฝึกซ้อมแผนเตรียมความพร้อมรับมือภัยสึนามิที่โรงเรียนบ้านหาดทรายยาว ตำบลตันหยงโป โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสตูลร่วมกับส่วนราชการ ทหาร และภาคประชาชน จัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับสัญญาณเตือนภัย วิธีการอพยพที่ถูกต้อง การสื่อสารฉุกเฉิน รวมถึงสาธิตการใช้โดรนสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัย

 

        การฝึกซ้อมครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ ลดความตื่นตระหนกเมื่อเกิดเหตุการณ์จริง และปลูกฝังทักษะเอาตัวรอดให้ชาวบ้านทุกวัย โดยเฉพาะเด็กนักเรียนที่อาจไม่เคยเห็นภัยพิบัติร้ายแรงด้วยตาตนเอง การเรียนรู้เช่นนี้อาจเป็นกุญแจสำคัญในการปกป้องชีวิตคนรุ่นใหม่

       นางรอนี แซะอุหมาก วัย 71 ปี เล่าด้วยน้ำเสียงเมื่อคิดถึงวันนั้นแล้วยังกลัวไม่หาย เธอบอกว่าการซ้อมอพยพครั้งนี้ช่วยให้ทุกคนตื่นตัวและเตรียมใจเสมอว่า สึนามิอาจกลับมาอีกเมื่อไรก็ได้

        เช่นเดียวกับนายยะหยา ฮะยีบิลัง อายุ 63 ปี ที่มองว่านี่ไม่ใช่แค่กิจกรรมตามหน้าที่ แต่คือโอกาสให้คนเฒ่าคนแก่ได้เล่าบทเรียนชีวิตให้ลูกหลานได้เรียนรู้เส้นทางอพยพ และเข้าใจว่าทุกวินาทีมีค่าต่อความอยู่รอด

          “คนรุ่นใหม่บางคนไม่เคยเห็นความรุนแรงของสึนามิ การได้ซ้อม ได้เห็นขั้นตอนชัดๆ จะช่วยให้เขาไม่ประมาท” เขากล่าว

          แม้วันนี้เพียงแค่การจำลอง แต่บรรยากาศจริงจังและเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกตระหนักถึงความเปราะบางของชีวิต ทุกคนต่างรู้ดีว่าเมื่อภัยธรรมชาติถาโถมเข้ามา เราไม่มีทางสู้มันได้เลย หากไม่รู้จักเตรียมตัว

          ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลย้ำว่าการซักซ้อมและเฝ้าระวังต้องทำต่อเนื่อง เพราะความเสียหายจากสึนามิอาจเกิดขึ้นทุกเมื่อ การเข้าใจสัญญาณเตือนภัย ฝึกความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ และช่วยเหลือกันในชุมชน คือหัวใจสำคัญที่อาจหมายถึง “ความอยู่รอด” หรือ “การสูญเสีย”

        “เราไม่รู้หรอกว่าสึนามิจะมาเมื่อไหร่ แต่เราเลือกได้ว่าจะรับมืออย่างไร” เสียงเตือนใจนี้ยังคงก้องในหัวของชาวบ้านทุกคนที่ร่วมซ้อมอพยพในวันนี้

       และนี่คือบทเรียนที่ไม่มีวันลืม…บทเรียนที่ต้องส่งต่อไปถึงรุ่นลูกหลาน ให้จดจำว่าธรรมชาติยิ่งใหญ่เพียงใด และมนุษย์ต้องเตรียมพร้อมทุกลมหายใจ

………………………………………

อัพเดทล่าสุด

รู้เท่าทันสื่อ ..หากคุณสั่งของมาแล้วไม่ตรงปก…อย่าปล่อยผ่าน! มารู้วิธีเอาคืนแบบผู้รู้ทัน

รู้เท่าทันสื่อ ..หากคุณสั่งของมาแล้วไม่ตรงปก…อย่าปล่อยผ่าน! มารู้วิธีเอาคืนแบบผู้รู้ทัน “หากเราสั่งของออนไลน์…เปิดกล่องมา ‘โป๊ะ!’

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 สมูทตี้จำปาดะ เมนูชวนลิ้มลอง ที่สวนจูหอดตัวอย่างเกษตรกรต้นแบบ บ้านโคกมุดพัฒนา สวนจำปาดะพันธุ์ดี กำลังผลิดอกออกผล พร้อมเดินหน้าสู่พืช GI เมืองสตูล

สมูทตี้จำปาดะ เมนูชวนลิ้มลอง ที่สวนจูหอดตัวอย่างเกษตรกรต้นแบบ บ้านโคกมุดพัฒนา สวนจำปาดะพันธุ์ดี กำลังผลิดอกออกผล พร้อมเดินหน้าสู่พืช GI เมืองสตูล

         บ้านสวนจูหอด ม.6 บ้านโคกมุดพัฒนา ตำบลเกตรี (อ่านว่า  เกด-ตรี)  อำเภอเมือง จังหวัดสตูล พื้นที่ 6 ไร่ของ “นายหอด แดสา” วัย 74 ปี กำลังกลายเป็นความหวังของชุมชนและวงการเกษตรในพื้นที่ เมื่อสวนผสมของเขาซึ่งประกอบด้วย จำปาดะพันธุ์ทองเกษตร ขวัญสตูล และไร้เมล็ด กว่า 160 ต้น เริ่มให้ผลผลิตอย่างต่อเนื่อง เตรียมพร้อมเข้าสู่กระบวนการขึ้นทะเบียนพืชเศรษฐกิจ GI (Geographical Indication) หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดสตูล

          นายหอด  เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า  สวนแห่งนี้แต่เดิมเคยเป็นสวนยางพารา ก่อนจะตัดสินใจโค่นยางเมื่อราว 4 ปีก่อน เพื่อเปลี่ยนมาเป็นสวนผสมโดยปลูกพืชหมุนเวียนหลากหลายทั้งทุเรียนหมอนทอง 140 ต้น จำปาดะ 160 ต้น รวมถึงอ้อย กระเจี๊ยบ และพืชผักฤดูกาล เช่น แตงกวา ที่สามารถเก็บเกี่ยวขายได้วันละ 600-800 บาทในช่วงฤดูกาล

          “ปีที่แล้วจำปาดะ 5 ต้นให้ผลผลิตรวม 35 ลูก ปีนี้นับเฉพาะต้นเดียวได้ถึง 50 ลูกแล้ว” เขากล่าวด้วยรอยยิ้ม

          จำปาดะจากสวนจูหอดมี 3 สายพันธุ์หลัก ได้แก่  พันธุ์ขวัญสตูล เนื้อหนา กลิ่นหอมเฉพาะ  พันธุ์ทองเกษตร สีเหลืองสวย หวานละมุน  พันธุ์ไร้เมล็ด หายาก นิยมนำมาทอดหรือแปรรูป

          นางสาวนิลุบล เชื้อศรีชัย เจ้าหน้าที่เกษตรตำบลเกตรี สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองสตูล ให้ข้อมูลว่า นายหอดเป็นหนึ่งในเกษตรกรรายใหญ่ที่สุดของอำเภอเมืองสตูลที่มีการปลูกจำปาดะมากที่สุด  ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมเอกสารขอขึ้นทะเบียน GI ผลไม้ประจำถิ่น  อำเภอเมืองสตูล  เพื่อยกระดับผลิตผลให้มีมูลค่าเพิ่มในตลาดระดับประเทศ โดยก่อนหน้านี้สวนได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP แล้ว

          ทางเกษตรตำบลยังได้แนะนำการแปรรูปจำปาดะเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น การทำ “สมูทตี้จำปาดะ”  ซึ่งให้รสชาติคล้ายไอศกรีม เมื่อผ่านการแช่แข็ง เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภครุ่นใหม่ และช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรในท้องถิ่น

          นายการียา  เดชสมัน  ผู้ใหญ่บ้าน ม.6 บ้านโคกมุดพัฒนา กล่าวย้ำว่า นายหอด  คือเกษตรกรต้นแบบของชุมชน ด้วยความขยัน อดทน และมีการบริหารจัดการสวนผสมอย่างเป็นระบบ จนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ชาวบ้าน พร้อมเผยแผนต่อไปคือการรณรงค์ให้ชาวบ้านปลูกจำปาดะเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็น “พืชเศรษฐกิจประจำถิ่น” และสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

          สำหรับผู้ที่สนใจผลผลิตจำปาดะแท้จากสวนจูหอด สามารถติดต่อได้ที่  หมาดกอเฉ็ม ลูกชายของนายหอด โทร. 085-117-4338  หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ เกษตรอำเภอเมืองสตูล

          จำปาดะเป็นผลไม้เนื้อสีเหลือง มีรสหวาน กลิ่นหอมเฉพาะตัว คล้ายขนุนผสมกับทุเรียน นิยมนำมาทานสด ทอด หรือแปรรูปเป็นขนมและเครื่องดื่ม เป็นอีกหนึ่งอัตลักษณ์ที่สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้แห่งนี้  “การเกษตรไม่ใช่แค่เพาะปลูก แต่คือการเพาะความหวังให้แก่ชุมชน”

……………………………………

รู้เท่าทันสื่อ ..หากคุณสั่งของมาแล้วไม่ตรงปก…อย่าปล่อยผ่าน! มารู้วิธีเอาคืนแบบผู้รู้ทัน

รู้เท่าทันสื่อ ..หากคุณสั่งของมาแล้วไม่ตรงปก…อย่าปล่อยผ่าน! มารู้วิธีเอาคืนแบบผู้รู้ทัน “หากเราสั่งของออนไลน์…เปิดกล่องมา ‘โป๊ะ!’

อัพเดทล่าสุด
Categories
เยาวชน-การศึกษา

ทุนแห่งโอกาส เครือข่ายผู้ผลิตข่าวสตูล มอบทุนการศึกษาให้นักเรียนยากจน

ทุนแห่งโอกาส  เครือข่ายผู้ผลิตข่าวสตูล มอบทุนการศึกษาให้นักเรียนยากจน

          ณ โรงเรียนบ้านท่าแลหลา ต.กำแพง อ.เมือง จ.สตูล เครือข่ายผู้ผลิตข่าวสตูล นำโดย นางสาวพัชรี เกิดพรม ประธานเครือข่าย พร้อมคณะกรรมการและสมาชิก ได้จัดกิจกรรมมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนที่ทำกิจกรรมดีเด่นและมีฐานะยากจน จำนวน 10 ทุน เพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาและบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง

 

          นายมูฮอฟฟัล ยาหมาย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าแลหลา พร้อมด้วยคณะครูและประธานกรรมการสถานศึกษา ให้การต้อนรับคณะด้วยความอบอุ่น โดยโรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียน 160 คน ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย เนื่องจากพ่อแม่ต้องออกไปทำงานต่างถิ่น

 

นางสาวพัชรี  กล่าวว่า เครือข่ายผู้ผลิตข่าวสตูลเห็นความสำคัญของการส่งเสริมโอกาสทางการศึกษา จึงมอบทุนการศึกษาให้เด็กนักเรียนที่มีความจำเป็น

“เด็กเหล่านี้คืออนาคตของสังคม การช่วยเหลือในวันนี้คือการลงทุนเพื่ออนาคต เราหวังว่าน้องๆ จะเติบโตเป็นคนดี มีความรู้ และกลับมาช่วยเหลือสังคมต่อไป” นางสาวพัชรีกล่าว

 

ทางโรงเรียนบ้านท่าแลหลาได้กล่าวขอบคุณเครือข่ายผู้ผลิตข่าวสตูลที่ไม่เพียงแต่นำความช่วยเหลือมาสู่เด็กนักเรียน แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจให้ชุมชนมองเห็นคุณค่าของการร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

 …………………………………..

อัพเดทล่าสุด

รู้เท่าทันสื่อ ..หากคุณสั่งของมาแล้วไม่ตรงปก…อย่าปล่อยผ่าน! มารู้วิธีเอาคืนแบบผู้รู้ทัน

รู้เท่าทันสื่อ ..หากคุณสั่งของมาแล้วไม่ตรงปก…อย่าปล่อยผ่าน! มารู้วิธีเอาคืนแบบผู้รู้ทัน “หากเราสั่งของออนไลน์…เปิดกล่องมา ‘โป๊ะ!’

Categories
ข่าวเด่น

  มวลชนชาวสตูลกว่า 500 คน รวมพลังสวมเสื้อเหลือง มอบช่อดอกไม้–ส่งกำลังใจแม่ทัพภาค 2 ถึงค่ายสมันตรัฐฯ

มวลชนชาวสตูลกว่า 500 คน รวมพลังสวมเสื้อเหลือง มอบช่อดอกไม้–ส่งกำลังใจแม่ทัพภาค 2 ถึงค่ายสมันตรัฐฯ 

สตูล – เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2568 ประชาชนชาวจังหวัดสตูลกว่า 500 คน นำโดยนางอุดมศรี จันทรัศมี ประธานชมรมคนรักในหลวงจังหวัดสตูล พร้อมด้วยสมาชิกชมรมทหารผ่านศึก และพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ร่วมกันจัดกิจกรรมแสดงพลังเชิงสัญลักษณ์ ณ ค่ายสมันตรัฐบุรินทร์ ตำบลคลองขุด อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และส่งกำลังใจถึงกำลังพลในพื้นที่ชายแดน

ผู้ร่วมกิจกรรมต่างพร้อมใจกันสวมเสื้อสีเหลือง ถือธงชาติไทยและพระบรมฉายาลักษณ์ ร่วมขับร้องเพลงชาติไทยและเพลงสรรเสริญพระบารมีอย่างพร้อมเพรียง โดยตัวแทนจากชมรมคนรักในหลวงได้อ่านแถลงการณ์แสดงเจตจำนงในการรวมพลังรักชาติ และขอบคุณทหารทุกนายที่เสียสละปกป้องแผ่นดิน โดยเฉพาะแม่ทัพภาคที่ 2 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งขณะนี้กำลังเผชิญกับสถานการณ์ความตึงเครียดบริเวณแนวชายแดน

ไฮไลต์ของกิจกรรมคือพิธีมอบช่อดอกไม้แทนความรัก ความห่วงใย และกำลังใจจากพี่น้องชาวสตูล โดยมีร้อยโทสุรวุฒิ หนูเอียด ตัวแทนผู้บังคับกองร้อย ร.5 พัน.2 เป็นผู้รับมอบช่อดอกไม้ในนามแม่ทัพภาคที่ 2 ท่ามกลางเสียงปรบมือของประชาชนที่เข้าร่วมงานอย่างคึกคัก

นางรัตติยา มนูญดาหวี ตัวแทนจากชมรมคนรักในหลวงจังหวัดสตูล กล่าวว่า การรวมตัวในครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่เป็นการรวมพลังจากหัวใจของประชาชนที่ห่วงใยประเทศชาติ และต้องการส่งกำลังใจให้ทหารที่เสียสละปกป้องแผ่นดินมาอย่างต่อเนื่อง

…………………………..

อัพเดทล่าสุด

รู้เท่าทันสื่อ ..หากคุณสั่งของมาแล้วไม่ตรงปก…อย่าปล่อยผ่าน! มารู้วิธีเอาคืนแบบผู้รู้ทัน

รู้เท่าทันสื่อ ..หากคุณสั่งของมาแล้วไม่ตรงปก…อย่าปล่อยผ่าน! มารู้วิธีเอาคืนแบบผู้รู้ทัน “หากเราสั่งของออนไลน์…เปิดกล่องมา ‘โป๊ะ!’

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 “พริกเดือยไก่ปลายสวน” ปลูกไว้ได้ลูกจบรับราชการ  อดีตสาวร้านเครื่องสำอางจับมือคู่ชีวิต ลุยเกษตรอินทรีย์ สร้างรายได้มั่นคงที่บ้านนาแค สตูล

“พริกเดือยไก่ปลายสวน” ปลูกไว้ได้ลูกจบรับราชการ  อดีตสาวร้านเครื่องสำอางจับมือคู่ชีวิต ลุยเกษตรอินทรีย์ สร้างรายได้มั่นคงที่บ้านนาแค สตูล

สตูล – จากพนักงานขายเครื่องสำอางในห้างฯ เมื่อสิบปีก่อน “นางนุชติยา ใจดี” หรือ “พี่นุช” วัย 50 ปี และสามี ได้ร่วมกันพลิกชีวิตด้วยสองมือและแรงใจ กลับคืนถิ่นบ้านเกิด ณ บ้านนาแค หมู่ 5 ตำบลคลองขุด อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เปลี่ยนพื้นที่สวนยาง 3 ไร่ครึ่งให้กลายเป็นแหล่งผลิตพืชอินทรีย์และพลังชีวิตที่หล่อเลี้ยงครอบครัวมาอย่างมั่นคง

 

ชีวิตหลังแต่งงานทำให้พี่นุชเริ่มมองหาสิ่งที่มั่นคงกว่าเงินเดือน เขาและสามีจึงตัดสินใจหันหลังให้ชีวิตในเมือง หยิบจอบจับเสียม เรียนรู้เกษตรผสมผสานจากศูนย์ฝึกในชุมชนและจากประสบการณ์จริง จนสามารถออกแบบพื้นที่สวนได้อย่างลงตัว

 

ในสวนนี้ มีทั้งยางพาราอ่อนที่กำลังเติบโต พริกเดือยไก่ครึ่งไร่ ข้าวโพดครึ่งไร่ โหระพา แมงลัก และไผ่หวานกินชุง พร้อมแนวคิดอินทรีย์เต็มรูปแบบ ใช้น้ำหมักจากปลากับเศษกุ้ง ตามทฤษฎีนากุ้ง ไม่มีเคมี ไม่มีหนี้

 

“เราช่วยกันปลูก ช่วยกันเก็บ ตื่นเช้ามาด้วยกัน เหนื่อยด้วยกัน มันอาจไม่หวือหวา แต่เรามีอิสระ มีความสุข และที่สำคัญ เราเลี้ยงลูกจนเรียนจบกฎหมาย ทำงานรับราชการได้ด้วยผักพื้นบ้านพวกนี้” พี่นุชเล่าพลางยิ้ม

พริกเดือยไก่ที่ปลูกปีละครั้ง เก็บได้เกือบ 2 ตันต่อรอบ ราคาขายส่งอยู่ที่ราว 100 บาท ปลีก 150 บาท หากช่วงราคาดี เคยแตะถึง 220 บาทต่อกิโล รายได้เสริมมาจากหน่อไม้หวาน โหระพา แมงลัก ซึ่งลูกค้าหลักเป็นทั้งชาวบ้านและผู้สั่งซื้อออนไลน์ผ่าน Facebook “นุชติยา ใจดี”

 

ความได้เปรียบอีกอย่างของสวนนี้คือ ตั้งอยู่ใกล้แนวสันเขาการาคีรี พื้นที่อุดมสมบูรณ์ พืชผักเติบโตดีโดยไม่ต้องพึ่งสารเคมี ช่วยลดต้นทุนและปลอดภัยทั้งคนกินและคนปลูก

 

พี่นุชและสามีเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของ “คู่ชีวิตนักสู้” ที่ไม่ยอมแพ้ต่อวิถีเมืองใหญ่ กลับมาสร้างรากฐานจากผืนดินบ้านเกิด จนกลายเป็นครอบครัวเกษตรกรที่มั่นคง

 

“เราสองคนไม่เคยคิดจะรวย แต่อยากอยู่แบบไม่ลำบาก อยากให้ลูกเห็นว่าพ่อแม่ใช้แรงตัวเองเลี้ยงเขามา ทุกหยดเหงื่อมีคุณค่า” พี่นุชกล่าวทิ้งท้าย

 

หากคุณกำลังท้อแท้ อยากเริ่มต้นใหม่ หรือยังไม่รู้ว่าความสุขอยู่ที่ไหน ลองกลับมามองดินที่ปลายเท้า แล้วคุณอาจพบคำตอบเหมือน “สองคนสามีภรรยา” คู่นี้

สนใจพริกพื้นบ้าน ผักอินทรีย์ หรือต้องการคำแนะนำด้านเกษตรผสมผสาน  ติดต่อ: นางนุชติยา ใจดี โทร. 084-858-4060   Facebook: นุชติยา ใจดี

         

พริกเดือยไก่ เป็นพริกพันธุ์พื้นบ้าน มีคุณลักษณะพิเศษคือ. เม็ดยาวพอประมาณ รสชาติเผ็ดร้อน และมีความหอม จึงเหมาะกับการทำเป็นเครื่องแกง

รู้เท่าทันสื่อ ..หากคุณสั่งของมาแล้วไม่ตรงปก…อย่าปล่อยผ่าน! มารู้วิธีเอาคืนแบบผู้รู้ทัน

รู้เท่าทันสื่อ ..หากคุณสั่งของมาแล้วไม่ตรงปก…อย่าปล่อยผ่าน! มารู้วิธีเอาคืนแบบผู้รู้ทัน “หากเราสั่งของออนไลน์…เปิดกล่องมา ‘โป๊ะ!’

อัพเดทล่าสุด
Categories
เยาวชน-การศึกษา

19 โรงเรียนสตูล  เปิดเส้นทางอาชีพใหม่ จุดประกายความฝันนักเรียนสตูล  ผลักดันหนึ่งโรงเรียนหนึ่งอาชีพ เปิดโอกาสทุกกลุ่มวัยฝึกอาชีพระยะสั้น-ยาว

19 โรงเรียนสตูล  เปิดเส้นทางอาชีพใหม่ จุดประกายความฝันนักเรียนสตูล  ผลักดันหนึ่งโรงเรียนหนึ่งอาชีพ เปิดโอกาสทุกกลุ่มวัยฝึกอาชีพระยะสั้น-ยาว

       ที่วิทยาลัยเทคนิคสตูล  ต.พิมาน  อ.เมือง  จ.สตูล  นักเรียนจาก 19 โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดสตูล  นำผลงานอาชีพที่ทางโรงเรียนสนับสนุนส่งเสริมเป็นอาชีพ  มาโชว์ภายในงาน โครงการเปิดโลกกว้างสร้างเส้นทางสู่อาชีพ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

          โรงเรียนธรรมศาสน์วิทยา ต.ควนสตอ อ.ควนโดน จ.สตูล  หนึ่งใน 19 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ  นำ ศิลปะบนผิวน้ำ (Water Marbling Art) หนึ่งในงานศิลป์แสนมหัศจรรย์ที่สามารถต่อยอดเป็นอาชีพได้จริง  โดยหนึ่งในผู้ถ่ายทอดความรู้ครั้งนี้คือ นายฮาฟิซ ณรงค์ตะคุ  นักเรียนโรงเรียนธรรมศาสน์วิทยา ได้แสดงความสามารถในการอธิบายขั้นตอนและเทคนิคการทำศิลปะบนผิวน้ำอย่างชัดเจน

         นายฮาฟิซ ณรงค์ตะคุ  นักเรียนโรงเรียนธรรมศาสน์วิทยา  กล่าวว่า “การทำน้ำเจลสำหรับใช้หยดสีเริ่มจากใช้น้ำสะอาด 1 ลิตร ผสมกับผงเจล 5 กรัม ตีด้วยตะกร้อมือประมาณ 5 นาที พักไว้ให้เจลดูดน้ำจนเข้าที่ จากนั้นนำมาใช้ภายใน 3-7 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ สีที่ใช้เป็นสีเฉพาะสำหรับศิลปะผิวน้ำ ต้องเขย่าก่อนใช้งาน และหยดสีลงถาดอย่างเบามือ ก่อนนำวัสดุเช่น หมวกผ้า เสื้อ หรือกระเป๋าผ้าจุ่มลงไป แล้วตากให้แห้ง”

          นอกจากนี้นักเรียนจากโรงเรียนอื่นๆที่เข้าร่วม   ต่างนำผลงานออกมาโชว์ เช่น กระเป๋า  หมอนรองคอ ปกหนังสือ  หมวก  พวงกุญแจ  ที่ตัดเย็บอย่างปราณีตด้วยลายผ้าเพ้นท์ด้วยสีธรรมชาติจากใบไม้   รวมถึง ผลิตภัณฑ์จากผ้ามันย้อมด้วยสีจากไม้ป่าชายเลน  ผลิตภัณฑ์จากผ้าปาเตะลายพื้นเมืองสตูล  

และยังมีนักเรียนที่ถนัดทำขนม  ก็สาธิต การทำขนมจีบ  การทำขนมโดนัดจิ๋ว  การเพาะเห็ด  และอื่นๆอีกหลายเมนู

          นอกจากนี้ยังมีผลงานของนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสตูล โดยเปิดศูนย์ซ่อมบำรุงกายอุปกรณ์และพัฒนานวัตกรรมการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา จังหวัดสตูล   พร้อมโชว์การบังคับการเคลื่อนย้ายวิลแชร์ด้วยตัวเองภายในงาน    

         กิจกรรมนี้ไม่เพียงเปิดโลกความคิดสร้างสรรค์ แต่ยังสามารถต่อยอดเป็นรายได้ระหว่างเรียน โดยมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 19 แห่งทั่วจังหวัด 

 

         นายสง่า แต่เชื้อสาย รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวในโอกาสเดินทางมาเปิดโครงการดังกล่าวว่า   “นี่คือต้นแบบการจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นการสร้างอาชีพจริง มีวิภาคีเครือข่ายร่วมมือหลากหลาย ทั้งภาคการศึกษา ภาคประชาชน และหน่วยงานท้องถิ่น โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูลที่ให้การสนับสนุนงบประมาณกว่า 1 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมอาชีพระยะสั้นและระยะยาว ทั้งในระบบและนอกระบบ”

 

          นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล กล่าวเพิ่มเติมว่า   “พร้อมผลักดันงบประมาณอย่างเต็มที่ เห็นว่าโครงการนี้สามารถสร้างโอกาสให้นักเรียนและประชาชน โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส ให้มีทักษะ สร้างรายได้ และลดผลกระทบในช่วงภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง”

……………………………………..

อัพเดทล่าสุด

รู้เท่าทันสื่อ ..หากคุณสั่งของมาแล้วไม่ตรงปก…อย่าปล่อยผ่าน! มารู้วิธีเอาคืนแบบผู้รู้ทัน

รู้เท่าทันสื่อ ..หากคุณสั่งของมาแล้วไม่ตรงปก…อย่าปล่อยผ่าน! มารู้วิธีเอาคืนแบบผู้รู้ทัน “หากเราสั่งของออนไลน์…เปิดกล่องมา ‘โป๊ะ!’

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 จากครูวิทย์…สู่เจ้าของสวนหมอนทอง!  “ภณ ลิ่มพรเจริญ” พลิกชีวิต ล้มสวนยาง ปั้นสวนทุเรียนคุณภาพแห่งสตูล พร้อมเปิดฤดูกาล 18 มิ.ย.นี้

จากครูวิทย์…สู่เจ้าของสวนหมอนทอง!  “ภณ ลิ่มพรเจริญ” พลิกชีวิต ล้มสวนยาง ปั้นสวนทุเรียนคุณภาพแห่งสตูล พร้อมเปิดฤดูกาล 18 มิ.ย.นี้

         ที่ 272 หมู่ 2 ต.ควนกาหลง อ.ควนกาหลง จ.สตูล มีชายคนหนึ่งที่กล้าฝัน และลงมือทำจริงจัง — นายภณ ลิ่มพรเจริญ วัย 52 ปี อดีตคุณครูวิทยาศาสตร์ที่ตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิต ล้มสวนยางเก่าบนพื้นที่ 6 ไร่ของตัวเอง เพื่อเริ่มต้นใหม่กับ “ทุเรียนหมอนทองคุณภาพสูง”

 

         “จากการสอนในห้องเรียน ผมหันมาศึกษาวิชาชีวิตนอกตำรา ใช้ประสบการณ์+ความอดทน พัฒนาสวนเองทุกขั้นตอน” นายภณเล่าด้วยแววตามุ่งมั่น

 

          เขาเลือกปลูก “หมอนทองจันทบุรี” ซึ่งใช้เวลากว่า 8 ปีในการพัฒนาสวน ผลผลิตเพิ่มขึ้นทุกปี — ปีแรก 500 ลูกปีที่สอง 1,000 ลูก  ปีล่าสุดคาดทะลุ 1,500 ลูก!

           ความยากไม่ได้อยู่แค่การปลูก…แต่อยู่ที่การดูแล!  “ปลูกทุเรียนไม่ง่ายอย่างที่คิด ต้องแต่งกิ่ง คุมยอดอ่อน และรับมือศัตรูพืชเพียบ”  ทั้ง เพลี้ยไฟ เพลี้ยไก่แจ้ ไรแดง ฯลฯ  นายภณ ลงมือกำจัดศัตรูพืชเองทุกครั้ง เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ปลอดภัยและได้คุณภาพ

 

           จุดเด่นของสวนคือ  เนื้อแน่น เปลือกบาง กลิ่นหอมหวานมัน รสชาติกลมกล่อม จนลูกค้าประจำบอกว่า “กินแล้วหยุดไม่ได้ ต้องสั่งทุกปี!”

 

         สวนจำหน่ายทั้ง ขายปลีก-ส่ง และเปิดให้ สั่งจองล่วงหน้า ผ่าน   Facebook: Phon Limproncharoen   โทร: 065-995-1915   รับประกันคุณภาพ : หากลูกค้าพบเนื้อไม่สมบูรณ์ เคลมได้ทันที เพียงถ่ายวิดีโอส่งกลับมายืนยัน

          ฤดูกาลใหม่เริ่ม 18 มิถุนายน 2568 นี้!  ใครที่ยังไม่เคยลองทุเรียนคุณภาพจากควนกาหลง…ปีนี้อย่าพลาด

…………………………….

รู้เท่าทันสื่อ ..หากคุณสั่งของมาแล้วไม่ตรงปก…อย่าปล่อยผ่าน! มารู้วิธีเอาคืนแบบผู้รู้ทัน

รู้เท่าทันสื่อ ..หากคุณสั่งของมาแล้วไม่ตรงปก…อย่าปล่อยผ่าน! มารู้วิธีเอาคืนแบบผู้รู้ทัน “หากเราสั่งของออนไลน์…เปิดกล่องมา ‘โป๊ะ!’

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป

ควันที่หอม…แต่แฝงด้วยพิษร้าย ทำร้ายร่างกายเด็กและเยาวชน

ควันที่หอม…แต่แฝงด้วยพิษร้าย ทำร้ายร่างกายเด็กและเยาวชน

ควันที่หอม…แต่แฝงด้วยพิษร้าย ทำร้ายร่างกายเด็กและเยาวชน

 

“ดูดแล้วเท่ ดูดแล้วสบาย” คำชวนเชื่อที่พาเด็กหลงทางโดยไม่รู้ตัว

 

ในยุคที่กลิ่นหอมหวานจาก “บุหรี่ไฟฟ้า” กลายเป็นแฟชั่นในหมู่เยาวชน หลายคนไม่รู้ว่าเบื้องหลังควันนุ่ม ๆ กลับซ่อน “สารพิษกว่า 200 ชนิด” ที่ทำลายร่างกายอย่างช้า ๆ ตั้งแต่นิโคตินที่เสพติดง่าย ไปจนถึงโลหะหนักที่กระทบสมอง ปอด และหัวใจของเด็กที่ยังเติบโตไม่เต็มที่

 

เด็กและเยาวชนจำนวนมากถูกหลอกด้วยรูปลักษณ์ล้ำสมัย กลิ่นผลไม้ กลิ่นขนม หรือแม้แต่ชื่อแบรนด์ที่ฟังดูไร้พิษภัย แต่ในความเป็นจริง บุหรี่ไฟฟ้าเป็นประตูสู่การเสพติดสารนิโคติน และในหลายกรณียังพ่วงมาด้วยสารเสพติดชนิดอื่นแบบไม่รู้ตัว

 

**อันตรายของควันหอมนี้ไม่ได้หยุดแค่ในตัวผู้สูบ**

แต่ยังลามไปถึงคนรอบข้างผ่านควันมือสองและมือสาม โดยเฉพาะเด็กเล็กที่รับผลกระทบทางเดินหายใจโดยตรง

### แล้วจะป้องกันตัวเองได้อย่างไร?

 

✅ **อย่าอยากลองเพราะเพื่อนชวน** – การปฏิเสธด้วยเหตุผลชัดเจน เช่น “มันไม่ดีต่อสุขภาพ” จะทำให้เพื่อนยอมรับได้มากกว่าการพูดว่า “ไม่เอา ไม่อยาก”

✅ **รู้เท่าทันโฆษณา** – ไม่เชื่อคำชวนเชื่อในโซเชียลที่พยายามทำให้บุหรี่ไฟฟ้าดูปลอดภัย

✅ **เลือกคบเพื่อนที่เสริมพลังบวก** – เพื่อนที่ไม่ชักชวนไปในทางเสี่ยง เป็นเกราะป้องกันที่ดีที่สุด

✅ **เข้าร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์** – กีฬา ดนตรี หรือกิจกรรมจิตอาสา ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจจากสิ่งเสพติด

✅ **หากเริ่มใช้แล้ว อย่าลังเลที่จะขอความช่วยเหลือ** – โทรปรึกษาสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 ฟรี!

 

**บุหรี่ไฟฟ้าอาจดูทันสมัย แต่พิษภัยของมันย้อนยุคถึงอายุขัยเราทุกคน**

เด็กและเยาวชนควรได้รับการปกป้อง ไม่ใช่ถูกทดสอบด้วยควันอันตรายที่ไม่มีวันหอมจริง

…………………………………………

รู้เท่าทันสื่อ ..หากคุณสั่งของมาแล้วไม่ตรงปก…อย่าปล่อยผ่าน! มารู้วิธีเอาคืนแบบผู้รู้ทัน

รู้เท่าทันสื่อ ..หากคุณสั่งของมาแล้วไม่ตรงปก…อย่าปล่อยผ่าน! มารู้วิธีเอาคืนแบบผู้รู้ทัน “หากเราสั่งของออนไลน์…เปิดกล่องมา ‘โป๊ะ!’

อัพเดทล่าสุด