Categories
ข่าวทั่วไป

สตูล-ปิดเทอมใหญ่ ทหารเรือ ฝึกทักษะเอาตัวรอดจากภัยทางน้ำ แก้ปัญหาเด็กจมน้ำ

สตูล-ปิดเทอมใหญ่ ทหารเรือ ฝึกทักษะเอาตัวรอดจากภัยทางน้ำ แก้ปัญหาเด็กจมน้ำ

         ทัพเรือภาคที่ 3  โดย น.ต.ปรัชญ์  ขำเจริญ   หน่วยรักษาความปลอดภัยทางทะเล กองทัพเรือ เกาะหลีเป๊ะ นำกำลังร่วมสนับสนุน  ร่วมกับ อบต.กำแพง  จังหวัดสตูล  จัดฝึกอบรมให้ความรู้ความปลอดภัยทางน้ำ  เริ่มตั้งแต่การลอยตัวพยุงตัวเองในน้ำ   วิธีการเอาตัวรอดเมื่อตกน้ำ และการช่วยคนตกน้ำให้กับเด็ก ๆ จำนวน 30 คนที่เข้าร่วมโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กจมน้ำตลอดหลักสูตร 5 วัน ที่สระว่ายน้ำซีไซด์โฮมรีสอร์ท  ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล

          โดยโครงการนี้นอกจากจะเป็นการฝึกทักษะเด็ก ๆ ให้เรียนรู้การช่วยเหลือตัวเองขณะเกิดเหตุ  การรู้จักเอาตัวรอด  รวมทั้งทักษะการช่วยเหลือผู้อื่นเบื้องต้นเพื่อลดความสูญเสีย และป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กจมน้ำแล้ว   ยังสร้างความตระหนักรู้ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง   เห็นความสำคัญถึงภัยอันตรายของการจมน้ำในเด็ก   ช่วยรณรงค์และป้องกันภัยที่สามารถป้องกันได้ไม่ให้เกิดเหตุหรือความสูญเสียซ้ำซ้อน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล-เร่งสานโคระใส่จำปาดะ  ผลไม้อัตลักษณ์ประจำถิ่น  งานฝีมือที่น่ารักส่งต่อจากภูมิปัญญาบรรพบุรุษ สร้างอาชีพ เพิ่มมูลค่าผลผลิตป้องกันแมลง

สตูล-เร่งสานโคระใส่จำปาดะ  ผลไม้อัตลักษณ์ประจำถิ่น  งานฝีมือที่น่ารักส่งต่อจากภูมิปัญญาบรรพบุรุษ สร้างอาชีพ เพิ่มมูลค่าผลผลิตป้องกันแมลง 

         ทันทีที่ฤดูผลไม้เริ่มให้ผลผลิต   ทางมะพร้าวก็มีมูลค่าขึ้นมาทันที  โดยเฉพาะสวนผลไม้พื้นเมืองทางภาคใต้อย่าง  จำปาดะ  มีความต้องการใช้ใบจากทางมะพร้าวสานขึ้นรูปเป็นโคระ เพื่อสวมใส่ป้องกันแมลงกัดกินและเพื่อความสวยงามของผลผลิต

 

          ทำให้วันนี้ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวซ้อมมือบ้านทุ่งพัฒนา หมู่ที่ 10   ตำบลควนสตอ   อำเภอควนโดน  จังหวัดสตูล  ได้เร่งตัดทางมะพร้าว  เพื่อมาสานเป็นโคระส่งขาย   ใช้ห่อหุ้มผลจำปาดะที่ยังมีผลขนาดเล็ก   เพื่อป้องกันแมลงกัดกิน   และเพื่อให้ผลของจำปาดะ  หรือผลของขนุน  ที่โตมามีความสวยงามและมีราคาดี  

 

          นางรอเฝียะ  เบ็ญหมีน  อายุ 65 ปี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน  ข้าวซ้อมมือบ้านทุ่งพัฒนา  บอกว่า  ในช่วงนี้เป็นช่วงที่สวนจำปาดะของเกษตรกรกำลังออกผลผลิต  จะมีความต้องการโคระ  เพื่อนำไปสวมใส่ในผลจำปาดะ กันเป็นจำนวนมาก    ทำให้ต้องเร่งมือทำให้ทันต่อความต้องการของลูกค้า  ซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกร 1 รายจะสั่งครั้งละ 1,000 ถึง 1,200 ลูก  ใน 1 ปีก็จะมี order สั่งประมาณ 3,000 ลูกต่อ 1 คนที่รับออเดอร์มา

 

          โดยนางรอเฝียะ  เบ็ญหมีน  ยอมรับว่า  ปีนี้อาจจะได้ order น้อยกว่าทุกปี  เนื่องจากผลผลิตของเกษตรกรหลายราย  ประสบปัญหาภัยแล้ง  ผลไม้ออกไม่มากนัก   แต่ก็ถือว่ายังมีความต้องการ   โดยในระยะแรกได้ทำส่งลูกค้าไปแล้ว 500 ลูก โดยขายลูกละ 4 บาท (หากตั้งใจทำจริงๆใน 1 วัน ใช้เวลาทำเพียง 6 ชั่วโมง สามารถสานโคระได้ถึง 100 ลูก) 

            ด้านนางซะ  หมันเส็น  อายุ  73 ปี  สมาชิกอีกราย  บอกว่า  การสานโคระ 1 ใบใช้เวลาทำไม่นาน ลวดลายที่ทำจะเป็นลวดลายแบบง่าย  ใช้ทางมะพร้าว 2 ท่อนใบ 3 คู่หรือ 6 ใบ สานไปมา เด็กๆในหมู่บ้านหลายคนก็ทำเป็น  เพราะเป็นภูมิปัญญาที่ส่งต่อกันมาจากบรรพบุรุษ  ใช้ดูแลสวนผลไม้  โดยเฉพาะสวนจำปาดะซึ่งเป็นผลไม้อัตลักษณ์ขึ้นชื่อของจังหวัดสตูล   อีกทั้งยังเป็นการสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่งด้วย

 

         สำหรับงานฝีมือที่น่ารักจากการสานโคระ  ผลผลิตจากภูมิปัญญาชาวบ้าน   เพื่อใช้ห่อหุ้มผลจําปาดะจะเห็นได้ว่ามีความยืดหยุ่น  เกษตรกรจะเริ่มใส่โคระตั้งแต่ผลยังเล็ก  โดยโคระ  จะยืดรองรับผลใหญ่  ได้มากสุด7-8 กิโลกรัม ตลอดอายุการใช้งาน  150 วัน  จนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต   ส่วนการเก็บรักษาหากไม่ใช้ให้เก็บไว้ไม่ให้ถูกน้ำ ไม่ถูกแดดจะยืดอายุได้ถึง 1 ปี

 

          สำหรับผลไม้จำปาดะ  กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกประกาศในวันที่ 3 พฤษภาคม 2562  ขึ้นทะเบียนจำปาดะสตูลเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (พืชGI) ทะเบียนเลขที่สช.621-00123. สำหรับพันธุ์จำปาดะที่โดดเด่นได้แก่พันธุ์ขวัญสตูล ,  สตูลสีทอง ,  พันธุ์น้ำดอกไม้  ,  พันธุ์ทองเกษตร เป็นต้น 

 

           จำปาดะ  จะให้ผลผลิตเพียงปีละครั้ง ขนาดของผลจะคล้ายขนุน   เนื้อนิ่มและไม่แข็งกรอบเหมือนขนุน รสหวานกลมกล่อม เมื่อสวมใส่โคระ จะมีลวดลายที่สวยเมื่อสุกพร้อมรับประทานทำให้จำปาดะมีราคาดี

………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เยาวชน-การศึกษา

เด็กหญิงวัย 7 ขวบ บกพร่องทางร่างกาย ขอโอกาสเรียนหนังสือ  ด้านตำรวจสตูลสานฝันส่งน้องเข้าเรียน  คุณแม่อยากให้บุตรสาวยืนหยัดอยู่ในสังคมได้ 

เด็กหญิงวัย 7 ขวบ บกพร่องทางร่างกาย ขอโอกาสเรียนหนังสือ  ด้านตำรวจสตูลสานฝันส่งน้องเข้าเรียน  คุณแม่อยากให้บุตรสาวยืนหยัดอยู่ในสังคมได้

         หลายครอบครัวเริ่มเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน ในปีการศึกษา 2567  ขณะที่นักเรียนหลายคนในพื้นที่ชนบทยังไม่สมัครเรียน  อย่างเช่นกรณีเด็กหญิงวัย 7 ขวบ  ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย เดินไม่ไม่ได้  แต่อยากเรียนหนังสือ   โดยคุณแม่ขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ  ในโอกาสที่ตำรวจ  สภ.ฉลุง  เข้าเยี่ยมเยียนครอบครัว  ตามโครงการ 1  ตำรวจ  1  หมู่บ้าน  เพื่อให้บุตรที่บกพร่องทางร่างกายได้รับโอกาสเรียนหนังสือในโรงเรียนรัฐ  หลังไม่แน่ใจว่าทางโรงเรียนจะรับน้องที่บกพร่องทางร่างกายเข้าเรียนหนังสือหรือไม่

 

          ที่โรงเรียนอนุบาลเมืองสตูล  ต.ฉลุง  อ.เมือง  จ.สตูล  เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ฉลุง  นำโดย พ.ต.อ.บุญเลิศ  ตรัสศิริ  ผกก.สภ.ฉลุง  พร้อมคุณแม่และพี่สาวของเด็กหญิงวัย 7 ขวบ  ซึ่งมีความบกพร่องทางร่างกาย ต้องนั่งวีลแชร์  มาส่งที่โรงเรียนเพื่อสมัครเข้าเรียน ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1  โดยมี นายวารุทธิ์  ช่างเหล็ก ผอ.โรงเรียนอนุบาลเมืองสตูล  พร้อมคณะครู และครูที่ปรึกษาประจำชั้น  ให้การต้อนรับพร้อมประเมินความพร้อมของนักเรียน  และวางแผนการให้ความช่วยเหลือนักเรียนขณะเรียนหนังสือร่วมกับเพื่อน

         

         โอกาสนี้  เด็กหญิงวัย 7 ขวบ  ได้ขับร้องอัลนาชีด ซึ่งเป็นความสามารถในการทำกิจกรรมที่โรงเรียนเดิม  เมื่อร้องจบได้รับเสียงปรบมือเป็นกำลังใจจากพี่ๆตำรวจและคณะครู  ด้านเด็กหญิงวัย 7 ขวบ  บอกว่า   อยากเรียนที่นี่เพราะชอบเรียน   ชอบวิชาภาษาอังกฤษเพราะภาษาอังกฤษทำให้หนูสมองดีและอ่าน  A B C   ได้  โตไปอยากเป็นคุณหมอรักษาคนป่วย

         

          ทางด้านคุณแม่เด็กหญิงวัย 7 ขวบ   ยอมรับว่า อยากให้น้องมีความรู้  มีภูมิคุ้มกัน  เติบโต  ยืนหยัดด้วยตัวเองอยู่ท่ามกลางสังคมปัจจุบันให้ได้    และยังบอกอีกว่า  ตัวน้องมีความพร้อมที่อยากเรียนที่นี่   เพราะมีญาติมาเรียนด้วย  สำหรับร่างกายน้องปกติเพียงแต่ไม่มีกระดูกตั้งแต่เกิดเท่านั้นเอง   ส่วนตัวรู้สึกดีใจมากๆที่ทางตำรวจเข้ามาช่วย  ส่วนที่กังวลเพราะน้องเดินไม่ได้คุณครูคนเดียวต้องรับผิดชอบหลายคน  จะให้คุณครูมาดูนักเรียนคนเดียวก็คงจะเป็นไปไม่ได้   

           ด้าน นายวารุทธิ์  ช่างเหล็ก ผอ.โรงเรียนอนุบาลเมืองสตูล  กล่าวว่า  เมื่อได้พบวันนี้ได้ทำการทดสอบแล้ว   ในส่วนของน้องก็มีความพร้อมทางสติปัญญา แต่บกพร่องทางด้านร่างกายในส่วนอื่นทางโรงเรียนอนุบาลเมืองสตูลก็ยินดี ที่จะดูแลน้องเป็นอย่างดี   เหมือนกับนักเรียนทั่วไปแต่จะดูแลเพิ่มเป็นพิเศษในการช่วยเหลือต่างๆในเบื้องต้นก่อน   ทางด้านการเรียนการสอนเชื่อเหลือเกินว่า    ที่โรงเรียนอนุบาลเมืองสตูล   โดยเฉพาะคุณครูสายชั้น ป. 1 ป. 2 ป. 3 จะดูแลนักเรียนเป็นอย่างดี   ก็อยากจะให้เชื่อมั่นและเชื่อใจกับโรงเรียนของเรา

 

          ทางด้าน  พ.ต.อ.บุญเลิศ  ตรัสศิริ  ผกก.สภ.ฉลุง  กล่าวว่า  โครงการ  1  ตำรวจ  1  หมู่บ้าน  ตำรวจก็ได้ขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว  โดยเฉพาะในส่วนของจังหวัดสตูลนั้นผู้บังคับการตำรวจภูธรสตูล   ให้ความสำคัญกับโครงการนี้เป็นอย่างมาก  จะเน้นหนักในเรื่องของการลงไปพบปะเยี่ยมเยียนชาวบ้าน   เพื่อปรับแผน   วางแผนในการป้องกันอาชญากรรมป้องกันยาเสพติดในหมู่บ้าน   รวมถึงปัญหาอื่นๆที่ชาวบ้านจะฝากทางตำรวจมาประสาน  

 

        เช่นกรณีนี้   ตำรวจที่รับผิดชอบ หมู่ 1 ตำบลฉลุง   ก็ได้รับแจ้งจากผู้ปกครองขณะลงไปเยี่ยมเยียน  ว่ามีลูกซึ่งมีความผิดปกติทางด้านร่างกายตั้งแต่กำเนิด   ทางครอบครัวอยากให้ลูกเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลที่ในระดับชั้นประถมศึกษา  ส่วนตัวน้องก็มีความตั้งใจและเป็นเด็กนักกิจกรรมเก่าของโรงเรียนแต่ไม่กล้าที่จะมาสมัคร  กลัวว่าทางโรงเรียนจะไม่รับ   ก็ถือโอกาสที่ทางตำรวจไปเยี่ยมเยียนขอช่วยให้ตำรวจประสานกับทางโรงเรียน

 

          วันนี้จึงนัดมาเพื่อสมัครและหารือความเป็นไปได้   ก็ดีใจที่วันนี้ทางผอ. และคุณครูมีใจ   ถึงแม้ห้องเรียนของน้องจะเต็มแล้ว   แต่เห็นความต้องการของน้องและเห็นความสามารถในการช่วยเหลือตัวเอง   ทางโรงเรียนก็ยินดีที่จะรับเข้าการศึกษาที่นี่   และจะมีการปรับปรุงทางกายภาพของโรงเรียน   เพื่อให้น้องใช้ชีวิตขณะมาเรียนและใช้ชีวิตประจำวันภายในโรงเรียนได้    ในส่วนของตำรวจสตูลก็ดีใจ  ต้องขอขอบคุณทางโรงเรียนด้วยที่ให้การช่วยเหลือน้องและครอบครัว

 

           โอกาสนี้  ผกก.สภ.ฉลุง  กล่าวอีกว่า  น้องได้รับการสนับสนุนวีลแชร์ตัวหนึ่งจากภาครัฐ   แต่เป็นวีลแชร์สำหรับผู้ใหญ่   ซึ่งสรีระไม่เหมาะกับการใช้ชีวิตของน้อง   ในส่วนนี้ทางตำรวจภูธรฉลุง  และภาคีเครือข่าย  จะช่วยกันจัดหาวีลแชร์ที่เป็นไซด์ของน้อง   เพื่อความสะดวกในการใช้ชีวิตทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน   หากผู้มีจิตศรัทธาอยากจะสนับสนุนการศึกษาของน้อง  ก็ยินดีที่จะได้รับการช่วยเหลือผ่านผู้ปกครองของน้อง  เบอร์โทร   099-4633213

 

          สำหรับโรงเรียนอนุบาลเมืองสตูล  เปิดการเรียนระดับชั้น อนุบาล 2 – ม.3  ปัจจุบันมีนักเรียน  242 คน

…………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

กินคู่! เกษตรกรสตูลปลูกเตยหอมในสวนมะพร้าว รับรายได้ 2 ทาง  เกษตรอำเภอแนะปลูกพืชเสริมคู่พืชหลัก

กินคู่! เกษตรกรสตูลปลูกเตยหอมในสวนมะพร้าว รับรายได้ 2 ทาง  เกษตรอำเภอแนะปลูกพืชเสริมคู่พืชหลัก

             บนพื้นที่สวนมะพร้าว 6 ไร่กว่า  ตั้งอยู่หมู่ที่ 6  ต.คลองขุด อ.เมือง  จ.สตูล   ดูร่มรื่นสดชื่นเขียวขจีด้วยต้นเตยหอม ที่เจ้าของสวนปลูกแซมสวนมะพร้าว  สร้างรายได้ 2 ทางให้เกษตรกรเป็นกอบเป็นกำ  ด้านเกษตรอำเภอแนะเกษตรกรไม่ควรปลูกพืชชนิดเดียว

         

          ด้านนางวรันณ์ธร  ทองหวั่น  อายุ  50 ปี  เกษตรกรสวนมะพร้าว  และครอบครัว  นำเกษตรอำเภอเมืองสตูล เข้าชมต้นเตยหอมที่ขึ้นอย่างหนาแน่นภายในสวนมะพร้าวที่ปลูกนานกว่า 30 ปี  โดยทางสวนได้ขุดคูน้ำเล็กๆเก็บไว้ใช้น้ำในช่วงหน้าแล้ง  เพราะต้นเตยหอมจะโตสวยงามในพื้นที่ซับน้ำ 

 

         ในส่วนของมะพร้าวที่มีมากกว่า 100 ต้น ทั้งมะพร้าวน้ำหอม  และมะพร้าวน้ำหวาน  จะตัดเดือนละ  2 ครั้ง ครั้งละ 500-700 ลูก  ขายในราคาลูกละ 15 บาท  ส่วนหนึ่งจะขายน้ำถุงละ 15 บาท  สร้างรายได้เดือนละ 20,000  บาท  ส่วนเตยหอมนั้นนับเป็นรายได้ที่ 2 ของทางสวน  จะเก็บขาย  100 ใบ ราคา 15 บาท  สร้างรายได้ 5,000-6,000 บาทต่อเดือน

 

         ด้านนางวรันณ์ธร  ทองหวั่น  เกษตรกรสวนมะพร้าว  บอกว่า  สวนมะพร้าวพื้นที่ 6 ไร่กว่า ทั้งมะพร้าวน้ำหอม  มะพร้าวน้ำหวาน   ที่สวนนี้ปลูกมะพร้าวมากกว่า 30 ปีแล้ว  รายได้ต่อเดือนประมาณ 20,000 บาท  เป็นพื้นที่เล็กๆให้คนแก่คอยเก็บขาย   ตอนนี้เพิ่มมูลค่าโดยการปลูกใบเตยเพิ่มขึ้นมา   เพราะพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่มีน้ำท่วมอยู่ตลอดเลยเอาใบเตยมาปลูกเสริม   ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5,000 ถึง 6,000 บาทต่อเดือน  โดยจะส่งขายที่ร้านดอกไม้  จะมีแม่ค้าที่ทำขนมมาขอซื้อ  ต่อเดือนสามารถขายได้หลายหมื่นใบ โดยทางสวนจะตัดขายเป็นใบไม่ได้ตัดเป็นต้น

 

         เกษตรกรสวนมะพร้าว  บอกอีกว่า  ทางสวนปลูก เตยหอม คู่กับมะพร้าว ทำให้มะพร้าวซึ่งมีน้ำที่หอมอยู่แล้วเมื่อมีใบเตยเสริมความหอมของมะพร้าวขึ้นมาอีก  มะพร้าวที่เราขายจะขายทั้งเป็นลูก  แล้วก็เป็นน้ำ 

 

        หากตัดเจอมะพร้าวลูกแก่ก็จะแยกส่งให้กับแม่ค้าที่ทำขนมขาย   ลูกอ่อนเหมาะกับการทำเป็นน้ำก็จะทำน้ำขายแพ็คถุงส่งขายเอง    ในส่วนของปัญหาตอนนี้เป็นเรื่องของอากาศ   อากาศแล้งทำให้มะพร้าวเป็นลูกน้อยลง   พอเริ่มมีฝนก็กลับมาให้ลูกเหมือนเดิม   แต่ปีนี้ยอมรับว่าแล้งจัด

 

         สวนที่นี่ได้รับการสนับสนุนจากเกษตรอำเภอมากๆ   มีหมอดิน   มีนักวิชาการมาตรวจดินให้เรา  จะบอกว่าดินของเรามีปัญหาอะไร   ให้เสริมแต่งอะไรบ้าง  เพราะเราไม่รู้ว่าดินขาดสารอาหารอะไร   เราเติมแต่งไม่ถูก    เมื่อท่านได้มาก็ได้รู้ว่าดินขาดเกลือก็ต้องเอาเกลือลง   ขาดปุ๋ยอะไรก็เสริมลงไป    ดินก็ออกมาดี   มะพร้าวก็ออกมาดี

          ด้านนายเฉลิมพร  ศรีสวัสดิ์  เกษตรอำเภอเมืองสตูล  กล่าวว่า   สำหรับแปลงปลูกมะพร้าวของลุงเจริญ  จะปลูกมะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวน้ำหวานผสมกัน  ได้เสริมด้วยใบเตยซึ่งเป็นรายได้เสริมจากมะพร้าวอีกที่หนึ่งเพราะว่าในพื้นที่สวนนี้เป็นพื้นที่ซับน้ำ  จึงนำใบเตยมาปลูกเป็นรายได้เสริมซึ่งเหมาะกับพื้นที่

 

          ในเรื่องความหอมจากใบเตยจะส่งผลให้น้ำมะพร้าวหอมนั้น   เกษตรอำเภอ  บอกว่า อันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อของผู้บริโภคและเกษตรกรทั่วไปว่าใบเตยมีผลต่อความหอมของมะพร้าว  แต่จริงๆแล้วกลิ่นของมะพร้าวน้ำหอม  กับกลิ่นของใบเตยใกล้เคียงกันมาก

 

        สำหรับสวนนี้  ทางสำนักงานเกษตรอำเภอเมือง  ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัด  ก็ได้จัดตั้งเป็นแปลงเรียนรู้ให้กับเกษตรกรทั่วไปที่สนใจในเรื่องของการบริหารจัดการสวนมะพร้าวอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ทั้งนี้ทางเกษตรอำเภอเมืองสตูล  ได้ฝากถึงเกษตรกรทั่วไปว่า การทำการเกษตร  1.เราอย่ามุ่งแค่พืชหลักอย่างเดียว   ต้องหารายได้จากพืชเสริม  ที่ผสมกันอย่างลงตัวเพื่อเป็นรายได้เสริม   เพราะบางครั้งบางช่วง  พืชหลักผลผลิตอาจตกต่ำเราก็จะได้มีรายได้จากพืชเสริมด้วยอีกช่องทางหนึ่ง

          หากเกษตรกรท่านใดต้องการเรียนรู้  หรือ สั่งซื้อมะพร้าวน้ำหอม  หรือ ใบเตยหอม  ติดต่อสอบถาม โทร  086 – 958 4983

…………………………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล-น้ำผึ้งโพรงเดือน 5 สุดยอดสรรพคุณทางยา กลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งพร้อมส่งต่อ

สตูล-น้ำผึ้งโพรงเดือน 5 สุดยอดสรรพคุณทางยา กลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งพร้อมส่งต่อ

         เข้าสู่ปีที่ 5 แล้วสำหรับการรวมตัวกันเลี้ยงผึ้งโพรง  ของชาวบ้าน  20 คน ในชื่อกลุ่ม วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงสัตว์ บ้านแประใต้  สร้างรายได้เสริมให้สมาชิกอย่างต่อเนื่อง

 

          ที่สวนผลไม้ผสมและสวนยางพารา หมู่ที่ 4   ตำบลท่าเรือ  อำเภอท่าแพ  จังหวัดสตูล  มีการนำบ้านผึ้ง  ประมาณ 10 หลัง   ไปวางตามจุดที่มีความชื้นเพื่อให้ผึ้งได้มาทำรัง  โดยทางวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงสัตว์ บ้านแประใต้   ซึ่งเกิดจากการรวมกลุ่มกันเลี้ยงผึ้งโพรง  เพื่อเป็นรายได้เสริมของเกษตรกร   หลังจากทำสวนผลไม้และสวนยางพารา   โดยทันทีที่ผึ้งสร้างน้ำผึ้งจนเต็มรัง  เกษตรกรชุดนี้ซึ่งนำโดยผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4  ก็จะออกมาช่วยกันเก็บน้ำผึ้งเพื่อมาแปรรูปขาย

 

        การเก็บน้ำผึ้งทุกขั้นตอนต้องใช้ความระมัดระวัง   และมีอุปกรณ์ในการป้องกันไม่ให้ผึ้งมาต่อยหรือไชได้   เพราะในกลุ่มที่แพ้   อาจมีอาการหนัก   จนต้องหามส่งโรงพยาบาล  แต่เพื่อไม่ประมาททางกลุ่มก็จะใช้อุปกรณ์ทุกครั้งในการเก็บน้ำผึ้งเพื่อป้องกัน 

 

          ดูแล้วไม่ง่ายกว่าที่จะได้น้ำผึ้งมา   แม้ขั้นตอนการทำรังอาจจะดูง่าย  เพียงซื้อลังและหัวเชื้อเรียกผึ้งมาทำรัง  แต่ขั้นตอนการเก็บต้องใช้ความระมัดระวัง  เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายขณะที่เก็บน้ำผึ้งได้

 

          โดยในช่วงนี้  ผึ้งจะทำรังและได้น้ำผึ้งที่มีคุณสมบัติดี  ตามหลักความเชื่อที่ว่า  น้ำผึ้งเดือนห้าจะมีสรรพคุณทางยามากกว่าน้ำผึ้งในเดือนอื่นๆ  จึงทำให้น้ำผึ้งเดือน 5 เป็นที่ต้องการของตลาดเพราะด้วยสรรพคุณดังกล่าว

 

            นายฮาหรูน   ชะยานัย   ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงสัตว์ บ้านแประใต้ (ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 ตำบลท่าเรือ)  กล่าวว่า   ผึ้งโพรงส่วนใหญ่จะเก็บในช่วงเดือน 5  มีมาตรฐานมีความเข้มข้นมากกว่าช่วงอื่นๆ เหมาะกับการใช้ปรุงยา สมุนไพรชนิดอื่นๆ  เพราะมีส่วนผสมของเกสรดอกไม้ 99 ชนิด เพื่อรักษาโรคไอเจ็บคอ  ก่อนจะเอามาทำเป็นยาลูกกลอน  

 

            ทางสมาชิกกลุ่มมีบ้านผึ้งกว่า 100 หลัง  โดยลงทุนเพียงครั้งเดียวสามารถสร้างรายได้ตลอด 4 ปี   ทางกลุ่มมีสินค้าอยู่ 2 ชนิด  คือ  น้ำผึ้ง ปริมาณ 450 ml  ขายขวดละ 400 บาท  ส่วนรังผึ้งสด จะขาย 4 ขีด 150 บาท  โดยสามารถสั่งซื้อได้ทางกลุ่ม  โทร  081-896-9863 

          ทั้งนี้ทางกลุ่มมีการปันผลให้กับสมาชิกปีละ 3,000 บาทต่อคน ซึ่งสร้างรายได้เสริมให้กับครัวเรือนและยังมีน้ำผึ้งไว้ทาน  และเพื่อรักษาโรคและเป็นยาสามัญประจำบ้าน

 

          นายอารีย์ โส๊ะสันสะ  เกษตรอำเภอท่าแพ  เป็นกลุ่มเกษตรกรที่สนใจเลี้ยงแมลงเศรษฐกิจได้ส่งเข้าอบรมการเลี้ยงผึ้งโพรง  ส่วนหนึ่งได้รับการสนับสนุนจากศูนย์แมลงเศรษฐกิจ  ชุมพร โดยงบประมาณส่วนหนึ่งของเกษตรอำเภอท่าแพได้เริ่มต้นให้  แล้วจะความตั้งใจของกลุ่มเดิมที่มีอยู่แล้ว  ทางสมาชิกเองได้มีการต่อยอด  จึงเป็นที่มาของการรวมกลุ่มและจดทะเบียน  เริ่มจากกลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตร   มันมีความเข้มแข็งมากขึ้นก็ได้มีการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน 

 

          สำหรับความพิเศษของกลุ่มนี้  นอกจากจะรวมกลุ่มเพื่อเลี้ยงผึ้งแล้ว  ยังมีการรวมกลุ่มเพื่อเลี้ยงแพะเลี้ยงโคและเลี้ยงปลาเป็นรายได้เสริมด้วย  

……..

 

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป

สสจ.สตูล ลงพื้นที่กระบี่ร่วมกับภาคการท่องเที่ยวกระบี่เตรียมจัดประชุมBHGCM ครั้งที่ 35 ปี 68

สสจ.สตูล ลงพื้นที่กระบี่ร่วมกับภาคการท่องเที่ยวกระบี่เตรียมจัดประชุมBHGCM ครั้งที่ 35 ปี 68

          วันที่ 2 พฤษภาคม 2567  เวลา 14.30 น.  ณ ห้องประชุมชั้น 2 สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกระบี่    นายแพทย์ชัยรัตน์ ลำโป นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสตูล มอบหมายให้ นายเอกพล เหมรา นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ (ด้านส่งเสริมพัฒนา) รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสตูล และนายภาษิต พิศาลสุทธิกุล เภสัชกรเชี่ยวชาญ (ด้านเภสัชสาธารณสุข)  รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสตูล พร้อมคณะ เข้าพบ นายสุรัตน์ จรณโยธิน ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกระบี่ และนางสาวศศิธร กิตติธรกุล รักษาการนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ เพื่อสำรวจพื้นที่สำหรับการเตรียมความพร้อมการประชุมความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2568 ซึ่งมีเป้าหมาย คือ 4 รัฐของมาเลเซีย ได้แก่ รัฐเปอร์ลิส รัฐกลันตัน รัฐเกอดะฮ์ และรัฐเประ และ 4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส จังหวัดสงขลา และจังหวัดสตูล โดยมีการศึกษาประเด็นด้านสาธารณสุขเพื่อแก้ปัญหาร่วมกันและสามารถส่งต่อแต่ละจังหวัดได้ ทั้งนี้ได้มีการสำรวจพื้นที่ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ศูนย์ wellness ที่มีในจังหวัดกระบี่ รวมถึงโรงงานที่ผลิตอาหารหรือสมุนไพรเพื่อสุขภาพในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ซึ่งส่งผลต่อการสนับสนุนการท่องเที่ยวในจังหวัดกระบี่ เป็นการเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยี่ยมเยือนจังหวัดกระบี่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

……………………..

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล-บุตรสาวนายกฯสตูลหลงรักอาชีพเกษตร..ทันทีที่เรียนจบแม่โจ้ลุยปลูกแตงโมพืชทนแล้ง อายุสั้นทำเงินไว  แซมสวนยางพารา 65 วัน  รับเงินครึ่งล้าน

สตูล-บุตรสาวนายกฯสตูลหลงรักอาชีพเกษตร..ทันทีที่เรียนจบแม่โจ้ลุยปลูกแตงโมพืชทนแล้ง อายุสั้นทำเงินไว  แซมสวนยางพารา 65 วัน  รับเงินครึ่งล้านส่งขายมาเลย์  เผยจะทำอะไรต้องมีความรู้ก่อนจึงจะประสบความสำเร็จ 

         ที่บ้านบูโล๊ะ   หมู่ 4 ตำบลท่าแพ อำเภอท่าแพ  จังหวัดสตูล บนพื้นที่ 16 ไร่  กลางสวนยางพาราต้นใหญ่ที่ล้อมรอบ  เกษตรกรรุ่นใหม่ยังสมาร์ทประจำอำเภอท่าแพ  ได้ลงมือปลูกแตงโมพันธุ์ตอปิโดแซมสวนยางกล้าอ่อน  โดยขณะนี้ได้ให้ผลผลิตขนาดใหญ่พร้อมเก็บเกี่ยว  หลังลงมือปลูกเพียง 65 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว

          การปลูกแตงโมบนพื้นที่ขนาดใหญ่   ด้วยการใช้ระบบการปลูกโดยใช้พลาสติกคลุมดิน /ให้น้ำ  ปุ๋ย ผ่านระบบน้ำใต้ผ้ายางพลาสติก เป็นชุดความรู้ที่น้องด๊ะ   หรือนางสาววิลาวรรณ  เปรมใจ  อายุ 26 ปี (บุตรสาวคนที่ 3 ของนายกอบต.ท่าเรือ ที่หลงใหลในอาชีพเกษตรจบ ป.ตรี ม.แม่โจ้ วิชาเอกพืชผัก)  ได้เรียนรู้และศึกษาจนนำมาซึ่งการลงมือทำ 

          น้องด๊ะ  หรือนางสาววิลาวรรณ  เปรมใจ  อายุ 26 ปี เกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ ยังสมาร์ทฟาร์มอำเภอท่าแพ  หลังจบการศึกษาจากแม่โจ้กลับบ้านลงมือทำการเกษตรทันทีที่โค่นยางพาราแก่  เพื่อปลูกแตงโมบนพื้นที่ 16 ไร่แซมต้นยางพาราที่ปลูกใหม่  เพื่อใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด   จากที่เกษตรกรหลายคนไม่กล้าปลูกเพราะกลัวปัญหานานาและในอำเภอท่าแพนับเป็นเจ้าแรกที่ปลูกแตงโมแปลงใหญ่สุด ด้วยเกษตรกรรุ่นใหม่จนประสบความสำเร็จ

        น้องด๊ะ  ยังสมาร์ทฟาร์มอำเภอท่าแพ  กล่าวเพิ่มว่า   การปลูกแตงโมครั้งนี้   เป็นการปลูกแบบสมัยใหม่ จากเมื่อก่อนรุ่นพ่อรุ่นแม่ปลูกก็คือใช้จอบขุดและน้ำหยอด  มาเปลี่ยนเป็นให้น้ำให้ปุ๋ยผ่านระบบสายน้ำฝน  ปูผ้ายางคลุมวัชพืช  จากเมื่อก่อนปลูกยางพาราเดียวมาเป็นปลูกพืชแซม  ที่เลือกแตงโมเพราะตรงกับช่วงแล้งอีกทั้งเป็นพืชเศรษฐกิจก็จะได้ราคาดี  อนาคตตั้งใจจะมีศูนย์เรียนรู้แลกเปลี่ยนถ่ายทอดความรู้ ภายใต้ชื่อ  สวนเปรมปัญญา    สนใจติดต่อสอบถามแลกเปลี่ยนความรู้  089-6545850  

         น้องด๊ะ  ยังเห็นว่าการทำเกษตรให้ประสบความสำเร็จ  เกษตรกรเองต้องมีความรู้ ก่อนลงมือทำเพราะทำให้เราประสบความสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง  มาวันนี้แตงโมพันธุ์ตอปิโด   ให้ผลผลิตลูกละ 5-6 กก.ขายที่กิโลกรัมละ 10 บาท โดยมีพ่อค้ามารับซื้อไปยังประเทศมาเลเซียเพราะจะนิยมลูกโตซึ่งผลผลิตการปลูกเป็นไปตามแผนที่วางไว้คือ  6,000 กก.  สร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 600,000 บาทที่ยังไม่หักค่าใช้จ่าย 

 

          นายอารีย์  โส๊ะสันสะ  เกษตรอำเภอท่าแพ  กล่าวว่า  น้องยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่มีความรู้รอบ  ด้านการเกษตรเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว   ทางสำนักงานเกษตรอำเภอท่าแพเองมีการติดต่อกันเป็นประจำ   เจ้าหน้าที่ประสานงานกันอยู่ตลอด   มันมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้คำแนะนำเพิ่มเติม  จัดการสวน   เป็นคนตั้งใจและมีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติ  ใช้ความรู้เดิมเข้ามากับการดูแลสวนทำให้ประสบความสำเร็จ

         นอกจากจะเป็นเกษตรกรเจ้าแรกในอำเภอท่าแพที่ลงมือปลูกแตงโมแปลงใหญ่แล้ว  และหลังการเก็บเกี่ยวแตงโมครบกำหนด 20 วัน พักหน้าดินแล้ว   น้องด๊ะ   ได้วางแผนเตรียมพื้นที่นี้ปลูกฟักทองพันธุ์ใหญ่ ซึ่งเป็นพืชอายุสั้นที่ให้รอบเร็วและเป็นที่ต้องการของตลาดต่อเลย

……………………………………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป

สตูล-ช่วยแม่วัวขึ้นจากสระน้ำลึกที่แห้งขอดหลังหาน้ำกิน 

สตูล..ช่วยแม่วัวขึ้นจากสระน้ำลึกที่แห้งขอดหลังหาน้ำกิน

         วันที่ 2 พฤษภาคม 2567   สภาพอากาศที่ร้อนและแล้งจัดทำให้แหล่งน้ำหลายแหล่งแห้งขอด   โดยที่จังหวัดสตูล  นางสำลี   ลัคนาวงศ์  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกำแพง  ได้เร่งประสานให้ เจ้าหน้าที่กองช่าง  อบต.กำแพง อำเภอละงู  จังหวัดสตูล  รีบเข้าช่วยเหลือ แม่วัวที่ตกน้ำ  หลังได้รับแจ้งจากชาวบ้านหมู่ที่ 8 บ้านอุไร ต.กำแพง อ.ละงู จ.สตูล  ว่ามีแม่วัวได้ตกไปในสระน้ำลึก หลังถ้ำอุไร จึงรีบนำกำลังเดินทางเข้าช่วยเหลือพร้อมรถเครนขนาดใหญ่

           นายฮาสัน  บกติง  เจ้าหน้าที่กองช่างหนึ่งในทีมช่วยเหลือของอบต.กำแพง  เล่าว่า  แม่วัวขนาดใหญ่ชาวบ้านบอกว่าได้ลงไปหาน้ำกินเชื่อว่าน่าจะพลัดหลงจากฝูง  เพื่อหาน้ำกินที่สระน้ำขนาดใหญ่ที่ขณะนี้แห้งขอดมีความลึกประมาณ 6 เมตร  ในเมื่อถึงที่เกิดเหตุ  พบว่าแม่วัวตัวดังกล่าวจมอยู่ในโคลนตมไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองขึ้นมาได้  อีกทั้งชาวบ้านก็ไม่สามารถที่จะนำวัวดังกล่าวขึ้นมาจากสระได้  จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรกลขนาดใหญ่  จึงได้ประสานให้ทางอบต.นำรถเครนมาช่วยดึงแม่วัวขึ้นจากสระโดยใช้เวลานานถึงครึ่งชั่วโมง กว่าจะนำแม่วัวขึ้นจากสระน้ำที่แห้งขอดได้สำเร็จ  โดยมีชาวบ้านช่วยคล้องเชือกที่ลำตัวแม่วัวขึ้นมาจากสระน้ำได้สำเร็จ

………….

ขอบคุณภาพจากอบต.กำแพง

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เยาวชน-การศึกษา

 อบต.ฉลุง ดึงเยาวชนช่วงปิดภาคเรียน จัดฝึกอาชีพการทำก๋วยเตี๋ยวลุยสวน สลัดโรลและบลูเบอรี่ชีสพาย  

อบต.ฉลุง ดึงเยาวชนช่วงปิดภาคเรียน จัดฝึกอาชีพการทำก๋วยเตี๋ยวลุยสวน สลัดโรลและบลูเบอรี่ชีสพาย

           นายสุจริต ยามาสา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลฉลุง เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอาชีพ เด็กและเยาวชน หลักสูตรการทำก๋วยเตี๋ยวลุยสวน สลัดโรล และบลูเบอรี่ชีสพาย ประจำปีงบประมาณ 2567  พร้อมด้วย นายสาและ เส็นโกบ รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลฉลุง  หัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วม ดำเนินโครงการโดยกองสวัสดิการสังคม ณ อาคารเอนกประสงค์ (อบต.ฉลุง) มีกลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนในพื้นที่เข้าร่วมจำนวน 30 คน โดยมีนางสาวพัชรี  พรหมพุด วิทยากรจากวิทยาลัยเทคนิคสตูล  และนางสาวปรียาภรณ์  จำนงพันธ์ ผู้ช่วยวิทยากร เป็นผู้ให้ความรู้ เพื่อให้เด็กและเยาวชนที่สนใจมีความรู้เกี่ยวกับอาชีพเสริมเป็นช่องทางสร้างรายได้ แก่ตนเองและครอบครัว ส่งเสริมสนับสนุนให้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์สนับสนุนให้เด็กและเยาวชนมีกิจกรรมในการพัฒนาตน

 

          นายสุจริต ยามาสา กล่าวว่า ในการฝึกอาชีพแก่เด็กและเยาวชนในวันนี้ ถือเป็นสิ่งที่ดีในการสร้างองค์ความรู้ และเพิ่มทักษะด้านอาชีพให้แก่เด็กและเยาวชน ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์กับตนเองในช่วงปิดเทอม เด็กและเยาวชนสามารถเยาวชนสามารถนำองค์ความรู้ไปสร้างอาชีพเสริม เพื่อเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัว พร้อมทั้งเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้เครือข่ายเด็กและเยาวชนในพื้นที่ได้มีกิจกรรมในการพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนในตำบลฉลุง 

 

             นางสาวจัลวาตีย์ บังคม สมาชิกฝ่ายสวัสดิการ สภาเด็กและเยาวชนตำบลฉลุง กล่าวว่า   รู้สึกสนุก ได้ความรู้ สามารถไปถ่ายทอดได้เปิดร้านได้และคิดว่าอยากเข้าร่วมโครงการทุกปี

 

            นายซอฟรี  ดาราหมาน  ประธานสภาเด็กและเยวชตำบลฉลุง และนายตอฟิก  วัฒนะ รองประธานสภาเด็กและเยาวชนตำบลฉลุง กล่าวว่า สิ่งที่ได้รับสามารถนำไปต่อยอดได้ในชีวิตประจำวันในครอบครัวไม่มีเตาอบก็สามารถทำได้ และสามมารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ทำกินได้เป็นการลดน้ำหนัก และต่อยอดในอนาคต

……………………….

ศิริรัตน์ ทองอินทร์ / ถ่ายภาพ
อรุณี หลงหัน / ข่าว

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป

สตรีสตูลโชว์ลีลาควงตะหลิวปรุงเมนูประจำจังหวัด  “ข้าวเหนียวเหลืองแกงแพะ” 

สตรีสตูลโชว์ลีลาควงตะหลิวปรุงเมนูประจำจังหวัด  “ข้าวเหนียวเหลืองแกงแพะ”  กันอย่างสนุกสนานกับกองเชียร์ที่จังหวัดผลักดันให้เป็นเมนูซอฟเพาเวอร์ที่ห้ามพลาด

         “ข้าวเหนียวเหลืองแกงแพะ”  เมนูที่กระทรวงวัฒนธรรมประกาศให้เป็นเมนูประจำจังหวัดสตูลที่ขึ้นชื่อด้วยรสชาติและเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ด้วยกลิ่นไอของเครื่องเทศจากดินแดนสองวัฒนธรรมไทยมลายู   ทำให้ทางจังหวัดเตรียมผลักดันให้เป็นซอฟเพาเวอร์ของจังหวัด  ที่นักท่องเที่ยวมาสตูลต้องไม่พลาดมาชิมเมนูพื้นถิ่นนี้

         

        และเพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้เมนู  “ข้าวเหนียวเหลืองแกงแพะ”  เป็นที่รู้จักกว้างขวางและเป็นเมนูที่ไม่ควรพลาด  ทางจังหวัดสตูลร่วมกับ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  อบจ.และหลากหน่วยงานเกี่ยวข้องจัดการแข่งขันปรุงอาหารจากเมนู  “ข้าวเหนียวเหลืองแกงแพะ” โดยนำสตรีที่ผ่านการคัดเลือกว่าฝีมืออร่อยเด็ดของแต่ละอำเภอทั้ง 7 แห่งโชว์ลีลาการปรุง   ประชันรสชาติ  และความสวยงาม  ท่ามกลางกองเชียร์ของแต่ละอำเภอกันอย่างสนุกสนานที่เข้าร่วมงานวันสตรีสากลจังหวัดสตูล ที่มีการจัดขึ้นที่อาคารโรงอาหาร โรงเรียนพิมานพิทยาสรรค์ ต.พิมาน อ.เมือง  จ.สตูล

         

          สำหรับเมนู  ข้าวเหนียวเหลืองแกงแพะ  มีความเชื่อว่าแพะเป็นสัตว์ที่ใช้ในงานเลี้ยงบาระกัต (สิริมงคล) ซึ่งชาวมุสลิมจะใช้ในการทำกุรบานในวันอีดิลอัฎฮา  เพื่อให้สิ่งที่ต้องการสำเร็จจึงมีการเชือดแพะเพื่อทำบุญ  เช่น  ทำบุญขึ้นบ้านใหม่  ขอให้คนไข้หายเจ็บป่วย  หรือโอกาสสำคัญก็จะใช้  เมนูข้าวเหนียวแกงแพะ  ในการทำบุญเกือบทั้งสิ้น

 

          ส่วนผสมก็จะมี  ลูกกระวาน, ใบกระวาน,ลูกจันทร์,กานพลู,ลูกผักชี,พริกไทยดำเป็นต้น ส่วนเครื่องแกงจะมี  ตะไคร้,ข่า,พริกขี้หนู,มะกรูด,ขมิ้น,ขิง,กะปิ,หัวหอมแดง,กระเทียม,กะทิ,มะพร้าวคั่ว, เป็นต้น  ส่วนผสมของข้าวเหนียวเหลือง ประกอบด้วยข้าวเหนียว,กะทิ,เกลือ,น้ำตาลทราย,ผงขมิ้น,ปรุงเหมือนกับการมูนข้าวเหนียว

 

          วิธีทำคือ  นำเครื่องเทศทุกอย่างคั่วให้หอม และนำพริกแห้งดอกใหญ่ หัวหอมแดง กระเทียม ไปคั่วในกระทะนำส่วนผสมทั้งสองตำให้ละเอียด ส่วนผสมที่ผสมกับเครื่องแกงนำไปผัดให้สุกจนหอม  จากนั้นก็ใส่เนื้อแพะที่เตรียมไว้เคี่ยวด้วยไฟอ่อน 2-3 ชั่วโมงใส่กะทิ  และ เติมมะพร้าวคั่วที่ต่ำละเอียด  (เคล็ดไม่ลับคือ หากเจอแพะแก่ ให้ใส่น้ำแข็งลงไปขณะเคี่ยว,หรือใส่มะละกอ ,หรือ ช้อนขาว)  ปรุงรสชาติพร้อมเสิร์ฟ  ด้วยข้าวเหนียวเหลืองและเครื่องเคียงคืออาจาด

            นายอนุรักษ์  มลิวัลย์  พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสตูล บอกว่า  การเลือกเมนูข้าวเหนียวเหลืองแกงแพะมาให้สตรีในจังหวัดสตูลปรุงในครั้งนี้  สืบเนื่องมาจากกระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศให้ข้าวเหนียวเหลืองแกงแพะเป็นเมนูประจำจังหวัด สำนักงานความมั่นคงของจังหวัด ,พัฒนาชุมชน,และ.อบจ.สตูล  ได้ดึงเมนูนี้ขึ้นมาเพื่อที่จะให้เป็น soft power ของจังหวัด  เพื่อที่จะให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น  โดยผ่านความเข้มแข็งของกลุ่มสตรีของเราทั้ง 7 อำเภอ  เพราะว่าแต่อำเภอจะมีรสชาติและเทคนิคที่แตกต่างกันไป โดยจะมีการกำหนดกฎเกณฑ์การประกวดคือ  ความอร่อย  การจัดแต่งจาน  และลีลาเป็นองค์ประกอบ  ส่วนใหญ่แม่ครัวที่มาปรุงจะเป็นแม่ครัวที่มีรสมืออร่อยของแต่ละอำเภอเข้าร่วมการแข่งขัน

 

          นางสุจินต์  คงปาน  อายุ 51 ปี กลุ่มสตรีคนกาหลง  บอกว่า  ความอร่อยของเมนูนี้อยู่ที่หลายองค์ประกอบตั้งแต่การเลือกแพะอ่อน หรือ แพะแก่ การเคี่ยวก็จะไม่เท่ากันแต่จะใช้เวลาเคี่ยว 2-3 ชม. การมูนข้าวเหนียวต้องสุกให้ดีเพื่อจะได้ข้าวเหนียวมูนที่นิ่มทานอร่อย  เคล็ดไม่ลับของแต่ละพื้นที่ไม่ให้แพะเหนียวคือ  ใส่มะละกอดิบลงไปเคี่ยว บางคนใส่น้ำแข็ง,และบางคนก็ใส่ช้อนขาวเพื่อช่วยให้เนื้อและหนังแพะนิ่มเร็วขึ้น

……………………

อัพเดทล่าสุด