Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

สตูล ขนอาหารทะเลมาไว้ที่นี่  งาน”สตูลซีฟู้ด Festival ครั้งที่ 4″  30-1 กันยายน 2567

สตูล ขนอาหารทะเลมาไว้ที่นี่  งาน”สตูลซีฟู้ด Festival ครั้งที่ 4″  30-1 กันยายน 2567

          สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสตูล จัดงาน “สตูลซีฟู้ด Festival ครั้งที่ 4” ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม ถึง 1 กันยายน 2567 ณ ลานตรงข้ามปากบาราวิวพ้อยท์ อำเภอละงู จังหวัดสตูล โดยมีนายคณิต คงช่วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานเปิดงาน

 

           คุณสายช่อ อังศุพานิช พาณิชย์จังหวัดสตูล เผยว่า งานนี้จัดขึ้นเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ในการพัฒนาศักยภาพการค้าและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรและผู้ประกอบการท้องถิ่น

 

          ภายในงานมีการจัดจำหน่ายสินค้าเกษตร อาหารทะเล สินค้าอัตลักษณ์ สินค้าชุมชน และผลิตภัณฑ์ OTOP กว่า 40 คูหา นอกจากนี้ยังมีการแสดงดนตรี การควงกระบองไฟ พร้อมกิจกรรมส่งเสริมการขาย ลุ้นรางวัล และแจกคูปองทุกวัน

          งานจัดขึ้นตั้งแต่เวลา 16.00 น. ถึง 21.00 น. ของทุกวัน โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ทั้งหอการค้าจังหวัด สมาพันธ์ SME จังหวัดสตูล ตำรวจภูธรละงู และที่ว่าการอำเภอละงู

          ขอเชิญชวนประชาชนและนักท่องเที่ยวร่วมอุดหนุนสินค้าท้องถิ่นคุณภาพดี ราคาย่อมเยา พร้อมสัมผัสบรรยากาศงานเทศกาลอาหารทะเลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดสตูลได้ตลอด 3 วันนี้

…………………………………

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

ปิดฉากตรังเคเกมส์ สตูลคว้า 16 ทอง พร้อมเป็นเจ้าภาพครั้งต่อไป จัดแข่งขันทั้งกีฬาทั่วไปและคนพิการ ส.ค. 69

ปิดฉากตรังเคเกมส์ สตูลคว้า 16 ทอง พร้อมเป็นเจ้าภาพครั้งต่อไป จัดแข่งขันทั้งกีฬาทั่วไปและคนพิการ ส.ค. 69

           นายคณิต คงช่วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล นำคณะกรรมการบริหารสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสตูล นางสาวสุทธิรัตน์  รักษ์วงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดสตูล นายดาลัน นุงอาลี นายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสตูล กองทัพนักกีฬาของจังหวัดสตูลและผู้เกี่ยวข้อง  เข้าร่วมพิธีปิดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 49 คัดเลือกภาค 4 หรือ “ตรังเคเกมส์”  โดยนายทรงกลด  สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานในพิธี  ณ สนามกีฬาเทศบาลนครตรัง 2 (ทุ่งแจ้ง) อ.เมืองตรัง จ.ตรัง

.

        จากนั้นได้มีพิธีรับมอบธงการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 50 คัดเลือกภาค 4  “กัมบิงเกมส์” พิธีส่งมอบธงฯ โดยการส่งมอบธงเป็นไปตามลำดับ ดังนี้ นายวินัย  ทองรักษ์ นายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดตรัง ส่งธงการกีฬาแห่งประเทศไทยให้นายทรงกลด  สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง  และส่งต่อให้กับนายพรรณภพ  อุ่นเสียม ผู้อำนวยการการกีฬาแห่งประเทศไทย ภาค 4 สงขลา  และส่งมอบให้กับ นายคณิต  คงช่วย รองผู้ว่าราชการจังหวัด สตูล จากนั้นได้ส่งต่อให้กับนายดาลัน นุงอาลี นายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดสตูล ซึ่งจังหวัดสตูลได้รับเลือกจากการกีฬาแห่งประเทศไทยให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 50 คัดเลือกภาค 4  ระหว่างวันที่ 7 -16 สิงหาคม 2569 และ การแข่งขันกีฬาแห่งชาติคนพิการ ครั้งที่ 40 คัดเลือกภาค 4 ระหว่างวันที่ 17-21 สิงหาคม 2569

 

         สำหรับผลการแข่งขันรอบคัดเลือกภาค 4 ในครั้งนี้ จังหวัดสตูลได้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมแข่งขัน 932 คน ได้รับรางวัล 16 เหรียญทอง 13 เหรียญเงิน และ 11 เหรียญทองแดง ผ่านการคัดเลือกไปแข่งขันระดับประเทศ จากหลายประเภทกีฬา เช่น วอลเลย์บอล เทควันโด ว่ายน้ำ และ แบดมินตัน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

สตูลจัดงานเทศกาลประเพณีผีโบ๋อำเภอทุ่งหว้า ส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นและการท่องเที่ยว

สตูลจัดงานเทศกาลประเพณีผีโบ๋อำเภอทุ่งหว้า ส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นและการท่องเที่ยว

         เทศบาลตำบลทุ่งหว้า  ร่วมกับ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสตูล  และภาคีเครือข่าย จัดงานเทศกาลประเพณีผีโบ๋อำเภอทุ่งหว้า  ภายใต้โครงการ สตูลเมืองผาสุกในวิถีวัฒนธรรม  กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26- 28 สิงหาคม 2567  ณ  บริเวณหน้าตลาดสดเทศบาลตำบลทุ่งหว้า  อ.ทุ่งหว้า  จ.สตูล  โอกาสนี้ นายคณิต  คงช่วย  รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล  ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมหลายภาคส่วนร่วมงานกันคับคั่ง

         นายคณิต  คงช่วย  รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวว่า  งานเทศกาลประเพณีผีไปอำเภอทุ่งหว้า เป็นประเพณีของงานประเพณี ที่ได้รับการสืบทอดกันมาในอำเภอทุ่งหว้าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เพื่อร่วมกันทำบุญ อุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วแต่ไม่มีญาติคอยทำบุญให้ โดยครั้งนี้กำหนด จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 สิงหาคม 2567 ณ บริเวณหน้าตลาดสดเทศบาลตำบล ทุ่งหว้า  อ.ทุ่งหว้า  จ.สตูล   เพื่อส่งเสริมสนับสนุน ให้เกิดการอนุรักษ์ สืบสานศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต ภูมิปัญญาที่แสดงถึงอัตลักษณ์ ของชุมชน เกิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยว นำรายได้สู่ชุมชน และยกระดับ เทศกาลประเพณีของจังหวัด รวมทั้งสนับสนุนบทบาทเครือข่ายภาคประชาชน ที่แสดงถึงความรักความสามัคคี ความเกื้อกูลและเอื้ออาทรต่อกัน

 

       การจัดงานฯ ครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดสตูล บูรณาการการทำงานร่วมกับเทศบาล ตำบลทุ่งหว้า มูลนิธิทุ่งหว้าประชาร่วมใจ และการร่วมใจของชุมชนชาวไทย เชื้อสายจีน ประกอบด้วยกิจกรรม พิธีเชิญดวงวิญญาณ พิธีไหว้ผีโบ๋ นิทรรศการประเพณีผีโบ๋ การสาธิตจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้าทางวัฒนธรรมของชุมชน และการแสดงศิลปวัฒนธรรมและการแสดงดนตรี  แสง  สี ย้อนรอยอารยธรรมเมืองสุไหงอุเป

………………………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

ฉลูไข่  เมนูพื้นถิ่นต้อนรับนักท่องเที่ยวและแขกบ้านแขกเมือง  หารับประทานยาก

ฉลูไข่  เมนูพื้นถิ่นต้อนรับนักท่องเที่ยวและแขกบ้านแขกเมือง  หารับประทานยาก

         ที่ จ.สตูล  วันนี้พามารู้จักเมนูพื้นถิ่นที่หาทานค่อนข้างยาก  คือ  เมนูฉลูไข่  ที่มีส่วนผสม ประกอบด้วย หอม กระเทียม พริกสด ตะไคร้ ใบมะกรูด และที่ขาดไม่ได้เลยคือ ฉลู  หรือกุ้งตัวเล็ก ๆ  หรือที่คนใต้เรียกตัวเคย  ที่ผ่านการดองมาแล้วมาผสมเข้าด้วยกันกับไข่ไก่ เป็นเมนูฉลูไข่

         

        เมื่อนำส่วนผสมทั้งหมดมารวมเข้าด้วยกันแล้ว  ไม่ต้องใส่เครื่องปรุงน้ำปลาเพิ่ม เพราะมีความเค็มของกุ้งเคย หรือฉลูในตัว   แล้วนำไปทอดในกระทะเหมือนไข่ทอดทั่วไป  ให้ด้านในสุกก็พร้อมรับประทานได้ รสชาติของฉลูไข่ จะมีความหอมของเครื่องเทศ และความเค็มนิด ๆ ของตัวฉลูหรือตัวกุ้งเคย  จะเหมาะทานเป็นกับข้าวมากกว่า  ซึ่งหาทานค่อนข้างยาก

 

          นางฐิติชญาฮ์  ช่วยแก้ว  ภูผาแดงโฮมสเตย์ล่องแก่งสตูล  อ.ละงู จ.สตูล   บอกว่า  เมนูฉลูไข่  จะเป็นเมนูรับแขกบ้านแขกเมืองที่เข้ามาเยือนเมืองสตูล และมีไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่  ภูผาแดงโฮมสเตย์ล่องแก่งสตูล  อ.ละงู จ.สตูล

         ฉลู หรือ เคยเค็มที่ชาวประมงพื้นบ้านนิยมทำกันในพื้นที่บางจังหวัดทางภาคใต้   นิยมนำเอากุ้งตัวเล็กๆหรือที่เรียกว่ากุ้งฝอย  หรือกุ้งรำ  นำมาหมักไว้จนได้รสชาติของกะปิหรือเคย จะออกรสเค็ม หากนำมาปรุง  บ้างนำไปนึ่ง และผัดรวมกับวัตถุดิบอย่างอื่นด้วย  ก็จะได้รสชาติที่ดี และหอมอร่อยเหมือนอย่างเมนู  ฉลูไข่ที่ จ.สตูล

 …………………………………………

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

สนุกกระจาย…เทศกาลแข่งขันตำข้าวเม่าปี 2 เอวอ่อนลวดลายเด็ด ม.ราชภัฎฯอนุรักษ์วัฒนธรรมอาหารท้องถิ่น

สตูล..สนุกกระจาย…เทศกาลแข่งขันตำข้าวเม่าปี 2 เอวอ่อนลวดลายเด็ด ม.ราชภัฎฯอนุรักษ์วัฒนธรรมอาหารท้องถิ่น

        เทศกาลตำข้าวเม่า ปี 2 ตำบลเขาขาว  อำเภอละงู  จังหวัดสตูล  เริ่มขึ้นแล้ว  ชาวบ้านทั้ง 7 หมู่บ้าน   10 ทีม  มาร่วมการแข่งขันที่ลานวัฒนธรรมเขาขาวกันอย่างสนุกสนาน   แต่ละทีมวาดลวดลายเด็ดสะระตี่ชนิดไม่มีใครยอมใคร  หรือว่า (งานนี้จะเน้นเข้าร่วมไม่เน้นเข้ารอบ) แม่บ้านชายหญิงต่างงัดลีลาวาดลวดลายการเต้นและตกแต่งสากตำข้าวเม่าอย่างสวยงาม หวังชนะใจกรรมการ

 

        แต่ละทีมแบ่งหน้าที่กันบางคนก็ร่อน  บ้างก็ตำทิ่มข้าวเม่า บางคนก็ขูดมะพร้าวทำงานทำเป็นทีม  วาดลวดลายตามจังหวะเสียงเพลง สร้างความสนุกสนานให้กับกองเชียร์ได้ไม่น้อย 

          งานนี้เกิดขึ้นโดย รศ.ดร.ทัศนา  ศิริโชติ  อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา  ร่วมกับภาคีเครือข่ายและองค์การบริหารส่วนตำบลเขาขาว  จัดขึ้นเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากชุมชนต้นแบบตำบลเขาขาว  อำเภอละงู  จังหวัดสตูล  ส่งเสริมสนับสนุนประเพณีท้องถิ่นชุมชน   เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูวัฒนธรรมอาหารพื้นถิ่น เป็นแหล่งเรียนรู้ทางภูมิปัญญา  วัฒนธรรมของท้องถิ่น เยาวชน และชุมชน ได้เรียนรู้ถึงวิธีการตำข้าวเม่า และสามารถตำข้าวเม่าเป็น

         โดยการแข่งขันแบ่งออกเป็นประเภทลีลา  สนุกสนาน  รสชาติอร่อย  และการจัดสำรับ  สำหรับข้าวที่ใช้ตำข้าวเม่า  เป็นข้าวเหนียวไร่ โดยรางวัลที่ 1 รับไปเลย 2,500 รองชนะเลิศ 2,000 และ1,500 บาท เกมส์กีฬาที่สร้างความสามัคคีในชุมชนไปพร้อมการช่วยกันอนุรักษ์วัฒนธรรมด้านอาหารพื้นถิ่นไปพร้อมกันด้วย

………………………………………………

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

สวนสละออร์แกนิคสตูล เปิดประตู่สู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สวนสละออร์แกนิคสตูล เปิดประตู่สู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตร

            วันนี้พาทุกท่านไปรู้จักกับสวนสละออร์แกนิคแห่งใหม่ในจังหวัดสตูล   ที่กำลังเป็นจุดหมายใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวและคนรักสุขภาพ

 

           สวนสละควนกาหลงเกษตรออร์แกนิค  ตั้งอยู่ที่หมู่ 5 ตำบลควนกาหลง อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล บนพื้นที่กว่า 50 ไร่ ดูแลโดยมีคุณดวงใจ ด้วงได้   เป็นผู้ดูแลบอกว่าสวนแห่งนี้ได้เปลี่ยนจากการปลูกปาล์มน้ำมันที่มีอายุแก่มากแล้ว   มาเป็นสวนสละสุมาลีและหมากแซมเพื่อให้ร่มเงา

 

          คุณดวงใจเล่าให้ฟังว่า   “สวนของเราเพิ่งให้ผลผลิตเป็นปีที่ 3  สละจะออกผลในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม จากนั้นก็จะให้ผลผลิตน้อยแต่!! ให้ผลผลิตทั้งปี   ราคาขายอยู่ที่ 50-60 บาทต่อกิโลกรัม มีทั้งขายปลีกและขายส่ง  โดยมีทั้งขายในจังหวัดสตูล และมีแม่ค้ารับซื้อประจำ รวมถึงขายหน้าสวนด้วยค่ะ”

 

          สละสุมาลีที่นี่มีรสชาติพิเศษ   ทั้งหวานและหวานอมเปรี้ยว   ซึ่งเป็นที่ถูกปากของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก  และวันนี้ทาง สวนได้เตรียมสละสุมาลีจำนวนมาก  เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวและนักปั่นจักรยาน 100 กิโลกรัมไว้ด้วยภายในสวน  เพื่อให้นักท่องเที่ยวและนักปั่นจักรยานได้ชิมรสชาติและดื่มด่ำความเป็นธรรมชาติจากที่สวนสละ และเห็นต้นของสละพร้อมจับจ่ายซื้อหากลับบ้านได้ด้วย 

        คุณดวงใจ   ยังมีแผนพัฒนาสวนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรให้เป็นที่รู้จัก   โดยเธอกล่าวว่า “เรามีความตั้งใจที่จะทำให้สวนเป็นจุดท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวได้มาชิมสละสดๆ ในสวน และเชื่อมโยงไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ในอำเภอควนกาหลง และจังหวัดสตูลค่ะ แม้จะเพิ่งเริ่มต้น แต่เราเชื่อมั่นว่ากำลังเดินมาถูกทางแล้ว”

 

          ทั้งนี้ นายณัฐภาพงศ์   สุวรรณชนะ   นายกองค์การบริหารส่วนตำบลควนกาหลง  พร้อม  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  สำนักงานสตูล  ได้เข้ามาสนับสนุนด้านวิชาการ และส่งเสริมการตลาด และประชาสัมพันธ์ เพื่อผลักดันให้สวนสละแห่งนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

 

          สำหรับผู้ที่สนใจอยากลิ้มลองสละออร์แกนิค  หรือ  มาเที่ยวชมสวน  สามารถติดต่อได้ที่ อบต.ควนกาหลง หรือเพจ  ‘ดวงใจด้วงได้’  และเบอร์โทรศัพท์ 062-054-8917

 

…………………………………………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

สตูลขนราชินีผลไม้  “ทุเรียนหมอนทอง” เกรดพรีเมี่ยมส่งออกจีนกินฟรี!! มูลค่า 140,000บาท และผลไม้พื้นถิ่นกระตุ้นท่องเที่ยวชุมชน  เทศกาลปั่นชมสวน ชวนชิมอิ่มผลไม้ ครั้งที่ 10

จัดยิ่งใหญ่!! สตูลขนราชินีผลไม้  “ทุเรียนหมอนทอง” เกรดพรีเมี่ยมส่งออกจีนกินฟรี!! มูลค่า 140,000บาท และผลไม้พื้นถิ่นกระตุ้นท่องเที่ยวชุมชน  เทศกาลปั่นชมสวน ชวนชิมอิ่มผลไม้ ครั้งที่ 10 ระเบิดความสนุกที่สตูล

          องค์การบริหารส่วนตำบลควนกาหลง จังหวัดสตูล  โดยนายณัฐภาพงศ์ สุวรรณชนะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลควนกาหลง   ร่วมกับ ททท.สำนักงานสตูล  และภาคีเครือข่าย จัดงาน “เทศกาลปั่นชมสวน ชวนชิมอิ่มผลไม้ ครั้งที่ 10 ” หรือ “Bike & Taste Fruits Festival 2024” ในวันที่ 18 สิงหาคม 2567   เชิญชวนนักปั่นและนักท่องเที่ยวร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานชมสวนผลไม้และแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่  ต.ควนกาหลง อ.ควนกาหลง  จ.สตูล  โดยนายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์ ส.ส.เขต 2 จังหวัดสตูล  เป็นประธานปล่อยตัวนักปั่นในครั้งนี้

 

           สำหรับ กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและสุขภาพ โดยมีนักปั่นจักรยานทั่วสารทิศ 350 คนกับเส้นทางปั่นจักรยาน มีระยะทางรวมประมาณ 60 กิโลเมตร ผู้เข้าร่วมจะได้สัมผัสบรรยากาศธรรมชาติและชมสวนผลไม้หลากหลายชนิด

 

           เส้นทางการปั่นจักรยานเริ่มต้นที่ อบต.ควนกาหลง จากนั้นแวะชมสวนผักตาหวาน สวนผสมผสานของคุณสมนึก ชุมพล โดยเฉพาะที่สวนทุเรียนหมอจอยได้นำทุเรียนหมอนทองส่งออกขายประเทศจีน จำนวน 300 ลูกตกลูกละไม่น้อยกว่า 3 กิโลกรัมมาสนับสนุนงานให้นักปั่นจักรยานจากทั่วสารทิศได้ทานกันฟรีถึงในสวนที่มีมากกว่า 35,000 ต้น เจ้าของสวนหมอจอย  ยังยอมรับว่าปีนี้ราคาทุเรียนดีมากอยู่ที่กิโลกรัมละ 140 บาทนำมาให้ทุกคนได้ลิ้มชิมรสชาติทุเรียนพรีเมี่ยมเกรดส่งต่างประเทศได้ชิมกันแบบจุใจ   และยังมีบางส่วนนำไปเป็นรางวัลให้กับนักปั่นในครั้งนี้นำกลับบ้านด้วย

          นอกจากสวนทุเรียนพรีเมี่ยมของหมอจอยทานฟรีแล้ว  ยังมีขนมพื้นเมือง และ สละสุมาลีควนกาหลง ซึ่งเป็นเกษตรออร์แกนิค ให้ชิมสละฟรีและบางจุดได้วางขายให้ซื้อกลับบ้านด้วย

 

          งานนี้นับเป็นโอกาสดีสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการปั่นจักรยานและการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ได้สัมผัสวิถีชีวิตชาวสวนและลิ้มรสผลไม้ท้องถิ่นของจังหวัดสตูล  และลิ้มรสราชินีผลไม้เกรดพรีเมี่ยมส่งออกไปพร้อมกันด้วย งานนี้ฟรีตลอดรายการ ปีน่าทางอบต.ควนกาหลง บอกว่าจะจัดให้ยิ่งใหญ่ขึ้นเพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวชุมชน ตำบลควนกาหลง จังหวัดสตูลไปด้วย

………………

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

ชาวบ้านใจดี..แจกฟรีผลไม้ในชุมชน 700 กก.ใส่โคระกิ๊บเก๋จากภูมิปัญญาบรรพบุรุษเป็นของรางวัลระดับอินเตอร์เนชั่นแนล เทรล รันนิ่ง

สตูลชาวบ้านใจดี..แจกฟรีผลไม้ในชุมชน 700 กก.ใส่โคระกิ๊บเก๋จากภูมิปัญญาบรรพบุรุษเป็นของรางวัลระดับอินเตอร์เนชั่นแนล เทรล รันนิ่งได้ที่ 1 ,2 และ 3  แจกอีกทุเรียนหมอนทอง 3 กก.

โคระ   เครื่องสานที่ใช้ห่อ  หรือ  สวมผลไม้  ของชาวบ้านจากอดีตจนถึงปัจจุบัน  โดยเฉพาะไม้ผลจำปาดะที่ชาวบ้านนำมาสวมใส่เพื่อป้องกันตัวหนอนชอนไช   ทำความเสียหายให้กับผลไม้ ทำจากใบมะพร้าวสดหรือแห้งก็ได้ มาวันนี้ชาวบ้านโตนปาหนัน  ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง  จังหวัดสตูลได้นำมาเป็นของรางวัลให้กับนักวิ่งเทรล อันดามัน อินเตอร์เนชันแนล เทรล รันนิ่ง Andaman International Trail Running @ Satun” ประจำปี 2567  จำนวน 630 อัน

โดยด้านในโคระที่มีการสานจากใบมะพร้าวสด ชาวบ้านได้ใส่เงาะ 300 กิโลกรัม  มังคุด 300 กิโลกรัม  และลองกอง 100 กิโลกรัม  จากสวนของชาวบ้านในพื้นที่ช่วยกันบริจาค  แยกใส่เป็นโคระได้ทั้งหมด 630 อันตามจำนวนนักวิ่งเทรลมอบให้ฟรี  เพื่อเป็นการขอบคุณที่เดินทางมาร่วมกิจกรรมในพื้นที่ของชาวบ้านจนเกิดการจ้างงาน ทั้งสต๊าฟ และรายได้เข้ามาหมุนเวียนในชุมชน นอกจากนี้นักวิ่งที่ได้รับรางวัลที่ 1 ที่2 และที่ 3 ของรายการวิ่งทุกประเภทยังได้รับทุเรียนหมอนทองลูกละ 3 กิโลกรัมของฝากจากชุมชนไปทานด้วย

  

         สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับนักวิ่งเทรลจากทั้วสารทิศทั้งชาวไทยและต่างชาติทั้งมาเลเซีย และชาวยุโรป ที่นอกจากจะได้เหรียญรางวัลจากการวิ่งแล้ว  ยังได้รับโคระผลิตภัณฑ์จากชุมชนที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นมาเป็นเสน่ห์เสริมให้นักวิ่งเทรลที่ชื่นชอบการวิ่งแบบผจญภัยและวิถีชุมชนได้สัมผัสกลิ่นไอธรรมชาติและวัฒนธรรมวิถีความเป็นอยู่ที่ดีงามอีกด้วย

……………………………………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

นักวิ่งขาแรงทั่วสารทิศไทยและต่างชาติ 630 ชีวิตร่วมแข่งขันวิ่งเทรล  ขึ้นเขาเข้าสวนชมวิถีชุมชนบ้านโตน

นักวิ่งขาแรงทั่วสารทิศไทยและต่างชาติ 630 ชีวิตร่วมแข่งขันวิ่งเทรล  ขึ้นเขาเข้าสวนชมวิถีชุมชนบ้านโตน

วันนี้ (11 ส.ค. 67) ที่บริเวณสนามโรงเรียนบ้านโตนปาหนัน ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล นายคณิต คงช่วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานในพิธีเปิดและปล่อยตัวนักกีฬาในกิจกรรมแข่งขันวิ่งเทรลรายการ “อันดามัน อินเตอร์เนชันแนล เทรล รันนิ่ง Andaman International Trail Running @ Satun” ประจำปี 2567 โดยมีนางปุณณานันท์ ทองหยู ท่องเที่ยวและการกีฬาจังหวัดสตู พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ สื่อมวลชน นักกีฬา ชาวชุมชนบ้านน้ำร้อน ตำบลทุ่งนุ้ย ร่วมกิจกรรมมากกว่า 600 คน บรรยากาศเต็มไปด้วยความคึกคัก

.

สำหรับการจัดการแข่งขันวิ่งเทรล “อันดามัน อินเตอร์เนชันแนล เทรล รันนิ่ง แอทสตูล ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยใช้กีฬาเข้ามาเป็นจุดดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาจังหวัดสตูล โดยเฉพาะในช่วงโลว์ซีซั่น ตลอดจนสร้างภาพพจน์ที่ดีของจังหวัด และช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของจังหวัดสตูล รวมไปถึงการท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันด้วย ซึ่งสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาฝั่งอันดามัน ต่างจัดกิจกรรมวิ่งต่อกันไปใน 6 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา ระนอง และตรัง เป็นการกระจายรายได้สู่ประชาชนในพื้นที่ โดยจะรับช่วงต่อจากจังหวัดสตูล ไปตามลำดับ

           ทั้งนี้กิจกรรมการแข่งขันวิ่งดังกล่าว แบ่งประเภทการแข่งขัน 3 ประเภท ได้แก่ ระยะทาง 6 กิโลเมตร ชาย-หญิง , ระยะทาง 13 กิโลเมตร ชาย-หญิง และระยะทาง 25 กิโลเมตร ชาย-หญิง จุดปล่อยตัวที่สนามโรงเรียนบ้านโตนปาหนัน ตำบลทุ่งนุ้ย อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ตั้งแต่เวลา 06.00 น. เป็นต้นไปตามระยะทาง โดยเป็นเส้นทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งระยะทางวิ่งสูงสุด 25 กิโลเมตร จะผ่านจุดวิสาหกิจชุมชนโกปี้ โตนปาหนัน , น้ำตกโตนปาหนัน และแยกทางเข้าบ่อน้ำพุร้อนทุ่งนุ้ย ช่วยกระจายรายได้แก่ชุมชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

เปิด 8 เส้นทางท่องเที่ยวถิ่นสตูล  หนุนซอฟเพาเวอร์สร้างรายได้ชุมชน

เปิด 8 เส้นทางท่องเที่ยวถิ่นสตูล  หนุนซอฟเพาเวอร์สร้างรายได้ชุมชน

        นายคณิต คงช่วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เปิดเผยว่า  จากแผนการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ.2560-2564) ที่มุ่งเน้นสร้างรายได้ และความเจริญ ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้ครอบคลุมทั้งประเทศโดยให้ภาคเอกชน และประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการร่วมกับภาครัฐ ในการขับเคลื่อนงานให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง จำเป็นต้องมุ่งเน้นมาที่การพัฒนาชุมชน ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มสำคัญสามารถขยายผลให้การสร้างรายได้ และความยั่งยืนให้กับพื้นที่ สามารถสร้างอาชีพ ทั้งด้านการผลิต การค้า และการบริการ และการสร้างการรับรู้ แก่บุคคลภายนนอกเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว มาท่องเที่ยวในรูปแบบการท่องเที่ยวชุมชน เป็นการส่งเสริมการตลาด เพื่อเป็นช่องทางในการจำหน่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในวงกว้าง

           

        ทั้งนี้จังหวัดสตูล โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสตูล ได้ริเริ่มโครงการสร้างเสริมศักยภาพชุมชนเข้มแข็ง พัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เชื่อมโยงการท่องเที่ยวชุมชนจังหวัดสตูล  โดยได้เปิดตัวเส้นทางท่องเที่ยว 8 เส้นทาง ที่เป็นไฮไลท์ของจังหวัดสตูลที่นักท่องเที่ยวเมื่อมาเยือนต้องไม่พลาดที่จะไปท่องเที่ยว และเยี่ยมชมความสวยงาม

 

          โดยเส้นทางที่ 1 (เช็คอินถิ่นตูล) อำเภอเมือง – สันหลังมังกร ซึ่งจะได้พบกับ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสตูล (คฤหาสน์กูเด็น) ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรื่องราวภูมิหลังเมืองสตูลในด้านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีวิถีชีวิต และโบราณคดี ,ถนนบุรีวานิช ย่านเมืองเก่า ,ชุมชนบากันเคย ,หาดทรายดำ ,เกาะหินเหล็ก และหาดสันหลังมังกร ,เส้นทางที่ 2 อำเภอควนกาหลง – บ้านโตนปาหนัน ซึ่งจะได้พบกับ ชุมชนบ้านโตนปาหนัน ,บ่อน้ำพุร้อนทุ่งนุ้ย บ้านโตนปาหนัน ,เส้นทางที่ 3 อำเภอควนโดน – ชายแดนวังประจัน  จะได้พบกับ ตลาดชายแดนวังประจัน ตลาด 2 แผ่นดินไทย – มาเลเซีย ,อุทยานแห่งชาติทะเลบัน (ทะเลสวย ที่ไม่ใช่ทะเลน้ำเค็ม) สินค้าวิสาหกิจชุมชนดาหลาปาเต๊ะ อาทิ กระเป๋า ,ผ้าบาติก และผ้ามัดย้อม ,เส้นทางที่ 4 อำเภอมะนัง – ถ้ำภูผาเพชร วังสายทอง จะได้พบกับ “Unseen สตูล” อาทิ ถ้ำภูผาเพชรที่เก่าแก่กว่า 450 ล้านปี ,น้ำตกวังสายทอง ,วัดนิคมพัฒนาราม

         เส้นทางที่ 5 อำเภอท่าแพ – บ้านสาคร จะได้พบกัน ชุมชนสาครที่โอบล้อมด้วยธรรมาติแบบ 360 องศา เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด ,เส้นทางที่ 6 อำเภอละงู – ปราสาทหินพันยอด จะได้พบกับ ปราสาทหินพันยอดที่เป็นภูเขาหินปูนในยุคออโดวิเซียน มีอายุเก่าแก่กว่า 488 ล้านปี และเป็นพื้นที่ถูกประกาศให้เป็นอุทยานธรณีโลก ซึ่งเป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของไทย และปันหยาบาติก วิสาหกิจชุมขนที่ผลิต และจำหน่ายผ้ามัดย้อมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีฝีมือในการวาดลายผ้าที่สวยงาม โดดเด่น คือ เน้นการใช้สีธรรมชาติในการผลิตชิ้นงาน อาทิ แร่ธาติ ,ใบไม้ ,เปลือกไม้ และผลไม้ และนักท่องเที่ยวยังได้ร่วมทำกิจกรรม Workshop เพนท์ผ้าบาติกด้วยฝีมือตัวเอง

 

          เส้นทางที่ 7 อำเภอทุ่งหว้า – ท่าข้ามควาย จะได้พบกับชุมชนเล็กๆ ติดกับชายฝั่งทางออกสู่ทะเลอันดามัน ซึ่งมีกิจกรรม อาทิ ให้อาหารเหยี่ยวแดง ,ชมฝูงปูก้ามดาบ ,ชมฝูงค้างคาวนับหมื่นตัว และล่องเรือชมพระอาทิตย์ตกดิน ,พิพิธภัณฑ์บ้านท่าข้ามควาย ที่รวบรวมของเก่าหาดูยาก อาทิ เครื่องมือประมง ,อุปกรณ์ทำสวนยาง และเครื่องมือทำนา และจักสานต้นคลุ้มบ้านวังตง ที่มีผลิตภัณฑ์จักสานจากต้นคลุ้ม อาทิ โคมไฟ กระเป๋า และหมวก

 

          และเส้นทางที่ 8 เส้นทางท่องเที่ยว GEOPARK จะได้พบ พิพิธภัณฑ์อุทยานธรณีโลกสตูลนำเสนอข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับธรณีวิทยา ,ซากดึกดำบรรพ์ และโบราณวัตถุในพื้นที่ ,ถ้ำเลสเตโกดอน เป็นถ้ำเลที่มีความยาวที่สุดในประเทศไทย มีความยาวกว่า 4 กิโลเมตร ในถ้ำมีหินรูปร่างแปลกตา ,ซากฟอสซิลที่มีอายุประมาณ 500 ล้านปี เหมาะสำหรับคนชอบท่องเที่ยวแบบ อเวนเจอร์ส และรักธรรมชาติ ,สะพานข้ามกาลเวลา เป็นทางเดินริมทะเลเพื่อศึกษาธรณีวิทยากับธรรมชาติเลียบชายฝั่ง ที่มีช่วงหนึ่งของหน้าผาที่ชนกันของหิน 2 ยุค คือ ยุคแคมเบรียน (542 – 488 ล้านปี)  กับยุค  ออร์โดวิเชียน (488 – 444 ล้านปี) และฉิมเมล่อน เป็นแหล่งเรียนรู้ท่องเที่ยวเชิงเกษตร การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน การผสมเกสรของเมล่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมล่อนจีโอปาร์คบนพื้นผิวเมล่อน (อัตลักษณ์หนึ่งเดียวในโลก) 

 

           “การเปิดเส้นทางท่องเที่ยว 8 เส้นทางที่เป็นไฮไลท์ของจังหวัดสตูล เชื่อว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเป็นการนำพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน เชื่อมโยงการท่องเที่ยวชุมชนผลักดันให้เป็นซอฟเพาเวอร์ในท้องถิ่นสู่ตลาดสากล  และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ชาวบ้านมีงานทำ”

………………………………..

 



อัพเดทล่าสุด