Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

             บ้านทางยาง หมู่ 7 ตำบลสาคร อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล พื้นที่ที่เงียบสงบถูกปลุกให้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง ด้วยแรงบันดาลใจของ “ครูจิสน  มัจฉา” อดีตครูผู้เบนเข็มชีวิตมาสู่การทำเกษตรเต็มตัว สร้าง ฟาร์มเห็ดนางฟ้า จากก้อนเชื้อ 85 ก้อนแรกในหม้อนึ่งลูกทุ่ง สู่วิสาหกิจชุมชนที่ผลิตก้อนเห็ดมากถึง 7,000 ก้อนต่อรอบ ก่อเกิดรายได้และการจ้างงานให้ชุมชนในทุกฤดูกาล

 

             ครูจิสน  มัจฉา  ประธานกลุ่มทางยางบ้านเห็ด บอกว่า  อยากหาทางเลือกให้ครอบครัวมีรายได้เสริม เห็นเห็ดนางฟ้าก็รู้สึกว่าใช่… เริ่มทำจากของเล็ก ๆ ที่เราชอบ พอทำจริง ๆ มันกลายเป็นรายได้หลักเลยค่ะ  สาเหตุที่เลือกเห็ดนางฟ้าเพราะสามารถขายได้ทั้งก้อนเห็ด  ดอกเห็ด และก้อนที่หมดอายุสามารถไปทำปุ๋ยได้

 

            ครูจิสน. เริ่มเพาะเห็ดจากความสนใจส่วนตัว ใช้หม้อนึ่งฟืนแบบพื้นบ้าน วันละ 6–8 ชั่วโมงต่อ 85 ก้อน ผ่านมาเกือบสิบปี เธอพัฒนาเทคนิคและเครื่องมือการผลิตจนกลายเป็นฟาร์มต้นแบบ ใช้หม้อนึ่งระบบไอน้ำที่รองรับได้มากถึง 780 ก้อนต่อครั้ง ลดการใช้ไม้ฟืน เพิ่มประสิทธิภาพ พร้อมตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน “ทางยางบ้านเห็ด” อย่างเป็นทางการในปี 2560

 

ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิก 10 ราย ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันและประมงในพื้นที่. ที่หันมาปลูกเห็ดเสริมอาชีพ  โดย กลุ่มมีการใช้นวัตกรรม ได้แก่ เครื่องผสม, เครื่องอัดก้อน, เตานึ่งระบบไอน้ำ ช่วยให้การผลิตก้อนเชื้อเห็ดรวดเร็ว มีมาตรฐาน และปลอดภัยยิ่งขึ้น

 

สินค้าหลักของกลุ่ม ได้แก่

  • ก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้า (10 บาท/ก้อน) ผลิตปีละ 4–5 รอบ รวมกว่า 28,000 ก้อน
  • ดอกเห็ดสด (60 บาท/กก.) ส่งตลาดละงู โรงเรียน และตัวแทนจำหน่าย
  • ผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น
  • น้ำพริกเห็ดนางฟ้า
  • เห็ดทอดกรอบรสลาบ
  • เห็ดปาปิก้า และสูตรดั้งเดิม

 

ขายดีทั้งตลาดสดและออนไลน์ สร้างรายได้เฉลี่ยเดือนละกว่า 30,000 บาท (ก่อนหักค่าใช้จ่าย) ไม่รวมแปรรูปเห็ด

           สำหรับ เห็ดก้อนเชื้อหนึ่งก้อนสามารถเก็บผลผลิตได้นานถึง 5 เดือน เมื่อหมดอายุยังสามารถนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ ใช้ในแปลงเกษตรของชุมชน

 

          “สำนักงานเกษตรอำเภอท่าแพ  ได้สนับสนุนกลุ่มนี้ตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่เรื่องเทคโนโลยี การจัดการ การหาตลาด จนกลายเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่น ๆ ได้เห็นว่า…ถ้าเราพร้อมลงมือทำ เกษตรก็สร้างอาชีพที่มั่นคงได้จริง ๆ”

 

          นายอารีย์  โส๊ะสันสะ  เกษตรอำเภอท่าแพ กล่าวอย่างภาคภูมิใจ ในอนาคตกลุ่มเตรียมขยายการเพาะเห็ดพันธุ์ใหม่ เช่น เห็ดมิลกี้ พร้อมวางระบบโรงเรือนควบคุมอุณหภูมิ สร้างแบรนด์ท้องถิ่น จดทะเบียนสินค้า และเพิ่มช่องทางตลาดในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น

 

          สำหรับเกษตรกรที่มองหาอาชีพเสริม  เดี๋ยวนี้ก็จะมีพืชเป็นพืชเศรษฐกิจอยู่หลายๆ ตัวอย่างเช่นสละ , กาแฟ.  แล้วก็เห็ด  เหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลาน้อย แล้วถ้าสามารถ ทำได้ตั้งแต่ขั้นตอนในการผลิตก้อนเอง และก็ในการเปิดออกจำหน่ายเองตรงนี้เขาจะมีกำไรค่อนข้างดี

 

         ผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมและศึกษาดูงานได้ที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทางยางบ้านเห็ด  เลขที่ 22 หมู่ 7 ตำบลสาคร อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล 91150. เพจ: บ้านไร่ภูภัทรโทร. 087-091-6176

 

         จากแรงบันดาลใจเล็ก ๆ ของอดีตครูท้องถิ่น… สู่วิสาหกิจชุมชนที่ยิ่งใหญ่ในหัวใจของคนบ้านทางยาง

…….

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 สตูล-“กรมประมง” เร่งเสริมศักยภาพการเพาะเลี้ยงม้าน้ำ สู่สัตว์น้ำเศรษฐกิจมูลค่าสูง

สตูล-“กรมประมง” เร่งเสริมศักยภาพการเพาะเลี้ยงม้าน้ำ สู่สัตว์น้ำเศรษฐกิจมูลค่าสูง

          สตูล – กรมประมง จับมือภาคเอกชนจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมศักยภาพการเพาะเลี้ยงม้าน้ำ สัตว์น้ำเศรษฐกิจมูลค่าสูง เพื่อขยายการผลิตและรองรับความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ พร้อมลดการจับม้าน้ำจากธรรมชาติที่ลดลงอย่างรวดเร็ว

 

          ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลสตูล จังหวัดสตูล เป็นที่ตั้งของโครงการเพาะเลี้ยงม้าน้ำที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มต้นจากการวิจัยและทดลองเพาะเลี้ยงม้าน้ำเพื่อรักษาพันธุ์และเพิ่มปริมาณจากแหล่งธรรมชาติที่ถูกทำลายไปตามกาลเวลา หลังจากนั้นจึงมีการขยายผลไปสู่การส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามันได้นำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในการผลิตเชิงพาณิชย์

 

          ม้าน้ำ ถือเป็นสัตว์น้ำที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และได้รับความนิยมในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ม้าน้ำถูกนำไปใช้ในหลายรูปแบบ เช่น เป็นสัตว์น้ำสวยงาม บริโภคในตำรับยา และทำเป็นเครื่องประดับหรือของที่ระลึก ทำให้ม้าน้ำมีมูลค่าสูงในตลาดโลก แม้จะเป็นสัตว์ที่มีการจับในธรรมชาติ แต่กรมประมงได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเพาะเลี้ยงม้าน้ำมาเป็นระยะเวลานาน โดยขณะนี้สามารถเพาะเลี้ยงม้าน้ำได้ถึง 3 ชนิด ได้แก่ ม้าน้ำหนาม ม้าน้ำดำ และม้าน้ำสามจุด

          นางฐิติพร หลาวประเสริฐ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า  ทางกรมประมงได้จัดโครงการอบรมหลักสูตร “การเพาะเลี้ยงม้าน้ำเพื่อเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจมูลค่าสูง” ณ บารารีสอร์ทและศูนย์วิจัยฯ จังหวัดสตูล ที่ผ่านมา  โดยมีเกษตรกรจาก 5 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต และสตูล เข้าร่วมอบรมจำนวน 40 คน เพื่อเพิ่มทักษะในการเพาะเลี้ยงม้าน้ำ และการแปรรูปม้าน้ำให้เป็นสินค้ามูลค่าสูง   โดยนายนิพนธ์ เสนอินทร์  ประมงจังหวัดสตูล  ร่วมต้อนรับ  

 

          “การอบรมในครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างความรู้และทักษะในการเพาะเลี้ยงม้าน้ำให้แก่เกษตรกร เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตม้าน้ำให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดและลดการจับจากธรรมชาติ ซึ่งม้าน้ำถูกจัดให้เป็นสัตว์น้ำในบัญชีหมายเลข 2 ของอนุสัญญาไซเตส ที่จำกัดการจับและการส่งออกจากแหล่งธรรมชาติ”

 

          การอบรมประกอบด้วยเนื้อหาหลักสูตรเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงม้าน้ำ การแปรรูปม้าน้ำให้เป็นสินค้ามูลค่าสูง รวมถึงการขนส่งและการตลาดเพื่อการจำหน่ายและส่งออกม้าน้ำ โดยมีผู้เชี่ยวชาญทั้งจากกรมประมงและภาคเอกชนให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงในการประกอบอาชีพ

 

          นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาดูงานที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลสตูล เพื่อให้เกษตรกรสามารถเรียนรู้จากกระบวนการจริง และขยายผลความสำเร็จสู่เกษตรกรรายอื่น ๆ ต่อไป

 

          รองอธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้ายว่า “เรามั่นใจว่า การขยายกำลังการผลิตม้าน้ำในเชิงพาณิชย์จะช่วยเสริมสร้างอาชีพให้กับเกษตรกรในพื้นที่ และสามารถรองรับความต้องการของตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดในประเทศจีน ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ ซึ่งม้าน้ำเป็นที่ต้องการสูง”

         เกษตรกร ที่เข้าร่วมโครงการต่างให้ความเห็นว่า การเพาะเลี้ยงม้าน้ำสามารถเป็นอาชีพเสริมที่ทำควบคู่ไปกับการเลี้ยงสัตว์น้ำประเภทอื่น เช่น สาหร่ายหรือกุ้งทะเล โดยเฉพาะ นายวศินะ รุ่งเรือง อายุ 31 ปี เจ้าของ “วศินะฟาร์ม” จังหวัดสตูล  กล่าวว่า “ผมเห็นว่า การเลี้ยงม้าน้ำจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้เสริม เพราะมันไม่ยุ่งยากมาก มีการจัดเตรียมอาหารให้ม้าน้ำ และสามารถเลี้ยงควบคู่กับการปลูกสาหร่ายที่ฟาร์มของเราอยู่แล้ว สำหรับปัญหากฎหมายก็อยากมาศึกษาเพื่อให้ทำได้ถูกต้องตามระเบียบ เราเชื่อว่า ม้าน้ำจะเป็นสินค้าส่งออกที่สามารถสร้างมูลค่าสูงให้กับประเทศได้”

 

          นางฐิติพร ทิ้งท้ายว่า “โครงการนี้ไม่เพียงแต่จะเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรไทย แต่ยังเป็นการอนุรักษ์ม้าน้ำในธรรมชาติและลดผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลในระยะยาว ทำให้ม้าน้ำกลายเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจมูลค่าสูงทางเลือกใหม่ของเกษตรกรไทยในอนาคต”

…………………………….

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 จากกำแพงสูงสู่จานขนมจีน: เรื่องเล่าชีวิตใหม่ในร้านเล็ก ๆ หน้าเรือนจำสตูล

จากกำแพงสูงสู่จานขนมจีน: เรื่องเล่าชีวิตใหม่ในร้านเล็ก ๆ หน้าเรือนจำสตูล

เพลิงเล็กๆข้างบ้านพักถนนยาตราสวัสดี  ตำบลพิมาน  อำเภอเมือง  จังหวัดสตูล มีร้านขนมจีนเล็ก ๆ ตั้งอยู่ตรงข้ามกับเรือนจำจังหวัดสตูล ร้านที่ไม่ได้ขายแค่รสชาติอาหาร แต่จำหน่าย “โอกาสครั้งใหม่” ให้กับชีวิตที่เคยพลาดพลั้ง

 

“ร้านขนมจีนเรือนจำสตูล” เปิดบริการวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 09.00-14.00 น. มีผู้ต้องขังชาย 5 คนจากกองงานอาหารและเครื่องดื่ม ที่ได้รับคัดเลือกเพราะประพฤติดี ใกล้พ้นโทษ   ออกมาเรียนรู้การทำงานจริง ฝึกทักษะ และบริการลูกค้าด้วยความตั้งใจ ด้านหลังร้าน  ผู้ต้องขังหญิงยังคงทำงานอย่างขะมักเขม้น ปรุงน้ำยาขนมจีนรสชาติกลมกล่อม ทั้งน้ำยากะทิ น้ำยาไตปลา เขียวหวาน และแกงหวาน เสิร์ฟคู่ไข่ต้ม ไก่ทอด ในราคาย่อมเยาเพียง 25 บาทต่อจาน

 

หนึ่งจานขนมจีน อาจเป็นเพียงอาหารมื้อหนึ่งของลูกค้า แต่สำหรับพวกเขาแล้ว…มันคือ “ตั๋วใบใหม่” ในการกลับเข้าสู่สังคม

ลูกค้า รายหนึ่งที่เพิ่งมาทานเป็นครั้งแรกบอกว่า   เพื่อนชวนมาครั้งแรกก็รู้สึกชื่นชอบ  ด้วยรสชาติที่อร่อย ราคา ย่อมเยา และชอบขนมหวาน มีหน้าตาหลากหลาย ให้เลือกทาน เราจะเชิญชวนทุกคน มาอุดหนุน ขนมจีน เรือนจำสตูล กันเยอะ ๆ

 

นอกจากขนมจีน ยังมีขนมหวานฝีมือผู้ต้องขังหญิงให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นลูกชุบสีสันสดใส วุ้นกะทิ ขนมเปี๊ยะ และขนมชั้นที่จัดแต่งอย่างพิถีพิถัน  สะท้อนความใส่ใจในทุกรายละเอียด  ราวกับเป็นสัญญาณว่า พวกเขาเองก็พร้อมเปลี่ยนแปลง

 

 รายได้จากการขายสินค้า 70% เป็นของผู้ต้องขัง  เพื่อเป็นทุนตั้งต้นในชีวิตใหม่ อีก 30% นำกลับสู่โครงการฝึกอาชีพ สร้างวงจรโอกาสให้รุ่นน้องที่กำลังรอคิวเปลี่ยนชีวิตในวันข้างหน้า

 

และยังมีผลิตภัณฑ์ อีกมากมายกับผู้ต้องขังด้านใน ที่นำออกมาวางจำหน่าย ภายในเรือนจำจังหวัดสตูล อาทิ. น้ำชง, ไม้กวาด , พรมเช็ดเท้า, ว่าวพื้นเมือง, ฝาชี, ผลิตภัณฑ์ฟอร์นิเจอร์,และฝึกคาร์แคร์

โครงการเหล่านี้เกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนของ นายพีรพล น่วมศรี ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดสตูล นายมูหมดยูซุป เบ็ญอาซิส ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาผู้ต้องขัง และนางสาวสุภาพร ทับมาก หัวหน้าฝ่ายฝึกวิชาชีพ ที่เชื่อว่า ทุกชีวิตที่เคยก้าวพลาด สมควรได้เรียนรู้และมีโอกาสสร้างชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม

 

สำหรับผู้ที่อยากสนับสนุนชีวิตใหม่เหล่านี้ สามารถแวะมาอุดหนุนขนมจีนอร่อย ๆ หรือสั่งผลิตภัณฑ์ฝึกอาชีพได้ที่ 074-711950 ต่อ 105 (นางสาวสุภาพร ทับมาก) หรือ 081-6087252 (นายพีรพล น่วมศรี)

 

“บางครั้ง… การให้โอกาส เริ่มต้นได้จากแค่การนั่งลงทานขนมจีนจานหนึ่ง”

……………

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 สตูล-เกษตรกรสวนยาง 5 จังหวัดใต้ยื่นหนังสือวอนรัฐแก้ราคายางตกต่ำ ขู่ยกระดับเคลื่อนไหวหากยังนิ่งเฉย 

สตูล..เกษตรกรสวนยาง 5 จังหวัดใต้ยื่นหนังสือวอนรัฐแก้ราคายางตกต่ำ ขู่ยกระดับเคลื่อนไหวหากยังนิ่งเฉย

          วันที่ 22 เมษายน 2568 ที่ศาลากลางจังหวัดสตูล นายสันติ์ ดลภาวิจิตร ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดสตูล และรองประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ตอนล่าง ดูแล 5 จังหวัด  (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล)

 

          ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงหัวหน้าสำนักงานจังหวัดสตูล นายธนพัฒน์ เด่นบูรณะ  หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสตูล  พร้อมด้วย รักษาการหัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด , สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด และการยางแห่งประเทศไทยจังหวัดสตูล ร่วมรับหนังสือดังกล่าว เพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานระดับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ

         สาระสำคัญของหนังสือร้องเรียนสะท้อนถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวสวนยางที่กำลังเผชิญกับภาวะราคายางพาราตกต่ำอย่างหนัก  โดยเฉพาะในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา  ราคายางแผ่นดิบลดลงอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยราว 10 บาทต่อกิโลกรัม  ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรอย่างรุนแรง สาเหตุหลักเกิดจากการที่บริษัทและกลุ่มทุนใหญ่จงใจกดราคารับซื้อยางให้ต่ำกว่าความเป็นจริง โดยอ้างอิงนโยบายกำแพงภาษีจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งในความเป็นจริง มาตรการดังกล่าวได้ถูกเลื่อนการบังคับใช้ออกไปอีก 90 วันแล้ว

 

         นายสันติ์ ดลภาวิจิตร กล่าวว่า ขณะนี้ราคายางพารา ได้ตกจับ 60 เหลือ 40 บาท เพียง 2 วันจากการประกาศ กำแพง ภาษีของสหรัฐอเมริกา เป็นผลให้ กลุ่มทุนถือเป็นการเอาเปรียบเกษตรกรอย่างไม่เป็นธรรม และฝ่าฝืนพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 อย่างชัดเจน เครือข่ายเกษตรกรทั่วประเทศจึงพร้อมใจยื่นหนังสือต่อศูนย์ดำรงธรรมทุกจังหวัดในวันเดียวกัน  เพื่อให้รัฐบาลตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชน และเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยด่วน

ข้อเรียกร้องสำคัญในหนังสือ ได้แก่ 

  1. ให้รัฐกำหนดราคายางที่เป็นธรรมตามกฎหมาย
  2. ตรวจสอบพฤติกรรมการกดราคาจากกลุ่มทุน
  3. ควบคุมการขนย้ายยางพาราในพื้นที่ชายแดนเพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้า
  4. ตรวจสอบบัญชีภาษีของบริษัทรับซื้อยางที่มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงภาษี
  5. อนุมัติโครงการสินเชื่อเงินกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางวงเงิน 10,000 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ เครือข่ายฯ ยืนยันว่าหากไม่มีการตอบสนองจากรัฐบาลภายใน 15 วันหลังได้รับหนังสือ กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่จะยกระดับการเคลื่อนไหวทันที เพื่อปกป้องอาชีพหลักของตนที่มีสมาชิกกว่า 1 หมื่นรายในสตูล

 

“เราไม่ต้องการสร้างความวุ่นวาย เพียงแต่ต้องการความยุติธรรมให้กับอาชีพสุจริตของเรา หากรัฐยังนิ่งเฉย เราจำเป็นต้องยกระดับการชุมนุมอย่างสันติ” นายสันติ์กล่าวทิ้งท้าย

…….

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 สตูลเปิดฤดู “ผสมพันธุ์ดอก เก็บผล แปรรูปสละ” ยกระดับสละสุมาลีสู่ผลไม้เศรษฐกิจแห่งท่าแพ

สตูลเปิดฤดู “ผสมพันธุ์ดอก เก็บผล แปรรูปสละ” ยกระดับสละสุมาลีสู่ผลไม้เศรษฐกิจแห่งท่าแพ

           สำนักงานเกษตรจังหวัดสตูลจัดกิจกรรมส่งเสริมการผลิตและแปรรูปสละคุณภาพ   เปิดเทคนิคผสมเกสรเพิ่มผลผลิตกว่า 70% พร้อมต่อยอดแปรรูปสละน้ำปลาหวานสร้างมูลค่าเพิ่ม

         

           บรรยากาศเต็มไปด้วยความรู้และความตื่นเต้น ณ แปลงต้นแบบการผลิตสละคุณภาพของนายประชา กาสาเอก หมู่ที่ 6 ตำบลท่าแพ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล เมื่อสำนักงานเกษตรจังหวัดสตูลร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอท่าแพ จัดกิจกรรม “ผสมดอก เก็บผล แปรรูปสละ” โดยมีนายหร่ออ๊บ มุเส็มสะเดา นายอำเภอท่าแพ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยนางสาวกำไลทิพย์ เศรษฐ์วิชัย เกษตรจังหวัดสตูล และคณะเจ้าหน้าที่ ร่วมถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจที่เข้าร่วมกิจกรรม

         

           กิจกรรมเริ่มต้นอย่างน่าสนใจด้วยการสาธิตเทคนิคการผสมเกสรดอกสละแบบต่างๆ ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยเพิ่มอัตราการติดผล  จากเดิมที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติเพียง 20-30% ให้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 70%  นายอารีย์  โส๊ะสันสะ เกษตรอำเภอท่าแพ อธิบายพร้อมสาธิตเทคนิคการผสมเกสรทั้ง 4 วิธี ได้แก่ การเขย่าถุง การถูดอก การปักดอก และการพ่นเกสร  โดยเน้นการใช้เกสรตัวผู้ที่มีคุณภาพและจังหวะเวลาที่เหมาะสม

 

          “การผสมเกสรไม่ใช่แค่เพิ่มปริมาณการติดผล แต่ยังช่วยยกระดับคุณภาพของผลสละให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เนื้อแน่น และรสชาติหวานฉ่ำยิ่งขึ้นด้วย”

         แปลงสละของนายประชา กาสาเอก เป็นแปลงต้นแบบการผลิตสละคุณภาพ พื้นที่ 3 ไร่  ได้เปลี่ยนสภาพจากต้นยางพารา ปาล์มน้ำมัน มาปลูกสละสายพันธุ์สุมาลีมานานกว่า 3 ปี และได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP เมื่อปี 2567 ทำให้ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาด เจ้าของแปลงเล่าถึงประสบการณ์การดูแลสละว่า “สละเป็นพืชที่ต้องการความชื้นและร่มเงาพอสมควร การจัดการระบบน้ำและปุ๋ยที่เหมาะสมเป็นปัจจัยสำคัญ ที่สำคัญคือการผสมเกสรที่ถูกวิธีจะช่วยให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง”

 

          จากนั้น คณะได้เดินชมสวนสละที่ปลูกอย่างเป็นระบบ โดยมีการจัดการแถวปลูก ระยะปลูก การให้น้ำ และระบบระบายน้ำที่เหมาะสม รวมถึงการปลูกต้นตัวผู้ร่วมประมาณ 10% เพื่อการผสมเกสรที่มีประสิทธิภาพ นางสาวกำไลทิพย์ เศรษฐ์วิชัย เกษตรจังหวัดสตูล กล่าวว่า “อำเภอท่าแพมีศักยภาพสูงในการผลิตสละคุณภาพ ด้วยผลผลิตเฉลี่ยสูงถึง 1,156 กิโลกรัมต่อไร่ และสละสุมาลีมีจุดเด่นที่เนื้อหนา กลิ่นหอม รสหวานฉ่ำ ถือเป็นจุดขายสำคัญ”

          ไฮไลท์สำคัญของงานคือการสาธิตการแปรรูปสละน้ำปลาหวาน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและยืดอายุการเก็บรักษาผลผลิต   เจ้าหน้าที่สาธิตขั้นตอนการคัดเลือกสละที่มีคุณภาพ การปอกเปลือก แกะเมล็ด และการหมักกับน้ำปลาหวานตามสูตรเฉพาะ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีการแนะนำผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ เช่น สละลอยแก้ว และสละทรงเครื่อง ที่สามารถพัฒนาเป็นสินค้า OTOP ของชุมชน

 

           “เราต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตั้งแต่การผลิตที่มีคุณภาพ การเก็บเกี่ยวที่ถูกต้อง และการแปรรูปที่หลากหลาย เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาและเพิ่มช่องทางสร้างรายได้” นายหร่ออ๊บ มุเส็มสะเดา นายอำเภอท่าแพ กล่าวทิ้งท้าย

 

           สำนักงานเกษตรจังหวัดสตูลพร้อมให้การสนับสนุนเกษตรกรผู้สนใจในการปลูกสละอย่างครบวงจร ทั้งด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยีการผลิต และช่องทางการตลาด เพื่อส่งเสริมให้สละกลายเป็นผลไม้เศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืน ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ต่อไป

 

           สนใจติดต่อสอบถามเพิ่มเติม 0652393811 , 0805457923

……………………………………………………

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 สตูลสร้างงาน สร้างอาชีพวัยเกษียณ สร้างความสุข

สตูลสร้างงาน สร้างอาชีพวัยเกษียณ สร้างความสุข

          ในยุคที่หลายคนมองหาความมั่นคงหลังเกษียณ “สวนบ้านริมเขา ทุ่งนายร้อย” เป็นตัวอย่างของการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงและสร้างรายได้ไปพร้อมกัน บนพื้นที่เจ็ดไร่ของนายปรีชา อ่อนประชู อดีตข้าราชการ อบจ.สตูล  และภรรยา นางอำพร อ่อนประชู อดีตกุ๊กร้านอาหาร พวกเขาได้พลิกพื้นที่สวนให้กลายเป็นแหล่งสร้างรายได้จากการทำเกษตรผสมผสาน

         

         หนึ่งในไฮไลท์ของสวนนี้คือแปลงดาวเรือง  ที่ปลูกไว้เพื่อจำหน่ายดอกเป็นช่อ  โดยสามารถขายได้ทุกวันพระ สัปดาห์ละ 100-150 ช่อ ในราคาสามดอกสิบบาท  คิดเป็นรายได้ต่อเดือนหลักหมื่นบาท   นอกจากสร้างรายได้แล้ว  ยังสร้างความสุขให้กับทั้งผู้ปลูกและลูกค้าที่มารับซื้อถึงสวน

         นอกจากดาวเรือง พื้นที่สวนยังมีการปลูกพืชหลายชนิด เช่น พริก, ส้มโอ, ชมพู่ โดยการปลูกพืชแบบผสมผสาน  ช่วยให้แมลงศัตรูพืชลดลงตามธรรมชาติ   มีการใช้ขวดน้ำ  แขวนตามแปลงเพื่อไล่แมลงโดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี  พื้นที่สวนยังแบ่งออกเป็นแปลงไผ่ซางนวล   ซึ่งไม่ได้ขายลำต้นแต่ขายหน่อไผ่ปีละ 10,000-20,000 บาท

 

          ภายในสวนมีการขุดสระน้ำและทำระบบน้ำล้น เพื่อให้มีน้ำใช้ตลอดปีในการรดพืชผัก  และดูแลสวน ระบบน้ำที่ดีช่วยลดต้นทุนการผลิต และทำให้พืชสามารถเติบโตได้ดีโดยไม่ต้องพึ่งพาน้ำประปา

           

          นอกจากการปลูกพืชผักไว้บริโภคเองแล้ว   รายได้จากการขายผลผลิต เช่น พริก และเป็ดอี้เหรียง ที่ให้ไข่วันละแผง ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน   ทำให้ชีวิตหลังเกษียณของทั้งสองมีความสุข ไม่ต้องเร่งรีบกับการทำงานเหมือนแต่ก่อน รายได้เกิดจากความพอใจในการทำเกษตร มากกว่าการหวังกำไรสูงสุด

           อนาคตของสวนบ้านริมเขา นายปรีชาและอำพร วางแผนให้สวนแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชน  และที่พักแนวโฮมสเตย์  ด้วยบรรยากาศธรรมชาติที่ติดภูเขาและอากาศสดชื่น ทำให้ลูกชายคนเล็กมีแนวคิดต่อยอดธุรกิจครอบครัวให้เป็นสถานที่พักผ่อนที่มีการเกษตรเป็นจุดขาย

 

          นี่คือตัวอย่างของชีวิตหลังเกษียณที่เต็มไปด้วยความสุขและรายได้แบบพอเพียง

………………………………………..

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 คนสู้ชีวิต! หนุ่มช่างคอมพิวเตอร์ พลิกสวนยางโค่นเป็นไร่สับปะรด แปรรูปขาย สร้างรายได้ครึ่งล้านต่อปี 

คนสู้ชีวิต!! หนุ่มช่างคอมพิวเตอร์ พลิกสวนยางโค่นเป็นไร่สับปะรด แปรรูปขาย สร้างรายได้ครึ่งล้านต่อปี

          เสียงเก็บสับปะรดในสวนดังขึ้นเป็นจังหวะ   นายอิสมาแอน ไชยมล วัย 40 ปี ชาวบ้านหมู่ 6 ต.ควนโพธิ์ อ.เมือง จ.สตูล กำลังเร่งเก็บผลผลิตชุดสุดท้ายจากสวนสับปะรด 20 ไร่ ซึ่งเดิมเคยเป็นสวนยางพาราทั้งของตนเองและของญาติๆ ก่อนจะโค่นเพื่อปลูกใหม่ แต่เขากลับเลือกใช้พื้นที่ว่างนี้  ปลูกสับปะรดพันธุ์ภูเก็ตแทน   เพื่อฟื้นฟูดิน และสร้างรายได้ให้ครอบครัว

 

         นายอิสมาแอน กล่าวว่า  “ผมเคยเป็นช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ ก่อนจะหันมาทำเกษตรเต็มตัวเมื่อ 8 ปีก่อน ได้แรงบันดาลใจจากการไปดูงานที่กระบี่ จึงลองปลูกบนที่ดินของตนเอง และต่อมาญาติ ๆ ก็ให้ใช้พื้นที่สวนยางที่โค่นใหม่”

 

         อิสมาแอนใช้เทคนิคการปลูกแบบเว้นช่วงเก็บเกี่ยว    ไม่ให้ผลผลิตออกพร้อมกันทั้งแปลง ช่วยให้ขายได้ต่อเนื่องไม่กระทบราคา ทั้งยังเปิดหน้าร้านขายเองที่สวน ทำให้ไม่ต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง ปัจจุบันขายได้ลูกละ 15-30 บาท มีรายได้เฉลี่ยปีละกว่า 400,000 บาท โดยเฉพาะช่วงรอมฎอนที่ผ่านมา ขายได้ถึง 30,000 ลูกในเดือนเดียว

          นางสาวกำไลทิพย์ เศรษฐ์วิชัย เกษตรจังหวัดสตูล  บอกว่า “เกษตรกรรายนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้พื้นที่ว่างหลังโค่นยางพารา มาปรับปรุงดินและสร้างรายได้ เขามีการจัดการที่ดีมาก ทั้งในแปลงและการตลาด”

          นอกจากขายสด ยังมีการแปรรูปหลากหลายเมนู เช่น น้ำสับปะรดขวดละ 12 บาท สับปะรดกวน และนมสดสับปะรดขวดละ 20 บาท โดยมีครอบครัวช่วยกัน ทั้งแม่ หลานสาว และน้องสะใภ้ ดูแลการแปรรูปและหน้าร้าน

           เกษตรจังหวัดสตูล. บอกอีกว่า.  “อิสมาแอนเป็นเกษตรกรที่ได้รับมาตรฐาน GAP และ Q ซึ่งการันตีคุณภาพและความปลอดภัย อยากให้เกษตรกรคนอื่นที่ปลูกในพื้นที่ของญาติ   หรือพื้นที่เอกสารสิทธิ์ มาขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพื่อรับสิทธิ์ช่วยเหลือหากเกิดภัยพิบัติ”

 

          แม้หน่อพันธุ์สับปะรดจะยังไม่พอแบ่งขาย   เพราะต้องใช้ขยายแปลงในอนาคต   แต่ของเหลือจากการแปรรูป   เช่น กากและเปลือก ก็ยังนำไปทำปุ๋ยหมักต่อได้   ถือเป็นการใช้ประโยชน์ครบทุกส่วน. สนใจสอบถาม. โทร. 082-376-2450

……………………………….

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 ขนม”จูจอ” สานสัมพันธ์ชุมชน ฟื้นชีวิตขนมโบราณควนสตอ

ขนม“จูจอ” สานสัมพันธ์ชุมชน ฟื้นชีวิตขนมโบราณควนสตอ

          ที่อบต.ควนสตอ อ.ควนโดน จ.สตูล  ความร่วมแรงร่วมใจของแม่บ้าน 30 คน  จากหลากหมู่บ้านใน ตำบลควนสตอ วันนี้ได้รวมตัวกันสืบสานวัฒนธรรมการทำขนมโบราณ  เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับงานบุญที่กำลังจะถึง โดยมี “นางฮาหยาด  เกปัน” วัย 67 ปี ปราชญ์ชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของสูตรขนม “จูจอ” หรือ “ดอกบัว” นำทีมในการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น

         การรวมตัวครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการทำขนมเพื่องานบุญ 300 โต๊ะ หากยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์และสานต่อวัฒนธรรมอันดีงามของชุมชน พวกเขาได้ร่วมกันผลิตขนมหลากชนิด อาทิ ขนมโค กล้วยหยำ และจูจอ รวมทั้งสิ้น 12 กิโลกรัม หรือประมาณ 1,200 ชิ้น

          สูตรลับของขนม “จูจอ” ประกอบด้วยแป้งสาลี 1 กิโลกรัม  แป้งข้าวเจ้าครึ่งกิโลกรัม  น้ำตาลทรายขาว 8 กรัม น้ำตาลอ้อย 2 กรัม และเกลือเล็กน้อย ขั้นตอนการทำต้องอาศัยความชำนาญ โดยเฉพาะการหยอดแป้งทอดให้เป็นรูปดอกไม้ และค่อยๆ ปรุงไฟให้สุกอย่างเป็นขั้นเป็นตอน

          ขนมจูจอกลายเป็นของขึ้นชื่อประจำตลาดเช้า นิยมทานคู่กับโกปี้อ้อและชาเย็น ราคาเริ่มต้นเพียง 3-5 บาท สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวใต้มุสลิมที่เรียบง่ายแต่ทรงคุณค่า

         การอนุรักษ์และสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมผ่านขนมโบราณเช่นนี้  นับเป็นพลังสำคัญในการเชื่อมโยงคนในชุมชน สร้างความภาคภูมิใจ และถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่คนรุ่นต่อไป

……..

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 จากพนักงานบริษัทสู่เจ้าของกิจการ  “ขนมครกไส้โคตรทะลัก” สร้างรายได้วันละ 2,000 บาท

จากพนักงานบริษัทสู่เจ้าของกิจการ  “ขนมครกไส้โคตรทะลัก” สร้างรายได้วันละ 2,000 บาท

          ที่ตลาดรอมฎอน  ต.ฉลุง  อ.เมือง  จ.สตูล  นางสาวฐิติภัทร โลณะปาลวงษ์ อายุ 36 ปี เจ้าของร้าน “ขนมครกไส้โคตรทะลัก” เล่าให้ฟังถึงเส้นทางการเปลี่ยนชีวิตจากพนักงานบริษัทในแผนกซีพี สู่การเป็นผู้ประกอบการขนมไทยที่มีรายได้วันละ 2,000 บาท จากขนมครกเพียง 3 กิโลกรัมต่อวัน

 

          นางสาวฐิติภัทรเล่าว่า “เริ่มต้นจากการตั้งครรภ์ลูกคนที่สอง และความชอบส่วนตัวในการขายของ” “ดิฉันได้ศึกษาการทำขนมครกจากช่องทางออนไลน์ แล้วทดลองทำด้วยตัวเอง ลองผิดลองถูกจนได้สูตรที่ลงตัวอย่างทุกวันนี้”

 

          โดยความพิเศษของขนมครกร้านนี้อยู่ที่การใช้แป้งข้าวไรซ์เบอร์รี่ ผสมกับน้ำกะทิคุณภาพดี ทำให้ได้เนื้อขนมที่นุ่ม หอม ไม่แข็งกระด้าง โดยเมื่อทำแป้งเสร็จแล้วจะเติมหัวกะทิอีกครั้ง และตามด้วยไส้ที่หลากหลายถึง 4 ชนิด ได้แก่:  – ไส้ฟักทอง  – ไส้มันม่วง  – ไส้ข้าวโพด  – ไส้เผือก

 

         “ความลับอยู่ที่เราใส่ใจในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบ การผสมแป้ง และการทำไส้ที่สด ใหม่ทุกวัน หวานพอดี มันจากหัวกะทิ ไม่ใช้วัตถุกันเสีย” คุณฐิติภัทรกล่าว

 

         ด้วยประสบการณ์จากการทำงานในบริษัท คุณฐิติภัทรได้นำความรู้ด้านการตลาดมาปรับใช้กับธุรกิจขนมครก จัดแคมเปญ “ซื้อขนมครก 20 บาท แถมคูปอง 1 ใบ” เมื่อสะสมครบ 10 ใบ สามารถแลกขนมครกฟรี 1 กล่อง  

          “การทำแคมเปญนี้ช่วยเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น เพราะลูกค้าอยากได้คูปองมากๆ จึงซื้อในปริมาณมากขึ้น และในเดือนนี้มีลูกค้าไม่น้อยกว่า 3 รายแล้วที่มาแลกขนมฟรีจากการสะสมแต้ม” คุณฐิติภัทรกล่าวด้วยรอยยิ้ม

              ความอร่อยของขนมครกไส้โคตรทะลักไม่เพียงเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าทั่วไป แต่ยังได้รับการยอมรับจากนายกเทศมนตรีตำบลฉลุง  และผู้รับสัมปทานตลาดที่ยอมรับว่า “ขนมครกเป็นอีกหนึ่งเมนูที่ได้รับความนิยม เป็นอาหารว่าง อาหารแก้บวชของพี่น้องชาวไทยมุสลิม”

 

           สำหรับเวลาเปิดให้บริการ  ในเดือนรอมฎอน  ตั้งแต่เวลา  13.00-18.00 น.  เดือนปกติ เริ่มตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. ที่สามแยกฉลุง  สนใจสั่งขนมครกไส้โคตรทะลัก สามารถติดต่อได้ที่ 099-304-2659

 

     “จากความฝันเล็กๆ สู่ความสำเร็จวันนี้ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในช่วงไหนของชีวิต ก็สามารถเริ่มต้นทำธุรกิจได้ ขอเพียงมีใจรัก ตั้งใจ และลงมือทำอย่างจริงจัง” คุณฐิติภัทรทิ้งท้าย

…………………………………..

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 แม่บ้านสตูลสร้างรายได้จากขนมโบราณ ‘โกยเปต’ สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นกว่า 20 ปี

แม่บ้านสตูลสร้างรายได้จากขนมโบราณ ‘โกยเปต’ สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นกว่า 20 ปี

          ที่หมู่บ้านเขาน้อยใต้ หมู่ 12 ตำบลฉลุง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล นางฝาตีม๊ะ ดาหมาด อายุ 58 ปี พร้อมด้วยญาติพี่น้องในครอบครัวกำลังเร่งมือทำขนมโบราณที่เรียกว่า “โกยเปต” หรือ “ขนมทองพับ” เพื่อให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะในช่วงใกล้เทศกาลฮารีรายาของพี่น้องชาวไทยมุสลิม

         

         ขนมโกยเปตที่นี่มีเอกลักษณ์พิเศษด้วยการใช้สูตรโบราณและวิธีการทำแบบดั้งเดิม โดยใช้เตาถ่านในการย่าง ซึ่งช่วยเพิ่มความหอมให้กับขนม ทำให้มีรสชาติที่แตกต่างและน่ารับประทานยิ่งขึ้น

 

          “เริ่มจากทำกินในครอบครัว แล้วค่อยพัฒนามาเป็นอาชีพ” นางฝาตีม๊ะเล่าถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจขนมโกยเปตที่ดำเนินมากว่า 20 ปี จนเป็นที่รู้จักในนาม “โกยเปตมะหลง” 

 

          ส่วนผสมหลักของขนมโกยเปตประกอบด้วย แป้งข้าวเจ้า กะทิ น้ำตาล และไข่ไก่ โดยหนึ่งกระปุกจะบรรจุประมาณ 70 แผ่น กำลังการผลิตอยู่ที่วันละ 3-4 กิโลกรัม หรือประมาณ 7 กระปุก โดย 1 กิโลกรัมจะใช้มะพร้าวถึง 4 ลูกและไข่ไก่.  ซึ่งทางร้านเน้นทั้งคุณภาพและปริมาณ

 

          วิธีการทำขนมโกยเปตมีเคล็ดลับอยู่ที่การสังเกตสีของแป้ง หลังจากวางแท่นพิมพ์ลงบนเตาถ่าน ให้รอจนแป้งที่อยู่รอบขอบแท่นพิมพ์เปลี่ยนเป็นสีเหลือง แล้วจึงรีบยกขึ้นมาพับเป็นรูปสี่เหลี่ยมทันที จะได้ขนมที่มีสีเหลืองสวย แบน และง่ายต่อการบรรจุลงกล่อง

 

          ขนมโกยเปตของนางฝาตีม๊ะ  เป็นที่นิยมอย่างมากในช่วงเทศกาลฮารีรายา  เนื่องจากทุกบ้านจะต้องซื้อไว้รับรองแขกที่มาเยี่ยมเยียน  แต่ทางร้านยังคงเปิดขายตลอดทั้งปี ทำให้เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับของฝากหรือของขวัญในโอกาสพิเศษต่างๆ

          ด้านนายสุจริต  ยามาสา  นายก อบต.ฉลุง ยอมรับว่าขนมร้านของนางฝาตีม๊ะ  มีความอร่อยและรักษาคุณภาพของอาหารได้อย่างยอดเยี่ยมจนเป็นที่ขึ้นชื่อ แต่สิ่งที่ต้องการพัฒนาต่อไปคือเรื่องของตราสินค้าให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งทาง อบต. จะเข้ามาช่วยหนุนเสริมในส่วนนี้ เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า นอกจากนี้ ทางองค์การบริหารส่วนตำบลยังจะช่วยส่งเสริมการขายผ่านช่องทางต่างๆ และสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่ม เพื่อให้ภาครัฐสามารถเข้ามาช่วยเหลือได้มากขึ้น

 

          สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสั่งซื้อขนมโกยเปตได้ในราคากระปุกใหญ่ และกระปุกเล็ก

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

อัพเดทล่าสุด