Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

สวนสละออร์แกนิคสตูล เปิดประตู่สู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สวนสละออร์แกนิคสตูล เปิดประตู่สู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตร

            วันนี้พาทุกท่านไปรู้จักกับสวนสละออร์แกนิคแห่งใหม่ในจังหวัดสตูล   ที่กำลังเป็นจุดหมายใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวและคนรักสุขภาพ

 

           สวนสละควนกาหลงเกษตรออร์แกนิค  ตั้งอยู่ที่หมู่ 5 ตำบลควนกาหลง อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล บนพื้นที่กว่า 50 ไร่ ดูแลโดยมีคุณดวงใจ ด้วงได้   เป็นผู้ดูแลบอกว่าสวนแห่งนี้ได้เปลี่ยนจากการปลูกปาล์มน้ำมันที่มีอายุแก่มากแล้ว   มาเป็นสวนสละสุมาลีและหมากแซมเพื่อให้ร่มเงา

 

          คุณดวงใจเล่าให้ฟังว่า   “สวนของเราเพิ่งให้ผลผลิตเป็นปีที่ 3  สละจะออกผลในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม จากนั้นก็จะให้ผลผลิตน้อยแต่!! ให้ผลผลิตทั้งปี   ราคาขายอยู่ที่ 50-60 บาทต่อกิโลกรัม มีทั้งขายปลีกและขายส่ง  โดยมีทั้งขายในจังหวัดสตูล และมีแม่ค้ารับซื้อประจำ รวมถึงขายหน้าสวนด้วยค่ะ”

 

          สละสุมาลีที่นี่มีรสชาติพิเศษ   ทั้งหวานและหวานอมเปรี้ยว   ซึ่งเป็นที่ถูกปากของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก  และวันนี้ทาง สวนได้เตรียมสละสุมาลีจำนวนมาก  เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวและนักปั่นจักรยาน 100 กิโลกรัมไว้ด้วยภายในสวน  เพื่อให้นักท่องเที่ยวและนักปั่นจักรยานได้ชิมรสชาติและดื่มด่ำความเป็นธรรมชาติจากที่สวนสละ และเห็นต้นของสละพร้อมจับจ่ายซื้อหากลับบ้านได้ด้วย 

        คุณดวงใจ   ยังมีแผนพัฒนาสวนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้เป็นที่รู้จัก   โดยเธอกล่าวว่า “เรามีความตั้งใจที่จะทำให้สวนเป็นจุดท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวได้มาชิมสละสดๆ ในสวน และเชื่อมโยงไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ในอำเภอควนกาหลง และจังหวัดสตูลค่ะ แม้จะเพิ่งเริ่มต้น แต่เราเชื่อมั่นว่ากำลังเดินมาถูกทางแล้ว”

 

          ทั้งนี้ นายณัฐภาพงศ์   สุวรรณชนะ   นายกองค์การบริหารส่วนตำบลควนกาหลง  พร้อม  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  สำนักงานสตูล  ได้เข้ามาสนับสนุนด้านวิชาการ และส่งเสริมการตลาด และประชาสัมพันธ์ เพื่อผลักดันให้สวนสละแห่งนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

 

          สำหรับผู้ที่สนใจอยากลิ้มลองสละออร์แกนิค  หรือ  มาเที่ยวชมสวน  สามารถติดต่อได้ที่ อบต.ควนกาหลง หรือเพจ  ‘ดวงใจด้วงได้’  และเบอร์โทรศัพท์ 062-054-8917

 

…………………………………………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

สตูลขนราชินีผลไม้  “ทุเรียนหมอนทอง” เกรดพรีเมี่ยมส่งออกจีนกินฟรี!! มูลค่า 140,000บาท และผลไม้พื้นถิ่นกระตุ้นท่องเที่ยวชุมชน  เทศกาลปั่นชมสวน ชวนชิมอิ่มผลไม้ ครั้งที่ 10

จัดยิ่งใหญ่!! สตูลขนราชินีผลไม้  “ทุเรียนหมอนทอง” เกรดพรีเมี่ยมส่งออกจีนกินฟรี!! มูลค่า 140,000บาท และผลไม้พื้นถิ่นกระตุ้นท่องเที่ยวชุมชน  เทศกาลปั่นชมสวน ชวนชิมอิ่มผลไม้ ครั้งที่ 10 ระเบิดความสนุกที่สตูล

          องค์การบริหารส่วนตำบลควนกาหลง จังหวัดสตูล  โดยนายณัฐภาพงศ์ สุวรรณชนะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลควนกาหลง   ร่วมกับ ททท.สำนักงานสตูล  และภาคีเครือข่าย จัดงาน “เทศกาลปั่นชมสวน ชวนชิมอิ่มผลไม้ ครั้งที่ 10 ” หรือ “Bike & Taste Fruits Festival 2024” ในวันที่ 18 สิงหาคม 2567   เชิญชวนนักปั่นและนักท่องเที่ยวร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานชมสวนผลไม้และแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่  ต.ควนกาหลง อ.ควนกาหลง  จ.สตูล  โดยนายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ ส.ส.เขต 2 จังหวัดสตูล  เป็นประธานปล่อยตัวนักปั่นในครั้งนี้

 

           สำหรับ กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและสุขภาพ โดยมีนักปั่นจักรยานทั่วสารทิศ 350 คนกับเส้นทางปั่นจักรยาน มีระยะทางรวมประมาณ 60 กิโลเมตร ผู้เข้าร่วมจะได้สัมผัสบรรยากาศธรรมชาติและชมสวนผลไม้หลากหลายชนิด

 

           เส้นทางการปั่นจักรยานเริ่มต้นที่ อบต.ควนกาหลง จากนั้นแวะชมสวนผักตาหวาน สวนผสมผสานของคุณสมนึก ชุมพล โดยเฉพาะที่สวนทุเรียนหมอจอยได้นำทุเรียนหมอนทองส่งออกขายประเทศจีน จำนวน 300 ลูกตกลูกละไม่น้อยกว่า 3 กิโลกรัมมาสนับสนุนงานให้นักปั่นจักรยานจากทั่วสารทิศได้ทานกันฟรีถึงในสวนที่มีมากกว่า 35,000 ต้น เจ้าของสวนหมอจอย  ยังยอมรับว่าปีนี้ราคาทุเรียนดีมากอยู่ที่กิโลกรัมละ 140 บาทนำมาให้ทุกคนได้ลิ้มชิมรสชาติทุเรียนพรีเมี่ยมเกรดส่งต่างประเทศได้ชิมกันแบบจุใจ   และยังมีบางส่วนนำไปเป็นรางวัลให้กับนักปั่นในครั้งนี้นำกลับบ้านด้วย

          นอกจากสวนทุเรียนพรีเมี่ยมของหมอจอยทานฟรีแล้ว  ยังมีขนมพื้นเมือง และ สละสุมาลีควนกาหลง ซึ่งเป็นเกษตรออร์แกนิค ให้ชิมสละฟรีและบางจุดได้วางขายให้ซื้อกลับบ้านด้วย

 

          งานนี้นับเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการปั่นจักรยานและการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ได้สัมผัสวิถีชีวิตชาวสวนและลิ้มรสผลไม้ท้องถิ่นของจังหวัดสตูล  และลิ้มรสราชินีผลไม้เกรดพรีเมี่ยมส่งออกไปพร้อมกันด้วย งานนี้ฟรีตลอดรายการ ปีน่าทางอบต.ควนกาหลง บอกว่าจะจัดให้ยิ่งใหญ่ขึ้นเพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวชุมชน ตำบลควนกาหลง จังหวัดสตูลไปด้วย

………………

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท้องถิ่น-การเมือง

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยภาคใต้ วอนนายกรัฐมนตรีคนใหม่ดันประเด็นซอฟเพาเวอร์ต่อ และความชัดเจนเงินดิจิตอลวอลเล็ต

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยภาคใต้ วอนนายกรัฐมนตรีคนใหม่ดันประเด็นซอฟเพาเวอร์ต่อ และความชัดเจนเงินดิจิตอลวอลเล็ต

ได้แล้วสำหรับโฉมหน้านายกรัฐมนตรีคนใหม่แม้จะไม่เหนือความคาดหมายของประชาชน แต่สิ่งที่ประชาชนมุ่งหวังโดยเฉพาะภาคธุรกิจฐานรากอย่าง SME อยากเห็นการขับเคลื่อนที่เชื่อมกันทุกมิติเพื่อความเข็มแข็งในเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน

นายจักรพรรณ วัลแอ เลขาธิการสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยภาคใต้ , ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จ.สตูล กล่าวว่า อยากจะฝากไปถึงรัฐบาลและนโยบายภาครัฐที่กำลังจะเกิดขึ้น ทางพวกเราชาว SME เป็นห่วงและห่วงใยในการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่จ.สตูลและใน 14 จังหวัดภาคใต้ที่ตนดูแลอยู่ด้วยว่าประเด็น digital wallet หลังจากนี้จะขับเคลื่อนต่ออย่างไร

และนโยบายที่รัฐบาลก่อนหน้าขับเคลื่อนอยู่คือนโยบาย supplower วันนี้ในพื้นที่อำเภอละงูก็มีการผลักดันกิจกรรม “ตำข้าวเม่า” ซึ่งอยากให้มีการผลักดันให้เป็น soft power ด้วยเช่นกัน ในมิติของอาหาร ในด้านการพัฒนาชุมชนไปสู่การท่องเที่ยว ที่จะให้เกิดขึ้นในแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน

การขับเคลื่อนทั้งในหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สื่อมวลชนที่พยายามขับเคลื่อนจับมือกันหลายรายกำลังรอความหวังกับรัฐบาลใหม่ ที่กำลังจะเกิดขึ้นไป
………………………………………………

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท้องถิ่น-การเมือง เยาวชน-การศึกษา

 ชาวบ้านเขาขาวนำไก่ตัวโปรดร่วมแข่งขันประชันเสียงไก่ขัน ในงานยกระดับเศรษฐกิจฐานรากชุมชนต้นแบบ สร้างสีสันต์ในชุมชน 

สตูล_ชาวบ้านเขาขาวนำไก่ตัวโปรดร่วมแข่งขันประชันเสียงไก่ขัน ในงานยกระดับเศรษฐกิจฐานรากชุมชนต้นแบบ สร้างสีสันต์ในชุมชน

สิ้นเสียงนกหวีดดัง เจ้าของไก่แจ้พันธุ์พื้นเมืองต่างส่งเสียงและท่าทางสนุกสนาน ส่งสัญญานให้ไก่ตัวโปรดขันร้อง เพื่อเรียกคะแนน ภายในสนามแข่งขันประชันเสียงไก่แจ้ โดยสนามนี้มีผู้ร่วมแข่งขันทั้งหมด 20 ทีม แข่งขันกัน 4 ยก ยกละ1 นาที ขันให้ได้รวม 8 ดอก หรือ ขัน 8 ครั้ง จะเป็นผู้ชนะ โดยนายเพิ่ม ตรีสุข เจ้าของไก่ชื่อ จะโก้ย หรือ ปาต้องโก๋ ได้รับชัยชนะในครั้งนี้ รับรางวัลที่เงินสด 500 บาท

ด้านนายอำสัน ตรีสุข อายุ 52 ปี ผู้จัดการแข่งขัน กล่าวว่า การแข่งขันประชันเสียงไก่ขัน มีการจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ตำบลเขาขาวแต่ได้หยุดไปช่วงโควิดระยะหนึ่ง ก่อนมาจัดขึ้นอีกครั้งเพื่อความสนุกสนานเป็นการอนุรักษ์ไก่แจ้ไว้ ซึ่งการแข่งขันนี้เป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมในพื้นที่เขาขาวมานาน โดยไก่แจ้เป็นไก่พื้นเมือง ที่จัดอยู่ในประเภทสัตว์สวยงามอยู่คู่สังคมไทยมาเป็นเวลานาน บางคนเลี้ยงไว้ดูเล่น

สำหรับการแข่งขันประชันเสียงไก่ขันเป็น 1 ในกิจกรรม ภายในโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจฐานรากชุมชนต้นแบบ (เทศกาลตำข้าวเม่า ปี 2) ต.เขาขาว อ.ละงู จ.สตูล ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-17 สิงหาคม 2567 ณ ต.เขาขาว อ.ละงู จ.สตูล โดยนายคณิต คงช่วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานในพิธีเปิดงาน โดยมี รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา นายวรวุฒิ ปาละสัน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเขาขาว นายจักรพรรณ วัลแอ เลขาธิการสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยภาคใต้ , ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จ.สตูล ส่วนราชการเข้าร่วม พร้อมมอบรางวัลการประชันเสียงไก่ขันในเวทีนี้

    

ผศ.ดร.วัชชพงษ์ ชัชวาลย์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา กล่าวว่า ภายในงานเทศกาลต่ำข้าวเม่า ปี 2 “โครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากชุมชนต้นแบบ ต.เขาขาว อ.ละงู จ.สตูล มีการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง ประเพณีท้องถิ่นชุมชนเขาขาว และจัดงานเพื่อส่งเสริมอนุรักษ์ ฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมอาหารพื้นถิ่นและการประกวดธิดาข้าวเม่าชุมชนเขาขาว ปีที่ 2” โดยภาคีเครือข่ายที่ร่วมจัดงาน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประภาคการศึกษา ที่ได้ผนึกกำลังกันเพื่อนำทุนทางวัฒนธรรมด้านต่างๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ตำบลเขาขาขาวมาจัดแสดงและประชาสัมพันธ์พื้นที่ให้คนภายนอก ได้รับรู้ผ่านการจัดงานเทศาล

การนำเอาศักยภาพของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน ประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่น มาร่วมขับเคลื่อน รวมถึงการสนับสนุนการรวมตัวของประชาชนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนให้สอดคล้องกับความต้องการระดับพื้นที่บนฐานองค์ความรู้และความเข้าใจในบริบทในเชิงลึก นับเป็นการเสริมสร้างศักยภาพและความสามารถของประชาชน เฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดโอกาสให้เกิดกระบวนการรวมตัวของประชากรทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ในการร่วมคิด ร่วมลงมือพัฒนา เป็นพลังสำคัญในการสร้างโอกาสและความเสมอภาศในสังคมควบคู่ไปกับการดำเนินการของภาครัฐในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า

การพัฒนาการท่องเที่ยวระดับชุมชนท้องถิ่นและเชิงพื้นที่ ถือเป็นการวางแผนที่เชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจกับชุมชนแหล่งท่องเที่ยว การนำทุนทางศิลปวัฒนธรรมมาสร้างให้เกิดมูลค่าและคุณค่าใหม่ เป็นการเพิ่มโอกาสให้ทุกภาคส่วนในทุกระดับเข้ามาเป็นกำลังของการพัฒนา เป็นการสร้างพื้นที่สร้างความเข้าใจและยอมรับถึงคุณค่า และสร้างเป้าหมายหรือร่วมอย่างสร้างสรรค์
………………………

   

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

“หมี่ผัดกะทิปูม้า” อาหารพื้นเมือง เมนูที่คัดสรรวัตถุดิบสดใหม่จนเป็นที่ยอมรับลูกค้าสั่งซื้อต่อเนื่อง

สตูล-“หมี่ผัดกะทิปูม้า” อาหารพื้นเมือง เมนูที่คัดสรรวัตถุดิบสดใหม่จนเป็นที่ยอมรับลูกค้าสั่งซื้อต่อเนื่อง

         ” หมี่ผัดกะทิปูม้า “  เป็นอาหารพื้นเมืองที่ได้รับความนิยมอย่างมาก  มีลูกค้าสั่งซื้อมากสุดถึง 300 กล่อง  สร้างรายได้ให้ครัวบาซีเราะ  ที่เปิดร้านขายมา 2 ปีแล้ว

 

        นางรุ่งญาดา เจริญทรัพย์ อายุ 52 ปี เจ้าของร้าน “ครัวบาซีเราะ” ซึ่งตั้งอยู่ติดกับ ตม.สตูล ตรงวงเวียนหอนาฬิกา ในตำบลพิมาน อำเภอเมือง จังหวัดสตูล   พร้อมลูกมือกำลังผัดหมี่กะทิปูม้ากระทะใหญ่ให้กับลูกค้าที่สั่งซื้อเพื่อใช้ในงานเลี้ยง

 

          โดยส่วนผสมสำคัญของหมี่ผัดกะทิปูม้า ประกอบด้วย เครื่องแกงที่มีพริกแห้งและหอมแดง, น้ำมะขามเปียก, เต้าเจี้ยว, น้ำตาลมะพร้าวและน้ำตาลทราย, ปูม้านึ่ง, และหมี่ขาวหรือหมี่หุ้น นอกจากนี้ยังมีผักเครื่องเคียงอย่างถั่วงอก กุยช่าย มะม่วงสด และพริกสด

 

          วิธีทำเริ่มจากการเคี่ยวกะทิกับเครื่องแกงจนหอม จากนั้นใส่น้ำตาลปี๊บ น้ำมะขาม เต้าเจี้ยว น้ำตาลทราย และปู เคี่ยวนาน 2 ชั่วโมงจนปูนิ่ม แล้วจึงนำหมี่ลงไปผัด เมื่อเสร็จแล้วปิดฝาอบให้หมี่นุ่ม เป็นอันเสร็จ

          นางรุ่งญาดา  หรือ คุณตุ๊ก  บอกว่า  เคล็ดลับความอร่อยอยู่ที่การใช้ปูหรือกุ้งสด และไม่ใส่เกลือ เพราะได้ความเค็มจากปูและเต้าเจี้ยวแล้ว สูตรนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากหมี่กะทิตรัง แต่เพิ่มเนื้อปูเข้าไปเพื่อเพิ่มความอร่อย

 

         นอกจากหมี่ผัดกะทิปูม้าแล้ว ทางร้านยังมีเมนูอื่นๆ เช่น ขนมจีนแกงปู และข้าวราดแกง โดยหมี่ขายกล่องละ 35 บาท เคยขายมากสุดถึง 300 กล่อง

 

          ร้านครัวบาซีเราะเปิดขายทั้งหน้าร้านและรับออเดอร์ รวมถึงรับจัดงานประชุม งานเลี้ยง และงานนูหรี หากท่านสนใจสามารถติดต่อได้ที่เบอร์ 093-0787122 คุณตุ๊ก

 

         นี่เป็นตัวอย่างของอาชีพที่สร้างรายได้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์ จนกลายเป็นเมนูยอดนิยมในจังหวัดสตูล

…………………………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
เยาวชน-การศึกษา

 สตูล-ดึงนักศึกษาชายแดนใต้ มีส่วนร่วม จัดงานกิจกรรมท่องเที่ยว  SKRU Camping สุดชิคใน ม.ราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล แคมป์ปิ้ง วัฒนธรรมรำมโนราห์ตัวอ่อน 

สตูล-ดึงนักศึกษาชายแดนใต้ มีส่วนร่วม จัดงานกิจกรรมท่องเที่ยว  SKRU Camping สุดชิคใน ม.ราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล แคมป์ปิ้ง วัฒนธรรมรำมโนราห์ตัวอ่อน 

         ผศ.ดร.อนุมัติ  เดชนะ  รองอธิการบดี ม.ราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล พร้อมด้วย  อาจารย์ ดร.ทวีสินธุ์  ตั้งเซ่ง  ผู้อำนวยการสำนักงานวิทยาเขตสตูล   เปิดเผยว่า ทางราชภัฎสงขลา วิทยาเขตสตูล นำร่องกิจกรรมแคมป์ปิ้ง พักเต้น เน้นของชุมชน ชูลานวัฒนธรรมศิลปะภาคใต้ ดันกิจกรรมนักศึกษา ในพื้นที่ชายแดนใต้ ภายใต้งานโครงการ การท่องเที่ยวเชิงเกษตรบนฐานการเรียนรู้ โคก หนอง นา  โมเดล เชื่อมรูปแบบแคมปิ้ง  ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา วิทยาเขตสตูล  โดยนายคณิต  คงช่วย  รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล  เป็นประธานในพิธีเปิด

 

         บรรยากาศภายในงานมีลานกิจกรรมที่นำการแสดงของเด็กๆนักศึกษาที่เป็นเด็กในพื้นที่ได้มาเรียนกันที่นี่  รวมทั้งจัดเวทีการแสดงออกการร้องเพลง และการร่ายรำศิลปวัฒนธรรม รำมโนราห์ตัวอ่อนเป็นการเปิดพื้นที่ดีๆการกล้าแสดงออก นอกจากนี้มีการขายของจากสินค้า อาหารพื้นถิ่นของชุมชนในพื้นที่นำมาวางขาย และ มีจุดลานกางเตนท์  แคมป์ปิ้ง และมีคาเฟ่กิจรรมมาจัดโชว์ทั้งรถเก่า  ขี่ม้ารอบมหาวิทยาลัย 

 

         ด้าน ผศ.ดร.อนุมัติ  เดชนะ  รองอธิการบดี ม.ราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นการนำร่องจัดงานครั้งแรก ภายใต้ชื่อว่า SKRU Camping สุดชิคใน ม.ราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล บรรยากาศการตั้งแคมป์ปิ้งในมหาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล  ซึ่งเป็น 1 กิจกรรมในโครงการศูนย์เรียนรู้ เพื่อการพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรชุมขนอย่างยั่งยืน ที่คณะอาจารย์จัดขึ้น  จัดเพียง 1 วัน การนำร่องปีนี้โดยปีหน้าดึงหลายภาคส่วนมาร่วมจัดงานใหญ่กว่าเดิม

 

          การจัดงานและสัมมนาเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และการจัดการท่องเที่ยวเชิงเกษตรบนฐานการเรียนรู้โคกหนองนาโมเดลเชื่อมโยงรูปแบบแคมป์ปิ้งและลานกิจกรรมวัฒนธรรมของนักศึกษาซึ่งจังหวัดสตูลเองนั้น  ทางจังหวัดก็มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนตลอดมา  ซึ่งกิจกรรมนี้ก็สอดคล้องกับยุทธศาสตร์รวมทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏที่เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอยู่แล้วนั้น  การจัดงานครั้งนี้จึงเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็งบนฐานของการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน  พร้อมทั้งเป็นการสื่อให้เห็นถึงการยกระดับและเพิ่มมูลค่าการดำเนินงานกิจกรรมต่างๆไม่ว่าจะเป็นแคมป์ปิ้งการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและกิจกรรมวัฒนธรรมและการนำเด็กในพื้นที่ชายแดนภาคใต้อย่างดึกสตูลร่วมมีกิจกรรมถือเป็นเรื่องที่ดีและในรูปแบบแคมป์ปิ้งพร้อมกับเป็นการนำอาหารพื้นถิ่นขนมอร่อยของชุมชนมาชูโรงพัฒนาชุมชนแบบยั่งยืนมีรายได้ต่อไป

      ……………………………………………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

ชาวบ้านใจดี..แจกฟรีผลไม้ในชุมชน 700 กก.ใส่โคระกิ๊บเก๋จากภูมิปัญญาบรรพบุรุษเป็นของรางวัลระดับอินเตอร์เนชั่นแนล เทรล รันนิ่ง

สตูลชาวบ้านใจดี..แจกฟรีผลไม้ในชุมชน 700 กก.ใส่โคระกิ๊บเก๋จากภูมิปัญญาบรรพบุรุษเป็นของรางวัลระดับอินเตอร์เนชั่นแนล เทรล รันนิ่งได้ที่ 1 ,2 และ 3  แจกอีกทุเรียนหมอนทอง 3 กก.

โคระ   เครื่องสานที่ใช้ห่อ  หรือ  สวมผลไม้  ของชาวบ้านจากอดีตจนถึงปัจจุบัน  โดยเฉพาะไม้ผลจำปาดะที่ชาวบ้านนำมาสวมใส่เพื่อป้องกันตัวหนอนชอนไช   ทำความเสียหายให้กับผลไม้ ทำจากใบมะพร้าวสดหรือแห้งก็ได้ มาวันนี้ชาวบ้านโตนปาหนัน  ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง  จังหวัดสตูลได้นำมาเป็นของรางวัลให้กับนักวิ่งเทรล อันดามัน อินเตอร์เนชันแนล เทรล รันนิ่ง Andaman International Trail Running @ Satun” ประจำปี 2567  จำนวน 630 อัน

โดยด้านในโคระที่มีการสานจากใบมะพร้าวสด ชาวบ้านได้ใส่เงาะ 300 กิโลกรัม  มังคุด 300 กิโลกรัม  และลองกอง 100 กิโลกรัม  จากสวนของชาวบ้านในพื้นที่ช่วยกันบริจาค  แยกใส่เป็นโคระได้ทั้งหมด 630 อันตามจำนวนนักวิ่งเทรลมอบให้ฟรี  เพื่อเป็นการขอบคุณที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมในพื้นที่ของชาวบ้านจนเกิดการจ้างงาน ทั้งสต๊าฟ และรายได้เข้ามาหมุนเวียนในชุมชน นอกจากนี้นักวิ่งที่ได้รับรางวัลที่ 1 ที่2 และที่ 3 ของรายการวิ่งทุกประเภทยังได้รับทุเรียนหมอนทองลูกละ 3 กิโลกรัมของฝากจากชุมชนไปทานด้วย

  

         สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับนักวิ่งเทรลจากทั้วสารทิศทั้งชาวไทยและต่างชาติทั้งมาเลเซีย และชาวยุโรป ที่นอกจากจะได้เหรียญรางวัลจากการวิ่งแล้ว  ยังได้รับโคระผลิตภัณฑ์จากชุมชนที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเป็นเสน่ห์เสริมให้นักวิ่งเทรลที่ชื่นชอบการวิ่งแบบผจญภัยและวิถีชุมชนได้สัมผัสกลิ่นไอธรรมชาติและวัฒนธรรมวิถีความเป็นอยู่ที่ดีงามอีกด้วย

……………………………………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

นักวิ่งขาแรงทั่วสารทิศไทยและต่างชาติ 630 ชีวิตร่วมแข่งขันวิ่งเทรล  ขึ้นเขาเข้าสวนชมวิถีชุมชนบ้านโตน

นักวิ่งขาแรงทั่วสารทิศไทยและต่างชาติ 630 ชีวิตร่วมแข่งขันวิ่งเทรล  ขึ้นเขาเข้าสวนชมวิถีชุมชนบ้านโตน

วันนี้ (11 ส.ค. 67) ที่บริเวณสนามโรงเรียนบ้านโตนปาหนัน ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล นายคณิต คงช่วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานในพิธีเปิดและปล่อยตัวนักกีฬาในกิจกรรมแข่งขันวิ่งเทรลรายการ “อันดามัน อินเตอร์เนชันแนล เทรล รันนิ่ง Andaman International Trail Running @ Satun” ประจำปี 2567 โดยมีนางปุณณานันท์ ทองหยู ท่องเที่ยวและการกีฬาจังหวัดสตู พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ สื่อมวลชน นักกีฬา ชาวชุมชนบ้านน้ำร้อน ตำบลทุ่งนุ้ย ร่วมกิจกรรมมากกว่า 600 คน บรรยากาศเต็มไปด้วยความคึกคัก

.

สำหรับการจัดการแข่งขันวิ่งเทรล “อันดามัน อินเตอร์เนชันแนล เทรล รันนิ่ง แอทสตูล ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยใช้กีฬาเข้ามาเป็นจุดดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาจังหวัดสตูล โดยเฉพาะในช่วงโลว์ซีซั่น ตลอดจนสร้างภาพพจน์ที่ดีของจังหวัด และช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของจังหวัดสตูล รวมไปถึงการท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันด้วย ซึ่งสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาฝั่งอันดามัน ต่างจัดกิจกรรมวิ่งต่อกันไปใน 6 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา ระนอง และตรัง เป็นการกระจายรายได้สู่ประชาชนในพื้นที่ โดยจะรับช่วงต่อจากจังหวัดสตูล ไปตามลำดับ

           ทั้งนี้กิจกรรมการแข่งขันวิ่งดังกล่าว แบ่งประเภทการแข่งขัน 3 ประเภท ได้แก่ ระยะทาง 6 กิโลเมตร ชาย-หญิง , ระยะทาง 13 กิโลเมตร ชาย-หญิง และระยะทาง 25 กิโลเมตร ชาย-หญิง จุดปล่อยตัวที่สนามโรงเรียนบ้านโตนปาหนัน ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ตั้งแต่เวลา 06.00 น. เป็นต้นไปตามระยะทาง โดยเป็นเส้นทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งระยะทางวิ่งสูงสุด 25 กิโลเมตร จะผ่านจุดวิสาหกิจชุมชนโกปี้ โตนปาหนัน , น้ำตกโตนปาหนัน และแยกทางเข้าบ่อน้ำพุร้อนทุ่งนุ้ย ช่วยกระจายรายได้แก่ชุมชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

เปิด 8 เส้นทางท่องเที่ยวถิ่นสตูล  หนุนซอฟเพาเวอร์สร้างรายได้ชุมชน

เปิด 8 เส้นทางท่องเที่ยวถิ่นสตูล  หนุนซอฟเพาเวอร์สร้างรายได้ชุมชน

        นายคณิต คงช่วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เปิดเผยว่า  จากแผนการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2560-2564) ที่มุ่งเน้นสร้างรายได้ และความเจริญ ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุมทั้งประเทศโดยให้ภาคเอกชน และประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการร่วมกับภาครัฐ ในการขับเคลื่อนงานให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง จำเป็นต้องมุ่งเน้นมาที่การพัฒนาชุมชน ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มสำคัญสามารถขยายผลให้การสร้างรายได้ และความยั่งยืนให้กับพื้นที่ สามารถสร้างอาชีพ ทั้งด้านการผลิต การค้า และการบริการ และการสร้างการรับรู้ แก่บุคคลภายนนอกเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว มาท่องเที่ยวในรูปแบบการท่องเที่ยวชุมชน เป็นการส่งเสริมการตลาด เพื่อเป็นช่องทางในการจำหน่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในวงกว้าง

           

        ทั้งนี้จังหวัดสตูล โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสตูล ได้ริเริ่มโครงการสร้างเสริมศักยภาพชุมชนเข้มแข็ง พัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เชื่อมโยงการท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดสตูล  โดยได้เปิดตัวเส้นทางท่องเที่ยว 8 เส้นทาง ที่เป็นไฮไลท์ของจังหวัดสตูลที่นักท่องเที่ยวเมื่อมาเยือนต้องไม่พลาดที่จะไปท่องเที่ยว และเยี่ยมชมความสวยงาม

 

          โดยเส้นทางที่ 1 (เช็คอินถิ่นตูล) อำเภอเมือง – สันหลังมังกร ซึ่งจะได้พบกับ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสตูล (คฤหาสน์กูเด็น) ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรื่องราวภูมิหลังเมืองสตูลในด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีวิถีชีวิต และโบราณคดี ,ถนนบุรีวานิช ย่านเมืองเก่า ,ชุมชนบากันเคย ,หาดทรายดำ ,เกาะหินเหล็ก และหาดสันหลังมังกร ,เส้นทางที่ 2 อำเภอควนกาหลง – บ้านโตนปาหนัน ซึ่งจะได้พบกับ ชุมชนบ้านโตนปาหนัน ,บ่อน้ำพุร้อนทุ่งนุ้ย บ้านโตนปาหนัน ,เส้นทางที่ 3 อำเภอควนโดน – ชายแดนวังประจัน  จะได้พบกับ ตลาดชายแดนวังประจัน ตลาด 2 แผ่นดินไทย – มาเลเซีย ,อุทยานแห่งชาติทะเลบัน (ทะเลสวย ที่ไม่ใช่ทะเลน้ำเค็ม) สินค้าวิสาหกิจชุมชนดาหลาปาเต๊ะ อาทิ กระเป๋า ,ผ้าบาติก และผ้ามัดย้อม ,เส้นทางที่ 4 อำเภอมะนัง – ถ้ำภูผาเพชร วังสายทอง จะได้พบกับ “Unseen สตูล” อาทิ ถ้ำภูผาเพชรที่เก่าแก่กว่า 450 ล้านปี ,น้ำตกวังสายทอง ,วัดนิคมพัฒนาราม

         เส้นทางที่ 5 อำเภอท่าแพ – บ้านสาคร จะได้พบกัน ชุมชนสาครที่โอบล้อมด้วยธรรมาติแบบ 360 องศา เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด ,เส้นทางที่ 6 อำเภอละงู – ปราสาทหินพันยอด จะได้พบกับ ปราสาทหินพันยอดที่เป็นภูเขาหินปูนในยุคออโดวิเซียน มีอายุเก่าแก่กว่า 488 ล้านปี และเป็นพื้นที่ถูกประกาศให้เป็นอุทยานธรณีโลก ซึ่งเป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของไทย และปันหยาบาติก วิสาหกิจชุมขนที่ผลิต และจำหน่ายผ้ามัดย้อมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีฝีมือในการวาดลายผ้าที่สวยงาม โดดเด่น คือ เน้นการใช้สีธรรมชาติในการผลิตชิ้นงาน อาทิ แร่ธาติ ,ใบไม้ ,เปลือกไม้ และผลไม้ และนักท่องเที่ยวยังได้ร่วมทำกิจกรรม Workshop เพนท์ผ้าบาติกด้วยฝีมือตัวเอง

 

          เส้นทางที่ 7 อำเภอทุ่งหว้า – ท่าข้ามควาย จะได้พบกับชุมชนเล็กๆ ติดกับชายฝั่งทางออกสู่ทะเลอันดามัน ซึ่งมีกิจกรรม อาทิ ให้อาหารเหยี่ยวแดง ,ชมฝูงปูก้ามดาบ ,ชมฝูงค้างคาวนับหมื่นตัว และล่องเรือชมพระอาทิตย์ตกดิน ,พิพิธภัณฑ์บ้านท่าข้ามควาย ที่รวบรวมของเก่าหาดูยาก อาทิ เครื่องมือประมง ,อุปกรณ์ทำสวนยาง และเครื่องมือทำนา และจักสานต้นคลุ้มบ้านวังตง ที่มีผลิตภัณฑ์จักสานจากต้นคลุ้ม อาทิ โคมไฟ กระเป๋า และหมวก

 

          และเส้นทางที่ 8 เส้นทางท่องเที่ยว GEOPARK จะได้พบ พิพิธภัณฑ์อุทยานธรณีโลกสตูลนำเสนอข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับธรณีวิทยา ,ซากดึกดำบรรพ์ และโบราณวัตถุในพื้นที่ ,ถ้ำเลสเตโกดอน เป็นถ้ำเลที่มีความยาวที่สุดในประเทศไทย มีความยาวกว่า 4 กิโลเมตร ในถ้ำมีหินรูปร่างแปลกตา ,ซากฟอสซิลที่มีอายุประมาณ 500 ล้านปี เหมาะสำหรับคนชอบท่องเที่ยวแบบ อเวนเจอร์ส และรักธรรมชาติ ,สะพานข้ามกาลเวลา เป็นทางเดินริมทะเลเพื่อศึกษาธรณีวิทยากับธรรมชาติเลียบชายฝั่ง ที่มีช่วงหนึ่งของหน้าผาที่ชนกันของหิน 2 ยุค คือ ยุคแคมเบรียน (542 – 488 ล้านปี)  กับยุค  ออร์โดวิเชียน (488 – 444 ล้านปี) และฉิมเมล่อน เป็นแหล่งเรียนรู้ท่องเที่ยวเชิงเกษตร การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน การผสมเกสรของเมล่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมล่อนจีโอปาร์คบนพื้นผิวเมล่อน (อัตลักษณ์หนึ่งเดียวในโลก) 

 

           “การเปิดเส้นทางท่องเที่ยว 8 เส้นทางที่เป็นไฮไลท์ของจังหวัดสตูล เชื่อว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเป็นการนำพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน เชื่อมโยงการท่องเที่ยวชุมชนผลักดันให้เป็นซอฟเพาเวอร์ในท้องถิ่นสู่ตลาดสากล  และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ชาวบ้านมีงานทำ”

………………………………..

 



อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

แม่ค้าดีกรี ป.โท ชวนบอกรัก  วันแม่ และวันพิเศษด้วยวุ้นกะทิแฟนซี งานศิลปะที่กินได้

แม่ค้าดีกรี ป.โท ชวนบอกรัก  วันแม่ และวันพิเศษด้วยวุ้นกะทิแฟนซี งานศิลปะที่กินได้

         วันแม่ปีนี้มีของขวัญพิเศษสำหรับคุณแม่แล้วหรือยัง   ถ้าหากยัง  วันนี้มีเค้กวุ้นกะทิแฟนซี และพวงมาลัยช่องาม  จากงานศิลปะที่กินได้  ฝีมือของคุณขวัญ  หรือ นางสาวขวัญชนก  สุวรรณพงศ์ อายุ 38 ปี เจ้าของร้านขนมวุ้นกะทิแฟนซี ‘ข้าวหวาน’ หมู่ 7 ตำบลคลองขุด อำเภอเมือง จังหวัดสตูล

       เค้กวุ้นกะทิของที่นี่ตอบโจทย์คนที่แพ้นมสด  แพ้แป้งสาลี   โดยทำด้วยวิธีไดคัท ตัดแปะทีละชิ้น สร้างสรรค์เป็นงานศิลปะที่กินได้ ราคาเพียงปอนด์ละ 300 บาท , พวงมาลัยวันแม่ ราคาชิ้นละ 100 บาท (ขายราคานี้มา 3 ปีแล้ว เมื่อครั้งขายที่ภูเก็ต)  ส่วนวุ้นจิ๋วกะทิ กล่องละ 30 บาท มี 8 ชิ้น  จุดเด่นของที่นี่คือ สามารถออกแบบลวดลายได้ตามต้องการ เช่น ลายดอกมะลิ สัญลักษณ์แห่งความรักของแม่ หรือจะเป็นของขวัญวันเกิดตามอาชีพ หมอ พยาบาล สามารถมาร่วมสร้างสรรค์ออกแบบร่วมกันได้

            เรื่องราวของร้านเริ่มจากการทำวุ้นกะทิให้คุณย่าทานแก้ขมปากจากการกินยา จนกลายเป็นอาชีพที่รัก    ด้วยประสบการณ์กว่า 3 ปีในภูเก็ต และความรู้จากปริญญาโทด้านการจัดการการท่องเที่ยว  พร้อมสร้างสรรค์ขนมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว   นอกจากวุ้นกะทิยังมีลูกชุบและขนมชั้นที่อร่อยไม่แพ้กัน

 

           สำหรับวันแม่ปีนี้ สามารถสั่งล่วงหน้าได้  รับรองว่าจะได้ของขวัญสุดพิเศษสำหรับคุณแม่  ติดต่อสั่งซื้อได้โทร 082-261 8153  /  095-469  5517  , Facebook Page : khaowann

 

         อย่าลืมมอบความรักให้คุณแม่ด้วยขนมแสนอร่อยจากร้าน khaowann  นะคะ

……………………………………….

อัพเดทล่าสุด