Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา เกษตร - อาชีพ

“กะน๊ะปลาส้ม” ความอร่อยที่มาพร้อมกลิ่นหอมชวนลิ้มลอง

สตูล- “กะน๊ะปลาส้ม” ความอร่อยที่มาพร้อมกลิ่นหอมชวนลิ้มลอง

          ร้าน “กะน๊ะปลาส้ม” โดดเด่นด้วยเมนูยำปลาส้มพร้อมทานที่มาพร้อมมะนาว หัวหอมแดง พริกทอด และใบมะกรูดทอด ในราคาเพียงชุดละ 50 บาท ได้รับการตอบรับอย่างดีจากลูกค้าในท้องถิ่น

         นางกนิษฐา รับไทรทอง เจ้าของร้าน เผยเคล็ดลับความอร่อยว่า “การทอดปลาส้มต้องใช้ไฟอ่อน เพื่อให้ได้สีเหลืองทองและความกรอบที่กำลังดี” เธอเลือกใช้ปลาจีนในการทำปลาส้มเพราะให้เนื้อที่หอมนุ่มและเนื้อเยอะ โดยทำการผลิตครั้งละ 50 กิโลกรัม ซึ่งสามารถขายหมดภายในเวลาเพียง 2 วัน  สร้างรายได้  2000 -3000  ต่อครั้ง

         วิธีทำปลาส้มของกะน๊ะ  จะเลือกใช้ปลาจีน โดยจะสั่งซื้อจากจังหวัดข้างเคียง  ส่วนปลานิลจะรับซื้อจากบ่อของชาวบ้านในพื้นที่บ้านหัวทาง  ชุมชนท่านายเนาว์  และพื้นที่อำเภอละงู  ซึ่งเป็นการอุดหนุนชาวบ้านด้วย  เมื่อได้ปลามาแล้ว  จากนั้นนำล้างให้สะอาด  หมักเกลือ 1 คืน  ใส่ข้าวเหนียวกับกระเทียม 3 คืน  รสชาติกำลังพอดีพร้อมขาย  เจ้าของร้าน กล่าว

         นอกจากปลาส้มที่เป็นเมนูขึ้นชื่อแล้ว ทางร้านยังได้เพิ่มเมนูใหม่อย่าง “แหนมปีกไก่ทอด” เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า

 

         ด้านน้องแจม หรือ นางสาวจันทิมา ดาหมาน หนึ่งในลูกค้าประจำ กล่าวว่า “ปลาส้มที่นี่อร่อยมาก รสชาติไม่ส้มจนเกินไป พอได้ลองครั้งแรกก็ติดใจ จนต้องกลับมาซื้อซ้ำ โดยเฉพาะราคาที่จับต้องได้”

         ท่านที่สนใจสามารถพบกับร้าน “กะน๊ะปลาส้ม” ได้ที่ :  – ตลาด ธกส. ทุกวันศุกร์   – ตลาดเกษตร ทุกวันพุธ  – ตลาดประชารัฐที่บิ๊กซี ทุกวันพฤหัสบดีและวันเสาร์   และในช่วงวันที่ 19-25 มกราคม 2568 ร้านจะไปร่วมงานมหกรรมอาหารจานเด็ด ที่ถนนเลี่ยงเมืองบายพาส ตำบลพิมาน อำเภอเมือง จังหวัดสตูล

 

         สนใจสั่งซื้อสามารถติดต่อได้ที่ โทร. 098-3452799  ด้วยสโลแกนที่ว่า “ทอดหอม ทานอร่อย กลิ่นจะมาก่อน ลูกค้าจะมาตามกลิ่น” ร้านกะน๊ะปลาส้มได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นร้านอาหารพื้นบ้านที่คุ้มค่าแก่การลิ้มลอง

…………………………………

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป ท่องเที่ยว-กีฬา

ธนาคารปูม้าสตูลโชว์ผลงานเข้มแข็ง เปิดศูนย์เรียนรู้แห่งใหม่ที่ตะโล๊ะใส

ธนาคารปูม้าสตูลโชว์ผลงานเข้มแข็ง เปิดศูนย์เรียนรู้แห่งใหม่ที่ตะโล๊ะใส

              ผศ.ดร.ทัศนภา ว่องสนั่นศิลป์ หัวหน้าโครงการ พร้อมด้วยนายประพัตร์ แก้วมณี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลสตูล และคณะทีมวิจัย ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามผลการดำเนินงานธนาคารปูม้าในจังหวัดสตูล ครอบคลุม 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง ท่าแพ ทุ่งหว้า และละงู  รหว่างวันที่ 16-19 มกราคม 2568

                การติดตามผลในรอบ 8 เดือนที่ผ่านมา มุ่งเน้นการประเมินในหลายด้าน อาทิ การติดตามจำนวนแม่ปูม้าที่เข้าสู่ธนาคาร การปล่อยลูกปูม้าแรกฟักคืนสู่ทะเลไทย และรายได้จากการจำหน่ายสาหร่ายขนนก ผลการดำเนินงานพบว่า กลุ่มธนาคารปูม้าสามารถบรรลุเป้าหมายตามแผนการดำเนินงานที่กำหนดไว้ทุกประการ โดยแต่ละธนาคารได้มีการจัดเก็บสถิติอย่างเป็นระบบ ทั้งจำนวนแม่ปูม้าและการปล่อยลูกปูม้าแรกฟักในแต่ละวันและเดือน

            นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้ติดตามผลการจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปูม้าของสมาชิกครอบครัวธนาคารปูม้า ทั้งเพื่อการบริโภคในครัวเรือนและการพัฒนาด้านการตลาด เพื่อขยายโอกาสทางการตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์แปรรูปปูม้า

              ในโอกาสนี้ ได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้า” ประจำปีงบประมาณ 2567 ณ ธนาคารปูม้าตะโล๊ะใส อำเภอละงู จังหวัดสตูล โดยมีนายกัมพล ถิ่นทะเล ประธานธนาคารปูม้าตะโล๊ะใส เป็นผู้รับมอบป้ายศูนย์เรียนรู้ ป้ายนิทรรศการองค์ความรู้ และอุปกรณ์สนับสนุนต่างๆ

            ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้จะเป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับ:- การอนุรักษ์และการจัดการปูม้า   – การเพาะเลี้ยงหอยชักตีน  – การเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนนก

              ทางศูนย์ได้เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร โดยจัดเตรียมชาวบ้านและอาสาสมัครมัคคุเทศก์น้อย (เยาวชน/นักเรียน) เพื่อเป็นผู้บรรยายให้ความรู้แก่ผู้เยี่ยมชม ทั้งในด้านการจัดการธนาคารปูม้าและแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ เช่น อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา และสะพานข้ามกาลเวลา

              การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ครั้งนี้ มีเป้าหมายสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของธนาคารปูม้าต่อความยั่งยืนด้านอาหารทะเลของประเทศไทย ทั้งในพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท้องถิ่น-การเมือง ท่องเที่ยว-กีฬา

ทม.สตูล จัดใหญ่ ‘มหกรรมอาหารจานเด็ด’ เน้นอาหารปลอดภัย-รณรงค์งดใช้โฟม พร้อมดึงศิลปินดังร่วมงาน

สตูล-เทศบาลเมืองสตูลจัดใหญ่ ‘มหกรรมอาหารจานเด็ด’ เน้นอาหารปลอดภัย-รณรงค์งดใช้โฟม พร้อมดึงศิลปินดังร่วมงาน

          เทศบาลเมืองสตูลจัดงาน “มหกรรมอาหารจานเด็ด” ประจำปี 2568 อย่างยิ่งใหญ่ ณ ถนนราษฎร์อุทิศ (ถนนบายพาสเลี่ยงเมือง ช่วงสี่แยกโรงเรียนจงหัว)  ต.พิมาน  อ.เมือง จ.สตูล  โดยได้รับเกียรติจากนางสาวดุษฎี พฤกษเศรษฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานในพิธีเปิดงาน  พร้อมด้วยนายชัยวุฒิ บัวทอง ปลัดจังหวัดสตูล นายสมชาติ พรหมโกศรี ปลัดเทศบาลเมืองสตูล หัวหน้าส่วนราชการ คณะทำงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนเข้าร่วมงานจำนวนมาก

 

         ภายในงานมีการมอบป้าย SAN Plus (สะอาด ปลอดภัย ได้มาตรฐาน) ให้สถานประกอบการร้านอาหาร จำนวน 10 ร้าน, มอบป้ายเกียรติบัตร “ร้านเด็ด ร้านดัง เมืองสตูล” การแสดงจากนักเรียนโรงเรียนพิมานพิทยาสรรค์, โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42 และชมคอนเสิร์ตจากศิลปิน “กานดา อาร์สยาม” มีการประกวดธิดาอาหารจานเด็ด การออกร้านจำหน่ายสินค้า บูธอาหารเมนูขึ้นชื่อของจังหวัดสตูล และกิจกรรมร้านเด็ด ร้านดัง เมืองสตูล และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย

          นายสมชาติ พรหมโกศรี ปลัดเทศบาลเมืองสตูล เปิดเผยว่า การจัดงานครั้งนี้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญด้านอาหารปลอดภัย โดยมุ่งเน้นการสร้างความตระหนักแก่ประชาชนในการเลือกบริโภคอาหารที่ถูกสุขลักษณะ พร้อมส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคประชาชนในการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร

         โดย”งานมหกรรมอาหารจานเด็ดปีนี้ มีจุดเด่นสำคัญคือการรณรงค์ ‘ลด ละ เลิก การใช้โฟมบรรจุอาหาร’ เพื่อส่งเสริมการลดของเสียสู่สิ่งแวดล้อม และสร้างความตระหนักในการดำเนินชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

        สำหรับงานจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-25 มกราคม 2568 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมมาตรฐานอาหารปลอดภัย กระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น และส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสตูล ภายในงานรวบรวมร้านอาหารชั้นนำทั้งในและนอกจังหวัด พร้อมนำเสนอเอกลักษณ์ด้านวัฒนธรรมและอาหารท้องถิ่นที่โดดเด่นของจังหวัดสตูล

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป ท่องเที่ยว-กีฬา

ปล่อยสัตว์น้ำกว่า 2 แสนตัว หนุนเศรษฐกิจสีน้ำเงินที่สตูล – ม.ราชมงคลศรีวิชัย จับมือ วช. ฟื้นฟูทรัพยากรทะเล

“ปล่อยสัตว์น้ำกว่า 2 แสนตัว หนุนเศรษฐกิจสีน้ำเงินที่สตูล – ม.ราชมงคลศรีวิชัย จับมือ วช. ฟื้นฟูทรัพยากรทะเล”

โครงการนวัตกรรมธนาคารปูม้าสู่การจัดการทรัพยากรชายฝั่งตามแนวทางเศรษฐกิจสีน้ำเงินในจังหวัดสตูล โดยมี ผศ.ดร.ทัศนภา ว่องสนั่นศิลป์ เป็นหัวหน้าโครงการ  ได้จัดกิจกรรมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ ณ ชุมชนบ้านบากันใหญ่ ตำบลเกาะสาหร่าย จังหวัดสตูล  ในวันที่ 16 มกราคม 2568

การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำครั้งนี้ประกอบด้วย หอยชักตีน 100,000 ตัว กุ้งแชบ๊วย 100,000 ตัว และปลิงกาหมาด 100 ตัว โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐหลายภาคส่วน อาทิ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลสตูล  ประมงจังหวัดสตูล  สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสตูล   ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสตูล   สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดสตูล  สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์สตูล . ศูนย์บริหารจัดการด่านตรวจประมงเขต 9 (สตูล)  ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลสตูล  หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเลเกาะหลีเป๊ะ (สตูล)   รวมถึงหน่วยงานท้องถิ่นอย่างองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย

 

ผศ.ดร.ทัศนภา ว่องสนั่นศิลป์ หัวหน้าโครงการ  กล่าวว่า โครงการนี้มีเป้าหมายในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลให้คงอยู่อย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและรักษาระบบนิเวศทางทะเลสำหรับคนรุ่นต่อไป

สำหรับกิจกรรมดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีชุมชนบ้านบากันใหญ่เป็นส่วนสำคัญในการดำเนินโครงการ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลในพื้นที่จังหวัดสตูลอย่างยั่งยืน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

เริ่มแล้ว..เทศกาลยอนหอยหลอดละงู มหกรรมความอร่อยแห่งท้องทะเลสตูล เฟ้นหาสุดยอดนักล่าและนักกินหอยหลอด

สตูล-เริ่มแล้ว..เทศกาลยอนหอยหลอดละงู มหกรรมความอร่อยแห่งท้องทะเลสตูล เฟ้นหาสุดยอดนักล่าและนักกินหอยหลอด

          ณ ชายหาดบ้านหัวหิน ตำบลละงู จังหวัดสตูล กำลังคึกคักไปด้วยเสียงหัวเราะและความสนุกสนาน ในงานเทศกาล “ยอนหอยหลอดและวัฒนธรรมพื้นบ้านละงู” ครั้งที่ 16  ซึ่งจัดขึ้นโดยนายจำรัส ฮ่องสาย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลละงู โดยงานกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-19 มกราคม 2568

             ไฮไลท์สำคัญของงานคือการแข่งขันหาหอยหลอด ที่เปิดโอกาสให้ทั้งนักท่องเที่ยวและชาวบ้านในพื้นที่ได้ร่วมสนุก โดยในปีนี้ผู้ชนะเลิศสามารถหาหอยหลอดได้มากถึง 8 กิโลกรัม 4 กรัม ซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ที่มีความเชี่ยวชาญในการหาหอยหลอดโดยเฉพาะ  โดยทางอบต.รับซื้อในวันนี้ในราคา  กิโลกรัมละ 180 บาทเพื่อใช้ในกิจกรรมแข่งขันกินหอย

 

              ซึ่งนอกจากการแข่งขันหาหอยหลอดแล้ว ยังมีการแข่งขันกินหอยหลอดที่ดึงดูดผู้เข้าร่วมถึง 20 คน รวมถึงการแข่งขันพิเศษสำหรับผู้สื่อข่าว อินฟลูเอนเซอร์ และช่างภาพในพื้นที่ ผู้ชนะการแข่งขันกินหอยหลอดสามารถกินได้เกือบ 2 กิโลกรัมในเวลาเพียง 7 นาที คว้ารางวัลเงินสด 2,000 บาทไปครอง

               สำหรับ  หอยหลอดละงูมีเอกลักษณ์พิเศษคือมีขนาดใหญ่และเนื้อนุ่ม ซึ่งนายจำรัส ฮ่องสาย อธิบายว่าเป็นผลมาจากความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสตูลจีโอพาร์ค ดินแดนฟอสซิลที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุสำคัญ ชาวบ้านในพื้นที่จะใช้เพียงปูนขาวและก้านมะพร้าวในการหาหอยหลอด โดยฤดูกาลที่เหมาะสมที่สุดคือช่วงเดือนตุลาคมถึงมีนาคม เมื่อน้ำทะเลลดต่ำสุด

 

               ที่ตำบลละงู โดยเฉพาะบ้านหัวหินและบ้านบางศิลา นอกจากจะเป็นแหล่งประมงที่สำคัญแล้ว ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ด้วยความสวยงามของธรรมชาติและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล เทศกาลยอนหอยหลอดจึงไม่เพียงแต่เป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่ยังเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของจังหวัดสตูลอีกด้วย

……….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา เกษตร - อาชีพ

สตูล-ลูกค้าแห่ซื้อซุปพุงวัวรสเด็ดชั่งกิโลขาย   เส้นทางความสำเร็จของ ‘บังเอ็ม’ ผู้สร้างรายได้หลักหมื่นต่อวัน

สตูล-ลูกค้าแห่ซื้อซุปพุงวัวรสเด็ดชั่งกิโลขาย   เส้นทางความสำเร็จของ ‘บังเอ็ม’ ผู้สร้างรายได้หลักหมื่นต่อวัน

              ความสำเร็จไม่เคยหอมหวานเท่ากลิ่นซุปพุงวัวที่ต้มด้วยฟืน  เกือบทุกตลาดนัด  ที่จะมีลูกค้ามายืนห้อมล้อมกระทะ 2 ใบใหญ่  เพื่อตักชิ้นส่วนของซุปพุงวัวที่ตนชื่นชอบได้ตามสบาย   ร้านของ  นายอิบรอเฮ็ม อารีหมาน หรือที่รู้จักกันในนาม “บังเอ็ม” เจ้าของตำรับซุปพุงวัวรสเลิศ  ที่ครองใจลูกค้ามานานกว่า 5 ปี เผยเคล็ดลับความสำเร็จที่ทำให้ธุรกิจเติบโตจนสร้างรายได้วันละหลักหมื่นบาท

 

            ด้วยสูตรพิเศษที่ผสมผสานสมุนไพรไทยอย่างลงตัว ทั้งหอม กระเทียมเจียว ส้มขามแขก และใบชะมวง พร้อมเทคนิคการต้มด้วยไม้ฟืน  ที่ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง  ทำให้เนื้อนุ่มเปื่อย หอมกรุ่น ปราศจากกลิ่นคาว จากนั้นใช้แก๊สมาอุ่นให้ร้อนอีกครั้ง  ในช่วงตระเวนขายในตลาดนัด   จนกลายเป็นเอกลักษณ์ที่ลูกค้าติดใจ  ตักเลือกชิ้นส่วนของพุงวัว  ที่ชื่นชอบได้ตามสบาย โดยจะมีกิโลเป็นเครื่องวัดราคาในการขาย

            “เคล็ดลับอยู่ที่การแยกน้ำต้ม” บังเอ็มเล่าถึงวิธีการทำที่พิถีพิถัน “น้ำต้มครั้งแรกเราทิ้งหมด แล้วใช้น้ำใหม่มาปรุงรส ทำให้ซุปใส สะอาด  ไม่คาว และอร่อย” ทุกครั้งที่ลูกค้าเลือกชิ้นส่วนของพุงวัวได้ตามใจชอบแล้ว จะนำมาปรุงเพิ่มด้วยถั่วงอก กระเทียมเจียว มะนาว พริกสดตามความชื่นชอบให้ได้รสชาติที่กลมกล่อมลงตัว นิ่มละมุนลิ้น ในราคาที่คุณเลือกได้

 

           ปัจจุบัน ร้านซุปพุงวัวบังเอ็มเปิดขายทั้งในตลาดนัดและงานต่างๆ ทั่วจังหวัด ด้วยราคาเริ่มต้นที่กรัมละ 35 บาท หรือกิโลกรัมละ 350 บาท โดยในช่วงเดือนรอมฎอนยอดขายพุ่งสูงถึงวันละ 100 กิโลกรัม

           “ความสำเร็จไม่ได้มาง่ายๆ ต้องทุ่มเทและใส่ใจในทุกขั้นตอน” บังเอ็มทิ้งท้าย พร้อมเชิญชวนผู้สนใจลิ้มลองซุปพุงวัวรสเด็ดได้ :

– วันอังคาร: ที่ตลาดนัดบ้านควน – วันพุธ: ที่หลาดนัดเปิดท้ายกัมปงฆัวร์ (15:00-20:00 น.)

– วันพฤหัสบดี: ที่ตลาดปากแรดท่าแพ

– วันศุกร์: ที่ตลาดท่าแพ 

– วันเสาร์: ที่ตลาดหาดราไวย์

– วันอาทิตย์: ที่ตลาดควนเก  หรือ 

สนใจสั่งซื้อหรือสอบถามเพิ่มเติม โทร. 088-385 5580

…………………………………………

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา เกษตร - อาชีพ

สตูลเปิดแล้ว! ตลาดนัดกัมปงฆัวร์  แลนด์มาร์คใหม่ริมคลอง    ตลาดนัดริมน้ำสไตล์มุสลิม กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน

สตูลเปิดแล้ว! ตลาดนัดกัมปงฆัวร์  แลนด์มาร์คใหม่ริมคลอง    ตลาดนัดริมน้ำสไตล์มุสลิม กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน

            ชุมชนตำบลบ้านควนสร้างปรากฏการณ์ใหม่ด้วยการรวมตัวของพ่อค้าแม่ค้ากว่า 100 ร้านค้า เปิดตลาดชุมชนภายใต้ชื่อ “ตลาดนัดเปิดท้ายกัมปงฆัวร์” บริเวณริมคลองชลประทาน หมู่ 5 ตำบลบ้านควน อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น

 

          ตลาดแห่งนี้โดดเด่นด้วยสินค้าพื้นเมืองหลากหลายชนิด อาทิ   ขนมอาปมบาเละ ซึ่งมีลักษณะคล้ายขนมถังแตก แต่มีขนาดเล็กกว่าและเนื้อแป้งนุ่มกว่า   เครื่องในวัวพร้อมทานที่จำหน่ายเป็นกิโล   หอยกะพงต้ม  และสินค้าอีกมากมายให้เลือกอิ่มอร่อย

 

        นอกจากการจับจ่ายใช้สอย ยังได้สัมผัสวิถีพื้นบ้านมุสลิมที่อาศัย ริมคลองชลประทาน  และให้ครอบครัวได้ใช้เวลาด้วยกันด้วย  เพราะที่ตลาดนี้ยังมีรถรางให้น้องๆหนูๆได้นั่งเพลินๆ  มีสะพานลิงข้ามคลองชลประทาน  และมีมุมระบายสีปูนปั้นเสริมสร้างจินตนาการให้เด็กๆระหว่างที่คุณพ่อคุณแม่ไปช็อปสินค้าด้วย

 

            ด้าน นายกูดานัน หลังจิ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านควน กล่าวว่า “ตลาดนัดเปิดท้ายกัมปงฆัวร์เกิดจากการรวมตัวของพี่น้องประชาชน พ่อค้าแม่ค้าแผงลอย และรถพ่วง เมื่อเห็นความสุขของชาวบ้านในการค้าขายและจับจ่ายซื้อของ ทาง อบต.บ้านควนจึงพร้อมสนับสนุนการพัฒนาตลาดแห่งนี้ให้เป็นแหล่งจับจ่ายที่สำคัญในอนาคต โดยเฉพาะการส่งเสริมอาหารพื้นบ้านของตำบลบ้านควนจากหลายหมู่บ้าน ซึ่งเป็นอาหารที่คนในชุมชนบริโภคเป็นประจำ”

 

         ตลาดเปิดทุกวันพุธ เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป  มีผู้ค้า 80-100 ราย  ตั้งอยู่ริมคลองชลประทาน ระยะทาง 500 เมตร

……………………………………..

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา เกษตร - อาชีพ

สตูลเปิดประสบการณ์ใหม่ใช้หลอดดูด กินเตี๋ยวบ้านโต๊ะ สูตรสืบทอดจากคุณยาย

สตูลเปิดประสบการณ์ใหม่ใช้หลอดดูด กินเตี๋ยวบ้านโต๊ะ สูตรสืบทอดจากคุณยาย

          สำหรับท่านที่ชื่นชอบทานเนื้อ  ต้องไม่พลาดร้าน เตี๋ยวบ้านโต๊ะ  ร้านที่คัดสรรเนื้อคุณภาพมาเสิร์ฟให้ลูกค้า  โดยปรุงหลากหลายเมนู  โดยเฉพาะเมนูก๋วยเตี๋ยวเนื้อตุ๋น    และที่เป็นไฮไลท์ของทางร้าน  ก็คือ  เมนูเกียร์บ็อกซ์  เป็นเมนูปรุงพิเศษสำหรับลูกค้า   นอกจากนั้นยังมีเมนู  ก๋วยเตี๋ยวเนื้อตุ๋น ตับทอดกระเทียม   ไส้อ่อนทอดกระเทียม  และอีกหลากหลายให้เลือกอิ่มอร่อย  รวมถึงเมนูของหวานอย่าง ทับทิมกรอบ  ข้าวเหนียวดำ

 

         นางสาวรัศมี  หมาดสุเรน  เจ้าของร้านเตี๋ยวบ้านโต๊ะ  กล่าวว่า  ตัวเองเรียนบริหารธุรกิจ  ส่วนคุณน้ามีฝีมือในการทำอาหาร  จึงจุดประกายที่จะทำร้านอาหาร  เพราะว่าชอบทำอาหารให้ญาติพี่น้องกิน  และมีคนชมว่าอร่อยก็อยากสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัวญาติพี่น้อง  จึงเป็นที่มาของการทำก๋วยเตี๋ยวบ้านโต๊ะ   และได้ตั้งชื่อว่าเตี๋ยวบ้านโต๊ะ  เพราะเป็นบ้านของคุณยาย พวกเราระลึกถึงคุณยายเพราะคุณยายทำอาหารเก่ง  รสมือคุณยายใครๆ ก็ชม    เรา 2 คนจึงมีไอเดียที่จะร่วมมือกันทำภายใต้ concept ทำก๋วยเตี๋ยวให้ได้รสชาติของเนื้อแท้ๆ โดยคัดสรรเนื้อคุณภาพ  ใช้เนื้อสดโดยรับซื้อจากโรงเชือดโดยตรง   น้ำซุปก็ใช้กระดูกแทนผลผงชูรสเป็นที่มาของเกียร์ บ็อก  เราใช้กระดูกเยอะ  เรามีกระดูกหากไม่ได้เสิร์ฟกระดูกให้ลูกค้าก็จะเสียดาย  และกระดูกส่วนนั้นก็มีความอร่อย  หากินยากจึงนำเสนอเกียร์ Box ผลตอบรับโอเค

          ความอร่อยของเป็นส่วนเนื้อผสมกับเอ็น  มีไขมันแต่ไม่เชิงว่ามีไขมันมาก  ความอร่อยอีกอันนึงคือด้านไหนของกระดูกจะมีข้อไขมันเหมือนคอลลาเจน  ลูกค้าจะกินโดยการใช้หลอดดูด  ตอนนี้ทางร้านมีเมนูเพิ่มขึ้นมาก็คือ  ข้าวซอย ข้าวซอยของทางร้านจะปรับให้เข้ากับคนใต้  จะใส่เครื่องเทศที่เป็นของคนใต้  ที่มีรสชาติจัดจ้านมีความเข้มข้นขึ้น  เจ้าของร้านกล่าว.

           ร้านเตี๋ยวบ้านโต๊ะ  เปิดทุกวัน  ปิดวันอังคาร   เริ่มขายตั้งแต่เวลา 10.30  น.  ถึง 18.00 น.   พิกัดร้าน  ตั้งอยู่ตรงข้าม ร.ร.ดารุลญันนะฮ. ฉลุงใต้ ต.ฉลุง  อ.เมือง  จ.สตูล 

         “เตี๋ยวบ้านโต๊ะ” จากร้านอาหารเล็กๆ สู่ความสำเร็จด้วยสูตรอาหารที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เตี๋ยวบ้านโต๊ะ ไม่เพียงเสิร์ฟอาหารรสเลิศ แต่ยังเสิร์ฟความอบอุ่นแบบครอบครัวให้กับทุกคนที่แวะเวียนมาเยือน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา เกษตร - อาชีพ

มรดกกาแฟโรบัสต้าสตูล เปิดศักยภาพธุรกิจกาแฟท้องถิ่นระดับพรีเมียม สู่ บาริสต้ามืออาชีพ

มรดกกาแฟโรบัสต้าสตูล เปิดศักยภาพธุรกิจกาแฟท้องถิ่นระดับพรีเมียม สู่ บาริสต้ามืออาชีพ

          วิทยาลัยชุมชนสตูล  อำเภอเมือง จังหวัดสตูล  ได้เปิดหลักสูตร “บาริสต้ามืออาชีพ” ตามโครงการพัฒนาแหล่งเรียนรู้กาแฟสตูล โดยเปิดให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมอบรมยกระดับพัฒนาอาชีพการชงกาแฟให้ได้มาตรฐานโดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ  

 

          โดยการอบรมในครั้งนี้ได้ฝึกการทำเมนู  อาทิ   แบล็คบานาน่า  ที่ใช้กาแฟพันธุ์โรบัสต้า พรีเมี่ยมสตูล ซึ่งเป็นกาแฟที่โดดเด่นในท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่า  ด้วยการดริป ชงและเช็ค ผสมกับน้ำหวานจากกล้วยน้ำหว้า   ตกแต่งด้วยภาชนะให้สวยงาม เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กาแฟสตูลโดดเด่น น่าลิ้มลองเหมาะกับเมืองท่องเที่ยว

 

          นอกจากนี้ได้ฝึกเมนู  แบล็คโคโค่  และเมนูยอดนิยมที่อีกหลากหลายที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ   ฝึกให้ผู้เรียนได้ลงมือทำ และดริปกาแฟให้ถูกใจคอกาแฟ  พร้อมเผยเคล็ดไม่ลับโดยใช้วัตถุดิบกาแฟโรบัสต้าพันธุ์สตูลมาปรุงแต่งมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์

 

        นางสาวพัณณ์ชิตา รุ่งหิรัญเจริญวุฒิ  เป็นไกด์ กล่าวว่า  ตนเป็นไกด์การเข้าอบรมในครั้งนี้หวังว่าจะนำความรู้ไปบอกกล่าว และชงให้กับนักท่องเที่ยวได้ลิ้มลองและรู้คุณค่าของกาแฟโรบัสต้า สายพันธุ์สตูลว่ามีรสชาติ กลมกล่อมขนาดไหน เพื่อจะให้เกิดความประทับใจมาดื่มอีกและซื้อเป็นของฝากของขวัญสินค้าดีเด่นของสตูล

        นายลาภวัต   เอี่ยมสอาด  ปธ.กลุ่มส่งเสริมอาชีพปลูกกาแฟโรบัสต้าควนโดน กล่าวว่า  สถานการณ์กาแฟโรบัสต้าสตูลขณะนี้ถือว่าเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก และราคาดีมาก ขณะนี้สารกาแฟกิโลกรัมละ 400 บาทในเกรดพรีเมี่ยม ตลาดมีความต้องการมาก ซึ่งอยากให้ภาครัฐมีการส่งเสริมการปลูกกาแฟคุณภาพ 

            นางนิสรีน  ล่านุ้ย  เจ้าของโครงการฯ จากวิทยาลัยชุมชนสตูล  กล่าวว่า   วิทยาลัยชุมชนสตูลประกาศความสำเร็จในการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้ “กาแฟสตูล” 6 แห่ง กระจายตัวในพื้นที่สำคัญของจังหวัด เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้การผลิตและแปรรูปกาแฟโรบัสต้าแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

ความพิเศษของกาแฟโรบัสต้าสตูลอยู่ที่ประวัติศาสตร์อันยาวนานกว่า 50-80 ปี สืบทอดมาจากต้นพันธุ์ดั้งเดิมที่นำเข้าจากมาเลเซีย ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในจังหวัดสตูล 276 ครัวเรือน รวมพื้นที่ 243 ไร่ ให้ผลผลิตปีละกว่า 120,262 กิโลกรัม

          แหล่งเรียนรู้ทั้ง 6 แห่ง ประกอบด้วย YOT Coffee (อำเภอท่าแพ) สวนเลบันเด้ (อำเภอควนโดน) สวนกาแฟเขาค้อม (อำเภอควนกาหลง) ไร่กาแฟนายเอก และโกปี๊นาข่า (อำเภอละงู) และ Coffee Engineering (อำเภอเมืองสตูล) โดยทุกแห่งพร้อมถ่ายทอดความรู้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่เข้าถึงง่าย

          “โครงการนี้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดกาแฟไทยที่เติบโตเฉลี่ย 15% ต่อปี และแนวโน้มผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับกาแฟคุณภาพมากขึ้น” ทั้งนี้ แหล่งเรียนรู้เปิดให้บริการแก่นักเรียน นักศึกษา เกษตรกร และประชาชนทั่วไปที่สนใจ เพื่อต่อยอดสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ และเพิ่มมูลค่าให้กับกาแฟโรบัสต้าสตูลอย่างยั่งยืน

 

…………………………………………..

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

‘Satun Old Town บุรีวานิช’ คึกคัก! คณะผู้บริหารจังหวัดสตูลใส่ชุดเคบายา นำนักเล่าเรื่องชื่อดัง ‘มาโนช พุฒตาล’ ท่องย่านเมืองเก่าด้วยรถราง

‘Satun Old Town บุรีวานิช’ คึกคัก! คณะผู้บริหารจังหวัดสตูลใส่ชุดเคบายา นำนักเล่าเรื่องชื่อดัง ‘มาโนช พุฒตาล’ ท่องย่านเมืองเก่าด้วยรถราง

           นายศักระ กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล มอบหมายให้นายคณิต คงช่วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ให้การต้อนรับ นายมาโนช พุฒตาล ซึ่งเป็นนักเล่าเรื่องที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ ,เป็นนักแต่งเพลง และนักดนตรี พร้อมด้วยคณะนักท่องเที่ยว ในโอกาสเข้าร่วมงาน “Satun Old Town บุรีวานิช : ย้อนวันวาน เมืองเก่าสตูล” ในการนี้มี นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ สส.เขต 2 สตูล นางสาววิชญศากรณ์ วีระพันธุ์ ที่ปรึกษาเหล่ากาชาดจังหวัดสตูล นางสาวภัชกุล ตรีพันธ์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสตูล พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และสื่อมวลชน ร่วมใส่ชุด “เคบายา” ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้จากองค์กรยูเนสโกเข้าร่วมกิจกรรม โดยนั่งรถรางชมพื้นที่ย่านตัวเมืองเก่าสตูล บริเวณถนนบุรีวานิช เทศบาลเมืองสตูล

         โดยคณะฯ ได้นั่งรถรางชมเมืองเก่าสตูล บริเวณถนนบุรีวานิช ถนนวัฒนธรรม ซึ่งยังคงมีตึกชิโนโปตุกิส และผลงานสตรีทอาร์ตบอกเล่าเรื่องราวสตูล จากนั้นเดินทางไปเยี่ยมชมกูโบร์โต๊ะมาโหม สุสานเจ้าเมืองสตูลสายสกุลสนูบุตรและชาวเมืองสตูล , เยี่ยมชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สตูล (คฤหาสน์กูเด็น) และชมบ้านพักพระยาสมันตรัฐบุรินทร์ ก่อนไปบ้านโบราณอายุกว่า 100 ปี

         สำหรับย่านชุมชนตัวเมืองเก่าในจังหวัดสตูลนั้นมีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนาน ที่ถนนบุรีวานิช ถือเป็นย่านเมืองเก่าสตูลที่เคยเจริญรุ่งเรืองในอดีต ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมของคนไทยเชื้อสายจีน และเชื้อสายมลายู ที่ตั้งถิ่นฐานอาศัยในพื้นที่นี้มาตั้งแต่อดีต ซึ่งยังคงร่องรอยทางวัฒนธรรมให้เห็นอยู่ เช่น อาคารชิโนโปรตุกิส อาหารพื้นถิ่น ศาสนสถาน มัสยิด วัดจีน และวัดชนาธิปเฉลิม

           สำหรับการให้บริการรถรางนำเที่ยวย่านเมืองเก่าสตูลจะมีอีกครั้งในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 รองรับได้ประมาณ 20-25 คน มีเพียงสองรอบ คือ รอบแรก เวลา 16.30 น. และรอบที่สอง เวลา 18.30 น. โดยให้บริการฟรี พร้อมขอเชิญชวนให้ชาวสตูล นักท่องเที่ยว ร่วมสวมใส่ชุดพื้นเมืองเคบายา เข้าร่วมงาน “Satun Old Town บุรีวานิช : ย้อนวันวาน เมืองเก่าสตูล” ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 27 – 31 ธันวาคม 2567 เพื่อสร้างสีสันต์และร่วมฉลองปีใหม่ไปด้วยกัน

อัพเดทล่าสุด