Categories
ข่าวทั่วไป เยาวชน-การศึกษา

ศรชล.ร่วมกับ พสบ.สตูล  ปลูกสำนึกรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ในเยาวชนเกาะบุโหลน

ศรชล.ร่วมกับ พสบ.สตูล  ปลูกสำนึกรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ในเยาวชนเกาะบุโหลน

          ที่โรงเรียนบ้านเกาะบุโหลน  ตำบลปากน้ำ  อำเภอละงู  จังหวัดสตูล  นายศักระ   กปิลกาญจน์   ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะ (ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดสตูล หรือ ผอ.ศร.ชล) นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง   อาทิ   ศูนย์ควบคุมความมั่นคงทางทะเลจังหวัดสตูล (ศคท.จว.สต.) ร่วมกับ หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเลเกาะหลีเป๊ะ (สตูล) ศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลจังหวัดสตูล อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา หน่วยรักษาความปลอดภัยทางทะเลกองทัพเรือเกาะหลีเป๊ะ เรือ ต.996

 

          มาร่วมเปิด  “กิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์สร้างความรับรู้ในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และเก็บขยะชายหาดที่เกาะบุโหลนดอน”    โดยมีนาวาเอกแสนย์ไท   บัวเนียม  รอง ผอ.ศร.ชล จ.สตูล และนางสาวสุภาพรรณ  สุนทรารชุน   ประธานกลุ่มผู้ผ่านหลักสูตรพัฒนาสัมพันธ์ระดับผู้บริหารกองทัพภาคที่ 4  หรือ  พสบ.สตูล   ร่วมกันจัดกิจกรรมในครั้งนี้ขึ้น

 

          เพื่อบูรณาการความร่วมมือของภาครัฐและกลุ่มเอกชนนับเป็นพลังความสามัคคีทำให้เกิดสาธารณประโยชน์  , เพื่อสร้างความรับรู้   การร่วมกิจกรรมด้วยการเก็บขยะชายหาดและคัดแยกขยะ   เพื่อนำเข้าโครงการขยะปันสุขของจังหวัดสตูล   ปลูกฝังให้เยาวชนได้รับรู้ถึงการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล   การอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล  และชายฝั่งรวมถึงการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  คณะครู นักเรียนร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ 350 คน ก่อนจะร่วมกันรับประทานอาหารกลางวันที่ผู้ใหญ่ใจดีนำมาเลี้ยงครู นักเรียน และชาวบ้านที่มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

……………..

อัพเดทล่าสุด
Categories
เยาวชน-การศึกษา

สตูล-สร้างความสุข “วันเด็กพิการ” ผู้ใหญ่ใจดีนำของขวัญ-ทำอาหารให้น้องกินอย่างจุใจ

สตูล-สร้างความสุข “วันเด็กพิการ” ผู้ใหญ่ใจดีนำของขวัญ-ทำอาหารให้น้องกินอย่างจุใจ

         วันที่ 11 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดสตูล เทศบาลตำบลคลองขุด อำเภอเมือง จังหวัดสตูล   พ่อแม่ผู้ปกครอง ทั้ง 7 อำเภอในจังหวัดสตูล ต่างนำพาลูกหลาน ในกลุ่มเด็กพิเศษ เด็กพิการ กว่า 270 คน  มาร่วมกิจกรรมในโครงการวันเด็กพิการจังหวัดสตูล ประจำปี  2567  ทำให้บรรยากาศภายในงาน น้องๆกลุ่มเด็กพิเศษ มีความสุข หน้าตาสดชื่น เสียงหัวเราะที่สนุกสนาน  โดยนายคณิต คงช่วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานเปิดงาน  และร่วมกับผู้ใหญ่ใจดีภาครัฐ  เอกชน  ร่วมแจกของรางวัลในครั้งนี้  

 

          พร้อมชมการแสดงความบันเทิงจากเด็กน้อย โชว์ลีลาสเต็บแดนซ์  ตามวัยอย่างสนุกสนาน  เรียกรอยยิ้มให้พ่อแม่ผู้ปกครอง  และแขกภายในงาน  แต่ภายใต้การแสดงที่พร้อมเพรียง  สวยงาม ตามจังหวะดนตรี  ด้านล่างเวที ก็จะได้เห็นความน่ารักของคุณครู ที่เต้นให้น้องๆดู   กลายเป็นสีสันน่ารักๆเรียกรอยยิ้มได้อีก 1 กรุบ

 

         ในโอกาสนี้  นายพรชัย  ก้างส่วย ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาเด็กพิเศษ จังหวัดสตูล ผู้จัดงานในครั้งนี้กล่าวรายงานการจัดโครงการวันเด็กพิการศูนย์การศึกษาพิเศษ  ประจำจังหวัดสตูล ประจำปี 2567 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้เด็กพิการได้รับพัฒนาการทางด้านร่างกาย  จิตใจ  อารมณ์  สังคม  สติปัญญา  และมีคุณภาพที่ดี   ให้หน่วยงานภาครัฐ  และเอกชนมีส่วนร่วมสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพเด็กพิการ 

 

       สำหรับบรรยากาศภายในงานครึกครื้นด้วยการแสดง  และการลุ้นของขวัญจำนวนมากจากมีผู้ใหญ่ใจดีจากหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชน   ทางด้านผู้ประกอบการร้านค้า ร้านอาหาร  ต่างก็นำอาหารมาแจกจ่าย อย่างไอศกรีม หมี่ผัด  ผัดไทย เครื่องดื่มหวานเย็นมาแจกจ่าย  ข้าวหมก ข้าวเหนียวไก่ทอด และมีพี่ๆ คุณครู  แต่งกายในชุดแอลซ่า  อันนา  ตัวละครในการ์ตูนคอยเติมสีสันต์ต้อนรับเด็กๆภายในงาน ทำให้วันเด็กพิการพิเศษกว่าทุกวัน  

………

Categories
เยาวชน-การศึกษา

ชุมชนบ้านยาบี จัดกิจกรรม TO BE NUMBER ONE ภายใต้โครงการรณรงค์และแก้ไขปัญหายาเสพติด

ชุมชนบ้านยาบี จัดกิจกรรม TO BE NUMBER ONE ภายใต้โครงการรณรงค์และแก้ไขปัญหายาเสพติด

         อบต.ยาบี อ.หนองจิก จ.ปัตตานี โดยสำนักปลัด (งานสาธารณสุขฯ) ร่วมกับชมรม TO BE NUMBER ONE ชุมชนบ้านยาบี จัดกิจกรรม TO BE NUMBER ONE ภายใต้โครงการรณรงค์และแก้ไขปัญหา ยาเสพติด TO BE NUMBER ONE (ศูนย์เพื่อนใจวัยรุ่นในชุมชน/หมู่บ้าน) ทูลกระหม่อมหญิงอุบล รัตนราชกัญญาสิริวัฒนาพรรณวดี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ร่วมกับภาคีเครือข่ายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลยาบี โรงเรียนยาบีบรรณวิทย์ ระหว่างวันที่ 27 – 29 พ.ย.2566  ณ โรงเรียนยาบีบรรณวิทย์ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี และ ต.เขารูปช้าง อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา 

          นางสาวอลีนา ประมวลการ หัวหน้าสำนักปลัด และนางสาวจัสมิล  มุมินรุ่งเรืองเดช นักวิชาการสาธารณสุข ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวถึงโครงการดังกล่าวประกอบด้วยกิจกรรมมากมายที่จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันและความตระหนักรู้เกี่ยวกับพิษภัยของยาเสพติดให้กับเด็กและเยาวชน เช่น กิจกรรมละลายพฤติกรรมและสันทนาการ กิจกรรม my choices กิจกรรม Walk Rally (ถอดรหัสลับ) กิจกรรม

          ถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้สถานการณ์ยาเสพติด กิจกรรมการแสดงบทบาทสมมุติ และกิจกรรมเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนศึกษาดูงานสถานที่จริง เช่น สถานพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา และทัณฑสถานบำบัดพิเศษสงขลา เป็นต้น

          ทั้งนี้เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับรู้และรับทราบถึงปัญหาและพิษภัยของยาเสพติด เพื่อเสริมสร้างทักษะการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น โดยปราศจากการเกี่ยวข้องกับสิ่งเสพติดและอบายมุข  เพื่อสร้างผู้นำเยาวชนในการต่อต้านและป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดในสถานศึกษาและชุมชน ดังคำขวัญของโครงการ TO BE NUMBER ONE คือ “เป็นหนึ่งโดยไม่พึ่งยาเสพติด” นายจักรพงษ์  อดุลรัส ปลัด อบต.ยาบี ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมดังกล่าว

         ด้านนายอับดุลเลาะห์  เจะปอ นายก อบต.ยาบี กล่าวว่า อบต.ยาบี เป็นสมาชิกของชมรม TO BE NUMBER ONE ในระดับชุมชน เพื่อบูรณาการร่วมกันขับเคลื่อนงานด้านยาเสพติดในทุกมิติ เพราะปัญหายาเสพติดที่มีการแพร่ระบาดในทุกพื้นที่ของประเทศไทยได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ประกอบกับกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นวัยที่อยากรู้อยากลอง จึงถูกชักจูงให้ใช้สิ่งเสพติดได้ง่าย ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย และเมื่อเสพไปนานก็ส่งผลต่อสุขภาพจิต ทำให้เกิดปัญหาทางจิตมีผลทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา  

……………………………….

รุสลาม  มะแซ //รายงาน

Categories
เยาวชน-การศึกษา

สตูล-รร.ไทยรัฐ ๑๑๑ น้อมนำศาสตร์พระราชา ผ่านมือครูสู่ใจ นร.สานต่อ อารยเกษตรในวันดินโลก 5 ธันวา

สตูล-รร.ไทยรัฐ ๑๑๑ น้อมนำศาสตร์พระราชา ผ่านมือครูสู่ใจ นร.สานต่อ อารยเกษตรในวันดินโลก 5 ธันวา

           นางวรรธิดา คมขำ ผู้อำนวยการโรงเรียน รร.ไทยรัฐ ๑๑๑ (บ้านทุ่งนางแก้ว) หมู่ที่ 5 บ้านทุ่งนางแก้ว ตำบลน้ำผุด อำเภอละงู จังหวัดสตูล กล่าวว่า โรงเรียนจับมือกับอำเภอละงู น้อมนำศาสตร์พระราชา  สนองพระบรมราโชบายพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ  พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระราชทานชื่อโครงการ อารยเกษตร สืบสาน รักษา ต่อยอด ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงด้วย “โคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวัง” เพื่อให้ทุกคนอยู่รอดเข้าใจ เข้าถึงและร่วมมือกันทำร่วมมือกันพัฒนา ผ่านมือครูสู่ใจ นร.สานต่ออารยเกษตร สร้างการเกษตรแก่ นักเรียนส่งต่อชุมชน  ติดตามครัวเรือนผู้ปกครองในชุมชนพื้นที่บริการของโรงเรียน  

          นำโดยนายธีระพงษ์ คุ่มเคี่ยม นายอำเภอละงู พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ทหาร ร่วมจัดกิจกรรมเนื่องในวันดินโลก”5 ธันวาคม 2566 “และขับเคลื่อนชุมชนคุณธรรม สู่ชุมชนสุขภาวะ ด้านโครงการอาหารชุมชนโรงเรียนต้นแบบสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน    อาทิ การทำนา เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ทำปุ๋ย การตลาด พืชเศรษฐกิจ สวนปาล์มสวนยาง  แปรรูปให้เห็นชัดๆ ทำจริง กินจริง ไปดูกการจับปลา การลากอวน คัดขนาดปลา   การขุดคลองไส้ไก่ เพื่อหล่อเลี้ยงน้ำ   การทำฝายต้นน้ำ 4)การแปรรูปปลาน้ำจืด   การทำแซนวิชปลา   และ เราขาวไทยรัฐวิทยา ๑๑๑ จะสานต่อพระบรมราโชบายสู่ความยั่งยืน

……………………..

Categories
เยาวชน-การศึกษา

สตูล-นักเรียนสตูล เปลี่ยนขยะเป็นกระทง  เรียกร้องสันติภาพโลก

สตูล-นักเรียนสตูล เปลี่ยนขยะเป็นกระทง  เรียกร้องสันติภาพโลก

           คณะครูและนักเรียน โรงเรียนเทศบาล 2 วัดชนาธิปเฉลิม   ต.พิมาน  อ.เมือง  จ.สตูล  ช่วยกันประดิษฐ์กระทงขนาดใหญ่จากวัสดุรีไซเคิลที่เหลือใช้ในโรงเรียน  อย่างเช่น กล่องนม ของน้องๆนักเรียนที่กินในตอนเช้าทุกวัน  ซึ่งมีมากถึง 500 กล่องต่อวัน    รวมถึงลังกระดาษใส่นม  และขยะรีไซเคิลอื่นๆ   ภายใต้ Concept  เรียกร้องสันติภาพให้กับโลก   เตรียมส่งเข้าประกวดในหัวข้อ ความคิดสร้างสรรค์  ในงานประเพณีลอยกระทง ที่เทศบาลเมืองสตูล   กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 27 พ.ย.2566 นี้

          กล่องนมจำนวนมากถูกตัดแต่งเป็นกลีบบัว  นำมาตกแต่งเป็นฐานกระทง   กระดาษลังตัดเป็นรูปมนุษย์จากชาติมหาอำนาจต่าง ๆ ทั่วโลก  ประสานมือกัน  และมีมือน้อย ๆ จากทุกคนช่วยกันโอบอุ้มโลกเอาไว้  เพื่อปกป้องให้รอดจากสงคราม  และมีนกพิราบคาบกิ่งมะกอก  สื่อถึงความสันติภาพบินอยู่บนโลก   โดยขนนกก็ได้จากกระดาษกล่องนมที่ถูกตัดมาเรียงซ้อนกัน  ทำให้นกพิราบดูโดดเด่นเงางาม

         ด.ญ.รักษิณา  คงสีดำ  นักเรียนชั้น ม.3  โรงเรียน เทศบาล 2 วัดชนาธิปเฉลิม  บอกว่า  ใช้เวลาว่างร่วมกับเพื่อนๆและคณะครู  นำกล่องนม  และขยะรีไซเคิลมาประดิษฐ์เป็นกระทงขนาดใหญ่ เพื่อส่งเข้าประกวดภายใต้แนวคิดสื่อสันติภาพโลก และขอเชิญชวนให้ร่วมกันสืบสานประเพณีลอยกระทง   

        ด้าน นางสาวโสภาวรรณ  รัตนดิลก  ณ ภูเก็ต ผอ. โรงเรียน เทศบาล 2 วัชนาธิปเฉลิม  กล่าวว่า  ในปีนี้ทางโรงเรียนได้ประดิษฐ์กระทงขนาดใหญ่  ภายใต้แนวคิด เรียกร้องสันติภาพโลก  เพราะเป็นสิ่งสำคัญ  ทุกเชื้อชาติศาสนาต้องการสันติภาพ  และลดขยะในโรงเรียน  โดยใช้วัสดุรีไซเคิลอย่างกล่องนม  ที่มีมากถึง 500 กล่องในแต่ละวัน  นำมาประดิษฐ์เป็นกระทงส่งประกวดประเภทความคิดสร้างสรรค์  เป็นอีกวิธี 1 ที่จะช่วยกันสืบสานประพณีลอยกระทง คือให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการประดิษฐ์กระทง 

…………………………………………..

Categories
เยาวชน-การศึกษา

สตูลจัดกิจกรรม  สืบสานงานบุญเดือนสิบ   ดึงเด็กเยาวชนร่วมอนุรักษ์ประเพณีดีงาม  โดยให้ลงมือทำ และร่วมการแข่งขันกันอย่างสนุกสนาน

สตูลจัดกิจกรรม  สืบสานงานบุญเดือนสิบ   ดึงเด็กเยาวชนร่วมอนุรักษ์ประเพณีดีงาม  โดยให้ลงมือทำ และร่วมการแข่งขันกันอย่างสนุกสนาน

         ที่วัดชนาธิปเฉลิม (พระอารามหลวง)  ตำบลพิมาน  อำเภอเมือง  จังหวัดสตูล  ที่นี่  มีการจัดกิจกรรมสืบสานประเพณีบุญเดือนสิบ  ด้วยการจัดการแข่งขันขูดมะพร้าวของเด็ก ๆ นักเรียน  ที่นำเครื่องมือโบราณอย่างกระต่ายขูดมะพร้าว   มาทำการแข่งขัน  ซึ่งเป็นหนึ่งในการใช้มะพร้าว  เป็นส่วนผสมในการทำขนม  บุญเดือนสิบ  ที่จะใช้มะพร้าวเป็นส่วนผสมเป็นส่วนใหญ่

         นอกจากนี้ก็ยังมีการแข่งขันการกินขนมเดือนสิบ   โดยมี  เด็กๆ เข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขัน  นอกจากจะเป็นการสร้างความสนุกสนานของเด็ก ๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมแล้ว   ยังเป็นการแฝงไปด้วยความรู้เรื่องของขนมเดือนสิบ   ที่มีการสืบทอดกันมาไม่ว่าจะเป็นขนมต้ม  ขนมเจาะหู  ขนมสะบ้า  หรือแม้กระทั่ง ขนมข้าวพอง  สร้างสีสันและบรรยากาศที่สนุกสนานให้กับกองเชียร์ได้ไม่น้อย

        ภายในงานยังมีการทำขนมโดยฝีมือเด็ก ๆ และคุณครู  มาโชว์ภายในงานพร้อมแจกจ่ายให้ผู้เข้าร่วมงาน และเด็กๆได้ชิมกันฟรี   รวมทั้งการทำหมับ  ที่ตกแต่งอย่างสวยงามทั้งเล็กและใหญ่ให้เห็นถึงวัฒนธรรมประเพณี  ของการจัดเตรียมเพื่อถวายพระ  ในบุญเดือนสิบแรก 

        นอกจากนี้ยังมีการละเล่นพื้นเมืองอย่างหมากขุม   การละเล่นดนตรีไทย  ของโรงเรียนเทศบาล 2 รวมทั้งเด็ก ๆ จากโรงเรียนเทศบาลในเขตอำเภอเมืองสตูล  เข้าร่วมงานกันเป็นจำนวนมาก   โดยทางผู้จัดหวังว่ากิจกรรมในครั้งนี้  จะเป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงาม  แล้วยังเป็นการส่งต่อให้เยาวชน  เด็ก ๆ ได้ร่วมเห็นคุณค่าและอนุรักษ์ความสวยงาม  และดีงามของประเพณีบุญเดือนสิบของชาวไทยพุทธสืบไป

…………………………..

Categories
เยาวชน-การศึกษา

พระสตูลเปิดกองทุนช่วย เด็กมานิ ศรีมะนัง  พร้อมสนับสนุนความยั่งยืนทางด้านอาหาร

พระสตูลเปิดกองทุนช่วย เด็กมานิ ศรีมะนัง  พร้อมสนับสนุนความยั่งยืนทางด้านอาหาร  

        ที่โรงเรียนบ้านป่าพน  ตำบลปาล์มพัฒนา  อำเภอมะนัง  จังหวัดสตูล   เด็ก ๆ ชาวมานิ   ศรีมะนัง   ใช้ช่วงเวลาว่างทบทวนบทเรียน  ในช่วงพักกลางวัน  หลังที่เด็กๆ ชาวมานิกลุ่มนี้ได้เข้าสู่ระบบการเรียนการสอนเพียงไม่นาน   พบว่าพวกเขาสามารถปรับตัวเข้ากับเพื่อน ๆ ได้เป็นอย่างดี

       เด็ก ๆ ชาวมานิ  8 คน  ที่เข้ามาเรียนที่โรงเรียนบ้านป่าพน  โดยมีชาวบ้านในหมู่บ้านใกล้กับที่อยู่ของชาวมานิ   ช่วยเป็นธุระขับรถยนต์มาส่งและมารับทุกเช้า  ขณะนี้กลับพบว่า  ชาวบ้านดังกล่าวกำลังประสบปัญหาด้านปัจจัย   การในการจัดซื้อน้ำมัน ขับรับส่งเด็ก ๆ ชาวมานิ    ด้านพระครูโสภณปัญญาสาร   เจ้าคณะอำเภอมะนังและเป็นเจ้าอาวาสวัดนิคมพัฒนารามผัง 7  ได้ลงมาติดตามปัญหาและเตรียมความช่วยเหลือ  เพื่อให้เด็ก ๆ ได้มาเรียนอย่างมีความสุข  และจบหลักสูตรตามที่รัฐกำหนด  เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของชาวมานิกลุ่มนี้

        พระครูโสภณปัญญาสาร   กล่าวว่า  ทางวัดได้นำเรียนเจ้าคณะจังหวัด  ถึงแนวทางการช่วยเหลือ  ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาร่วมกับทางอำเภอ และท้องถิ่นอย่างอบต.ปาล์มพัฒนา   ในการช่วยสร้างคลังอาหาร โดยนำความรู้จากวัด   ที่มีคลังอาหารมาช่วยเผยแพร่   ให้กลุ่มชาวมานิ ศรีมะนัง  ชุดนี้  ที่อาศัยกันจำนวน 35 คน ได้มีอาหารเลี้ยงชีพที่ยั่งยืน  พร้อมระบบสาธารณสุขต่างๆ  ทั้งระบบน้ำ และระบบไฟฟ้า ให้ทัดเทียมหรือใกล้เคียงความเป็นชุมชนที่ปกติสุขทั่วไป  จึงเปิดบัญชีช่วยเหลือสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือชาวมานิ  ผ่านบัญชี  ชื่อบัญชี  “กองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิต กลุ่มชาติพันธุ์มันนิ  อำเภอมะนัง  จังหวัดสตูล” ธนาคาร  ธ.ก.ส. เลขบัญชี 020-225-933-478  เพื่อจัดหาค่าเดินทางให้เด็กๆได้ไปโรงเรียน

          ด้าน นายไพโรจน์   ดำพลบ  หรือลุงกอบ   อายุ  65 ปี คนใกล้ชิดชาวมานิที่ไว้เนื้อเชื่อใจ  สะท้อนว่า  ชาวมานิชุดนี้  มีความแตกต่างกับมานิชุดอื่นคือมีความขี้อาย  ไม่กล้าเข้าสังคม ด้านสาธารณสุขพบว่า  มีการทำอาหารปรุงสุกใหม่กินด้วยการเผา  ซึ่งแตกต่างจากเมื่อก่อน  อยากเห็นพวกเขามีอาชีพเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา และงานฝีมือ  เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้พวกเขา  รวมทั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่ไปเรียน รวมทั้ง อาหารสัตว์ที่ให้มาเลี้ยง เพื่อช่วยเหลือในเบื้องต้นในช่วงเรียนรู้การสร้างคลังอาหาร ที่ยั่งยืน

Categories
เยาวชน-การศึกษา

มติชาวอาชีวะค้านการหลอมรวม  แต่หนุนตั้งมหาวิทยาลัยสตูล 

มติชาวอาชีวะค้านการหลอมรวม  แต่หนุนตั้งมหาวิทยาลัยสตูล 

     ประเด็นการตั้งมหาวิทยาลัยสตูลได้กลับมาเป็นที่วิพากษ์อีกครั้ง   เมื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้  ได้มีแนวคิดที่จะหลอมรวม  3  อาชีวะในจังหวัดสตูล   ทั้งวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสตูล  มีนักศึกษาประมาณ 600 คน ,  วิทยาลัยเทคนิคสตูล 2,000 คน, วิทยาลัยการอาชีพละงู  1,000 คน  และมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล  ซึ่งนักศึกษา  200 คน  มาหลอมรวมกันเพื่อตั้งมหาวิทยาลัยสตูล

     ในประเด็นนี้ได้มีกระแสการต่อต้าน ว่าจะดีกว่าไหม หากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล  จะผลักดันตัวเองเป็นมหาวิทยาลัย โดยไม่จำเป็นต้องหลอมรวม  เพื่อโอกาสทางการศึกษาที่สูงกว่าระดับ ปวช.ปวส.  เพื่อความหลากหลายของการศึกษาอย่างแท้จริง ที่ผู้เรียนมีโอกาสได้เลือกตามความสมัครใจ  ตามความต้องการ ตามกำลังทุนทรัพย์ ตามวิชาชีพที่ต้องการ  ว่าเรียนที่ไหน เพื่อให้เหมาะกับตัวเอง

     และเพื่อเป็นการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  กับการจัดการศึกษาที่อาชีวศึกษาในจังหวัดสตูล  มีความเห็นด้วยหรือไม่  ในการหลอมรวมวิทยาลัยเทคนิคสตูลในการจัดตั้ง  มหาวิทยาลัยสตูล   3  ส่วน  คือ 1 กรรมการบริหารสถานศึกษา (วิทยาลัยเทคนิคสตูล 100 เปอร์เซ็นต์ไม่เห็นด้วย) 2 ผู้บริหารครู บุคลากร 97.8 เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นด้วย) 3.นักเรียน นักศึกษา ศิษย์ปัจจุบัน 95.93 เปอร์เซ็นต์ไม่เห็นด้วย)  และสัปดาห์ต่อไป จะเป็นการทำประชามติในผู้ปกครอง สมาคมศิษย์เก่าและศิษย์เก่า ต่อด้วยผู้ได้รับบริการวิชาชีพ เครือข่ายความร่วมมือ สถานประกอบการ ภาคประชาชน และพี่น้องชาวอาชีวะทั่วประเทศ

       คุณครูธิษณา  บำรุงเมือง  คุณครู ว.เทคนิคสตูล   เปิดเผยว่า บริบทของมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยเทคนิคต่างกันมาก ตนเป็นครูอยู่อาชีวะมา 30 ปี  จะเห็นว่าเด็กอาชีวะเป็นอย่างไร  1 มีฐานะยากจน 2 ทักษะการเรียนเข้าระดับมหาลัยไม่ได้  เด็กอาชีวะอาจจะไม่เก่งทางด้านทางวิชาการ  แต่สิ่งที่เจอมาตลอดคือซ่อมไปได้เปิดบริษัทเป็นของตัวเองได้ บางครั้งทางวิชาการก็ไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิต 

        คุณครู ว.เทคนิคสตูล  เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในความคิดของตนคนเดียวมองว่า  ผู้ที่จะจัดตั้งให้มีการหลอมรวมอาชีวะไม่มั่นใจว่ามีผลประโยชน์อื่นใดแอบแฝงอยู่   แต่พวกเราจะยินดีมากๆที่จะมีมหาวิทยาลัยสตูลเกิดขึ้นในจังหวัดสตูล   แต่เราควรจะแยกกันจัดการศึกษากัน  แต่มาพูดคุยกันในการเอาหลักสูตรมารวมกัน วิธีการนี้เชื่อว่าเด็กเราไปไกลหากมีการมาเขียนหลักสูตรด้วยกัน  แต่หากจะหลอมรวมกันจริงผลกระทบเกิดขึ้นกับเด็ก ๆ และครอบครัวอย่างแน่นอนเพราะนั่นหมายถึงค่าเทอมที่สูงขึ้น และเด็กไม่มีโอกาสเลือกเรียนในสายอาชีพที่ตนถนัด

        นายวิเชียร  บุญเตี่ยว  ผอ.วิทยาลัยเทคนิคสตูล  กล่าวว่า  สถานการณ์การจัดตั้งมหาวิทยาลัยสตูลโดยใช้วิธีการหลอมรวม ด้วยความเป็นบริบทการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ อาชีวศึกษาที่ตั้งขึ้นเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคน ตอบโจทย์ประเทศที่ต้องการแรงงานที่มีฝีมือ คือ ปวช.และปวส. ขณะนี้วิทยาลัยเทคนิคสตูลได้ผลิตเด็กในระบบอยู่ที่ 2,000 คน หากเทียบในประเภทเดียวกันกับอาชีวศึกษาถือว่าเป็นขนาดกลาง  

         แต่เรายังมีนอกระบบซึ่งเกิดจากความร่วมมือของโรงเรียนและความต้องการของชุมชนเป็นโมเดลเด็กเข้ามาสัมผัสโลกของอาชีพจริงๆ  ทุกวันพฤหัสบดีจะมีเด็กเข้ามาเรียนและฝึกอบรมในช่วงวันเสาร์อาทิตย์ฟรี 100% อยู่ประมาณ 2,100 คนในปีการศึกษาที่ผ่านมา

         ผอ.วิทยาลัยเทคนิคสตูล  กล่าวด้วยว่า  ขอพูดในฐานะคนสตูลถอดหมวกผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคออกไปวันนี้   ที่ทำประชามติเกิดขึ้นด้วยการจัดตั้งหลอมรวม ทำให้อาชีวะเสียบริบทที่มีวัตถุประสงค์ของสำนักงานกลางอาชีวศึกษาที่ผลิตกำลังคนสมรรถนะสูง  เพื่อตอบโจทย์การต้องการแรงงานให้กับประเทศหลังได้หนังสือเมื่อวันที่ 25 ที่ผ่านมา  ก็รู้สึกตกใจหลังทางคณะกรรมการที่จะจัดตั้ง  ใช้คำว่าหลอมรวมแล้วเอาโมเดลของของมหาวิทยาลัย  ซึ่งขออนุญาตเอยถึงคือ  มหาลัยนราธิวาส   เป็นโมเดลในการขับเคลื่อนและที่มาของการหลอมรวม  ทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย  คณะกรรมการที่ส่งต่อให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยสำนักงานที่ดูแลในพื้นที่  คือ  ศอบต.  ทำให้เกิดคำถามเพราะเราไม่สามารถตัดสินใจคนเดียวได้และเราก็ไม่ใช่นิติบุคคล 

         ขั้นตอนแรกของเราทำคือการคุยกับกรรมการสถานศึกษา กรรมการศึกษาไม่เห็นด้วยในการหลอมรวมแต่  เห็นชอบที่จะมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในจังหวัดสตูล   เราไม่ได้ขัดแย้ง  หลังจากนั้นได้ขอมติเพื่อที่จะไปทำกับผู้บริหาร  ครู  บุคลากร  ที่มีผลกระทบเนื่องจาก  ม.นรา มีคนที่ไม่ประสงค์อยู่ต่อเกินกว่าร้อยละ 80 ที่จะต้องเดินออกจากบ้านหลังนี้  และหาสถานที่ใหม่  จำเป็นจะต้องให้พวกเขารู้ เมื่อมีมติเห็นชอบ  ขอมติของครูและบุคลากรทางการศึกษาทั้งหมดที่ไม่เห็นด้วยในการหลอมรวม

         ชี้แจงให้พวกเขาได้รับทราบผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเขา  และคนรุ่นๆต่อไปว่า   ถ้าหลอมรวมแล้วจะไม่มีความเป็นตัวตนของอาชีวะ  ตามบริบทของการจัดตั้งอยู่เลย  และจะมีผลกระทบหากเปรียบเทียบข้อมูลจาก  ม.นราธิวาส  ปวช.อาจจะต้องจ่ายเงินจากที่วิทยาลัยเทคนิคเก็บอยู่ไม่เกิน 800 บาท หากเป็นมหาวิทยาลัย  2,000 เปรียบเทียบกับ  ม.นราธิวาส  ผู้ปกครองเดือดร้อนแน่นอน   ส่วน ปวส.วิทยาลัยเทคนิคเก็บ อยู่ที่ประมาณ 2000  ถึง  2040 เทียบเคียงกับ ม.นราธิวาส  ขั้นต่ำ 6,000 บาท 

       หากถามว่า วิทยาลัยเทคนิคมีความพร้อมในการเปิดปริญญาตรีหรือไม่  เรามีความพร้อมอยู่แล้ว 2 สาขา  คือ   เทคโนโลยียานยนต์ และ  ภาควิชาการตลาด มีเด็กเรียนและจบมาแล้วไม่น้อยกว่า 7 รุ่น 

         ผอ.วิทยาลัยเทคนิคสตูล  กล่าวต่อว่า  จากบริบทของอาชีวะเห็นได้จากตัวผม   ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เมื่อก่อนก็ไม่มีรายได้   ทำงานและก็เรียนไปด้วย   โดยตลอดมาตั้งแต่ปวช.   ปวส.  จนถึงระดับเทียบเท่าปริญญาตรีผมเรียนที่อาชีวะมาตลอด   อาชีวะเป็นช่องทางที่ตอบโจทย์ผู้ปกครองในกลุ่มที่มีรายได้น้อย ถึงปานกลาง  ที่หาเช้ากินค่ำ  ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย 

          พร้อมจะสอบถามกลับไปว่า  หากมองเห็นศักยภาพของสถานศึกษาแห่งนี้ว่ามีคุณภาพ ก็อยากให้เติมงบประมาณมาที่นี่ แล้วเราจะทำให้ดูว่ามันมีคุณภาพอย่างไร  เพราะจาก 400 แห่งอาชีวะ  วิทยาลัยเทคนิคสตูลสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศมาแล้ว  แม้เด็กเราไม่มีตัวเลือกมากแต่ก็สามารถคว้าการแข่งขันทักษะชนะเลิศมาแล้วหลายรายการ…ผอ.วิทยาลัยเทคนิค  กล่าวทิ้งท้าย 

         วันนี้เกิดคำถามมากมาย  ถึงอาชีวศึกษาทั้ง 3 วิทยาลัยไม่มีศักยภาพพอ  ที่จะพัฒนาฝีมือให้ผู้เรียนมีความรู้ ความสามารถในการประกอบอาชีพเท่ามหาวิทยาลัยได้ หรือ จังหวัดสตูล พัฒนาได้โดยไม่ต้องสูญเสียความเป็นตัวตนของการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาที่จัดให้คนทุกช่วงวัย

……………………………….

Categories
เยาวชน-การศึกษา

อาชีวสตูลฝึกอาชีพระยะสั้น  ทำขนมเบเกอร์รี่ งานศิลปะบนผืนผ้า และซ่อมวิลแชร์  ผู้พิการและผู้ดูแล 

อาชีวสตูลฝึกอาชีพระยะสั้น  ทำขนมเบเกอร์รี่ งานศิลปะบนผืนผ้า และซ่อมวิลแชร์  ผู้พิการและผู้ดูแล 

          วันที่ 23 ส.ค. 66  ที่ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสตูล  ได้เปิดหลักสูตรระยะสั้นในการฝึกอาชีพให้กับผู้มีความพิการและผู้ปกครองของน้องผู้พิการ   ในการฝึกทักษะงานศิลปะบนผืนผ้าให้เกิดความสวยงาม นอกจากจะสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับน้องๆ แล้ว ทุกคนยังสนุกสนานกับกิจกรรม  โดยทักษะงานศิลปะบนผืนผ้านี้นอกจากจะให้น้องผู้มีความพิการจะได้ใช้ความสามารถตามจินตนาการแต่งแต้มสีสันแล้ว  ผู้ปกครองยังสามารถช่วยในการต่อยอดงานศิลปะผ่านการตัดเย็บ เป็นกระเป๋า  หมวก  หมอน ผ้าเช็ดหน้าในการสร้างงาน สร้างรายได้ตามความชื่นชอบและถนัดได้

           นอกจากนี้การฝึกทักษะการทำขนมเบเกอร์รี่แบบง่ายหลากหลายสีสัน  ยังช่วยเพิ่มน่าสนใจให้กับผู้เรียน และผู้ปกครองได้ทำเป็นงานเสริมรายได้ให้กับครัวเรือนหรือสามารถทำไว้ทานเองที่บ้านได้ด้วย  รวมทั้งการฝึกทักษะการบำรุงรักษาวิลแชร์ให้กับผู้ปกครองน้องหรือคนในครอบครัวที่พิการ  เพื่อลดรายจ่าย   โดยการฝึกทั้ง 3  ทักษะจะแบ่งเป็นกลุ่มตามความสนใจ จากผู้พิการและผู้ปกครองที่เข้าร่วมจำนวน 38 คน

          ศูนย์ส่งเสริมการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาจังหวัดสตูล (วิทยาลัยเทคนิคสตูล)โดยนายวิเชียร   บุญเตี่ยว   ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสตูล  นางปฏิมา  จ่าพันธ์  รองผู้อำนวยการรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสตูล   ได้เปิดโครงการพัฒนาอาชีพระยะสั้นและมอบสื่อสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เรียนพิการและประชาชนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ  ประจำปีการศึกษา 2566 เพื่อให้ผู้เรียนประชาชนผู้พิการและผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษในจังหวัดสตูล  สามารถปฏิบัติวิชาชีพระยะสั้นตามหลักสูตรที่เรียนและสามารถนำทักษะความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพหรือเข้าสู่การมีงานทำในอนาคต

………………………

Categories
เยาวชน-การศึกษา

ห้องเรียนธรรมชาติ  คุณปู่สอนหลานวัย 6 ขวบ  ขับเรือหางยาวในทะเลกว้าง   อนาตอยากเป็นไกด์ท่องเที่ยวศรชล.ภาค 3  จัดทริปเอาใจเยาวชนกระตุ้น  รักษ์ทะเลบ้านเรา  เส้นทางจากภูผาสู่ทะเล

ห้องเรียนธรรมชาติ  คุณปู่สอนหลานวัย 6 ขวบ  ขับเรือหางยาวในทะเลกว้าง   อนาตอยากเป็นไกด์ท่องเที่ยว

        ทุกครั้งที่โรงเรียนอนุบาลบ้านบ่อเจ็ดลูก   หยุดการเรียนการสอน   น้องนราวิทย์   ไทรบุรี  หนูน้อยวัย 6 ขวบ    ต.ปากน้ำ อำเภอละงู  จังหวัดสตูล   และน้องณัทกฤษ  หลงสมัน วัย  5 ขวบ  สองพี่น้องจะรบเร้าให้ปู่  หรือ นายยูหนา  หลงสมัน  อายุ  53  ปี  (ซึ่งเป็นประธานท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านบ่อเจ็ดลูก)  นำไปขับเรือเล่น   และไปท่องเที่ยวในท้องทะเลกว้างริมชายหาดทะเลหน้าบ้านของพวกตน 

       โดยการนำเรือหางยาวออกไปทุกครั้งน้องนราวิทย์  หนูน้อยวัย 6 ขวบ  จะขอขับเรือเอง โดยมีปู่ยูหนา  คอยเป็นพี่เลี้ยงอยู่ข้าง ๆ ด้วยท่าทางและความชำนิชำนาญเริ่มส่อแวว  เนื่องจากมีการขับเรือแล้วหลายต่อหลายครั้ง สร้างความสนุกสนาน   และตื่นเต้นให้กับหนูน้อยได้ไม่น้อย

       ปู่ของหนูน้อยทั้งสอง  บอกว่า  เมื่อเด็ก ๆเห็นเราขับเรือและทำอะไรเขาก็อยากเรียนรู้และทดลองทำบ้าง  ซึ่งมองว่าก็เป็นเรื่องที่ดีที่เด็กๆ จะได้เรียนรู้การอยู่กับท้องทะเลกว้าง   นับเป็นอีกหนึ่งห้องเรียนที่ผู้ปกครองจะได้ถือโอกาสนี้ในการบอกเล่า และให้พวกเขาได้ซึมซับความสวยงามของท้องทะเล  และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรที่เป็นเครื่องมือ  ในการหล่อเลี้ยงครอบครัวของพวกเรา  รวมทั้งการเรียนรู้การอยู่ร่วมกันของคนกับธรรมชาติท้องทะเล  

 

       น้องนราวิทย์  หนูน้อยวัย 6 ขวบ   บอกว่า ปู่สอนให้วิดน้ำในเรือ  สอนให้จับปู สอนให้รู้จักเขา  เกาะแก่งต่างๆ  สอนปลูกป่าโกงกาง  และสอนให้ขับเรือซึ่งชอบมากและสนุกดี  ขับก็ไม่ยาก  โดยน้องบอกว่า หากจะเลี้ยงซ้ายให้โยกหางเสือเรือไปทางขวา  หากจะเลี้ยวขวาให้โยกไปทางซ้าย  โตขึ้นก็อยากเดินตามรอยปู่ที่เป็นไกด์และทำท่องเที่ยวชุมชนอยู่ในบ้านของตัวเอง

       นายยูหนา  หลงสมัน  อายุ  53  ปี  (ประธานท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านบ่อเจ็ดลูก)  บอกว่า  หลาน ๆ คือเมล็ดพันธุ์ของลูกเล  และเป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะบอกกล่าวให้พวกเขาได้เรียนรู้  รู้คุณค่าวิถีของตัวเองตามวัย  ที่จะนำไปต่อยอดได้ในอนาคตในการดำรงชีวิต   พร้อมสร้างความสนุกสนาน  สอนให้รู้จักร่องน้ำทะเล การดูสภาพอากาศเพราะเราคือลูกทะเล  สอนการเรียนรู้การเก็บฝักไม้ป่าโกงกางปลูก  และการใช้เรือซึ่งพาหนะในการเดินทางตามวัยที่เขาจะเรียนรู้ได้  ดีกว่าปล่อยให้ลูกอยู่กับโทรศัพท์เพียงอย่างเดียว

…………………………