Categories
ข่าวทั่วไป

 สตูลเดินหน้าขับเคลื่อนศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน เน้นการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนในพื้นที่

สตูลเดินหน้าขับเคลื่อนศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน เน้นการสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนในพื้นที่

          วันนี้ (9 เม.ย. 68) ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัด ชั้น 4 ตำบลคลองขุด อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสตูล  จัดกิจกรรมขับเคลื่อนศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชนจังหวัดสตูล ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านสังคมและสื่อมวลชนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดสตูล โดยมีนางวิไลวรรณ สุวรรณรักษา พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสตูล เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดสตูล อาสาสมัคร และสื่อมวลชน เข้าร่วม เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายด้านสังคมและสื่อมวลชนท้องถิ่น พร้อมทั้งเผยแพร่สิทธิสวัสดิการที่ประชาชนพึงได้รับ

         กิจกรรมในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนภารกิจของ ศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน (ศรส.) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  มีภารกิจหลักในการเร่งรัดและบูรณาการการให้ความช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางและผู้ประสบปัญหาทางสังคมให้เข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐได้อย่างรวดเร็ว  ทั่วถึง  และเป็นธรรม  โดยเฉพาะการช่วยเหลือในเชิงรุกผ่านความร่วมมือของเครือข่ายในพื้นที่

          ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้ประสบปัญหาทางสังคม ผ่านการสนับสนุนสวัสดิการสังคม การคุ้มครองสิทธิ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวและชุมชน ตลอดจนการส่งเสริมความเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพื่อให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคงและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 สตูลสร้างงาน สร้างอาชีพวัยเกษียณ สร้างความสุข

สตูลสร้างงาน สร้างอาชีพวัยเกษียณ สร้างความสุข

          ในยุคที่หลายคนมองหาความมั่นคงหลังเกษียณ “สวนบ้านริมเขา ทุ่งนายร้อย” เป็นตัวอย่างของการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงและสร้างรายได้ไปพร้อมกัน บนพื้นที่เจ็ดไร่ของนายปรีชา อ่อนประชู อดีตข้าราชการ อบจ.สตูล  และภรรยา นางอำพร อ่อนประชู อดีตกุ๊กร้านอาหาร พวกเขาได้พลิกพื้นที่สวนให้กลายเป็นแหล่งสร้างรายได้จากการทำเกษตรผสมผสาน

         

         หนึ่งในไฮไลท์ของสวนนี้คือแปลงดาวเรือง  ที่ปลูกไว้เพื่อจำหน่ายดอกเป็นช่อ  โดยสามารถขายได้ทุกวันพระ สัปดาห์ละ 100-150 ช่อ ในราคาสามดอกสิบบาท  คิดเป็นรายได้ต่อเดือนหลักหมื่นบาท   นอกจากสร้างรายได้แล้ว  ยังสร้างความสุขให้กับทั้งผู้ปลูกและลูกค้าที่มารับซื้อถึงสวน

         นอกจากดาวเรือง พื้นที่สวนยังมีการปลูกพืชหลายชนิด เช่น พริก, ส้มโอ, ชมพู่ โดยการปลูกพืชแบบผสมผสาน  ช่วยให้แมลงศัตรูพืชลดลงตามธรรมชาติ   มีการใช้ขวดน้ำ  แขวนตามแปลงเพื่อไล่แมลงโดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี  พื้นที่สวนยังแบ่งออกเป็นแปลงไผ่ซางนวล   ซึ่งไม่ได้ขายลำต้นแต่ขายหน่อไผ่ปีละ 10,000-20,000 บาท

 

          ภายในสวนมีการขุดสระน้ำและทำระบบน้ำล้น เพื่อให้มีน้ำใช้ตลอดปีในการรดพืชผัก  และดูแลสวน ระบบน้ำที่ดีช่วยลดต้นทุนการผลิต และทำให้พืชสามารถเติบโตได้ดีโดยไม่ต้องพึ่งพาน้ำประปา

           

          นอกจากการปลูกพืชผักไว้บริโภคเองแล้ว   รายได้จากการขายผลผลิต เช่น พริก และเป็ดอี้เหรียง ที่ให้ไข่วันละแผง ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน   ทำให้ชีวิตหลังเกษียณของทั้งสองมีความสุข ไม่ต้องเร่งรีบกับการทำงานเหมือนแต่ก่อน รายได้เกิดจากความพอใจในการทำเกษตร มากกว่าการหวังกำไรสูงสุด

           อนาคตของสวนบ้านริมเขา นายปรีชาและอำพร วางแผนให้สวนแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชน  และที่พักแนวโฮมสเตย์  ด้วยบรรยากาศธรรมชาติที่ติดภูเขาและอากาศสดชื่น ทำให้ลูกชายคนเล็กมีแนวคิดต่อยอดธุรกิจครอบครัวให้เป็นสถานที่พักผ่อนที่มีการเกษตรเป็นจุดขาย

 

          นี่คือตัวอย่างของชีวิตหลังเกษียณที่เต็มไปด้วยความสุขและรายได้แบบพอเพียง

………………………………………..

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 คนสู้ชีวิต! หนุ่มช่างคอมพิวเตอร์ พลิกสวนยางโค่นเป็นไร่สับปะรด แปรรูปขาย สร้างรายได้ครึ่งล้านต่อปี 

คนสู้ชีวิต!! หนุ่มช่างคอมพิวเตอร์ พลิกสวนยางโค่นเป็นไร่สับปะรด แปรรูปขาย สร้างรายได้ครึ่งล้านต่อปี

          เสียงเก็บสับปะรดในสวนดังขึ้นเป็นจังหวะ   นายอิสมาแอน ไชยมล วัย 40 ปี ชาวบ้านหมู่ 6 ต.ควนโพธิ์ อ.เมือง จ.สตูล กำลังเร่งเก็บผลผลิตชุดสุดท้ายจากสวนสับปะรด 20 ไร่ ซึ่งเดิมเคยเป็นสวนยางพาราทั้งของตนเองและของญาติๆ ก่อนจะโค่นเพื่อปลูกใหม่ แต่เขากลับเลือกใช้พื้นที่ว่างนี้  ปลูกสับปะรดพันธุ์ภูเก็ตแทน   เพื่อฟื้นฟูดิน และสร้างรายได้ให้ครอบครัว

 

         นายอิสมาแอน กล่าวว่า  “ผมเคยเป็นช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ ก่อนจะหันมาทำเกษตรเต็มตัวเมื่อ 8 ปีก่อน ได้แรงบันดาลใจจากการไปดูงานที่กระบี่ จึงลองปลูกบนที่ดินของตนเอง และต่อมาญาติ ๆ ก็ให้ใช้พื้นที่สวนยางที่โค่นใหม่”

 

         อิสมาแอนใช้เทคนิคการปลูกแบบเว้นช่วงเก็บเกี่ยว    ไม่ให้ผลผลิตออกพร้อมกันทั้งแปลง ช่วยให้ขายได้ต่อเนื่องไม่กระทบราคา ทั้งยังเปิดหน้าร้านขายเองที่สวน ทำให้ไม่ต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง ปัจจุบันขายได้ลูกละ 15-30 บาท มีรายได้เฉลี่ยปีละกว่า 400,000 บาท โดยเฉพาะช่วงรอมฎอนที่ผ่านมา ขายได้ถึง 30,000 ลูกในเดือนเดียว

          นางสาวกำไลทิพย์ เศรษฐ์วิชัย เกษตรจังหวัดสตูล  บอกว่า “เกษตรกรรายนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้พื้นที่ว่างหลังโค่นยางพารา มาปรับปรุงดินและสร้างรายได้ เขามีการจัดการที่ดีมาก ทั้งในแปลงและการตลาด”

          นอกจากขายสด ยังมีการแปรรูปหลากหลายเมนู เช่น น้ำสับปะรดขวดละ 12 บาท สับปะรดกวน และนมสดสับปะรดขวดละ 20 บาท โดยมีครอบครัวช่วยกัน ทั้งแม่ หลานสาว และน้องสะใภ้ ดูแลการแปรรูปและหน้าร้าน

           เกษตรจังหวัดสตูล. บอกอีกว่า.  “อิสมาแอนเป็นเกษตรกรที่ได้รับมาตรฐาน GAP และ Q ซึ่งการันตีคุณภาพและความปลอดภัย อยากให้เกษตรกรคนอื่นที่ปลูกในพื้นที่ของญาติ   หรือพื้นที่เอกสารสิทธิ์ มาขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพื่อรับสิทธิ์ช่วยเหลือหากเกิดภัยพิบัติ”

 

          แม้หน่อพันธุ์สับปะรดจะยังไม่พอแบ่งขาย   เพราะต้องใช้ขยายแปลงในอนาคต   แต่ของเหลือจากการแปรรูป   เช่น กากและเปลือก ก็ยังนำไปทำปุ๋ยหมักต่อได้   ถือเป็นการใช้ประโยชน์ครบทุกส่วน. สนใจสอบถาม. โทร. 082-376-2450

……………………………….

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป ท่องเที่ยว-กีฬา

เปิดงานประจำปี และงานกาชาด ปี 2568 เที่ยวสนุก สุขทั้งปี ที่สตูล  หารายได้ในกิจกรรมสาธารณกุศล และช่วยเหลือประชาชน

เปิดงานประจำปี และงานกาชาด ปี 2568 เที่ยวสนุก สุขทั้งปี ที่สตูล  หารายได้ในกิจกรรมสาธารณกุศล และช่วยเหลือประชาชน

         ที่เวทีนาวากาชาดจังหวัดสตูล บริเวณสนามบินกองทัพอากาศสตูล ตำบลคลองขุด อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล นายศักระ กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานในการเปิดงานประจำปี และงานกาชาด ปี 2568 เที่ยวสนุก สุขทั้งปี ที่สตูล โดยมี ทพญ.สุกีรติ กปิลกาญจน์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดสตูล กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ พร้อมด้วยนายคณิต คงช่วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล นายชัยวุฒิ บัวทอง ปลัดจังหวัดสตูล หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง

          โดยการจัดงานในครั้งมีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้ ให้กับเหล่ากาชาด จังหวัดสตูล ไว้ใช้ในกิจกรรมสาธารณกุศล และช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย ที่ได้รับความเดือดร้อนในด้านต่างๆ อาทิ อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย รวมทั้งช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาส ทุพพลภาพ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ เด็กนักเรียน ผู้พิการ เป็นต้น ทั้งนี้การจัดงานได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งได้ร่วมด้วยช่วยกันสนับสนุนกิจการ กาชาด และการประชาสัมพันธ์ที่ทั่วถึง เพื่อให้การจัดงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตลอดระยะเวลา 10 วัน 10 คือ ตั้งแต่วันที่ 1 – 10 เมษายน 2568 เป็นต้นไป

         งานประจำปีและงานกาชาด ปี 2568 เที่ยวสนุก สุขทั้งปี ที่สตูล เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการ สนับสนุนการจัดหารายได้ ในรูปแบบของการอุดหนุนร้านนาวากาชาด บัตรละ 20 บาท เพื่อลุ้นของรางวัลพิเศษ และในรูปแบบของการจำหน่ายสลากกาชาดบัตรละ 100 บาท เพื่อลุ้นรางวัลใหญ่ โดยจะมีการหมุนวงล้อในคืนสุดท้าย

………………………

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 ขนม”จูจอ” สานสัมพันธ์ชุมชน ฟื้นชีวิตขนมโบราณควนสตอ

ขนม“จูจอ” สานสัมพันธ์ชุมชน ฟื้นชีวิตขนมโบราณควนสตอ

          ที่อบต.ควนสตอ อ.ควนโดน จ.สตูล  ความร่วมแรงร่วมใจของแม่บ้าน 30 คน  จากหลากหมู่บ้านใน ตำบลควนสตอ วันนี้ได้รวมตัวกันสืบสานวัฒนธรรมการทำขนมโบราณ  เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับงานบุญที่กำลังจะถึง โดยมี “นางฮาหยาด  เกปัน” วัย 67 ปี ปราชญ์ชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของสูตรขนม “จูจอ” หรือ “ดอกบัว” นำทีมในการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น

         การรวมตัวครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการทำขนมเพื่องานบุญ 300 โต๊ะ หากยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์และสานต่อวัฒนธรรมอันดีงามของชุมชน พวกเขาได้ร่วมกันผลิตขนมหลากชนิด อาทิ ขนมโค กล้วยหยำ และจูจอ รวมทั้งสิ้น 12 กิโลกรัม หรือประมาณ 1,200 ชิ้น

          สูตรลับของขนม “จูจอ” ประกอบด้วยแป้งสาลี 1 กิโลกรัม  แป้งข้าวเจ้าครึ่งกิโลกรัม  น้ำตาลทรายขาว 8 กรัม น้ำตาลอ้อย 2 กรัม และเกลือเล็กน้อย ขั้นตอนการทำต้องอาศัยความชำนาญ โดยเฉพาะการหยอดแป้งทอดให้เป็นรูปดอกไม้ และค่อยๆ ปรุงไฟให้สุกอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

          ขนมจูจอกลายเป็นของขึ้นชื่อประจำตลาดเช้า นิยมทานคู่กับโกปี้อ้อและชาเย็น ราคาเริ่มต้นเพียง 3-5 บาท สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวใต้มุสลิมที่เรียบง่ายแต่ทรงคุณค่า

         การอนุรักษ์และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมผ่านขนมโบราณเช่นนี้  นับเป็นพลังสำคัญในการเชื่อมโยงคนในชุมชน สร้างความภาคภูมิใจ และถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่คนรุ่นต่อไป

……..

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป ท่องเที่ยว-กีฬา

ย้อนเวลาสู่มนต์เสน่ห์แห่งอันดามัน! เชิญร่วมงาน “สไบ กะบาย่า ปาเต๊ะ” Andaman Retro 2025

ย้อนเวลาสู่มนต์เสน่ห์แห่งอันดามัน! เชิญร่วมงาน “สไบ กะบาย่า ปาเต๊ะ” Andaman Retro 2025

วันที่ (20 มี.ค.68) ที่สมาคมจงหัว จังหวัดสตูล นายศักระ กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล มอบหมายให้นายคณิต คงช่วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ร่วมงานแถลงข่าวโครงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสานสัมพันธ์ไทย จีน มลายู “สไบ กะบาย่า ปาเต๊ะ” Andaman Retro 2025 โดยมีนางสาวภัชกุล ตรีพันธ์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสตูล นายกิติศักดิ์ มูสิกสง  นายกเทศมนตรีเมืองสตูล หัวหน้าส่วนราชการ สื่อมวลชน และประชาชนเข้าร่วมงาน

        การจัดงานโครงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสานสัมพันธ์ไทย จีน มลายู “สไบ กะบาย่า ปาเต๊ะ” Andaman Retro 2025  กำหนดจัดขึ้นที่จังหวัดสตูล ในวันที่ 2 – 4 เมษายน 2568 ณ บริเวณสนามบินกองทัพอากาศ และ ถนนบุรีวานิช ย่านเมืองเก่า โดยมุ่งเน้นไปที่การนำเสนอวัฒนธรรมไทย-จีน-มลายูผ่านชุดแต่งกายแบบดั้งเดิม อาทิ สไบ กะบาย่า และปาเต๊ะ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานของวัฒนธรรมที่มีมาอย่างยาวนานของจังหวัดสตูล และการจัดงาน Andaman Retro 2025 นี้ ยังถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เติบโตอย่างยั่งยืน และช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนท้องถิ่น พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับวัฒนธรรมที่สวยงามและเป็นเอกลักษณ์ของอันดามันอีกด้วย

           ทั้งนี้เพื่อประชาสัมพันธ์ชุมชนเมืองเก่า ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตในจังหวัดสตูล ให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ รวมไปถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวและการบริการของจังหวัดสตูล พร้อมสร้างจุดขายและส่งเสริมการตลาดด้านการท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับพื้นที่ให้เป็นที่รู้จักสู่สากล

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 จากพนักงานบริษัทสู่เจ้าของกิจการ  “ขนมครกไส้โคตรทะลัก” สร้างรายได้วันละ 2,000 บาท

จากพนักงานบริษัทสู่เจ้าของกิจการ  “ขนมครกไส้โคตรทะลัก” สร้างรายได้วันละ 2,000 บาท

          ที่ตลาดรอมฎอน  ต.ฉลุง  อ.เมือง  จ.สตูล  นางสาวฐิติภัทร โลณะปาลวงษ์ อายุ 36 ปี เจ้าของร้าน “ขนมครกไส้โคตรทะลัก” เล่าให้ฟังถึงเส้นทางการเปลี่ยนชีวิตจากพนักงานบริษัทในแผนกซีพี สู่การเป็นผู้ประกอบการขนมไทยที่มีรายได้วันละ 2,000 บาท จากขนมครกเพียง 3 กิโลกรัมต่อวัน

 

          นางสาวฐิติภัทรเล่าว่า “เริ่มต้นจากการตั้งครรภ์ลูกคนที่สอง และความชอบส่วนตัวในการขายของ” “ดิฉันได้ศึกษาการทำขนมครกจากช่องทางออนไลน์ แล้วทดลองทำด้วยตัวเอง ลองผิดลองถูกจนได้สูตรที่ลงตัวอย่างทุกวันนี้”

 

          โดยความพิเศษของขนมครกร้านนี้อยู่ที่การใช้แป้งข้าวไรซ์เบอร์รี่ ผสมกับน้ำกะทิคุณภาพดี ทำให้ได้เนื้อขนมที่นุ่ม หอม ไม่แข็งกระด้าง โดยเมื่อทำแป้งเสร็จแล้วจะเติมหัวกะทิอีกครั้ง และตามด้วยไส้ที่หลากหลายถึง 4 ชนิด ได้แก่:  – ไส้ฟักทอง  – ไส้มันม่วง  – ไส้ข้าวโพด  – ไส้เผือก

 

         “ความลับอยู่ที่เราใส่ใจในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบ การผสมแป้ง และการทำไส้ที่สด ใหม่ทุกวัน หวานพอดี มันจากหัวกะทิ ไม่ใช้วัตถุกันเสีย” คุณฐิติภัทรกล่าว

 

         ด้วยประสบการณ์จากการทำงานในบริษัท คุณฐิติภัทรได้นำความรู้ด้านการตลาดมาปรับใช้กับธุรกิจขนมครก จัดแคมเปญ “ซื้อขนมครก 20 บาท แถมคูปอง 1 ใบ” เมื่อสะสมครบ 10 ใบ สามารถแลกขนมครกฟรี 1 กล่อง  

          “การทำแคมเปญนี้ช่วยเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น เพราะลูกค้าอยากได้คูปองมากๆ จึงซื้อในปริมาณมากขึ้น และในเดือนนี้มีลูกค้าไม่น้อยกว่า 3 รายแล้วที่มาแลกขนมฟรีจากการสะสมแต้ม” คุณฐิติภัทรกล่าวด้วยรอยยิ้ม

              ความอร่อยของขนมครกไส้โคตรทะลักไม่เพียงเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าทั่วไป แต่ยังได้รับการยอมรับจากนายกเทศมนตรีตำบลฉลุง  และผู้รับสัมปทานตลาดที่ยอมรับว่า “ขนมครกเป็นอีกหนึ่งเมนูที่ได้รับความนิยม เป็นอาหารว่าง อาหารแก้บวชของพี่น้องชาวไทยมุสลิม”

 

           สำหรับเวลาเปิดให้บริการ  ในเดือนรอมฎอน  ตั้งแต่เวลา  13.00-18.00 น.  เดือนปกติ เริ่มตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. ที่สามแยกฉลุง  สนใจสั่งขนมครกไส้โคตรทะลัก สามารถติดต่อได้ที่ 099-304-2659

 

     “จากความฝันเล็กๆ สู่ความสำเร็จวันนี้ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในช่วงไหนของชีวิต ก็สามารถเริ่มต้นทำธุรกิจได้ ขอเพียงมีใจรัก ตั้งใจ และลงมือทำอย่างจริงจัง” คุณฐิติภัทรทิ้งท้าย

…………………………………..

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 แม่บ้านสตูลสร้างรายได้จากขนมโบราณ ‘โกยเปต’ สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นกว่า 20 ปี

แม่บ้านสตูลสร้างรายได้จากขนมโบราณ ‘โกยเปต’ สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นกว่า 20 ปี

          ที่หมู่บ้านเขาน้อยใต้ หมู่ 12 ตำบลฉลุง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล นางฝาตีม๊ะ ดาหมาด อายุ 58 ปี พร้อมด้วยญาติพี่น้องในครอบครัวกำลังเร่งมือทำขนมโบราณที่เรียกว่า “โกยเปต” หรือ “ขนมทองพับ” เพื่อให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะในช่วงใกล้เทศกาลฮารีรายาของพี่น้องชาวไทยมุสลิม

         

         ขนมโกยเปตที่นี่มีเอกลักษณ์พิเศษด้วยการใช้สูตรโบราณและวิธีการทำแบบดั้งเดิม โดยใช้เตาถ่านในการย่าง ซึ่งช่วยเพิ่มความหอมให้กับขนม ทำให้มีรสชาติที่แตกต่างและน่ารับประทานยิ่งขึ้น

 

          “เริ่มจากทำกินในครอบครัว แล้วค่อยพัฒนามาเป็นอาชีพ” นางฝาตีม๊ะเล่าถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจขนมโกยเปตที่ดำเนินมากว่า 20 ปี จนเป็นที่รู้จักในนาม “โกยเปตมะหลง” 

 

          ส่วนผสมหลักของขนมโกยเปตประกอบด้วย แป้งข้าวเจ้า กะทิ น้ำตาล และไข่ไก่ โดยหนึ่งกระปุกจะบรรจุประมาณ 70 แผ่น กำลังการผลิตอยู่ที่วันละ 3-4 กิโลกรัม หรือประมาณ 7 กระปุก โดย 1 กิโลกรัมจะใช้มะพร้าวถึง 4 ลูกและไข่ไก่.  ซึ่งทางร้านเน้นทั้งคุณภาพและปริมาณ

 

          วิธีการทำขนมโกยเปตมีเคล็ดลับอยู่ที่การสังเกตสีของแป้ง หลังจากวางแท่นพิมพ์ลงบนเตาถ่าน ให้รอจนแป้งที่อยู่รอบขอบแท่นพิมพ์เปลี่ยนเป็นสีเหลือง แล้วจึงรีบยกขึ้นมาพับเป็นรูปสี่เหลี่ยมทันที จะได้ขนมที่มีสีเหลืองสวย แบน และง่ายต่อการบรรจุลงกล่อง

 

          ขนมโกยเปตของนางฝาตีม๊ะ  เป็นที่นิยมอย่างมากในช่วงเทศกาลฮารีรายา  เนื่องจากทุกบ้านจะต้องซื้อไว้รับรองแขกที่มาเยี่ยมเยียน  แต่ทางร้านยังคงเปิดขายตลอดทั้งปี ทำให้เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับของฝากหรือของขวัญในโอกาสพิเศษต่างๆ

          ด้านนายสุจริต  ยามาสา  นายก อบต.ฉลุง ยอมรับว่าขนมร้านของนางฝาตีม๊ะ  มีความอร่อยและรักษาคุณภาพของอาหารได้อย่างยอดเยี่ยมจนเป็นที่ขึ้นชื่อ แต่สิ่งที่ต้องการพัฒนาต่อไปคือเรื่องของตราสินค้าให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งทาง อบต. จะเข้ามาช่วยหนุนเสริมในส่วนนี้ เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า นอกจากนี้ ทางองค์การบริหารส่วนตำบลยังจะช่วยส่งเสริมการขายผ่านช่องทางต่างๆ และสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่ม เพื่อให้ภาครัฐสามารถเข้ามาช่วยเหลือได้มากขึ้น

 

          สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสั่งซื้อขนมโกยเปตได้ในราคากระปุกใหญ่ และกระปุกเล็ก

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 11 ปีแห่งตำนานไก่ย่างกอและโบราณไม้ละ 5 บาท  อร่อยเท่าเดิม ราคาคงเดิม ท่ามกลางค่าครองชีพพุ่ง

11 ปีแห่งตำนานไก่ย่างกอและโบราณไม้ละ 5 บาท  อร่อยเท่าเดิม ราคาคงเดิม ท่ามกลางค่าครองชีพพุ่ง

          ในยุคที่ราคาอาหารถีบตัวสูงขึ้น มีร้านเล็กๆ ริมคลอง(เอวหัก)  ม.7 ซอยทรายทอง  ทต.คลองขุด อ.เมืองสตูล แห่งหนึ่งที่ยังคงยืนหยัดขายไก่ย่างไม้ละ 5 บาทมาเนิ่นนานถึง 11 ปี “ร้านสามพี่น้องริมคลองเอวหัก” ของคุณอัญชลี บิลเต๊ะ หรือที่ลูกค้ารู้จักกันในนาม “น้องกิ๊ก” วัย 38 ปี คือตัวอย่างของความมุ่งมั่นที่หาได้ยากในปัจจุบัน

 

         “ขายราคานี้ลูกค้าอยู่ได้ เราก็อยู่ได้” คือคำพูดติดปากของคุณอัญชลี ลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาซื้อส่วนใหญ่ก็จะเป็นลูกค้าประจำ และนักเรียน อีกทั้งเป็นผู้ซึ่งใช้อาชีพขายไก่ย่างเลี้ยงดูครอบครัว 6 ชีวิต รวมลูกอีก 4 คน โดยทางร้านเปิดให้บริการวันละสองรอบ ช่วงเช้าตั้งแต่ 06.00-09.00 น. และช่วงบ่ายตั้งแต่ 15.00-18.00 น. (และหยุดทุกวันเสาร์)  ยกเว้นช่วงเดือนรอมฎอนที่จะเปิดขายตอน 14.00 น. ทุกวันไม่มีวันหยุด

 

          เมนูยอดนิยมของทางร้านคือ “ไก่ย่างสามรส” ในราคาเพียงไม้ละ 5 บาท และ “ไก่กอและ” หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ไก่แดงโบราณ” ในราคาไม้ละ 10 บาท พร้อมข้าวเหนียวห่อละ 5 บาท โดยทั้งหมดมีหอมกระเทียมเจียวโรยหน้าให้เพิ่มความหอม

             คุณอัญชลี  เล่าว่า น้ำราดไก่กอและสุดพิเศษใช้สูตรจากพี่เขยที่จังหวัดตรัง มีส่วนผสมของเครื่องแกง ถั่วลิสง พริกแห้ง ผสมแป้งข้าวโพดเล็กน้อย น้ำตาลทราย และเกลือ ทำให้ได้รสชาติที่หวาน มัน เค็ม และเผ็ดเล็กน้อย ที่สำคัญคือทำสดใหม่ทุกวัน

 

          ทางร้านปรับตัวเข้ากับเทศกาลรอมฎอนด้วยการเพิ่มเครื่องดื่มหลากหลายชนิด ทั้งน้ำพุทรา น้ำกระเจี๊ยบ โอเลี้ยง ชาดำเย็น และน้ำลิ้นจี่ ในราคาเพียงถุงละ 10 บาท

 

          ทุกวันคุณอัญชลีจะเตรียมไก่ย่างวันละประมาณ 10 กิโลกรัม แบ่งเป็นช่วงเช้า 5 กิโลกรัม (ซึ่ง 1 กิโลกรัมสามารถแบ่งได้ประมาณ 60 ไม้ ) โดยชิ้นส่วนที่ขายดีที่สุดคือหนังไก่และเนื้อสะโพก

 

           ป้ายิ้ม ลูกค้าประจำของร้าน กล่าวว่า “ซื้อที่ร้านนี้เป็นประจำเพราะรสชาติอร่อย ราคาถูก ซื้อประจำทั้งเช้าและเย็น”

 

           หากใครสนใจอยากลิ้มลองไก่ย่างราคาประหยัดที่คงราคาเดิมมานานถึง 11 ปี สามารถไปอุดหนุนได้ที่ “ร้านสามพี่น้องริมคลอง” ตั้งอยู่ที่ซอยเอวหัก ริมคลอง. หรือทรายทอง หมู่ 7 เขตเทศบาลตำบลคลองขุดอำเภอเมืองสตูล หรือติดต่อคุณอัญชลีได้ที่ 065-015-0955

…………

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป ท่องเที่ยว-กีฬา

สตูลเตรียมเปิดม่านเทศกาลท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสุดยิ่งใหญ่ เชื่อมสัมพันธ์ไทย-จีน-มลายู ผ่านมรดกการแต่งกายอันทรงคุณค่า

สตูลเตรียมเปิดม่านเทศกาลท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสุดยิ่งใหญ่ เชื่อมสัมพันธ์ไทย-จีน-มลายู ผ่านมรดกการแต่งกายอันทรงคุณค่า

          (13 มีนาคม 2568) – บรรยากาศเต็มไปด้วยความคึกคักในงานแถลงข่าวโครงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม “สไบ กะบาย่า ปาเต๊ะ” Andaman Retro 2025 ณ ห้องนคราบอลรูม 1 โรงแรมเรือรัษฎา จังหวัดตรัง โดยมีผู้แทนจากทั้ง 6 จังหวัดอันดามันเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง นำโดยนางสาวภัชกุล ตรีพันธ์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสตูล และนายก่อเกียรติ ต้นพัฒนกิจ ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์จังหวัดสตูล ผู้แทนจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล

 

            ไฮไลท์ของงานแถลงข่าวคือการเดินแบบอวดโฉมชุดที่ทรงคุณค่า ทั้งชุดกะบาย่า  ชุดไทยห่มสไบ และผ้าปาเต๊ะอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวมลายู สร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าร่วมงานและสื่อมวลชนที่มาร่วมงาน

 

          สตูลได้รับเกียรติจัดงานเป็นจังหวัดแรกภายใต้ชื่อ “Andaman Retro 2025 @ Satun” ซึ่งจะเน้นการผสมผสานมรดกทางวัฒนธรรมของสามเชื้อชาติที่อยู่ร่วมกันมาอย่างยาวนานในภูมิภาคอันดามัน ผ่านการจัดแสดงเครื่องแต่งกายโบราณ การแสดงศิลปวัฒนธรรม และนิทรรศการภาพถ่ายเมืองเก่า

 

            นักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถร่วมกิจกรรมหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการชมการสาธิตงานหัตถกรรมพื้นบ้าน การชิมอาหารพื้นถิ่นรสเลิศ หรือเที่ยวชมสถาปัตยกรรมดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์ พร้อมเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวทางทะเลที่มีชื่อเสียงของอันดามัน

          “โครงการนี้ไม่เพียงส่งเสริมการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังเป็นการอนุรักษ์และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของทั้งสามเชื้อชาติให้คงอยู่ต่อไป” นางสาวภัชกุลกล่าว

 

           หลังจากเปิดฉากที่สตูลแล้ว เทศกาลนี้จะเดินทางไปจัดในอีก 5 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันในลำดับถัดไป ถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่จะได้สัมผัสมนต์เสน่ห์แห่งวัฒนธรรมอันดามันอย่างเต็มอิ่มตลอดปี 2568​​​​​​​​​​​​​​​​

 

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

อัพเดทล่าสุด