Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล-ชาวสตูลแห่สั่งแกงไตปลาเพื่อประกาศศักดา   เมนูยอดเยี่ยม  แนะวิธีทานไม่ใช่ซุป แม่ค้าลั่นกระแสตีกลับรับออเดอร์กันรัวๆ

สตูล-ชาวสตูลแห่สั่งแกงไตปลาเพื่อประกาศศักดา   เมนูยอดเยี่ยม  แนะวิธีทานไม่ใช่ซุป แม่ค้าลั่นกระแสตีกลับรับออเดอร์กันรัวๆ

 

        วันที่ 4 เมษายน 67  หลังต่างชาติได้จัดอันดับให้เมนูพื้นถิ่นปักษ์ใต้อย่างแกงไตปลาเป็นเมนูยอดแย่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก   ได้มีกระแสตีกลับส่งผลให้ order  หลายร้านสั่งกันรัวๆ  เพิ่มยอดขายให้กับหลายร้านค้าในพื้นที่จังหวัดสตูล 

        อย่างเช่นที่ร้านอาหารน้องเบียร์  (ตรงข้ามศาลากลางจังหวัดสตูล) ตำบลพิมาน  อำเภอเมืองสตูล  ร้านอาหารเก่าแก่ ที่เปิดมานานกว่า 35 ปี ที่ขึ้นชื่อเกี่ยวกับอาหารพื้นถิ่นปักษ์ใต้โดยเฉพาะเมนูแกงไตปลา  มียอดสั่งรัวๆ จากลูกค้าเข้าเช้าเดียวถึง  40 ชุด  โดยสั่งเป็นกับข้าว  บ้างสั่งเป็นอาหารชุดทานกับหมูฮ้อง(เมนูพื้นที่)    บ้างก็สั่งทานกับขนมจีน  ทำให้เมนูที่ต่างชาติบอกว่าเป็นเมนูยอดแย่  แต่ในภาคใต้  กับเป็นเมนูยอดเยี่ยม และทำเงินสร้างงานให้กับหลายร้านค้า

 

        นางอุไรวรรณ  ธชพันธ์   แม่ครัวมือหนึ่งของร้านอาหารน้องเบียร์ บอกว่า  สูตรความอร่อยของแกงไตปลา  อยู่ที่เครื่องแกงและไตปลาที่ใช้ของแต่ละครัว  เหมือนอย่างที่ร้านจะใช้ไตปลาจรวด และเครื่องแกงที่ทำเองแบบสดวันต่อวัน  นอกจากนี้ส่วนผสม  เหมือนอย่างที่ร้าน  จะใส่หน่อไม้  มะเขือพวง กุ้งสดสับเพิ่มความเข้มข้นของน้ำแกงไตปลา   เนื้อปลาหางแข็งที่ผ่านการย่างให้แห้งแกะเป็นชิ้นใหญ่ๆ   แล้วนำส่วนผสมทุกอย่าง  ใส่ลงไปทันทีที่เครื่องแกงไตปลาเดือด  โดยไม่ต้องปรุงอะไรเพิ่มเติม  เพราะแกงไตปลามีความเค็ม  มีความหวานของปลา   กุ้งสับ  และความหวานของผักที่ใส่อยู่ในตัวอยู่แล้ว 

       

        ด้านนางอจรี   ธชพันธ์   เจ้าของร้านบอกว่า   หลังการจัดอันดับให้เมนูแกงไตปลาเป็นเมนูยอดแย่ในเรื่องนี้เห็นว่า   ชาวต่างชาติอาจจะทานแกงไตปลาไม่เป็น   อาจจะทานเหมือนกับทานซุป   ตักซดเพียวๆ   ก็ทำให้รสชาติดูเหมือนแย่ได้   แต่การทานแกงไตปลาของทางภาคใต้จะต้องราดบนข้าวสวยร้อนๆ  หรือทานกับขนมจีน  หรือจะต้องมีเครื่องเคียงอย่างหมูฮ้อง  ก็ใช้ความหวานตัดรสชาติก็จะยิ่งเพิ่มความอร่อย  หรือจะเป็นไข่ต้ม  นับเป็นอาหารที่ยอดเยี่ยมของคนภาคใต้มากกว่าจะให้เป็นอาหารยอดแย่    

       

         และยิ่งมีการจัดอันดับให้เป็นอาหารยอดแย่ของชาวต่างชาตินั้นยิ่งทำให้มีออเดอร์สั่งอาหารเมนูแกงไตปลาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเหมือนอย่างเช่นวันนี้   มีลูกค้าสั่งเข้ามาทันที เพื่อจะยืนยันว่าเมนูแกงไตปลาเป็นอาหารยอดเยี่ยมอย่างแท้จริง  หากลูกค้าท่านใดสนใจอยากชิมเมนูแกงไตปลาสูตรร้านอาหารน้องเบียร์สามารถต่อได้ที่หมายเลข  074-722-490 

………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล-ร้อนนี้ปลูกอ้อยขายน้ำ   สร้างเงินเดือนแตะแสนบาท  

สตูล-ร้อนนี้ปลูกอ้อยขายน้ำ   สร้างเงินเดือนแตะแสนบาท  

          ในช่วงสภาพอากาศที่ร้อนและแล้งในระยะนี้  ได้ส่งผลให้ไร่อ้อยในพื้นที่หมู่ 4 บ้านลาหงา  ตำบลละงู  อำเภอละงู จังหวัดสตูล  มีรสชาติที่หวานหอมและพร้อมจะบริโภค  สู่ตลาดที่มีความต้องการในระยะนี้เพื่อดื่มคลายร้อน

          นายเจ๊ะหยัน   ลัดเลีย  วัย 74 ปี เปิดเผยว่า  ทำมาแล้วหลายอาชีพ  ทั้งประมงและทัวร์นำเที่ยว  แต่ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต  เมื่อหันมาตั้งหน้าตั้งตาทำไร่อ้อยแม้จะเป็นอาชีพที่ไม่โดดเด่น   แต่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้  โดยตัดสินใจโค่นต้นยางพารา 7 ไร่  เพื่อปลูกอ้อยพันธุ์  สายน้ำผึ้งนานร่วม 12 ปี  ด้วยรสชาติอร่อย  หอม  หวาน  ขายได้ตลอดทั้งปีโดยเฉพาะในเดือนรอมฎอน  ยอดสั่งซื้อจะดีมากหลายเท่าตัว  

         การปลูกอ้อยสำหรับคุณลุงเจ๊ะหยัน  จะปลูกเพียงครั้งเดียวสามารถให้ผลผลิตนานถึง 7 ปี จัดเป็นพืชตระกูลเดียวกับไผ่  เพียงตัดให้เหลือหน่อไว้   การดูแลให้ปุ๋ย  บำรุงดิน  และตกแต่งพันธุ์อ้อยให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์  ตรงตามความต้องการของตลาดผู้บริโภคที่นิยมซื้อเป็นลำเพื่อไปขายต่อ  และสั่งเป็นน้ำอ้อยที่คั้นสำเร็จรูปก็สร้างรายได้อย่างงามให้กับครอบครัวของคุณลุงเจ๊ะหยัน

         วิธีการเลือกต้นอ้อยที่สามารถตัดขายได้ต้องอายุ 8 เดือนขึ้นไป เลือกสีลำอ้อยที่น้ำตาลแก่เข้ม ลูกค้าจะจะมาซื้อเป็นลำวันละ 400-600 กิโลกรัม จำหน่ายกิโลกรัมละ 6 บาท หากทำเป็นน้ำอ้อยคั้นขายวันละ 200 ถุงจำหน่ายถุงละ 7 บาทหากเป็นขวดละ 10 บาท    สำหรับพื้นที่หมู่ 4 บ้านลาหงา  จะปลูกต้นอ้อยไม่น้อยกว่า  200 ไร่ เฉลี่ยเจ้าละประมาณ 3 ไร่ โดยอ้อยที่ปลูกพันธุ์สายน้ำผึ้งจะมีเปลือกที่บาง ลูกค้าจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็มาหาซื้ออ้อยจากที่นี่

          นายเจ๊ะหยัน   ลัดเลีย  วัย 74 ปี  บอกด้วยว่า   โดยอ้อยพันธุ์นี้มีรสชาติหวานหอม  ก่อนหน้านี้เคยปลูกพันธุ์สิงคโปร์ช่วงหลังๆไม่ได้รับความนิยม  การปลูกอ้อยอยู่ที่การดูแลบางคนปลูก 1 ปีหรือ 2 ปีก็ผ่านพ้นไม่ได้ตกแต่งดูแล สำหรับของป๊ะดูแลพันธุ์อ้อยเพียงครั้งเดียวสามารถอยู่ได้ 6-7 ปี สร้างรายได้ปีละแสนบาท  อนาคตอยากจะกระตุ้นให้ลูกหลานเดินตามรอยแปรรูปและส่งเสริมการปลูกอ้อยเป็นสินค้า OTOP จากอ้อยให้นักท่องเที่ยวเข้ามาหมู่บ้านเรา  หากสนใจติดต่อมาช่องทางเบอร์โทร 082-4283950

 

         นายวิทวัส เกษา  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 บ้านลาหงา  บอกว่า  ก่อนหน้านี้จะมีการปลูกปาล์มน้ำมัน ในช่วงนั้นต้นปาล์มยังเล็กอยู่ก็มีการนำอ้อยมาปลูกเสริม  ในช่วงแรกๆก็จะเป็นการเร่ขายภายในหมู่บ้าน  หลังจากนั้นก็มีเพื่อนบ้านต่างจังหวัดเข้ามาซื้อ  วันละหลายตัน  ในขณะนั้นก็จะมีเพียง 5-6 เจ้าเท่านั้น แล้วปัจจุบันก็มีหลายร้อยไร่  ตอนนี้ 10 กว่าเจ้าภายในหมู่บ้านขายตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำขายน้ำอ้อย 

 

          นางสาวมนัสนันท์   นุ่นแก้ว  เกษตรอำเภอละงู  บอกว่า  จากลงพื้นที่ทางสำนักงานเกษตรอำเภอละงูจะเข้ามาช่วยผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย  สำหรับพื้นที่ตรงนี้  หมู่ที่ 4 บ้านลาหงา  มีการปลูกอ้อยร้อยกว่าไร่ กับเกษตรกร 20 กว่าราย  จะผลักดันให้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อจดวิสาหกิจชุมชนโดยทางเกษตรอำเภอละงู  จะเข้ามาส่งเสริมในเรื่องของการบริหารจัดการกลุ่ม  การแปรรูป  เท่าที่ดูกลุ่มนี้ก็มีการแปรรูปเบื้องต้น ทั้งแปรรูปเป็นน้ำอ้อย และน้ำตาลอ้อย อาจจะมีการต่อยอดให้มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น

………………………………..

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล สืบทอดขนมโบราณ “ลอเป๊ะ” จากรุ่นคุณยายขายดีช่วงรอมฎอน เด็กรุ่นใหม่ชื่นชอบ

สตูล สืบทอดขนมโบราณ “ลอเป๊ะ” จากรุ่นคุณยายขายดีช่วงรอมฎอน เด็กรุ่นใหม่ชื่นชอบ

          ขนมโบราณพื้นบ้านอย่าง  ขนมลอเป๊ะ  ขนมตาล และหม้อแกงต่างๆ  ต้องปรับราคาขึ้น  เนื่องจากราคาวัตถุดิบหลักอย่างน้ำตาล ไข่ และข้าวเหนียว พุ่งสูงขึ้น  ทำให้ร้านค้าต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

          แม้วัตถุดิบหลายอย่างปรับราคาขึ้น  แต่ทางร้านในพื้นที่จังหวัดสตูลยังคงทำขนมพื้นบ้าน  ขายในห้วงเดือนรอมฎอน  หรือเดือนถือศีลอดของชาวไทยอิสลาม  อย่างขนมลอเป๊ะ  หรือ ขนมลูเป๊ะ  ที่ใช้ข้าวเหนียวเป็นวัตถุดิบหลัก คลุกกับมะพร้าวทึนทึกไปทางอ่อน  ทานกับน้ำตาลอ้อย   รสชาติอร่อย  เป็นหนึ่งเมนูขนมที่ขายดี  และเป็นขนมที่หลายคนคิดถึง   

          นางมาเรีย นาคบรรพต อายุ 30 ปี เจ้าของร้าน “กระจิ๊กandหวาชา” กล่าวว่า  ทำขนมไทยพื้นบ้านมาตั้งแต่รุ่นคุณตาคุณยาย   โดยเฉพาะ “ขนมลอเป๊ะ”  ขนมไทยโบราณที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินโดนีเซีย โดยคนไทยที่ไปทำงานที่อินโดนีเซียนำวัฒนธรรมขนม  เข้ามาประยุกต์ให้เข้ากับพื้นที่จังหวัดสตูล  โดยส่วนผสมมีข้าวเหนียว 100%  กวนกับน้ำปูนหรือน้ำด่าง ก่อนนำมาห่อด้วยใบตอง  นำไปต้มประมาณ 45 นาที เมื่อต้มเสร็จพักให้เย็นนำมาตัดเป็นแว่น คลุกกับมะพร้าว  ตัวข้าวเหนียวจะมีรสชาติจืดๆ  ทานด้วยน้ำตาลอ้อยที่นำมาเคี่ยวราดลงไป  ก็จะหวานลงตัวพอดี  เป็นขนมที่ถือว่าโบราณมากๆ  คุณแม่บอกว่าทำตั้งแต่รุ่นโต๊ะ หรือคุณยาย  เป็นขนมที่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้เลย  เมื่อก่อนจะหากินได้เฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น  แต่ตอนนี้ก็มีวางขายตามปกติทั่วไปแล้วในช่วงเช้าของคนจังหวัดสตูลด้วย

            นอกจากขนม ลอเป๊ะ ที่เป็นต้นตำรับแล้วยังมีขนมอื่นๆอีกด้วย  ไม่ว่าจะเป็นหม้อแกงถั่ว  หม้อแกงไข่ และข้าวเหนียวสังขยา  นี่ก็เป็นขนมที่อยู่ในช่วงเทศกาล   ปกติขายกล่องละ 10 บาท  แต่ตอนนี้ต้องปรับขึ้นเป็น 12 บาท   ส่วนราคาส่งจาก 8 บาท  ปรับเป็น 10 บาท   สาเหตุหลักมาจากราคาวัตถุดิบ เช่น น้ำตาลทราย จากเดิมกิโลกรัมละ 21 บาท  ขึ้นเป็น 30 บาท  ไข่ไก่ จากแผงละ 90 กว่าบาท  ขึ้นเป็น 117 บาท  และข้าวเหนียว จากกิโลกรัมละ 25 บาท  ขึ้นเป็น 34-35 บาท  ทำให้รายได้ลดลง จากเดิมขายได้วันละ 4,000 บาท  เหลือเพียง 600-700 บาท 

            ด้านนายอนัญลักษณ์  สุขเสนา  ลูกค้าคนรุ่นใหม่  กล่าวหลังได้ชิมขนมว่า  ขนมลอเป๊ะนี้มีความแน่นของข้าวเหนียว  เมื่อได้กินคู่กับน้ำตาล  และมะพร้าวที่คลุกมากับข้าวเหนียว  จะให้ความรู้สึกว่าเคี่ยวเพลิน  มีความเค็มเล็กๆของมะพร้าว ตัดกับน้ำหวาน  จากใจเด็กรุ่นใหม่ คิดว่าขนมชนิดนี้จะเป็นขนมทานเล่นระหว่างวันได้เลย  และยอมรับว่าเพิ่งเคยทานที่นี่เป็นครั้งแรก  ก็ติดใจ  เคี่ยวเพลิน สามารถทานได้เรื่อยๆ

           ปัจจุบัน  ทางร้านเน้นรับออเดอร์ออนไลน์ และฝากขายที่ร้านลูกชิ้นซอย 17 ต.พิมาน อ.เมือง  จ.สตูล เพียงร้านเดียว   จากเดิมที่เคยฝากขาย 10 ร้าน   เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี   ทำให้บางร้านต้องเลิกขาย    สำหรับลูกค้าที่สนใจ  สามารถติดต่อร้าน “กระจิ๊กandหวาชา”   ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 080-545-5196   Line @0805455196   หรือ Facebook : maria nbpt

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

  สตูล-เร่งประชาสัมพันธ์เชิญชวนชิม แตงโมริมทะเลแหลมสน ที่หวานฉ่ำกรอบ หน้าสวนขายเพียงกก.ละ 10-12 บาท หลังแตงโมหลายพื้นที่ออกมาตีตลาด    

สตูลเร่งประชาสัมพันธ์เชิญชวนชิม แตงโมริมทะเลแหลมสน ที่หวานฉ่ำกรอบ หน้าสวนขายเพียงกก.ละ 10-12 บาท หลังแตงโมหลายพื้นที่ออกมาตีตลาด

          หลังว่างเว้นจากการออกเรือประมงและทำนาข้าว  ชาวบ้านริมชายทะเลหมู่ที่ 3 ตำบลแหลมสน อำเภอละงู จังหวัดสตูล  จะลงมือปลูกแตงโมพันธุ์  เมย์ย่า และ โบอิ้ง  ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมของตลาด  และเหมาะสมกับการปลูกในพื้นที่   เนื่องจากที่นี่มีสภาพเป็นดินทรายน้ำไม่ขัง  มีความเป็นกรดและด่าง  มีแคลเซียมจากเปลือกหอย  จึงทำให้แตงโมแหลมสนมีความหวาน  กรอบอร่อย  และขึ้นชื่อมาอย่างยาวนาน

 

         แตงโมแหลมสน  จะปลูกปีละ 2 ครั้ง บนพื้นที่ 200 ไร่  มีเกษตรกรปลูกมากถึง 60 ราย  โดยภายใน 60 วัน  ที่นี่จะเต็มไปด้วยแตงโม เฉลี่ยผลผลิต 2.5 ตัน/ไร่ สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกร  30,000 บาท/ไร่   จากราคาที่จำหน่ายหน้าสวน 10 – 12 บาท/กิโลกรัม

 

          นายวัชระ  ติ้งโหยบ   อายุ 51 ปี  เกษตรกรหมอดินอาสา  ปลูกแตงโมแหลมสน  บอกว่า  ในช่วงแล้งเกษตรกรจะปลูกในระบบบ่อน้ำตื้น  และระบบน้ำหยดที่ให้ปุ๋ยไปพร้อมกับการปล่อยน้ำ  รดสวนแตงโม  เป็นปุ๋ยเคมีกับปุ๋ยอินทรีย์  ใช้เวลาปลูกเพียง 60 วัน  ก็เก็บผลผลิตได้  ในช่วงแล้งนี้ก็จะประสบปัญหาเรื่องแมลงเพลี้ยไฟ  เพลี้ยอ่อน  ที่เข้ามาดูดน้ำเลี้ยงทำให้ผลไม่โตบ้างเหมือนกัน  อีกทั้งปัญหาแล้งที่ยาวนานไปหน่อย  แต่ก็ยังพอใจ   ราคาพออยู่ได้  แต่ไม่ดีเท่าปีก่อนที่กิโลกรัมละ 15 บาท  แต่ปีนี้เหลือเพียง  10 บาท  อยากให้ภาครัฐช่วยหาแม่ค้ามารับซื้อ  เพราะแตงโมหลายพื้นที่ออกพร้อมกัน  หลายคนหวัง  จะขายในช่วงเดือนถือศีลอด

 

         นางสาวมนัสนันท์ นุ่นแก้ว เกษตรอำเภอละงู พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอละงู ลงพื้นที่ตรวจสอบ   สวนแตงโมของเกษตรกร   ตลาด  และประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จัก  หลังพบว่าปีนี้เกษตรกรประสบปัญหาทางการตลาด  ที่มีการปลูกแตงโมพร้อม ๆ กันในหลายพื้นที่   ทำให้แม่ค้ามารับซื้อลดลง   ในการรับซื้อผลผลิตของเกษตรกร โดยได้ประสานกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ ให้เข้ามารับซื้อผลผลิตเพิ่มขึ้น  หากลูกค้าท่านใดสนใจสามารถกติดต่อสอบถาม  ได้ที่เกษตรอำเภอละงู  หรือติดต่อเกษตรกรโดยตรงที่   สนใจติดต่อ 092-627  3653  พร้อมกันนี้ทางเกษตรอำเภอละงู  จะช่วยส่งเสริมและผลักดันให้เกษตรกรได้รับมาตรฐาน GAP ด้วย

          นอกจากนี้  ที่นี่ยังมีการปลูกแตงไท  และพริกสด อีกหนึ่งแหล่งรายใหญ่ของจังหวัดสตูลด้วย

…………………………………..

 

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 ไส้ไก่ย่างกอและโบราณ  ขายมานาน 10 ปี  ไม้ละ 10 บาท อาหารละศีลอดขายดี  ยอดปัง  วันละ 200-250 ไม้     

ของถูกที่สตูล..เมนูไส้ไก่ย่างกอและโบราณ  ขายมานาน 10 ปี  ไม้ละ 10 บาท อาหารละศีลอดขายดี  ยอดปัง  วันละ 200-250 ไม้

         ตกเย็นในทุก ๆ วัน  ช่วงเดือนถือละศีลอดของพี่น้องชาวไทยมุสลิม  ในพื้นที่ตำบลพิมาน   อำเภอเมือง   จังหวัดสตูล  หนึ่งในเมนูที่หลายคนนึกถึง  ทานง่าย จ่ายคล่อง เมนูประจำถิ่นกำลังฮิตในเวลานี้  คือ เมนูไก่ย่างกอและโบราณ  ที่ขายดี ชนิดแบบย่างแทบไม่ทัน  ไม้ละ 10 บาทเท่านั้น

        โดยร้านนี้เป็นของนางสาวศิริขวัญ    มาสชรัตน์    เจ้าของร้านไก่ย่างกอและสูตรโบราณ    อยู่ในซอยนกบินหลา   ถนนสฤษดิ์ภูมินารถ  ซอย 3    ตำบลพิมาน   อำเภอเมือง   จังหวัดสตูล  ที่นี่มีไก่ย่าง  6 เมนู  ได้แก่  ไก่ย่างนมสด   ไก่ย่างเทอริยากิ   ไก่ย่างพริกไทยดำ  เนื้อโคขุนย่าง  และกำลังได้รับความชื่นชอบ  คือเมนูไส้ไก่กอและย่าง  เป็นการนำไส้ไก่ที่ทำความสะอาดอย่างดีมาคลุกกับผงขมิ้น  หอมอบอวล  ขายดีทุกเมนู  เพียงไม้ละ 10 บาท  และข้าวเหนียวห่อละ 5 บาท  โดยเฉพาะในเดือนรอมฏอน หรือ เดือนถือศีลอดพี่น้องมุสลิม จะขายดีเป็นเท่าตัวจากวันละ 100 ไม้  เพิ่มเป็น 200 ไม้ถึง 250 ไม้

           ที่นี่เป็นการทำธุรกิจในครอบครัว  คุณพ่อมีหน้าที่ย่าง  คุณแม่มีหน้าที่เสียบไม้ ส่วนคุณลูกมีหน้าที่ขาย และไปส่งตามออเดอร์  ซึ่งรับรองได้ว่าที่นี่สูตรน้ำราดอร่อยเป็นพิเศษ  เผ็ดนำเล็กน้อย เด็ก ๆก็ทานได้ โดยสูตรน้ำราด  ทำมาจากถั่วไม่ได้ใส่กะทิ  และผสมกับเครื่องแกงสูตรปัตตานีทำเอง  นอกจากนี้ทางร้านยังมี  หมี่คลุกโบราณ ผัดหมี่เบตง ในราคาชุดละ 40 บาท    เริ่มขาย ตั้งบ่าย 3 โมงเย็น  มีบริการจัดส่งตามบ้าน  โทรสอบถาม  086-966-9398 และ 088-9190-695   หรือทักเฟสส่วนตัว Sirikwan mascharat   หยุดทุกวันเสาร์และอาทิตย์

……………………………………………………………………………………………………………………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 ขนมพื้นเมืองเตาฟืน  100 ปี สืบทอดสู่รุ่นที่ 4 ครองใจนักท่องเที่ยวและชาวสตูล แห่อุดหนุนกันคึกคักจนเพิ่มกำลังผลิต     

ขนมพื้นเมืองเตาฟืน  100 ปี สืบทอดสู่รุ่นที่ 4 ครองใจนักท่องเที่ยวและชาวสตูล แห่อุดหนุนกันคึกคักจนเพิ่มกำลังผลิต

         บรรยากาศการจับจ่ายในช่วงเดือนรอมฎอน หรือเดือนถือศีลอดของพี่น้องชาวไทยมุสลิมทางภาคใต้หลายพื้นที่คึกคัก   อย่างเช่นที่ร้านแห่งนี้  ซึ่งตั้งอยู่เส้นทางมุ่งหน้าไปท่าเทียบเรือปากบารา (สู่เกาะตะรุเตาและเกาะหลีเป๊ะ)  ต.ปากน้ำ  อ.ละงู  จ.สตูล   ตั้งแต่ 9 โมงเช้าของทุกวันเป็นต้นไป  จะมีลูกค้ามายืนรอจับจ่ายกันตั้งแต่เช้าเพื่อซื้อขนมคาวหวานไว้ละศีลอดในช่วงเวลาประมาณ  18.30 น. ซึ่งเป็นอยู่อย่างนี้ทุกวัน  

 

         ร้านก๊ะกร หรือร้านของ  นางทิพากร  บิหลาย อายุ  45 ปีเจ้าของร้านซึ่งเป็นทายาทสืบทอดการทำขนมรุ่นที่ 4 แล้ว ยอมรับว่า ลูกค้าที่มาซื้อเป็นลูกค้าประจำตั้งแต่สมัยรุ่นปู่ย่าตายาย ที่ทำขนมขายมานานถึง 100 ปี  โดยทุก ๆ วันจะทำขนมหวานวันละ 15 ชนิด อาทิ ขนมแบงกัง ขนมหม้อแกงไข่  ขนมหม้อแกงถั่ว  ขนมชั้น  ขนมเมล็ดขนุน ขนมทองหยอด และขนมโกยยาโกยที่ทำจากแป้งข้าวเหนียวน้ำตาลแดงและกะทิ   ขายตั้งแต่ราคา ชิ้นละ 2-3 บาท  ปัจจุบันขายที่ชิ้นละ 5 – 10 บาท (ในเมนูที่ใส่ไข่จะราคาชิ้นละ 10 บาท)

 

         โดยขนมที่ได้รับความนิยมคือ  ขนมแบงกัน  ลักษณะขนมคล้ายขนมหม้อแกง  แต่!ใส่ไข่น้อยกว่า   เพราะมีรสชาติอร่อยถูกปากคนพื้นที่   เพราะมีความมัน และกลมกล่อม เนื่องจากขนมทุกชนิดของที่นี่  ส่วนใหญ่จะใช้เตาไม้ฟืน(ยางพารา)  เพื่อเพิ่มความหอมของขนม  และลดต้นทุนการผลิตทำให้ขายได้ในราคาถูก   ซึ่งปกติทางร้านขาย  ในเวลา 15 นาฬิกาถึง 16 นาฬิกา  ของก็จะหมดเกลี้ยง  แต่ในช่วงนี้ลูกค้าจะมารอซื้อตั้งแต่เช้า  ทำให้ทางร้าน  ต้องทำไป  ขายไปกันแบบสด ๆ 

         นางสาวนาเดีย  ลูกค้า บอกว่า เป็นลูกค้าประจำซื้อมาตั้งแต่เด็ก ๆ ชอบในความสดอร่อย มีขนมหลากหลายให้เลือก รสชาติอร่อยถูกปาก โดยขนมที่ซื้อส่วนใหญ่คือขนมแบงกัง  ขนมลูเป๊ะ

 

          ทายาทรุ่นที่ 4 ขายมานานกว่า 100 ปีตั้งแต่บรรพบุรุษ   บอกว่า  ครอบครัวทำขนมหวานขาย   มายาวนานจากรุ่นสู่รุ่น  ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านและนักท่องเที่ยว  มาซื้อหาก่อนลงเรือไปเที่ยวชมเกาะแก่งในจ.สตูล 

 

           ในแต่ละวันในช่วงนี้  ทางร้านจะทำขนมวันละ 40 ถาด (ซึ่งขนม 1 ชนิดจะทำอย่างละ 4-6 ถาด)  ภายใน 1 ถาดจะได้ 30 ชิ้น  ขายยกถาดละ 200 บาท ส่วนเมนูไส่ไข่อย่างสังขยา หรือหม้อแกง  ขายยกถาดละ 250 บาท  แรงงานที่มาช่วยกันทำขนม  ก็เป็นคนในครอบครัว ญาติและแรงงานในหมู่บ้าน  ท่านได้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่   062 074 9335

……………………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 “ขนมตาหยาบ” ชายแดนใต้ที่สตูล  ไส้หวานฉ่ำสร้างรายได้งามช่วงรอมฎอน     

“ขนมตาหยาบ” ชายแดนใต้ที่สตูล  ไส้หวานฉ่ำสร้างรายได้งามช่วงรอมฎอน

           ที่บ้านเลขที่  83/1 ม.7 ต.ควนสตอ อ.ควนโดน  จ.สตูล  นางฮาหยาด  เกปัน  วัย 66 ปี   กำลังกุลีกุจอทำขนมโบราณ  หรือที่ชาวบ้านในพื้นถิ่นแดนใต้สตูลเรียก  “ขนมตาหยาบ”  มีลักษณะคล้ายขนมสายไหม  และ  ขนมโตเกียว  เพราะด้านนอกห่อด้วยแป้งนุ่มๆ  ที่มีการผสมสีเขียวจากใบเตย   หวานฉ่ำด้วยไส้มะพร้าวทึนทึกไปค่อนข้างอ่อน   ซึ่งเป็นการผสมผสานที่เข้ากันได้อย่างดี

 

        โดยสูตรเริ่มจากน้ำมะพร้าวทึนทึกไปผัดกับน้ำตาลทรายขาว และน้ำตาลทรายแดง   บางรายใส่น้ำมันพร้าวอ่อนลงไปด้วย ใส่เกลือนิดหน่อย   จากนั้นเตรียมแป้งสาลีอเนกประสงค์  เกลือ  ไข่ไก่ และน้ำใบเตยลงไป ผสมให้เข้ากัน   เสร็จแล้วก็ไปเตรียมกระทะตั้งไฟอ่อน  โดยเอาผ้าชุบน้ำมันทาบาง ๆ จากนั้นเทแป้งลงไปและทำให้เป็นแผ่นกลมๆ ก่อนจะนำออกมาใส่ไส้มะพร้าวอ่อนพร้อมกับห่อเป็นแท่ง   เท่านี้ก็เสร็จพร้อมทานกับน้ำชาหรือกาแฟได้เลย

 

          นางฮาหยาด  หรือ  ม๊ะฮาหยาด  บอกว่า  เริ่มทำขนมตาหยาบโบราณมาจากพ่อแม่ที่เปิดร้านขายมาก่อนกว่า 30 ปีที่เรียนรู้ทำขนมขนเป็นที่ติดอกติดใจลูกค้าประจำ และลูกค้าคนรุ่นใหม่ท่าชื่นชอบขนมโบราณทานง่าย แป้งนิ่มหนึบไส้หวานฉ่ำเข้ากันได้ดี  ขนมชนิดนี้ทำให้สามารถเลี้ยงลูกรับราชการ และโตมาได้ถึง 4 คน โดยขายตั้งแต่วันละ 200 บาท ปัจจุบันนี้ในช่วงรอมฏอนวันละ 2,000 บาท ลูก ๆ บอกให้หยุดทำได้แล้วแต่ม๊ะยังชื่นชอบและบอกว่าไหว เพราะลูกค้ายังเรียกร้องทำให้ม๊ะฮาหยาดต้องทำขนมต่อ

 

           สำหรับขนมตาหยาบโบราณ  จะทำขายเป็นกล่องละ 10 บาท (ข้างในมีจำนวน 4 ชิ้น) ในช่วงรอมฏอนนี้จะมีออเดอร์สั่งรัว ๆ เพราะใช้ทานแก้บวช จะหวานฉ่ำชุ่มคอ และทานเป็นอาหารเบรกระหว่างวันได้เป็นอย่างดี ส่วนใครจะนำไปประกอบอาชีพทุนไม่มากนักรายได้ดีหากมีฝีมือ  โดยอุปกรณ์ของม๊ะฮาหยาด  บอกว่า ของใหม่นำมาทำขนมแล้วไม่อร่อย ม๊ะ  ใช้กระทะเหล็กใบเก่าอายุ กว่า 30 ปี ตะหลิว และจวัก แม้จะมีบางส่วนชำรุดแต่ก็ยังปรุงเมนู ขนมตาหยาบได้อร่อยเหาะ จนมีออเดอร์ปังวันละ 200 กล่องเพียง 2 – 3 ชั่วโมงก็ทำเสร็จหมดเกลี้ยง โดยพ่อค้าแม่ค้า  10 เจ้า  มารับที่บ้านเพื่อไปจำหน่าย

         สนใจติดต่อสั่งขนมให้ที่โทร 065 610 4484

…………………………

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 สตูล -แล้งนี้ชาวทุเรียนโอดครวญกับสภาพอากาศที่ร้อนและแล้งจัด   ส่งผลกระทบให้ช่อดอกทุเรียนล่วงหล่น  และเชื่อว่าจะแล้งยาวนานไปจนถึงพ.ค.นี้  ผลผลิตปีนี้พยากรณ์น้อยกว่าทุกปี  แม้เกษตรกรจะมีระบบน้ำ     

สตูล แล้งนี้ชาวทุเรียนโอดครวญกับสภาพอากาศที่ร้อนและแล้งจัด   ส่งผลกระทบให้ช่อดอกทุเรียนล่วงหล่น  และเชื่อว่าจะแล้งยาวนานไปจนถึงพ.ค.นี้  ผลผลิตปีนี้พยากรณ์น้อยกว่าทุกปี  แม้เกษตรกรจะมีระบบน้ำ

          ที่สวนโกฮก  หมู่ 2 เขตเทศบาลตำบลฉลุง  อำเภอเมือง จังหวัดสตูล   เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอเมืองสตูล   ลงพื้นที่เยี่ยมสวนแห่งนี้    ซึ่งมีพื้นที่ 10 ไร่  ได้ปลูกทุเรียน 100 ต้น  หลังพบว่า   ที่สวนแห่งนี้ได้รับผลกระทบจากช่อทุเรียนได้แห้งและล่วงหล่นจำนวนมาก  แม้สวนแห่งนี้   จะเป็นสวนที่มีระบบน้ำเพียงพอ   แต่สภาพอากาศที่ร้อนและแล้งจัด  เชื่อว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะยาวนานไปจนถึงเดือน พ.ค.นี้   ทำให้เกษตรกรแม้จะมีระบบน้ำ   ต้องเพิ่มความถี่ในการรดน้ำที่โคนต้น  เป็นระยะ ๆ  เพื่อหล่อเลี้ยงรักษาระดับความชื้น    

 

          นายพิสุทธิ์  กั้วพานิช  อายุ 46 ปีเจ้าของสวนทุเรียน  กล่าวว่า  ปีนี้ต้องดูแลสวนทุเรียนเป็นพิเศษเพราะเป็นพืชหลักที่ทำรายได้ให้กับทางสวน รองลงมาเป็นมังคุด และเงาะ  สถานการณ์ภัยแล้งขณะนี้ทางสวนกลัวมาที่สุดคือ  ฝน เพราะหากฝนตกหนักในช่วงนี้อาจจะทำให้ผลที่เริ่มติดดอก  ล่วงหล่นเพิ่มได้   แต่ก็ยังมีพืชบางชนิดที่ยังคงต้องการช่วงแล้ง  พร้อมเชื่อว่าปีนี้   ผลผลผลิตจะลดน้อยกว่าทุกปีเหลือร้อยละ   60-70

 

        ขณะที่ทางด้านเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองสตูล  ได้แนะนำให้เกษตรกร  รดน้ำพืชผลเป็นช่วงๆ ก่อนออกดอก  โดยจะให้น้ำในระยะเวลานึง   เมื่อติดดอก…..ผสมเกสร ต้องลดปริมาณน้ำลง   เกษตรกรเองก็ต้องประเมินว่าพื้นที่ของตัวเองมีปริมาณน้ำเพียงพอหรือไม่  สำนักข่าวไทยอสมท.รายงานจากจ.สตูล 

 

          นางสาวศรัณยา สว่างภพ  นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองสตูล กล่าวว่า  สำหรับพืชที่มีความเสี่ยงจะให้ผลผลิตลดน้อยลง   ในช่วงแล้งนี้   ได้แก่   ทุเรียน มังคุด  เงาะ จำปาดะ ลองกอง  ซึ่งต้องมีการพยากรณ์อีกครั้ง   ในช่วงเมษายนว่า   จะมีฝนตกลงมาหรือไม่   สำหรับเกษตรกรรายไหนที่มีระบบน้ำ  สำรอง   ในช่วงนี้ไม่ต้องการให้ฝนตกเพราะในสวนกำลังออกดอกติดผลผลิต    ผิดกับ เกษตรกร   ที่ไม่มีระบบน้ำ   ในช่วงนี้ต้องการเพียง   รักษาต้น   ให้รอดตายจากฤดูแล้งนี้

………………………………

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป

สตูล-พลังภาคีเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง  ประกาศให้ท่าเรือตำบลขอนคลาน เป็นท่าเรือสีขาวแห่งแรกของจังหวัด  แก้ปัญหายาเสพติดด้วยการจัดการกันเอง

สตูล..พลังภาคีเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง  ประกาศให้ท่าเรือตำบลขอนคลาน เป็นท่าเรือสีขาวแห่งแรกของจังหวัด  แก้ปัญหายาเสพติดด้วยการจัดการกันเอง

         ปัญหายาเสพติดยังไม่มีท่าทีว่าจะลดน้อยลง  แม้รัฐบาลได้กำหนดให้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี   นำความปลอดภัยมาสู่พี่น้องประชาชน   ปัจจุบันภายใต้แนวคิด  เปลี่ยนผู้เสพมาเป็นผู้ป่วย   ดังนั้นหากชุมชนมีความเข้มแข็ง   ไม่มีผู้เสพหน้าใหม่   ผู้ค้าและขบวนการยาเสพติดก็จะหมดสิ้นไปในที่สุด   แนวคิดนี้เป็นที่มาของการทำโครงการท่าเรือสีขาว  ของตำรวจภูธรจังหวัดสตูล  ที่กำหนดให้ทุกสถานีต้องประกาศท่าเรือสีขาวให้ได้ก่อนสิ้นปีงบประมาณ  จากจำนวนท่าเรือที่มีมากถึง 100 แห่ง

          ที่ท่าเทียบเรือบ้านราไว   หมู่ที่ 4  ตำบลขอนคลาน  อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล  ที่ชุมชนแห่งนี้ชาวบ้านประกอบอาชีพประมงเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์   รวมทั้งอาชีพต่อเนื่องจากประมง  การทำประมงที่นี่   ใช้เรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก  ทำประมงชายฝั่งเพื่อเลี้ยงชีพ   บวกกับความเข้มแข็งของคนในชุมชน ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น และหลายภาคส่วนราชการ   ให้ความร่วมมือด้วยดีในการเข้ามาแก้ไขปัญหา  ป้องกันยาเสพติดจนเกิดความเข้มแข็ง 

         ทำให้สถานีตำรวจภูธรทุ่งหว้า สามารถประกาศให้ท่าเรือบ้านราไว  ตำบลขอนคลาน  เป็นท่าเรือสีขาวแห่งแรกของจังหวัดสตูลได้สำเร็จ   จากความร่วมมือของทุกฝ่าย  ที่เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันป้องกัน และแก้ไขปัญหา  โดยมีชุมชนเป็นหัวใจหลัก  ในการขับเคลื่อนร่วมกับ ตำรวจ และสาธารณสุข และหลายภาคส่วนที่ร่วมด้วยช่วยกัน

         นายประพันธ์  ขาวดี  กำนันตำบลขอนคลาน  กล่าวว่า  จากการพูดคุยกันหลายเวทีของภาคีเครือข่ายในชุมชน  ร่วมกันแก้ไขปัญหายาเสพติด  โดยเริ่มต้นจากกองทุนแม่ด้วยเงินงบประมาณเบื้องต้น 8,000 บาท เพื่อใช้ในการดูแลช่วยเหลือคนวิกลจริต บำบัดคนในชุมชน  ป้องกันจากปัญหายาเสพติด จึงได้จัดกิจกรรมร่วมกันเพื่อระดมทุน  แคมปิ้งหาดราไว  ซึ่งได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีไว้ทำกิจกรรมในชุมชนในการแก้ไขปัญหายาเสพติด  รวมทั้งชุมชนช่วยกันตรวจสอบให้ข้อมูลเบาะแสในการเฝ้าระวังป้องกันร่วมกับเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาร่วมกันจนเป็นที่มาของการได้ชัยชนะ  โครงการท่าเรือสีขาวแห่งแรกของจังหวัดสตูล

 

            โครงการท่าเรือสีขาว มุ่งเน้นการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเป็นรูปประธรรมแบบยั่งยืนเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยและสงบสุข   ในส่วนของสภ.ทุ่งหว้า   ประชาชนประกอบอาชีพประมงเป็นส่วนใหญ่ดังนั้นการดำเนินโครงการนี้ถือว่ามีความมีประโยชน์อย่างยิ่งและสอดรับกับบริบทของพื้นที่ในการดำเนินการดังกล่าวซึ่งได้รับความร่วมมือจากกำนันตำบลขอนคลาน  พัฒนาชุมชนอำเภอทุ่งหว้า   โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลขอนคลาน  อาสาสมัครสาธารณสุข   ตลอดจนพี่น้องประชาชนที่ประกอบอาชีพประมงและอาชีพที่เกี่ยวเนื่องเป็นอย่างดี  จนทำให้บรรลุผลตามโครงการเป็นอย่างดี

          พลตำรวจตรีจารุต  ศรุตยาพร  ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสตูล  กล่าวว่า  โครงการท่าเรือสีขาว ทุกสถานที่ ที่มีท่าเรือในจังหวัดสตูลต้องจัดทำฐานข้อมูล ตั้งแต่คนขับเรือ คนเรือ ขยายผลไปว่าคนขับเรือบ้านอยู่ที่ไหนและวิถีชีวิตโดยให้ไปดูที่บ้านว่ากินอยู่อย่างไร   เป็นการทำข้อมูลท้องถิ่นเพื่อขยายผล  เช่นเดียวกับที่สถานีทุ่งหว้า ตำบลขอนคลาน  ต้องมีการทำข้อมูลขยายผลไปถึงเรือประมงส่งสัตว์น้ำทะเลไปที่ไหน  ให้กับใคร  ขยายไปถึงการตรวจสารเสพติด  ในร่างกายตลาดแห่งนั้นเพื่อให้เชื่อว่าไม่มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด  นั่นก็แสดงให้เห็นว่าไม่มีผู้เสพในพื้นที่  จึงได้มอบธง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า ที่นี่เป็นพื้นที่สีขาว ปลอดยาเสพติด

         นี่คือเป้าวัตถุประสงค์ของเราคือไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด  เพื่อเป็นการลดผู้เสพ  ซึ่งการทำงานจะทำเพียงหน่วยเดียวไม่ได้ต้องร่วมด้วยช่วยกัน 

         โดยทางตำรวจภูธรจังหวัดสตูล  ได้ตั้งเป้าหมายก่อนสิ้นปีงบประมาณนี้ทุกท่าเรือต้องประกาศเป็นท่าเรือสีขาวให้ได้   แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย  ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือกัน 

………………………..

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป ท้องถิ่น-การเมือง

ขยะแลกบุญ ลดรายจ่ายปีละ 2 แสนบาท

ขยะแลกบุญ ลดรายจ่ายปีละ 2 แสนบาท

         ชาวบ้านจิตอาสาทั้งชายหญิงในหมู่บ้านที่ 12  บ้านเขาน้อยใต้  ตำบลฉลุง  อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ต่างพร้อมใจกันมาช่วยคัดแยกขยะ  ออกเป็นแต่ละประเภท   เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการต่อ  ซึ่งขยะทั้งหมดนี้เป็นขยะที่มาจาก  จุดรับบริจาคขยะแลกบุญ  ทันทีที่จุดรับขยะเต็มจะมีการนำมาคัดแยกในทันที

 

          นายสาและ  ตำบัน  ประธานกลุ่มขยะแลกบุญ กล่าวว่า แนวคิดของคนในหมู่บ้านที่เห็นตรงกันคือ   อยากให้หมู่บ้านสะอาด มีการจัดเก็บขยะเป็นที่เป็นทาง ใช้ประโยชย์จากขยะให้สูงสุด   และจัดหารายได้จากขยะเพื่อมาเป็นส่วนหนึ่งของการทำบุญ  ช่วยเด็กกำพร้าในหมู่บ้าน  โดยทำบุญผ่านมัสยิดในหมู่บ้านชุมชนของตนเอง 

 

          นายอดุลย์  โย๊ะหมาด  คอเต็บมัสยิดดารุสลาม กล่าวว่า  โครงการขยะแลกบุญมีการกำหนดไว้  ในการรับบริจาคขยะแลกบุญด้วยกัน  2 จุดคือ   ที่มัสยิด และ จุดที่สองที่ บาลาย  เงินที่ได้มาจะนำไปช่วยเหลือผู้ยากไร้และมาทำกิจกรรมด้านศาสนาของมัสยิด  ช่วยเหลือเด็กกำพร้า   โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และยังช่วยแก้ปัญหาขยะได้ด้วย  ทางมัสยิดเองก็จะช่วยประชาสัมพันธ์บอกให้กับทุกคนที่มาร่วมกิจกรรมทางศาสนา  ได้รับรู้ข้อดีของโครงการขยะแลกบุญ  แทนที่จะนำขยะไปทิ้งหรือเผาทำลาย  ก็นำมายังจุดรับบริจาคเพื่อแลกบุญ 

         นายทรงพล  สารบัญ  ผอ.กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม อบต.ฉลุง  กล่าวว่า  สถานการณ์ขยะในชุมชนตำบลฉลุงในปี 2566 มีขยะทั้งปี 1410 ตัน เนื่องจากตำบลฉลุงมี 14 หมู่บ้าน 3,300 ครัวเรือน ทำให้ต้องใช้งบประมาณเยอะในการจัดการขยะนำขยะไปทิ้ง จำนวน 770,000 บาทต่อปี  หากรวมค่าจ้างบริหารจัดการเกือบ 2 ล้านบาทต่อปี

          นายก อบต.ฉลุง จึงเกิดแนวทางการลดปัญหาขยะ  เริ่มแรกจากการทำประชาคมเพื่อปลอดถังขยะ  จากนั้นก็เริ่มสร้างแกนนำชุมชนประชาชนเข้ามาช่วย  โดยใช้ชื่อว่า  “อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก” อถล. ในทุกหมู่บ้าน  เพื่อให้ความรู้ในเรื่องของการคัดแยกขยะในครัวเรือน  การจัดการขยะเพื่อลดปัญหาขยะในตำบล  จากนั้นก็พาไปศึกษาดูงาน  เมื่อได้องค์ความรู้แล้ว  ได้ส่งเสริมให้เกิดการสร้างกลุ่ม  จึงเป็นที่มาของกลุ่มขยะแลกบุญในปัจจุบัน

 

          จุดเริ่มต้นจากแกนนำ อถล.  10 คน โดยมีกำนัน  ผู้ใหญ่บ้านและผู้นำศาสนา  หลังจากทำโครงการสามารถคัดแยกได้จำนวน 3 ครั้ง ผ่านโครงการขยะแลกบุญ   เน้นในเรื่องของการประชาสัมพันธ์เป็นหลัก  จากครั้งที่ 1 มาสู่ครั้งที่ 2 จะเห็นได้ว่าการรับบริจาคขยะเยอะมากขึ้น  ชุมชนชาวบ้านมาร่วมมากขึ้น  ครั้งที่ 3 ขยะเยอะขึ้นกว่าเดิมเยอะ  ชาวบ้านเยาวชนผู้สูงอายุภาคประชาชน  มาร่วมกิจกรรมคัดแยกตั้งแต่เช้า  ถือว่าเป็นการประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง  ในมิติการประชาสัมพันธ์และการลดขยะ  

 

          ที่สำคัญการทำเรื่องขยะมาบวกกับเรื่องบุญ  จะยิ่งทำให้ชุมชนให้ความสำคัญอย่างมาก  เพราะหวังจะได้บุญไม่ได้มีผลประโยชน์อย่างอื่น   ไม่ว่าจะนำเงินรายได้ไปช่วยผู้ยากไร้  แนะนำไปทำนุบำรุงศาสนา  ผู้พิการและให้ทุนเด็กต่างๆ    ทำให้ปี 2567  พบว่าขยะจาก 1,410 ตัน เหลือ1,369 ตัน  ลดไป  312 กิโล   หากคิดเป็นเงินงบประมาณเกือบ 2 แสนบาท  และเตรียมขยายจากหมู่บ้านนำร่องไปยังหมู่บ้านอื่น ๆ เข้ามาดู   และปีจะจัดการขยายไปทีละหมู่บ้านเพื่อให้ครบทุก 14 หมู่บ้านในตำบลฉลุง  

……………………………………..

อัพเดทล่าสุด