Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 สตูล  เกษตรกรหัวใจนักสู้! เปลี่ยนทลายปาล์มเหลือใช้ สู่เห็ดฟางคุณภาพ  ส่งขายตลาด-โรงพยาบาล สร้างรายได้มั่นคง พร้อมต่อยอดแปรรูปครบวงจร

สตูล  เกษตรกรหัวใจนักสู้! เปลี่ยนทลายปาล์มเหลือใช้ สู่เห็ดฟางคุณภาพ  ส่งขายตลาด-โรงพยาบาล สร้างรายได้มั่นคง พร้อมต่อยอดแปรรูปครบวงจร

สตูล – จากสวนยางว่างเปล่า สู่ฟาร์มเห็ดฟางรายได้ดี “สุริยา อาดำ” หนุ่มวัย 38 ปี ชาวบ้านลูโบ๊ะบาตู หมู่ 1 ตำบลบ้านควน อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ไม่ยอมจำนนต่อเศรษฐกิจที่ผันผวน ต่อยอดจากอาชีพหลักอย่างการกรีดยาง ด้วยการนำ “ทลายปาล์มเหลือใช้” มาแปรรูปเป็นแหล่งเพาะเห็ดฟาง สร้างรายได้เสริมมั่นคงให้กับครอบครัวตลอดทั้งปี

แรงบันดาลใจของเขาเริ่มจาก “การไม่อยู่นิ่ง” เปิดรับความรู้จากทุกช่องทาง ทั้งยูทูป เฟซบุ๊ก และที่สำคัญคือการลงพื้นที่เรียนรู้จริงกับสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองสตูล จนสามารถพลิกสวนผสมและสวนยางที่เคยรกร้าง มาเป็นฟาร์มเพาะเห็ดระบบปิดถึง 5 โรงเรือน สร้างรายได้อย่างยั่งยืน

เคล็ดลับอยู่ที่ “ทลายปาล์ม” เศษเหลือจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มที่คนทั่วไปมองข้าม แต่สำหรับสุริยา นี่คือขุมทรัพย์ทางการเกษตร เขานำทลายปาล์มผ่านกระบวนการหมักด้วย EM และปูนขาว  จนเกิดความร้อน-กลิ่นหอม พร้อมเป็นวัสดุเพาะเห็ดคุณภาพดี แล้วจึงนำเข้าฟาร์มระบบปิด ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นอย่างมีประสิทธิภาพ

“เริ่มจาก 0 ไม่ได้เรียนจบเกษตร แต่ใจมันสู้ และผมเชื่อในพลังของการเรียนรู้” สุริยาเล่าด้วยรอยยิ้ม เขายังเปิดเผยว่า   ตอนนี้เริ่มเข้าสู่ปีที่ 5 ของการเพาะเห็ด และยื่นขอการรับรองมาตรฐาน GAP มาแล้ว 4 ปี เพื่อยืนยันคุณภาพเห็ดฟางให้เป็นที่ยอมรับของตลาด

เห็ดฟางของสุริยา ขายดีทั้งในตลาดสด โรงพยาบาล และห้างสรรพสินค้าในสตูล ราคากิโลกรัมละ 80 บาท วันละไม่ต่ำกว่า 10-30 กิโลกรัม และมีแผนจะขยายโรงเรือนเพิ่มในอนาคต

ด้าน นายวรนิตย์ นิลวัตร นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร จากสำนักงานเกษตรอำเภอเมืองสตูล กล่าวชื่นชมว่า “สุริยาเป็นตัวอย่างของเกษตรกรยุคใหม่ที่ไม่หยุดพัฒนาตนเอง และเปิดรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทางเกษตรฯ จึงเข้ามาสนับสนุนในด้านการป้องกันโรคในเห็ด และร่วมส่งเสริมการแปรรูปเห็ด เช่น เห็ดย่างซอสหม่าล่า เพิ่มมูลค่าและช่องทางตลาดที่ทันสมัย”

อนาคตของสุริยาไม่หยุดแค่เห็ดสด เขากำลังวางแผนต่อยอดด้วยการทำ “เห็ดฟางกระป๋อง” และขยายฟาร์มให้ได้ผลผลิตมากขึ้น โดยย้ำว่า “เกษตรไทยไปได้ไกล ถ้าเราไม่หยุดเรียนรู้” สนใจโทร. 089-4635075

 

แรงบันดาลใจจากสวนเล็กๆ ที่สตูลวันนี้ อาจกลายเป็นโมเดลเกษตรสร้างรายได้ของคนทั้งประเทศในวันหน้า

………………………………………

 สตูล  เกษตรกรหัวใจนักสู้! เปลี่ยนทลายปาล์มเหลือใช้ สู่เห็ดฟางคุณภาพ  ส่งขายตลาด-โรงพยาบาล สร้างรายได้มั่นคง พร้อมต่อยอดแปรรูปครบวงจร

สตูล  เกษตรกรหัวใจนักสู้! เปลี่ยนทลายปาล์มเหลือใช้ สู่เห็ดฟางคุณภาพ  ส่งขายตลาด-โรงพยาบาล

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 อาหารโบราณราคาหลัก10 “ปัสมอส”  สลัดแขกสูตรโบราณ ขายดีสวนกระแสเศรษฐกิจฝืด

อาหารโบราณราคาหลัก10 “ปัสมอส”  สลัดแขกสูตรโบราณ ขายดีสวนกระแสเศรษฐกิจฝืด

สตูล – แม่ค้าชาวบ้านเกตรี สืบสานสูตรอาหารโบราณ “ปัสมอส” หรือสลัดแขก รสชาติดั้งเดิมที่เด็กทานง่าย ผู้ใหญ่ทานดี ขายในราคาเพียงถุงละ 10 บาท หวังให้คนในชุมชนได้อิ่มท้อง   โดยไม่ลำบากกระเป๋าสตางค์ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง

 

นางสาวยามิตา หมาดมานัง อายุ 42 ปี ชาวบ้านเกตรี อำเภอเมืองสตูล เปิดเผยว่า ตนทำปัสมอสขายมาตั้งแต่วัยเด็ก เพราะเคยช่วยน้าขายตามตลาด จนซึมซับสูตรโบราณติดตัวมานานหลายสิบปี

 

 “หัวใจสำคัญของปัสมอสคือน้ำราด ต้องใช้ถั่วลิสงคั่วตำใหม่ๆ  เคี่ยวไม่ให้นาน  เพราะจะแตกเป็นน้ำกะทิ ต้องมีรสหอมมัน เค็มหวานกลมกล่อม” นางสาวยามิตากล่าว

 

ปัสมอสสูตรดั้งเดิมของร้าน ประกอบด้วย หมี่ลวกหรือหมี่เหลือง แตงกวาซอย กุ้งผสมแป้งทอดกรอบ และไข่ต้มแบ่งสี่ส่วน ราดน้ำถั่วเข้มข้น ใส่ถุงละ 10 บาทเท่านั้น โดยมีลูกค้านำไปเติมพริก มะนาว หรือเนื้อไก่ตามชอบ

 

 “สมัยก่อนขายถุงละ 5 บาท พอของแพงขึ้นก็ขยับเป็น 10 บาท แต่ยังขายในราคานี้ เพราะอยากให้ครอบครัวใหญ่ที่มีลูกหลายคนได้ทานอิ่มทุกคน วันดีๆ เคยขายได้วันละ 150–200 ถุง บางวันตลาดเงียบก็ยังต้องสู้ต่อไป” แม่ค้ากล่าว

 

นอกจากนี้ หากลูกค้าต้องการจัดชุดใหญ่เพิ่มไก่ทอดหรือกุ้งทอด ทางร้านก็สามารถทำได้ในราคาชุดละ 30 บาท แต่ต้องโทรสั่งล่วงหน้า

แม่ค้ารายหนึ่งซึ่งเป็นลูกค้าประจำกล่าวว่า “ราคาแค่สิบบาท แต่อิ่มอร่อยเกินคุ้ม น้ำราดเข้มข้นไม่เหมือนใคร ทุกครั้งที่มาซื้อ จะรู้สึกดีใจที่ยังมีอาหารราคานี้ให้คนธรรมดาได้ทาน”

 

ผู้สนใจสามารถติดต่อสั่งซื้อหรือสอบถามได้ที่ โทร. 087-391  5501 (นางสาวยามิตา หมาดมานัง)

ตารางขายปัสมอส ตลาดชุมชนสตูล มีดังนี้

วันจันทร์และศุกร์ : ตลาดเช้า หัวสะพานเกตรี

วันพุธและเสาร์ : ตลาดเย็น บ้านดุ

วันพฤหัสบดี : ตลาดเช้า กาเนะ

วันอาทิตย์ : ตลาดเย็น ซอยเอวหัก คลองขุด

ลูกค้าที่ต้องการนั่งรับประทานที่ร้านก็สามารถใช้บริการ

 

“ปัสมอส” สลัดแขกโบราณถุงละสิบบาท จึงไม่เพียงเป็นอาหารอิ่มท้อง แต่ยังเป็นรสชาติของความทรงจำ และความเอื้ออาทรในยุคข้าวยากหมากแพง

………………………………

 สตูล  เกษตรกรหัวใจนักสู้! เปลี่ยนทลายปาล์มเหลือใช้ สู่เห็ดฟางคุณภาพ  ส่งขายตลาด-โรงพยาบาล สร้างรายได้มั่นคง พร้อมต่อยอดแปรรูปครบวงจร

สตูล  เกษตรกรหัวใจนักสู้! เปลี่ยนทลายปาล์มเหลือใช้ สู่เห็ดฟางคุณภาพ  ส่งขายตลาด-โรงพยาบาล

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

ปั่นจักรยานกินทุเรียนหมอนทอง สัมผัสสวนผลไม้แสนสุข เทศกาลใหญ่ “ปั่นชมสวน ชวนชิมอิ่มผลไม้ ครั้งที่ 11” สตูล ยิ่งใหญ่กว่าที่เคย

ปั่นจักรยานกินทุเรียนหมอนทอง สัมผัสสวนผลไม้แสนสุข เทศกาลใหญ่ “ปั่นชมสวน ชวนชิมอิ่มผลไม้ ครั้งที่ 11” สตูล ยิ่งใหญ่กว่าที่เคย

          สตูล – ยกขบวนนักปั่น นักท่องเที่ยวกว่าพันชีวิตร่วมเปิดประสบการณ์ใหม่ในงาน เทศกาลปั่นชมสวน ชวนชิมอิ่มผลไม้ ครั้งที่ 11 (Bike and Taste Food Festival 2025) ที่องค์การบริหารส่วนตำบลควนกาหลง  อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล

         วันที่นี้ ภายในงานเต็มไปด้วยรอยยิ้ม บรรยากาศแห่งความสุข และเส้นทางท่องเที่ยวที่ควรมาเยือนสักครั้งในชีวิต

          นายวรศิษฎ์ เลียงประสิทธิ์  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 2 จังหวัดสตูล ให้เกียรติมาเป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล นายอำเภอควนกาหลง  ข้าราชการ ผู้นำท้องถิ่น และหัวหน้าหน่วยงานสำคัญ อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสตูล ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสตูล การกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดสตูล ที่พร้อมใจสนับสนุนเทศกาลยิ่งใหญ่ของคนรักสุขภาพและการท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชน

 

         นายณัฐภาพงษ์  สุวรรณชนะ  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลควรกาหลง ในนามคณะกรรมการจัดงาน เปิดเผยว่า เทศกาลปีนี้ยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้ง มีนักปั่นจากทั่วประเทศและต่างประเทศ เช่น เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช สงขลา ยะลา ปัตตานี พัทลุง และประเทศมาเลเซีย เดินทางมาร่วมกว่า 675 คน และนักท่องเที่ยวที่มาร่วมกิจกรรมรวมกว่า 1,100 คน ทำให้พื้นที่ตำบลควนกาหลงคึกคัก สร้างรอยยิ้มและกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างแท้จริง

 

         กิจกรรมไฮไลต์ที่พลาดไม่ได้  ปั่นจักรยานตามเส้นทางเลียบสวนผลไม้และธรรมชาติแสนร่มรื่น  ชิมทุเรียนหมอนทองฟรีกว่า 200 ลูก พร้อมแจกกลับบ้านอีก 800 ลูก  ปล่อยพันธุ์ปลาอนุรักษ์ระบบนิเวศ  เลือกซื้อสินค้าพื้นเมือง สินค้าโอท็อป และของฝากคุณภาพดี  ชมการแสดงศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านแบบใกล้ชิด

 

           ค่าลงทะเบียนเพียง 350 บาท สำหรับเสื้อแขนสั้น และ 390 บาท สำหรับเสื้อแขนยาว ทุกคนจะได้รับเสื้อที่ระลึกพร้อมสิทธิพิเศษในการชิมผลไม้สดจากสวนอย่างจุใจ ที่สำคัญ นักปั่นและนักท่องเที่ยวหลายคนได้โชคดี รับทุเรียนหมอนทองกลับบ้านไปเป็นของขวัญแทนใจจากคนสตูล

 

         “การจัดงานนี้ ไม่ได้มีแค่ความสนุก แต่ยังเป็นการประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวของตำบลควนกาหลง ให้เป็นจุดหมายปลายทางด้าน ปั่นจักรยานเที่ยวสวนผลไม้ ของจังหวัดสตูลอย่างยั่งยืน” นายณัฐภาพงษ์ กล่าว

         งานปีนี้ยังจัดเต็มการบริการอย่างอบอุ่น ประชาชนและผู้นำชุมชนให้ความร่วมมืออย่างดี นักท่องเที่ยวต่างประทับใจทั้งรสชาติของผลไม้ บรรยากาศการต้อนรับ และเส้นทางธรรมชาติที่สวยงามสมคำร่ำลือ

                               

         หากคุณกำลังมองหากิจกรรมที่รวมความสนุก ความอร่อย และความประทับใจ เทศกาลนี้คืองานที่ ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง

 

           เที่ยวสตูล ปั่นจักรยานชมสวน ชิมทุเรียนหมอนทองแท้ สดจากสวน ปีละครั้งเท่านั้น ติดตามข่าวสารและกิจกรรมท่องเที่ยวดี ๆ เพิ่มเติมได้ที่ เพจองค์การบริหารส่วนตำบลควนกาหลง

……………………………….

 สตูล  เกษตรกรหัวใจนักสู้! เปลี่ยนทลายปาล์มเหลือใช้ สู่เห็ดฟางคุณภาพ  ส่งขายตลาด-โรงพยาบาล สร้างรายได้มั่นคง พร้อมต่อยอดแปรรูปครบวงจร

สตูล  เกษตรกรหัวใจนักสู้! เปลี่ยนทลายปาล์มเหลือใช้ สู่เห็ดฟางคุณภาพ  ส่งขายตลาด-โรงพยาบาล

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 สมูทตี้จำปาดะ เมนูชวนลิ้มลอง ที่สวนจูหอดตัวอย่างเกษตรกรต้นแบบ บ้านโคกมุดพัฒนา สวนจำปาดะพันธุ์ดี กำลังผลิดอกออกผล พร้อมเดินหน้าสู่พืช GI เมืองสตูล

สมูทตี้จำปาดะ เมนูชวนลิ้มลอง ที่สวนจูหอดตัวอย่างเกษตรกรต้นแบบ บ้านโคกมุดพัฒนา สวนจำปาดะพันธุ์ดี กำลังผลิดอกออกผล พร้อมเดินหน้าสู่พืช GI เมืองสตูล

         บ้านสวนจูหอด ม.6 บ้านโคกมุดพัฒนา ตำบลเกตรี (อ่านว่า  เกด-ตรี)  อำเภอเมือง จังหวัดสตูล พื้นที่ 6 ไร่ของ “นายหอด แดสา” วัย 74 ปี กำลังกลายเป็นความหวังของชุมชนและวงการเกษตรในพื้นที่ เมื่อสวนผสมของเขาซึ่งประกอบด้วย จำปาดะพันธุ์ทองเกษตร ขวัญสตูล และไร้เมล็ด กว่า 160 ต้น เริ่มให้ผลผลิตอย่างต่อเนื่อง เตรียมพร้อมเข้าสู่กระบวนการขึ้นทะเบียนพืชเศรษฐกิจ GI (Geographical Indication) หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดสตูล

          นายหอด  เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า  สวนแห่งนี้แต่เดิมเคยเป็นสวนยางพารา ก่อนจะตัดสินใจโค่นยางเมื่อราว 4 ปีก่อน เพื่อเปลี่ยนมาเป็นสวนผสมโดยปลูกพืชหมุนเวียนหลากหลายทั้งทุเรียนหมอนทอง 140 ต้น จำปาดะ 160 ต้น รวมถึงอ้อย กระเจี๊ยบ และพืชผักฤดูกาล เช่น แตงกวา ที่สามารถเก็บเกี่ยวขายได้วันละ 600-800 บาทในช่วงฤดูกาล

          “ปีที่แล้วจำปาดะ 5 ต้นให้ผลผลิตรวม 35 ลูก ปีนี้นับเฉพาะต้นเดียวได้ถึง 50 ลูกแล้ว” เขากล่าวด้วยรอยยิ้ม

          จำปาดะจากสวนจูหอดมี 3 สายพันธุ์หลัก ได้แก่  พันธุ์ขวัญสตูล เนื้อหนา กลิ่นหอมเฉพาะ  พันธุ์ทองเกษตร สีเหลืองสวย หวานละมุน  พันธุ์ไร้เมล็ด หายาก นิยมนำมาทอดหรือแปรรูป

          นางสาวนิลุบล เชื้อศรีชัย เจ้าหน้าที่เกษตรตำบลเกตรี สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองสตูล ให้ข้อมูลว่า นายหอดเป็นหนึ่งในเกษตรกรรายใหญ่ที่สุดของอำเภอเมืองสตูลที่มีการปลูกจำปาดะมากที่สุด  ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมเอกสารขอขึ้นทะเบียน GI ผลไม้ประจำถิ่น  อำเภอเมืองสตูล  เพื่อยกระดับผลิตผลให้มีมูลค่าเพิ่มในตลาดระดับประเทศ โดยก่อนหน้านี้สวนได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP แล้ว

          ทางเกษตรตำบลยังได้แนะนำการแปรรูปจำปาดะเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น การทำ “สมูทตี้จำปาดะ”  ซึ่งให้รสชาติคล้ายไอศกรีม เมื่อผ่านการแช่แข็ง เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภครุ่นใหม่ และช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรในท้องถิ่น

          นายการียา  เดชสมัน  ผู้ใหญ่บ้าน ม.6 บ้านโคกมุดพัฒนา กล่าวย้ำว่า นายหอด  คือเกษตรกรต้นแบบของชุมชน ด้วยความขยัน อดทน และมีการบริหารจัดการสวนผสมอย่างเป็นระบบ จนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ชาวบ้าน พร้อมเผยแผนต่อไปคือการรณรงค์ให้ชาวบ้านปลูกจำปาดะเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็น “พืชเศรษฐกิจประจำถิ่น” และสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

          สำหรับผู้ที่สนใจผลผลิตจำปาดะแท้จากสวนจูหอด สามารถติดต่อได้ที่  หมาดกอเฉ็ม ลูกชายของนายหอด โทร. 085-117-4338  หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ เกษตรอำเภอเมืองสตูล

          จำปาดะเป็นผลไม้เนื้อสีเหลือง มีรสหวาน กลิ่นหอมเฉพาะตัว คล้ายขนุนผสมกับทุเรียน นิยมนำมาทานสด ทอด หรือแปรรูปเป็นขนมและเครื่องดื่ม เป็นอีกหนึ่งอัตลักษณ์ที่สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้แห่งนี้  “การเกษตรไม่ใช่แค่เพาะปลูก แต่คือการเพาะความหวังให้แก่ชุมชน”

……………………………………

 สตูล  เกษตรกรหัวใจนักสู้! เปลี่ยนทลายปาล์มเหลือใช้ สู่เห็ดฟางคุณภาพ  ส่งขายตลาด-โรงพยาบาล สร้างรายได้มั่นคง พร้อมต่อยอดแปรรูปครบวงจร

สตูล  เกษตรกรหัวใจนักสู้! เปลี่ยนทลายปาล์มเหลือใช้ สู่เห็ดฟางคุณภาพ  ส่งขายตลาด-โรงพยาบาล

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวเด่น

  มวลชนชาวสตูลกว่า 500 คน รวมพลังสวมเสื้อเหลือง มอบช่อดอกไม้–ส่งกำลังใจแม่ทัพภาค 2 ถึงค่ายสมันตรัฐฯ

มวลชนชาวสตูลกว่า 500 คน รวมพลังสวมเสื้อเหลือง มอบช่อดอกไม้–ส่งกำลังใจแม่ทัพภาค 2 ถึงค่ายสมันตรัฐฯ 

สตูล – เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2568 ประชาชนชาวจังหวัดสตูลกว่า 500 คน นำโดยนางอุดมศรี จันทรัศมี ประธานชมรมคนรักในหลวงจังหวัดสตูล พร้อมด้วยสมาชิกชมรมทหารผ่านศึก และพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ร่วมกันจัดกิจกรรมแสดงพลังเชิงสัญลักษณ์ ณ ค่ายสมันตรัฐบุรินทร์ ตำบลคลองขุด อำเภอเมือง จังหวัดสตูล เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และส่งกำลังใจถึงกำลังพลในพื้นที่ชายแดน

ผู้ร่วมกิจกรรมต่างพร้อมใจกันสวมเสื้อสีเหลือง ถือธงชาติไทยและพระบรมฉายาลักษณ์ ร่วมขับร้องเพลงชาติไทยและเพลงสรรเสริญพระบารมีอย่างพร้อมเพรียง โดยตัวแทนจากชมรมคนรักในหลวงได้อ่านแถลงการณ์แสดงเจตจำนงในการรวมพลังรักชาติ และขอบคุณทหารทุกนายที่เสียสละปกป้องแผ่นดิน โดยเฉพาะแม่ทัพภาคที่ 2 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งขณะนี้กำลังเผชิญกับสถานการณ์ความตึงเครียดบริเวณแนวชายแดน

ไฮไลต์ของกิจกรรมคือพิธีมอบช่อดอกไม้แทนความรัก ความห่วงใย และกำลังใจจากพี่น้องชาวสตูล โดยมีร้อยโทสุรวุฒิ หนูเอียด ตัวแทนผู้บังคับกองร้อย ร.5 พัน.2 เป็นผู้รับมอบช่อดอกไม้ในนามแม่ทัพภาคที่ 2 ท่ามกลางเสียงปรบมือของประชาชนที่เข้าร่วมงานอย่างคึกคัก

นางรัตติยา มนูญดาหวี ตัวแทนจากชมรมคนรักในหลวงจังหวัดสตูล กล่าวว่า การรวมตัวในครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่เป็นการรวมพลังจากหัวใจของประชาชนที่ห่วงใยประเทศชาติ และต้องการส่งกำลังใจให้ทหารที่เสียสละปกป้องแผ่นดินมาอย่างต่อเนื่อง

…………………………..

อัพเดทล่าสุด

 สตูล  เกษตรกรหัวใจนักสู้! เปลี่ยนทลายปาล์มเหลือใช้ สู่เห็ดฟางคุณภาพ  ส่งขายตลาด-โรงพยาบาล สร้างรายได้มั่นคง พร้อมต่อยอดแปรรูปครบวงจร

สตูล  เกษตรกรหัวใจนักสู้! เปลี่ยนทลายปาล์มเหลือใช้ สู่เห็ดฟางคุณภาพ  ส่งขายตลาด-โรงพยาบาล

Categories
ข่าวเด่น

  คืบหน้าเศร้า – พบศพ “น้องจีรยุทธ” ใต้กอไผ่ ห่างจุดจมน้ำ 2 กม. พ่อแม่ไม่ติดใจการเสียชีวิต

สตูล-คืบหน้าเศร้า – พบศพ “น้องจีรยุทธ” ใต้กอไผ่ ห่างจุดจมน้ำ 2 กม. พ่อแม่ไม่ติดใจการเสียชีวิต

         สตูล – ความหวังที่เปล่งประกายดับลงอย่างเจ็บปวด หลังเจ้าหน้าที่พบร่างของ ด.ช.จีรยุทธ นางา อายุ 6 ปี ที่จมหายไปในคลองบ้านควน เมื่อสองวันก่อน โดยศพถูกพบช่วงเช้าวันนี้ (23 พ.ค.) บริเวณบ้านทุ่งวิมาน ห่างจากจุดเกิดเหตุราว 2 กิโลเมตร

          น้องถูกกระแสน้ำพัดมาเกยใต้กอไผ่ ท่ามกลางเศษไม้และวัชพืชริมคลอง เจ้าหน้าที่กู้ภัยร่มไทรพร้อมชาวบ้านเร่งนำร่างขึ้นจากน้ำอย่างนุ่มนวล ท่ามกลางความโศกเศร้าของผู้เป็นพ่อแม่และชุมชนที่ร่วมค้นหาน้องตลอด 2 วันที่ผ่านมา

          แม้จะเต็มไปด้วยความเสียใจ แต่ครอบครัวของน้องยืนยันไม่ติดใจสาเหตุการเสียชีวิต โดยระบุว่าเข้าใจว่าเป็นอุบัติเหตุจากการพลัดตกน้ำ ประกอบกับการพบศพในสภาพสมบูรณ์ ไม่พบบาดแผลหรือร่องรอยผิดปกติ

         หลังการชันสูตรเบื้องต้นเสร็จสิ้น เจ้าหน้าที่อนุญาตให้ครอบครัวนำศพกลับไปประกอบพิธีทางศาสนาในทันที

          เหตุการณ์นี้กลายเป็นบทเรียนสะเทือนใจสำหรับชุมชนอีกครั้ง โดยเฉพาะผู้ปกครองและเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งต่างตระหนักถึงอันตรายของแหล่งน้ำในช่วงหน้าฝน ที่แม้จะดูสงบ แต่ซ่อนความเชี่ยวกรากและอันตรายไว้เบื้องล่าง

………………………………..

อัพเดทล่าสุด

 สตูล  เกษตรกรหัวใจนักสู้! เปลี่ยนทลายปาล์มเหลือใช้ สู่เห็ดฟางคุณภาพ  ส่งขายตลาด-โรงพยาบาล สร้างรายได้มั่นคง พร้อมต่อยอดแปรรูปครบวงจร

สตูล  เกษตรกรหัวใจนักสู้! เปลี่ยนทลายปาล์มเหลือใช้ สู่เห็ดฟางคุณภาพ  ส่งขายตลาด-โรงพยาบาล

Categories
ข่าวเด่น

สตูล-เด็ก 6 ขวบจมน้ำลึกคลองในหมู่บ้าน  ญาติขอปาฏิหาริย์มีจริง  ชุดกู้ภัย-ฝ่ายปกครอง ระดมกำลังเร่งค้นหาแม้น้ำจะเชี่ยวจะเป็นอุปสรรค

สตูล-เด็ก 6 ขวบจมน้ำลึกคลองในหมู่บ้าน  ญาติขอปาฏิหาริย์มีจริง  ชุดกู้ภัย-ฝ่ายปกครอง ระดมกำลังเร่งค้นหาแม้น้ำจะเชี่ยวจะเป็นอุปสรรค

สตูล – ปฏิบัติการค้นหาเด็กชายวัย 6 ขวบ “ด.ช.จีรยุทธ นางา” ที่จมหายกลางลำคลองบ้านควน อำเภอเมืองสตูล เข้าสู่วันที่ 2 แล้ว ท่ามกลางความหวัง ความห่วงใย และเสียงร่ำไห้ของครอบครัว รวมถึงชาวบ้านกว่า 100 คนที่เฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด

เหตุการณ์สะเทือนใจนี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา เด็กชายจีรยุทธ สวมเสื้อพละสีแดงของโรงเรียน กลับจากเรียนหนังสือและเดินเล่นกับเพื่อนบริเวณบันไดริมลำคลองบ้านควน หมู่ที่ 3 ต.บ้านควน ก่อนจะพลัดตกลงไปในน้ำ ซึ่งไหลเชี่ยวและมีโพรงหินใต้น้ำจำนวนมาก

เพื่อนของน้องให้การเบื้องต้นว่าเห็นน้องลื่นและจมหายไปต่อหน้าต่อตา สร้างความตกใจและเศร้าสลดให้กับชุมชนในทันที

เจ้าหน้าที่กู้ภัยร่มไทร จ.สตูล พร้อมฝ่ายปกครอง อส. และทีมประดาน้ำกว่า 20 นาย เร่งค้นหาน้องตลอดทั้งวันทั้งคืน โดยใช้ทั้งเรือในการตีผิวน้ำเพื่อให้ร่างลอยขึ้น รวมถึงอุปกรณ์ค้นหาท่ามกลางสภาพน้ำเชี่ยว และสภาพใต้น้ำที่ซับซ้อน มีทั้งโพรงและโขดหินขนาดต่าง ๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญ

นายกูดานัน  หลังจิ นายก อบต.บ้านควน เผยว่า ชาวบ้านร่วมมือกันอย่างเต็มที่ ให้การสนับสนุนและส่งแรงใจแก่เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย พร้อมภาวนาให้เกิดปาฏิหาริย์

 

ด้านนายฮามีดัน ตะวัน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ระบุว่า เด็ก ๆ ในชุมชนมักเล่นน้ำบริเวณนี้เป็นประจำ แต่ครั้งนี้อาจเกิดเหตุไม่คาดฝัน พร้อมย้ำว่าได้รับคำสั่งเร่งด่วนจากผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลให้เร่งค้นหาโดยไม่ลดละ

 

แม้ความหวังจะริบหรี่ แต่ภารกิจยังคงเดินหน้าด้วยพลังศรัทธา และคำภาวนา “ขอให้น้องกลับมาอย่างปลอดภัย” ท่ามกลางคำเตือนที่ดังกึกก้องในชุมชนว่า “น้ำใสไม่ใช่ว่าปลอดภัยเสมอไป”

เตือนภัย: ผู้ปกครองควรระวังเด็กเล็กใกล้แหล่งน้ำ และควรมีการรั้วกั้นหรือมาตรการป้องกันในพื้นที่เสี่ยง เพื่อป้องกันโศกนาฏกรรมซ้ำรอยในอนาคต.

……………………………………..

อัพเดทล่าสุด

 สตูล  เกษตรกรหัวใจนักสู้! เปลี่ยนทลายปาล์มเหลือใช้ สู่เห็ดฟางคุณภาพ  ส่งขายตลาด-โรงพยาบาล สร้างรายได้มั่นคง พร้อมต่อยอดแปรรูปครบวงจร

สตูล  เกษตรกรหัวใจนักสู้! เปลี่ยนทลายปาล์มเหลือใช้ สู่เห็ดฟางคุณภาพ  ส่งขายตลาด-โรงพยาบาล

Categories
ข่าวเด่น

40 นักดำน้ำฝ่าคลื่นช่วยชีวิตปะการังสตูล  ร่วมแรงใจเพื่อสิ่งแวดล้อม ไม่หวั่นแม้ลมแรงฝนหนาว

ภารกิจเคลียร์อวนใต้ทะเลสุดโหด! 40 นักดำน้ำฝ่าคลื่นช่วยชีวิตปะการังสตูล  ร่วมแรงใจเพื่อสิ่งแวดล้อม… ไม่หวั่นแม้ลมแรงฝนหนาว

ท้องทะเลสตูลเต็มไปด้วยความหวังอีกครั้ง เมื่อทีมจิตอาสานักดำน้ำกว่า 40 ชีวิต จากหลายภาคส่วน รวมพลังฝ่าคลื่นลมแรง สายฝนหนาวเหน็บ ทำภารกิจเก็บกวาดอวนผืนใหญ่ที่ติดอยู่กับแนวปะการัง บริเวณ “กองหินขาว” ใกล้เกาะบุโหลนเล จังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2568

 

ภารกิจครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่าง บริษัทหาดทิพย์ จำกัด (มหาชน), Reef Guardian Thailand, อุทยานแห่งชาติเภตรา, อุทยานแห่งชาติตะรุเตา, บริษัทเลตรังไดว์วิ้ง, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, พร้อมผู้สนับสนุนอีกหลายราย โดยมี นายดินัน พัทลุง ประธานกลุ่มรีฟการ์เดี้ยน  หัวหน้าชุดเก็บกู้อวนในครั้งนี้  และ นายไรน่าน เด็นเบ็น จาก Reef Guardian Thailand เป็นหัวเรือใหญ่ในการประสานภารกิจครั้งนี้

 

ทีมงานออกปฏิบัติภารกิจด้วย เรือหางยาง 3 ลำ และ เรือสปีดโบ๊ท 1 ลำ มุ่งหน้าสู่จุดเกิดเหตุ ซึ่งเป็นแนวปะการังที่อวนพลาสติกขนาดยักษ์ กว้างกว่า 150 เมตร และสูง 8 เมตร พัวพันอยู่กับกองหินใต้ทะเล ลักษณะอวนเริ่มเสื่อมสภาพและอาจกลายเป็นกับดักสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศในระยะยาว

 

แม้จะเจอสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ  คลื่นลมแรง น้ำขุ่น และฝนตกโปรยปราย แต่ด้วยความทุ่มเท ทีมดำน้ำใช้ความชำนาญและประสบการณ์ ค่อย ๆ ตัด คลี่ และเก็บอวนออกจากแนวปะการังอย่างระมัดระวัง ไม่ให้เกิดความเสียหายเพิ่มเติม

ภารกิจนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดี  โดยสามารถนำอวนและเศษขยะใต้ท้องทะเลขึ้นฝั่งได้ รวมกว่า 550 กิโลกรัม เป็นอีกก้าวสำคัญของการอนุรักษ์ทะเลใต้และฟื้นฟูธรรมชาติสู่ความสมดุล

 

“นี่ไม่ใช่แค่การเก็บขยะ… แต่มันคือการคืนชีวิตให้ทะเล”  เสียงหนึ่งจากนักดำน้ำอาสาที่สะท้อนให้เห็นถึงหัวใจของคนรักทะเลได้อย่างลึกซึ้ง

 

การรวมพลังครั้งนี้ไม่เพียงเป็นแบบอย่างของความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และจิตอาสา แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจให้สังคมลุกขึ้นมาปกป้องท้องทะเลไทย ก่อนที่ธรรมชาติจะไม่เหลือโอกาสให้แก้ตัวอีกต่อไป

………………………………………………..

ขอบคุณภาพ  จากคุณไรน่าน  เด็นเบ็น

อัพเดทล่าสุด

 สตูล  เกษตรกรหัวใจนักสู้! เปลี่ยนทลายปาล์มเหลือใช้ สู่เห็ดฟางคุณภาพ  ส่งขายตลาด-โรงพยาบาล สร้างรายได้มั่นคง พร้อมต่อยอดแปรรูปครบวงจร

สตูล  เกษตรกรหัวใจนักสู้! เปลี่ยนทลายปาล์มเหลือใช้ สู่เห็ดฟางคุณภาพ  ส่งขายตลาด-โรงพยาบาล

Categories
ข่าวเด่น

สะพานรอวันซ่อม… เสียงจากชาวเกาะสาหร่ายถึงใจผู้ว่าฯ สตูล

สะพานรอวันซ่อม… เสียงจากชาวเกาะสาหร่ายถึงใจผู้ว่าฯ สตูล

สตูล – บนเกาะสาหร่าย หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 6 ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล สะพานท่าเทียบเรือซึ่งเคยเป็นหัวใจของการเดินทางและขนส่งสินค้า ได้กลายเป็นเพียงโครงสร้างที่ผุพังมานานกว่า 5 ปี สภาพชำรุดทรุดโทรม ขาดการดูแล และไร้เจ้าภาพรับผิดชอบอย่างชัดเจน ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านต้องเผชิญความลำบากทุกวัน

การขนถ่ายสินค้าทางทะเลกลายเป็นเรื่องยากลำบาก โดยเฉพาะในฤดูมรสุม ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว เพราะพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงาม เสียโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับชุมชนและผู้ประกอบการรายย่อย

จากความทุกข์นี้เอง ทำให้นายยุทธพงษ์ หมัดตุกัง ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านตำบลเกาะสาหร่าย พร้อมด้วยนายอดุลย์ ชนะบัณฑิต จากภาคประชาชน จ.สตูล (พลเมืองรักษ์สตูล) เป็นตัวแทนรวบรวมรายชื่อชาวบ้านนับร้อยคน ยื่นหนังสือผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสตูล เพื่อทวงถามแนวทางการซ่อมแซมสะพานแห่งนี้อย่างเร่งด่วน

ความเคลื่อนไหวนี้ได้รับความใส่ใจจาก นายธนพัฒน์  เด่นบูรณะ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสตูล ซึ่งได้ลงมารับเรื่องด้วยตนเอง พร้อมชี้แจงว่า นายศักระ  กปิลกาญจน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ไม่ได้นิ่งนอนใจ และนายพิบูลย์  รัชกิจประการ ส.ส.ได้มีการเข้ามาทวงถามและหารือเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง

 

เบื้องต้น ทางองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย ยินดีรับโอนทรัพย์สินสะพานมาอยู่ในความดูแล โดยหากวงเงินซ่อมแซมอยู่ในกรอบงบประมาณไม่เกิน 3 ล้านบาท ทาง อบต. จะสามารถดำเนินการได้ทันที แต่หากเกินขีดความสามารถ จังหวัดจะประสานกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เพื่อหาทางสนับสนุนงบเพิ่มเติม

 

ขั้นตอนต่อไปคือการให้ อบต. ออกมติเห็นชอบในการรับโอนสะพานเป็นทรัพย์สินของท้องถิ่น เพื่อให้มี “เจ้าภาพ” ดูแลระยะยาวหลังการซ่อมแซมเสร็จสิ้น

 

หัวหน้าสำนักงานจังหวัดกล่าวต่อว่า ผู้ว่าฯ สตูลมีความห่วงใย และต้องการให้เกาะสาหร่ายไม่ตกขบวนในการจัดทำ “แผนยุทธศาสตร์จังหวัด” ประจำปี 2570 หากไม่ทันในปีนี้ ก็จะผลักดันให้เข้าปี 2571 ซึ่งปัจจุบันมีสะพานหลายแห่งในสตูลที่อยู่ในภาวะวิกฤตเช่นกัน

 

ด้านนายยุทธพงษ์ หมัตตุกัง ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า หลังทราบความคืบหน้า รู้สึกคลายกังวล พร้อมขอบคุณผู้ว่าฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่รับฟังเสียงจากชาวบ้าน และแสดงเจตจำนงในการเร่งแก้ไขปัญหานี้ เพื่อให้สะพานแห่งนี้กลับมาเป็นจุดเชื่อมต่อของชีวิต เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของเกาะสาหร่ายได้อีกครั้ง

 

“ขอบคุณที่เกาะสาหร่ายจะไม่ตกขบวน… เราหวังว่าจะได้เห็นสะพานกลับมาแข็งแรงสมศักดิ์ศรี และเป็นหน้าตาของจังหวัดอีกครั้งในเร็ววัน” – ตัวแทนชาวบ้านกล่าวทิ้งท้าย

……………………………………..

อัพเดทล่าสุด

 สตูล  เกษตรกรหัวใจนักสู้! เปลี่ยนทลายปาล์มเหลือใช้ สู่เห็ดฟางคุณภาพ  ส่งขายตลาด-โรงพยาบาล สร้างรายได้มั่นคง พร้อมต่อยอดแปรรูปครบวงจร

สตูล  เกษตรกรหัวใจนักสู้! เปลี่ยนทลายปาล์มเหลือใช้ สู่เห็ดฟางคุณภาพ  ส่งขายตลาด-โรงพยาบาล

Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

รองปลัดวธ.เยือนชุมชน ร่วมพิธีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ ส่งวิญญาณกลับแดนบรรพชน

สตูล-รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรมเยือนชุมชน ร่วมพิธีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ ส่งวิญญาณกลับแดนบรรพชน

เมื่อวันที่ 10–12 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา บนเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ได้มีการจัดงาน “มหกรรมวัฒนธรรมท้องถิ่น : วิถีชาวเล เสน่ห์หลีเป๊ะ” ขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ โดยได้รับการสนับสนุนจากนายศักระ กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล พร้อมด้วยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสตูล นำโดยนายกิตตพงษ์  แก้วยอดทอง วัฒนธรรมจังหวัดสตูล  ร่วมกับภาคีเครือข่ายและกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโว้ย

 

พิธีเปิดได้รับเกียรติจาก  นางโชติกา อัครกิจโสภากุล  รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงาน โดยมีนายชัยวุฒิ บัวทอง ปลัดจังหวัดสตูล ให้การต้อนรับ ณ ลานกิจกรรมโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล

 

กิจกรรมสำคัญภายในงานสะท้อนวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวเลอูรักลาโว้ย ซึ่งมีความผูกพันแน่นแฟ้นกับท้องทะเล ทั้งในมิติของการดำรงชีวิตและจิตวิญญาณ  โดยรองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมคณะ ได้เยี่ยมชมชุมชนสิเข่งและสุสานโต๊ะฆีรี สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวเล ซึ่งเปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจ โดยมีโต๊ะหมอทำพิธีสื่อสารกับวิญญาณบรรพชน เพื่อขอพรให้ปกปักรักษาผู้มาเยือน

 

หนึ่งในไฮไลท์ของงานคือ **พิธีลอยเรือ “ปาจั๊ก” อันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งชาวเลจัดขึ้น ปีละ 2 ครั้ง  ในคืนวันเพ็ญเดือน 6 และเดือน 11 ตามปฏิทินจันทรคติ เพื่อสะเดาะเคราะห์ ส่งวิญญาณบรรพชนกลับสู่ “ฆูนุงฌีรัย” และล้างความผิดที่อาจเกิดจากการล่าสัตว์ทะเลหรือการกระทำที่ส่งผลต่อธรรมชาติ โดยเรือปาจั๊กทำจากไม้ตีนเป็ดและไม้ระกำ ซึ่งถือว่าเป็นพาหนะวิญญาณ ช่วยพัดพาโรคภัยและความทุกข์ออกจากครอบครัว

 

เมื่อเรือปาจั๊กประกอบเสร็จ ผู้หญิงในชุมชนจะช่วยกันตกแต่งเรือด้วยดอกไม้สีสันสดใส เป็นการเริ่มพิธีเฉลิมฉลองยามค่ำคืน ซึ่งเต็มไปด้วยความสนุกสนาน  ทั้งการแสดงของเยาวชนชาวเล การขับกล่อมบทเพลงพื้นบ้าน และรำมะนาตามจังหวะดนตรีวัฒนธรรม  ก่อนจะร่วมกันอัญเชิญเรือไปยังทะเลเปิดในยามรุ่งสาง เพื่อปล่อยความทุกข์และโรคภัยให้ลอยไปกับคลื่น

 

ภายในงานยังมีการออกบูธจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น อาทิ ของที่ระลึกจากชาวเล อาหารพื้นบ้านหาทานยาก เช่น ยำไข่หอยเม่น แกงปลิงทะเล และนิทรรศการเครื่องเซ่นในพิธีลอยเรือ ถ่ายทอดองค์ความรู้และความเชื่อผ่านงานจัดแสดงรูปแบบสมัยใหม่

 

**ประเพณีลอยเรือของชาวอูรักลาโว้ย** ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระดับชาติเมื่อปี 2566 และยังคงเป็นพิธีกรรมสำคัญที่สื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ การเคารพบรรพชน และการส่งผ่านอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์จากรุ่นสู่รุ่น

 

นับเป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนอันงดงามของวัฒนธรรมชายฝั่ง ที่ไม่เพียงแต่ตราตรึงใจผู้มาเยือน แต่ยังบอกเล่าความหมายของการใช้ชีวิตร่วมกับท้องทะเลอย่างลึกซึ้ง

………………………………..

 สตูล  เกษตรกรหัวใจนักสู้! เปลี่ยนทลายปาล์มเหลือใช้ สู่เห็ดฟางคุณภาพ  ส่งขายตลาด-โรงพยาบาล สร้างรายได้มั่นคง พร้อมต่อยอดแปรรูปครบวงจร

สตูล  เกษตรกรหัวใจนักสู้! เปลี่ยนทลายปาล์มเหลือใช้ สู่เห็ดฟางคุณภาพ  ส่งขายตลาด-โรงพยาบาล

อัพเดทล่าสุด