Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล – เอาใจสาวกข้าวเหนียวทุเรียนหมอนทองสามสี  เสิร์ฟแบบจุก ๆ ทั้งเนื้อสดและน้ำราด  ในราคาเบากระเป๋า ออเดอร์วันละ 200 ชุด

สตูล – เอาใจสาวกข้าวเหนียวทุเรียนหมอนทองสามสี  เสิร์ฟแบบจุก ๆ ทั้งเนื้อสดและน้ำราด  ในราคาเบากระเป๋า ออเดอร์วันละ 200 ชุด

         สาวกทุเรียนในยุคนี้  แม้จะกระทบกับภาวะเศรษฐกิจเงินฝืดเคืองไปบ้าง  แต่หลายร้านจำหน่ายทุเรียน  ก็มักจะหาทางออกให้กับลูกค้าได้เข้าถึงทุเรียน  ผลไม้ที่หลายคนชื่นชอบและโปรดปรานได้ง่าย

 

         เหมือนอย่างเช่นร้านนี้  ของคุณอลิษา  พันธุโยร์  หรือคุณฝน  ตั้งอยู่ใกล้ทางเข้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติคฤหาส์กูเด็น  ต.พิมาน อ.เมือง จ.สตูล  ทันทีที่ถึงเวลา 4 โมงเย็นจนถึง 4 ทุ่มของทุกวัน  จะมีลูกค้ามายืนคอยคิวซื้อข้าวเหนียวทุเรียนสามสี  กันอย่างคึกคัก  ทำให้ทางร้านต้องจัดคิวเข้าแถว  เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงข้าวเหนียวทุเรียนสามสี  ที่พร้อมจะเสิร์ฟให้กับทุกคนที่ชื่นชอบกินกันชนิดจุใจ  ทั้งเนื้อทุเรียนหมอนทองสด ๆ ชิ้นใหญ่ๆ    ข้าวเหนียวมูน (สามสีธรรมชาติ ทั้งอัญชัน,ใบเตยและสีขาวธรรมชาติ)  น้ำกะทิทุเรียน และ น้ำกะทิธรรมดาก็พร้อมเสิร์ฟกันไปเลยให้เลือกทั้ง 2 ชนิดในราคาเพียงชุดละ 60 บาท 

 

        คุณเกด  หนึ่งในลูกค้าทุเรียน  บอกว่า   มาซื้อเป็นครั้งที่ 2 แล้ว  ครั้งแรกซื้อไป 3 กล่อง  มาครั้งนี้ซื้อ 4 กล่อง  ชื่นชอบในน้ำกะทิทุเรียนเพราะเป็นเนื้อทุเรียนจริงๆ  มีเนื้อทุเรียนใส่มาให้เราด้วย  และในน้ำทุเรียนก็มีทุเรียนด้วย  ราคาก็ถูก ชื่นชอบตั้งแต่น้ำทุเรียนเพราะปกติการกินข้าวเหนียวทุเรียนก็จะกินกับน้ำกะทิ  แต่เจ้านี้ให้เนื้อทุเรียนมาด้วย  เหมือนกับว่าได้กินรสของทุเรียนจริงๆ  ที่บ้านก็ชื่นชอบวันก่อนซื้อไปให้ย่าและน้ากินวันนี้เขาติดใจเลยสั่งอีก  เพื่อนที่ทำงานก็ฝากซื้อ

            นางสาวอลิษา  พันธุโยร์  หรือน้องฝน  เจ้าของร้าน  บอกว่า   ทางร้านจะใช้เนื้อล้วนๆ ประมาณ 30 กิโลกรัม (หรือ 100 กิโลกรัมทั้งลูก ข้าวเหนียวก็ประมาณ 30 กิโลกรัม  วันละ 200 ชุดขึ้นไป  ทุเรียนที่ใช้เป็นทุเรียนจากจันทบุรีซึ่งเป็นของป้า  จะใช้เป็นทุเรียนหมอนทองที่สุก  ราคาขายก็ถือว่าอยู่ได้ด้วยลูกค้าก็จับต้องได้เราก็อยู่ได้ด้วย  ขายมา 1 อาทิตย์แล้วโดยเฉพาะหน้าทุเรียนจะขายเป็นประจำทุกปี     คิดว่าลูกค้าติดใจในน้ำกะทิพร้อมใส่เนื้อทุเรียนโดยทางร้านจะให้ลูกค้า 2 แบบทั้งแบบใส่เนื้อทุเรียนไปในน้ำกะทิและแบบไม่ใส่  ราคาขาย 60 บาท จะเริ่มขายตั้งแต่ 4 โมงเย็นจนถึง 4 ทุ่ม ขายทุกวัน เนื้อทุเรียนล้วน  ขายขีดละ 59 บาท (แต่ขึ้นอยู่ที่ราคาของทุเรียนแต่ละวันด้วย)

 

          นอกจากนี้คุณอลิษา  พันธุโยร์  ก็ยังเปิดขายขนมจีนบุฟเฟ่ต์ผักสด ๆ ซึ่งเป็นงานประจำอยู่ด้วยที่ซอยเขาจีน ต.คลองขุด อ.เมืองสตูล  โดยจะเปิดขายขนมจีน 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ต่อจากนั้นเมื่อถึงหน้าทุเรียนก็พร้อมบริการขายให้สาวกทุเรียนกันจนหมดฤดูกาลไปเลย

……………………………………

อัพเดทล่าสุด

น้ำท่วมสตูล! ปิดช่องจราจรสายหลัก ชาวบ้านอพยพ-ใช้ปี๊บกั้นน้ำ วัวชนแสนบาทหนีขึ้นที่สูง

น้ำท่วมสตูล! ปิดช่องจราจรสายหลัก ชาวบ้านอพยพ-ใช้ปี๊บกั้นน้ำ วัวชนแสนบาทหนีขึ้นที่สูง  

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล-เร่งสานโคระใส่จำปาดะ  ผลไม้อัตลักษณ์ประจำถิ่น  งานฝีมือที่น่ารักส่งต่อจากภูมิปัญญาบรรพบุรุษ สร้างอาชีพ เพิ่มมูลค่าผลผลิตป้องกันแมลง

สตูล-เร่งสานโคระใส่จำปาดะ  ผลไม้อัตลักษณ์ประจำถิ่น  งานฝีมือที่น่ารักส่งต่อจากภูมิปัญญาบรรพบุรุษ สร้างอาชีพ เพิ่มมูลค่าผลผลิตป้องกันแมลง 

         ทันทีที่ฤดูผลไม้เริ่มให้ผลผลิต   ทางมะพร้าวก็มีมูลค่าขึ้นมาทันที  โดยเฉพาะสวนผลไม้พื้นเมืองทางภาคใต้อย่าง  จำปาดะ  มีความต้องการใช้ใบจากทางมะพร้าวสานขึ้นรูปเป็นโคระ เพื่อสวมใส่ป้องกันแมลงกัดกินและเพื่อความสวยงามของผลผลิต

 

          ทำให้วันนี้ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวซ้อมมือบ้านทุ่งพัฒนา หมู่ที่ 10   ตำบลควนสตอ   อำเภอควนโดน  จังหวัดสตูล  ได้เร่งตัดทางมะพร้าว  เพื่อมาสานเป็นโคระส่งขาย   ใช้ห่อหุ้มผลจำปาดะที่ยังมีผลขนาดเล็ก   เพื่อป้องกันแมลงกัดกิน   และเพื่อให้ผลของจำปาดะ  หรือผลของขนุน  ที่โตมามีความสวยงามและมีราคาดี  

 

          นางรอเฝียะ  เบ็ญหมีน  อายุ 65 ปี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน  ข้าวซ้อมมือบ้านทุ่งพัฒนา  บอกว่า  ในช่วงนี้เป็นช่วงที่สวนจำปาดะของเกษตรกรกำลังออกผลผลิต  จะมีความต้องการโคระ  เพื่อนำไปสวมใส่ในผลจำปาดะ กันเป็นจำนวนมาก    ทำให้ต้องเร่งมือทำให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า  ซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกร 1 รายจะสั่งครั้งละ 1,000 ถึง 1,200 ลูก  ใน 1 ปีก็จะมี order สั่งประมาณ 3,000 ลูกต่อ 1 คนที่รับออเดอร์มา

 

          โดยนางรอเฝียะ  เบ็ญหมีน  ยอมรับว่า  ปีนี้อาจจะได้ order น้อยกว่าทุกปี  เนื่องจากผลผลิตของเกษตรกรหลายราย  ประสบปัญหาภัยแล้ง  ผลไม้ออกไม่มากนัก   แต่ก็ถือว่ายังมีความต้องการ   โดยในระยะแรกได้ทำส่งลูกค้าไปแล้ว 500 ลูก โดยขายลูกละ 4 บาท (หากตั้งใจทำจริงๆใน 1 วัน ใช้เวลาทำเพียง 6 ชั่วโมง สามารถสานโคระได้ถึง 100 ลูก) 

            ด้านนางซะ  หมันเส็น  อายุ  73 ปี  สมาชิกอีกราย  บอกว่า  การสานโคระ 1 ใบใช้เวลาทำไม่นาน ลวดลายที่ทำจะเป็นลวดลายแบบง่าย  ใช้ทางมะพร้าว 2 ท่อนใบ 3 คู่หรือ 6 ใบ สานไปมา เด็กๆในหมู่บ้านหลายคนก็ทำเป็น  เพราะเป็นภูมิปัญญาที่ส่งต่อกันมาจากบรรพบุรุษ  ใช้ดูแลสวนผลไม้  โดยเฉพาะสวนจำปาดะซึ่งเป็นผลไม้อัตลักษณ์ขึ้นชื่อของจังหวัดสตูล   อีกทั้งยังเป็นการสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่งด้วย

 

         สำหรับงานฝีมือที่น่ารักจากการสานโคระ  ผลผลิตจากภูมิปัญญาชาวบ้าน   เพื่อใช้ห่อหุ้มผลจําปาดะจะเห็นได้ว่ามีความยืดหยุ่น  เกษตรกรจะเริ่มใส่โคระตั้งแต่ผลยังเล็ก  โดยโคระ  จะยืดรองรับผลใหญ่  ได้มากสุด7-8 กิโลกรัม ตลอดอายุการใช้งาน  150 วัน  จนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต   ส่วนการเก็บรักษาหากไม่ใช้ให้เก็บไว้ไม่ให้ถูกน้ำ ไม่ถูกแดดจะยืดอายุได้ถึง 1 ปี

 

          สำหรับผลไม้จำปาดะ  กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกประกาศในวันที่ 3 พฤษภาคม 2562  ขึ้นทะเบียนจำปาดะสตูลเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (พืชGI) ทะเบียนเลขที่สช.621-00123. สำหรับพันธุ์จำปาดะที่โดดเด่นได้แก่พันธุ์ขวัญสตูล ,  สตูลสีทอง ,  พันธุ์น้ำดอกไม้  ,  พันธุ์ทองเกษตร เป็นต้น 

 

           จำปาดะ  จะให้ผลผลิตเพียงปีละครั้ง ขนาดของผลจะคล้ายขนุน   เนื้อนิ่มและไม่แข็งกรอบเหมือนขนุน รสหวานกลมกล่อม เมื่อสวมใส่โคระ จะมีลวดลายที่สวยเมื่อสุกพร้อมรับประทานทำให้จำปาดะมีราคาดี

………….

อัพเดทล่าสุด

น้ำท่วมสตูล! ปิดช่องจราจรสายหลัก ชาวบ้านอพยพ-ใช้ปี๊บกั้นน้ำ วัวชนแสนบาทหนีขึ้นที่สูง

น้ำท่วมสตูล! ปิดช่องจราจรสายหลัก ชาวบ้านอพยพ-ใช้ปี๊บกั้นน้ำ วัวชนแสนบาทหนีขึ้นที่สูง  

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

กินคู่! เกษตรกรสตูลปลูกเตยหอมในสวนมะพร้าว รับรายได้ 2 ทาง  เกษตรอำเภอแนะปลูกพืชเสริมคู่พืชหลัก

กินคู่! เกษตรกรสตูลปลูกเตยหอมในสวนมะพร้าว รับรายได้ 2 ทาง  เกษตรอำเภอแนะปลูกพืชเสริมคู่พืชหลัก

             บนพื้นที่สวนมะพร้าว 6 ไร่กว่า  ตั้งอยู่หมู่ที่ 6  ต.คลองขุด อ.เมือง  จ.สตูล   ดูร่มรื่นสดชื่นเขียวขจีด้วยต้นเตยหอม ที่เจ้าของสวนปลูกแซมสวนมะพร้าว  สร้างรายได้ 2 ทางให้เกษตรกรเป็นกอบเป็นกำ  ด้านเกษตรอำเภอแนะเกษตรกรไม่ควรปลูกพืชชนิดเดียว

         

          ด้านนางวรันณ์ธร  ทองหวั่น  อายุ  50 ปี  เกษตรกรสวนมะพร้าว  และครอบครัว  นำเกษตรอำเภอเมืองสตูล เข้าชมต้นเตยหอมที่ขึ้นอย่างหนาแน่นภายในสวนมะพร้าวที่ปลูกนานกว่า 30 ปี  โดยทางสวนได้ขุดคูน้ำเล็กๆเก็บไว้ใช้น้ำในช่วงหน้าแล้ง  เพราะต้นเตยหอมจะโตสวยงามในพื้นที่ซับน้ำ 

 

         ในส่วนของมะพร้าวที่มีมากกว่า 100 ต้น ทั้งมะพร้าวน้ำหอม  และมะพร้าวน้ำหวาน  จะตัดเดือนละ  2 ครั้ง ครั้งละ 500-700 ลูก  ขายในราคาลูกละ 15 บาท  ส่วนหนึ่งจะขายน้ำถุงละ 15 บาท  สร้างรายได้เดือนละ 20,000  บาท  ส่วนเตยหอมนั้นนับเป็นรายได้ที่ 2 ของทางสวน  จะเก็บขาย  100 ใบ ราคา 15 บาท  สร้างรายได้ 5,000-6,000 บาทต่อเดือน

 

         ด้านนางวรันณ์ธร  ทองหวั่น  เกษตรกรสวนมะพร้าว  บอกว่า  สวนมะพร้าวพื้นที่ 6 ไร่กว่า ทั้งมะพร้าวน้ำหอม  มะพร้าวน้ำหวาน   ที่สวนนี้ปลูกมะพร้าวมากกว่า 30 ปีแล้ว  รายได้ต่อเดือนประมาณ 20,000 บาท  เป็นพื้นที่เล็กๆให้คนแก่คอยเก็บขาย   ตอนนี้เพิ่มมูลค่าโดยการปลูกใบเตยเพิ่มขึ้นมา   เพราะพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่มีน้ำท่วมอยู่ตลอดเลยเอาใบเตยมาปลูกเสริม   ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5,000 ถึง 6,000 บาทต่อเดือน  โดยจะส่งขายที่ร้านดอกไม้  จะมีแม่ค้าที่ทำขนมมาขอซื้อ  ต่อเดือนสามารถขายได้หลายหมื่นใบ โดยทางสวนจะตัดขายเป็นใบไม่ได้ตัดเป็นต้น

 

         เกษตรกรสวนมะพร้าว  บอกอีกว่า  ทางสวนปลูก เตยหอม คู่กับมะพร้าว ทำให้มะพร้าวซึ่งมีน้ำที่หอมอยู่แล้วเมื่อมีใบเตยเสริมความหอมของมะพร้าวขึ้นมาอีก  มะพร้าวที่เราขายจะขายทั้งเป็นลูก  แล้วก็เป็นน้ำ 

 

        หากตัดเจอมะพร้าวลูกแก่ก็จะแยกส่งให้กับแม่ค้าที่ทำขนมขาย   ลูกอ่อนเหมาะกับการทำเป็นน้ำก็จะทำน้ำขายแพ็คถุงส่งขายเอง    ในส่วนของปัญหาตอนนี้เป็นเรื่องของอากาศ   อากาศแล้งทำให้มะพร้าวเป็นลูกน้อยลง   พอเริ่มมีฝนก็กลับมาให้ลูกเหมือนเดิม   แต่ปีนี้ยอมรับว่าแล้งจัด

 

         สวนที่นี่ได้รับการสนับสนุนจากเกษตรอำเภอมากๆ   มีหมอดิน   มีนักวิชาการมาตรวจดินให้เรา  จะบอกว่าดินของเรามีปัญหาอะไร   ให้เสริมแต่งอะไรบ้าง  เพราะเราไม่รู้ว่าดินขาดสารอาหารอะไร   เราเติมแต่งไม่ถูก    เมื่อท่านได้มาก็ได้รู้ว่าดินขาดเกลือก็ต้องเอาเกลือลง   ขาดปุ๋ยอะไรก็เสริมลงไป    ดินก็ออกมาดี   มะพร้าวก็ออกมาดี

          ด้านนายเฉลิมพร  ศรีสวัสดิ์  เกษตรอำเภอเมืองสตูล  กล่าวว่า   สำหรับแปลงปลูกมะพร้าวของลุงเจริญ  จะปลูกมะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวน้ำหวานผสมกัน  ได้เสริมด้วยใบเตยซึ่งเป็นรายได้เสริมจากมะพร้าวอีกที่หนึ่งเพราะว่าในพื้นที่สวนนี้เป็นพื้นที่ซับน้ำ  จึงนำใบเตยมาปลูกเป็นรายได้เสริมซึ่งเหมาะกับพื้นที่

 

          ในเรื่องความหอมจากใบเตยจะส่งผลให้น้ำมะพร้าวหอมนั้น   เกษตรอำเภอ  บอกว่า อันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อของผู้บริโภคและเกษตรกรทั่วไปว่าใบเตยมีผลต่อความหอมของมะพร้าว  แต่จริงๆแล้วกลิ่นของมะพร้าวน้ำหอม  กับกลิ่นของใบเตยใกล้เคียงกันมาก

 

        สำหรับสวนนี้  ทางสำนักงานเกษตรอำเภอเมือง  ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัด  ก็ได้จัดตั้งเป็นแปลงเรียนรู้ให้กับเกษตรกรทั่วไปที่สนใจในเรื่องของการบริหารจัดการสวนมะพร้าวอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ทั้งนี้ทางเกษตรอำเภอเมืองสตูล  ได้ฝากถึงเกษตรกรทั่วไปว่า การทำการเกษตร  1.เราอย่ามุ่งแค่พืชหลักอย่างเดียว   ต้องหารายได้จากพืชเสริม  ที่ผสมกันอย่างลงตัวเพื่อเป็นรายได้เสริม   เพราะบางครั้งบางช่วง  พืชหลักผลผลิตอาจตกต่ำเราก็จะได้มีรายได้จากพืชเสริมด้วยอีกช่องทางหนึ่ง

          หากเกษตรกรท่านใดต้องการเรียนรู้  หรือ สั่งซื้อมะพร้าวน้ำหอม  หรือ ใบเตยหอม  ติดต่อสอบถาม โทร  086 – 958 4983

…………………………….

อัพเดทล่าสุด

น้ำท่วมสตูล! ปิดช่องจราจรสายหลัก ชาวบ้านอพยพ-ใช้ปี๊บกั้นน้ำ วัวชนแสนบาทหนีขึ้นที่สูง

น้ำท่วมสตูล! ปิดช่องจราจรสายหลัก ชาวบ้านอพยพ-ใช้ปี๊บกั้นน้ำ วัวชนแสนบาทหนีขึ้นที่สูง  

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล-น้ำผึ้งโพรงเดือน 5 สุดยอดสรรพคุณทางยา กลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งพร้อมส่งต่อ

สตูล-น้ำผึ้งโพรงเดือน 5 สุดยอดสรรพคุณทางยา กลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งพร้อมส่งต่อ

         เข้าสู่ปีที่ 5 แล้วสำหรับการรวมตัวกันเลี้ยงผึ้งโพรง  ของชาวบ้าน  20 คน ในชื่อกลุ่ม วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงสัตว์ บ้านแประใต้  สร้างรายได้เสริมให้สมาชิกอย่างต่อเนื่อง

 

          ที่สวนผลไม้ผสมและสวนยางพารา หมู่ที่ 4   ตำบลท่าเรือ  อำเภอท่าแพ  จังหวัดสตูล  มีการนำบ้านผึ้ง  ประมาณ 10 หลัง   ไปวางตามจุดที่มีความชื้นเพื่อให้ผึ้งได้มาทำรัง  โดยทางวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงสัตว์ บ้านแประใต้   ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มกันเลี้ยงผึ้งโพรง  เพื่อเป็นรายได้เสริมของเกษตรกร   หลังจากทำสวนผลไม้และสวนยางพารา   โดยทันทีที่ผึ้งสร้างน้ำผึ้งจนเต็มรัง  เกษตรกรชุดนี้ซึ่งนำโดยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4  ก็จะออกมาช่วยกันเก็บน้ำผึ้งเพื่อมาแปรรูปขาย

 

        การเก็บน้ำผึ้งทุกขั้นตอนต้องใช้ความระมัดระวัง   และมีอุปกรณ์ในการป้องกันไม่ให้ผึ้งมาต่อยหรือไชได้   เพราะในกลุ่มที่แพ้   อาจมีอาการหนัก   จนต้องหามส่งโรงพยาบาล  แต่เพื่อไม่ประมาททางกลุ่มก็จะใช้อุปกรณ์ทุกครั้งในการเก็บน้ำผึ้งเพื่อป้องกัน 

 

          ดูแล้วไม่ง่ายกว่าที่จะได้น้ำผึ้งมา   แม้ขั้นตอนการทำรังอาจจะดูง่าย  เพียงซื้อลังและหัวเชื้อเรียกผึ้งมาทำรัง  แต่ขั้นตอนการเก็บต้องใช้ความระมัดระวัง  เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายขณะที่เก็บน้ำผึ้งได้

 

          โดยในช่วงนี้  ผึ้งจะทำรังและได้น้ำผึ้งที่มีคุณสมบัติดี  ตามหลักความเชื่อที่ว่า  น้ำผึ้งเดือนห้าจะมีสรรพคุณทางยามากกว่าน้ำผึ้งในเดือนอื่นๆ  จึงทำให้น้ำผึ้งเดือน 5 เป็นที่ต้องการของตลาดเพราะด้วยสรรพคุณดังกล่าว

 

            นายฮาหรูน   ชะยานัย   ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงสัตว์ บ้านแประใต้ (ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 ตำบลท่าเรือ)  กล่าวว่า   ผึ้งโพรงส่วนใหญ่จะเก็บในช่วงเดือน 5  มีมาตรฐานมีความเข้มข้นมากกว่าช่วงอื่นๆ เหมาะกับการใช้ปรุงยา สมุนไพรชนิดอื่นๆ  เพราะมีส่วนผสมของเกสรดอกไม้ 99 ชนิด เพื่อรักษาโรคไอเจ็บคอ  ก่อนจะเอามาทำเป็นยาลูกกลอน  

 

            ทางสมาชิกกลุ่มมีบ้านผึ้งกว่า 100 หลัง  โดยลงทุนเพียงครั้งเดียวสามารถสร้างรายได้ตลอด 4 ปี   ทางกลุ่มมีสินค้าอยู่ 2 ชนิด  คือ  น้ำผึ้ง ปริมาณ 450 ml  ขายขวดละ 400 บาท  ส่วนรังผึ้งสด จะขาย 4 ขีด 150 บาท  โดยสามารถสั่งซื้อได้ทางกลุ่ม  โทร  081-896-9863 

          ทั้งนี้ทางกลุ่มมีการปันผลให้กับสมาชิกปีละ 3,000 บาทต่อคน ซึ่งสร้างรายได้เสริมให้กับครัวเรือนและยังมีน้ำผึ้งไว้ทาน  และเพื่อรักษาโรคและเป็นยาสามัญประจำบ้าน

 

          นายอารีย์ โส๊ะสันสะ  เกษตรอำเภอท่าแพ  เป็นกลุ่มเกษตรกรที่สนใจเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจได้ส่งเข้าอบรมการเลี้ยงผึ้งโพรง  ส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากศูนย์แมลงเศรษฐกิจ  ชุมพร โดยงบประมาณส่วนหนึ่งของเกษตรอำเภอท่าแพได้เริ่มต้นให้  แล้วจะความตั้งใจของกลุ่มเดิมที่มีอยู่แล้ว  ทางสมาชิกเองได้มีการต่อยอด  จึงเป็นที่มาของการรวมกลุ่มและจดทะเบียน  เริ่มจากกลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร   มันมีความเข้มแข็งมากขึ้นก็ได้มีการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน 

 

          สำหรับความพิเศษของกลุ่มนี้  นอกจากจะรวมกลุ่มเพื่อเลี้ยงผึ้งแล้ว  ยังมีการรวมกลุ่มเพื่อเลี้ยงแพะเลี้ยงโคและเลี้ยงปลาเป็นรายได้เสริมด้วย  

……..

 

อัพเดทล่าสุด

น้ำท่วมสตูล! ปิดช่องจราจรสายหลัก ชาวบ้านอพยพ-ใช้ปี๊บกั้นน้ำ วัวชนแสนบาทหนีขึ้นที่สูง

น้ำท่วมสตูล! ปิดช่องจราจรสายหลัก ชาวบ้านอพยพ-ใช้ปี๊บกั้นน้ำ วัวชนแสนบาทหนีขึ้นที่สูง  

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล-บุตรสาวนายกฯสตูลหลงรักอาชีพเกษตร..ทันทีที่เรียนจบแม่โจ้ลุยปลูกแตงโมพืชทนแล้ง อายุสั้นทำเงินไว  แซมสวนยางพารา 65 วัน  รับเงินครึ่งล้าน

สตูล-บุตรสาวนายกฯสตูลหลงรักอาชีพเกษตร..ทันทีที่เรียนจบแม่โจ้ลุยปลูกแตงโมพืชทนแล้ง อายุสั้นทำเงินไว  แซมสวนยางพารา 65 วัน  รับเงินครึ่งล้านส่งขายมาเลย์  เผยจะทำอะไรต้องมีความรู้ก่อนจึงจะประสบความสำเร็จ 

         ที่บ้านบูโล๊ะ   หมู่ 4 ตำบลท่าแพ อำเภอท่าแพ  จังหวัดสตูล บนพื้นที่ 16 ไร่  กลางสวนยางพาราต้นใหญ่ที่ล้อมรอบ  เกษตรกรรุ่นใหม่ยังสมาร์ทประจำอำเภอท่าแพ  ได้ลงมือปลูกแตงโมพันธุ์ตอปิโดแซมสวนยางกล้าอ่อน  โดยขณะนี้ได้ให้ผลผลิตขนาดใหญ่พร้อมเก็บเกี่ยว  หลังลงมือปลูกเพียง 65 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว

          การปลูกแตงโมบนพื้นที่ขนาดใหญ่   ด้วยการใช้ระบบการปลูกโดยใช้พลาสติกคลุมดิน /ให้น้ำ  ปุ๋ย ผ่านระบบน้ำใต้ผ้ายางพลาสติก เป็นชุดความรู้ที่น้องด๊ะ   หรือนางสาววิลาวรรณ  เปรมใจ  อายุ 26 ปี (บุตรสาวคนที่ 3 ของนายกอบต.ท่าเรือ ที่หลงใหลในอาชีพเกษตรจบ ป.ตรี ม.แม่โจ้ วิชาเอกพืชผัก)  ได้เรียนรู้และศึกษาจนนำมาซึ่งการลงมือทำ 

          น้องด๊ะ  หรือนางสาววิลาวรรณ  เปรมใจ  อายุ 26 ปี เกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ ยังสมาร์ทฟาร์มอำเภอท่าแพ  หลังจบการศึกษาจากแม่โจ้กลับบ้านลงมือทำการเกษตรทันทีที่โค่นยางพาราแก่  เพื่อปลูกแตงโมบนพื้นที่ 16 ไร่แซมต้นยางพาราที่ปลูกใหม่  เพื่อใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด   จากที่เกษตรกรหลายคนไม่กล้าปลูกเพราะกลัวปัญหานานาและในอำเภอท่าแพนับเป็นเจ้าแรกที่ปลูกแตงโมแปลงใหญ่สุด ด้วยเกษตรกรรุ่นใหม่จนประสบความสำเร็จ

        น้องด๊ะ  ยังสมาร์ทฟาร์มอำเภอท่าแพ  กล่าวเพิ่มว่า   การปลูกแตงโมครั้งนี้   เป็นการปลูกแบบสมัยใหม่ จากเมื่อก่อนรุ่นพ่อรุ่นแม่ปลูกก็คือใช้จอบขุดและน้ำหยอด  มาเปลี่ยนเป็นให้น้ำให้ปุ๋ยผ่านระบบสายน้ำฝน  ปูผ้ายางคลุมวัชพืช  จากเมื่อก่อนปลูกยางพาราเดียวมาเป็นปลูกพืชแซม  ที่เลือกแตงโมเพราะตรงกับช่วงแล้งอีกทั้งเป็นพืชเศรษฐกิจก็จะได้ราคาดี  อนาคตตั้งใจจะมีศูนย์เรียนรู้แลกเปลี่ยนถ่ายทอดความรู้ ภายใต้ชื่อ  สวนเปรมปัญญา    สนใจติดต่อสอบถามแลกเปลี่ยนความรู้  089-6545850  

         น้องด๊ะ  ยังเห็นว่าการทำเกษตรให้ประสบความสำเร็จ  เกษตรกรเองต้องมีความรู้ ก่อนลงมือทำเพราะทำให้เราประสบความสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง  มาวันนี้แตงโมพันธุ์ตอปิโด   ให้ผลผลิตลูกละ 5-6 กก.ขายที่กิโลกรัมละ 10 บาท โดยมีพ่อค้ามารับซื้อไปยังประเทศมาเลเซียเพราะจะนิยมลูกโตซึ่งผลผลิตการปลูกเป็นไปตามแผนที่วางไว้คือ  6,000 กก.  สร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 600,000 บาทที่ยังไม่หักค่าใช้จ่าย 

 

          นายอารีย์  โส๊ะสันสะ  เกษตรอำเภอท่าแพ  กล่าวว่า  น้องยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่มีความรู้รอบ  ด้านการเกษตรเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว   ทางสำนักงานเกษตรอำเภอท่าแพเองมีการติดต่อกันเป็นประจำ   เจ้าหน้าที่ประสานงานกันอยู่ตลอด   มันมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้คำแนะนำเพิ่มเติม  จัดการสวน   เป็นคนตั้งใจและมีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติ  ใช้ความรู้เดิมเข้ามากับการดูแลสวนทำให้ประสบความสำเร็จ

         นอกจากจะเป็นเกษตรกรเจ้าแรกในอำเภอท่าแพที่ลงมือปลูกแตงโมแปลงใหญ่แล้ว  และหลังการเก็บเกี่ยวแตงโมครบกำหนด 20 วัน พักหน้าดินแล้ว   น้องด๊ะ   ได้วางแผนเตรียมพื้นที่นี้ปลูกฟักทองพันธุ์ใหญ่ ซึ่งเป็นพืชอายุสั้นที่ให้รอบเร็วและเป็นที่ต้องการของตลาดต่อเลย

……………………………………….

อัพเดทล่าสุด

น้ำท่วมสตูล! ปิดช่องจราจรสายหลัก ชาวบ้านอพยพ-ใช้ปี๊บกั้นน้ำ วัวชนแสนบาทหนีขึ้นที่สูง

น้ำท่วมสตูล! ปิดช่องจราจรสายหลัก ชาวบ้านอพยพ-ใช้ปี๊บกั้นน้ำ วัวชนแสนบาทหนีขึ้นที่สูง  

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

คุณหมออนามัย  ปลูกสละอินโดแซมสวนยางพาราให้ผลผลิตทั้งปี   เสริมรายได้รับเหนาะๆสัปดาห์ละ 10,000 บาท 

คุณหมออนามัย  ปลูกสละอินโดแซมสวนยางพาราให้ผลผลิตทั้งปี   เสริมรายได้รับเหนาะๆสัปดาห์ละ 10,000 บาท

        “สละอินโด  พันธุ์สายน้ำผึ้ง”   ถูกเลือกมาปลูกแซมในพื้นที่สวนยางพาราและสวนผลไม้ผสม  บนพื้นที่ หมู่ 5 ต.เกตรี อ.เมือง จ.สตูล  จำนวน 25 ไร่  จากพื้นที่ทั้งหมด  36 ไร่  ของ   นายรอศักดิ์  หมาดสา  อายุ 38  ปี  เกษตรกรสวนสละอินโด  เพื่อเพิ่มรายได้เสริมจากอาชีพหลักที่เป็น นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการ  รพ.สต.วังพะเนียด ต.เกตรี  หรือที่ชาวบ้านเรียก “หมอศักดิ์”   มาปลูกสละสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ

 

           ทุกวันหยุดเสาร์  – อาทิตย์  หมอศักดิ์ จะใช้เวลาเข้าสวนสละ  เพื่อมาตกแต่งทางใบต้นสละให้ต้นสวยมีคุณภาพ  และตัดผลสละขายให้กับลูกค้า  อีกทั้งยังเพาะพันธุ์ต้นขายให้เกษตรกรรายอื่นๆ   และยังส่งมอบให้โรงเรียนในพื้นที่เพื่อปลูกด้วย

         

         โดยราคาสละอินโด พันธุ์สายน้ำผึ้งของทางสวนหมอศักดิ์ จะมีรสชาติ หวานกรอบ  ขายปลีกและส่งในราคากิโลกรัมละ 60 บาท  รอบสัปดาห์จะเก็บครั้งละ 100-200 กิโลกรัม  สร้างรายได้สัปดาห์  6,000-10,000 บาท   

           นายรอศักดิ์  หมาดสา  เกษตรกรปลูกสละ  บอกว่า   อาชีพรับราชการก็เป็นอาชีพหลักอยู่แล้ว  ส่วนตัวเริ่มมีแนวคิดว่าจะต้องหารายได้เสริม  จึงคิดที่จะปลูกสละจากคำแนะนำของรุ่นพี่  เลยเริ่มปลูกเมื่อลองทำดูก็เข้ากับตัวเองได้   โดยใช้เวลาว่างเสาร์-อาทิตย์  มาดูแลกับเพื่อนหนึ่งคน   ช่วยกันทำตอนนี้สองปีกว่า  สวนทดลองก็ให้ผลผลิตแล้ว  โดยปลูกบนพื้นที่ร่วม 30 ไร่  มีการบริหารจัดการปลูกภายใต้สวนยาง  และสวนทุเรียน 

 

           สำหรับต้นที่ให้ผลผลิตแล้วบางส่วน   รายได้ประมาณสัปดาห์ละ 6000 ถึง 10,000 บาทรวมรวมเดือนละสองถึง 30,000 บาท  ในช่วงนี้ตัด 100  ถึง 200 กิโลกรัมต่อสัปดาห์  ลูกค้าจะอยู่ในเมืองสตูลและในจังหวัดก็จะขายระบบออนไลน์   ส่วนเกษตรกรที่มีแนวคิดคล้ายๆกันมีประมาณ 10 ถึง 20 ราย  ก็จะมาขอซื้อต้นพันธุ์ไปปลูก   ขายราคาต้นพันธุ์เริ่มต้นที่ 30 บาท  หากต้นที่มีมีอายุปีนึงก็จะขายต้นละ 150 บาท คละกันกันระหว่างตัวผู้ตัวเมีย

 

          นายรอศักดิ์  หมาดสา  แนะนำเพิ่มเติมว่า  สำหรับเกษตรกรที่สนใจจะปลูกสละ   ถ้ามีพื้นที่พื้นที่ที่ปลูกยางพารา   หรือปลูกต้นปาล์มโดยมีระยะห่างที่เหมาะสม   แนะนำว่าการปลูกสละอินโดเป็นทางเลือกหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรรายใหม่ได้

 

           ด้านนายเฉลิมพร  ศรีสวัสดิ์  เกษตรอำเภอเมืองสตูล  พร้อมเจ้าหน้าที่เกษตร ลงพื้นที่แปลงสละ โดยกล่าว ในส่วนของสำนักงานเกษตรอำเภอก็ได้เข้ามาส่งเสริมให้ความรู้ในเรื่องของการบริหารจัดการสวน   การจัดการปุ๋ย   การเข้าสู่มาตรฐานสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน   ในเรื่องของด้านการตลาด  โดยเกษตรกรรายนี้ยังมีแนวคิดที่จะพัฒนาสวนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรในตำบลเกตรี   อำเภอเมือง   ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตรที่จะพัฒนาพื้นที่  จัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้วย

 

          ในส่วนของสละ  พูดถึงก็เป็นรายได้เสริมที่ดี  หรือบางรายทำเป็นรายได้หลักไปเลย   สละที่ปลูกในจังหวัดสตูล   จะมีตั้งแต่สายพันธุ์สุมาลี   เนินวง   ส่วนหนึ่งก็มาปลูกสละอินโด  ซึ่งเป็นรายได้เสริมของเกษตรกร    ในส่วนของแปลงสละแห่งนี้ก็เป็นแหล่งจำหน่ายพันธุ์   และเป็นแหล่งแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอเมืองและอำเภอใกล้เคียงที่สนใจจะปลูกสละอินโด

 

          สำหรับสละสามารถออกผลผลิตได้ตลอดปี   ทำให้เกษตรกรมีรายได้ตลอด   สละไม่ต้องปลูกตามฤดูกาลแต่สามารถให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปี   หากท่านใดต้องการสั่งต้นพันธุ์ โทร  096-9705301

……………………………

อัพเดทล่าสุด

น้ำท่วมสตูล! ปิดช่องจราจรสายหลัก ชาวบ้านอพยพ-ใช้ปี๊บกั้นน้ำ วัวชนแสนบาทหนีขึ้นที่สูง

น้ำท่วมสตูล! ปิดช่องจราจรสายหลัก ชาวบ้านอพยพ-ใช้ปี๊บกั้นน้ำ วัวชนแสนบาทหนีขึ้นที่สูง  

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

แล้งนี้ที่สตูล  เลี้ยงผึ้งเดือนห้าแซมสวนยางจากรายได้เสริมแซงรายได้หลัก  รสชาติหวานฉ่ำคลายร้อน  เตรียมโกอินเตอร์ต่างแดน   ท้องถิ่นฉลุงช่วยเกษตรกรขาย  หลังผลิตภัณฑ์มีหลากหลายพร้อมตอบโจทย์ลูกค้า 

แล้งนี้ที่สตูล  เลี้ยงผึ้งเดือนห้าแซมสวนยางจากรายได้เสริมแซงรายได้หลัก  รสชาติหวานฉ่ำคลายร้อน  เตรียมโกอินเตอร์ต่างแดน   ท้องถิ่นฉลุงช่วยเกษตรกรขาย  หลังผลิตภัณฑ์มีหลากหลายพร้อมตอบโจทย์ลูกค้า 

       นายสุจริต  ยามาสา  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลฉลุง ลงพื้นที่ชมวิธีการจับผึ้งโพรง  ของกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงมุสลิมบ้านทุ่งพญา หมู่ที่ 14 ตำบลฉลุง  อำเภอเมือง จังหวัดสตูล  ซึ่งมีการปลูกแซมในสวนยางพาราเป็นรายได้เสริม แต่กลับพบว่า  รายได้จะแซงรายได้หลักอย่างยางพาราไปแล้ว  โดยเกษตรกรกลุ่มนี้ได้จำหน่ายลังผึ้งเพียงผลิตภัณฑ์เดียว  ก็สามารถสร้างรายได้หลักล้านบาท  

        และขณะนี้เกษตรกรแต่ละราย  ก็จะนำลังผึ้งไปเลี้ยงภายในสวนยางพาราของตัวเอง  เป็นรายได้อีกทางหนึ่งให้กับเกษตรกรและชาวบ้าน   โดยพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสม  ต่อการอาศัยอยู่ของผึ้งเนื่องจากมีความชื้นที่พอเหมาะ   และยังติดพื้นที่ชุ่มน้ำ  เขตห้ามล่าหนองปลักพระยาและเขาระยาบังสา

         นายราเหม หยังหาด ประธานกลุ่มฯ ได้สาธิตวิธีการจับผึ้งที่ปลอดภัยในครั้งนี้ ด้วย   สำหรับหนึ่งลังจะได้น้ำผึ้งประมาณ 3-4  ขวด จำหน่ายขวดละ 600 บาท  แต่ปัจจุบันมีขนาดขวดที่แตกต่างกันออกไป มีตั้งแต่ขวดละ 50 บาท ไปจนถึง 600 บาท พร้อมแพคแก็ตที่สวยงามเหมาะแก่การเป็นของขวัญของฝากอีกด้วย  ซึ่งการเลี้ยงผึ้งสร้างรายได้ให้ชุมชนเข้มแข็ง

        โดยวิสาหกิจชุมชน  กลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงมุสลิมทุ่งพญา ตำบลฉลุง จ.สตูล ทางกลุ่มได้ทำการเลี้ยงผึ้งมากว่า 8  ปี ปัจจุบันนอกจากมีการจำหน่ายน้ำผึ้ง  ยังมีผลิตภัณฑ์จากผึ้งแบบครบวงจร ตั้งแต่ ลังผึ้ง สารล่อผึ้ง ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผึ้ง และยังมีการเปิดให้บุคคลภายนอกเข้ามาเรียนรู้วิธีการเลี้ยงผึ้งอีกด้วย

        นายราเหม หยังหาด ประธานกลุ่มฯ  บอกว่า ผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้งของทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชน  กลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงมุสลิมบ้านทุ่งพญา  มีมากมาย  โดยเฉพาะเครื่องดื่มพญาผึ้ง  ที่มีส่วนผสมจากน้ำส้มของอินทผาลัมและน้ำผึ้ง   ทางศาสนายอมรับว่าเป็นเครื่องดื่มที่มีสรรพคุณทางยา  ทำให้มียอดจำหน่ายดีกว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ   ก่อนหน้านี้เคยจำหน่ายได้ 3-400 โหล  โดยเฉพาะตอนนี้ทางกลุ่มเตรียมที่จะผลักดันสินค้าไปขายยังประเทศมาเลเซีย   แต่ติดอยู่ที่ค่าเงินของต่างประเทศยังอ่อนค่าอยู่ทำให้ต้องชะลอ  นอกจากนี้กลุ่มลูกค้า 3 จังหวัดชายแดนใต้  ก็ได้รับความนิยม   ทางกลุ่มยังมีเครือข่ายหลายจังหวัดในการทำงานเชื่อมโยงกัน

          การจับผึ้งเดือนนี้ถือว่าเป็นน้ำผึ้งที่ดีเลิศ  โดยเฉพาะน้ำผึ้งที่นี่มีลักษณะเด่น  จะเป็นสีทอง  หอมหวาน อร่อย และยังมีสรรพคุณทางยา สำหรับท่านที่สนใจสามารถสอบถามสั่งซื้อ  ได้ที่กลุ่มผึ้งโพรงมุสลิมบ้านทุ่งพญา ผ่านทางประธานชมรม ที่หมายเลขโทรศัพท์ 06-2   231  –  8316

……

อัพเดทล่าสุด

น้ำท่วมสตูล! ปิดช่องจราจรสายหลัก ชาวบ้านอพยพ-ใช้ปี๊บกั้นน้ำ วัวชนแสนบาทหนีขึ้นที่สูง

น้ำท่วมสตูล! ปิดช่องจราจรสายหลัก ชาวบ้านอพยพ-ใช้ปี๊บกั้นน้ำ วัวชนแสนบาทหนีขึ้นที่สูง  

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

แปลกแต่จริง! ขนมทอดน้ำมันเย็น  แลมแปง  ขนมหาทานยากที่กำลังจะสูญหายไปจากหมู่บ้าน

แปลกแต่จริง! ขนมทอดน้ำมันเย็น  แลมแปง  ขนมหาทานยากที่กำลังจะสูญหายไปจากหมู่บ้าน

 

           ที่จังหวัดสตูลเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีขนมพื้นเมืองมากมาย   ดินแดนแห่งนี้มีพรหมแดนติดไทยมาเลเซีย  ทำให้วัฒนธรรมการกินมีการสืบทอดไปมา    ที่นี่จึงมีขนมที่มีชื่อแปลก ๆ และกรรมวิธีแปลกๆ แบบโบราณให้เห็นมากมาย 

 

           วันนี้ทีมข่าวไปเสาะหาขนมพื้นเมือง   ที่กำลังจะสูญหายไปจากพื้นที่    เพราะด้วยกรรมวิธีการทำที่พิเศษกว่าขนมทั่วไป  คือ    ต้องทอดในน้ำมันที่เย็นเท่านั้น  ไม่อย่างงั้น   ตัวขนมจะหักง่าย  และ เหี่ยว  หน้าตาไม่น่ารับประทาน    ขนมที่ว่านี่ก็คือ  ขนมแลมแปง  เป็นชื่อภาษามลายูที่มีความหมายเป็นห่วงคู่คล้องใจ  

 

          โดยส่วนผสมของขนมแลมแปง   ประกอบด้วย  แป้งข้าวเหนียว  ไข่ไก่  และเกลือนิดหน่อยผสมให้เข้ากัน  นวดจนเป็นเนื้อเดียวกัน   ปั้นเป็นห่วงคู่คล้องใจ    แล้วนำไปแช่ในน้ำมันทิ้งไว้   เพื่อไม่ให้ตัวขนมแห้ง   ก่อนที่จะนำมาทอดในน้ำมันที่เย็นในกระทะ  แล้วค่อยๆ เปิดไฟอ่อนๆ ให้ตัวขนมค่อยๆ ฟูตัวขึ้นแบบสม่ำเสมอกัน (ในขั้นตอนนี้ต้องใช้ความเชี่ยวชาญชำนาญการพอสมควร)   ไม่อย่างนั้น   จะทำให้ตัวขนมแตกหัก  ไม่ได้รูปทรงตามที่ต้องการได้

 

         นางสภิณา สูสัน อายุ 40 ปี หรือ เป็นที่รู้จักในนามว่าร้านก๊ะหนา เป็นอีกหนึ่งคนที่สืบทอดการทำขนมแลมแปง ไม่น้อยกว่า 5 ปี ยอมรับว่า ขนมชนิดนี้จะต้องใช้ความอดทน ความชำนาญและความวิถีพิถัน ในการทำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะขั้นตอนการขึ้นรูปขนม และการทอดขนม ที่จะต้องให้น้ำมันมีความเย็นก่อนถึงจะใส่ตัวขนมลงไป แล้วค่อยๆเปิดไฟอ่อนๆให้ขนมพองตัวขึ้น โดยได้สืบทอดขนมนี้มาจากบรรพบุรุษ จะทำขายในช่วงเดือนฮารีรายอก่อนออกบวช 13 วันเท่านั้น ตอนนี้ในหมู่บ้านมีคนทำขนมชนิดนี้น้อยมาก ไม่เกิน 5 คนที่ทำขนมนี้เป็น

        โดยทางครอบครัวร้านก๊ะหนา จะทำขนมต้อนรับเดือนฮารีรายอเป็นรายได้เสริม 10 กว่าวันก่อนถึงเทศกาลฮารีรายอ สร้างรายได้เสริมในห้วงนี้ไม่น้อยกว่า 10,000 บาท ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าประจำ และส่งตามร้านค้า สำหรับขนมแลมแปง เป็นขนมที่ได้รับความนิยมรับประทานเพราะมีคนทำน้อย เนื่องจากขั้นตอนที่ยุ่งยาก

        นางสาวนูรอัยนี มายาสัน อายุ 23 ปี บุตรสาวร้านก๊ะหนา ยอมรับว่าตนไม่ค่อยถนัดในเรื่องของการทำขนมแต่จะมาช่วยคุณแม่โพสต์ขายทางออนไลน์ และ รับออเดอร์ให้ ซึ่งก็ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีจากโลกโซเชียล และอนาคตหวังว่าจะทำให้ขนมแลมแปง ขนมพื้นถิ่นในจังหวัดสตูลของตำบลควนสตอเป็นที่รู้จักกว้างขวางมากยิ่งขึ้น โดยจะจำหน่ายเป็นถุง 12 ชิ้นราคา 35 บาทหรือ 3 ถุง 100 บาท นอกจากนี้คุณแม่ยังทำขนมโดนัท , ขนมเขี้ยวหมีหรือขนมเขาควาย, และขนมไข่เต่าไส้สับปะรดจำหน่ายด้วย ผู้ที่สนใจสามารถติดต่อ 089 975 4537 หรือ 080 029 8913 เฟสบุ๊ค Noorainee Mayasan

          นางสาวบีเซาะห์ เกปัน นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ สังกัดสำนักปลัด อบต.ควนสตอ จังหวัดสตูล บอกว่า ขนมพื้นถิ่นในตำบลควนสตอมีอยู่มากมายหลายชนิด อาทิ ขนมบุหงาบุดะ ขนมไข่กรอบ ขนมลา และที่สำคัญขนมแลมแปง ที่หาทานยากก็สามารถมาหาซื้อได้ที่ตำบลแห่งนี้สามารถติดต่อสอบถามที่ได้ อบต.ควนสตอ หรือ ติดต่อโดยตรงกับทางร้านค้าทำขนมที่ให้เบอร์ไว้ได้เลยค่ะ

อัพเดทล่าสุด

น้ำท่วมสตูล! ปิดช่องจราจรสายหลัก ชาวบ้านอพยพ-ใช้ปี๊บกั้นน้ำ วัวชนแสนบาทหนีขึ้นที่สูง

น้ำท่วมสตูล! ปิดช่องจราจรสายหลัก ชาวบ้านอพยพ-ใช้ปี๊บกั้นน้ำ วัวชนแสนบาทหนีขึ้นที่สูง  

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล-ชวนล่องเรือหา  สาหร่ายสาย  เรียบป่าโกงกางเมนูธรรมชาติพื้นถิ่นมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง  มีเยอะฤดูแล้ง เตรียมส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

สตูลชวนล่องเรือหา  สาหร่ายสาย  เรียบป่าโกงกางเมนูธรรมชาติพื้นถิ่นมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง  มีเยอะฤดูแล้ง เตรียมส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

            ในช่วงน้ำ 14 ถึง 15 ค่ำ  และ 1 ถึง 2 ค่ำฤดูแล้งชาวบ้านหมู่ที่ 8 บ้านนาพญา  ตำบลละงู อำเภอละงู  จังหวัดสตูล  จะนำเรือออกล่องไปตามลำคลองเรียบป่าโกงกางเพื่อหา  สาหร่ายสาย (สาหร่ายขนนก)  หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าหา  ลาโต๊ส  , ลาสาย หรือ สาย

          โดยแหล่งหาสาหร่ายสาย   จะมีด้วยกัน 2 ลำคลองคือ 1 โซนท่านาพญา  และ 2 โซนท่าพะยอม   ทันทีระดับน้ำในลำคลองลดลง   จนเกือบถึงยอดอกชาวบ้านที่ว่างเว้นการออกเรือหาปูดำ  หรือออกเรือหาแมงกะพรุน  ก็จะพากันออกไปหาในช่วงฤดูแล้งเพื่อเป็นรายได้เสริม

         โดยทุกคนที่มาหาจะมีทั้งวัยรุ่นและผู้สูงอายุอย่างคุณลุงปิยะศักดิ์  เภอสม  วัย  68  ปี ที่ยอมรับว่าออกมาหาสาย  ตั้งแต่วัยหนุ่มนานถึง 30 ปีแล้ว   โดยเคยหามากสุดในชีวิตคือ 40 กิโลกรัม เมื่อหลายสิบปีก่อน  แต่ตอนนี้หาได้มากสุด 10 กว่ากิโลกรัม   โดยอุปกรณ์ก็จะมีแว่นตาดำน้ำ   และภาชนะสำหรับใส่   สาหร่ายสาย  โดยการหาในแต่ละครั้งจะต้องดำดิ่งลงไปในน้ำที่มีความลึกประมาณยอดอก  แต่หากลึกกว่านั้น   ก็จะหลีกเลี่ยงไปหาพื้นที่อื่นเพื่อเซฟร่างกายด้วยเช่นกัน   เพราะจะต้องกลั้นหายใจให้นานเพื่อที่จะไปดึง สาหร่ายสาย   ขึ้นมาจากน้ำให้ได้

        น้องวินกับน้องแม๊ค    บอกว่า  หากวันไหนไม่ออกเรือหาปูดำ  หรือหาแมงกะพรุน  พอเข้าสู่ฤดูแล้งก็จะออกมาหา   สาหร่ายสาย  หรือ  สาย  โดยช่วงแรก ๆ ก็จะออกมาหากับคุณพ่อ   พอรู้แหล่งพิกัดก็จะออกมาหาตามลำพัง     โดยพบว่า  สาหร่ายสาย  มักจะอยู่กันเป็นกลุ่มเป็นก้อนริมป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์   เมื่อกระโดดลงน้ำและเท้าถึงพื้น   สัมผัสว่ามีความนิ่มก็หมายความว่าบริเวณนั้นมี  สาหร่ายสาย  เป็นจำนวนมากนั่นเอง   ใน 1 ปีหาได้เพียงไม่กี่เดือน  โดยจะหาได้มากสุดก็ช่วงที่น้ำลดลงต่ำสุด  เพราะต้องใช้ความชำนาญในการกลั้นลมหายใจในการดำน้ำดึงสาหร่ายขึ้นมา  

          การออกมาหา  สาหร่ายสาย(สาหร่ายขนนก) หรือ  ลาโต๊ส  ในครั้งนี้ทีมเกษตรอำเภอละงูและทีมผู้ใหญ่บ้านรวมทั้งสมาชิกอบต.ละงู  ก็หวังจะผลักดันให้พื้นที่แห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  กับอาหารพื้นถิ่นที่ขึ้นชื่อที่มีลักษณะเฉพาะ  เพราะจะมีทานในช่วงน้ำลงและฤดูแล้งเท่านั้น 

          นางสาวมนัสนันท์   นุ่นแก้ว   เกษตรอำเภอละงู  บอกว่า  หลังจากลงพื้นที่ในครั้งนี้จะเข้ามาส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มกันส่งเสริมอาชีพ  ร่วมกันทำกิจกรรม เช่น  การอนุรักษ์สาหร่ายสายให้อยู่คู่กับลูกหลาน และการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์   โดยจะทำร่วมกับผู้นำท้องที่ท้องถิ่นเพื่อต่อยอด   โดยสามารถติดต่อสอบถามได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอละงู

 

           นายตารอด   ใบหลำ   ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 8  บอกว่า   สาหร่ายสาย  นับเป็นสินค้าที่ตลาดมีความต้องการเป็นอย่างมากและที่นี่ก็จัดเป็นอีกหนึ่งแหล่งที่มีสาหร่ายสาย หรือ  ลาโต๊ส  เยอะที่สุดอีกหนึ่งแหล่งในจังหวัดสตูล   โดยอนาคตก็เตรียมผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์   โดยนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาชมป่าโกงกางที่อุดมสมบูรณ์มาดูวิถีชีวิตของชาวบ้านในการหาสาหร่าย   ชิมกันสดๆ  ถึงอรรถรสความกรอบ  ใหม่สดของสาหร่ายชนิดนี้  ที่ชาวบ้านนาพญา  ตำบลละงู  อำเภอละงูจังหวัดสตูลพร้อมดูแล  

         

         ด้าน   กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 5 สตูล  ได้ศึกษาวิจัยการใช้  สาหร่ายสาย  หรือ  สาหร่ายขนนก  พบสรรพคุณที่โดดเด่นคือมีสารต้านอนุมูลอิสระป้องกันมะเร็งมีวิตามินที่ร่างกายต้องการ     สาหร่ายชนิดนี้จะเจริญเติบโตในที่มีคุณภาพน้ำที่สะอาดเท่านั้น   ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้รับประทานเป็นผักจิ้ม (โดยการล้างให้สะอาดก่อนนำมากิน เพราะสาหร่ายสายเมื่อถูกน้ำจืดเพียงไม่นานก็จะตายหากไม่รีบทาน )   พบในช่วงฤดูแล้งเดือนมีนาคม – พฤษภาคมและจะเริ่มลดลงเมื่อเข้าหน้าฝนในช่วงมิถุนายนถึงตุลาคม   สำหรับพื้นที่พบสาหร่ายสาย   ตามแนวชายฝั่งอำเภอท่าแพ,ละงู ,ทุ่งหว้า  เพราะมีลักษณะคล้ายคลึงกันมีลักษณะเป็นหินดินดานเป็นโคลนทราย

 

           พื้นที่ความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนนั้นพบว่า  มีคุณประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ไม่ว่าจะเป็นทางตรงและทางอ้อม   สรรพสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดที่เข้ามาพึ่งพิงจะใช้ประโยชน์จากป่าชายเลน   ในแง่ของแหล่งอาหารที่อยู่อาศัยแหล่งหลบภัยเช่นเดียวกับสาหร่ายสาย หรือ สาหร่ายขนนก   ที่ยึดเอาป่าชายเลนเป็นเสมือนบ้านของตนเองยังคุณประโยชน์ให้แก่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น   ได้เก็บหามาบริโภคในครัวเรือน   และยังสามารถขายเพื่อเป็นรายได้จนเจอครอบครัวอีกด้วย    นับเป็นการเกื้อกูลเอื้อประโยชน์แก่กัน    ทั้งป่าชายเลน  สาหร่าย  และชาวบ้านในบริเวณนั้นประโยชน์จากสาหร่ายสาย   ชาวบ้านมีการถ่ายทอดองค์ความรู้และนำไปสู่วิถีแห่งภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นได้ต่อไป

         ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : 064-0456565

………………………………………….

อัพเดทล่าสุด

น้ำท่วมสตูล! ปิดช่องจราจรสายหลัก ชาวบ้านอพยพ-ใช้ปี๊บกั้นน้ำ วัวชนแสนบาทหนีขึ้นที่สูง

น้ำท่วมสตูล! ปิดช่องจราจรสายหลัก ชาวบ้านอพยพ-ใช้ปี๊บกั้นน้ำ วัวชนแสนบาทหนีขึ้นที่สูง  

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล-ชาวสตูลแห่สั่งแกงไตปลาเพื่อประกาศศักดา   เมนูยอดเยี่ยม  แนะวิธีทานไม่ใช่ซุป แม่ค้าลั่นกระแสตีกลับรับออเดอร์กันรัวๆ

สตูล-ชาวสตูลแห่สั่งแกงไตปลาเพื่อประกาศศักดา   เมนูยอดเยี่ยม  แนะวิธีทานไม่ใช่ซุป แม่ค้าลั่นกระแสตีกลับรับออเดอร์กันรัวๆ

 

        วันที่ 4 เมษายน 67  หลังต่างชาติได้จัดอันดับให้เมนูพื้นถิ่นปักษ์ใต้อย่างแกงไตปลาเป็นเมนูยอดแย่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก   ได้มีกระแสตีกลับส่งผลให้ order  หลายร้านสั่งกันรัวๆ  เพิ่มยอดขายให้กับหลายร้านค้าในพื้นที่จังหวัดสตูล 

        อย่างเช่นที่ร้านอาหารน้องเบียร์  (ตรงข้ามศาลากลางจังหวัดสตูล) ตำบลพิมาน  อำเภอเมืองสตูล  ร้านอาหารเก่าแก่ ที่เปิดมานานกว่า 35 ปี ที่ขึ้นชื่อเกี่ยวกับอาหารพื้นถิ่นปักษ์ใต้โดยเฉพาะเมนูแกงไตปลา  มียอดสั่งรัวๆ จากลูกค้าเข้าเช้าเดียวถึง  40 ชุด  โดยสั่งเป็นกับข้าว  บ้างสั่งเป็นอาหารชุดทานกับหมูฮ้อง(เมนูพื้นที่)    บ้างก็สั่งทานกับขนมจีน  ทำให้เมนูที่ต่างชาติบอกว่าเป็นเมนูยอดแย่  แต่ในภาคใต้  กับเป็นเมนูยอดเยี่ยม และทำเงินสร้างงานให้กับหลายร้านค้า

 

        นางอุไรวรรณ  ธชพันธ์   แม่ครัวมือหนึ่งของร้านอาหารน้องเบียร์ บอกว่า  สูตรความอร่อยของแกงไตปลา  อยู่ที่เครื่องแกงและไตปลาที่ใช้ของแต่ละครัว  เหมือนอย่างที่ร้านจะใช้ไตปลาจรวด และเครื่องแกงที่ทำเองแบบสดวันต่อวัน  นอกจากนี้ส่วนผสม  เหมือนอย่างที่ร้าน  จะใส่หน่อไม้  มะเขือพวง กุ้งสดสับเพิ่มความเข้มข้นของน้ำแกงไตปลา   เนื้อปลาหางแข็งที่ผ่านการย่างให้แห้งแกะเป็นชิ้นใหญ่ๆ   แล้วนำส่วนผสมทุกอย่าง  ใส่ลงไปทันทีที่เครื่องแกงไตปลาเดือด  โดยไม่ต้องปรุงอะไรเพิ่มเติม  เพราะแกงไตปลามีความเค็ม  มีความหวานของปลา   กุ้งสับ  และความหวานของผักที่ใส่อยู่ในตัวอยู่แล้ว 

       

        ด้านนางอจรี   ธชพันธ์   เจ้าของร้านบอกว่า   หลังการจัดอันดับให้เมนูแกงไตปลาเป็นเมนูยอดแย่ในเรื่องนี้เห็นว่า   ชาวต่างชาติอาจจะทานแกงไตปลาไม่เป็น   อาจจะทานเหมือนกับทานซุป   ตักซดเพียวๆ   ก็ทำให้รสชาติดูเหมือนแย่ได้   แต่การทานแกงไตปลาของทางภาคใต้จะต้องราดบนข้าวสวยร้อนๆ  หรือทานกับขนมจีน  หรือจะต้องมีเครื่องเคียงอย่างหมูฮ้อง  ก็ใช้ความหวานตัดรสชาติก็จะยิ่งเพิ่มความอร่อย  หรือจะเป็นไข่ต้ม  นับเป็นอาหารที่ยอดเยี่ยมของคนภาคใต้มากกว่าจะให้เป็นอาหารยอดแย่    

       

         และยิ่งมีการจัดอันดับให้เป็นอาหารยอดแย่ของชาวต่างชาตินั้นยิ่งทำให้มีออเดอร์สั่งอาหารเมนูแกงไตปลาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเหมือนอย่างเช่นวันนี้   มีลูกค้าสั่งเข้ามาทันที เพื่อจะยืนยันว่าเมนูแกงไตปลาเป็นอาหารยอดเยี่ยมอย่างแท้จริง  หากลูกค้าท่านใดสนใจอยากชิมเมนูแกงไตปลาสูตรร้านอาหารน้องเบียร์สามารถต่อได้ที่หมายเลข  074-722-490 

………….

อัพเดทล่าสุด

น้ำท่วมสตูล! ปิดช่องจราจรสายหลัก ชาวบ้านอพยพ-ใช้ปี๊บกั้นน้ำ วัวชนแสนบาทหนีขึ้นที่สูง

น้ำท่วมสตูล! ปิดช่องจราจรสายหลัก ชาวบ้านอพยพ-ใช้ปี๊บกั้นน้ำ วัวชนแสนบาทหนีขึ้นที่สูง