Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

             บ้านทางยาง หมู่ 7 ตำบลสาคร อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล พื้นที่ที่เงียบสงบถูกปลุกให้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง ด้วยแรงบันดาลใจของ “ครูจิสน  มัจฉา” อดีตครูผู้เบนเข็มชีวิตมาสู่การทำเกษตรเต็มตัว สร้าง ฟาร์มเห็ดนางฟ้า จากก้อนเชื้อ 85 ก้อนแรกในหม้อนึ่งลูกทุ่ง สู่วิสาหกิจชุมชนที่ผลิตก้อนเห็ดมากถึง 7,000 ก้อนต่อรอบ ก่อเกิดรายได้และการจ้างงานให้ชุมชนในทุกฤดูกาล

 

             ครูจิสน  มัจฉา  ประธานกลุ่มทางยางบ้านเห็ด บอกว่า  อยากหาทางเลือกให้ครอบครัวมีรายได้เสริม เห็นเห็ดนางฟ้าก็รู้สึกว่าใช่… เริ่มทำจากของเล็ก ๆ ที่เราชอบ พอทำจริง ๆ มันกลายเป็นรายได้หลักเลยค่ะ  สาเหตุที่เลือกเห็ดนางฟ้าเพราะสามารถขายได้ทั้งก้อนเห็ด  ดอกเห็ด และก้อนที่หมดอายุสามารถไปทำปุ๋ยได้

 

            ครูจิสน. เริ่มเพาะเห็ดจากความสนใจส่วนตัว ใช้หม้อนึ่งฟืนแบบพื้นบ้าน วันละ 6–8 ชั่วโมงต่อ 85 ก้อน ผ่านมาเกือบสิบปี เธอพัฒนาเทคนิคและเครื่องมือการผลิตจนกลายเป็นฟาร์มต้นแบบ ใช้หม้อนึ่งระบบไอน้ำที่รองรับได้มากถึง 780 ก้อนต่อครั้ง ลดการใช้ไม้ฟืน เพิ่มประสิทธิภาพ พร้อมตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน “ทางยางบ้านเห็ด” อย่างเป็นทางการในปี 2560

 

ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิก 10 ราย ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันและประมงในพื้นที่. ที่หันมาปลูกเห็ดเสริมอาชีพ  โดย กลุ่มมีการใช้นวัตกรรม ได้แก่ เครื่องผสม, เครื่องอัดก้อน, เตานึ่งระบบไอน้ำ ช่วยให้การผลิตก้อนเชื้อเห็ดรวดเร็ว มีมาตรฐาน และปลอดภัยยิ่งขึ้น

 

สินค้าหลักของกลุ่ม ได้แก่

  • ก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้า (10 บาท/ก้อน) ผลิตปีละ 4–5 รอบ รวมกว่า 28,000 ก้อน
  • ดอกเห็ดสด (60 บาท/กก.) ส่งตลาดละงู โรงเรียน และตัวแทนจำหน่าย
  • ผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น
  • น้ำพริกเห็ดนางฟ้า
  • เห็ดทอดกรอบรสลาบ
  • เห็ดปาปิก้า และสูตรดั้งเดิม

 

ขายดีทั้งตลาดสดและออนไลน์ สร้างรายได้เฉลี่ยเดือนละกว่า 30,000 บาท (ก่อนหักค่าใช้จ่าย) ไม่รวมแปรรูปเห็ด

           สำหรับ เห็ดก้อนเชื้อหนึ่งก้อนสามารถเก็บผลผลิตได้นานถึง 5 เดือน เมื่อหมดอายุยังสามารถนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ ใช้ในแปลงเกษตรของชุมชน

 

          “สำนักงานเกษตรอำเภอท่าแพ  ได้สนับสนุนกลุ่มนี้ตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่เรื่องเทคโนโลยี การจัดการ การหาตลาด จนกลายเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่น ๆ ได้เห็นว่า…ถ้าเราพร้อมลงมือทำ เกษตรก็สร้างอาชีพที่มั่นคงได้จริง ๆ”

 

          นายอารีย์  โส๊ะสันสะ  เกษตรอำเภอท่าแพ กล่าวอย่างภาคภูมิใจ ในอนาคตกลุ่มเตรียมขยายการเพาะเห็ดพันธุ์ใหม่ เช่น เห็ดมิลกี้ พร้อมวางระบบโรงเรือนควบคุมอุณหภูมิ สร้างแบรนด์ท้องถิ่น จดทะเบียนสินค้า และเพิ่มช่องทางตลาดในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น

 

          สำหรับเกษตรกรที่มองหาอาชีพเสริม  เดี๋ยวนี้ก็จะมีพืชเป็นพืชเศรษฐกิจอยู่หลายๆ ตัวอย่างเช่นสละ , กาแฟ.  แล้วก็เห็ด  เหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลาน้อย แล้วถ้าสามารถ ทำได้ตั้งแต่ขั้นตอนในการผลิตก้อนเอง และก็ในการเปิดออกจำหน่ายเองตรงนี้เขาจะมีกำไรค่อนข้างดี

 

         ผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมและศึกษาดูงานได้ที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทางยางบ้านเห็ด  เลขที่ 22 หมู่ 7 ตำบลสาคร อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล 91150. เพจ: บ้านไร่ภูภัทรโทร. 087-091-6176

 

         จากแรงบันดาลใจเล็ก ๆ ของอดีตครูท้องถิ่น… สู่วิสาหกิจชุมชนที่ยิ่งใหญ่ในหัวใจของคนบ้านทางยาง

…….

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป

เครือข่ายควบคุมยาสูบภาคใต้รวมพลัง “คนใต้ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” สร้างกระแสวันงดสูบบุหรี่โลก ชู “นิโคติน เสพติด จน ตาย”

สตูล-เครือข่ายควบคุมยาสูบภาคใต้รวมพลัง “คนใต้ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” สร้างกระแสวันงดสูบบุหรี่โลก ชู “นิโคติน เสพติด จน ตาย”

วันที่ 17 พฤษภาคม 2568   นักข่าวจังหวัดสตูลเข้าร่วม  กิจกรรมรณรงค์สร้างกระแส     “วันงดสูบบุหรี่โลก 2568 : คนภาคใต้ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” โดยเครือข่ายควบคุมยาสูบภาคใต้รวมพลัง จัดขึ้นเพื่อให้เกิดการสื่อสารสร้างกระแสในระดับพื้นที่ให้กว้างขวาง ให้มีความรู้ ตระหนักถึงโทษและพิษภัยการเสพติดนิโคตินของบุหรี่ไฟฟ้า นำโดย สมาคมสื่อชุมชนภาคใต้นครศรีธรรมราช  ร่วมกับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่, เครือข่ายยุวทัศน์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตสังคมและสิ่งแวดล้อม และภาคีเครือข่ายจังหวัดนครศรีธรรมราช  สนับสนุนโดย  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

นางวจิราพร  อมาตยกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช  ประธานในการเปิดงานกล่าวว่า  การระดมสรรพกำลังทุกภาคส่วนในจังหวัดภาคใต้ โดยร่วมกันรณรงค์สร้างกระแสป้องกันการเข้าถึงบุหรี่  บุหรี่ไฟฟ้ากับกลุ่มเด็กและเยาวชนถือเป็นวาระแห่งชาติ  เพราะปัญหาการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อสุขภาพของประชาชน  โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน   อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการเร่งปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง เพื่อปกป้องประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนของชาติ จากพิษภัยของการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า  ทั้งนี้ปัญหาการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในภาคใต้ยังคงเป็นเรื่องที่น่าห่วงใย จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุด พ.ศ.2567 พบว่า ภาคใต้มีอัตราการสูบบุหรี่สูงที่สุดในประเทศ อยู่ที่ร้อยละ 22.1 โดยเฉพาะในจังหวัดกระบี่ มีอัตราการสูบบุหรี่สูงที่สุดคือ ร้อยละ 27.1  รองลงมาคือจังหวัดนครศรีธรรมราช ร้อยละ 25.59,  ระนอง  ร้อยละ 25.53,พัทลุง ร้อยละ 24.06, ปัตตานี ร้อยละ 23.93 และตรัง ร้อยละ 23.49 ตามลำดับ  ซึ่งมีอัตราการสูบบุหรี่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ

นอกจากนี้ การสำรวจในนักเรียนมัธยมศึกษาภาคใต้ของกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข  พบว่า ร้อยละ 14.5 เคยใช้บุหรี่ไฟฟ้า โดยนักเรียนชายมีอัตราการใช้สูงกว่านักเรียนหญิงอย่างมีนัยสำคัญ  สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงความจำเป็นในการเร่งรณรงค์และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับพิษภัยของการเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า  การจัดกิจกรรมในวันนี้  ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีและชื่นชมเป็นอย่างยิ่งที่ภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบภาคใต้ และอีกหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม  ร่วมกันสร้างกระแสรณรงค์ให้เกิดการรับรู้และปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักถึงพิษภัยอันตรายของการเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า และถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และแรงบันดาลใจให้กับทุกภาคส่วน ร่วมรณรงค์อย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง รวมถึงส่งเสริมให้เกิดสังคมปลอดบุหรี่ในภาคใต้ของเราอย่างยั่งยืน  นางวจิราพร  กล่าว  

          ขณะที่ นายพิทยา จินาวัฒน์  คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า บทบาทของ สสส. ซึ่งมีหน้าที่ริเริ่ม ผลักดัน กระตุ้น สนับสนุน และร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการขับเคลื่อน กระบวนการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้บรรลุผลในการลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร กระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความเชื่อ และการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม ให้เอื้อต่อคุณภาพชีวิต ช่วยลดภาระทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ  ซึ่งปัญหาการคุกคามของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า  ถือเป็นสงครามที่ยากจะเอาชนะได้ ต้องเกิดจากการรวมพลังกันทุกภาคส่วนที่ร่วมใจรวมพลังกันต่อสู้เหมือนงานในวันนี้ ซึ่งการทำสงครามกับบุหรี่  สมรภูมิเปลี่ยนไปหมดแล้ว เนื่องจากการ disrupt ของเทคโนโลยี สิ่งที่ทำให้เปลี่ยนคือ การมาของบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะความน่าเป็นห่วงในกลุ่มเป้าหมายใหม่ คือ เพศหญิง กำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้น  จะเห็นว่าตอนนี้ผู้หญิงไทยสูบบุหรี่มวนร้อยละ 1.3 แต่เยาวชนที่เป็นผู้หญิง พบว่าสูบบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ถึงร้อยละ 15  และหากบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย จะเป็นการเพิ่มอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนหญิงสูงเพิ่มไปถึง 30-40% เลยที่เดียว ดังนั้น ถ้ามีความร่วมมือกันในทุกฝ่าย ทุกภาคีเครือข่าย นอกจากนั้น ยังต้องอาศัยความร่วมมือการสื่อสารกับอินฟลูเอนเซอร์ที่จะช่วยสื่อสารกับสังคมได้รับรู้ เราต้องใช้ทุกช่องทางและทุกกระบวนในการสื่อสาร  เพื่อปกป้องลูกหลานไทยให้รอดพ้นจากการเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า นายพิทยา กล่าว

          ด้านนายอานนท์ มีศรี นายกสมาคมสื่อชุมชนภาคใต้นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า กิจกรรมสร้างกระแส  “วันงดสูบบุหรี่โลก 2568: คนภาคใต้ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” ในครั้งนี้ องค์การอนามัยโลกกำหนดประเด็นการรณรงค์ว่า “Unmasking the Appeal: Exposing Industry Tactics on Tobacco and Nicotine Products”  ประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุข จึงใช้ภาษาไทยในการสื่อสารรณรงค์สร้างกระแสว่า “กระชากหน้ากากธุรกิจบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า: นิโคติน เสพติด จน ตาย”  เพื่อให้ประชาชนตระหนักรู้และร่วมกันเปิดโปงกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมยาสูบที่มุ่งเป้าทำการตลาดเพื่อดึงดูดผู้บริโภคกลุ่มเด็กและเยาวชนให้เสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า  ในโอกาสนี้ เพื่อให้เกิดการสื่อสารสร้างกระแสในระดับพื้นที่ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น  และเพื่อเชิญชวนชาวใต้ทุกภาคส่วน ร่วมกันสื่อสารและแสดงเจตจำนงในการร่วมกันปกป้องและคุ้มครองสุขภาพของคนใต้  โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนชาวใต้  ให้ปลอดพ้นจากการเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า  รวมถึงเพื่อสื่อสารให้ภาคีเครือข่ายด้านการควบคุมยาสูบ ได้มีความรู้ ความเข้าใจต่ออันตรายของบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า  และกลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่  

         โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นในวันนี้ ได้รับความร่วมมือจาก หลายภาคส่วน  ได้แก่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช, แผนกเวชกรรมสังคม  คลินิกฟ้าใส โรงพยาบาลพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช,  สมาคมสื่อชุมชนภาคใต้นครศรีธรรมราช,  เครือข่ายยุวทัศน์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สังคมและสิ่งแวดล้อม,   เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปลอดบุหรี่ โดย องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำผุด จ.ตรัง,   เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ โดย จุดจัดการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่จังหวัดปัตตานี, เครือข่ายเยาวชน Gen Z Gen Strong เลือกไม่สูบภาคใต้,  เครือข่ายศูนย์พัฒนาเด็กเล็กฯ Gen Alpha โดย โรงเรียนอนุบาลและศูนย์พัฒนาเด็ก อบต.กะไหล อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา,   เครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคใต้ตอนบน เครือข่ายนักสื่อสารรุ่นใหม่ และ ศูนย์สร้างสรรค์สื่อเพื่อเด็กเยาวชนและครอบครัว  ได้ร่วมกันออกบูธนิทรรศการ ให้ความรู้ทางด้านวิชาการ,  แจกสื่อประชาสัมพันธ์,  เล่นเกม แจกของที่ระลึก/รางวัล,  บริการตรวจสุขภาพ  และให้คำปรึกษาการเลิกบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า  โดยกิจกรรมทั้งหมดจัดขึ้น ณ ลานวัฒนธรรมสวนศรีธรรมาโศกราช อ.เมือง   จ.นครศรีธรรมราช  ระหว่างเวลา 16.30-20.00 น. นายอานนท์ กล่าว

……………………………

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวเด่น

สะพานรอวันซ่อม… เสียงจากชาวเกาะสาหร่ายถึงใจผู้ว่าฯ สตูล

สะพานรอวันซ่อม… เสียงจากชาวเกาะสาหร่ายถึงใจผู้ว่าฯ สตูล

สตูล – บนเกาะสาหร่าย หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 6 ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล สะพานท่าเทียบเรือซึ่งเคยเป็นหัวใจของการเดินทางและขนส่งสินค้า ได้กลายเป็นเพียงโครงสร้างที่ผุพังมานานกว่า 5 ปี สภาพชำรุดทรุดโทรม ขาดการดูแล และไร้เจ้าภาพรับผิดชอบอย่างชัดเจน ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านต้องเผชิญความลำบากทุกวัน

การขนถ่ายสินค้าทางทะเลกลายเป็นเรื่องยากลำบาก โดยเฉพาะในฤดูมรสุม ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว เพราะพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงาม เสียโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับชุมชนและผู้ประกอบการรายย่อย

จากความทุกข์นี้เอง ทำให้นายยุทธพงษ์ หมัดตุกัง ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านตำบลเกาะสาหร่าย พร้อมด้วยนายอดุลย์ ชนะบัณฑิต จากภาคประชาชน จ.สตูล (พลเมืองรักษ์สตูล) เป็นตัวแทนรวบรวมรายชื่อชาวบ้านนับร้อยคน ยื่นหนังสือผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสตูล เพื่อทวงถามแนวทางการซ่อมแซมสะพานแห่งนี้อย่างเร่งด่วน

ความเคลื่อนไหวนี้ได้รับความใส่ใจจาก นายธนพัฒน์  เด่นบูรณะ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสตูล ซึ่งได้ลงมารับเรื่องด้วยตนเอง พร้อมชี้แจงว่า นายศักระ  กปิลกาญจน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ไม่ได้นิ่งนอนใจ และนายพิบูลย์  รัชกิจประการ ส.ส.ได้มีการเข้ามาทวงถามและหารือเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง

 

เบื้องต้น ทางองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสาหร่าย ยินดีรับโอนทรัพย์สินสะพานมาอยู่ในความดูแล โดยหากวงเงินซ่อมแซมอยู่ในกรอบงบประมาณไม่เกิน 3 ล้านบาท ทาง อบต. จะสามารถดำเนินการได้ทันที แต่หากเกินขีดความสามารถ จังหวัดจะประสานกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เพื่อหาทางสนับสนุนงบเพิ่มเติม

 

ขั้นตอนต่อไปคือการให้ อบต. ออกมติเห็นชอบในการรับโอนสะพานเป็นทรัพย์สินของท้องถิ่น เพื่อให้มี “เจ้าภาพ” ดูแลระยะยาวหลังการซ่อมแซมเสร็จสิ้น

 

หัวหน้าสำนักงานจังหวัดกล่าวต่อว่า ผู้ว่าฯ สตูลมีความห่วงใย และต้องการให้เกาะสาหร่ายไม่ตกขบวนในการจัดทำ “แผนยุทธศาสตร์จังหวัด” ประจำปี 2570 หากไม่ทันในปีนี้ ก็จะผลักดันให้เข้าปี 2571 ซึ่งปัจจุบันมีสะพานหลายแห่งในสตูลที่อยู่ในภาวะวิกฤตเช่นกัน

 

ด้านนายยุทธพงษ์ หมัตตุกัง ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า หลังทราบความคืบหน้า รู้สึกคลายกังวล พร้อมขอบคุณผู้ว่าฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่รับฟังเสียงจากชาวบ้าน และแสดงเจตจำนงในการเร่งแก้ไขปัญหานี้ เพื่อให้สะพานแห่งนี้กลับมาเป็นจุดเชื่อมต่อของชีวิต เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของเกาะสาหร่ายได้อีกครั้ง

 

“ขอบคุณที่เกาะสาหร่ายจะไม่ตกขบวน… เราหวังว่าจะได้เห็นสะพานกลับมาแข็งแรงสมศักดิ์ศรี และเป็นหน้าตาของจังหวัดอีกครั้งในเร็ววัน” – ตัวแทนชาวบ้านกล่าวทิ้งท้าย

……………………………………..

อัพเดทล่าสุด

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

รองปลัดวธ.เยือนชุมชน ร่วมพิธีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ ส่งวิญญาณกลับแดนบรรพชน

สตูล-รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรมเยือนชุมชน ร่วมพิธีลอยเรือสะเดาะเคราะห์ ส่งวิญญาณกลับแดนบรรพชน

เมื่อวันที่ 10–12 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา บนเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ได้มีการจัดงาน “มหกรรมวัฒนธรรมท้องถิ่น : วิถีชาวเล เสน่ห์หลีเป๊ะ” ขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ โดยได้รับการสนับสนุนจากนายศักระ กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล พร้อมด้วยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสตูล นำโดยนายกิตตพงษ์  แก้วยอดทอง วัฒนธรรมจังหวัดสตูล  ร่วมกับภาคีเครือข่ายและกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโว้ย

 

พิธีเปิดได้รับเกียรติจาก  นางโชติกา อัครกิจโสภากุล  รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงาน โดยมีนายชัยวุฒิ บัวทอง ปลัดจังหวัดสตูล ให้การต้อนรับ ณ ลานกิจกรรมโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมือง จังหวัดสตูล

 

กิจกรรมสำคัญภายในงานสะท้อนวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวเลอูรักลาโว้ย ซึ่งมีความผูกพันแน่นแฟ้นกับท้องทะเล ทั้งในมิติของการดำรงชีวิตและจิตวิญญาณ  โดยรองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม พร้อมคณะ ได้เยี่ยมชมชุมชนสิเข่งและสุสานโต๊ะฆีรี สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวเล ซึ่งเปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจ โดยมีโต๊ะหมอทำพิธีสื่อสารกับวิญญาณบรรพชน เพื่อขอพรให้ปกปักรักษาผู้มาเยือน

 

หนึ่งในไฮไลท์ของงานคือ **พิธีลอยเรือ “ปาจั๊ก” อันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งชาวเลจัดขึ้น ปีละ 2 ครั้ง  ในคืนวันเพ็ญเดือน 6 และเดือน 11 ตามปฏิทินจันทรคติ เพื่อสะเดาะเคราะห์ ส่งวิญญาณบรรพชนกลับสู่ “ฆูนุงฌีรัย” และล้างความผิดที่อาจเกิดจากการล่าสัตว์ทะเลหรือการกระทำที่ส่งผลต่อธรรมชาติ โดยเรือปาจั๊กทำจากไม้ตีนเป็ดและไม้ระกำ ซึ่งถือว่าเป็นพาหนะวิญญาณ ช่วยพัดพาโรคภัยและความทุกข์ออกจากครอบครัว

 

เมื่อเรือปาจั๊กประกอบเสร็จ ผู้หญิงในชุมชนจะช่วยกันตกแต่งเรือด้วยดอกไม้สีสันสดใส เป็นการเริ่มพิธีเฉลิมฉลองยามค่ำคืน ซึ่งเต็มไปด้วยความสนุกสนาน  ทั้งการแสดงของเยาวชนชาวเล การขับกล่อมบทเพลงพื้นบ้าน และรำมะนาตามจังหวะดนตรีวัฒนธรรม  ก่อนจะร่วมกันอัญเชิญเรือไปยังทะเลเปิดในยามรุ่งสาง เพื่อปล่อยความทุกข์และโรคภัยให้ลอยไปกับคลื่น

 

ภายในงานยังมีการออกบูธจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น อาทิ ของที่ระลึกจากชาวเล อาหารพื้นบ้านหาทานยาก เช่น ยำไข่หอยเม่น แกงปลิงทะเล และนิทรรศการเครื่องเซ่นในพิธีลอยเรือ ถ่ายทอดองค์ความรู้และความเชื่อผ่านงานจัดแสดงรูปแบบสมัยใหม่

 

**ประเพณีลอยเรือของชาวอูรักลาโว้ย** ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระดับชาติเมื่อปี 2566 และยังคงเป็นพิธีกรรมสำคัญที่สื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ การเคารพบรรพชน และการส่งผ่านอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์จากรุ่นสู่รุ่น

 

นับเป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนอันงดงามของวัฒนธรรมชายฝั่ง ที่ไม่เพียงแต่ตราตรึงใจผู้มาเยือน แต่ยังบอกเล่าความหมายของการใช้ชีวิตร่วมกับท้องทะเลอย่างลึกซึ้ง

………………………………..

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 สตูล-“กรมประมง” เร่งเสริมศักยภาพการเพาะเลี้ยงม้าน้ำ สู่สัตว์น้ำเศรษฐกิจมูลค่าสูง

สตูล-“กรมประมง” เร่งเสริมศักยภาพการเพาะเลี้ยงม้าน้ำ สู่สัตว์น้ำเศรษฐกิจมูลค่าสูง

          สตูล – กรมประมง จับมือภาคเอกชนจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมศักยภาพการเพาะเลี้ยงม้าน้ำ สัตว์น้ำเศรษฐกิจมูลค่าสูง เพื่อขยายการผลิตและรองรับความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ พร้อมลดการจับม้าน้ำจากธรรมชาติที่ลดลงอย่างรวดเร็ว

 

          ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลสตูล จังหวัดสตูล เป็นที่ตั้งของโครงการเพาะเลี้ยงม้าน้ำที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มต้นจากการวิจัยและทดลองเพาะเลี้ยงม้าน้ำเพื่อรักษาพันธุ์และเพิ่มปริมาณจากแหล่งธรรมชาติที่ถูกทำลายไปตามกาลเวลา หลังจากนั้นจึงมีการขยายผลไปสู่การส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามันได้นำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในการผลิตเชิงพาณิชย์

 

          ม้าน้ำ ถือเป็นสัตว์น้ำที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และได้รับความนิยมในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ม้าน้ำถูกนำไปใช้ในหลายรูปแบบ เช่น เป็นสัตว์น้ำสวยงาม บริโภคในตำรับยา และทำเป็นเครื่องประดับหรือของที่ระลึก ทำให้ม้าน้ำมีมูลค่าสูงในตลาดโลก แม้จะเป็นสัตว์ที่มีการจับในธรรมชาติ แต่กรมประมงได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเพาะเลี้ยงม้าน้ำมาเป็นระยะเวลานาน โดยขณะนี้สามารถเพาะเลี้ยงม้าน้ำได้ถึง 3 ชนิด ได้แก่ ม้าน้ำหนาม ม้าน้ำดำ และม้าน้ำสามจุด

          นางฐิติพร หลาวประเสริฐ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า  ทางกรมประมงได้จัดโครงการอบรมหลักสูตร “การเพาะเลี้ยงม้าน้ำเพื่อเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจมูลค่าสูง” ณ บารารีสอร์ทและศูนย์วิจัยฯ จังหวัดสตูล ที่ผ่านมา  โดยมีเกษตรกรจาก 5 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต และสตูล เข้าร่วมอบรมจำนวน 40 คน เพื่อเพิ่มทักษะในการเพาะเลี้ยงม้าน้ำ และการแปรรูปม้าน้ำให้เป็นสินค้ามูลค่าสูง   โดยนายนิพนธ์ เสนอินทร์  ประมงจังหวัดสตูล  ร่วมต้อนรับ  

 

          “การอบรมในครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างความรู้และทักษะในการเพาะเลี้ยงม้าน้ำให้แก่เกษตรกร เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตม้าน้ำให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดและลดการจับจากธรรมชาติ ซึ่งม้าน้ำถูกจัดให้เป็นสัตว์น้ำในบัญชีหมายเลข 2 ของอนุสัญญาไซเตส ที่จำกัดการจับและการส่งออกจากแหล่งธรรมชาติ”

 

          การอบรมประกอบด้วยเนื้อหาหลักสูตรเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงม้าน้ำ การแปรรูปม้าน้ำให้เป็นสินค้ามูลค่าสูง รวมถึงการขนส่งและการตลาดเพื่อการจำหน่ายและส่งออกม้าน้ำ โดยมีผู้เชี่ยวชาญทั้งจากกรมประมงและภาคเอกชนให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงในการประกอบอาชีพ

 

          นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาดูงานที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลสตูล เพื่อให้เกษตรกรสามารถเรียนรู้จากกระบวนการจริง และขยายผลความสำเร็จสู่เกษตรกรรายอื่น ๆ ต่อไป

 

          รองอธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้ายว่า “เรามั่นใจว่า การขยายกำลังการผลิตม้าน้ำในเชิงพาณิชย์จะช่วยเสริมสร้างอาชีพให้กับเกษตรกรในพื้นที่ และสามารถรองรับความต้องการของตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดในประเทศจีน ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ ซึ่งม้าน้ำเป็นที่ต้องการสูง”

         เกษตรกร ที่เข้าร่วมโครงการต่างให้ความเห็นว่า การเพาะเลี้ยงม้าน้ำสามารถเป็นอาชีพเสริมที่ทำควบคู่ไปกับการเลี้ยงสัตว์น้ำประเภทอื่น เช่น สาหร่ายหรือกุ้งทะเล โดยเฉพาะ นายวศินะ รุ่งเรือง อายุ 31 ปี เจ้าของ “วศินะฟาร์ม” จังหวัดสตูล  กล่าวว่า “ผมเห็นว่า การเลี้ยงม้าน้ำจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้เสริม เพราะมันไม่ยุ่งยากมาก มีการจัดเตรียมอาหารให้ม้าน้ำ และสามารถเลี้ยงควบคู่กับการปลูกสาหร่ายที่ฟาร์มของเราอยู่แล้ว สำหรับปัญหากฎหมายก็อยากมาศึกษาเพื่อให้ทำได้ถูกต้องตามระเบียบ เราเชื่อว่า ม้าน้ำจะเป็นสินค้าส่งออกที่สามารถสร้างมูลค่าสูงให้กับประเทศได้”

 

          นางฐิติพร ทิ้งท้ายว่า “โครงการนี้ไม่เพียงแต่จะเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรไทย แต่ยังเป็นการอนุรักษ์ม้าน้ำในธรรมชาติและลดผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลในระยะยาว ทำให้ม้าน้ำกลายเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจมูลค่าสูงทางเลือกใหม่ของเกษตรกรไทยในอนาคต”

…………………………….

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท้องถิ่น-การเมือง

อบจ.ภาคใต้ผนึกกำลัง ยกระดับท้องถิ่นสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

อบจ.ภาคใต้ผนึกกำลัง ยกระดับท้องถิ่นสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

            วันที่ 8 พฤษภาคม 2568  – บรรยากาศคึกคักเต็มไปด้วยพลังแห่งการพัฒนา ณ หอประชุมวิทยาลัยเทคนิคสตูล จังหวัดสตูล เมื่อ 14 องค์การบริหารส่วนจังหวัดภาคใต้รวมพลังกว่า 1,000 คน ในโครงการอบรมสัมมนาเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของบุคลากร อบจ.ภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ 2568

         

          นายศักระ กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ประธานในพิธี เน้นย้ำถึงความสำคัญของ อบจ. ในฐานะหน่วยงานหลักที่ใกล้ชิดประชาชน “อบจ. เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นและประเทศชาติให้ก้าวหน้าและยั่งยืน การพัฒนาศักยภาพบุคลากรจึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะขับเคลื่อนท้องถิ่นให้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง”

 

           งานนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศ นำโดย ศาสตราจารย์ ดร.จรัส สุวรรณมาลา ผู้เชี่ยวชาญด้านการปกครองท้องถิ่น นายตระหง่าน เกียรติศิริโรจน์ อธิบดีศาลปกครองนครศรีธรรมราช และอาจารย์รัชเขต วีสเพ็ญ ที่มาถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์อันทรงคุณค่า

 

          นายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร นายก อบจ.พัทลุง รักษาการประธานสมาพันธ์ อบจ.ภาคใต้ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานว่า “นอกจากจะเป็นการเสริมสร้างความรู้ด้านกฎหมาย ระเบียบให้ผู้ปฏิบัติงาน ยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่าง 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นให้เข้มแข็งและยั่งยืน”

         ด้านนายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายก อบจ.สตูล เจ้าภาพงานครั้งนี้ ได้เชิญชวนผู้เข้าร่วมงานสัมผัสเสน่ห์ของจังหวัดสตูล “จังหวัดเล็กๆ ที่ไม่ใช่ทางผ่าน แต่เป็นปลายทางแห่งการท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นทั้งทางบกและทางทะเล โดยเฉพาะอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของประเทศไทย” พร้อมทั้งภาคภูมิใจนำเสนอจังหวัดที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งไทยพุทธ มุสลิม และชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข สมกับคำขวัญ “สตูล สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์”

 

         การอบรมสัมมนาครั้งนี้จะดำเนินการต่อเนื่องถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2568 โดยคาดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาภาคใต้อย่างบูรณาการ ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรม

……………………………………

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

สตูล-บ้านสาครเปิดประตูสู่การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ชวนนักเดินทางร่วมเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนแบบลงมือทำ

สตูล-บ้านสาครเปิดประตูสู่การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ชวนนักเดินทางร่วมเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนแบบลงมือทำ

         วันที่ 6  พฤษภาคม 2568 – บรรยากาศคึกคักริมท่าเรือบ้านสาคร อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล เมื่อชาวบ้านร่วมต้อนรับนักท่องเที่ยวและแขกผู้มีเกียรติกว่า 300 คน ในพิธีเปิดโครงการ “D-HOPE” หรือ “กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่นักท่องเที่ยวลงมือปฏิบัติ” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2568 โดยมีนายคณิต คงช่วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานในพิธี

 

        นายสุระชาติ พรหมดิเรก พัฒนาการจังหวัดสตูล เปิดเผยว่า โครงการนี้เป็นการต่อยอดจากการค้นหาผู้จัดโปรแกรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Champ) และผลิตภัณฑ์เด่นของชุมชน ซึ่งจังหวัดสตูลได้คัดเลือกผู้ประกอบการชุมชนที่มีศักยภาพ 10 ราย ให้มาร่วมสาธิตและถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวสามารถลงมือทำได้จริง

 

        “เราต้องการนำเสนอการท่องเที่ยวในมิติใหม่ ที่นักท่องเที่ยวไม่ใช่แค่มาชม แต่ได้มาเรียนรู้และลงมือทำ ซึ่งจะสร้างประสบการณ์ที่มีคุณค่าและความประทับใจ” นายสุระชาติกล่าว

         ไฮไลท์ของงานคือการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีเอกลักษณ์ 10 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ปลาส้มสาคร น้ำพริกปลาส้ม ปลากรอบแก้ว น้ำพริกจิ้งจั้ง แมงกะพรุนแปรรูป ขนมปุยฝ้าย เครื่องแกง หอยสามรส กระเป๋าผ้ามัดย้อม และเบ็ดตกปลาชายฝั่ง โดยนักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้วิธีการทำผลิตภัณฑ์เหล่านี้จากผู้ผลิตโดยตรง

 

           นอกจากนี้ ยังมีการทดสอบเส้นทางการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านสาคร ที่จะพานักท่องเที่ยวสัมผัสวิถีชีวิตริมทะเล การประมงพื้นบ้าน และธรรมชาติอันสวยงามของชุมชนชายฝั่ง

 

           ด้านนายคณิต คงช่วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวในพิธีเปิดว่า “การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เป็นรูปแบบที่เปิดโอกาสให้ชุมชนได้นำเสนอเอกลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวก็ได้รับประสบการณ์ที่แตกต่างและมีคุณค่า ผมหวังว่าโครงการนี้จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนและสร้างความยั่งยืนให้กับการท่องเที่ยวของจังหวัดสตูล”

          โครงการ D-HOPE บ้านสาครเป็นความร่วมมือระหว่างกรมการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสตูล และสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอท่าแพ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน และประชาสัมพันธ์ผู้ประกอบการชุมชนให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยวและบุคคลทั่วไป

 

         นักท่องเที่ยวและผู้สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตลอดทั้ง 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 4-6 พฤษภาคม 2568 ณ ท่าเรือบ้านสาคร ตำบลสาคร อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล

………………………………………………

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวเด่น

ผู้ว่าฯ สตูลนำทีมเยียวยาครอบครัวผู้สูงอายุวัย 72 ปี หลังบ้านถูกไฟไหม้วอด สูญเสียทรัพย์สินกว่า 6 หมื่นบาท

ผู้ว่าฯ สตูลนำทีมเยียวยาครอบครัวผู้สูงอายุวัย 72 ปี หลังบ้านถูกไฟไหม้วอด สูญเสียทรัพย์สินกว่า 6 หมื่นบาท

      วันที่ (30 เม.ย.68) ที่บ้านเลขที่ 130 หมู่ที่ 6 บ้านคลองบัน ตำบลสาคร อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล นายศักระ กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล พร้อมด้วย ทพญ.สุกีรติ กปิลกาญจน์ นายกเหล่ากชาดจังหวัดสตูล นายอาทิตย์ วงมุสิก ปลัดอำเภออาวุโสอำเภอท่าแพ นางสาววาสิฏฐี สาระพงศ์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสตูล  ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสตูล  ร่วมลงพื้นที่ให้กำลังใจผู้ประสบเหตุอัคคีภัย มอบสิ่งของช่วยเหลือ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ

         เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2568  เวลาประมาณ 16.00 น. ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ ณ บ้านเลขที่ 130 หมู่ที่ 6 บ้านคลองบัน ตำบลสาคร อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล โดยผู้อยู่อาศัย ชื่อนางสะแอด๊ะ นาปาเลน อายุ 72 ปี เป็นมารดาของเจ้าของบ้าน ชื่อนางสาวฮาบีบ๊ะ น่าฮู อายุ 39 ปี จากเหตุเพลิงไหม้ดังกล่าว ขณะเกิดเหตุไม่มีผู้ใดอาศัยอยู่ที่บ้าน ทั้งนี้องค์การบริหารส่วนตำบลสาคร  ได้ดำเนินการเข้าระงับเหตุเพลิงไหม้ และให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น  ทั้งนี้มีทรัพย์สินที่เสียหาย คือ อาคารปลูกสร้าง 1 หลัง ประมาณการความเสียหายเบื้องต้น 60,000 บาท

……………………………

ภาพ/ข่าว : ขนิษฐา เดิมหลิ่ม / ส.ปชส.สตูล

อัพเดทล่าสุด

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 จากกำแพงสูงสู่จานขนมจีน: เรื่องเล่าชีวิตใหม่ในร้านเล็ก ๆ หน้าเรือนจำสตูล

จากกำแพงสูงสู่จานขนมจีน: เรื่องเล่าชีวิตใหม่ในร้านเล็ก ๆ หน้าเรือนจำสตูล

เพลิงเล็กๆข้างบ้านพักถนนยาตราสวัสดี  ตำบลพิมาน  อำเภอเมือง  จังหวัดสตูล มีร้านขนมจีนเล็ก ๆ ตั้งอยู่ตรงข้ามกับเรือนจำจังหวัดสตูล ร้านที่ไม่ได้ขายแค่รสชาติอาหาร แต่จำหน่าย “โอกาสครั้งใหม่” ให้กับชีวิตที่เคยพลาดพลั้ง

 

“ร้านขนมจีนเรือนจำสตูล” เปิดบริการวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 09.00-14.00 น. มีผู้ต้องขังชาย 5 คนจากกองงานอาหารและเครื่องดื่ม ที่ได้รับคัดเลือกเพราะประพฤติดี ใกล้พ้นโทษ   ออกมาเรียนรู้การทำงานจริง ฝึกทักษะ และบริการลูกค้าด้วยความตั้งใจ ด้านหลังร้าน  ผู้ต้องขังหญิงยังคงทำงานอย่างขะมักเขม้น ปรุงน้ำยาขนมจีนรสชาติกลมกล่อม ทั้งน้ำยากะทิ น้ำยาไตปลา เขียวหวาน และแกงหวาน เสิร์ฟคู่ไข่ต้ม ไก่ทอด ในราคาย่อมเยาเพียง 25 บาทต่อจาน

 

หนึ่งจานขนมจีน อาจเป็นเพียงอาหารมื้อหนึ่งของลูกค้า แต่สำหรับพวกเขาแล้ว…มันคือ “ตั๋วใบใหม่” ในการกลับเข้าสู่สังคม

ลูกค้า รายหนึ่งที่เพิ่งมาทานเป็นครั้งแรกบอกว่า   เพื่อนชวนมาครั้งแรกก็รู้สึกชื่นชอบ  ด้วยรสชาติที่อร่อย ราคา ย่อมเยา และชอบขนมหวาน มีหน้าตาหลากหลาย ให้เลือกทาน เราจะเชิญชวนทุกคน มาอุดหนุน ขนมจีน เรือนจำสตูล กันเยอะ ๆ

 

นอกจากขนมจีน ยังมีขนมหวานฝีมือผู้ต้องขังหญิงให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นลูกชุบสีสันสดใส วุ้นกะทิ ขนมเปี๊ยะ และขนมชั้นที่จัดแต่งอย่างพิถีพิถัน  สะท้อนความใส่ใจในทุกรายละเอียด  ราวกับเป็นสัญญาณว่า พวกเขาเองก็พร้อมเปลี่ยนแปลง

 

 รายได้จากการขายสินค้า 70% เป็นของผู้ต้องขัง  เพื่อเป็นทุนตั้งต้นในชีวิตใหม่ อีก 30% นำกลับสู่โครงการฝึกอาชีพ สร้างวงจรโอกาสให้รุ่นน้องที่กำลังรอคิวเปลี่ยนชีวิตในวันข้างหน้า

 

และยังมีผลิตภัณฑ์ อีกมากมายกับผู้ต้องขังด้านใน ที่นำออกมาวางจำหน่าย ภายในเรือนจำจังหวัดสตูล อาทิ. น้ำชง, ไม้กวาด , พรมเช็ดเท้า, ว่าวพื้นเมือง, ฝาชี, ผลิตภัณฑ์ฟอร์นิเจอร์,และฝึกคาร์แคร์

โครงการเหล่านี้เกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนของ นายพีรพล น่วมศรี ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดสตูล นายมูหมดยูซุป เบ็ญอาซิส ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาผู้ต้องขัง และนางสาวสุภาพร ทับมาก หัวหน้าฝ่ายฝึกวิชาชีพ ที่เชื่อว่า ทุกชีวิตที่เคยก้าวพลาด สมควรได้เรียนรู้และมีโอกาสสร้างชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม

 

สำหรับผู้ที่อยากสนับสนุนชีวิตใหม่เหล่านี้ สามารถแวะมาอุดหนุนขนมจีนอร่อย ๆ หรือสั่งผลิตภัณฑ์ฝึกอาชีพได้ที่ 074-711950 ต่อ 105 (นางสาวสุภาพร ทับมาก) หรือ 081-6087252 (นายพีรพล น่วมศรี)

 

“บางครั้ง… การให้โอกาส เริ่มต้นได้จากแค่การนั่งลงทานขนมจีนจานหนึ่ง”

……………

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป ท่องเที่ยว-กีฬา

สตูล-ลังกาวีเชื่อมสัมพันธ์ผ่านการแข่งขันตกปลานานาชาติ “Satun Langkawi Fishing thru Andaman 2025”

สตูล-ลังกาวีเชื่อมสัมพันธ์ผ่านการแข่งขันตกปลานานาชาติ “Satun Langkawi Fishing thru Andaman 2025”

วันที่ 25 เมษายน 2568 ที่ท่าเทียบเรือท่องเที่ยว ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล — นายศักระ กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันตกปลา “Satun Fishing thru Andaman 2025” โดยมี Dato Haslina binti Abdul Hamid ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหน่วยงานพัฒนาลังกาวี (LADA) และ Dr. Azmil Munif Bin Mohd Bukhari ผู้จัดการฝ่ายการท่องเที่ยว พร้อมด้วยนางสาวภัชกุล ตรีพันธ์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสตูล ร่วมในพิธีปล่อยเรือนักตกปลา

การแข่งขันครั้งนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 เมษายน 2568 ภายใต้โครงการการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัดสตูล ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬา และผลักดัน Soft Power ในมิติด้านกีฬาควบคู่การท่องเที่ยว

นายศักระ กปิลกาญจน์ กล่าวว่า “จังหวัดสตูลมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูง มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ทั้งภูเขา ทะเล ป่าธรรมชาติ และป่าชายเลน อีกทั้งยังมีหมู่เกาะที่สวยงาม และมีพรมแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ สตูลยังได้รับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลก ซึ่งเป็นจุดเด่นที่สามารถพัฒนาให้เป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ”

การแข่งขันตกปลาประเภทเรือทัวร์เบ็ดครั้งนี้มีทีมเข้าร่วมทั้งสิ้น 27 ทีม ชิงเงินรางวัลรวม 497,000 บาท แบ่งออกเป็น 51 รางวัล ประกอบด้วย ประเภทปลาทีมน้ำหนักสูงสุด 10 รางวัล ประเภทปลาตัวเดียวน้ำหนักสูงสุด 3 รางวัล ประเภทปลาเกม 12 ชนิด น้ำหนักสูงสุด 36 รางวัล และรางวัลพิเศษอีก 2 รางวัล ได้แก่ รางวัลกัปตันดีเด่น และคลิปวิดีโอดีเด่น

นอกจากการแข่งขันตกปลา ภายในงานยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย อาทิ การแสดงบนเวที การแสดงศิลปวัฒนธรรม และการแสดงของศิลปินนักร้องที่มีชื่อเสียง บูธขายสินค้าและอาหารพื้นถิ่นจากพ่อค้าแม่ค้าในชุมชนกว่า 30 ร้าน รวมถึงการประมูลปลาเพื่อนำรายได้ไปบริจาคให้กับงานสาธารณประโยชน์

นางสาวภัชกุล ตรีพันธ์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสตูล กล่าวว่า “การจัดงานครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดสตูลเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวและส่งเสริมรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่อีกด้วย”

การแข่งขันตกปลา “Satun Fishing thru Andaman 2025” นับเป็นกิจกรรมสำคัญที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและมาเลเซีย ผ่านความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งจะสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างสตูลและลังกาวี ตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกันของทั้งสองประเทศ​​​​​​​​​​​​​​​​

……………………………

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

อัพเดทล่าสุด