Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สุกเต็มต้นแล้ว…จำปูลิ้ง  ผลไม้ป่าโบราณพื้นบ้านทางภาคใต้หาทานยาก

สุกเต็มต้นแล้ว…จำปูลิ้ง  ผลไม้ป่าโบราณพื้นบ้านทางภาคใต้หาทานยาก

        “จำปูลิ้ง”  ภาษามลายูเรียก  อินเต๊ะ  เป็นผลไม้ที่พบเห็นได้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ บางพื้นที่จะรู้จักกันในชื่อ จำปูรี  จำไหร หรือ มะไฟลิง ตามแต่ละถิ่นที่จะเรียก โดยแต่ละปีจะให้ผลผลิตเพียง1 -2 ครั้งเท่านั้น  ตามฤดูกาลผลสุกจะเริ่มมีทยอยออกมาให้เห็นมากในเดือน กรกฎาคม สิงหาคม ของทุกปี

 

       ผลไม้ป่าพื้นบ้านภาคใต้ พบได้ตามพื้นที่ป่าเชิงเขา ที่ราบริมเขา ที่มีดินร่วมปนทราย ลักษณะคล้ายมะไฟหรือละไม แต่ผลมีขนาดผลเล็กกว่า เป็นเหลี่ยมเล็กน้อย เปลือกผลแข็งกรอบ ผลและยอดใช้แกงเลียง แกงส้มได้ ผลสุกสีเหลืองส้มกินได้รสชาติหวานอมเปรี้ยว

 

        ต้นจำปูลิ้งสูง20 เมตร  ปลูกมานานเกิน 50 ปี บนพื้นที่ 9 ไร่บ้านวังประจัน หมู่ที่ 2 ต.วังประจัน อ.ควนโดน จ.สตูล  ผลไม้ป่าที่บรรพบุรุษเก็บไว้ให้หลังเข้ามาทำกินในบริเวณนี้  มี 2 ต้น  ให้ผลผลิตทุกปี ให้ผลผลิตมากสุด 600 กิโลเมตร  ขายกิโลกรัมละ60 บาท

         นายรอศักดิ์  นาปาเลน อายุ 54 ปี บอกว่า ทันทีที่ผลจำปูลิ้งสุก จะต้องมีอุปกรณ์เซฟตี้ในการขึ้นไปเพราะมันสูงมาก จะเก็บผลที่สุกเหลืองเข้มเท่านั้น 

 

          นางกาญจนา  นาปาเลน อายุ 53 ปี บอกว่า จำปูลิ้งให้ผลผลิตปีละครั้ง เป็นผลไม้ป่าไม่เหมาะส่งไปขายต่างจังหวัด เพราะรสชาติจะเสีย เป็นผลไม้ป่าพื้นถิ่นที่อยู่คู่สตูลมานาน ขายในตลาดศาลากลางและตลาดธกส.จ.สตูลเท่านั้น

 

          ที่สวนเป็นสวนออแกนิก ผลไม้หลายชนิดได้รับการรับรอง ไม่ว่าจะเป็นเงาะ มะพร้าว กระท้อนและจำปูลิ้ง  ที่นี่ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชนด้วย  สำหรับพันธุ์จำปูลิ้งจะเพาะพันธุ์ได้ยากกว่าผลไม้ชนิดอื่น  สามารถแปรรูปเป็นไอศกรีมได้ แต่ทานสดจะได้รับความนิยมกว่า  ในกลุ่มคนที่เคยทาน

 

          แนะนำให้แกะเปลือกอย่างเบามือ ห้ามมือถูกเม็ดในผลจำปูลิ้งเพราะคนโบราณบอกว่า จะทำให้มีรสชาติเปรี้ยวได้  เวลาทานให้อมใช้ลิ้นดันให้เม็ดแตกในปากแล้วกลืน

…………………………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

เปิดวาร์ปกาแฟในตำนาน 56 ปีราคาเริ่มต้น 5 บาท ชาเย็นถุงบิ๊กไซส์ทานได้จุกๆ 2 คน เจ้าของยืนยันจะขายราคานี้ตลอดไป

เปิดวาร์ปกาแฟในตำนาน 56 ปีราคาเริ่มต้น 5 บาท ชาเย็นถุงบิ๊กไซส์ทานได้จุกๆ 2 คน เจ้าของยืนยันจะขายราคานี้ตลอดไป

          กาแฟโบราณในยุคเศรษฐกิจฝืดน่าจะตอบโจทย์คอกาแฟและคอชา  วันนี้ชี้เป้าของถูกมาที่จังหวัดสตูล  ซอยคลองขุด 29 (หรือซอยทรายทอง)  หรือที่หลายคนรู้จักในนามซอยเอวหัก ติดตลาดนัดวันอาทิตย์    กับร้านกาแฟดั้งเดิมหรือร้านกาแฟในตำนาน   “ร้านบังอาด” ก็ว่าได้   ที่ขายมานานกว่า 56  ปี  มีการสืบต่อเป็นรุ่นที่ 2

          ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะในการชงชา ขายเพียงแก้วละ 5 บาท  ชาเย็น (sizeถุงน้ำตาล 1 กิโลกรัม) ขายเพียง 15 บาท  ส่วนลีลาการชงชาก็ไม่ธรรมดาชงคู่ชนิดที่ลูกค้าลุ้นกลัวว่าจะหก  แต่พ่อค้าก็ไม่ทำให้ผิดหวัง  ใช้ทักษะการชงอย่างช่ำชอง  และชำนาญ

          ที่ร้านนี้จะเปิดขาย 2 เวลา  คือตั้งแต่ 05 : 30 น. – 12 : 00 น.  และ 14:00 น ถึง 17:00 น ยกเว้นวันอาทิตย์ที่ขายแค่ครึ่งเช้าเท่านั้น  ลูกค้าส่วนใหญ่จะหมุนเวียนกันมาซื้อไม่ขาดสาย มีทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ที่ซื้อซ้ำแล้วซ้ำอีกสมัยรุ่นพ่อมาจนถึงรุ่นลูก  ด้วยรสชาติ  ปริมาณและราคาที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า 

          ลูกค้ารายหนึ่งบอกว่า  เป็นลูกค้ามานานกว่า 4 ปีแล้วชื่นชอบเมนูกาแฟเย็นและเมนูชาเย็น  ทุกครั้งที่มาซื้อก็จะนำแก้วส่วนตัวมาใส่ก็ขายราคาเดียวกันคือ 15 บาท รสชาติเข้มข้น ราคาสบายกระเป๋า  ตอบโจทย์เป็นอย่างมากในยุคปัจจุบันที่เข้าของแพง  หากไปซื้อร้านอื่นก็จะขายตั้งแต่ 25 บาทขึ้นไปแต่ร้านนี้ขายเพียง 15 บาทเท่านั้น

         นายเดช  หวันยาวา อายุ62 ปี  เจ้าของร้านบอกว่า   เมนูที่ขายดีคือชาเย็นเป็นชาที่มาจากประเทศมาเลเซียเพื่อนบ้าน   สำหรับ ร้านกาแฟนี้เป็นธุรกิจของครอบครัวพวกตนเป็นรุ่นที่ 2 หลังจากที่พ่อได้จากไปก็มาสืบทอดกันขายกาแฟต่อ  โดยมีตนเป็น พี่ชายคนโตและรองน้องคนสุดท้องมาช่วยสับเปลี่ยนกันขาย   ได้ขายกาแฟ-ชาเย็นในราคานี้มาตั้งแต่สมัยรุ่นพ่อ   คือแตอ้อร้อนแก้วละ 5 บาท  โกปี้อ้อร้อน 5 บาท โอวัลตินร้อน 8 บาท โอเลี้ยงชาเย็นถุงเล็กถุงละ 10 บาท,ส่วนถุงใหญ่บิ๊กขายเพียงถุงละ 15 บาท (ทานได้ถึง 2 คน)  ทานกับขนมที่ชาวบ้านมาฝากขายข้าวเหนียวปลาเค็ม 10 บาท  ,ขนมบาดะ 5 บาท จูจุ่น 5 บาท ,ข้าวเหนียวสังขยา 5 บาท  ข้าวเหนียวหน้ากุ้งและหน้ามะพร้าวห่อละ 5 บาท  พูดง่ายๆมีเพียง 20 บาทมื้อเช้าก็สามารถมาทานที่ร้านของตนได้

         ลูกค้าส่วนใหญ่ก็มีตั้งแต่รุ่นคุณพ่อที่ยังคงมาอุดหนุนกันเหมือนเดิม   และเด็กรุ่นใหม่ก็จะแวะเวียนกันไม่ขาดสายเชื่อว่าชื่นชอบในคุณภาพ,ปริมาณ,รสชาติและราคา พร้อมยืนยันว่าจะขายราคานี้ตลอดไป  อยากให้ทุกคนได้กินในราคาย่อมเยาโดยเฉพาะในยุคเศรษฐกิจแบบนี้

         สำหรับร้านนี้เป็นร้านกาแฟในตำนานที่ยังคงความเป็นร้านกาแฟประจำหมู่บ้าน  ไม่รับเงินโอน ไม่มีพร้อมเพย์ ต้องเงินสดเท่านั้นถึงจะใช้บริการที่ร้านนี้ได้  (แต่!!ยกเว้นหากน้องสาวอยู่ในช่วงเช้าก็สามารถโอนได้)

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล-ขนมครกโบราณแป้งสด วัยรุ่นสร้างตัวสู้ชีวิต ตอบโจทย์สายรักสุขภาพ

สตูล-ขนมครกโบราณแป้งสด วัยรุ่นสร้างตัวสู้ชีวิต ตอบโจทย์สายรักสุขภาพ

          บนถนนยนตรการกำธร ตรงข้ามสำนักงาน อบจ.สตูล ทุกวันในเวลา 15 นาฬิกาเป็นต้นไป พ่อค้าวัย 39 ปี รุ่นที่2 พร้อมภรรยา  กำลังสารวนช่วยกันหยอดขนมครกโบราณสูตรคุณแม่  ที่มีอายุไม่น้อยกว่า 50 ปีเตรียมพร้อมขายลูกค้า

         โดยมีรสชาติที่รังสรรค์ขึ้นมาเพิ่มเติมจากสูตรคุณแม่ คือรสชาติดั้งเดิม  เป็น ข้าวหอมมะลิ ข้าวไรซ์เบอรี่ ใบเตย อัญชัน โดยแป้งขนมครกจะทำขึ้นเองใหม่สดทุกวัน  ทางร้านทำขายวันละ 3-4 กิโลกรัม ขาย 8 คู่ 20 บาท แพคเกจห่อด้วยใบตองตามแบบฉบับโบราณ

          นายพรชัย  สุวรรณพัฒน์ อายุ 39  ปี (หรือคุณป้อม)  ทายาทรุ่นที่2 ของคุณแม่เตื้อน  หรือที่หลายคนรุ่นแรก ๆ รู้จักเรียกว่า  ขนมครกป้าเตื้อน  เตา ถ่าน (ซอยโรงลังเปลวจีน) วัดมงคลมิ่งเมือง จ.สตูล วัย 77 ปีที่วางมือแล้ว  เป็นสูตรที่สืบทอดต่อด้วยการทำแป้งเองใหม่สดทุกวัน  เดิมทีตนมีอาชีพเป็นช่างทำเฟอร์นิเจอร์เมื่อไม่มีงานก็จะหันมาขายขนมครกเป็นอาชีพเสริม  แต่ปัจจุบันก็จะแบ่งหน้าที่เพื่อให้ได้ทำทั้ง 2 อาชีพ ในการหาเลี้ยงครอบครัวและลูก  เมื่อย้ายมาจากจังหวัดสุราษฎร์ธานีก็นำอาชีพที่คุณแม่ให้ไว้มาขายเป็นรายได้เสริมเลี้ยงครอบครัว เพราะเคยหยุดไปพักหนึ่งจากโควิดก็ยังมีลูกค้าเก่าๆตามมาซื้อ

          ลูกค้าเก่าเจ้าประจำรายสหนึ่ง  ยอมรับว่า  เป็นลูกค้ามานานแล้วชอบซื้อขนมครกเจ้านี้โดยเฉพาะรสชาติของข้าวไรซ์เบอรี่และใบเตย  มีความอร่อยและรสชาติชัดเจน อีกทั้ง   ชอบในอัธยาศัยของพ่อค้า พูดจาดีอยากให้หลายคนมาอุดหนุน

          พ่อค้าป้อม  บอกว่า  สำหรับคนที่มองหาอาชีพ  ไม่รู้จะทำอะไรดีแนะนำให้มองหาอาชีพที่ถนัดและคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก  เชื่อว่าจะสามารถทำได้ดีและแก้ปัญหาได้  เหมือนอย่างตนไม่ได้รู้สึกอับอายที่หลายคนมองว่าการขายขนมครกน่าจะเป็นผู้หญิง  และยิ่งเห็นว่าหากไม่อายทำกินก็สามารถมีงานสร้างรายได้อีกทาง  เพื่อเลี้ยงครอบครัวในยุคเศรษฐกิจปัจจุบัน

          สำหรับลูกค้าที่สนใจอยากจะซื้อสั่งเป็นอาหารเบรค หรือรับทำนอกสถานที่  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 096-386 8354

……………………………………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา เกษตร - อาชีพ

ส้มตำมังคุดพรีเมี่ยม  ริมเขาติดชายแดนสองแผ่นดินไทย-มาเลเซีย  จากสวนคุณภาพมาตรฐาน GAP 

สตูล-ส้มตำมังคุดพรีเมี่ยม  ริมเขาติดชายแดนสองแผ่นดินไทย-มาเลเซีย   จากสวนคุณภาพมาตรฐาน GAP 

           ที่สวนโชคนันทวดี  ตั้งอยู่ที่บ้านวังพะเนียด  หมู่ที่5 ต.เกตรี (อ่านว่าเกด-ตรี) อ.เมือง จ.สตูล พื้นที่แห่งนี้อยู่ริมเขาติดชายแดนสองแผ่นดินไทย-มาเลเซีย  จะเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยแร่ธาตุในดิน ทำให้สวนมังคุดที่นี่  มีรสชาติอร่อยถูกปากผู้บริโภค 

         

           นายมานพ   พูลแก้ว  เจ้าของสวนโชคนันทวดี  บอกว่า  เริ่มปลูกต้นมังคุดเมื่อปี 2535 จำนวน 100 ต้น บนพื้นที่ 8 ไร่  ในปี 2541-2542 เริ่มเก็บผลผลิตเป็นต้นมา  เคยได้ปริมาณมังคุดสูงสุดมากถึง 17 ตัน โดยการจัดการสวนมังคุดแบบคุณภาพ  ไม่ใช้สารเคมี ไม่เก็บผลผลิตลูกที่ตกลงพื้น คัดสรรสินค้าตามมาตรฐาน

           

          ในทุกเดือนกรกฎาคมของทุกปี  มังคุดคุณภาพจะเริ่มให้ผลผลิตออกสู่ตลาด  โดยจะส่งขายทั้งแบบออนไลน์และออนไซต์  โดยปีนี้แม้ผลผลิตจะมีปริมาณน้อยแต่ราคาก็เป็นที่พอใจให้กับเกษตรกร  โดยมังคุดเกรด a ออนไลน์จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 80 บาท (ลูกค้าซื้อ 5 กิโลกรัมคิดที่ 480 บาท) ส่วนมังคุดที่ส่งพ่อค้ารับไม่อั้นอยู่ที่กิโลกรัมละ 33 ถึง 35 บาท, และมังคุดผลสีดำทานในพื้นที่จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 35 ถึง 40 บาท 

 

          มังคุด  นอกจากจะทานสดยังสามารถนำมาแปรรูปได้หลากหลายเมนู  อาทิ  แยมมังคุด, แกงส้มมังคุด,แล้ววันนี้ทางสวนได้สาธิต ส้มตำมังคุดที่รสชาติแซ่บเวอร์  กลมกล่อมลงตัวเป็นอย่างดี  โดยมีเครื่องปรุงเดียวกับส้มตำคือ พริกสดและพริกแห้ง,กระเทียม,น้ำตาลปี๊บ,น้ำปลา,ถั่วฝักยาว,มะละกอที่หาได้ภายในสวนแห่งนี้, และผลมังคุดที่ปอกเปลือกเรียบร้อยแล้ว  นำมาคลุกเคล้ากับน้ำปรุงของส้มตำจะได้รสชาติที่อร่อยแซ่บลงตัว

          นายเฉลิมพร   ศรีสวัสดิ์   เกษตรอำเภอเมืองสตูล   ยืนยันว่า  สวนมังคุดคุณภาพแปลงนี้  เป็นแปลงเครือข่ายศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าเกษตร แล้วยังเป็นแปลงเรียนรู้ที่เกษตรกรสนใจจะปลูกมังคุดคุณภาพ  มาเรียนรู้ในแปลงแห่งนี้ ยังเป็นแปลงที่ได้มาตรฐาน GAP ตั้งแต่ปี 2552 พร้อมเชิญชวนเกษตรกรมาทำแปลงคุณภาพเพื่อช่วยยกระดับสินค้าผลผลิต ให้ได้มาตรฐานปลอดภัย  เพราะมีผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อมีความต้องการสินค้าคุณภาพจำนวนมาก

          สนใจติดต่อสอบถามได้ทางออนไลน์ “สวนโชคนันทวดี”  โทร.083-191-2628

…………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 สตูล-ขนมมารากู  สูตรอินเดียกลิ่นไอของใบสมุยเทศ  สร้างรสชาติชวนลิ้มลอง  ขนมโบราณที่สืบทอดมายาวนานมีทานเฉพาะเทศกาลและออเดอร์เท่านั้น

สตูล-ขนมมารากู  สูตรอินเดียกลิ่นไอของใบสมุยเทศ  สร้างรสชาติชวนลิ้มลอง  ขนมโบราณที่สืบทอดมายาวนานมีทานเฉพาะเทศกาลและออเดอร์เท่านั้น

         ที่เป็นมากกว่าโรตี หรือโรตีกรอบ ก็ต้องยกให้  ขนมมารากูสูตรอินเดียเลย  เพราะกรรมวิธีอาจจะคล้ายโรตีทั่วไปแต่ใส่เครื่องเทศเข้ามา  ปั้นเป็นก้อนแช่น้ำมันคล้ายโรตี  ดูอีกทีก็คล้ายทอดมันปลายังไงอย่างงั้น  แต่มาดูการทำของทางร้าน บังกาหรีม ตำบลบ้านควน อำเภอเมือง จังหวัดสตูล   นางดารุณี อายาหมีน   อายุ 65 ปี  พร้อมลูกสาวนางไซนับ  มูเก็ม อายุ 42 ปี  และ หลานสาวช่วยกันทำขนม มารากู   เพื่อให้ทันกับออเดอร์ของลูกค้า

 

          ด้านนางไซนับ  มูเก็ม อายุ 42 ปี   กล่าวว่า  ขนม มารากู  เป็นขนมในประเทศอินเดีย ถือว่าเป็นขนมมงคล  ชอบทำทานในวันสำคัญ  มีการทำกันในประเทศมาเลเซียมาก  และมีการสืบทอดและไหลมาทางชายแดน จ.สตูล  ซึ่งติดกับประเทศมาเลเซีย  บรรพบุรุษหลายรุ่นจะทำกินและทำขาย  ในวันสำคัญของพี่น้องชาวมุสลิมและเป็นอาชีพในทุกวันนี้  ยิ่งในช่วงเดือนสำคัญอย่างช่วงฮารีรายา  ของพี่น้องมุสลิม จะขายดี มีออเดอร์สั่งเข้ามารัวๆเลยทีเดียว

            ส่วนออเดอร์ที่ลูกค้ามาสั่งจอง  รวมถึงผู้ที่ผ่านไปผ่านมาแวะมาอุดหนุน ขนมมารากู ขายได้เดือนละ 30 ถุง ซึ่งบรรจุถุงละ 1 กิโลกรัม ราคา 100 บาท เฉลี่ยแล้วมีรายได้ต่อเดือนละประมาณ 3,000 – 4,000 บาท

 

           ทั้งนี้นายสมโภชน์  สุขใจ ลูกค้าคนรุ่นใหม่ที่ชอบทาน บอกว่า อร่อยและกรอบ ได้กลิ่นไอของใบนาโปแล หรือใบสมุยเทศ  และเครื่องผสมทำให้ขนมชนิดนี้ทานอร่อย รสชาติไม่เหมือนขนมอื่นๆ

                   

          สำหรับขนมชนิดนี้ชื่อว่า ขนมมารากู หรือคนใต้เรียกว่า โรตีกรอบ เพราะส่วนผสมที่ทำคล้ายแป้งโรตีนวดๆเป็นกลม โดยใช้แป้งหมี่ ไข่ไก่ และใส่เกลือ เพิ่มส่วนผสมเครื่องเทศ  พริก และ ใบสมุยเทศ (เคล็ดลับความอร่อยเพิ่มความหอมกรุ่น)   รวมทั้งหัวหอมซอย  จากนั้นนำแป้งไปนวด และฟัดเหมือนโรตีให้เป็นแผ่นบาง ๆ และตัดเป็นส่วน นำไปทอดในไฟร้อนๆ ยกสะเด็ดน้ำมัน แพ๊คใส่ถุงส่งให้ลูกค้าทันที สามารถสั่งจองได้ 089-879 1966   นอกจากนี้ที่ร้านบังกาหรีม ทุก ๆ เช้าจะเปิดขายน้ำชา กาแฟ ขนมพื้นถิ่น ขนมมารากู    หากทานคู่ชาเย็น จะอร่อยมาก 

 ………………………………………………………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 ผลผลิตออกแล้ว! กระท้อนนาปริก  เปลือกบางเนื้อนุ่ม ใหญ่สุดผลเดียว 2 กก.ต้องใช้ช้อนตัก  ฟินกันถ้วนหน้า 12 – 15 ก.ค.2567 นี้ งานกระท้อนหวานที่สตูล

ผลผลิตออกแล้ว!! กระท้อนนาปริก  เปลือกบางเนื้อนุ่ม ใหญ่สุดผลเดียว 2 กก.ต้องใช้ช้อนตัก  ฟินกันถ้วนหน้า 12 – 15 ก.ค.2567 นี้ งานกระท้อนหวานที่สตูล

          เริ่มแล้ว!! กระท้อน เริ่มให้ผลผลิตออกสู่ตลาดแล้ว  ที่หมู่บ้านกระท้อน  บ้านนาปริก ต.ควนโดน อ.ควนโดน จ.สตูล พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งกระท้อนที่มีผลผลิตนุ่ม   หวาน   อร่อยและที่สำคัญผลโตมากขนาดเท่ากับหน้าคนก็ว่าได้ 

          มีชื่อเสียงโด่งดัง  กับกระท้อนมากกว่า 5 สายพันธุ์ เช่น พันธุ์ปุยฝ้าย  พันธุ์เขียวหวาน  พันธุ์ทับทิม  โดยเฉพาะพันธุ์อิล่า  สายพันธุ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ   ผลโต เนื้อนุ่ม หวาน อร่อย น้ำหนักเยอะสุด   ในหนึ่งผล 2 กิโลกรัมเลยทีเดียว   โดยราคาปีนี้ยังคงเดิมคือกิโลกรัมละ 60-70 บาท

          นายวริช   วิชิต  รองผอ.ททท.สำนักงานสตูล , นางวรรณนภา  คงเคว็จ  เกษตรอำเภอควนโดน และนายวริศ   มาลินี   นายกอบต.ควนโดน เยี่ยมสวนกระท้อนบ้านนาปริกคุณภาพ   หลังพบว่าที่สวนแห่งนี้เริ่มให้ผลผลิตออกสู่ตลาดกันแล้ว เพื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการขายให้กับเกษตกรและชาวบ้านที่แปรรูปสินค้า

          นายอิบรอเหม   เด็นสำดี   อายุ 66  ปี ชาวสวนกระท้อน หมู่ที่ 9 บ้านนาปริก  บอกว่า  กระท้อนชุดแรกได้ออกสู่ตลาดแล้วลูกค้าสามารถสั่งจองได้  แม้ปีนี้ผลผลิตอาจจะประสบปัญหาแล้งที่ยาวนาน   แต่ก็มีกระท้อนมากเพียงพอที่จะจำหน่ายให้กับลูกค้าที่ชื่นชอบกระท้อนผลใหญ่ เนื้อนุ่ม   ชนิดที่ต้องใช้ช้อนตักได้เลย ซึ่งกระท้อนที่นี่ปลูก 3 ปีปีที่ 4 สามารถขายได้แล้ว  ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยปีนี้ผลผลิตมี 3 รุ่น จำนวน 12,000 ลูก ซึ่งหัวใจของกระท้อนคุณภาพ   เริ่มตั้งแต่การดูแลผลผลิตที่เริ่มออก   ด้วยการตัดแต่ง ทันทีที่กระท้อนเริ่มออกสู่ตลาดเริ่มมีออเดอร์เข้ามาแล้ว 50 กิโลกรัม สามารถติดต่อได้โดยตรงคือ 080 710 4881 หรือ 062 432 4524

          นางวรรณนภา  คงเคว็จ  เกษตรอำเภอควนโดน จ.สตูล   กล่าวว่า  พันธุ์ปุ้ยฝ้าย เขียวหวาน และอีร่า มีเสน่ห์เนื้อเปรี้ยวอมหวาน   ที่สำคัญของตลาด ทุกสายพันธุ์นุ่มฟูเปลือกบาง ได้ส่งเสริมเกษตรกรได้เข้าสู่มาตรฐาน GAP  และกำลังยื่นขอพืช GI  รอการประกาศอยู่

          นอกจากกระท้อนผลสดที่ใช้ช้อนตักทานได้อย่างสบายใจแล้ว  ยังมีกลุ่มแม่บ้านภายใต้ชื่อกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์และวิถีเกษตรเขาโต๊ะกรัง  ได้นำกระท้อนที่ตกเกรดมาแปรรูปเป็นสินค้ากระท้อนทรงเครื่อง,น้ำพริกกระท้อน,หรือน้ำยาขนมจีนกระท้อนก็สุดแสนจะอร่อย 

         นายวริศ   มาลินี   นายกอบต.ควนโดน จ.สตูล  กล่าวว่า  ทางอบต.เตรียมส่งเสริมให้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์  สินค้าพรีเมี่ยม  อาทิ  ไซหรับกระท้อน , ไอศกรีมกระท้อน, น้ำยาขนมจีนกระท้อน ,  ในส่วนของอบต.จะพัฒนาให้มีมูลค่าสูงเพื่อส่งเสริมรายได้ให้กับชาวสวน และในวันที่ 12 – 15 ก.ค.2567 นี้จะมีการจัดงานกระท้อนตำบลควนโดน  ขึ้นที่ตลาดนัดดุสน อ.ควนโดน จ.สตูล

        ด้านนายวริช   วิชิต  รองผอ.ททท.สำนักงานสตูล  ยอมรับว่า  สวนผลไม้กระท้อนนาปริกเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสตูล  ด้านการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานสตูล ก็จัดกิจกรรมเกี่ยวกับผลไม้พานักท่องเที่ยวเข้ามาชมสวน   มาอุดหนุนเกษตรกรที่นี่   ซึ่งสามรถทำการท่องเที่ยวเชื่อมโยงได้  โดยการท่องเที่ยววิถีชุมชนของอำเภอคนโดน   สามารถที่จะมาชิมผลไม้และไปเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวบริเวณรอบๆซึ่งมีที่เที่ยวหลายแห่ง ให้เช็คอิน  ถ่ายภาพ

          สำนักงานเกษตรจังหวัดสตูล ได้เข้ามาส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรอัตลักษณ์พื้นถิ่น ส่งเสริมและพัฒนาสินค้ากระท้อนในพื้นที่ 7 อำเภอ บนพื้นที่ผลิต 60 ไร่ ที่จังหวัดสตูล   เป็นที่รู้จัก และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค จากลักษณะเด่นผลใหญ่ เนื้อหนานุ่มฟู รสชาติหวาน สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี และมีการขยายผลไปสู่การเชื่อมโยงการท่องเที่ยวชุมชน ตามคำขวัญ “แหล่งกระท้อน นุ่มหวาน ดินแดนประวัติศาสตร์โบราณ ประตูอุทยานธรณี”

…………………………………

 

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 สตูล-ล่องเรือหาหอยตาแดงในป่าชายเลน   หอยที่หนีน้ำเกาะบนต้นไม้  ปรุงเมนูพื้นถิ่นหาทานยากและเทคนิคการกินที่สุดแสนจะเพลิดเพลิน

สตูล-ล่องเรือหาหอยตาแดงในป่าชายเลน   หอยที่หนีน้ำเกาะบนต้นไม้  ปรุงเมนูพื้นถิ่นหาทานยากและเทคนิคการกินที่สุดแสนจะเพลิดเพลิน

          ฤดูกาลนี้  แม้จะไม่ใช่ช่วงหอยตาแดงที่ชุกชุม  แต่ชาวบ้านเทศบาลตำบลเจ๊ะบิลัง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล  ยังสามารถออกหาหอยตาแดงในป่าชายเลน  ที่ปกคลุมรอบหมู่บ้านได้ไม่ยากนัก  แต่ต้องใช้เรือลำน้อยแล่นไปตามลำคลอง  เพื่อหาตำแหน่งที่อยู่อาศัยของหอยตาแดง  สัตว์น้ำที่มักจะหนีน้ำที่ขึ้นสูงไปอยู่บนต้นไม้ป่าชายเลน

 

          นายฮาบีบ   นาฮูดา  อายุ  31 ปี พร้อมทีมงาน  นั่งเรือออกจากฝั่งท่าเทียบเรือเจ๊ะบิลัง อำเภอเมืองสตูลผ่านแยกจากคลองใหญ่มาได้สักพัก   ก็ถึงเป้าหมายลงมือหาหอยตาแดงกันเลย  การหาหอยตาแดงในช่วงนี้ไม่ง่ายเหมือนช่วงน้ำขึ้น 15 ค่ำ 1 ถึง 4 ค่ำ ซึ่งเป็นช่วงน้ำใหญ่ที่จะเห็นหอยไต่ต้นไม้ป่าโกงกางเพื่อหนีน้ำ   เกาะอยู่บนต้นไม้เหนือน้ำ   ชนิดมารอกันง่าย ๆ บางคนจับได้มากสุดครั้งละ 30 กิโลกรัม  แม้ช่วงนี้จะหาไม่ง่ายแต่ก็ยังมีหอยให้จับได้ตลอดทั้งปีเหมือนกัน   การหาหอยในช่วงนี้จะได้ประมาณ 2-3 กิโลกรัม   ก็พอจะเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัว 200-300 บาท (แล้วแต่ขนาดของหอย)  ที่สำคัญเป็นอาหารเลี้ยงคนในครอบครัวได้ด้วย  อยากกินก็แค่นั่งเรือออกมาเก็บในคลองหน้าบ้าน ซึ่งหอยตาแดงที่ชาวบ้านนิยมหาคือ หอยตาแดงปากหนา เพราะมีเนื้อเยอะ ส่วนหอยตาแดงปากบางนั้นไม่นิยมเพราะตัวเล็ก  เสี่ยงมันจะบาดปาก

            หลังได้หอยตาแดงมาเพียงพอสำหรับแกงในวันนี้  เจ๊ะติม๊ะ   หลังจิ  วัย 68 ปี แม่บ้านฝีมือเด็ดของหมู่บ้านเจ๊ะบิลัง  ก็อาสาลงมือปรุงเมนูยอดนิยมของหมู่บ้าน  นั่นก็คือ เมนู แกงหอยตาแดง  โดยขั้นตอนปกติจะต้องแช่หอยไว้ 1 คืน ก่อนนำมาปรุง   เพื่อให้หอยได้คลายดินโคลนออกจากตัวก่อน ไม่ให้เสียอรรสในการกิน  และเคล็ดลับเพิ่มการคลายโคลนในตัวหอย   คือหลังล้างน้ำ  ก็ใส่พริกขี้หนูสัก 2-3 เม็ดลงไปแช่ร่วมกับหอย จากนั้นก็ลงมือสับก้นหอยประมาณข้อที่ 3 เพื่อให้เวลากินจะจุ๊บหรือดูดหอยได้ง่ายนั่นเอง

 

         เครื่องปรุงของเมนูนี้ก็จะมี  พริกสด  หอมกระเทียม กะทิ ขมิ้น  น้ำมัน เกลือ น้ำตาล  กะปิ  หัวมันเทศเพิ่มความกลมกล่อมและที่สำคัญคือ  หอยตาแดงที่ผ่านการล้างตัดก้นเรียบร้อยแล้ว  โดยลงมือนำเครื่องปรุงทุกอย่างที่เป็นเครื่องแกงมาโครกหรือบดจนละเอียดแล้วตั้งกระทะให้ร้อน  นำเครื่องแกงไปผัดในน้ำมันให้หอมกรุ่น ก่อนใส่กะทิตั้งไฟให้เดือด  และใส่หอยที่เตรียมไว้ลงไป  จากนั้นก็ปรุงรสตามใจชอบ  และรับประทานได้เลยกับข้าวสวยร้อนๆ

 

        เคล็ดลับในการกินแกงหอยตาแดง  สำหรับมือใหม่ต้องมีเทคนิคในการจุ๊บหอยคือ ต้องจุ๊บหอยแรง ๆ ครั้งเดียวหรือจะแบ่งเป็นจังหวะ เพราะไม่อย่างนั้นคุณจะอดกินหอยอย่างแน่นอน

……………………………………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

ปลูกข่าตาแดง  อาชีพทำเงินรายได้งาม  ตลาดกว้างลงทุนครั้งเดียวเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทั้งปี  

ปลูกข่าตาแดง  อาชีพทำเงินรายได้งาม  ตลาดกว้างลงทุนครั้งเดียวเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทั้งปี  

         เมื่อยางพารามีราคาที่ผันผวนง่าย  การหันมาปลูกพืชสวนครัว  ที่ทุกครัวเรือนจะต้องรับประทานกันเกือบทุกวัน   จึงเป็นทางเลือกทางรอดของครอบครัวคุณสุนันท์  สาลิกาพงษ์  อายุ 59 ปี  สองคนสามีที่เปลี่ยนอาชีพหลักจากกรีดยางพารามาปลูกหัวข่าเสริมรายได้  บนพื้นที่   3  ไร่  ซอย ชุมชนสนามบิน 10  หมู่ 6  ต.คลองขุด อ.เมือง  จ.สตูล  จนถึงขณะนี้กลายเป็นรายได้หลักเลี้ยงครอบครัวได้อย่างสบายสไตล์พอเพียงไปแล้ว

         “ข่าตาแดง”  เป็นพันธุ์ข่าพื้นบ้านชอบดินร่วนซุย   ลงทุนปลูกเพียงครั้งเดียวเก็บเกี่ยวได้ยาวนาน   เพราะเป็นพืชหน่อ  ที่ขุดไปแล้วเหลือไว้ทำเชื้อ 2-3 ต้น  ก็จะแตกหน่อหมุนเวียนให้กลับมาเก็บใหม่ได้อีกครั้ง     การดูแลก็ต้องใส่ปุ๋ย   กำจัดวัชพืชบ้าง  เพื่อให้เขาเติบโตสวยงามและให้ผลผลิตเร็ว   การปลูกจะอิงธรรมชาติเป็นหลัก  หากเจอช่วงแล้งหนัก  ยาวนาน  ก็จะหยุดให้ผลผลิตได้ 

         การเก็บผลผลิตนั้น  ก็สามารถเก็บได้ทุกวัน  วันละ20 กิโลกรัม  ขายกิโลกรัมละ 40 บาทส่งพ่อค้า  ซึ่งในช่วงนี้ราคาดี  เคยมีราคาแตะไปถึงกิโลกรัมละ 50 บาทในข่าอ่อน   ส่วนข่าแก่ก็ส่งขายทำเครื่องแกงได้อีกด้วย    ใบข่าก็ยังสามารถนำไปทำปุ๋ย   ลำต้นก็สามารถนำไปแกะเปลือกนำมาแกงกินได้  เหมือนกับดอกของข่า  ก็เป็นผักสมุนไพรหลายคนชอบรับประทาน 

         เมื่อขุด “ข่าตาแดง” จากแปลงมาแล้ว    ก็ต้องเข้าสู่ขั้นตอนล้าง   ซึ่งทางสามีคุณสุนันท์  สาลิกาพงษ์   จะใช้เครื่องมือทุ่นแรง  เพิ่มแรงน้ำอัดฉีดเพื่อเอาดินออก  ร่นระยะเวลารวดเร็วในการล้าง  ให้  “ข่าตาแดง”   สะอาดสวยงามอมชมพู  และใช้มีดเก็บทำความสะอาดอีกครั้งเพิ่มความสวยก่อนส่งขาย

         นายเฉลิมพร   ศรีสวัสดิ์   เกษตรอำเภอเมืองสตูล  บอกว่า  เกษตรกรรายนี้เคยปลูกฝรั่งมาก่อน  แต่เจอปัญหาศัตรูพืชก่อนหันมาปลูกข่าตาแดง ได้ปีที่ 8 แล้ว ซึ่งข่านับเป็นพืชที่ตลาดยังมีความต้องการอีกเยอะ 

        มีการปลูกน้อยและสามารถให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปี  สร้างรายได้สม่ำเสมอ    โดยทางเกษตรอำเภอเองได้เข้ามาให้ความรู้เรื่องศัตรูพืช และการจัดการแปลงเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี

………………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล-กลุ่มวิสาหกิจชุมชนควนขันบาติก สกัดสีจากเปลือกไม้ ผลไม้  วาดลวยลายอัตลักษณ์บนผืนผ้ายอดสั่งสุดปัง สร้างรายได้อย่างงาม

สตูล-กลุ่มวิสาหกิจชุมชนควนขันบาติก สกัดสีจากเปลือกไม้ ผลไม้  วาดลวยลายอัตลักษณ์บนผืนผ้ายอดสั่งสุดปัง สร้างรายได้อย่างงาม

          หลังมีการรณรงค์ ส่งเสริมให้สวมใส่ผ้าไทย ผ้าอัตลักษณ์   ลายผ้าที่ผ่านการตัดเย็บอย่างประณีตจึงถูกหยิบมาสวมใส่  ด้านกลุ่มวิสาหกิจผลิตผ้าหลายๆกลุ่มในจังหวัดสตูล  ต่างดึงเสน่ห์ความเป็นอัตลักษณ์ในพื้นที่ออกมาใช้  ออกแบบให้สวยงามควรค่าแก่การสวมใส่ 

 

          อย่างที่วิสาหกิจชุมชนควนขันบาติกปาเต๊ะ ซึ่งมี นางสาวพรพรรณ รักนิยม เป็นประธานกลุ่ม  ก็ดึงเอาอัตลักษณ์ในพื้นที่ ทั้งความเป็นอุทยานธรณีโลกสตูล  สีจากเปลือกไม้  ใบไม้  และผลไม้ในพื้นที่ มาต่อยอดสกัดเป็นสีย้อมผ้า  และลวดลายบนผืนผ้า  เพื่อเพิ่มมูลค่าและได้รับความนิยมจากผู้สวมใส่

         

        ล่าสุดทางกลุ่ม  มีโอกาสนำผ้าเข้าร่วมประกวดผ้าจากสีธรรมชาติ  ในกิจกรรมการประกวดสุดยอดผ้าจังหวัดสตูล ประจำปี 2567 ซึ่ง ทางวิสาหกิจชุมชนควนขันบาติกปาเต๊ะ  ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทสีธรรมชาติ  และยังได้ในส่วนของรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 2  ประเภทสีเคมี

 

          สมาชิกกลุ่ม วิสาหกิจชุมชนควนขันบาติกปาเต๊ะ นำสีจากเปลือกและแกนไม้แสมดำ  ขนุน เปลือกมังคุด  ที่ถูกสกัดมาเป็นสีทาบนผืนผ้าที่วาดลวดลายแล้วทั้ง 2 ด้าน เพื่อเพิ่มสีสันให้สมบูรณ์ สวยงาม

 

       ส่วนลายผ้านั้น  มีทั้งลายดอกกาหลง ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดสตูล   ลายช่องลมของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ  คฤหาสน์กูเด็น   ลายฟอสซิลชนิดต่างๆที่ถูกค้นพบในจังหวัดสตูล  ว่าวควาย  รวมถึงลายขอ  ซึ่งเป็นลายพระราชทาน  ทำให้สีและลายผ้าของกลุ่มฯมีมากมายให้เลือก ทั้งสีจากธรรมชาติ  และสีเคมี  ซึ่งทำให้ราคาแตกต่างกันมาก

         นางสาวพรพรรณ รักนิยม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนควนขันบาติกปาเต๊ะ  บอกว่า  ผ้าแต่ละลวดลายที่ทำมาจากสีธรรมชาติ   ทางกลุ่มจะขายอยู่ที่ผืนละ 2 เมตร ราคา 2,500 บาท  ส่วนที่ทำจากสีเคมี เริ่มต้นราคาผืนละ 650 บาท โดยผ้าที่ทำจากสีธรรมชาตินั้น ขายได้ดีกว่า มียอดสั่งซื้อจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะซื้อเพื่อนำไปตัดเป็นเสื้อ และผ้าถุง หรือตัดเป็นชุดสวมใส่  ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในจังหวัดสตูล และต่างจังหวัด  มียอดสั่งซื้อไกลถึงกรุงเทพฯ เฉลี่ยแล้วเดือนหนึ่งขายผ้าได้ 30 ผืน มีรายได้เดือนละประมาณ  40,000 กว่าบาท  นอกจากผ้าชิ้นแล้ว  ยังมีชุดเสื้อผ้าบาติก กระเป๋า หมวก และผลิตภัณฑ์จากผ้าบาติกอื่นๆอีกด้วย

 

          ด้านนายเฉลิมพร ศรีสวัสดิ์ เกษตรอำเภอเมืองสตูล มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองสตูล  ลงพื้นที่กลุ่ม วิสาหกิจชุมชนควนขันบาติกปาเต๊ะ  เพื่อติดตามการดำเนินงาน  และการบริหารจัดการกลุ่ม

           

         โดยนางฮาบีบ๊ะ  จารุพันธ์  นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองสตูล    กล่าวว่า สำหรับกลุ่ม  วิสาหกิจชุมชนควนขันบาติกปาเต๊ะ  ได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเมื่อปี 2556  มีสมาชิก 16 คน โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสตรีทำผ้ามานานกว่า 20 ปีแล้ว ได้เรียนรู้นำเปลือกไม้จากธรรมชาติมาสกัด และทำเป็นสีได้อย่างสวยงาม  มีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่ม

……………………………………………………………………..

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล-อาชีพทำเงิน   ดองปูเปี้ยวหรือปูเค็ม  หนุ่มสตูลสานต่ออาชีพครอบครัวส่งออกสร้างรายได้กระจายในชุมชน

สตูล-อาชีพทำเงิน   ดองปูเปี้ยวหรือปูเค็ม  หนุ่มสตูลสานต่ออาชีพครอบครัวส่งออกสร้างรายได้กระจายในชุมชน

           ทุก ๆ วัน ชาวบ้านจะนำปูเปี้ยว  หรือ ปูแสม  ที่หาได้จากป่าชายเลน  มาขายยังแพปูเปี้ยว  ในพื้นที่บ้านไร่ทอน  หมู่ที่ 3 ต.ท่าเรือ  อ.ท่าแพ  จ.สตูล  โดยทางแพปูเปี้ยวจะรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 35 – 45 บาท แล้วแต่ขนาดของปู  เพื่อนำไปดองส่งขายตลาดต่างจังหวัดทั่วไทย  และส่งออกไปยังประเทศสิงคโปร์  สร้างรายได้รอบด้าน  ตั้งแต่คนหาปูเปี้ยว  พนักงานคัดแยก  ดอง ปู    โดยปูเปี้ยวที่มีมากถึง  200  กก.ถึง 1  ตัน (1000 กก.) ต่อวัน  ถูกน็อคน้ำแข็งก่อนนำมาคัดแยกไซต์ แล้วนำไปล้าง 2 น้ำ  ดองเกลือนาน 2 วัน ก็ได้ปูเปี้ยวพร้อมส่งขาย  

 

          โดยนายวัชรินทร์  คงหนู (อาร์ม) อายุ 25 ปี ทายาทเจ้าของแพปูเปี้ยว  เปิดเผยว่า  กว่า 30 ปีแล้วที่แพเปิดรับซื้อปูเปี้ยวมาดองขาย  สร้างรายได้ให้กับครอบครัว  รวมถึงชาวบ้านที่ไปหาปูมาขาย  และชาวบ้านที่มาดองปู  โดยทางแพจะรับซื้อปูเปี้ยวจากชาวบ้านในราคากิโลกรัมละ 35 บาท   หากเป็นปูตัวใหญ่ก็จะรับซื้อในราคา 40-45 บาท  ก่อนดองขายแยกเป็น 3 ขนาด   ปูใหญ่ราคา 85 บาท  ปูกลาง 60  บาท  และเล็ก 35 บาท  ปูดองปี๊บละ 7 กิโลกรัม  ราคา 580 บาท  ปูดองปี๊บละ 10 กิโลกรัมราคา 700  บาท   ส่งขายหาดใหญ่วันละ 300 – 500 กิโลกรัม  ส่งเชียงใหม่สัปดาห์ละ 220 ปี๊บ    ส่งกทม.สัปดาห์ละ  200-300 ปี๊บ  และส่งออกไปประเทศสิงคโปร์สัปดาห์ละ 150-200 ปี๊บ 

 

          นางจีหนา  ไชยยัน  อายุ 44 ปี พนักงานแพปูเปี้ยว   กล่าวว่า  หลังจากกรีดยางพาราในตอนเช้า  ก็มารับจ้างดองปูที่แพ  สร้างรายได้วัน 300 – 400 บาท  แล้วแต่ปริมาณของปู  โดยทางแพจะจ้างดองกิโลกรัมละ 2 บาทนำมาหารแบ่งกัน  โดยทำมา 20 ปีแล้ว  เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้  สำหรับกระบวนการดอกปูเปี้ยวนั้น  ก่อนอื่นต้องคัดแยกไซต์  ก่อนดองเกลือนาน 1-2 วัน แล้วแต่ความชอบ  

   

           ด้านนางรอม  เจริญฤทธิ์  อายุ 65 ปี  ชาวบ้านจากอำเภอทุ่งหว้า จ.สตูล  กล่าวว่า  ตนรับซื้อปูเปี้ยวตัวใหญ่จากชาวบ้านในพื้นที่อำเภอทุ่งหว้า  ในราคากิโลกรัมละ 35 บาท  มาขายยังแพปูเปี้ยวในอำเภอท่าแพ  วันนึงจะนำมาขาย 150 – 200 กิโลกรัม เพราะพื้นที่อำเภอทุ่งหว้ามีป่าชายเลนสมบูรณ์  ปูเปี้ยวที่อยู่ในป่าชายเลนจึงมาเยอะ

 

           ด้านนายดนรอสัก  เปรมใจ  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือ  กล่าวว่า ปูเปี้ยวในพื้นที่ตำบลท่าเรือ ถือว่ามีเยอะ เพราะป่าชายเลนสมบูรณ์  สามารถจับขายได้  ที่นี่มีการดองปูเปี้ยว นับเป็นธุรกิจที่สร้างเงิน  และสร้างงานให้กับชาวบ้าน   ซึ่งปูเปี้ยวนี้สามารถทำอาหารได้อย่างเมนู ส้มตำ พร้อมกันนี้อบต.ท่าเรือก็ได้แนะนำให้มีการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน      

 

  สนใจติดต่อสอบถาม  ซื้อ ขาย  ปูเปี้ยว โทร  062-0639844   (คุณอาร์ม) 

…………………………….

อัพเดทล่าสุด