Categories
ท้องถิ่น-การเมือง ท่องเที่ยว-กีฬา

สงกรานต์สตูลโชว์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม  ปรุงเมนูพื้นถิ่น   ล่องแก่งวังสายทองเล่นน้ำคลายร้อน  โหม๋เรา  หนุกหนาน ที่ลานหน้าถ้ำ

สงกรานต์สตูล  โชว์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม  ปรุงเมนูพื้นถิ่น   ล่องแก่งวังสายทองเล่นน้ำคลายร้อน  โหม๋เรา  หนุกหนาน ที่ลานหน้าถ้ำ

        เย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์วันขึ้นปีใหม่ไทยในวันหยุดยาว   ที่จ.สตูลปีนี้ไม่แพ้จังหวัดไหนจัดงานท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมตามบริบทท้องถิ่นโดยนางปุณณานันท์  ทองหยู   ผอ.การท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสตูล ร่วมกับ นายไพรัช  สุขงาม  ผอ. ททท.สำนักงานสตูล ,นายประสิทธิ์  เลียงประสิทธิ์  นายกอบจ.สตูล และเจ้าบ้าน นายสนั่น  ศิริสม นายกอบต.น้ำผุด  ภายใต้สโลแกน   (โหม๋เรา  หนุกหนาน ที่ลานหน้าถ้ำ)  ตั้งแต่วันที่ 13-15 เมษายน 2567  ซอยถ้ำเจ็ดคต หมู่ที่ 10 บ้านวังนาใน ตำบลน้ำผุด อำเภอละงู จังหวัดสตูล เพื่อรอบรับนักท่องเที่ยวหลังนักท่องเที่ยวเล่นน้ำปะแป้งแล้ว  

          โดยเชิญนายคณิต  คงช่วย  รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล และนายวรศิษฎ์  เลียงประสิทธิ์  ส.ส.เขต 2 สตูล และนายธีระพงษ์  คุ่มเคี่ยม นายอำเภอละงู  มาเป็นประธานเชิญชวนและโชว์ของดีพื้นถิ่นมาให้นักท่องเที่ยวได้ชมได้ชิมช็อป    อาทิ  การโชว์การทำข้าวหลามจากกระบอกไม้ไผ่จากป่าต้นน้ำ  การทำขนมจากขนมพื้นเมือง  การทำขนมครก  ขนมพิม  และการแข่งขันการทำอาหารพื้นถิ่น  อย่าง  แกงไก่กับหยวก   ยำผักกูด   และเมนูห่อหมกหอยโล่ (หอยที่ชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์และรับประทานตามฤดูกาล มีรสชาติกรอบหนึบอร่อยคล้ายหอยขม แต่ไม่มีรสขม)    โชว์ให้นักท่องเที่ยวได้ชิมและได้ชมเมนูที่นำวัตถุดิบมาจากพื้นที่มาปรุงเป็นเมนูอาหารขึ้นชื่อของตำบลน้ำผุดให้นักท่องเที่ยวที่มาเยือนตำบลน้ำผุดได้รับประทาน     และมีการมอบรางวัลเพื่อการันตีว่าที่ตำบลน้ำผุดมีกลุ่มแม่บ้านที่มีฝีมือระดับต้น ๆ  ในการทำเมนูพื้นถิ่นอร่อย   รวมทั้งรางวัลการละเล่นพื้นบ้านให้กับนักท่องเที่ยวและชาวบ้านที่ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ก่อนจะร่วมกันเปิดงานอย่างเป็นทางการ 

 

           อีกทั้งกิจกรรมโหม๋เรา หนุกหนาน  ที่ลานหน้าถ้ำ  ในวันสงกรานต์ยังมีการจัดกิจกรรมใกล้แหล่งน้ำซึ่งเป็นคลองลำโลน  จุดล่องแก่งวังสายทอง แหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อของตำบลน้ำผุด อำเภอละงู ที่ปีหนึ่งมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาไม่ขาดสายเพื่อมาล่องแก่ง และพักผ่อนโดยเฉพาะในวันสงกรานต์ และในช่วงสภาพอากาศที่ร้อนแบบนี้แหล่งท่องเที่ยวที่นี่จะได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

…………………………..

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท้องถิ่น-การเมือง ท่องเที่ยว-กีฬา

 กีฬาสูงวัยใจเกินร้อย  จัดหนักจัดเต็มกับกีฬามหาสนุกเน้นเสียงหัวเราะและสุขภาพดี   

สตูล-กีฬาสูงวัยใจเกินร้อย  จัดหนักจัดเต็มกับกีฬามหาสนุกเน้นเสียงหัวเราะและสุขภาพดี

          หลังประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ  หลายพื้นที่เข้ามาส่งเสริมสนับสนุนจัดกิจกรรมให้ผู้สูงอายุ  ได้อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข และสุขภาพดี 

         เหมือนอย่างเช่นที่เทศบาลตำบลคลองขุด   อำเภอเมือง จังหวัดสตูล  นายสุนทร พรหมเมศร์  นายกเทศมนตรีตำบลคลองขุด  ร่วมกับนางประมูล มีบุญ  ประธานชมรมผู้สูงอายุตำบลคลองขุด และ นางประไพ อุบลพงศ์  ประธานโครงการฯ   ได้ร่วมกันจัดการแข่งขันกีฬามหาสนุก  ภายใต้โครงการ ผู้สูงอายุสุขภาพกายดี สุขภาพจิตดี ชีวีมีสุข ประจำปีงบประมาณ 2567  ซึ่งมีการจัดขึ้นภายในอาคารอเนกประสงค์ โรงเรียนบ้านคลองขุด  โดยนักกีฬาแต่ละสี แต่ละทีม  ก็แต่งกายจัดหนักจัดเต็มแบบไม่มีใครยอมใคร ย้อนวัยสวยสมวัยกับชุดเดินพาเหรด

        โดยเกมกีฬาเป็นการละเล่นที่เน้นความสนุกสนาน  ความสามัคคีในหมู่คณะ  การละเล่นที่เน้นเสียงหัวเราะ และปลอดภัยเหมาะสมกับสุขภาพของผู้สูงอายุ  เช่น  เกมทูนของ  เป็นการนำถาดใส่แตงโมแล้วนำมาวางไว้บนศีรษะ  โดยผู้เข้าร่วมแข่งขันจะต้องไม่ให้ถาดหล่นลงมาที่พื้น  ไม่งั้นจะถือว่าแพ้เกมการแข่งขัน  ซึ่งการแข่งขันลักษณะนี้ก็มีหลายคน  ที่มีความเชี่ยวชาญในการนำถาดมาทูนบนหัว  แต่ก็มีหลายคนที่ไม่สามารถทำได้สำเร็จ  สร้างเสียงหัวเราะให้กับกองเชียร์และผู้เล่นได้ไม่น้อย

        เกมแชร์บอล เป็นเกมทดลองประสิทธิ์ภาพความแม่นยำการเล็งของผู้สูงอายุ  ที่หลายคนก็สามารถเล่นได้อย่างสบาย ๆ  นอกจากนี้ยังมีเกมส่งข่าวสาร ที่เน้นเล่นเป็นทีม  ถึงข่าวสารที่ได้รับมาและส่งต่อ  ว่าจะเหมือนเดิมหรือมีการแปลงข่าวสารหรือไม่  ก็เป็นเกมที่เล่นง่ายๆ  แต่ก็เล่นเอาผู้สูงอายุฟังผิดเพี้ยนไปตามๆ กันเลยทีเดียว   ส่วนเกมส่งลูกมะพร้าวเล่นกันเป็นทีม  ยังเป็นการฝึกสมาธิให้ผู้สูงอายุ และการยืดเหยียดไปในตัวด้วย 

          ส่วนเกมไกวเปล ก็เล่นค่อนข้างจะยาก  เพราะต้องเน้นความพร้อมเพียงกัน  ไม่อย่างนั้นลูกโป่งที่ใส่น้ำที่นำมาไกวเปล  ก็จะหล่นแตกเหมือนอย่างหลายกลุ่ม เกมสุดท้ายด่านยาก   เกมปิดตากินแตงโมงร้อยเข็มและกรอกน้ำ  ก็สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้เล่นได้ไม่น้อย  รวมทั้งกองเชียร์ที่หลายคนยอมรับว่า  เป็นเกมกีฬาที่สร้างความสนุกสนานและเสียงหัวเราะให้กับพวกตนได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน   สำหรับทีมผู้ชนะในครั้งนี้ทางนายกเทศมนตรีตำบลคลองขุด  ยังมีรางวัลให้เป็นของขวัญ  กับทีมสีผู้สูงอายุที่ชนะ และรองชนะทั้งหมดด้วย 

         นายสุนทร  พรหมเมศร์  นายกเทศมนตรีตำบลคลองขุด  บอกว่า  การส่งเสริมการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ต้องการให้ผู้สูงอายุออกมาจากบ้านมาร่วมกิจกรรมกันเพื่อความผ่อนคลาย และร่วมกันออกกำลังกาย  ได้ยิ้มแย้มแจ่มใสไม่เน้นชัยชนะมากเกินไป เช่นการส่งลูกมะพร้าวเพื่อให้ทุกคนมีสมาธิฝึกร่วมกิจกรรม และเชื่อมความสัมพันธ์กัน โดยปกติทุกวันกลุ่มผู้สูงอายุชุดนี้ก็จะมีการออกกำลังกายรวมกันอยู่แล้ว  กลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มนี้ถือว่ามีความเข้มแข็งมาก ทางเทศบาลตำบลคลองขุดเองจะเข้ามาผลักดันและพร้อมส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีความสุขทั้งกาย ใจและสุขภาพแข็งแรง

…………………………….

Categories
ข่าวทั่วไป ท้องถิ่น-การเมือง

ขยะแลกบุญ ลดรายจ่ายปีละ 2 แสนบาท

ขยะแลกบุญ ลดรายจ่ายปีละ 2 แสนบาท

         ชาวบ้านจิตอาสาทั้งชายหญิงในหมู่บ้านที่ 12  บ้านเขาน้อยใต้  ตำบลฉลุง  อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ต่างพร้อมใจกันมาช่วยคัดแยกขยะ  ออกเป็นแต่ละประเภท   เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการต่อ  ซึ่งขยะทั้งหมดนี้เป็นขยะที่มาจาก  จุดรับบริจาคขยะแลกบุญ  ทันทีที่จุดรับขยะเต็มจะมีการนำมาคัดแยกในทันที

 

          นายสาและ  ตำบัน  ประธานกลุ่มขยะแลกบุญ กล่าวว่า แนวคิดของคนในหมู่บ้านที่เห็นตรงกันคือ   อยากให้หมู่บ้านสะอาด มีการจัดเก็บขยะเป็นที่เป็นทาง ใช้ประโยชย์จากขยะให้สูงสุด   และจัดหารายได้จากขยะเพื่อมาเป็นส่วนหนึ่งของการทำบุญ  ช่วยเด็กกำพร้าในหมู่บ้าน  โดยทำบุญผ่านมัสยิดในหมู่บ้านชุมชนของตนเอง 

 

          นายอดุลย์  โย๊ะหมาด  คอเต็บมัสยิดดารุสลาม กล่าวว่า  โครงการขยะแลกบุญมีการกำหนดไว้  ในการรับบริจาคขยะแลกบุญด้วยกัน  2 จุดคือ   ที่มัสยิด และ จุดที่สองที่ บาลาย  เงินที่ได้มาจะนำไปช่วยเหลือผู้ยากไร้และมาทำกิจกรรมด้านศาสนาของมัสยิด  ช่วยเหลือเด็กกำพร้า   โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และยังช่วยแก้ปัญหาขยะได้ด้วย  ทางมัสยิดเองก็จะช่วยประชาสัมพันธ์บอกให้กับทุกคนที่มาร่วมกิจกรรมทางศาสนา  ได้รับรู้ข้อดีของโครงการขยะแลกบุญ  แทนที่จะนำขยะไปทิ้งหรือเผาทำลาย  ก็นำมายังจุดรับบริจาคเพื่อแลกบุญ 

         นายทรงพล  สารบัญ  ผอ.กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม อบต.ฉลุง  กล่าวว่า  สถานการณ์ขยะในชุมชนตำบลฉลุงในปี 2566 มีขยะทั้งปี 1410 ตัน เนื่องจากตำบลฉลุงมี 14 หมู่บ้าน 3,300 ครัวเรือน ทำให้ต้องใช้งบประมาณเยอะในการจัดการขยะนำขยะไปทิ้ง จำนวน 770,000 บาทต่อปี  หากรวมค่าจ้างบริหารจัดการเกือบ 2 ล้านบาทต่อปี

          นายก อบต.ฉลุง จึงเกิดแนวทางการลดปัญหาขยะ  เริ่มแรกจากการทำประชาคมเพื่อปลอดถังขยะ  จากนั้นก็เริ่มสร้างแกนนำชุมชนประชาชนเข้ามาช่วย  โดยใช้ชื่อว่า  “อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก” อถล. ในทุกหมู่บ้าน  เพื่อให้ความรู้ในเรื่องของการคัดแยกขยะในครัวเรือน  การจัดการขยะเพื่อลดปัญหาขยะในตำบล  จากนั้นก็พาไปศึกษาดูงาน  เมื่อได้องค์ความรู้แล้ว  ได้ส่งเสริมให้เกิดการสร้างกลุ่ม  จึงเป็นที่มาของกลุ่มขยะแลกบุญในปัจจุบัน

 

          จุดเริ่มต้นจากแกนนำ อถล.  10 คน โดยมีกำนัน  ผู้ใหญ่บ้านและผู้นำศาสนา  หลังจากทำโครงการสามารถคัดแยกได้จำนวน 3 ครั้ง ผ่านโครงการขยะแลกบุญ   เน้นในเรื่องของการประชาสัมพันธ์เป็นหลัก  จากครั้งที่ 1 มาสู่ครั้งที่ 2 จะเห็นได้ว่าการรับบริจาคขยะเยอะมากขึ้น  ชุมชนชาวบ้านมาร่วมมากขึ้น  ครั้งที่ 3 ขยะเยอะขึ้นกว่าเดิมเยอะ  ชาวบ้านเยาวชนผู้สูงอายุภาคประชาชน  มาร่วมกิจกรรมคัดแยกตั้งแต่เช้า  ถือว่าเป็นการประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง  ในมิติการประชาสัมพันธ์และการลดขยะ  

 

          ที่สำคัญการทำเรื่องขยะมาบวกกับเรื่องบุญ  จะยิ่งทำให้ชุมชนให้ความสำคัญอย่างมาก  เพราะหวังจะได้บุญไม่ได้มีผลประโยชน์อย่างอื่น   ไม่ว่าจะนำเงินรายได้ไปช่วยผู้ยากไร้  แนะนำไปทำนุบำรุงศาสนา  ผู้พิการและให้ทุนเด็กต่างๆ    ทำให้ปี 2567  พบว่าขยะจาก 1,410 ตัน เหลือ1,369 ตัน  ลดไป  312 กิโล   หากคิดเป็นเงินงบประมาณเกือบ 2 แสนบาท  และเตรียมขยายจากหมู่บ้านนำร่องไปยังหมู่บ้านอื่น ๆ เข้ามาดู   และปีจะจัดการขยายไปทีละหมู่บ้านเพื่อให้ครบทุก 14 หมู่บ้านในตำบลฉลุง  

……………………………………..

Categories
ท้องถิ่น-การเมือง ท่องเที่ยว-กีฬา

   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  เปิดเกมส์กีฬา  ภูมิใจไทยสัมพันธ์  ท้องถิ่น ท้องที่ คัพ” ครั้งที่ 2

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  เปิดเกมส์กีฬา  ภูมิใจไทยสัมพันธ์  ท้องถิ่น ท้องที่ คัพ” ครั้งที่ 2

               วันที่  9 มี.ค.2567  ที่สนามกีฬาหญ้าเทียมบ้านควน  อำเภอเมือง จังหวัดสตูล   นายพิพัฒน์  รัชกิจประการ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  พร้อมนายพิบูลย์  รัชกิจประการ  ส.ส.เขต 1 สตูลและนายวรศิษฎ์  เลียงประสิทธิ์  ส.สเขต 2 สตูล  นายสัมฤทธิ์  เลียงประสิทธิ์  นายกอบจ.สตูลลงพื้นที่เป็นประธานเปิดการแข่งขันกีฬา  “ภูมิใจไทยสัมพันธ์  ท้องถิ่น ท้องที่ คัพ” ครั้งที่ 2 โดยมีนายกูดานัน  หลังจิ  นายกอบต.บ้านควน (ประธานจัดการแข่งขัน) ให้การต้อนรับและกล่าวรายงาน  พร้อมนายกแต่ละพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ  ซึ่งการแข่งขันกีฬาในครั้งนี้เป็นเกมส์กีฬาที่มีเจ้าหน้าที่ชาวบ้าน ,จากอบต. ,  เทศบาล และอบจ,  มากถึง 20 แห่งในจังหวัดสตูลจัดส่งนักกีฬาเข้าแข่งขัน ท่ามกลางการต้อนรับอย่างคับคั่งกับแฟนคัพชาวภูมิใจไทย

 

                จากนั้นในวันเดียวกัน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานพร้อมคณะและอธิบดีกรมแรงงาน  ได้เดินทางไปเปิดโครงการ  กระทรวงแรงงานบริการประชาชน  ที่มีการออกหน่วยยังที่ว่าการอำเภอละงู  จังหวัดสตูล โดยมีการโชว์สินค้าจากแรงงานที่โดดเด่น เช่นกลุ่มกาแฟโกปี้นาข่า  กลุ่มดาหลาปาเต๊ะ , กลุ่มขนมผูกรัก และสินค้าโอทอปจากกลุ่มในพื้นที่ตำบทคลองขุด  ที่นำมาแสดงโชว์ และพบปะกลุ่มอาสาสมัครแรงงานจังหวัดสตูล, อีกทั้งมีการออกหน่วยนัดพบแรงงานบริการผู้ว่างงานหลายตำแหน่งบริการในครั้งนี้ด้วย

            ก่อนจะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน  โดยนายพิพัฒน์  รัชกิจประการ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน   กล่าวว่า   จะมีการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 หลังจากที่ได้หารือนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน  ตามนโยบายของรัฐบาลควรจะมีค่าแรงที่ 400 บาท  โดยได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานชุดใหญ่ของไตรภาคี   มีการตั้งอนุศึกษาของไตรภาคี  มีรองปลัดเดชาเป็นประธาน

 

            หลังมีการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567  หลังประชุมเรียบร้อยไปเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  โดยหาข้อสรุปได้ใน 10 จังหวัดนำร่อง  ที่ประกาศว่าจะมีค่าแรงขั้นต่ำ  400 บาท ในบางอาชีพบางพื้นที่  ว่ามีอาชีพอะไรบ้าง  จังหวัดไหนบ้าง  ในแต่ละพื้นที่ให้คณะอนุกรรมการทำการศึกษา  26 มี.ค.นี้จะมีการประชุมและประกาศอย่างช้าที่สุด  ไม่เกินวันที่ 12 เมษายน 2567 โดยได้รับปากนายกรัฐมนตรีเศรษฐาทวีสินว่าจะประกาศให้เป็นของขวัญ  วันปีใหม่ไทย กับค่าแรง 400 บาท

 

          หลังจากนี้คณะกรรมการชุดนี้ก็คงต้องทำงานต่อ  จนถึงสิ้นปี โดยเฉพาะในแต่ละจังหวัด ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดก็จะเป็นประธานอนุ  ในทุกๆจังหวัด  โดยจะหาค่าเฉลี่ยว่าจังหวัดไหน ในแต่ละอาชีพมีอาชีพอะไรบ้าง พี่ควรจะขึ้นและปรับค่าแรงขั้นต่ำขึนในปี68  ขึ้นไปเท่าไหร่  เชื่อว่าในปี 2568 จะมีหลายอาชีพที่เพิ่มขึ้นหลายอาชีพไปที่ 400 บาท

 

          ใน 10 จังหวัดจะมีการนำร่องปรับค่าจ้าง 400 บาท  บางอาชีพบางพื้นที่ คือที่จังหวัดสงขลา,กระบี่,พังงา,ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี, ใน 5 จังหวัดภาคใต้เรา ภาคกลางมีจังหวัดระยอง บางส่วน ชลบุรี,กรุงเทพมหานคร,จังหวัดเชียงใหม่,ขออภัยอีกหนึ่งจังหวัดจำไม่ได้ ยอมรับช่วงนี้เริ่มเบลอๆงงๆเหมือนกัน

 

          ในแต่ละจังหวัดที่จะมีการประกาศเป็นของขวัญปีใหม่ไทย จะเป็นเกณฑ์เดียวว่าเป็นอาชีพอะไร ในหมวดไหน ยังไม่มีการหว่านไปทุกอาชีพ จะเลือกอาชีพที่เป็นอาชีพที่ฟื้นจากสถานการณ์โควิดแล้ว แต่อาชีพที่ยังไม่ฟื้น เริ่มจะฟื้นเรายังคงไม่ไปถึงตรงนั้นจึงขอแจ้งเพื่อทราบ

         

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน   กล่าวว่า   เพิ่มเติมว่า   สุดท้ายนี้อยากจะฝากไปถึงเพื่อนๆโดยเฉพาะในพรรคการเมืองต่างๆ ว่า  ยังไงก็ช่วยศึกษากฎหมายแรงงาน ศึกษารายละเอียดพรบ.ที่จะนำเข้าเสนอในสภาผู้แทนราษฎรว่าอันไหนควรอันไหนไม่ควร ไม่ใช่ว่าคุณทำเพื่อการหาเสียง  แต่จริงๆคุณทำไม่ได้แล้วมาด้วยค่ากระทรวงแรงงาน ในฐานะที่ตัวผมเองเป็นเจ้ากระทรวง  ที่ได้รับมอบหมายจากท่านนายกฯเศรษฐา  ทวีสิน  ตัวผมเองจะไม่ยอมเด็ดขาด แต่ถ้าพวกคุณมาด้อยค่าพวกเรามากๆ ตัวผมเองจะลุกขึ้นมาต่อสู้กับพวกคุณแน่นอน  เพราะฉะนั้นหากคุณนำเสนอในสิ่งที่เป็นไปได้ ตัวผมเองพร้อมที่จะน้อมรับ และพร้อมที่จะหารือกับพวกคุณ แต่มาด้วยค่าในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้พวกเราชาวกระทรวงแรงงานจะลุกขึ้นมาต่อสู้ พวกคุณอย่างแน่นอน นี่คือสิ่งที่อยากจะฝากไปคนที่พยายามที่จะยื่นร่างฯหรืออะไรแล้วมาด้วยค่ากระทรวงแรงงาน พวกเราก็มีชีวิตจิตใจ  การกระทำทุกสิ่งทุกอย่าง ก็ไม่ใช่กระทรวงแรงงานเราเพียงกระทรวงเดียว ที่ต้องรับผิดชอบ  การจะทำอะไรในเรื่องของประกันสังคม ของสวัสดิการ ของค่าแรง มันเป็นอะไรที่พวกเราและพวกท่านต้องช่วยกันระดมสมองช่วยกันคิด  ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างกระทรวงแรงงานจะต้องไปคิดแล้วคุณมีหน้าที่คือโจมตี  หากพวกคุณทำอย่างนี้  หากทำไม่ถูกต้อง ผมเรียนตรงไปตรงมาว่าผมสู้ชีวิตผมไม่มีคำว่ายอม ประกาศต่อหน้าได้เลย ฝากสื่อมวลชน ถ้าใครได้ค่าพวกเราชาวแรงงาน เราจะไม่ยอม

………………………………………………………….

Categories
ท้องถิ่น-การเมือง ท่องเที่ยว-กีฬา

  สตูล-แหล่งเพาะพันธุ์เต่ากระอานแห่งเดียวในประเทศไทย  จัดงานวันอนุรักษ์เต่าโลก ครั้งที่ 7 พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวไปพร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจ   

สตูล-แหล่งเพาะพันธุ์เต่ากระอานแห่งเดียวในประเทศไทย  จัดงานวันอนุรักษ์เต่าโลก ครั้งที่ 7 พร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวไปพร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจ  

          เต่ากระอาน เป็นเต่าน้ำจืดกระดองแข็งขนาดใหญ่  มีรูปร่างค่อนข้างกลม  สามารถหดหัวเข้ากระดองได้ในแนวตรง  หัวมีแผ่นเกล็ดหุ้มอยู่ทั้งด้านบนและด้านข้าง  มีสายตาดีและมีหนังตาที่สามารถปิดและเปิดได้ช่วยในการป้องกันอันตราย   คอสามารถยืดหยุ่นได้ดีสามารถยื่นและหดหัวได้เร็ว คอปกคลุมด้วยหนังบางๆ  ปลายจมูกเชิด งอน  ตาสีขาว เท้าหน้าแผ่แบนมีผังผืด มีเล็บ 4 เล็บ  กระดองหลังเรียบโค้งมนรูปไข่สีเขียว   เพศผู้น้ำหนักเฉลี่ย 14 กิโลกรัม   เพศเมียเฉลี่ย 22 กิโลกรัม 

 

           การแพร่กระจายของเต่ากระอาน  พบทางภาคใต้ของประเทศไทย อาศัยในแหล่งน้ำจืด และบริเวณปากแม่น้ำโดยเฉพาะที่คลองละงู อ.ละงู จ.สตูล ปัจจุบันสามารถเพาะพันธุ์เต่ากระอานได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสตูล   เต่ากระอาน  เป็นสัตว์หายากที่ใกล้สูญพันธุ์ และพบหลงเหลืออยู่ในคลองละงู  จังหวัดสตูล เพียงแห่งเดียว  และเพื่อเป็นการอนุรักษ์ให้คงอยู่ตลอดไป  องค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสตูลและองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล กำหนดจัด งานวันเต่าโลก ครั้งที่ 7 (World Turtle Day 2024) ส่งเสริมการอนุรักษ์เต่ากระอาน ขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 7 มีนาคม 2567 ณ ลานตลาดนัด KM Park ถนนสายฉลุง-ทุ่งหว้า    หมู่ที่ 3 ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล

 

          โดยภายในงานมีการจัดนิทรรศการให้ความรู้เรื่องเต่า  และ  สัตว์น้ำจืดของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสตูล   และนิทรรศการแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งธรณีโลกที่สำคัญในพื้นที่ตำบลกำแพง, พร้อมการประกวดวาดภาพของหนูน้อยเยาวชนที่สื่อสารเรื่องของเต่าในอุดมคติผ่านภาพวาดที่สวยงาม 

 

         นางสำลี   ลัคนาวงศ์   นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง  แนะนำให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักเต่าหายากแต่พบได้ที่จังหวัดสตูล  พร้อมเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวได้ชมเต่าสายพันธุ์ต่างๆมากมายที่ถูกรวมไว้ที่บ่อเต่า หรือ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดสตูล

 

          และในค่ำคืนที่ผ่านมา  นายคณิต  คงช่วย   รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล  เป็นประธานเปิดงานวันเต่าโลก ครั้งที่ 7 (World Turtle Day 2024) ส่งเสริมการอนุรักษ์เต่ากระอาน โดยมีนายสัมฤทธิ์  เลียงประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล นางสำลี ลัคนาวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น สื่อมวลชน และประชาชน เข้าร่วมงานจำนวนมาก บรรยากาศเต็มไปด้วยความสนุกสนาน  มีพรุแสดงสัญลักษณ์เริ่มงานอย่างเป็นทางการ

 

          นอกจากนี้ยังมีจุดเช็คอินเรียกความสนใจให้กับนักท่องเที่ยวเข้ามาร่วมงาน  อย่างอุโมงค์ไฟ   สะพานแขวน  แสงสีประดับดาตกแต่งสวยงาม   มีร้านค้ามากมาย  พร้อมการแสดงบนเวทีทุกค่ำคืนตลอด 7 วัน 7 คืนของการจัดงานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว และอนุรักษ์เต่ากระอาน

 

            กิจกรรมภายในงาน  เดิน-วิ่งวันเต่าโลก, กิจกรรมประกวดวาดภาพระบายสี กิจกรรม“ห้องเรียนธรรมชาติ”,  กิจกรรมการปล่อยเต่า เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์, การแข่งขันนกกรงหัวจุก, กิจกรรมการแข่งขันทำอาหารพื้นถิ่น “มาสเตอร์เชฟชุมชน”, การรับบริจาคขยะรีไซเคิล ตามโครงการ “ขยะ ปัน สุข”, นิทรรศการจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน มหกรรมอาหารและของดีตำบลกำแพงและกิจกรรมภาคกลางคืน ประกอบด้วย การแสดง แสง สี เสียง, การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของ สถานศึกษา ชมรมผู้สูงอายุ, การแสดงหนังตะลุง, การแสดงของกลุ่มสตรี, การแสดงความสามารถของเด็กๆและเยาวชน, การเดินแบบผ้าพื้นถิ่น, ศึกมวยมันส์งานวันเต่าโลกและกิจกรรมต่างๆอีกมากมาย

……………………………….

Categories
ท้องถิ่น-การเมือง ท่องเที่ยว-กีฬา

  นักแสดงว่าวทั่วโลก 37 ประเทศร่วมงาน  มหกรรมว่าวประเพณี ว่าวนานาชาติและว่าวไทย 4 ภาค ครั้งที่ 43 กระตุ้นเศรษฐกิจเงินสะพัดนับ 120 ล้าน  นับเป็นซอฟเพาเวอร์ของสตูล 

สตูลนักแสดงว่าวทั่วโลก 37 ประเทศร่วมงาน  มหกรรมว่าวประเพณี ว่าวนานาชาติและว่าวไทย 4 ภาค ครั้งที่ 43 กระตุ้นเศรษฐกิจเงินสะพัดนับ 120 ล้าน  นับเป็นซอฟเพาเวอร์ของสตูล

           ที่สนามบินกองทัพอากาศจังหวัดสตูล   เขตเทศบาลตำบลคลองขุด   อ.เมือง  จ.สตูล  ว่าวแฟนซีจากทั่วโลก 37 ประเทศ ได้ถูกนำมาแสดงโชว์เต็มท้องฟ้าสตูล  สร้างความตื่นตาตื่นใจ  และมีสีสันสวยงาม แปลกตา  อาทิ  ว่าวตุ๊กแก  ว่าวจระเข้  ว่าวปลา  ว่าวตุ๊กตา   ว่าวตัวหนอน  พร้อมทั้งการแสดงการโชว์เล่นว่าว   สี่สาย  ว่าวสองสาย  โดยนักเล่นทั้งชาวต่างชาติและชาวไทยที่ร่วมภายในงาน “มหกรรมว่าวประเพณี ว่าวนานาชาติและว่าวไทย 4 ภาค”  ระหว่างวันที่ 23-25 กุมภาพันธ์ 2567   ที่มีการจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 43 แล้ว        

        โดยพิธีเปิดในครั้งนี้   นายอนุทิน   ชาญวีรกูล   รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เป็นประธานเปิดงานโดยมีนายศักระ กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล นายชาตรี ณ ถลาง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล นายคณิต คงช่วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล พร้อมด้วยนายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล หัวหน้าส่วนราชการ คณะผู้บริหารท้องถิ่น นักแข่งขันว่าว นักแสดงว่าว และประชาชนนับพันคนให้การต้อนรับ

         การจัดงานในครั้งนี้ต่อเนื่องมา 43 ปี เพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมประเพณีและภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่สืบไป โดยเฉพาะการสืบสานการทำว่าวควายซึ่งเป็นว่าวประจำจังหวัดสตูล เพื่อเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ควบคู่กับการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด ตลอดจนบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการพัฒนาจังหวัดสตูลให้เป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียง ดั่งเป้าหมายการพัฒนาจังหวัด “สตูลเมืองแห่งความผาสุกที่ยั่งยืน”

          และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่ง ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชทานถ้วยรางวัลการประกวดแข่งขันว่าวเป็นประจำทุกปีด้วย

        ด้านรองนายกรัฐมนตรี   กล่าวว่า  ได้ชื่นชมในความตั้งใจ  ที่ได้ให้ความสำคัญและร่วมมือร่วมใจกันอนุรักษ์สืบทอดศิลปะประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น และแสดงความยินดีกับประชาชนชาวจังหวัดสตูลและนักท่องเที่ยวที่มีโอกาสมาร่วมงานในครั้งนี้เป็นซอฟเพาเวอร์จังหวัดสตูลอย่างแท้จริง

          นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล กล่าวว่า   งานว่าวจัดเป็นซอฟเพาเวอร์ของจังหวัดสตูล  ทุก ๆ  ปีมีการจัดงานมีรายได้สะพัดไม่น้อยกว่า 90 ล้านบาท  จากตัวเลขคนเดินทางเข้าไม่น้อยกว่า 40,000 คน  และปีนี้ตั้งเป้าไม่น้อยกว่า 120 ล้านบาท โดยเราจะมี AI ในการจับสถิต และปีหน้าตั้งเป้าไว้ว่าจะเพิ่มวันจัดงานจาก 3 วันเพิ่มเป็น 4 วัน  เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดสตูลหลังได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวไทยต่างชาติและนักเล่นว่าวเป็นอย่างดี 

………………………………………………………….

Categories
ท้องถิ่น-การเมือง เกษตร - อาชีพ

จัด “เกี่ยวข้าว  เป่าซัง” ปีที่ 2  ยกให้เป็นซอฟเพาเวอร์ชาวควนสตอ  เที่ยววิถีถิ่น  วิถีไทย หลังเริ่มได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติ

สตูล-จัด “เกี่ยวข้าว  เป่าซัง” ปีที่ 2  ยกให้เป็นซอฟเพาเวอร์ชาวควนสตอ  เที่ยววิถีถิ่น  วิถีไทย หลังเริ่มได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติ

          กระแสการท่องเที่ยววิถีถิ่น  วิถีไทย  ทำให้ประชาชนในชุมชนมีความตื่นตัวภาคภูมิใจ  ในวัฒนธรรมวิถีชุมชนที่พร้อมจะช่วยกันรักษาให้ดียิ่งขึ้นและมีรายได้จากการท่องเที่ยว

 

          ที่บริเวณทุ่งรวงทองเขาจุมปง   หมู่ที่ 2 ตำบลควนสตอ   อำเภอควนโดน   จังหวัดสตูล  นายซะรี่ย์อะซีร   นุ่งอาหลี   นายก อบต.ควนสตอ   ได้บูรณาการงานร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอควนโดนและสำนักงานเกษตรอำเภอควนโดน   จัดโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวตำบลควนสตอ  ประจำปีงบประมาณ 2567   ภายใต้ชื่อ   “เกี่ยวข้าว  เป่าซัง  ย้อนความหลังฟื้นฟูประเพณีวิถีชาวนา  สืบสานภูมิปัญญา และวิถีชีวิต”  ปีที่ 2

 

          โดยเชิญว่าที่พันตรียุทธนา เจ้าดูรี นายอำเภอควนโดน ร่วมเป็นประธาน เปิดงานด้วยการเป่าซังข้าว  ด้วยกันอย่างพร้อมเพียงกัน  เพื่อแสดงสัญญาลักษณ์ของงาน   ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดการท่องเที่ยววิถีถิ่น   วิถีไทย  สร้างอัตลักษณ์ใหม่ของเส้นทางการท่องเที่ยวตำบลควนสตอ   โดยนำเรื่องราวคุณค่าวัฒนธรรมประเพณี   วิถีชาวนาของตำบลควนสตอในกิจกรรมเกี่ยวข้าว (ด้วยเคียว และแกระ เครื่องมือโบราณ)  ตีข้าว   และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวเนื่องกับการทำนา   ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายและดึงดูดให้ผู้สนใจมาท่องเที่ยววิถีถิ่นตำบลควนสตอ

 

          ด.ญ.รายา  มุหมีน  และ  ด.ญ.ณัสริน   หวังกุหลำ  นักเรียนชั้นป. 5  จากโรงเรียนบ้านกุบังปะโหลด  ที่มาร่วมกิจกรรมบอกว่า  ตื่นเต้นและสนุกมากที่มาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้  ได้เรียนรู้เกี่ยวกับนาข้าว และได้เป่าปี่ เป่าซังข้าว  ซึ่งมีเสียงแปลกแตกต่างกันไป  ได้ร่วมเก็บข้าว ตีข้าว และทิ่มข้าว

 

          ขณะที่ นายซะรี่ย์อะซีร   นุ่งอาหลี   นายก อบต.ควนสตอ   กล่าวว่า   ปีนี้ได้รับสนใจจากกลุ่มเป้าหมายนักเรียนมาร่วมกิจกรรมเยอะมากกว่า  300 คน ทั้งนักเรียนในพื้นที่และต่างพื้นที่เข้ามาศึกษาดูงาน  วัฒนธรรมเก่าๆประเพณีเก่าๆของบรรพบุรุษของเรา  ทำนาแบบไหนเก็บเกี่ยวแบบไหนเป็นการอนุรักษ์ให้รุ่นหลังได้เรียนรู้  ว่ามีความลำบากมากแค่ไหนกว่าจะมีพวกเราในวันนี้  และให้ได้เรียนรู้ว่าวิถีชีวิตวิถีชุมชนสามารถนำมาพัฒนาให้เป็นงานด้านการท่องเที่ยว  พ่อค้าแม่ค้าก็มาขายของ  สินค้าชุมชนก็ขายให้กับนักท่องเที่ยว เป็น concept ที่เราต้องการพัฒนาวิถีชุมชนท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน

 

          นายก อบต.ควนสตอ    กล่าวเพิ่มเติมว่า  ปีนี้เริ่มเห็นได้ว่ามีหลายประเทศเข้ามาร่วมกิจกรรม  ทั้งอินโดนีเซีย  อียิปต์  ฝรั่ง  และเพื่อเป็นการยกระดับการจัดการแข่งกิจกรรมปีหน้าจะขยายกลุ่มเป้าหมายชาวต่างชาติให้มากขึ้น  เพื่อเผยแพร่ให้เห็นวิถีชีวิตของคนบ้านเรา  เป็นเรื่องที่เราชาวควนสตอควรจะภูมิใจ   ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าอาย  ที่เกิดมาเป็นลูกหลานชาวนา  ถือเป็น soft power ของชาวตำบลควนสตอเพราะทุกคนที่นี่ทำนากันทุกคน

          ……………………………….

Categories
ท้องถิ่น-การเมือง ท่องเที่ยว-กีฬา

  สตูล-แข่งกินหอยหลอดตัวโต  ชวนนักท่องเที่ยวยอนหอยลุยโคลนหาดบ้านหัวหิน  ในเทศกาลยอนหอยหลอดและวัฒนธรรมพื้นบ้านละงู ระหว่างวันที่ 13-17 ม.ค.2567

สตูล..แข่งกินหอยหลอดตัวโต  ชวนนักท่องเที่ยวยอนหอยลุยโคลนหาดบ้านหัวหิน  ในเทศกาลยอนหอยหลอดและวัฒนธรรมพื้นบ้านละงู ระหว่างวันที่ 13-17 ม.ค.2567

       ที่จังหวัดสตูล…จะชวนมาดูสีสันการจัดการแข่งขัน   ที่สร้างความสนุกสนานให้นักท่องเที่ยว  และชุมชน ในกิจกรรมการแข่งขันกินเร็วหอยหลอด  ที่องค์การบริหารส่วนตำบลละงู  อำเภอละงู  จังหวัดสตูล  จัดขึ้นเป็นปีแรก   ให้นักท่องเที่ยวและชาวบ้านได้ร่วมแข่งขัน  รวมทั้งนายธีระพงษ์  คุ่มเคี่ยม  นายอำเภอละงู  นายจำรัส  ฮ่องสาย  นายกอบต.ละงู  มาร่วมเชียร์กันอย่างสนุกสนาน  โดยกติกาคือ  ผู้ร่วมการแข่งขันจะต้องกินคนละ 1 กิโลกรัม หรือมากกว่านั้น  ภายในเวลา 5 นาที  ใครกินหมดก่อนคือผู้ชนะ  ได้เงินรางวัล 2,000 บาท  งานนี้มีทั้งความสนุกสนาน  และรอยยิ้ม  ได้ทั้งอิ่ม อร่อย และหากชนะได้รางวัลเงินสดติดมือกลับบ้านไปด้วย 

 

       ผลการแข่งกินหอยหลอด  ผู้ชนะเลิศ  นายธีรภัทร์ อาดำ น้ำหนัก  1.2 กก. ,  รองอันดับ1 นายบาหวี หวันสู น้ำหนัก 1 กก.  , รองอันดับ 2  นายอนุชา สอเหลบ น้ำหนัก 0.7 กก.  

 

         สำหรับหอยหลอด  เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ขึ้นชื่อของหาดหัวหิน  หมู่ที่ 1 ตำบลละงู  จังหวัดสตูล   ปีละหนึ่งครั้ง  ที่ชาวบ้านจะออกย่ำโคลน   เดินเท้าหาได้  ในช่วงน้ำทะเลลดลงมากที่สุด  เกือบ 3 กิโลเมตร  เพื่อไปยอนหอยหลอดโดยใช้อุปกรณ์ก้านมะพร้าว กับปูนขาว  ยอน   (หรือแหย่)  ลงไปในรูที่เล็งแล้วว่า  มีขี้หอยอยู่ด้านบนพื้นผิว โดยยอนไปทีละตัว  เป็นการอนุรักษ์การหาหอยหลอดด้วยมือ  ทำให้หอยที่นี่ตัวใหญ่มาก และราคาดีที่กิโลกรัมละ 150 ถึง 180 บาท  สร้างรายได้ให้ชาวบ้านเป็นอย่างดี

 

         หลอดละงู  ขึ้นชื่อถึงความสด  อร่อย ตัวใหญ่  จนถูกจัดให้เป็น  “เทศกาลยอนหอยหลอดและวัฒนธรรมพื้นบ้านละงู”  ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 15 แล้ว  โดยปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 –  17 ม.ค.2567 ที่สนามหน้า  องค์การบริหารส่วนตำบลละงู  อำเภอละงู จังหวัดสตูล  ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวภายในและต่างพื้นที่มาร่วมกันคึกคัก

Categories
ข่าวทั่วไป ท้องถิ่น-การเมือง

สตูล-ร้านค้ารักษ์โลก! ผลเกินคาด ลูกค้าพร้อมใจพกตะกร้า กระสอบ ถัง  ช็อป ลุ้นรางวัลใหญ่เป็นของสมนาคุณตอบแทน 

สตูล-ร้านค้ารักษ์โลก! ผลเกินคาด ลูกค้าพร้อมใจพกตะกร้า กระสอบ ถัง  ช็อป ลุ้นรางวัลใหญ่เป็นของสมนาคุณตอบแทน 

         ที่ร้านสุพิชญาการค้า  บ้านนาโต๊ะขุน  หมู่ที่ 6   ตำบลแป-ระ  อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล  ชาวบ้านในละแวกไม่มีใครไม่รู้จัก  เพราะขณะนี้กำลังเป็นที่ฮือฮา  เพราะที่นี่ลูกค้าทุกคนพร้อมใจกันมาจับจ่าย  ซื้อของใช้ในครัวเรือน  ทั้งข้าวปลาอาหาร  ด้วยการหาภาชนะใส่ของมาเองจากบ้าน   บางคนใช้ตะกร้า  บางคนใช้กระสอบ  บางคนใช้ถังก็มี  และแม่ค้าบอกว่า  ลูกค้าบางคนใช้หม้อหุงข้าวมาใส่ของที่ซื้อไปจากร้าน  

       การพร้อมใจกันหาภาชนะมาเองจากบ้าน  โดยปฏิเสธจะรับถุงจากทางร้าน   หลังจากทางร้านได้เข้าร่วมโครงการ  ร้านนี้ทำดีด้วยหัวใจ  “ลดรับ ลดใช้ถุงพลาสติกลุ้นรับโชค”  จากกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม อบต.แป-ระ  เพียงลูกค้าซื้อสินค้าภายในร้านครบ 50 บาท  รับบัตรลุ้นโชค  1 ใบ  หลังทางร้านเข้าร่วมโครงการฯนี้เพียง 3 สัปดาห์ได้ผลเกินคาด 100 เปอร์เซ็นต์ ลูกค้าให้ความสนใจตอบรับร่วมลุ้นรางวัล  ยอดขายดีขึ้นมาก 

 

             นางสาวอัมร๊ะ   กาเส็มส๊ะ   ลูกค้าขายของหน้าโรงเรียนในหมู่บ้าน  บอกว่า  วันนี้เอากระสอบมาเพราะซื้อสินค้าเยอะ  เป็นเรื่องดีเพราะไม่ต้องจัดเก็บถุงพลาสติกและต้องเอาไปเผาอีก  ได้ลุ้นรางวัลลุ้นโชค  เล็งรางวัลทุกอย่าง  แต่ยังไม่ได้สักอย่าง อยากให้ทุกร้านทำแบบนี้จะได้ลุ้นรางวัลและลดขยะไปด้วย

            ลูกค้าอีกราย  บอกว่า  ได้ชักชวนเพื่อนบ้านมาร่วมกิจกรรม ทุกครั้งที่มาซื้อจะหิ้วตะกร้ามาทุกที และมีแรงที่จะร่วมกันลดขยะ   ดีไม่ต้องเก็บถุงพลาสติกเพราะมีมลพิษในอากาศเยอะ  อยากให้ทุกร้านทำกิจกรรมแบบนี้ 

            ด้านนางสาวสุพิชญา  ติงสา  เจ้าของร้าน สุพิชญาการค้า  บอกว่า  เปิดร้านมาปีกว่าลูกค้าไม่เยอะเหมือนปัจจุบันนี้   หลังเริ่มเข้าร่วมโครงการจาก อบต.แป-ระ  แนะนำโครงการนี้มาก  เพียง 3 สัปดาห์ยอดขายดีเกินคาดหมาย  อีกทั้งยังเป็นการลดถุงพลสติก  ลดโลกร้อน  แม่ค้าลดค่าใช้จ่าย  และนำเงินที่ซื้อถุงพลาสติกสัปดาห์ 1000 บาท  ไปจัดซื้อของรางวัลเป็นของสมนาคุณลูกค้าชื่นชอบลุ้นรางวัล   มีทั้งรางวัล  หม้อหุงข้าว  พัดลม  ผ้าปู  เบาะ  โดยทางร้านจะเปิดให้ลุ้นรางวัลทุกวันที่  1 ของเดือน  และลูกค้าจะไปลุ้นรางวัลต่อที่ 2 อีกจากอบต.แป-ระ  รอบสามเดือนลุ้นรางวัลใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

         สำหรับโครงการนี้นายสมนึก  อาดตันตรา  ผอ.กองสาธารณสุข อบต.แป-ระ  อำเภอท่าแพ  จังหวัดสตูล  บอกว่า  เป็นการสร้างกระแสให้ทุกคนเห็นความสำคัญและกระตุ้นในการเลิกใช้ถุงพลาสติก  ซึ่งขณะนี้มีร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการและพบว่ากระแสการตื่นตัวลดใช้ถุงพลาสติกเพิ่มขึ้น  จากโครงการแรกมี 6 ร้านค้า  มาโครงการต่อเพิ่มเป็น 16 ร้านค้า  รวมเป็น  22 ร้านค้า  โดยสร้างการมีส่วนร่วมกันโดยทุกๆ สามเดือนจะมีการจับรางวัลใหญ่จากอบต.โดยเอาหางบัตรของทุกร้าน ลุ้นรางวัลใหญ่จาก   นายกและผู้ใหญ่ใจดี   จากอบต.ให้ชาวบ้านในลุ้นโชคกัน   อีกทั้งอยากให้มีการสร้างกระแสให้เกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมการบริหารจัดการขยะเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน  เชื่อว่าจะมีการทำเป็นแบบอย่างให้ครอบคลุมไปทั่วทั้งจังหวัดสตูล

………………………………….

Categories
ท้องถิ่น-การเมือง

7 อปท.สตูล  ผนึกกำลัง  ร่วมชันชีขับขี่ปลอดภัย  สร้างความเข้มแข็งให้ท้องถิ่นน่าอยู่

7 อปท.สตูล  ผนึกกำลัง  ร่วมชันชีขับขี่ปลอดภัย  สร้างความเข้มแข็งให้ท้องถิ่นน่าอยู่

         ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน   หากเกิดขึ้น  ย่อมจะสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมากทั้งที่สามารถที่จะป้องกันได้  โดยอบต.นาทอน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล   ได้สมมุติเหตุการณ์อุบัติเหตุหมู่ระหว่างรถยนต์กระบะ และรถยนต์เก๋งประสานงากัน  จนเกิดผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากเต็มท้องถนน   ที่บริเวณ สนามกีฬากลางตำบลนาทอน อำเภอทุ่งหว้า 

       โดยการจำลองเหตุการณ์ในการครั้งนี้  เพื่อซักซ้อมเสริมสร้างประสิทธิ์ภาพการทำงาน   ของทุกภาคีเครือข่าย  โดยเฉพาะชุดอาสาสมัครขับขี่ปลอดภัย และอาสาจากผู้นำท้องถิ่นที่เป็นภาคีเครือข่าย 6 แห่ง (ได้แก่ ทต.ทุ่งหว้า อบต.ทุ่งหว้า,อบต.ทุ่งบุหลัง,อบต.ขอนคลาน,อบต.บ้านควนและอบต.ควนโพธิ์)  ที่มาร่วมภารกิจฝึกซ้อมแผนในครั้งนี้ด้วย  ภายใต้โครงการ  ชันชีขับขี่ปลอดภัยสร้างความเข้มแข็งท้องถิ่นน่าอยู่   พร้อมประเมินผลเพื่อให้การช่วยเหลือลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สิน

         นายเอกชัย  หลงขาว  นายกฯ อบต. นาทอน  ระบุว่า  โครงการชันชีขับขี่ปลอดภัย  สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนท้องถิ่น  เป็นการขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนน 3 ระยะได้แก่  การจัดการในระยะป้องกันและเฝ้าระวัง การจัดการระยะเกิดเหตุ และการจัดการระยะหลังเกิดเหตุ และฟื้นฟู  ควบคู่กับ 5 ชุดกิจกรรมคือ การบริหารและช่วยเหลือ, การรณรงค์ขับขี่ปลอดภัย,การพัฒนาศักยภาพคน รถ ถนน,การจัดสภาพถนนและสิ่งแวดล้อม และการพัฒนานโยบายและแผน

         นายเอกชัย  หลงขาว  นายกฯ อบต. นาทอน  ระบุว่า  โครงการชันชีขับขี่ปลอดภัย  สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนท้องถิ่น  เป็นการขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนน 3 ระยะได้แก่  การจัดการในระยะป้องกันและเฝ้าระวัง การจัดการระยะเกิดเหตุ และการจัดการระยะหลังเกิดเหตุ และฟื้นฟู  ควบคู่กับ 5 ชุดกิจกรรมคือ การบริหารและช่วยเหลือ, การรณรงค์ขับขี่ปลอดภัย,การพัฒนาศักยภาพคน รถ ถนน,การจัดสภาพถนนและสิ่งแวดล้อม และการพัฒนานโยบายและแผน