Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 จัดเบรกให้ปัง! สตูลปั้นมืออาชีพสายจัดอาหารว่าง เติมเทคนิคโซเชียล สร้างอาชีพยุคใหม่

จัดเบรกให้ปัง! สตูลปั้นมืออาชีพสายจัดอาหารว่าง เติมเทคนิคโซเชียล สร้างอาชีพยุคใหม่

          วันที่ 21 พฤษภาคม 2568  ณ  ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล ชั้น 4 อำเภอเมือง จังหวัดสตูล  ได้จัดอบรม “กิจกรรมการเตรียมอาหารว่างและเครื่องดื่มสำหรับงานประชุม/อบรมอย่างมืออาชีพ” ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนากลุ่มอาชีพ ประจำปีงบประมาณ 2568 เพื่อยกระดับผู้ประกอบการท้องถิ่นให้ก้าวสู่ตลาดใหม่ ๆ อย่างมั่นใจ โดยเฉพาะการจับตลาด “งานอบรม – งานราชการ” ที่มีความต้องการสูงและต่อเนื่อง

 

          การอบรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายทวีศักดิ์  แก้วสลำ  รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมกว่า 40 ราย ได้แก่ ผู้ประกอบการ OTOP วิสาหกิจชุมชน ร้านค้า และประชาชนผู้สนใจทั่วไป รวมถึงเจ้าหน้าที่จากเรือนจำและผู้มีบทบาทในการฝึกอาชีพแก่ผู้ต้องขัง โดยมี สถาบัน CDC Training Center และวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารว่างจาก มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ร่วมถ่ายทอดความรู้แบบจัดเต็ม

ตอบโจทย์อาชีพยุคโซเชียล – โอกาสใหม่หลังวิกฤตเศรษฐกิจ

ในยุคที่เศรษฐกิจชายแดนซบเซา การท่องเที่ยวไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และกำลังซื้อของประชาชนลดลง อาชีพเล็ก ๆ อย่าง “จัดเบรกประชุม” จึงกลายเป็นอีกหนึ่งทางรอดที่มั่นคง เพราะกิจกรรมอบรม สัมมนา หรืออีเวนต์ราชการยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง และมีงบสนับสนุนชัดเจน

 

นางสาวอินทิรา ไพรัตน์  (วิทยากร) ให้สัมภาษณ์ว่า “โฮมสเตย์ของเรามีบริการอาหารเช้าอยู่แล้ว  การมาฝึกอบรมครั้งนี้ช่วยให้เราเพิ่มมูลค่าด้วยการจัดจานสวยๆ แล้วโพสต์ลงโซเชียล เรียกลูกค้าได้มากขึ้นแน่นอน”

 

อีกมุมหนึ่งจากผู้ฝึกอาชีพในเรือนจำ นางสาวชนัญชิดา   พราหมแผลง  เจ้าพนักงานอบรมฯ จากเรือนจำสตูล เผยว่า “ได้เทคนิคใหม่ ๆ เพียบเลย จะนำกลับไปต่อยอดฝึกให้ผู้ต้องขังหญิง เพื่อให้พวกเขามีทักษะอาชีพติดตัวก่อนออกสู่สังคม”

 

ขณะที่ นางรัชนี  เด่นกาญจนศักดิ์ เจ้าของร้านชาชักเจ้าดัง  “เตอบิลัง”  ก็เสริมว่า “การทำอาหารให้น่ากินไม่ใช่แค่รสชาติ แต่ต้องสื่อสารผ่านภาพถ่ายให้ดูดีด้วย ยุคนี้ลูกค้าซื้อด้วยตา และแชร์ต่อในโซเชียล โครงการแบบนี้ดีมาก อยากให้มีต่อเนื่อง”

 

หลักสูตร “จัดเบรกให้ปัง” ยกระดับมืออาชีพ – เพิ่มยอดขายด้วยมือถือ

          การอบรมไม่เพียงสอนเรื่องความสะอาด มาตรฐานการบริการ และการเลือกอาหารว่างที่เหมาะสมเท่านั้น แต่ยังสอดแทรกกลยุทธ์การตลาดยุคใหม่ โดย อินทิรา ไพรัตน์ วิทยากรจาก CDC Training Center ได้เน้นย้ำว่า “เราสอนวิธีจัดเบรกให้น่าทาน ถ่ายรูปให้ออกมาดูน่ากิน เทคนิคถ่ายภาพง่าย ๆ ด้วยมือถือก็ช่วยเพิ่มยอดขายได้ พร้อมทั้งสอนเรื่องการจัดอุปกรณ์ตกแต่ง เพิ่มความหรูหราให้กับชุดเบรก โดยไม่ต้องลงทุนสูง”

 

 กิจกรรมในวันนี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการพัฒนาอาชีพที่ทันสมัยและตอบโจทย์ยุคโซเชียลอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่มีอาชีพ แต่ต้องรู้จักเพิ่มมูลค่าให้สินค้าด้วย “ทักษะการนำเสนอ” ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการขายในยุคนี้

 

ทั้งนี้ โครงการส่งเสริมและพัฒนากลุ่มอาชีพ ประจำปี 2568 ยังวางแผนขยายกิจกรรมในลักษณะเดียวกันไปยังกลุ่มอื่น ๆ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดสตูลสามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง มีรายได้ และเติบโตอย่างยั่งยืน

……………………………………….

 “พริกเดือยไก่ปลายสวน” ปลูกไว้ได้ลูกจบรับราชการ  อดีตสาวร้านเครื่องสำอางจับมือคู่ชีวิต ลุยเกษตรอินทรีย์ สร้างรายได้มั่นคงที่บ้านนาแค สตูล

“พริกเดือยไก่ปลายสวน” ปลูกไว้ได้ลูกจบรับราชการ  อดีตสาวร้านเครื่องสำอางจับมือคู่ชีวิต ลุยเกษตรอินทรีย์ สร้างรายได้มั่นคงที่บ้านนาแค

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

             บ้านทางยาง หมู่ 7 ตำบลสาคร อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล พื้นที่ที่เงียบสงบถูกปลุกให้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง ด้วยแรงบันดาลใจของ “ครูจิสน  มัจฉา” อดีตครูผู้เบนเข็มชีวิตมาสู่การทำเกษตรเต็มตัว สร้าง ฟาร์มเห็ดนางฟ้า จากก้อนเชื้อ 85 ก้อนแรกในหม้อนึ่งลูกทุ่ง สู่วิสาหกิจชุมชนที่ผลิตก้อนเห็ดมากถึง 7,000 ก้อนต่อรอบ ก่อเกิดรายได้และการจ้างงานให้ชุมชนในทุกฤดูกาล

 

             ครูจิสน  มัจฉา  ประธานกลุ่มทางยางบ้านเห็ด บอกว่า  อยากหาทางเลือกให้ครอบครัวมีรายได้เสริม เห็นเห็ดนางฟ้าก็รู้สึกว่าใช่… เริ่มทำจากของเล็ก ๆ ที่เราชอบ พอทำจริง ๆ มันกลายเป็นรายได้หลักเลยค่ะ  สาเหตุที่เลือกเห็ดนางฟ้าเพราะสามารถขายได้ทั้งก้อนเห็ด  ดอกเห็ด และก้อนที่หมดอายุสามารถไปทำปุ๋ยได้

 

            ครูจิสน. เริ่มเพาะเห็ดจากความสนใจส่วนตัว ใช้หม้อนึ่งฟืนแบบพื้นบ้าน วันละ 6–8 ชั่วโมงต่อ 85 ก้อน ผ่านมาเกือบสิบปี เธอพัฒนาเทคนิคและเครื่องมือการผลิตจนกลายเป็นฟาร์มต้นแบบ ใช้หม้อนึ่งระบบไอน้ำที่รองรับได้มากถึง 780 ก้อนต่อครั้ง ลดการใช้ไม้ฟืน เพิ่มประสิทธิภาพ พร้อมตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน “ทางยางบ้านเห็ด” อย่างเป็นทางการในปี 2560

 

ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิก 10 ราย ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันและประมงในพื้นที่. ที่หันมาปลูกเห็ดเสริมอาชีพ  โดย กลุ่มมีการใช้นวัตกรรม ได้แก่ เครื่องผสม, เครื่องอัดก้อน, เตานึ่งระบบไอน้ำ ช่วยให้การผลิตก้อนเชื้อเห็ดรวดเร็ว มีมาตรฐาน และปลอดภัยยิ่งขึ้น

 

สินค้าหลักของกลุ่ม ได้แก่

  • ก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้า (10 บาท/ก้อน) ผลิตปีละ 4–5 รอบ รวมกว่า 28,000 ก้อน
  • ดอกเห็ดสด (60 บาท/กก.) ส่งตลาดละงู โรงเรียน และตัวแทนจำหน่าย
  • ผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น
  • น้ำพริกเห็ดนางฟ้า
  • เห็ดทอดกรอบรสลาบ
  • เห็ดปาปิก้า และสูตรดั้งเดิม

 

ขายดีทั้งตลาดสดและออนไลน์ สร้างรายได้เฉลี่ยเดือนละกว่า 30,000 บาท (ก่อนหักค่าใช้จ่าย) ไม่รวมแปรรูปเห็ด

           สำหรับ เห็ดก้อนเชื้อหนึ่งก้อนสามารถเก็บผลผลิตได้นานถึง 5 เดือน เมื่อหมดอายุยังสามารถนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ ใช้ในแปลงเกษตรของชุมชน

 

          “สำนักงานเกษตรอำเภอท่าแพ  ได้สนับสนุนกลุ่มนี้ตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่เรื่องเทคโนโลยี การจัดการ การหาตลาด จนกลายเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่น ๆ ได้เห็นว่า…ถ้าเราพร้อมลงมือทำ เกษตรก็สร้างอาชีพที่มั่นคงได้จริง ๆ”

 

          นายอารีย์  โส๊ะสันสะ  เกษตรอำเภอท่าแพ กล่าวอย่างภาคภูมิใจ ในอนาคตกลุ่มเตรียมขยายการเพาะเห็ดพันธุ์ใหม่ เช่น เห็ดมิลกี้ พร้อมวางระบบโรงเรือนควบคุมอุณหภูมิ สร้างแบรนด์ท้องถิ่น จดทะเบียนสินค้า และเพิ่มช่องทางตลาดในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น

 

          สำหรับเกษตรกรที่มองหาอาชีพเสริม  เดี๋ยวนี้ก็จะมีพืชเป็นพืชเศรษฐกิจอยู่หลายๆ ตัวอย่างเช่นสละ , กาแฟ.  แล้วก็เห็ด  เหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลาน้อย แล้วถ้าสามารถ ทำได้ตั้งแต่ขั้นตอนในการผลิตก้อนเอง และก็ในการเปิดออกจำหน่ายเองตรงนี้เขาจะมีกำไรค่อนข้างดี

 

         ผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมและศึกษาดูงานได้ที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทางยางบ้านเห็ด  เลขที่ 22 หมู่ 7 ตำบลสาคร อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล 91150. เพจ: บ้านไร่ภูภัทรโทร. 087-091-6176

 

         จากแรงบันดาลใจเล็ก ๆ ของอดีตครูท้องถิ่น… สู่วิสาหกิจชุมชนที่ยิ่งใหญ่ในหัวใจของคนบ้านทางยาง

…….

 “พริกเดือยไก่ปลายสวน” ปลูกไว้ได้ลูกจบรับราชการ  อดีตสาวร้านเครื่องสำอางจับมือคู่ชีวิต ลุยเกษตรอินทรีย์ สร้างรายได้มั่นคงที่บ้านนาแค สตูล

“พริกเดือยไก่ปลายสวน” ปลูกไว้ได้ลูกจบรับราชการ  อดีตสาวร้านเครื่องสำอางจับมือคู่ชีวิต ลุยเกษตรอินทรีย์ สร้างรายได้มั่นคงที่บ้านนาแค

อัพเดทล่าสุด