Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

             บ้านทางยาง หมู่ 7 ตำบลสาคร อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล พื้นที่ที่เงียบสงบถูกปลุกให้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง ด้วยแรงบันดาลใจของ “ครูจิสน  มัจฉา” อดีตครูผู้เบนเข็มชีวิตมาสู่การทำเกษตรเต็มตัว สร้าง ฟาร์มเห็ดนางฟ้า จากก้อนเชื้อ 85 ก้อนแรกในหม้อนึ่งลูกทุ่ง สู่วิสาหกิจชุมชนที่ผลิตก้อนเห็ดมากถึง 7,000 ก้อนต่อรอบ ก่อเกิดรายได้และการจ้างงานให้ชุมชนในทุกฤดูกาล

 

             ครูจิสน  มัจฉา  ประธานกลุ่มทางยางบ้านเห็ด บอกว่า  อยากหาทางเลือกให้ครอบครัวมีรายได้เสริม เห็นเห็ดนางฟ้าก็รู้สึกว่าใช่… เริ่มทำจากของเล็ก ๆ ที่เราชอบ พอทำจริง ๆ มันกลายเป็นรายได้หลักเลยค่ะ  สาเหตุที่เลือกเห็ดนางฟ้าเพราะสามารถขายได้ทั้งก้อนเห็ด  ดอกเห็ด และก้อนที่หมดอายุสามารถไปทำปุ๋ยได้

 

            ครูจิสน. เริ่มเพาะเห็ดจากความสนใจส่วนตัว ใช้หม้อนึ่งฟืนแบบพื้นบ้าน วันละ 6–8 ชั่วโมงต่อ 85 ก้อน ผ่านมาเกือบสิบปี เธอพัฒนาเทคนิคและเครื่องมือการผลิตจนกลายเป็นฟาร์มต้นแบบ ใช้หม้อนึ่งระบบไอน้ำที่รองรับได้มากถึง 780 ก้อนต่อครั้ง ลดการใช้ไม้ฟืน เพิ่มประสิทธิภาพ พร้อมตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน “ทางยางบ้านเห็ด” อย่างเป็นทางการในปี 2560

 

ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิก 10 ราย ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันและประมงในพื้นที่. ที่หันมาปลูกเห็ดเสริมอาชีพ  โดย กลุ่มมีการใช้นวัตกรรม ได้แก่ เครื่องผสม, เครื่องอัดก้อน, เตานึ่งระบบไอน้ำ ช่วยให้การผลิตก้อนเชื้อเห็ดรวดเร็ว มีมาตรฐาน และปลอดภัยยิ่งขึ้น

 

สินค้าหลักของกลุ่ม ได้แก่

  • ก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้า (10 บาท/ก้อน) ผลิตปีละ 4–5 รอบ รวมกว่า 28,000 ก้อน
  • ดอกเห็ดสด (60 บาท/กก.) ส่งตลาดละงู โรงเรียน และตัวแทนจำหน่าย
  • ผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น
  • น้ำพริกเห็ดนางฟ้า
  • เห็ดทอดกรอบรสลาบ
  • เห็ดปาปิก้า และสูตรดั้งเดิม

 

ขายดีทั้งตลาดสดและออนไลน์ สร้างรายได้เฉลี่ยเดือนละกว่า 30,000 บาท (ก่อนหักค่าใช้จ่าย) ไม่รวมแปรรูปเห็ด

           สำหรับ เห็ดก้อนเชื้อหนึ่งก้อนสามารถเก็บผลผลิตได้นานถึง 5 เดือน เมื่อหมดอายุยังสามารถนำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ ใช้ในแปลงเกษตรของชุมชน

 

          “สำนักงานเกษตรอำเภอท่าแพ  ได้สนับสนุนกลุ่มนี้ตั้งแต่เริ่มต้น ตั้งแต่เรื่องเทคโนโลยี การจัดการ การหาตลาด จนกลายเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่น ๆ ได้เห็นว่า…ถ้าเราพร้อมลงมือทำ เกษตรก็สร้างอาชีพที่มั่นคงได้จริง ๆ”

 

          นายอารีย์  โส๊ะสันสะ  เกษตรอำเภอท่าแพ กล่าวอย่างภาคภูมิใจ ในอนาคตกลุ่มเตรียมขยายการเพาะเห็ดพันธุ์ใหม่ เช่น เห็ดมิลกี้ พร้อมวางระบบโรงเรือนควบคุมอุณหภูมิ สร้างแบรนด์ท้องถิ่น จดทะเบียนสินค้า และเพิ่มช่องทางตลาดในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น

 

          สำหรับเกษตรกรที่มองหาอาชีพเสริม  เดี๋ยวนี้ก็จะมีพืชเป็นพืชเศรษฐกิจอยู่หลายๆ ตัวอย่างเช่นสละ , กาแฟ.  แล้วก็เห็ด  เหมาะสำหรับผู้ที่มีเวลาน้อย แล้วถ้าสามารถ ทำได้ตั้งแต่ขั้นตอนในการผลิตก้อนเอง และก็ในการเปิดออกจำหน่ายเองตรงนี้เขาจะมีกำไรค่อนข้างดี

 

         ผู้สนใจสามารถเยี่ยมชมและศึกษาดูงานได้ที่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนทางยางบ้านเห็ด  เลขที่ 22 หมู่ 7 ตำบลสาคร อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล 91150. เพจ: บ้านไร่ภูภัทรโทร. 087-091-6176

 

         จากแรงบันดาลใจเล็ก ๆ ของอดีตครูท้องถิ่น… สู่วิสาหกิจชุมชนที่ยิ่งใหญ่ในหัวใจของคนบ้านทางยาง

…….

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 สตูล-“กรมประมง” เร่งเสริมศักยภาพการเพาะเลี้ยงม้าน้ำ สู่สัตว์น้ำเศรษฐกิจมูลค่าสูง

สตูล-“กรมประมง” เร่งเสริมศักยภาพการเพาะเลี้ยงม้าน้ำ สู่สัตว์น้ำเศรษฐกิจมูลค่าสูง

          สตูล – กรมประมง จับมือภาคเอกชนจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมศักยภาพการเพาะเลี้ยงม้าน้ำ สัตว์น้ำเศรษฐกิจมูลค่าสูง เพื่อขยายการผลิตและรองรับความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ พร้อมลดการจับม้าน้ำจากธรรมชาติที่ลดลงอย่างรวดเร็ว

 

          ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลสตูล จังหวัดสตูล เป็นที่ตั้งของโครงการเพาะเลี้ยงม้าน้ำที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งเริ่มต้นจากการวิจัยและทดลองเพาะเลี้ยงม้าน้ำเพื่อรักษาพันธุ์และเพิ่มปริมาณจากแหล่งธรรมชาติที่ถูกทำลายไปตามกาลเวลา หลังจากนั้นจึงมีการขยายผลไปสู่การส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามันได้นำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในการผลิตเชิงพาณิชย์

 

          ม้าน้ำ ถือเป็นสัตว์น้ำที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และได้รับความนิยมในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ม้าน้ำถูกนำไปใช้ในหลายรูปแบบ เช่น เป็นสัตว์น้ำสวยงาม บริโภคในตำรับยา และทำเป็นเครื่องประดับหรือของที่ระลึก ทำให้ม้าน้ำมีมูลค่าสูงในตลาดโลก แม้จะเป็นสัตว์ที่มีการจับในธรรมชาติ แต่กรมประมงได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนาเพาะเลี้ยงม้าน้ำมาเป็นระยะเวลานาน โดยขณะนี้สามารถเพาะเลี้ยงม้าน้ำได้ถึง 3 ชนิด ได้แก่ ม้าน้ำหนาม ม้าน้ำดำ และม้าน้ำสามจุด

          นางฐิติพร หลาวประเสริฐ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า  ทางกรมประมงได้จัดโครงการอบรมหลักสูตร “การเพาะเลี้ยงม้าน้ำเพื่อเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจมูลค่าสูง” ณ บารารีสอร์ทและศูนย์วิจัยฯ จังหวัดสตูล ที่ผ่านมา  โดยมีเกษตรกรจาก 5 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต และสตูล เข้าร่วมอบรมจำนวน 40 คน เพื่อเพิ่มทักษะในการเพาะเลี้ยงม้าน้ำ และการแปรรูปม้าน้ำให้เป็นสินค้ามูลค่าสูง   โดยนายนิพนธ์ เสนอินทร์  ประมงจังหวัดสตูล  ร่วมต้อนรับ  

 

          “การอบรมในครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างความรู้และทักษะในการเพาะเลี้ยงม้าน้ำให้แก่เกษตรกร เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตม้าน้ำให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดและลดการจับจากธรรมชาติ ซึ่งม้าน้ำถูกจัดให้เป็นสัตว์น้ำในบัญชีหมายเลข 2 ของอนุสัญญาไซเตส ที่จำกัดการจับและการส่งออกจากแหล่งธรรมชาติ”

 

          การอบรมประกอบด้วยเนื้อหาหลักสูตรเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงม้าน้ำ การแปรรูปม้าน้ำให้เป็นสินค้ามูลค่าสูง รวมถึงการขนส่งและการตลาดเพื่อการจำหน่ายและส่งออกม้าน้ำ โดยมีผู้เชี่ยวชาญทั้งจากกรมประมงและภาคเอกชนให้ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อสามารถนำไปปรับใช้ได้จริงในการประกอบอาชีพ

 

          นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาดูงานที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลสตูล เพื่อให้เกษตรกรสามารถเรียนรู้จากกระบวนการจริง และขยายผลความสำเร็จสู่เกษตรกรรายอื่น ๆ ต่อไป

 

          รองอธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้ายว่า “เรามั่นใจว่า การขยายกำลังการผลิตม้าน้ำในเชิงพาณิชย์จะช่วยเสริมสร้างอาชีพให้กับเกษตรกรในพื้นที่ และสามารถรองรับความต้องการของตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดในประเทศจีน ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ ซึ่งม้าน้ำเป็นที่ต้องการสูง”

         เกษตรกร ที่เข้าร่วมโครงการต่างให้ความเห็นว่า การเพาะเลี้ยงม้าน้ำสามารถเป็นอาชีพเสริมที่ทำควบคู่ไปกับการเลี้ยงสัตว์น้ำประเภทอื่น เช่น สาหร่ายหรือกุ้งทะเล โดยเฉพาะ นายวศินะ รุ่งเรือง อายุ 31 ปี เจ้าของ “วศินะฟาร์ม” จังหวัดสตูล  กล่าวว่า “ผมเห็นว่า การเลี้ยงม้าน้ำจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้เสริม เพราะมันไม่ยุ่งยากมาก มีการจัดเตรียมอาหารให้ม้าน้ำ และสามารถเลี้ยงควบคู่กับการปลูกสาหร่ายที่ฟาร์มของเราอยู่แล้ว สำหรับปัญหากฎหมายก็อยากมาศึกษาเพื่อให้ทำได้ถูกต้องตามระเบียบ เราเชื่อว่า ม้าน้ำจะเป็นสินค้าส่งออกที่สามารถสร้างมูลค่าสูงให้กับประเทศได้”

 

          นางฐิติพร ทิ้งท้ายว่า “โครงการนี้ไม่เพียงแต่จะเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรไทย แต่ยังเป็นการอนุรักษ์ม้าน้ำในธรรมชาติและลดผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลในระยะยาว ทำให้ม้าน้ำกลายเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจมูลค่าสูงทางเลือกใหม่ของเกษตรกรไทยในอนาคต”

…………………………….

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 จากกำแพงสูงสู่จานขนมจีน: เรื่องเล่าชีวิตใหม่ในร้านเล็ก ๆ หน้าเรือนจำสตูล

จากกำแพงสูงสู่จานขนมจีน: เรื่องเล่าชีวิตใหม่ในร้านเล็ก ๆ หน้าเรือนจำสตูล

เพลิงเล็กๆข้างบ้านพักถนนยาตราสวัสดี  ตำบลพิมาน  อำเภอเมือง  จังหวัดสตูล มีร้านขนมจีนเล็ก ๆ ตั้งอยู่ตรงข้ามกับเรือนจำจังหวัดสตูล ร้านที่ไม่ได้ขายแค่รสชาติอาหาร แต่จำหน่าย “โอกาสครั้งใหม่” ให้กับชีวิตที่เคยพลาดพลั้ง

 

“ร้านขนมจีนเรือนจำสตูล” เปิดบริการวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 09.00-14.00 น. มีผู้ต้องขังชาย 5 คนจากกองงานอาหารและเครื่องดื่ม ที่ได้รับคัดเลือกเพราะประพฤติดี ใกล้พ้นโทษ   ออกมาเรียนรู้การทำงานจริง ฝึกทักษะ และบริการลูกค้าด้วยความตั้งใจ ด้านหลังร้าน  ผู้ต้องขังหญิงยังคงทำงานอย่างขะมักเขม้น ปรุงน้ำยาขนมจีนรสชาติกลมกล่อม ทั้งน้ำยากะทิ น้ำยาไตปลา เขียวหวาน และแกงหวาน เสิร์ฟคู่ไข่ต้ม ไก่ทอด ในราคาย่อมเยาเพียง 25 บาทต่อจาน

 

หนึ่งจานขนมจีน อาจเป็นเพียงอาหารมื้อหนึ่งของลูกค้า แต่สำหรับพวกเขาแล้ว…มันคือ “ตั๋วใบใหม่” ในการกลับเข้าสู่สังคม

ลูกค้า รายหนึ่งที่เพิ่งมาทานเป็นครั้งแรกบอกว่า   เพื่อนชวนมาครั้งแรกก็รู้สึกชื่นชอบ  ด้วยรสชาติที่อร่อย ราคา ย่อมเยา และชอบขนมหวาน มีหน้าตาหลากหลาย ให้เลือกทาน เราจะเชิญชวนทุกคน มาอุดหนุน ขนมจีน เรือนจำสตูล กันเยอะ ๆ

 

นอกจากขนมจีน ยังมีขนมหวานฝีมือผู้ต้องขังหญิงให้เลือก ไม่ว่าจะเป็นลูกชุบสีสันสดใส วุ้นกะทิ ขนมเปี๊ยะ และขนมชั้นที่จัดแต่งอย่างพิถีพิถัน  สะท้อนความใส่ใจในทุกรายละเอียด  ราวกับเป็นสัญญาณว่า พวกเขาเองก็พร้อมเปลี่ยนแปลง

 

 รายได้จากการขายสินค้า 70% เป็นของผู้ต้องขัง  เพื่อเป็นทุนตั้งต้นในชีวิตใหม่ อีก 30% นำกลับสู่โครงการฝึกอาชีพ สร้างวงจรโอกาสให้รุ่นน้องที่กำลังรอคิวเปลี่ยนชีวิตในวันข้างหน้า

 

และยังมีผลิตภัณฑ์ อีกมากมายกับผู้ต้องขังด้านใน ที่นำออกมาวางจำหน่าย ภายในเรือนจำจังหวัดสตูล อาทิ. น้ำชง, ไม้กวาด , พรมเช็ดเท้า, ว่าวพื้นเมือง, ฝาชี, ผลิตภัณฑ์ฟอร์นิเจอร์,และฝึกคาร์แคร์

โครงการเหล่านี้เกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนของ นายพีรพล น่วมศรี ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดสตูล นายมูหมดยูซุป เบ็ญอาซิส ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาผู้ต้องขัง และนางสาวสุภาพร ทับมาก หัวหน้าฝ่ายฝึกวิชาชีพ ที่เชื่อว่า ทุกชีวิตที่เคยก้าวพลาด สมควรได้เรียนรู้และมีโอกาสสร้างชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม

 

สำหรับผู้ที่อยากสนับสนุนชีวิตใหม่เหล่านี้ สามารถแวะมาอุดหนุนขนมจีนอร่อย ๆ หรือสั่งผลิตภัณฑ์ฝึกอาชีพได้ที่ 074-711950 ต่อ 105 (นางสาวสุภาพร ทับมาก) หรือ 081-6087252 (นายพีรพล น่วมศรี)

 

“บางครั้ง… การให้โอกาส เริ่มต้นได้จากแค่การนั่งลงทานขนมจีนจานหนึ่ง”

……………

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 สตูลเปิดฤดู “ผสมพันธุ์ดอก เก็บผล แปรรูปสละ” ยกระดับสละสุมาลีสู่ผลไม้เศรษฐกิจแห่งท่าแพ

สตูลเปิดฤดู “ผสมพันธุ์ดอก เก็บผล แปรรูปสละ” ยกระดับสละสุมาลีสู่ผลไม้เศรษฐกิจแห่งท่าแพ

           สำนักงานเกษตรจังหวัดสตูลจัดกิจกรรมส่งเสริมการผลิตและแปรรูปสละคุณภาพ   เปิดเทคนิคผสมเกสรเพิ่มผลผลิตกว่า 70% พร้อมต่อยอดแปรรูปสละน้ำปลาหวานสร้างมูลค่าเพิ่ม

         

           บรรยากาศเต็มไปด้วยความรู้และความตื่นเต้น ณ แปลงต้นแบบการผลิตสละคุณภาพของนายประชา กาสาเอก หมู่ที่ 6 ตำบลท่าแพ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล เมื่อสำนักงานเกษตรจังหวัดสตูลร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอท่าแพ จัดกิจกรรม “ผสมดอก เก็บผล แปรรูปสละ” โดยมีนายหร่ออ๊บ มุเส็มสะเดา นายอำเภอท่าแพ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยนางสาวกำไลทิพย์ เศรษฐ์วิชัย เกษตรจังหวัดสตูล และคณะเจ้าหน้าที่ ร่วมถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรและผู้สนใจที่เข้าร่วมกิจกรรม

         

           กิจกรรมเริ่มต้นอย่างน่าสนใจด้วยการสาธิตเทคนิคการผสมเกสรดอกสละแบบต่างๆ ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยเพิ่มอัตราการติดผล  จากเดิมที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติเพียง 20-30% ให้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 70%  นายอารีย์  โส๊ะสันสะ เกษตรอำเภอท่าแพ อธิบายพร้อมสาธิตเทคนิคการผสมเกสรทั้ง 4 วิธี ได้แก่ การเขย่าถุง การถูดอก การปักดอก และการพ่นเกสร  โดยเน้นการใช้เกสรตัวผู้ที่มีคุณภาพและจังหวะเวลาที่เหมาะสม

 

          “การผสมเกสรไม่ใช่แค่เพิ่มปริมาณการติดผล แต่ยังช่วยยกระดับคุณภาพของผลสละให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เนื้อแน่น และรสชาติหวานฉ่ำยิ่งขึ้นด้วย”

         แปลงสละของนายประชา กาสาเอก เป็นแปลงต้นแบบการผลิตสละคุณภาพ พื้นที่ 3 ไร่  ได้เปลี่ยนสภาพจากต้นยางพารา ปาล์มน้ำมัน มาปลูกสละสายพันธุ์สุมาลีมานานกว่า 3 ปี และได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP เมื่อปี 2567 ทำให้ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาด เจ้าของแปลงเล่าถึงประสบการณ์การดูแลสละว่า “สละเป็นพืชที่ต้องการความชื้นและร่มเงาพอสมควร การจัดการระบบน้ำและปุ๋ยที่เหมาะสมเป็นปัจจัยสำคัญ ที่สำคัญคือการผสมเกสรที่ถูกวิธีจะช่วยให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูง”

 

          จากนั้น คณะได้เดินชมสวนสละที่ปลูกอย่างเป็นระบบ โดยมีการจัดการแถวปลูก ระยะปลูก การให้น้ำ และระบบระบายน้ำที่เหมาะสม รวมถึงการปลูกต้นตัวผู้ร่วมประมาณ 10% เพื่อการผสมเกสรที่มีประสิทธิภาพ นางสาวกำไลทิพย์ เศรษฐ์วิชัย เกษตรจังหวัดสตูล กล่าวว่า “อำเภอท่าแพมีศักยภาพสูงในการผลิตสละคุณภาพ ด้วยผลผลิตเฉลี่ยสูงถึง 1,156 กิโลกรัมต่อไร่ และสละสุมาลีมีจุดเด่นที่เนื้อหนา กลิ่นหอม รสหวานฉ่ำ ถือเป็นจุดขายสำคัญ”

          ไฮไลท์สำคัญของงานคือการสาธิตการแปรรูปสละน้ำปลาหวาน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและยืดอายุการเก็บรักษาผลผลิต   เจ้าหน้าที่สาธิตขั้นตอนการคัดเลือกสละที่มีคุณภาพ การปอกเปลือก แกะเมล็ด และการหมักกับน้ำปลาหวานตามสูตรเฉพาะ ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีการแนะนำผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่นๆ เช่น สละลอยแก้ว และสละทรงเครื่อง ที่สามารถพัฒนาเป็นสินค้า OTOP ของชุมชน

 

           “เราต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตั้งแต่การผลิตที่มีคุณภาพ การเก็บเกี่ยวที่ถูกต้อง และการแปรรูปที่หลากหลาย เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาและเพิ่มช่องทางสร้างรายได้” นายหร่ออ๊บ มุเส็มสะเดา นายอำเภอท่าแพ กล่าวทิ้งท้าย

 

           สำนักงานเกษตรจังหวัดสตูลพร้อมให้การสนับสนุนเกษตรกรผู้สนใจในการปลูกสละอย่างครบวงจร ทั้งด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยีการผลิต และช่องทางการตลาด เพื่อส่งเสริมให้สละกลายเป็นผลไม้เศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้อย่างยั่งยืน ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ต่อไป

 

           สนใจติดต่อสอบถามเพิ่มเติม 0652393811 , 0805457923

……………………………………………………

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 สตูลสร้างงาน สร้างอาชีพวัยเกษียณ สร้างความสุข

สตูลสร้างงาน สร้างอาชีพวัยเกษียณ สร้างความสุข

          ในยุคที่หลายคนมองหาความมั่นคงหลังเกษียณ “สวนบ้านริมเขา ทุ่งนายร้อย” เป็นตัวอย่างของการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงและสร้างรายได้ไปพร้อมกัน บนพื้นที่เจ็ดไร่ของนายปรีชา อ่อนประชู อดีตข้าราชการ อบจ.สตูล  และภรรยา นางอำพร อ่อนประชู อดีตกุ๊กร้านอาหาร พวกเขาได้พลิกพื้นที่สวนให้กลายเป็นแหล่งสร้างรายได้จากการทำเกษตรผสมผสาน

         

         หนึ่งในไฮไลท์ของสวนนี้คือแปลงดาวเรือง  ที่ปลูกไว้เพื่อจำหน่ายดอกเป็นช่อ  โดยสามารถขายได้ทุกวันพระ สัปดาห์ละ 100-150 ช่อ ในราคาสามดอกสิบบาท  คิดเป็นรายได้ต่อเดือนหลักหมื่นบาท   นอกจากสร้างรายได้แล้ว  ยังสร้างความสุขให้กับทั้งผู้ปลูกและลูกค้าที่มารับซื้อถึงสวน

         นอกจากดาวเรือง พื้นที่สวนยังมีการปลูกพืชหลายชนิด เช่น พริก, ส้มโอ, ชมพู่ โดยการปลูกพืชแบบผสมผสาน  ช่วยให้แมลงศัตรูพืชลดลงตามธรรมชาติ   มีการใช้ขวดน้ำ  แขวนตามแปลงเพื่อไล่แมลงโดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี  พื้นที่สวนยังแบ่งออกเป็นแปลงไผ่ซางนวล   ซึ่งไม่ได้ขายลำต้นแต่ขายหน่อไผ่ปีละ 10,000-20,000 บาท

 

          ภายในสวนมีการขุดสระน้ำและทำระบบน้ำล้น เพื่อให้มีน้ำใช้ตลอดปีในการรดพืชผัก  และดูแลสวน ระบบน้ำที่ดีช่วยลดต้นทุนการผลิต และทำให้พืชสามารถเติบโตได้ดีโดยไม่ต้องพึ่งพาน้ำประปา

           

          นอกจากการปลูกพืชผักไว้บริโภคเองแล้ว   รายได้จากการขายผลผลิต เช่น พริก และเป็ดอี้เหรียง ที่ให้ไข่วันละแผง ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน   ทำให้ชีวิตหลังเกษียณของทั้งสองมีความสุข ไม่ต้องเร่งรีบกับการทำงานเหมือนแต่ก่อน รายได้เกิดจากความพอใจในการทำเกษตร มากกว่าการหวังกำไรสูงสุด

           อนาคตของสวนบ้านริมเขา นายปรีชาและอำพร วางแผนให้สวนแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชน  และที่พักแนวโฮมสเตย์  ด้วยบรรยากาศธรรมชาติที่ติดภูเขาและอากาศสดชื่น ทำให้ลูกชายคนเล็กมีแนวคิดต่อยอดธุรกิจครอบครัวให้เป็นสถานที่พักผ่อนที่มีการเกษตรเป็นจุดขาย

 

          นี่คือตัวอย่างของชีวิตหลังเกษียณที่เต็มไปด้วยความสุขและรายได้แบบพอเพียง

………………………………………..

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 คนสู้ชีวิต! หนุ่มช่างคอมพิวเตอร์ พลิกสวนยางโค่นเป็นไร่สับปะรด แปรรูปขาย สร้างรายได้ครึ่งล้านต่อปี 

คนสู้ชีวิต!! หนุ่มช่างคอมพิวเตอร์ พลิกสวนยางโค่นเป็นไร่สับปะรด แปรรูปขาย สร้างรายได้ครึ่งล้านต่อปี

          เสียงเก็บสับปะรดในสวนดังขึ้นเป็นจังหวะ   นายอิสมาแอน ไชยมล วัย 40 ปี ชาวบ้านหมู่ 6 ต.ควนโพธิ์ อ.เมือง จ.สตูล กำลังเร่งเก็บผลผลิตชุดสุดท้ายจากสวนสับปะรด 20 ไร่ ซึ่งเดิมเคยเป็นสวนยางพาราทั้งของตนเองและของญาติๆ ก่อนจะโค่นเพื่อปลูกใหม่ แต่เขากลับเลือกใช้พื้นที่ว่างนี้  ปลูกสับปะรดพันธุ์ภูเก็ตแทน   เพื่อฟื้นฟูดิน และสร้างรายได้ให้ครอบครัว

 

         นายอิสมาแอน กล่าวว่า  “ผมเคยเป็นช่างซ่อมคอมพิวเตอร์ ก่อนจะหันมาทำเกษตรเต็มตัวเมื่อ 8 ปีก่อน ได้แรงบันดาลใจจากการไปดูงานที่กระบี่ จึงลองปลูกบนที่ดินของตนเอง และต่อมาญาติ ๆ ก็ให้ใช้พื้นที่สวนยางที่โค่นใหม่”

 

         อิสมาแอนใช้เทคนิคการปลูกแบบเว้นช่วงเก็บเกี่ยว    ไม่ให้ผลผลิตออกพร้อมกันทั้งแปลง ช่วยให้ขายได้ต่อเนื่องไม่กระทบราคา ทั้งยังเปิดหน้าร้านขายเองที่สวน ทำให้ไม่ต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลาง ปัจจุบันขายได้ลูกละ 15-30 บาท มีรายได้เฉลี่ยปีละกว่า 400,000 บาท โดยเฉพาะช่วงรอมฎอนที่ผ่านมา ขายได้ถึง 30,000 ลูกในเดือนเดียว

          นางสาวกำไลทิพย์ เศรษฐ์วิชัย เกษตรจังหวัดสตูล  บอกว่า “เกษตรกรรายนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการใช้พื้นที่ว่างหลังโค่นยางพารา มาปรับปรุงดินและสร้างรายได้ เขามีการจัดการที่ดีมาก ทั้งในแปลงและการตลาด”

          นอกจากขายสด ยังมีการแปรรูปหลากหลายเมนู เช่น น้ำสับปะรดขวดละ 12 บาท สับปะรดกวน และนมสดสับปะรดขวดละ 20 บาท โดยมีครอบครัวช่วยกัน ทั้งแม่ หลานสาว และน้องสะใภ้ ดูแลการแปรรูปและหน้าร้าน

           เกษตรจังหวัดสตูล. บอกอีกว่า.  “อิสมาแอนเป็นเกษตรกรที่ได้รับมาตรฐาน GAP และ Q ซึ่งการันตีคุณภาพและความปลอดภัย อยากให้เกษตรกรคนอื่นที่ปลูกในพื้นที่ของญาติ   หรือพื้นที่เอกสารสิทธิ์ มาขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพื่อรับสิทธิ์ช่วยเหลือหากเกิดภัยพิบัติ”

 

          แม้หน่อพันธุ์สับปะรดจะยังไม่พอแบ่งขาย   เพราะต้องใช้ขยายแปลงในอนาคต   แต่ของเหลือจากการแปรรูป   เช่น กากและเปลือก ก็ยังนำไปทำปุ๋ยหมักต่อได้   ถือเป็นการใช้ประโยชน์ครบทุกส่วน. สนใจสอบถาม. โทร. 082-376-2450

……………………………….

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา เกษตร - อาชีพ

“ตาแปแยะ”  ขนมรับแขกบ้านแขกเมือง สูตรเข้มข้นฝีมือแม่บ้านชายแดนไทยมาเลเซีย

สตูล – “ตาแปแยะ”  ขนมรับแขกบ้านแขกเมือง สูตรเข้มข้นฝีมือแม่บ้านชายแดนไทยมาเลเซีย ขนาดประเทศต้นตำรับยังแห่ซื้อเป็นของฝาก หาทานยากมีที่ชุมชนรักษ์ท่องเที่ยวตำมะลัง จ.สตูล

           ที่จังหวัดสตูล  จะพาไปรู้จักขนมพื้นถิ่นที่หาทานยาก  ขนมที่มีลักษณะคล้ายข้าวเกรียบทอด แต่มีถั่วลิสงตกแต่งบนหน้าและมีปลาจิ้งจั้ง  ชาวบ้านเรียกขนมนี้ว่า  “ตาแปแยะ” เป็นชื่อเรียกภาษามลายูแปลว่าเครื่องเทศเยอะ

 

          ที่หมู่บ้านริมชายฝั่งตำบลตำมะลัง หมู่ที่ 3 อำเภอเมืองสตูล (ชายแดนไทยมาเลเซีย)  ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านนางยาตี  นาวา อายุ 46 ปี  สมาชิกวิสาหกิจชุมชนรักษ์ท่องเที่ยวตำมะลัง  พร้อมด้วยทุกคนในครอบครัวกำลังเร่งมือทำขนมพื้นเมือง  ตาแปแยะ  เพื่อให้ทันตามออเดอร์ของลูกค้า 

 

         โดยส่วนผสมของขนมชนิดนี้ประกอบไปด้วย  แป้งข้าวเจ้าผสมกับไข่ไก่  น้ำปูนใสสะอาด  พริกแห้งบดละเอียด  เครื่องเทศ พริกไทย ข้าวเล็กๆ ข้าวใหญ่นำส่วนผสมทั้งหมดคลุกเคล้ากันแล้วตักใส่พิมพ์แต่งหน้าด้วยถั่วลิสง และปลาจิ้งจั้ง นำมาทอดในน้ำมันที่ร้อนกำลังดี  โดยการทำขนมในแต่ละครั้งจะใช้ส่วนผสมครั้งละ  7 กรัมเมื่อหมดก็จะปรุงขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ได้ขนมที่มีคุณภาพดี

 

        การทำขนมครั้งละ 7 กรัมจะได้ขนมประมาณ 5-6 ถุง (ถุงละ 35 ชิ้น) ขายราคาถุงละ 50 บาท โดยวันนึงจะทำ 2 รอบเป็นธุรกิจในครัวเรือน  มีลูกสาวและสามีของนางยาตี มาช่วยทอดและสามารถทำงานแทน  ฝีมือไม่แพ้คุณแม่เลย

            นางยาตี  นาวา เจ้าของสูตรขนมตาแปแยะ  บอกว่า  ขนมนี้ทำขายเป็นอาชีพที่สองของครอบครัว รองจากขายโรตีอาหารเช้าและอาหารเย็น   ซึ่งจริงแล้วสูตรขนมได้มาจากเพื่อนอีกทอดหนึ่ง  ที่ไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียเมื่อ 8 ปีที่แล้วมาปรับสูตรให้เข้มข้นทำขายตามออเดอร์   เป็นขนมพื้นเมืองที่ทำขายทานเจ้าของในตำมะลัง  ส่งขายให้นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวไทยมาเลเซีย

 

            และนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย ต่างชาติที่มาเที่ยวชุมชนตำมะลังได้ชิมลิ้มรสชาติที่มีส่วนผสมของเครื่องเทศได้รสชาติเฉพาะตัว ของถั่วลิสงและปลาจิ้งจั้งที่อร่อยกรอบ เป็นของฝากและของทานเล่น   จะขายดีในช่วงเดือนฮารีรายอ  มีออเดอร์เข้า 200 ถึง 400 ถุง  สนใจโทร.0949615776 ,0950251108

 

          นางสาวรุ่งญาดา  เจริญทรัพย์  เลขาวิสาหกิจชุมชนรักษ์ท่องเที่ยวตำมะลัง บอกว่า  ทุกครั้งที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวชุมชนจะนำกลุ่มแม่บ้านไปทำโชว์และชิมกันเลย ได้รับความสนใจกับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก หลายคนติดใจซื้อเป็นของฝากกับไปจำนวนมาก โดยเฉพาะต้นกำเนิดของขนมที่มาจากมาเลเซีย เมื่อมาชิมสูตรใหม่ของไทยหลายคนติดใจกันเป็นแถว 

………………..

อัพเดทล่าสุด

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา เกษตร - อาชีพ

สตูลกลุ่มธนาคารปูม้าบ้านทุ่งริ้น  ต่อยอดสินค้าชุมชนสู่การเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนนกอาหารท้องถิ่นสร้างรายได้เพิ่ม หลังพบปริมาณในธรรมชาติลดน้อยลง

สตูล-กลุ่มธนาคารปูม้าบ้านทุ่งริ้น  ต่อยอดสินค้าชุมชนสู่การเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนนกอาหารท้องถิ่นสร้างรายได้เพิ่ม หลังพบปริมาณในธรรมชาติลดน้อยลง

          ที่ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบ้านทุ่งริ้น  หมู่ที่ 1 ตำบลสาคร  อำเภอท่าแพ  จังหวัดสตูล  โดยชาวบ้านได้เข้าร่วมโครงการนวัตกรรมธนาคารปูม้าสู่การจัดการทรัพยากรชายฝั่งตามแนวทางเศรษฐกิจสีน้ำเงินในจังหวัดสตูล โดยได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยและนวัตกรรมจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ในการส่งเสริมอาชีพและการจัดการทรัพยากรชายฝั่งที่ยังยืน

 

         นายดาด  ขุนรายา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 (ปธ.ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบ้านทุ่งริ้น)  บอกว่า  จุดเริ่มต้นมาจากชุมชนได้ทำธนาคารปูม้า  ที่มีชาวประมงพื้นบ้าน 20 คน  มาร่วมกันเป็นสมาชิก โดยทุกคนได้เล็งเห็นความสำคัญของทรัพยากร ของการ ดำเนินการโครงการฯ  และได้รับการสนับสนุน ภายใต้โครงการนวัตกรรมธนาคารปูม้า สู่การพัฒนาทรัพยากรชายฝั่งตามแนวทางเศรษฐกิจสีน้ำเงินในจังหวัดสตูล   โดยมี ผศ.ดร.ทัศนภา ว่องสนั่นศิลป์  เป็นหัวหน้าโครงการที่ได้รับทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

 

         ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 (ปธ.ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบ้านทุ่งริ้น)  บอกด้วยว่า จากนั้นได้ทำต่อมาเรื่อย ๆ  และมีการต่อยอดให้สมาชิกในกลุ่มมีรายได้เพิ่มจนเป็นที่มาของโครงการเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนนก    โดยได้เล็งเห็นว่าตลาดน่าจะไปได้เพราะขายในพื้นที่ก็ไม่เพียงพอ  อีกทั้งในธรรมชาติเริ่มหาน้อยเต็มที  และยังหาทานยาก    โดยข้อดีของการเพาะเลี้ยงพบว่าสาหร่ายไม่มีทราย  หรือเศษดินปะปน  เพียงแค่นำมาล้างและรับประทานได้เลย  ถ้าเป็นสาหร่ายที่ขึ้นตามธรรมชาติจะมีเม็ดทรายปะปนและมีกลิ่นคาวของน้ำ   แต่การเพาะเลี้ยงลักษณะนี้รับประทานได้อย่างอร่อย  สามารถมีทานได้ตลอดทั้งปี อนาคตจะต่อยอดขยายให้กับสมาชิกเพิ่มอีก  ดูแล้วทิศทางเป็นไปได้ โดยวันนี้เป็นเพียงตัวอย่างก็ได้รับการตอบรับอย่างดี เชื่อว่าจะเพิ่มช่องทางรายได้ให้กับชาวประมงพื้นบ้านได้เป็นอย่างดี 

 

         นอกจากที่นี่จะศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบ้านทุ่งริ้น  และเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนนกแล้ว ทางกลุ่มฯยังเป็นแหล่งท่องบเที่ยวชุมชนมีแพกลางน้ำของชุมชนบริหาร นักท่องเที่ยวสายแคมปิ้งในคลองทุ่งริ้น ได้ดื่มด่ำธรรมชาติ และทานอาหารทะเลสด ๆตามฤดูกาลด้วย   หากสนใจสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที  โทร 063-7302873

 

         การเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนนก ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบ้านทุ่งริ้น  หมู่ที่ 1 ตำบลสาคร  อำเภอท่าแพ  ได้เพาะเลี้ยงจำนวน 10 ตะกร้า โดยใช้ออกซิเจนในการดูแลสาหร่ายอยู่ภายใต้โรงเรือน  สมาชิกได้กลุ่มจะได้รับการสร้างองค์ความรู้ก่อนเลี้ยง โดยการให้ปุ๋ย  วัดค่าน้ำเพียง  2 อาทิตย์ก็สามารถเก็บขายได้แล้ว 

 

         ทางกลุ่มจะหมุนเวียนโดยเก็บขาย  อาทิตย์ละครั้ง /เก็บครั้งละ 2 ตะกร้าได้ 1 กิโลกรัม  ขายกิโลกรัมละ 200 บาท สาหร่ายขนนกนอกจากจะทานสดกับน้ำจิ้มซีฟู้ดแล้ว  ยังสามารถไปปรุงเมนูยำสาหร่ายขนนก   สลัดสาหร่ายขนนก   ข้าวเกรียบสาหร่ายขนนกได้อีกด้วย 

 

        ลักษณะเฉพาะของสาหร่ายขนนกคือ จะตายง่ายเมื่อถูกน้ำจืด จึงควรรับประทานสด ๆ ทันทีที่ขึ้นจากน้ำไม่นานเพราะจะเสียรสชาติความอร่อย

…………………………………

อัพเดทล่าสุด

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล-อดีตผู้รับเหมาก่อสร้าง  ชีวิตพลิกผัน  ทำไม้กวาดขาย  สู้ชีวิตไม่ย่อท้อ

สตูล-อดีตผู้รับเหมาก่อสร้าง  ชีวิตพลิกผัน  ทำไม้กวาดขาย  สู้ชีวิตไม่ย่อท้อ

         นายไตรรงค์   คงปาน วัย 57 ปี อดีตผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่   ผู้ที่ชีวิตพลิกผันหลังประสบอุบัติเหตุขี่รถตกหลุมจนร่างกายไม่เหมือนเดิม  แต่ด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง เขาเลือกที่จะลุกขึ้นสู้ทันทีที่ร่างกายดีขึ้น  ด้วยการผันตัวมาทำไม้กวาดขาย  โดยจำวิธีการจากคนอื่นแล้วมาทดลองทำเองจนสร้างรายได้

        “ผมไม่อยากเป็นภาระให้ใคร”   นายไตรรงค์กล่าวขณะสาธิตการทำไม้กวาดทางไม้ไผ่จากไม้ไผ่สีสุก   ที่กระท่อมหลังเล็กสร้างขึ้นอย่างง่ายเพื่ออยู่อาศัย   ในที่ดินของน้องสาวย่านซอยคลองขุด 19 ( หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าซอยน้องแป้น)  หมู่ที่ 7 เขตเทศบาลตำบลคลองขุด  อำเภอเมือง จังหวัดสตูล

          ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น  เขาเลือกเชื่อว่าจะช่วยสร้างรายได้แม้ไม่มาก แต่ไม่เป็นภาระน้องสาวหรือภาระใคร  โดยใช้ไม้ไผ่สีสุกที่มีคุณสมบัติโค้งงอได้ดีมาทำเป็นซี่ไม้กวาด   ส่วนด้ามจะใช้ไม้ไผ่ที่มีเปลือกหนาเพื่อความแข็งแรง เพื่อจำหน่ายในราคาย่อมเยา   โดยไม้กวาดด้ามเล็กราคาขายเพียง  50 บาท ส่วนด้ามใหญ่ตามความสูงของลูกค้าราคาอยู่ที่  80 บาท

         จุดเริ่มต้นของธุรกิจเล็ก ๆ  นี้ เริ่มจากการทำตัวอย่างเพียง 2 อันไปเสนอตามร้านค้า  เมื่อได้รับการตอบรับที่ดี จึงรับออร์เดอร์ครั้งละ 10 อัน  ใช้เวลาประมาณ 10-15 วันในการผลิตและส่งมอบสินค้าแต่ละรอบ

          นอกจากการทำไม้กวาดแล้ว    นายไตรรงค์  เขายังใช้พื้นที่ว่างของน้องสาวเพื่อปลูกผักสวนครัว  โดยตั้งใจแบ่งปันให้น้องสาวและเพื่อนบ้านได้ทานโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย  สะท้อนให้เห็นถึงน้ำใจที่มีต่อชุมชน แม้สภาพร่างกายยังไม่สมบูรณ์นักจากอุบัติเหตุ

          นายชัยณรงค์  ไชยจิตต์  ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองสตูลในพื้นที่  เล่าว่า   “ผมติดตามชีวิตของเขามากว่า 2 ปี เห็นถึงความมุ่งมั่นและการเป็นคนที่มีน้ำใจ แม้สภาพร่างกายจะไม่สมบูรณ์ แต่ก็ไม่เคยย่อท้อ” พร้อมเสริมว่าในอนาคตอยากผลักดันให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ที่กำลังท้อแท้ได้เห็นว่า ชีวิตยังมีหนทางให้สู้เสมอ

          การไม่ย่อท้อต่อโชคชะตาของชีวิตที่พลิกพัน ชั่วข้ามคืนจากที่เคยมีเงิน  มีงาน มีครอบครัว  มีลูกน้องจำนวนมาก  แม้วันนี้จะเหลือเพียงน้องสาวกับแม่บังเกิดเกล้า  แต่เขาก็ไม่คิดจะให้เป็นภาระกับใคร  พอใจกับรายได้ที่ทำด้วยน้ำพักน้ำแรง  มีข้าวกิน  มีเงินจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ  และได้แบ่งปันสังคมบ้างตามกำลัง     โดยเฉพาะเงินหมื่นบาทที่ได้รับจากรัฐบาลมาก็ตั้งใจจะเอาไปต่อยอดธุรกิจ ซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อขยายการผลิตไม้กวาดต่อไป

         ผู้สนใจสามารถติดต่อสั่งซื้อไม้กวาดได้ที่ โทร. 093-054-1664

…………………………………………….

อัพเดทล่าสุด

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

พม.สตูล จัดโครงการเสริมสร้างเครือข่ายสื่อมวลชน เพื่อประชาสัมพันธ์ภารกิจกระทรวง พม. และ ศรส.

พม.สตูล จัดโครงการเสริมสร้างเครือข่ายสื่อมวลชน เพื่อประชาสัมพันธ์ภารกิจกระทรวง พม. และ ศรส.

            วันที่ (19 ก.ย. 67) ที่สตารินทร์ คาเฟ่ ตำบลพิมาน อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล นางไลลา รอเกตุ นักพัฒนาสังคมชำนาญการพิเศษ เป็นประธานการดำเนินโครงการเสริมสร้างเครือข่ายสื่อมวลชนเพื่อการสื่อสารประชาสัมพันธ์ภารกิจกระทรวง พม. และ ศรส. พร้อมด้วยเครือข่ายสื่อมวลชนจังหวัดสตูล หัวหน้าส่วน และคณะทำงาน พมจ.สต. ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

 

            ด้วยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสตูล ได้จัดโครงการเสริมสร้าง เครือข่ายสื่อมวลชนเพื่อการสื่อสารประชาสัมพันธ์ภารกิจกระทรวง พม. และ ศรส.ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการ ประสานความร่วมมือกับสื่อมวลชนท้องถิ่นและหน่วยงานด้านการประชาสัมพันธ์ ในการนำเสนอสถานการณ์ ทางสังคม เพื่อให้สังคมได้ตระหนักมีส่วนร่วมในการดูแลแก้ไขปัญหาสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สื่อมวลชน ได้เผยแพร่เรื่องสิทธิ สวัสดิการที่ประชาชนพึงได้รับ รวมทั้งผลการช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายของศูนย์เร่งรัดจัดการ สวัสดิภาพประชาชนจังหวัดสตูล (ศรส.) ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงานในสังกัด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.หนึ่งเดียว) กับสื่อมวลชนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดสตูล โดยมีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย สื่อมวลชนและหน่วยงานด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ หัวหน้าส่วนราชการสังกัด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสตูล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 34 คน

           สำหรับโครงการนี้ได้มีการหารือถึงแนวทางในการนำเสนอ หรือประชาสัมพันธ์ในการประสานความร่วมมือของหน่วยงาน พม.หนึ่งเดียว และ ศรส. ให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยง่ายในเรื่องของการติดตามการดำเนินให้ความช่วยคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชน และการสื่อสารสังคมเชิงรุกในการสร้างการรับรู้ทุกภาคส่วน เพื่อให้สื่อได้มีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ปัญหาทางสังคมร่วมกันได้ต่อไป

อัพเดทล่าสุด

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน