Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 สตูล-ล่องเรือหาหอยตาแดงในป่าชายเลน   หอยที่หนีน้ำเกาะบนต้นไม้  ปรุงเมนูพื้นถิ่นหาทานยากและเทคนิคการกินที่สุดแสนจะเพลิดเพลิน

สตูล-ล่องเรือหาหอยตาแดงในป่าชายเลน   หอยที่หนีน้ำเกาะบนต้นไม้  ปรุงเมนูพื้นถิ่นหาทานยากและเทคนิคการกินที่สุดแสนจะเพลิดเพลิน

          ฤดูกาลนี้  แม้จะไม่ใช่ช่วงหอยตาแดงที่ชุกชุม  แต่ชาวบ้านเทศบาลตำบลเจ๊ะบิลัง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล  ยังสามารถออกหาหอยตาแดงในป่าชายเลน  ที่ปกคลุมรอบหมู่บ้านได้ไม่ยากนัก  แต่ต้องใช้เรือลำน้อยแล่นไปตามลำคลอง  เพื่อหาตำแหน่งที่อยู่อาศัยของหอยตาแดง  สัตว์น้ำที่มักจะหนีน้ำที่ขึ้นสูงไปอยู่บนต้นไม้ป่าชายเลน

 

          นายฮาบีบ   นาฮูดา  อายุ  31 ปี พร้อมทีมงาน  นั่งเรือออกจากฝั่งท่าเทียบเรือเจ๊ะบิลัง อำเภอเมืองสตูลผ่านแยกจากคลองใหญ่มาได้สักพัก   ก็ถึงเป้าหมายลงมือหาหอยตาแดงกันเลย  การหาหอยตาแดงในช่วงนี้ไม่ง่ายเหมือนช่วงน้ำขึ้น 15 ค่ำ 1 ถึง 4 ค่ำ ซึ่งเป็นช่วงน้ำใหญ่ที่จะเห็นหอยไต่ต้นไม้ป่าโกงกางเพื่อหนีน้ำ   เกาะอยู่บนต้นไม้เหนือน้ำ   ชนิดมารอกันง่าย ๆ บางคนจับได้มากสุดครั้งละ 30 กิโลกรัม  แม้ช่วงนี้จะหาไม่ง่ายแต่ก็ยังมีหอยให้จับได้ตลอดทั้งปีเหมือนกัน   การหาหอยในช่วงนี้จะได้ประมาณ 2-3 กิโลกรัม   ก็พอจะเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัว 200-300 บาท (แล้วแต่ขนาดของหอย)  ที่สำคัญเป็นอาหารเลี้ยงคนในครอบครัวได้ด้วย  อยากกินก็แค่นั่งเรือออกมาเก็บในคลองหน้าบ้าน ซึ่งหอยตาแดงที่ชาวบ้านนิยมหาคือ หอยตาแดงปากหนา เพราะมีเนื้อเยอะ ส่วนหอยตาแดงปากบางนั้นไม่นิยมเพราะตัวเล็ก  เสี่ยงมันจะบาดปาก

            หลังได้หอยตาแดงมาเพียงพอสำหรับแกงในวันนี้  เจ๊ะติม๊ะ   หลังจิ  วัย 68 ปี แม่บ้านฝีมือเด็ดของหมู่บ้านเจ๊ะบิลัง  ก็อาสาลงมือปรุงเมนูยอดนิยมของหมู่บ้าน  นั่นก็คือ เมนู แกงหอยตาแดง  โดยขั้นตอนปกติจะต้องแช่หอยไว้ 1 คืน ก่อนนำมาปรุง   เพื่อให้หอยได้คลายดินโคลนออกจากตัวก่อน ไม่ให้เสียอรรสในการกิน  และเคล็ดลับเพิ่มการคลายโคลนในตัวหอย   คือหลังล้างน้ำ  ก็ใส่พริกขี้หนูสัก 2-3 เม็ดลงไปแช่ร่วมกับหอย จากนั้นก็ลงมือสับก้นหอยประมาณข้อที่ 3 เพื่อให้เวลากินจะจุ๊บหรือดูดหอยได้ง่ายนั่นเอง

 

         เครื่องปรุงของเมนูนี้ก็จะมี  พริกสด  หอมกระเทียม กะทิ ขมิ้น  น้ำมัน เกลือ น้ำตาล  กะปิ  หัวมันเทศเพิ่มความกลมกล่อมและที่สำคัญคือ  หอยตาแดงที่ผ่านการล้างตัดก้นเรียบร้อยแล้ว  โดยลงมือนำเครื่องปรุงทุกอย่างที่เป็นเครื่องแกงมาโครกหรือบดจนละเอียดแล้วตั้งกระทะให้ร้อน  นำเครื่องแกงไปผัดในน้ำมันให้หอมกรุ่น ก่อนใส่กะทิตั้งไฟให้เดือด  และใส่หอยที่เตรียมไว้ลงไป  จากนั้นก็ปรุงรสตามใจชอบ  และรับประทานได้เลยกับข้าวสวยร้อนๆ

 

        เคล็ดลับในการกินแกงหอยตาแดง  สำหรับมือใหม่ต้องมีเทคนิคในการจุ๊บหอยคือ ต้องจุ๊บหอยแรง ๆ ครั้งเดียวหรือจะแบ่งเป็นจังหวะ เพราะไม่อย่างนั้นคุณจะอดกินหอยอย่างแน่นอน

……………………………………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

ปลูกข่าตาแดง  อาชีพทำเงินรายได้งาม  ตลาดกว้างลงทุนครั้งเดียวเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทั้งปี  

ปลูกข่าตาแดง  อาชีพทำเงินรายได้งาม  ตลาดกว้างลงทุนครั้งเดียวเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทั้งปี  

         เมื่อยางพารามีราคาที่ผันผวนง่าย  การหันมาปลูกพืชสวนครัว  ที่ทุกครัวเรือนจะต้องรับประทานกันเกือบทุกวัน   จึงเป็นทางเลือกทางรอดของครอบครัวคุณสุนันท์  สาลิกาพงษ์  อายุ 59 ปี  สองคนสามีที่เปลี่ยนอาชีพหลักจากกรีดยางพารามาปลูกหัวข่าเสริมรายได้  บนพื้นที่   3  ไร่  ซอย ชุมชนสนามบิน 10  หมู่ 6  ต.คลองขุด อ.เมือง  จ.สตูล  จนถึงขณะนี้กลายเป็นรายได้หลักเลี้ยงครอบครัวได้อย่างสบายสไตล์พอเพียงไปแล้ว

         “ข่าตาแดง”  เป็นพันธุ์ข่าพื้นบ้านชอบดินร่วนซุย   ลงทุนปลูกเพียงครั้งเดียวเก็บเกี่ยวได้ยาวนาน   เพราะเป็นพืชหน่อ  ที่ขุดไปแล้วเหลือไว้ทำเชื้อ 2-3 ต้น  ก็จะแตกหน่อหมุนเวียนให้กลับมาเก็บใหม่ได้อีกครั้ง     การดูแลก็ต้องใส่ปุ๋ย   กำจัดวัชพืชบ้าง  เพื่อให้เขาเติบโตสวยงามและให้ผลผลิตเร็ว   การปลูกจะอิงธรรมชาติเป็นหลัก  หากเจอช่วงแล้งหนัก  ยาวนาน  ก็จะหยุดให้ผลผลิตได้ 

         การเก็บผลผลิตนั้น  ก็สามารถเก็บได้ทุกวัน  วันละ20 กิโลกรัม  ขายกิโลกรัมละ 40 บาทส่งพ่อค้า  ซึ่งในช่วงนี้ราคาดี  เคยมีราคาแตะไปถึงกิโลกรัมละ 50 บาทในข่าอ่อน   ส่วนข่าแก่ก็ส่งขายทำเครื่องแกงได้อีกด้วย    ใบข่าก็ยังสามารถนำไปทำปุ๋ย   ลำต้นก็สามารถนำไปแกะเปลือกนำมาแกงกินได้  เหมือนกับดอกของข่า  ก็เป็นผักสมุนไพรหลายคนชอบรับประทาน 

         เมื่อขุด “ข่าตาแดง” จากแปลงมาแล้ว    ก็ต้องเข้าสู่ขั้นตอนล้าง   ซึ่งทางสามีคุณสุนันท์  สาลิกาพงษ์   จะใช้เครื่องมือทุ่นแรง  เพิ่มแรงน้ำอัดฉีดเพื่อเอาดินออก  ร่นระยะเวลารวดเร็วในการล้าง  ให้  “ข่าตาแดง”   สะอาดสวยงามอมชมพู  และใช้มีดเก็บทำความสะอาดอีกครั้งเพิ่มความสวยก่อนส่งขาย

         นายเฉลิมพร   ศรีสวัสดิ์   เกษตรอำเภอเมืองสตูล  บอกว่า  เกษตรกรรายนี้เคยปลูกฝรั่งมาก่อน  แต่เจอปัญหาศัตรูพืชก่อนหันมาปลูกข่าตาแดง ได้ปีที่ 8 แล้ว ซึ่งข่านับเป็นพืชที่ตลาดยังมีความต้องการอีกเยอะ 

        มีการปลูกน้อยและสามารถให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปี  สร้างรายได้สม่ำเสมอ    โดยทางเกษตรอำเภอเองได้เข้ามาให้ความรู้เรื่องศัตรูพืช และการจัดการแปลงเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี

………………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล-กลุ่มวิสาหกิจชุมชนควนขันบาติก สกัดสีจากเปลือกไม้ ผลไม้  วาดลวยลายอัตลักษณ์บนผืนผ้ายอดสั่งสุดปัง สร้างรายได้อย่างงาม

สตูล-กลุ่มวิสาหกิจชุมชนควนขันบาติก สกัดสีจากเปลือกไม้ ผลไม้  วาดลวยลายอัตลักษณ์บนผืนผ้ายอดสั่งสุดปัง สร้างรายได้อย่างงาม

          หลังมีการรณรงค์ ส่งเสริมให้สวมใส่ผ้าไทย ผ้าอัตลักษณ์   ลายผ้าที่ผ่านการตัดเย็บอย่างประณีตจึงถูกหยิบมาสวมใส่  ด้านกลุ่มวิสาหกิจผลิตผ้าหลายๆกลุ่มในจังหวัดสตูล  ต่างดึงเสน่ห์ความเป็นอัตลักษณ์ในพื้นที่ออกมาใช้  ออกแบบให้สวยงามควรค่าแก่การสวมใส่ 

 

          อย่างที่วิสาหกิจชุมชนควนขันบาติกปาเต๊ะ ซึ่งมี นางสาวพรพรรณ รักนิยม เป็นประธานกลุ่ม  ก็ดึงเอาอัตลักษณ์ในพื้นที่ ทั้งความเป็นอุทยานธรณีโลกสตูล  สีจากเปลือกไม้  ใบไม้  และผลไม้ในพื้นที่ มาต่อยอดสกัดเป็นสีย้อมผ้า  และลวดลายบนผืนผ้า  เพื่อเพิ่มมูลค่าและได้รับความนิยมจากผู้สวมใส่

         

        ล่าสุดทางกลุ่ม  มีโอกาสนำผ้าเข้าร่วมประกวดผ้าจากสีธรรมชาติ  ในกิจกรรมการประกวดสุดยอดผ้าจังหวัดสตูล ประจำปี 2567 ซึ่ง ทางวิสาหกิจชุมชนควนขันบาติกปาเต๊ะ  ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทสีธรรมชาติ  และยังได้ในส่วนของรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 2  ประเภทสีเคมี

 

          สมาชิกกลุ่ม วิสาหกิจชุมชนควนขันบาติกปาเต๊ะ นำสีจากเปลือกและแกนไม้แสมดำ  ขนุน เปลือกมังคุด  ที่ถูกสกัดมาเป็นสีทาบนผืนผ้าที่วาดลวดลายแล้วทั้ง 2 ด้าน เพื่อเพิ่มสีสันให้สมบูรณ์ สวยงาม

 

       ส่วนลายผ้านั้น  มีทั้งลายดอกกาหลง ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดสตูล   ลายช่องลมของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ  คฤหาสน์กูเด็น   ลายฟอสซิลชนิดต่างๆที่ถูกค้นพบในจังหวัดสตูล  ว่าวควาย  รวมถึงลายขอ  ซึ่งเป็นลายพระราชทาน  ทำให้สีและลายผ้าของกลุ่มฯมีมากมายให้เลือก ทั้งสีจากธรรมชาติ  และสีเคมี  ซึ่งทำให้ราคาแตกต่างกันมาก

         นางสาวพรพรรณ รักนิยม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนควนขันบาติกปาเต๊ะ  บอกว่า  ผ้าแต่ละลวดลายที่ทำมาจากสีธรรมชาติ   ทางกลุ่มจะขายอยู่ที่ผืนละ 2 เมตร ราคา 2,500 บาท  ส่วนที่ทำจากสีเคมี เริ่มต้นราคาผืนละ 650 บาท โดยผ้าที่ทำจากสีธรรมชาตินั้น ขายได้ดีกว่า มียอดสั่งซื้อจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะซื้อเพื่อนำไปตัดเป็นเสื้อ และผ้าถุง หรือตัดเป็นชุดสวมใส่  ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในจังหวัดสตูล และต่างจังหวัด  มียอดสั่งซื้อไกลถึงกรุงเทพฯ เฉลี่ยแล้วเดือนหนึ่งขายผ้าได้ 30 ผืน มีรายได้เดือนละประมาณ  40,000 กว่าบาท  นอกจากผ้าชิ้นแล้ว  ยังมีชุดเสื้อผ้าบาติก กระเป๋า หมวก และผลิตภัณฑ์จากผ้าบาติกอื่นๆอีกด้วย

 

          ด้านนายเฉลิมพร ศรีสวัสดิ์ เกษตรอำเภอเมืองสตูล มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองสตูล  ลงพื้นที่กลุ่ม วิสาหกิจชุมชนควนขันบาติกปาเต๊ะ  เพื่อติดตามการดำเนินงาน  และการบริหารจัดการกลุ่ม

           

         โดยนางฮาบีบ๊ะ  จารุพันธ์  นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองสตูล    กล่าวว่า สำหรับกลุ่ม  วิสาหกิจชุมชนควนขันบาติกปาเต๊ะ  ได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเมื่อปี 2556  มีสมาชิก 16 คน โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสตรีทำผ้ามานานกว่า 20 ปีแล้ว ได้เรียนรู้นำเปลือกไม้จากธรรมชาติมาสกัด และทำเป็นสีได้อย่างสวยงาม  มีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่ม

……………………………………………………………………..

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล-อาชีพทำเงิน   ดองปูเปี้ยวหรือปูเค็ม  หนุ่มสตูลสานต่ออาชีพครอบครัวส่งออกสร้างรายได้กระจายในชุมชน

สตูล-อาชีพทำเงิน   ดองปูเปี้ยวหรือปูเค็ม  หนุ่มสตูลสานต่ออาชีพครอบครัวส่งออกสร้างรายได้กระจายในชุมชน

           ทุก ๆ วัน ชาวบ้านจะนำปูเปี้ยว  หรือ ปูแสม  ที่หาได้จากป่าชายเลน  มาขายยังแพปูเปี้ยว  ในพื้นที่บ้านไร่ทอน  หมู่ที่ 3 ต.ท่าเรือ  อ.ท่าแพ  จ.สตูล  โดยทางแพปูเปี้ยวจะรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 35 – 45 บาท แล้วแต่ขนาดของปู  เพื่อนำไปดองส่งขายตลาดต่างจังหวัดทั่วไทย  และส่งออกไปยังประเทศสิงคโปร์  สร้างรายได้รอบด้าน  ตั้งแต่คนหาปูเปี้ยว  พนักงานคัดแยก  ดอง ปู    โดยปูเปี้ยวที่มีมากถึง  200  กก.ถึง 1  ตัน (1000 กก.) ต่อวัน  ถูกน็อคน้ำแข็งก่อนนำมาคัดแยกไซต์ แล้วนำไปล้าง 2 น้ำ  ดองเกลือนาน 2 วัน ก็ได้ปูเปี้ยวพร้อมส่งขาย  

 

          โดยนายวัชรินทร์  คงหนู (อาร์ม) อายุ 25 ปี ทายาทเจ้าของแพปูเปี้ยว  เปิดเผยว่า  กว่า 30 ปีแล้วที่แพเปิดรับซื้อปูเปี้ยวมาดองขาย  สร้างรายได้ให้กับครอบครัว  รวมถึงชาวบ้านที่ไปหาปูมาขาย  และชาวบ้านที่มาดองปู  โดยทางแพจะรับซื้อปูเปี้ยวจากชาวบ้านในราคากิโลกรัมละ 35 บาท   หากเป็นปูตัวใหญ่ก็จะรับซื้อในราคา 40-45 บาท  ก่อนดองขายแยกเป็น 3 ขนาด   ปูใหญ่ราคา 85 บาท  ปูกลาง 60  บาท  และเล็ก 35 บาท  ปูดองปี๊บละ 7 กิโลกรัม  ราคา 580 บาท  ปูดองปี๊บละ 10 กิโลกรัมราคา 700  บาท   ส่งขายหาดใหญ่วันละ 300 – 500 กิโลกรัม  ส่งเชียงใหม่สัปดาห์ละ 220 ปี๊บ    ส่งกทม.สัปดาห์ละ  200-300 ปี๊บ  และส่งออกไปประเทศสิงคโปร์สัปดาห์ละ 150-200 ปี๊บ 

 

          นางจีหนา  ไชยยัน  อายุ 44 ปี พนักงานแพปูเปี้ยว   กล่าวว่า  หลังจากกรีดยางพาราในตอนเช้า  ก็มารับจ้างดองปูที่แพ  สร้างรายได้วัน 300 – 400 บาท  แล้วแต่ปริมาณของปู  โดยทางแพจะจ้างดองกิโลกรัมละ 2 บาทนำมาหารแบ่งกัน  โดยทำมา 20 ปีแล้ว  เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้  สำหรับกระบวนการดอกปูเปี้ยวนั้น  ก่อนอื่นต้องคัดแยกไซต์  ก่อนดองเกลือนาน 1-2 วัน แล้วแต่ความชอบ  

   

           ด้านนางรอม  เจริญฤทธิ์  อายุ 65 ปี  ชาวบ้านจากอำเภอทุ่งหว้า จ.สตูล  กล่าวว่า  ตนรับซื้อปูเปี้ยวตัวใหญ่จากชาวบ้านในพื้นที่อำเภอทุ่งหว้า  ในราคากิโลกรัมละ 35 บาท  มาขายยังแพปูเปี้ยวในอำเภอท่าแพ  วันนึงจะนำมาขาย 150 – 200 กิโลกรัม เพราะพื้นที่อำเภอทุ่งหว้ามีป่าชายเลนสมบูรณ์  ปูเปี้ยวที่อยู่ในป่าชายเลนจึงมาเยอะ

 

           ด้านนายดนรอสัก  เปรมใจ  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือ  กล่าวว่า ปูเปี้ยวในพื้นที่ตำบลท่าเรือ ถือว่ามีเยอะ เพราะป่าชายเลนสมบูรณ์  สามารถจับขายได้  ที่นี่มีการดองปูเปี้ยว นับเป็นธุรกิจที่สร้างเงิน  และสร้างงานให้กับชาวบ้าน   ซึ่งปูเปี้ยวนี้สามารถทำอาหารได้อย่างเมนู ส้มตำ พร้อมกันนี้อบต.ท่าเรือก็ได้แนะนำให้มีการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน      

 

  สนใจติดต่อสอบถาม  ซื้อ ขาย  ปูเปี้ยว โทร  062-0639844   (คุณอาร์ม) 

…………………………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล-ร้านโรตีเจ้าเก่าแก่  ปรับตัวตัวตามภาวะเศรษฐกิจ   จากโรตีมะตะบะเมนูพื้นถิ่น เพิ่มทางเลือกลูกค้าสายรักผลไม้  สู่เมนูโรตีสับปะรด  โรตีมะพร้าวอ่อนขายยกลูก  และโรตีขนุน โรตีลูกชิด ให้ลิ้มลอง

สตูล-ร้านโรตีเจ้าเก่าแก่  ปรับตัวตัวตามภาวะเศรษฐกิจ   จากโรตีมะตะบะเมนูพื้นถิ่น เพิ่มทางเลือกลูกค้าสายรักผลไม้  สู่เมนูโรตีสับปะรด  โรตีมะพร้าวอ่อนขายยกลูก  และโรตีขนุน โรตีลูกชิด ให้ลิ้มลอง

             จากภาวะเศรษฐกิจส่งผลให้หลายร้านต้องมีการปรับตัว  เพื่อสร้างความแปลกใหม่และจูงใจลูกค้าให้มากยิ่งขึ้น  การสร้างสรรค์เมนูพื้นถิ่นให้มีความหลากหลาย  เพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย  ได้เข้ามาลิ้มลอง

            แต่ก็ไม่ทิ้งเมนูดั้งเดิม  อย่างที่ร้านโรตีมะตะบะ  (หน้าพ.ส.) ริมถนนสตูลธานี  (ตั้งตรงข้ามโรงเรียนพิมานพิทยาสรรค์)   ตำบลพิมาน  อำเภอเมือง  จังหวัดสตูล ร้านเก่าแก่กว่า 26 ปี  ที่มีเมนูขึ้นชื่ออย่างโรตีมะตะบะ  มาวันนี้ได้มีการสร้างสรรค์เมนูโรตี  ให้มีความหลากหลายเพื่อตอบโจทย์ลูกค้ามากยิ่งขึ้น 

          โดยล่าสุดทางร้านได้มีการรังสรรค์เมนู  โรตีสับปะรด  ที่ยกมาทั้งลูกให้ลูกค้ารับประทานกันอย่างจุใจ  จะได้รสชาติของสับปะรดอย่างแท้จริง   โดยการผสมผสานเนื้อโรตีกับเนื้อสับปะรดได้อย่างลงตัว   ซึ่งทางร้านได้นำสับปะรดมาเป็นส่วนผสมคลุกเคล้าเข้ากับนมข้นหวานให้เข้ากัน  ราดไปบนเนื้อโรตีแผ่นบางบนกระทะ  จากนั้นห่อเนื้อสับปะรดเข้าไปด้วยกัน  ทำให้ความเปรี้ยวของสับปะรดตัดความมันแก้เลี่ยนได้

           นอกจากนี้ยังมีเมนู  โรตีลูกชิด  ผลไม้พื้นถิ่นที่นำมาปรุงเป็นส่วนผสมกินกับโรตีได้อย่างลงตัว  และยังมีอีกหลากหลายเมนูอย่างโรตีขนุน  และที่เป็นไฮไลท์ของทางร้านอีก 1 ชนิด  คือโรตีมะพร้าวอ่อนที่ยกเสิร์ฟกันทั้งลูกเช่นกัน

          นายอัมรินทร์   บินอับดุลรามาน   อายุ 50 ปี  เจ้าของร้านรุ่นที่2  บอกว่า  เมนูที่ลูกค้าชอบเป็นประจำและขายดียืนหนึ่งมาตลอดก็คือโรตีมะตะบะที่ขายมานานกว่า 26 ปี  แต่เพื่อเป็นการสร้างความหลากหลายจึงนำผลไม้พื้นถิ่นในพื้นที่มาเป็นส่วนผสม  เพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า  ทั้งโรตีมะพร้าวอ่อนที่ยกทั้งลูก  โรตีสับปะรดที่ยกทั้งลูกเช่นกัน  โรตีลูกชิดที่มีความอร่อยลงตัว  โรตีขนุน  และอีกหลากหลายเมนูนอกจากนี้ทางร้านก็ยังมีเมนูอื่นๆให้เลือกทานอีกมากมาย กว่า 70 เมนู  ทั้งขนมจีน  ข้าวต้ม  ลูกชิ้น  เป็นต้น

         ลูกค้าบอกว่า   ชอบโรตีสับปะรดและโรตีลุูกจากมาก  เพราะได้รสชาติของผลไม้ที่แท้จริงและตัดเลี่ยนได้อย่างลงตัว   ซึ่งก่อนหน้านี้เดิมๆจะชอบโรตีมะตะบะเป็นขาประจำที่ร้านนี้อยู่แล้ว  เมื่อมีทางเลือกอื่นมาเพิ่มก็ชื่นชอบมากขึ้น  ราคาย่อมเยา 

         สำหรับลูกค้าที่ร้านโรตีมะตะบะ  หน้าพ.ส. ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าดั้งเดิม  ที่ทานกันมาตั้งแต่เด็กจนโต  ด้วยเจ้าของร้านใจดีชอบแถมอาหารทานเล่นให้บ่อยครั้ง   และเจ้าของร้านมีความเป็นกันเองกับลูกค้าด้วย  ซึ่งเจ้าของร้านบอกว่า  จะเน้นลูกค้าขาประจำภายในจังหวัดมากกว่านักท่องเที่ยว  หลายคนที่เป็นลูกค้าก็มาทานตั้งแต่เด็กจนโต 

          สำหรับ  โรตีมะตะบะราคา 40 บาท , โรตีสัปปะรด  60 บาท โรตีมะพร้าวอ่อน 60 บาท, โรตีขนุน 35 บาท  ,  และ โรตีลูกชิด 50 บาท ,

นอกจากนี้ทางร้านยังเคลมว่าร้านนี้ไม่ใส่ผงชูรส  และผงปรุงรสทุกชนิดด้วย  เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม  ทางเพจ : โรตีมะตะบะ หรือ โทร.096 – 651 -5977

………..

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล-สามีภรรยาสู้ชีวิต!  ขายส้มตำเลี้ยงชีพ  เก็บสวนหลังบ้านเป็นเครื่องเคียง ลูกค้าชมหวานกรอบไร้สารพิษ  กุ้งทะเลร้าตัวโตอร่อยแห่อุดหนุนให้กำลังใจ

สตูล-สองสามีภรรยาสู้ชีวิต!  ขายส้มตำเลี้ยงชีพ  เก็บสวนหลังบ้านเป็นเครื่องเคียง ลูกค้าชมหวานกรอบไร้สารพิษ  กุ้งทะเลร้าตัวโตอร่อยแห่อุดหนุนให้กำลังใจ

           ชีวิตไม่สิ้นก็ต้องดิ้นกันไป  ตราบใดที่ 2 มือสองเท้ายังมีขอเพียงไม่ยอมแพ้  เหมือนอย่างครอบครัวสองสามีภรรยาชาวสตูลนี้

 

          หลังรักษาตัวจนหายเจ็บป่วย จากโรค(ลิ้นหัวใจ และไทรอยด์ทั้งคู่)  ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา  ต้องหยุดรักษาตัว  สองสามีภรรยาก็สามารถออกทำมาหากินได้  เดินหน้าทำอาชีพที่รักและถนัด  ด้วยการเปิดร้านส้มตำไก่ย่าง  คอดียะห์  ร้านเพิงเล็กๆ  ริมถนน สายแยกควนสตอ-วังประจัน ตั้งอยู่หมู่ที่ 8  ตำบลควนสตอ  (เลยสามแยกควนสตอเพียง 1 กิโลเมตรซ้ายมือ) ก็จะพบกับร้านส้มตำของคอดียะห์  ร้านนี้ดูผิวเผินอาจจะเป็นร้านเล็กๆ ธรรมดาแต่ไม่ธรรมดา

 

          เพราะผักและเครื่องเคียงเกือบทุกชนิดที่นี่   ใช้ปรุงเป็นเมนูส้มตำจะนำมาจากสวนครัวหลังบ้านที่ก๊ะคอดียะห์  ที่เป็นคนลงมือปลูกด้วยตัวเองพร้อมยืนยันว่าผักภายในสวนนี้ปลอดจากสารพิษ 100%   ไม่ว่าจะเป็น ถั่วฝักยาว มะเขือ พริกสด  ผักบุ้ง  คะน้า  และผักอื่นๆอีกมากมายที่ปลูกเป็นส่วนผสมและเป็นผักเครื่องเคียงสำหรับใช้ปรุงในการทำเมนูส้มตำขายเลี้ยงปากท้อง

 

          ลูกค้าที่มาทานส้มตำที่ร้านนี้  ยังสามารถที่จะเดินเก็บผักมารับประทานเองได้   หรือจะให้แม่ค้าไปเก็บผักในสวนมาเป็นผักเครื่องเคียงทานกับส้มตำ   ก็จะได้รสชาติที่หวานกรอบอร่อย  และเชื่อมั่นได้ว่ารับประทานผักที่ร้านส้มตำไก่ย่างนี้แล้วจะปลอดภัยจากสารพิษตกค้างอย่าง 100%   เพราะผักทุกชนิดคุณคอดียะห์ปลูกเองกับมือโดยมีสามีเป็นผู้ช่วย

 

          นอกจากนี้เมนูส้มตำปลาร้าของที่ร้านนี้ก็จะใช้กุ้งทะเลทำเป็นกุ้งร้าแทนปลา  เป็นสูตรใหม่ที่ก๊ะคอดียะห์คิดสูตรขึ้นมาเอง   ได้รสชาติกลมกล่อมอร่อยถูกใจลูกค้าไม่น้อย   และยังสร้างจุดขายให้กับทางร้านเล็กๆ ได้รับประทานกันด้วย

 

          นางบีเซาะ  เกปัน  ลูกค้าบอกว่า  มาทานครั้งแรกก็รู้สึกประทับใจกับร้านนี้   นอกจากรสชาติที่อร่อยเหมือนต้นตำรับมาจากอีสาน  เนื่องจากแม่ค้าเป็นคนพื้นเพจังหวัดบุรีรัมย์  แต่มาตั้งรกรากเป็นสะใภ้มุสลิมที่นี่  ยิ่งสร้างความมั่นใจและประทับใจกับผักที่ปลูกขึ้นมาเอง   ให้กับลูกค้าได้ทานอย่างปลอดภัยด้วยรสชาติหวานกรอบอร่อย  และยิ่งประทับใจในตัวแม่ค้าที่เป็นคนสู้ชีวิต  แม้จะเจอมรสุมเข้ามาก็ไม่ย่อท้อก็อยากจะสนับสนุนและอุดหนุนเชิญชวนให้คนมากินส้มตำที่นี่ที่อร่อยและมีผักปลอดภัยไว้บริการในราคาย่อมเยา

 

          นายมะอุเส็น แซะอามา   สมาชิกอบต.ควนสตอ บอกว่า จะมาอุดหนุนลูกบ้านรายนี้อยู่เป็นประจำถ้ามีโอกาส  เพราะอดีตเคยปลูกผักปลอดสารพิษขาย  เมื่อล้มป่วยลงทั้งสองคนสามีภรรยาก็หยุดไปพักใหญ่  และกลับมาค้าขายอีกก็อยากจะมาอุดหนุนและอดชื่นชมไม่ได้ถึงฝีมือการปรุงอาหารรวมทั้งผักที่ปลอดภัยนำมาขายให้กับลูกค้าอยากให้ทุกคนมาช่วยกันอุดหนุนให้เยอะๆเพื่อเป็นกำลังใจให้กับเขาทั้งสอง

         นอกจากผักที่สดหวานกรอบแล้ว  นางคอดียะห์   ยังมีกุ้งทะเลร้า  สูตรที่คิดขึ้นเองใช้แทนปลาร้า  สร้างความแปลกใหม่ให้กับสูตรส้มตำของที่นี่  โดยลูกค้าก็จะได้รับประทานกุ้งร้า ตัวโตในราคาย่อมเยา   โดยจะขายเป็นเมนูส้มตำกุ้งร้า เพียงจานละ 30 บาท และหากเป็นเมนูส้มตำไข่เค็มจานละ 40 บาทนอกจากนี้ยังมีเมนู ส้มตำไทย, ตำมะม่วงและตำซั่ว,  รวมทั้งไก่ย่างไม้ละ 10 บาท

          นางคอดียะห์  เหมสลาหมาด  อายุ 50 ปี  บอกว่า  เดิมทีตนมีอาชีพขายส้มตำไก่ย่างมานานกว่า 30 ปีหลังจากที่ล้มป่วยลงได้หยุดไป 5 ปีและพึ่งที่จะกลับมาขายเหมือนเดิมเพราะไม่รู้จะไปทำอาชีพอะไรและเห็นว่าตัวเองมีความถนัดในอาชีพนี้เลยตั้งใจกับสามีว่าจะช่วยกันขายส้มตำไก่ย่างและใช้ผักที่ชื่นชอบในการปลูกไว้หลังบ้านมาเป็นผักเครื่องเคียงให้กับลูกค้าที่มาใช้บริการ  ได้ทานกันอย่างจุใจในราคาย่อมเยา  โดยเริ่มต้นที่ราคา 30 บาท  ในเมนูส้มตำธรรมดาและ 40 บาท  ในเมนูส้มตำไข่เค็มและส้มตำมะม่วง รวมทั้งตำซั่ว  ไก่ย่างไม้ละ 10 บาทซึ่งเมนูมีไม่มากนักทำค้าขายพออยู่ได้กัน 2 คนสามีภรรยาเพราะผักส่วนใหญ่ก็จะใช้ผักในส่วนตัวมาปรุงเป็นเมนูส้มตำ

          ส่วนกุ้งทะเลที่นำมาเป็นกุ้งร้านั้น  ได้ที่สูตรขึ้นมาเองทำเหมือนกับปลาร้าแต่เปลี่ยนมาเป็นกุ้งทะเลแทนก็รสชาติอร่อยดีให้ลูกค้าได้ทาน  หลายคนก็ชื่นชอบในความหอมกลมกล่อม

          โดยทางร้านจะเปิดขายทุกวันตั้งแต่เที่ยงไปจนกว่าของจะหมด  โดยติดต่อสอบถามได้ที่โทร  080-608-2176 ,  090-229-9740

……………………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล – หอยกะพง สัตว์น้ำหาได้ทั้งปี  สร้างอาชีพเสริมผู้สูงวัยริมทะเลที่จังหวัดสตูล

หอยกะพง สัตว์น้ำหาได้ทั้งปี  สร้างอาชีพเสริมผู้สูงวัยริมทะเลที่จังหวัดสตูล

           ท้องทะเลในพื้นที่อำเภอละงู  จ.สตูล  นับเป็นท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์  ชาวบ้านในพื้นที่สามารถหาสัตว์น้ำได้อย่างต่อเนื่อง  ไม่ว่าจะเป็น  กุ้ง  หอย  ปู  ปลา  โดยเฉพาะหอย เรียกได้ว่ามีครบ ทั้งหอยหลอด  หอยเสียบ  รวมถึง หอยกาบง  หรือ หอยกะพง  ที่ชาวบ้านสามารถหาได้ตลอดทั้งปี  หากขยันก็สร้างรายได้ให้ชาวบ้านตลอดทั้งปีเช่นกัน 

 

          ที่บริเวณชายหาดหัวหิน  ต.ละงู  อ.ละงู  จ.สตูล   นายณรงชัย  อยู่ล่าย  อายุ 62 ปี และนางปราณี  อยู่ล่าย  หรือ มะลี อายุ 65 ปี  สองสามีภรรยาวัยเกษียรณช่วยกันลวกหอยกะพงที่ลูกสาวหามาให้ตั้งแต่เช้ามืด   โดยใช้เตาฟืนในการลวกหอยจำนวนมากนี้  ก่อนนำไปให้ชาวบ้าน 4-5 คน ที่มารับจ้างแกะเปลือกออกด้วยความชำนาญ

 

          นางรอฉ๊ะ  สายสว่าง  อายุ 65 ปี ชาวบ้านหัวหิน   กล่าวว่า  ทุกๆวันหลังเสร็จภารกิจงานบ้านก็จะนำมีดและกะละมังใส่หอย  มานั่งแกะหอยที่ผ่านการลวกแล้ว  โดยแกะเปลือกออกนำขนหอยออก  รับค่าจ้างกิโลกรัมละ 10 บาท  หนึ่งวันจะได้ประมาณ 50-100 บาท  แล้วแต่ปริมาณหอยที่มี 

 

          นางปราณี  อยู่ล่าย  หรือ มะลี อายุ 65 ปี  กล่าวว่า  ทุกๆวันจะได้หอยมาไม่เท่ากันหากน้ำลดก็หาได้เยอะ  เฉลี่ยอยู่ที่ 30-40 กิโลกรัม    หากไม่มีคลื่นลมจะหาได้ทุกวัน  สังเกตช่วงหอยผอมจะหยุดหา  โดยออกเรือไปหาหอยห่างจากฝั่งประมาณ 2 กิโลเมตร  เมื่อได้หอยมาแล้วจะลวกโดยใช้ไฟแรงให้น้ำเดือดก่อนจุ่มหอยลงไปประมาณ 2-3 นาที  อย่าให้มีฟองขาว  เมื่อหอยอ้าปากก็ยกขึ้นได้แล้ว  ในแต่ละวันจะมีรายได้หลังหักค่าจ้างวันละ 1,000  กว่าบาท

           ด้านนายจำรัส  ฮ่องสาย  นายกอบต.ละงู  กล่าวว่า  หอยกะพงมีรสชาติอร่อย  เพราะความสดเพิ่งขึ้นจากทะเลแล้วนำมาลวกเลย  หอยช่วงฤดูนี้จะอ้วนเพราะกินแพรงตอน  สามารถไปทำได้หลายเมนูอย่าง  ลวกจิ้ม  ยำ ผัด แกงต่างๆ  หากทำแกงก็ผ่าหอยสดๆก่อนนำไปแกงจะได้รสชาติที่อร่อย  สามารถเป็นรายได้เสริมเพราะหอยนี้มีตลอดทั้งปี  แต่จะมีช่วงฤดูหอยผอม  และหอยจะอ้วนในช่วงมรสุม  นับเป็นสิ่งที่ดีผู้สูงอายุก็สามารถรับจ้างแกะหอยโดยใช้เวลาวันละ 2-3 ชั่วโมง ได้เงินวันละ 100 กว่าบาท

 

          นายก อบต.ละงู  กล่าวอีกว่า  พื้นที่ตำบลละงู  มีชายหาดหัวหิน  ชายหาดบางศิลา  มีท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์เพราะชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ    ชาวบ้านสามารถหาหอย หรือสัตว์น้ำชนิดอื่นๆได้อย่างต่อเนื่อง  หอยหลอดจะมีเยอะช่วง พฤศจิกายน – มีนาคม ของทุกปี  นอกจากนี้ยังมีหอยเสียบ  หอยแครง ส่วนหอยกะพงต้องออกเรือไปนิดหน่อยก็สามารถหาได้ทั้งปีอาจจะว่างแล้วบ้างในช่วงฤดูหอยผอม 

 

        สำหรับหอยสดขายในราคากิโลกรัมละ 15 บาท  หอยลวกแล้วขายทั่วไปกิโลกรัมละ 60 บาท  ส่งขายโรงงานในราคากิโลกรัมละ 50 บาท  ส่วนเปลือกหอยที่มีจำนวนมาก สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยใส่ต้นปาล์มได้ สนใจติดต่อสอบถาม หรือ สั่งซื้อหอย  โทร  065-8063285  มะลี   

…………………..

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล – เอาใจสาวกข้าวเหนียวทุเรียนหมอนทองสามสี  เสิร์ฟแบบจุก ๆ ทั้งเนื้อสดและน้ำราด  ในราคาเบากระเป๋า ออเดอร์วันละ 200 ชุด

สตูล – เอาใจสาวกข้าวเหนียวทุเรียนหมอนทองสามสี  เสิร์ฟแบบจุก ๆ ทั้งเนื้อสดและน้ำราด  ในราคาเบากระเป๋า ออเดอร์วันละ 200 ชุด

         สาวกทุเรียนในยุคนี้  แม้จะกระทบกับภาวะเศรษฐกิจเงินฝืดเคืองไปบ้าง  แต่หลายร้านจำหน่ายทุเรียน  ก็มักจะหาทางออกให้กับลูกค้าได้เข้าถึงทุเรียน  ผลไม้ที่หลายคนชื่นชอบและโปรดปรานได้ง่าย

 

         เหมือนอย่างเช่นร้านนี้  ของคุณอลิษา  พันธุโยร์  หรือคุณฝน  ตั้งอยู่ใกล้ทางเข้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติคฤหาส์กูเด็น  ต.พิมาน อ.เมือง จ.สตูล  ทันทีที่ถึงเวลา 4 โมงเย็นจนถึง 4 ทุ่มของทุกวัน  จะมีลูกค้ามายืนคอยคิวซื้อข้าวเหนียวทุเรียนสามสี  กันอย่างคึกคัก  ทำให้ทางร้านต้องจัดคิวเข้าแถว  เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงข้าวเหนียวทุเรียนสามสี  ที่พร้อมจะเสิร์ฟให้กับทุกคนที่ชื่นชอบกินกันชนิดจุใจ  ทั้งเนื้อทุเรียนหมอนทองสด ๆ ชิ้นใหญ่ๆ    ข้าวเหนียวมูน (สามสีธรรมชาติ ทั้งอัญชัน,ใบเตยและสีขาวธรรมชาติ)  น้ำกะทิทุเรียน และ น้ำกะทิธรรมดาก็พร้อมเสิร์ฟกันไปเลยให้เลือกทั้ง 2 ชนิดในราคาเพียงชุดละ 60 บาท 

 

        คุณเกด  หนึ่งในลูกค้าทุเรียน  บอกว่า   มาซื้อเป็นครั้งที่ 2 แล้ว  ครั้งแรกซื้อไป 3 กล่อง  มาครั้งนี้ซื้อ 4 กล่อง  ชื่นชอบในน้ำกะทิทุเรียนเพราะเป็นเนื้อทุเรียนจริงๆ  มีเนื้อทุเรียนใส่มาให้เราด้วย  และในน้ำทุเรียนก็มีทุเรียนด้วย  ราคาก็ถูก ชื่นชอบตั้งแต่น้ำทุเรียนเพราะปกติการกินข้าวเหนียวทุเรียนก็จะกินกับน้ำกะทิ  แต่เจ้านี้ให้เนื้อทุเรียนมาด้วย  เหมือนกับว่าได้กินรสของทุเรียนจริงๆ  ที่บ้านก็ชื่นชอบวันก่อนซื้อไปให้ย่าและน้ากินวันนี้เขาติดใจเลยสั่งอีก  เพื่อนที่ทำงานก็ฝากซื้อ

            นางสาวอลิษา  พันธุโยร์  หรือน้องฝน  เจ้าของร้าน  บอกว่า   ทางร้านจะใช้เนื้อล้วนๆ ประมาณ 30 กิโลกรัม (หรือ 100 กิโลกรัมทั้งลูก ข้าวเหนียวก็ประมาณ 30 กิโลกรัม  วันละ 200 ชุดขึ้นไป  ทุเรียนที่ใช้เป็นทุเรียนจากจันทบุรีซึ่งเป็นของป้า  จะใช้เป็นทุเรียนหมอนทองที่สุก  ราคาขายก็ถือว่าอยู่ได้ด้วยลูกค้าก็จับต้องได้เราก็อยู่ได้ด้วย  ขายมา 1 อาทิตย์แล้วโดยเฉพาะหน้าทุเรียนจะขายเป็นประจำทุกปี     คิดว่าลูกค้าติดใจในน้ำกะทิพร้อมใส่เนื้อทุเรียนโดยทางร้านจะให้ลูกค้า 2 แบบทั้งแบบใส่เนื้อทุเรียนไปในน้ำกะทิและแบบไม่ใส่  ราคาขาย 60 บาท จะเริ่มขายตั้งแต่ 4 โมงเย็นจนถึง 4 ทุ่ม ขายทุกวัน เนื้อทุเรียนล้วน  ขายขีดละ 59 บาท (แต่ขึ้นอยู่ที่ราคาของทุเรียนแต่ละวันด้วย)

 

          นอกจากนี้คุณอลิษา  พันธุโยร์  ก็ยังเปิดขายขนมจีนบุฟเฟ่ต์ผักสด ๆ ซึ่งเป็นงานประจำอยู่ด้วยที่ซอยเขาจีน ต.คลองขุด อ.เมืองสตูล  โดยจะเปิดขายขนมจีน 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ต่อจากนั้นเมื่อถึงหน้าทุเรียนก็พร้อมบริการขายให้สาวกทุเรียนกันจนหมดฤดูกาลไปเลย

……………………………………

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล-เร่งสานโคระใส่จำปาดะ  ผลไม้อัตลักษณ์ประจำถิ่น  งานฝีมือที่น่ารักส่งต่อจากภูมิปัญญาบรรพบุรุษ สร้างอาชีพ เพิ่มมูลค่าผลผลิตป้องกันแมลง

สตูล-เร่งสานโคระใส่จำปาดะ  ผลไม้อัตลักษณ์ประจำถิ่น  งานฝีมือที่น่ารักส่งต่อจากภูมิปัญญาบรรพบุรุษ สร้างอาชีพ เพิ่มมูลค่าผลผลิตป้องกันแมลง 

         ทันทีที่ฤดูผลไม้เริ่มให้ผลผลิต   ทางมะพร้าวก็มีมูลค่าขึ้นมาทันที  โดยเฉพาะสวนผลไม้พื้นเมืองทางภาคใต้อย่าง  จำปาดะ  มีความต้องการใช้ใบจากทางมะพร้าวสานขึ้นรูปเป็นโคระ เพื่อสวมใส่ป้องกันแมลงกัดกินและเพื่อความสวยงามของผลผลิต

 

          ทำให้วันนี้ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวซ้อมมือบ้านทุ่งพัฒนา หมู่ที่ 10   ตำบลควนสตอ   อำเภอควนโดน  จังหวัดสตูล  ได้เร่งตัดทางมะพร้าว  เพื่อมาสานเป็นโคระส่งขาย   ใช้ห่อหุ้มผลจำปาดะที่ยังมีผลขนาดเล็ก   เพื่อป้องกันแมลงกัดกิน   และเพื่อให้ผลของจำปาดะ  หรือผลของขนุน  ที่โตมามีความสวยงามและมีราคาดี  

 

          นางรอเฝียะ  เบ็ญหมีน  อายุ 65 ปี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน  ข้าวซ้อมมือบ้านทุ่งพัฒนา  บอกว่า  ในช่วงนี้เป็นช่วงที่สวนจำปาดะของเกษตรกรกำลังออกผลผลิต  จะมีความต้องการโคระ  เพื่อนำไปสวมใส่ในผลจำปาดะ กันเป็นจำนวนมาก    ทำให้ต้องเร่งมือทำให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า  ซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกร 1 รายจะสั่งครั้งละ 1,000 ถึง 1,200 ลูก  ใน 1 ปีก็จะมี order สั่งประมาณ 3,000 ลูกต่อ 1 คนที่รับออเดอร์มา

 

          โดยนางรอเฝียะ  เบ็ญหมีน  ยอมรับว่า  ปีนี้อาจจะได้ order น้อยกว่าทุกปี  เนื่องจากผลผลิตของเกษตรกรหลายราย  ประสบปัญหาภัยแล้ง  ผลไม้ออกไม่มากนัก   แต่ก็ถือว่ายังมีความต้องการ   โดยในระยะแรกได้ทำส่งลูกค้าไปแล้ว 500 ลูก โดยขายลูกละ 4 บาท (หากตั้งใจทำจริงๆใน 1 วัน ใช้เวลาทำเพียง 6 ชั่วโมง สามารถสานโคระได้ถึง 100 ลูก) 

            ด้านนางซะ  หมันเส็น  อายุ  73 ปี  สมาชิกอีกราย  บอกว่า  การสานโคระ 1 ใบใช้เวลาทำไม่นาน ลวดลายที่ทำจะเป็นลวดลายแบบง่าย  ใช้ทางมะพร้าว 2 ท่อนใบ 3 คู่หรือ 6 ใบ สานไปมา เด็กๆในหมู่บ้านหลายคนก็ทำเป็น  เพราะเป็นภูมิปัญญาที่ส่งต่อกันมาจากบรรพบุรุษ  ใช้ดูแลสวนผลไม้  โดยเฉพาะสวนจำปาดะซึ่งเป็นผลไม้อัตลักษณ์ขึ้นชื่อของจังหวัดสตูล   อีกทั้งยังเป็นการสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่งด้วย

 

         สำหรับงานฝีมือที่น่ารักจากการสานโคระ  ผลผลิตจากภูมิปัญญาชาวบ้าน   เพื่อใช้ห่อหุ้มผลจําปาดะจะเห็นได้ว่ามีความยืดหยุ่น  เกษตรกรจะเริ่มใส่โคระตั้งแต่ผลยังเล็ก  โดยโคระ  จะยืดรองรับผลใหญ่  ได้มากสุด7-8 กิโลกรัม ตลอดอายุการใช้งาน  150 วัน  จนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต   ส่วนการเก็บรักษาหากไม่ใช้ให้เก็บไว้ไม่ให้ถูกน้ำ ไม่ถูกแดดจะยืดอายุได้ถึง 1 ปี

 

          สำหรับผลไม้จำปาดะ  กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกประกาศในวันที่ 3 พฤษภาคม 2562  ขึ้นทะเบียนจำปาดะสตูลเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (พืชGI) ทะเบียนเลขที่สช.621-00123. สำหรับพันธุ์จำปาดะที่โดดเด่นได้แก่พันธุ์ขวัญสตูล ,  สตูลสีทอง ,  พันธุ์น้ำดอกไม้  ,  พันธุ์ทองเกษตร เป็นต้น 

 

           จำปาดะ  จะให้ผลผลิตเพียงปีละครั้ง ขนาดของผลจะคล้ายขนุน   เนื้อนิ่มและไม่แข็งกรอบเหมือนขนุน รสหวานกลมกล่อม เมื่อสวมใส่โคระ จะมีลวดลายที่สวยเมื่อสุกพร้อมรับประทานทำให้จำปาดะมีราคาดี

………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

กินคู่! เกษตรกรสตูลปลูกเตยหอมในสวนมะพร้าว รับรายได้ 2 ทาง  เกษตรอำเภอแนะปลูกพืชเสริมคู่พืชหลัก

กินคู่! เกษตรกรสตูลปลูกเตยหอมในสวนมะพร้าว รับรายได้ 2 ทาง  เกษตรอำเภอแนะปลูกพืชเสริมคู่พืชหลัก

             บนพื้นที่สวนมะพร้าว 6 ไร่กว่า  ตั้งอยู่หมู่ที่ 6  ต.คลองขุด อ.เมือง  จ.สตูล   ดูร่มรื่นสดชื่นเขียวขจีด้วยต้นเตยหอม ที่เจ้าของสวนปลูกแซมสวนมะพร้าว  สร้างรายได้ 2 ทางให้เกษตรกรเป็นกอบเป็นกำ  ด้านเกษตรอำเภอแนะเกษตรกรไม่ควรปลูกพืชชนิดเดียว

         

          ด้านนางวรันณ์ธร  ทองหวั่น  อายุ  50 ปี  เกษตรกรสวนมะพร้าว  และครอบครัว  นำเกษตรอำเภอเมืองสตูล เข้าชมต้นเตยหอมที่ขึ้นอย่างหนาแน่นภายในสวนมะพร้าวที่ปลูกนานกว่า 30 ปี  โดยทางสวนได้ขุดคูน้ำเล็กๆเก็บไว้ใช้น้ำในช่วงหน้าแล้ง  เพราะต้นเตยหอมจะโตสวยงามในพื้นที่ซับน้ำ 

 

         ในส่วนของมะพร้าวที่มีมากกว่า 100 ต้น ทั้งมะพร้าวน้ำหอม  และมะพร้าวน้ำหวาน  จะตัดเดือนละ  2 ครั้ง ครั้งละ 500-700 ลูก  ขายในราคาลูกละ 15 บาท  ส่วนหนึ่งจะขายน้ำถุงละ 15 บาท  สร้างรายได้เดือนละ 20,000  บาท  ส่วนเตยหอมนั้นนับเป็นรายได้ที่ 2 ของทางสวน  จะเก็บขาย  100 ใบ ราคา 15 บาท  สร้างรายได้ 5,000-6,000 บาทต่อเดือน

 

         ด้านนางวรันณ์ธร  ทองหวั่น  เกษตรกรสวนมะพร้าว  บอกว่า  สวนมะพร้าวพื้นที่ 6 ไร่กว่า ทั้งมะพร้าวน้ำหอม  มะพร้าวน้ำหวาน   ที่สวนนี้ปลูกมะพร้าวมากกว่า 30 ปีแล้ว  รายได้ต่อเดือนประมาณ 20,000 บาท  เป็นพื้นที่เล็กๆให้คนแก่คอยเก็บขาย   ตอนนี้เพิ่มมูลค่าโดยการปลูกใบเตยเพิ่มขึ้นมา   เพราะพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่มีน้ำท่วมอยู่ตลอดเลยเอาใบเตยมาปลูกเสริม   ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5,000 ถึง 6,000 บาทต่อเดือน  โดยจะส่งขายที่ร้านดอกไม้  จะมีแม่ค้าที่ทำขนมมาขอซื้อ  ต่อเดือนสามารถขายได้หลายหมื่นใบ โดยทางสวนจะตัดขายเป็นใบไม่ได้ตัดเป็นต้น

 

         เกษตรกรสวนมะพร้าว  บอกอีกว่า  ทางสวนปลูก เตยหอม คู่กับมะพร้าว ทำให้มะพร้าวซึ่งมีน้ำที่หอมอยู่แล้วเมื่อมีใบเตยเสริมความหอมของมะพร้าวขึ้นมาอีก  มะพร้าวที่เราขายจะขายทั้งเป็นลูก  แล้วก็เป็นน้ำ 

 

        หากตัดเจอมะพร้าวลูกแก่ก็จะแยกส่งให้กับแม่ค้าที่ทำขนมขาย   ลูกอ่อนเหมาะกับการทำเป็นน้ำก็จะทำน้ำขายแพ็คถุงส่งขายเอง    ในส่วนของปัญหาตอนนี้เป็นเรื่องของอากาศ   อากาศแล้งทำให้มะพร้าวเป็นลูกน้อยลง   พอเริ่มมีฝนก็กลับมาให้ลูกเหมือนเดิม   แต่ปีนี้ยอมรับว่าแล้งจัด

 

         สวนที่นี่ได้รับการสนับสนุนจากเกษตรอำเภอมากๆ   มีหมอดิน   มีนักวิชาการมาตรวจดินให้เรา  จะบอกว่าดินของเรามีปัญหาอะไร   ให้เสริมแต่งอะไรบ้าง  เพราะเราไม่รู้ว่าดินขาดสารอาหารอะไร   เราเติมแต่งไม่ถูก    เมื่อท่านได้มาก็ได้รู้ว่าดินขาดเกลือก็ต้องเอาเกลือลง   ขาดปุ๋ยอะไรก็เสริมลงไป    ดินก็ออกมาดี   มะพร้าวก็ออกมาดี

          ด้านนายเฉลิมพร  ศรีสวัสดิ์  เกษตรอำเภอเมืองสตูล  กล่าวว่า   สำหรับแปลงปลูกมะพร้าวของลุงเจริญ  จะปลูกมะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวน้ำหวานผสมกัน  ได้เสริมด้วยใบเตยซึ่งเป็นรายได้เสริมจากมะพร้าวอีกที่หนึ่งเพราะว่าในพื้นที่สวนนี้เป็นพื้นที่ซับน้ำ  จึงนำใบเตยมาปลูกเป็นรายได้เสริมซึ่งเหมาะกับพื้นที่

 

          ในเรื่องความหอมจากใบเตยจะส่งผลให้น้ำมะพร้าวหอมนั้น   เกษตรอำเภอ  บอกว่า อันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อของผู้บริโภคและเกษตรกรทั่วไปว่าใบเตยมีผลต่อความหอมของมะพร้าว  แต่จริงๆแล้วกลิ่นของมะพร้าวน้ำหอม  กับกลิ่นของใบเตยใกล้เคียงกันมาก

 

        สำหรับสวนนี้  ทางสำนักงานเกษตรอำเภอเมือง  ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัด  ก็ได้จัดตั้งเป็นแปลงเรียนรู้ให้กับเกษตรกรทั่วไปที่สนใจในเรื่องของการบริหารจัดการสวนมะพร้าวอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ทั้งนี้ทางเกษตรอำเภอเมืองสตูล  ได้ฝากถึงเกษตรกรทั่วไปว่า การทำการเกษตร  1.เราอย่ามุ่งแค่พืชหลักอย่างเดียว   ต้องหารายได้จากพืชเสริม  ที่ผสมกันอย่างลงตัวเพื่อเป็นรายได้เสริม   เพราะบางครั้งบางช่วง  พืชหลักผลผลิตอาจตกต่ำเราก็จะได้มีรายได้จากพืชเสริมด้วยอีกช่องทางหนึ่ง

          หากเกษตรกรท่านใดต้องการเรียนรู้  หรือ สั่งซื้อมะพร้าวน้ำหอม  หรือ ใบเตยหอม  ติดต่อสอบถาม โทร  086 – 958 4983

…………………………….

อัพเดทล่าสุด