Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล-เกษตรกรสูงวัยสุขใจ  ปลูกส้มโอในภาชนะผลใหญ่ดกโตเร็วแม้ในพื้นที่น้ำท่วมขัง   

สตูล-เกษตรกรสูงวัยสุขใจ  ปลูกส้มโอในภาชนะผลใหญ่ดกโตเร็วแม้ในพื้นที่น้ำท่วมขัง   

         ที่สวนของคุณลุงไพฑูรย์   ตวงสิน  อายุ 77  ปี  ชาวบ้านหมู่ที่ 2  ตำบลคลองขุด  อำเภอเมือง  จังหวัดสตูล  ขณะนี้ผลส้มโอ “พันธุ์ทับทิมสยาม”  อายุเพียง 2 ปี และ 3 ปี  กำลังให้ผลผลิตดกอย่างสวยงามแม้จะอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง   แต่ส้มโอทั้ง 70 ต้น  ก็ยังให้ผลผลิตอย่างสวยงาม  ในอีกไม่กี่เดือนก็พร้อมจะเก็บเกี่ยวผลผลิตมารับประทานได้แล้ว 

 

          เช่นเดียวกับพืชชนิดอื่น  ที่คุณลุงไพฑูรย์นำมาปลูกให้ผลผลิตที่สวยงามสมบูรณ์ให้ดอกออกผล  เช่น  ต้นสับปะรด  ต้นพริกไท   มะเขือ  มะนาว โดยเฉพาะต้นส้มโอพันธุ์ทับทิมสยามที่ให้ผลผลิตเร็วมาก  โดยเคล็ดไม่ลับที่คุณลุงได้บอก  คือการใช้ล้อยางรถยนต์เก่าที่ไม่ใช้แล้วมาเป็นฐานรองต้น   ช่วยควบคุมการเติบโต และซึมซับน้ำได้ตลอดเวลา  ล้อยางเสมือนแก้มลิง  ทำให้ไม้ผลไม่ขาดน้ำ   หรือได้รับน้ำไม่เยอะจนเกินไป  ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วส้มโอไม่ชอบพื้นที่น้ำท่วม   เช่นเดียวกับที่นอนเก่า ๆ ที่มีผ้าช่วยซับน้ำได้ดีเหมาะกับการนำมาช่วยในการปลูกพริกไทและพืชหลายชนิด   

 

          นี่เป็นสิ่งดีของขยะเหลือใช้    ที่คุณลุงนำมาผสมผสานกับการทำเกษตรได้อย่างลงตัว   ซึ่งจะเห็นได้ว่ารอบบริเวณสวนพื้นที่ 4 ไร่ของคุณลุงไพฑูรย์  ก็จะมีแต่ล้อยางรถยนต์คันเก่ามากถึง 3000  ล้อ   ที่นำมาใช้ในการปลูกไม้ผลได้ผลผลิตอย่างดี รวมถึงนำไปทำเป็นกระชังเลี้ยงปลา  ให้อยู่อาศัย และนำมาทำเป็นถังขยะทำปุ๋ยอินทรีย์ในครัวเรือนอีกด้วย 

 

           คุณลุงไพฑูรย์   ตวงสิน  เกษตรกรตัวอย่างวันนี้บอกว่า   มีความสุขที่ได้ทำ  ช่วยลดขยะในชุมชน และเหมาะกับผู้สูงวัยอย่างตนเพราะพืชให้ผลผลิตโตเร็ว เพราะตรรกะคือการปลูกในภาชนะจะทำให้พืชโตเร็ว  ล้อยางรถยนต์ยังเป็นเสมือนแก้มลิง ไม่อยู่บ้านหลายวันต้นไม้ก็ไม่ตาย  ใช้ปลูกได้ดีในพื้นที่ชุ่มน้ำหรือน้ำท่วมขัง  วันนี้คุณลุงได้ยกระดับ “รสาบ้านสวน”  เป็นศูนย์เรียนรู้การจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม  มีผู้คนและหน่วยงานมาศึกษาเรียนรู้ปีละไม่น้อยกว่า 1 พันคน ภายใต้แนวคิดคือ  จัดการขยะอย่างลงตัวนำพาครอบครัวสู่เศรษฐกิจพอเพียงสิ่งแวดล้อมยั่งยืน   สนใจติดต่อสอบถาม  โทร.095-478-7756  

 

        นายเฉลิมพร ศรีสวัสดิ์ เกษตรอำเภอเมืองสตูล พร้อม นางสาวปฏิมา ลิมานัน นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร และ นางสาวนิลุบล เชื้อศรีชัย นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ลงเยี่ยมเยียนและติดตามผลหลังลงมาให้คำชี้แนะในเรื่องการกำจัดศัตรูพืช และการจัดการสวน 

 

          โดยนายเฉลิมพร ศรีสวัสดิ์ เกษตรอำเภอเมืองสตูล  กล่าวว่า   ที่ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้เป็นศูนย์เรียนรู้ของการจัดการขยะและวัสดุเหลือใช้ในการเกษตร  สามารถมาปรับใช้ในพื้นที่มีน้ำท่วมขัง   พืชสวนครัวและไม้ผล เน้นเพื่อบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก  และเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกรใกล้ไกลในพื้นที่  ในส่วนของสำนักงานเกษตรและหลายหน่วยงานได้ใช้พื้นที่แห่งนี้เป็นศูนย์เรียนรู้  ในการถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรผู้สนใจ  เกษตรอำเภอเมืองก็มาให้คำแนะนำในเรื่องของการจัดการสวน กันป้องกันกำจัดแมลงและก็ศัตรูพืช โดยจัดหาวัสดุในการทำน้ำยากำจัดศัตรูพืช  ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสรรพสามิต

 

       สำหรับที่  รสาบ้านสวน   ของคุณลุงไพฑูรย์  ตวงสิน   ยังบอกด้วยว่า ผลผลิตที่ออกมาทั้งหมดไม่ได้วางขายที่ไหน ส่วนใหญ่เน้นแจก และแบ่งปันความรู้เป็นวิทยาฐานที่คุณลุงทำแล้วสบายใจไม่ได้เน้นธุรกิจ

……………………………………..

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล-ชาวบ้านกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงชันโรงป่าชายเลน  สินค้าเด่น  กลุ่มเข้มแข็ง   ภายใต้แบรนด์  PCปลายชล

สตูล-ชาวบ้านกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงชันโรงป่าชายเลน  สินค้าเด่น  กลุ่มเข้มแข็ง   ภายใต้แบรนด์  PCปลายชล

       ในป่าชายเลนติดหมู่ที่ 4 ตำบลคลองขุด  อำเภอเมือง จังหวัดสตูล  ชาวบ้านกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงชันโรงป่าชายเลน  ได้นำลังผึ้งของกลุ่มเข้าไปวางห่างกันเป็นจุด  ๆ จำนวน 100 ลัง เพื่อให้ผึ้งได้เข้ามาทำรัง  ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีการเลี้ยงผึ้ง ของศูนย์เรียนรู้  การเลี้ยงผึ้งโพรง ผึ้งชันโรงป่าชายเลนของชาวบ้านกลุ่มนี้ 

       ทางกลุ่มยังได้รับการยกระดับให้เป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล  โดยมีทางเทศบาลตำบลคลองขุดให้การสนับสนุน   ในการแบ่งปันความรู้ให้กับชาวบ้านในชุมชน  เรียนรู้วิถีของผึ้งโพรง การแยกรังผึ้งจาก 1  เป็น 2  สาธิตให้สมาชิกในกลุ่มได้เรียนรู้  และสามารถนำกลับวิชาความรู้นี้ไปต่อยอดเป็นอาชีพได้  เพื่อเป็นรายได้เสริมจากงานประจำ อีกทั้งน้ำผึ้ง  ยังมีสรรพคุณทางยาสามัญประจำบ้านด้วย

         หลังทางกลุ่มได้น้ำผึ้งมาแล้ว  วันนี้ทางสมาชิกที่เป็นแม่บ้าน  ที่ได้รับความรู้จากวิทยาลัยชุมชนสตูลได้ช่วยกันทำสบู่น้ำผึ้งมังคุด  สบู่น้ำผึ้งสมุนไพร ขายกันภายในชุมชน   และยังมีสินค้า  ที่ทำจากน้ำผึ้งป่าชายเลน  อาทิ  แชมพูน้ำผึ้งสมุนไพร   โลชั่นน้ำผึ้งสมุนไพร   ในราคาที่เข้าถึงง่าย อีกทั้งยังมีน้ำผึ้งป่าชายเลนขวดเล็กใหญ่ ตามความต้องการด้วย ภายใต้ชื่อสินค้า  “PC ปลายชล”

        นายชัยวัฒน์   ขุนศรี   ประธานกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงผึ้งชันโรงป่าชายเลน  บอกว่า  น้ำผึ้งจากป่าชายเลนถือว่ามีสรรพคุณมากมาย เพราะพืช  ที่ผึ้งดูดซับน้ำผึ้งมาไว้   เมื่อนำมาทานจัดว่าเป็นยาระบายอ่อน ๆ รสชาติจะหวานอมขมนิด ๆ แต่ถ้าเป็นผึ้งชันโรงจะหวานอมเปรี้ยว

      นายสุนทร  พรหมเมศก์  นายกเทศมนตรี ตำบลคลองขุด   บอกด้วยว่า เทศบาลตำบลคลองขุดได้เข้ามาสนับสนุนในเรื่องวัสดุภัณฑ์   ในการทำโรงเรือนและผึ้งโพรง  ป้ายประชาสัมพันธ์กลุ่ม และพื้นที่ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือกลุ่มนี้มีความสามัคคีและเข้มแข็ง มีการจัดทำกลุ่มอย่างเป็นระบบ

       ปัจจุบันสมาชิกของกลุ่มเลี้ยงผึ้งโพรงชันโรงป่าชายเลน ตำบลคลองขุด มีมากกว่า 50 คน ขณะนี้ได้จดทะเบียนขึ้นเป็นสินค้าโอทอป  9 ผลิตภัณฑ์ คือ จำหน่าย ผึ้ง  จำหน่ายลังผึ้ง  น้ำผึ้ง  และการแปรรูปเป็นสินค้าจากน้ำผึ้งทั้งหมด   โดยทางกลุ่มฯ บอกด้วยว่า  ทางหากท่านใดสนใจจะเลี้ยงผึ้งสามารถติตต่อขอซื้อลังเลี้ยงผึ้ง หรือรับความรู้ได้  ที่เบอร์โทร. 082-413-7598

………………………………………………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล-ขับเคลื่อนการน้อมนำแนวพระราชดำริ ปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นคงทางอาหาร ภายใต้กิจกรรม “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง”

สตูล-ขับเคลื่อนการน้อมนำแนวพระราชดำริ ปลูกผักสวนครัวสร้างความมั่นคงทางอาหาร ภายใต้กิจกรรม “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง”

          วันที่ (15 พ.ย. 66) ที่สวนเศรษฐกิจพอเพียงจวนผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล อำเภอเมือง จังหวัดสตูล นายศักระ  กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล พร้อมด้วยทันตแพทย์หญิงสุกีรติ กปิลกาญจน์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสตูล นำส่วนราชการและภาคประชาชนสร้างพลังความต่อเนื่องในการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่ปฏิบัติการปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืน โดยมี นายชาตรี ณ ถลาง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล นายชูชีพ ธรรมเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ปลัดจังหวัดสตูล หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัดสตูล สมาชิกชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสตูลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก

           สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ จังหวัดสตูล ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแนวทางปฏิบัติการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความมั่นคง ทางอาหาร สู่ปฏิบัติการปลูกผักสวนครัว มีกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ดังนี้ รณรงค์ปลูกพืชผักสวนครัว สมุนไพร ไม้ผล การรณรงค์ส่งเสริมการสร้างทักษะวิถีใหม่ เยาวชนไทยสร้างอาหารเป็น แก่เยาวชนในสถานศึกษา รวมทั้งการรณรงค์ขับเคลื่อนการปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร ณ ที่ว่าการอำเภอ, สถานศึกษา, วัดและมัสยิด

.

          ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลสร้างพลังความต่อเนื่องในการน้อมนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สู่ปฏิบัติการปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืน และเพื่อเป็นต้นแบบตัวอย่างที่เห็นจริงให้แก่ข้าราชการและประชาชน ซึ่งมีการปลูกพืชผักสวนครัว  สมุนไพร  และไม้ผลมากกว่า 30 ชนิด อาทิ ผักบุ้ง, ผักกวางตุ้ง, พริก, มะเขือ, โหรา, กะเพรา, แมงลัก, ถั่วฝักยาว, ถั่วพู, แตงกวา, คะน้าเคล, กะหล่ำปลี, ผักชีฝรั่ง, ผักหวาน, กล้วย, มะละกอ, กระชาย เป็นต้น

……………………..

ภาพ-ข่าว : ภาสินี  จันทจักษุ/ ส.ปชส.สตูล

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

   สตูล-นอภ.เนรมิตที่ว่าการอำเภอมะนังสร้างสุข   มะนังยั่งยืน  เป็นคลังอาหาร  บริการปชช.พร้อมเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ครบวงจร

สตูล-นอภ.เนรมิตที่ว่าการอำเภอมะนังสร้างสุข   มะนังยั่งยืน  เป็นคลังอาหาร  บริการปชช.พร้อมเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ครบวงจร

       

          หลังกระทรวงมหาดไทยให้ทุกอำเภอ   ทำโครงการบำบัดทุกข์บำรุงสุข   โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน   โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่     

 

           ทำให้ที่บริเวณด้านหลังที่ว่าการอำเภอมะนัง  จังหวัดสตูล  นายเชษฐ บุตรรักษ์    นายอำเภอมะนัง   ได้ใช้พื้นที่ว่างเปล่า 20 ไร่ ของทางอำเภอเป็น บ่อปลาดุก  บ่อปลานิล ขนาดไซส์ต่างๆ ไว้เพื่อเป็นคลังอาหาร   ให้กับข้าราชการ และบุคลากรภายในอำเภอ    อีกทั้งยังสร้างโรงเลี้ยงแพะ   ภายในสวนปาล์มน้ำมันของที่ว่าการทางอำเภอ   โรงเลี้ยงไก่ไข่  ไก่บ้าน  และ เป็ดบ้าน รวมทั้งได้แบ่งพื้นที่  3 ส่วนได้แก่  ด้านประมง  ปศุสัตว์  รวมทั้งด้านการเกษตร  

 

            ซึ่งขณะนี้  สวนกล้วยพันธ์เพชรบุรี  ที่กำลังให้ผลผลิตสามารถเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านที่มาศึกษาดูงาน   ที่ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้   นำพันธุ์ไปปลูกขยาย ในครัวเรือนได้อีกด้วย  นอกจากพันธุ์พืชแล้ว  ยังมีพันธุ์ปลา  ก็สามารถมาขอแบ่งปัน   จากที่ว่าการอำเภอมะนังได้  

 

พันธุ์สับปะรดในสวนผสม  เลี้ยงผึ้ง  และผักสวนครัวเพื่อเป็นคลังอาหาร โดยผลผลิตทั้งหมดนี้   นอกจากเป็นอาหารให้กับข้าราชการและบุคลากรภายในอำเภอแล้ว   ส่วนหนึ่งที่นำมาจำหน่าย   รายได้เฉลี่ยเดือนละ 10,000 บาท  จากผลผลิตปาล์มน้ำมัน   และผลผลิตทางด้านเกษตรและปศุสัตว์  โดยเม็ดเงินทั้งหมดจะนำมาหมุนเวียนจัดซื้ออุปกรณ์อาหารสัตว์ภายในที่ว่าการอำเภอ

            นายเชษฐ บุตรรักษ์   นายอำเภอมะนัง   กล่าวเพิ่มเติมว่า   สำหรับพื้นที่อำเภอมะนัง  มีจุดแข็งคือมีพื้นที่ของทางราชการ มากถึง 20 ไร่จากที่ประชุม 7 ภาคีเครือข่ายมีแนวทางในการพัฒนา บำบัดทุกข์บำรุงสุข  ภายใต้ชื่อมะนังสร้างสุข มะนังยั่งยืน  โดยใช้พื้นที่ที่มีอยู่เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้ข้าราชการบุคลากรของอำเภอ  ไปพร้อมกับเป็นศูนย์กลางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน     

 

          โดยแบ่งพื้นที่ เป็น 3 ส่วนได้แก่ด้านการเกษตรประมงและปศุสัตว์  โดยเฉพาะการส่งเสริมการปลูกกล้วยหอมเพชรบุรี ด้านประมงการเลี้ยงปลาดุก  การเลี้ยงปลานิล  ด้านปศุสัตว์ส่งเสริมการเลี้ยงแพะเลี้ยงเป็ดพื้นบ้านเลี้ยงไก่ไข่และไก่พื้นบ้าน  โดยส่งเสริมให้ชาวบ้านได้เข้ามาเรียนรู้  เพื่อนำไปปรับใช้ในครัวเรือนของตัวเองเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและลดรายจ่ายในครัวเรือน   ผลผลิตที่ได้จะนำไปช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนอีกส่วนนำไปจำหน่ายเพื่อมาเป็นรายได้หมุนเวียนในการจัดซื้อวัตถุอุปกรณ์อาหารสัตว์  เพื่อบริหารจัดการในพื้นที่

 

อยากให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้เข้ามาเรียนรู้เพื่อนำไปฝึกเป็นอาชีพเสริมในการจัดหารายได้ว่าให้คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นได้ ไปทางอำเภอก็พร้อมจะสนับสนุนในเรื่องของพันกล้าพันธุ์สัตว์ให้กับพี่น้องประชาชนได้

……………………………..

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

   สตูล-เลี้ยงปลาดุกอุยในสวนยางข้างบ้าน ต่อยอดแปรรูปส่งขาย   

สตูล-เลี้ยงปลาดุกอุยในสวนยางข้างบ้าน ต่อยอดแปรรูปส่งขาย

        ชาวบ้านหมู่ที่ 8 ตำบลนิคมพัฒนา   อำเภอมะนัง  จังหวัดสตูล ใช้พื้นที่ว่างในสวนยางพารา  และ พื้นที่ข้างบ้าน เป็นกระชังบก ขนาด 3x 6 เมตรเพื่อเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย จำนวน 700 ตัว  ไว้บริโภคอีกทั้งเป็นการลดรายจ่ายในครัวเรือน

 

          ซึ่งนายวิชิต  ชูน้อย  อายุ 65 ปี ส.อบต.นิคมพัฒนา  บ้านเลขที่  115  ม.8  นิคมพัฒนา อ.มะนัง บอกว่า ก่อนที่จะลงมือเลี้ยงทางตนได้เข้าอบรมรับความรู้จากประมงจังหวัด เรื่องเทคนิคการเลี้ยง  การดูแลระบบน้ำ  การให้อาหาร  ดูแล้วไม่ยาก  เพราะใช้พื้นที่ข้างบ้านในการเลี้ยงที่ไม่มากนัก  หลือจากรับประทานก็สามารถขายเพื่อนบ้านในราคาถูกกว่าท้องตลาดได้   ขณะนี้ทางชาวบ้านได้มีการตั้งเป็นกลุ่ม ชื่อ  กลุ่มประมงน้ำจืดหมู่ที่ 8  มีสมาชิก 15 คนทุกครัวเรือนมีกระชังบกทุกบ้าน

 

         สำหรับปลาดุกบิ๊กอุย ที่เหลือจากรับประทานภายในครัวเรือนยังสามารถที่จะนำมาแปรรูปส่งขายไปนอกพื้นที่ได้   ซึ่งกลุ่มชาวบ้านภายใต้ชื่อสวนลุงธา  ตำบลนิคมพัฒนา  อำเภอมะนัง  จังหวัดสตูล  เป็นอีกหนึ่งแหล่งเรียนรู้ ในการสอนแปรรูปปลาดุกร้า  (ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในวิธีการถนอมอาหาร) โดยใช้เกลือในสัดส่วน 15 ถุงน้ำตาลทราย 5 กิโลกรัมและปลาดุก 15 กก. คลุกเคล้าและยัดเกลือและน้ำตาลที่ผสมกันแล้วลงไปในท้องปลาดุก  พักไว้ในกล่องพลาสติกที่มีฝาปิดมิดชิดจำนวน 3 วัน จากนั้นนำมาล้างให้สะอาดและนำไปตาก 3 แดด ก็สามารถนำมารับประทานและส่งขายได้ในกิโลกรัมละ 330 บาท

      นายนิพนธ์   เสนอินทร์  ประมงจังหวัดสตูล  กล่าวว่า  โครงการนี้เป็นงบประมาณเหลือจ่ายประจำปี 2566 เป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร  โดยโครงการนี้อุดหนุนในเรื่องของพันธุ์ปลาดุก  อาหารและกระชังปลา  ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่อำเภอท่าแพ  อำเภอทุ่งหว้า  อำเภอมะนัง  อำเภอควนกาหลง  และอำเภอควนโดน จำนวน 5 รุ่นรุ่นละ 35 รายรวมทั้งสิ้น 175 ราย

 

          โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้  ไม่มีบ่อดินและขาดโอกาส  สามารถใช้พื้นที่เล็กน้อยและไม่มีแหล่งน้ำสามารถเลี้ยงไว้ข้างบ้าน  หลังครบ 40 วัน จากนั้นก็จะมีการติดตามผลโดยมีปราชญ์ทางด้านเกษตร ผู้แทนภาคประชาชน  มาร่วมให้คำแนะนำและวางแผน  จากการติดตามพบว่าอัตราการรอดดีมากรวมทั้งการเติบโตของปลาดี

 

          นอกจากจะมีรับประทานภายในครัวเรือนแล้วสำนักงานประมงจังหวัดสตูลยังคาดหวังว่าจะสามารถแบ่งปันขายในชุมชนรวมทั้งการแปรรูปเป็นสินค้าภายในชุมชนหรือส่งขายไปด้านนอกชุมชนได้  เป็นผลิตภัณฑ์ปลาดุกร้าหรือปลาดุกเค็มต่อไปได้

……………..

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

   กล้วยทอดเตาถ่านสูตรโบราณไม่ใส่น้ำตาล   

กล้วยทอดเตาถ่านสูตรโบราณไม่ใส่น้ำตาล

         ที่หัวสะพานคลองมำบัง   เส้นบายพาสห่างจากโกลบอลเฮ้าส์  ตำบลบ้านควน  อำเภอเมือง  จังหวัดสตูล  มีเพิงเล็กๆตั้งอยู่กลางทุ่งนาและสวนปาล์มน้ำมัน  หากไม่ตั้งใจสังเกตน้อยคนนักจะรู้ว่าที่นี่ขายกล้วยทอดเตาถ่านสูตรโบราณ  เพราะจะรู้เฉพาะกลุ่มชาวบ้านและเกษตรกรชาวสวนยางพารา  ที่ออกมากรีดยางในช่วงเช้าเท่านั้น

          โดยสองพี่น้องจะช่วยกันขายกล้วยทอด  และ  เมนูข้าวมันปลาเค็มสูตรโบราณที่เน้นการขายแบบไม่ปรุงแต่งมากนัก  อย่างปลาเค็มที่นำมาใช้ก็จะนำไปย่างมากกว่าทอด  เพราะจะได้ความหอมอร่อยอีกหนึ่งรสชาติตามแบบฉบับวิถีชาวบ้าน  ในราคาจานละ 20 บาท  ทานกันแบบจุก ๆ อิ่มไปเลย พิเศษหน่อยก็ราคา 25 บาท นอกจากนี้ทางร้านยังมีส้มตำ และโกปี้  ที่กินกับข้าวมันปลาเค็ม หรือ กล้วยทอดด้วย

          โดยเฉพาะกล้วยทอดที่นี่ ถือว่า  เป็นการใช้วิธีแบบพื้นบ้าน  คือ  ใช้ไม้ฟืนที่หาได้ในพื้นที่ ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการทอด  นอกจากจะลดค่าใช้จ่ายในการใช้แก๊สหุงต้มแล้ว    ยังเพิ่มรสชาติความหอมอร่อยให้กับกล้วยที่ทอด  ด้วยสูตรโบราณที่นี่คือ  ไม่ใส่น้ำตาลทรายเพิ่มความหวานให้เสียสุขภาพ  เพราะกล้วยที่นำมาใช้มีความหวานในตัวอยู่แล้ว  และจะใส่เพียงแค่น้ำปูนใสเพิ่มความกรอบ   ไข่ไก่   แป้งข้าวจ้าว  มะพร้าวขูด  น้ำเกลือเล็กน้อย  ใบเตยเพิ่มความหอมเท่านั้น   และน้ำตาลทรายที่ไม่ใส่ยังทำให้กล้วยออกมาสีสวยน่ากินด้วย  สำหรับกล้วยที่ใช้  แล้วแต่ฤดูกาล บ้างก็เป็นกล้วยน้ำหว้า และกล้วยไข่ ขาย 13 ชิ้น 20 บาท

         นางดารารัตน์  ขวัญเมือง  ลูกค้าที่ผ่านไปมาแวะชิมต่างชมเป็นเสียงเดียวกันว่า   มีรสชาติที่อร่อยสำหรับคนที่ชอบกล้วยไม่สุกงอมเกินไป  และข้อดีคือไม่ใส่น้ำตาลเพราะกล้วยมีความหวานอยู่แล้ว  และมีความหอมของเตาฟืนและใบเตย ดื่มกับโกปี้ยิ่งเพิ่มรสชาติให้การกินกลมกล่อมมากขึ้น

         นางรจนา  ศรีสุข อายุ  62 ปี แม่ค้า บอกว่า  ในหนึ่งวันจะขายข้าวมันปลาเค็มวันละ 2 กก.และกล้วยทอดวันละ 5 หวี ให้กับชาวสวนยาง และชาวบ้านที่ผ่านไปมาและคนที่ชอบออกกำลังกาย  แวะมานั่งทาน แบบบ้าน ๆ ในราคาเบา ๆ โดยจะขายตั้งแต่เวลา 6 โมงเช้าจนของหมด ในหนึ่งเดือนจะหยุด 2 ครั้ง  หากสนใจอยากกินอาหารพื้นบ้าน โทรสอบถามได้ที่   098 724 1697

         นอกจากนี้ทางร้านคุณป้าทั้งสอง  ยังนำหน่อกล้วยมาปลูกไว้ข้างร้าน  รวมทั้งผักสวนครัวเพื่อให้ลูกค้ามั่นใจแหล่งที่มาของอาหาร  และลดรายจ่ายได้อย่างดีงามน่าเอาเป็นแบบอย่าง

………………………………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

   จากธุรกิจเพาะลูกนกกรงหัวจุกขาย สู่ยารักษาหวัดนก และกรงนกใบละหลักแสนบาท   

จากธุรกิจเพาะลูกนกกรงหัวจุกขาย สู่ยารักษาหวัดนก และกรงนกใบละหลักแสนบาท  เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ที่ชมรมนกกรงหัวจุกสตูลเดินหน้าผลักดัน ปกป้องให้เกมกีฬาพื้นบ้าน  ถูกต้องตามกฎหมาย   อยู่คู่สังคมไทย

          นกกรงหัวจุกจำนวนกว่า 30 ตัวที่นายสักรินทร์   อังวรโชติ  หรือ  “โจ ท่าน้ำ”  อายุ 38 ปีได้เพาะเลี้ยงเพื่อขายให้กับผู้ที่ชื่นชอบเลี้ยงนกกรงหัวจุก  โดยมีพ่อแม่พันธุ์สีขาวเผือกอมชมพู  ที่รูปทรงสวยงาม  และพ่อแม่พันธุ์ที่มีประสบการณ์  ผ่านสนามชนะหลายเวที    รวมทั้งการทำยาหวัดนกขาย  สร้างรายได้อีก 1 ทางให้กับผู้ที่ชื่นชอบเลี้ยงนกกรงหัวจุก

          นอกจากตัวนก  อาหารนก  ก็ยังมีสินค้าที่เชื่อมโยงกับนกกรงหัวจุก  โดยเฉพาะกรงนกที่เหล่าบรรดาเซียนนก  ที่มีกำลังทรัพย์มักจะซื้อไว้ประดับบารมี  และให้นกได้อยู่อาศัย  ด้วยผลงานที่มีฝีมือของช่างทำกรงนก  จากหลากหลายพื้นที่  เป็นงานฝีมือที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์  ในการออกแบบกรงนกให้สวยงามวิจิตรบรรจง  เหมือนอย่างกรงนกใบนี้ที่มีราคาหลักแสนบาท   ด้วยการใช้มุกประดับตกแต่งและการแกะสลักลวดลาย  แม้กระทั่งภาชนะใส่น้ำในกรงนก  มีการใช้ถ้วยเบญจรงค์ บ้างก็ใช้ถ้วยทำจากหินอ่อน หรือถ้วยทำจากหยก  ตกแต่งได้อย่างสวยงามทรงคุณค่า

          นายสักรินทร์    อังวรโชติ  บอกว่า  เสียงที่ไพเราะ รูปทรงที่สวยงามทำให้ตนหลงใหลนกกรงหัวจุกมาตั้งแต่เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4  จนถึงปัจจุบันยิ่งหลงไหล รัก และชื่นชอบ  การเพาะเลี้ยง การแข่งขัน การทำยารักษา รวมทั้ง การครอบครองกรงนกจากความชื่นชอบ   พร้อมยอมรับว่าเห็นด้วยหากจะมีการเอาจริงเอาจังหรือเอาผิดคนที่จับนกในป่ามาขายหรือแข่งขัน

         แต่ส่วนตัวเห็นว่าจากอดีตจนถึงปัจจุบัน  นกกรงหัวจุกสามารถเพาะเลี้ยงได้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างมูลค่าให้กับหลากหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง  อาทิ  เกษตรกรที่หาผลไม้อย่างกล้วยและมะละกอ  มาขายกลุ่มที่ชอบเลี้ยงนก  , กรงนกที่เห็นถึงความสวยงามด้านงานฝีมืออันทรงคุณค่า  เสมือนการสะสมทองคำ  เพราะราคาและฝีมือของช่างยิ่งเพิ่มมูลค่าให้กับกรงนกอย่างมากมายมหาศาล   นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว  ไม่ต่างกับการแข่งขันกีฬาทั่วไป   ทุกครั้งที่มีการแข่งขันนักกีฬาแข่งนก  ไม่น้อยกว่า 200 คนที่ตระเวนไปตามจังหวัดต่างๆ เกิดการกระจายรายได้  ที่พักโรงแรม  เพราะเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการแก้ไข ปลดล็อคนกกรงหัวจุกออกจากสัตว์ป่าคุ้มครอง

       ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนให้มีการปลดล็อกจากพ.ร.บ.สัตว์ป่าคุ้มครอง  ล่าสุดชมรมนกกรงหัวจุกจังหวัดสตูลและเครือข่ายทั่วประเทศ ได้ยื่นเรื่องขึ้นสู่สภาผู้แทนราษฎรแล้ว

……………………..

 

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

ลูกหยี ผลไม้ป่าโบราณ  ทางวัดทำสวนป่าปลูกอนุรักษ์เป็นศูนย์เรียนรู้   

ลูกหยี ผลไม้ป่าโบราณ  ทางวัดทำสวนป่าปลูกอนุรักษ์เป็นศูนย์เรียนรู้

       ลูกหยีผลดกดำ  อายุกว่า 20 ปี  ยืนต้นสูงเด่น 15 เมตร  เป็นหนึ่งในพันธุ์ไม้หายาก  ขึ้นอยู่ภายในพื้นที่วัดนิคมพัฒนารามผัง 7  ต.นิคมพัฒนา  อ.มะนัง  จ.สตูล   พร้อมๆกับ  ลูกตะขบ   ลูกละไม   ลองกอง  มังคุด  สละอินโด  มะม่วง และมะพร้าว

        ในฤดูกาลนี้ลูกหยี ให้ผลผลิตจำนวนมาก   แต่การเก็บผลลูกหยีที่มีขนาดเล็กบนต้นใหญ่  เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก  ผู้เก็บเกี่ยวต้องใช้ทักษะและความชำนาญเฉพาะตัว  ปีนขึ้นไปตัดกิ่งขนาดใหญ่  ผูกเชือกค่อยๆหย่อนลงมา  ทำให้ได้ผลลูกหยีที่มีคุณภาพ  ผลไม่หลุดร่วงจากช่อ    

         พระครูโสภณปัญญาสาร เจ้าอาวาสวัดนิคมพัฒนาราม  ผัง 7  //เจ้าคณะอำเภอมะนัง  นำทีมชาวบ้านในพื้นที่  เก็บลูกหยีในสวนป่าภายในวัดอย่างชำนาญ  ได้ผลลูกหยีจำนวนมาก  พร้อมขายผลสดเป็นพวงละ 50-100  บาท  รายได้ส่วนหนึ่งนำมาเป็นค่าแรง และเป็นปุ๋ยบำรุงต้น 

        สำหรับ “ลูกหยี “ เป็นผลไม้ป่าชนิดหนึ่งที่มีรสเปรี้ยวอมหวาน เปลือกสีดำ เนื้อในสีแดงส้ม เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ให้ผลผลิตปีละ 1 ครั้ง ประมาณเดือน ตุลาคม – พฤศจิกายน มีรสเปรี้ยวจัด หากนำเมล็ดออกแล้ว คลุกน้ำตาล รสชาติอร่อย ส่วนผลสด จะมีขายตามตลาดนัด เฉพาะในช่วงฤดูกาลเท่านั้น และจะขายตามตลาดออนไลน์ อยู่ที่กิโลกรัมละ 80 ถึง 165 บาทขึ้นไป

       ลูกหยีต้นนี้  เป็นไม้ป่าโบราณผลหาทานยาก   ที่ทางเจ้าอาวาสวัดนิคมพัฒนาราม ผัง 7 ตั้งใจปลูกและขยายพันธุ์ไว้ พร้อมต้นไม้หาทานยากอีกกว่า 20 ชนิด บนพื้นที่ 20 ไร่  เพื่ออนุรักษ์และต้องการทำเป็นศูนย์เรียนรู้ส่งต่อไปยังคนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป

          พระครูโสภณปัญญาสาร เจ้าอาวาสวัดนิคมพัฒนาราม  ผัง 7  กล่าวว่า  เคยมีแนวคิดว่าเราจะหาพันธุ์ไม้ผล  ผลไม้พื้นถิ่นใน 14 จังหวัดภาคใต้มาปลูกรวมไว้ที่วัดพัฒนารามผัง 7  เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้   อนุรักษ์พันธ์ไม้หายาก   ซึ่งปัจจุบันจะมีประเภทไม้ผล 20 กว่าชนิดด้วยกัน   ลูกหยีก็เป็นไม้พื้นบ้านที่ปลูกไว้ใช้เวลายาวนาน 20 กว่าปี  ปีนี้เป็นปีที่สองแล้วที่ให้ผลและดกมาก

        ด้าน นางภาสพิชญ์  นาควงค์   อายุ 58 ปี ชาวบ้านที่ชอบทานผลไม้ป่าโบราณ  บอกกับทีมข่าวว่า  มีโอกาสเห็นต้นลูกหยีที่วัด  มันสูงใหญ่  ยิ่งเมื่อเห็นการเก็บเกี่ยวรู้สึกสงสารคนปีนไปเก็บ  มันเสี่ยงมาก   ซึ่งลูกหยีผลสดจะหาทานยากในยุคสมัยนี้ คนที่ปลูกก็มีน้อย ใช้เวลาหลายปีกว่าจะโตให้ผลที่กินได้   

……………………………………………………………………

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

   กลุ่มคนเพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุกในจังหวัดสตูล เดินหน้าต้องการให้ปลดล๊อกจากบัญชีรายชื่อกฎหมายสัตว์ป่าคุ้มครอง   และวันที่ 18 ต.ค. นี้   เตรียมเดินทางขึ้นสมทบร่วมกับจังหวัดอื่นในการยื่นเรื่องขอแก้กฎหมาย   

กลุ่มคนเพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุกในจังหวัดสตูล เดินหน้าต้องการให้ปลดล๊อกจากบัญชีรายชื่อกฎหมายสัตว์ป่าคุ้มครอง   และวันที่ 18 ต.ค. นี้   เตรียมเดินทางขึ้นสมทบร่วมกับจังหวัดอื่นในการยื่นเรื่องขอแก้กฎหมาย

           กลุ่มเพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุก ยังคงยื่นเรื่องเพื่อให้ปลดล็อกนกกรุงหัวจุก  ออกจากสัตว์ป่าคุ้มครอง  และมองว่าขึ้นทะเบียนนกกรุงหัวจุกเพราะเป็นเรื่องยุ่งยาก และกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุกจังหวัดสตูล  เตรียมพร้อมขึ้นไปกรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนการยื่นเรื่องข้อเสนอในครั้งนี้

           ด้านนายอัสหาด   หลังจิ  อดีต ประธานชมรมนกกรงหัวจุกสตูล  มองว่า  กฎหมายเดิมนั้นไม่ทันสมัย ต้องการให้เปลี่ยนแปลงมากกว่านี้  โดยในวันที่ 18 ตุลาคมนี้ กลุ่มเพาะเลี้ยงนกกรุงหัวจุกในจังหวัดสตูล ทั้ง 7 อำเภอ  นับ 100 คน จะเหมารถตู้เพื่อเดินทางขึ้นไปยังกรุงเทพฯ ร่วมสมทบกับคนเพาะเลี้ยงนกกรุงหัวจุกจากจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้  และการที่ได้ออกมาเรียกร้องในครั้งนี้เพราะมองว่า การเพาะเลี้ยงนกกรุงหัวจุก เป็นรากฐานเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง และเป็นอาชีพหนึ่งที่สามารถทำรายได้ ได้ดีอีกด้วย

 

         ด้านนาย สักรินทร์    อังวรโชติ  อายุ 38 ปี  หนึ่งในผู้เพาะเลี้ยงนกกรุงหัวจุก กล่าวเพิ่มเติมว่า นกกรุงหัวจุก เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ดี ที่นิยมเพาะเลี้ยงกัน แต่เมื่อกฎหมายเข้มงวดก็ลำบาก   และมีผลกระทบกับทางกลุ่มเพาะเลี้ยงมาก จึงฝากให้ทางกรมอุทยานแห่งชาติ   ได้ทบทวนข้อเรียกร้องในครั้งนี้  ส่วนกรณีคนไปดักจับนกกรุงหัวจุกในป่า  ก็ควรจับมาลงโทษขั้นเด็ดขาด  แต่ก็ควรมองถึงกลุ่มเพาะเลี้ยง ที่ต้องการทำเรื่องขึ้นทะเบียนนกกรุงหัวจุกให้ง่าย และสะดวกกว่าที่ผ่านมา

        สำหรับในพื้นที่จังหวัดสตูล มีสนามการแข่งขันเสียงนกกรุงหัวจุก  ที่ถูกต้องตามกฎหมายหลายสนาม นกทุกตัวได้ขึ้นทะเบียนตามที่อุทยานฯ กำหนด  ถึงจะยุ่งยากในหลายๆ  ขึ้นตอน  แต่ก็ได้ทำตามข้อกฎหมาย ส่วนการเรียกร้องในครั้งนี้ เรียกร้องเพื่อส่วนรวม   มิใช่เป็นการเห็นแก่ตัวของกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงนกกรุงหัวจุกแต่อย่างใด

อัพเดทล่าสุด

           สำหรับหรับนกกรงหัวจุก หรือ นกปรอดหัวโขน เป็นนกที่มีสีสันสวยงาม มีเสียงอันไพเราะ จึงเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ที่ชอบสัตว์เลี้ยงเพื่อฟังเสียง   และได้มีการประกวดเสียงร้อง  เช่นเดียวกับนกเขาชวา  ในปัจจุบันนกกรงหัวจุก  จัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกนก  ลำดับที่ 550  ตามกฎกระทรวงกำหนด  ให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ.2546 ห้ามล่า หรือจับมาจากธรรมชาติ แต่เปิดโอกาสให้เพาะพันธุ์ในกรงเลี้ยงได้ แต่ยังมีผู้เพาะเลี้ยงที่ไม่ได้รับอนุญาตจำนวนมาก  เนื่องจากมีขั้นตอนการขออนุญาตหลายขั้นตอน  ต้องใช้หลักฐานหลายอย่าง และต้องลงทุนสูง

……………………………………………………

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

   สตูลสืบสานการลงแขก ปลูกข้าวพื้นเมืองอัลฮัมดุลิลละห์ สร้างความมั่นคงทางอาหาร   

สตูลสืบสานการลงแขก ปลูกข้าวพื้นเมืองอัลฮัมดุลิลละห์ สร้างความมั่นคงทางอาหาร

        ทันทีที่ฝนทิ้งช่วง  ชาวนาในจังหวัดสตูลต่างพร้อมใจกัน  ลงปักดำพันธุ์กล้าข้าวในท้องนาที่ชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำ  เพื่อให้ทันต่อการปลูกข้าวในรอบปีนี้

        ซึ่งชาวบ้านในตำบลควนสตอ  อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล  โดยเฉพาะในแปลงนาข้าวของ  ศูนย์เรียนรู้บ้านสวนปันสุข  ที่ยังคงอนุรักษ์การปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง  อัลฮัมดุลิลละห์  บนพื้นที่นาของบรรพบุรุษ  ที่ส่งต่อกันมา    พร้อมเชิญชวนเพื่อนบ้าน  ผู้นำในหมู่บ้าน  และเด็ก ๆ  มาร่วมกันลงแขกดำนา    เป็นการแสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจ หรือการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน   พร้อมทั้งยังเป็นการสร้างความสามัคคีกันภายในหมู่บ้าน  อีกทั้งเด็ก ๆ  จะได้ร่วมซึมซับบรรยากาศของการทำนา และการได้มาซึ่งข้าว  อาหารหลักของเราอีกด้วย   โดยทางเจ้าของที่นา  จะจัดเตรียมข้าวปลา-อาหาร  คาวหวาน เอาไว้เลี้ยงเพื่อนบ้าน ที่เข้ามาช่วยลงแขกดำนาในครั้งนี้ด้วย

      นางมารียำ  อุสนุน   เจ้าของศูนย์เรียนรู้บ้านสวนปันสุข  วันนี้เปิดพื้นที่ให้เพื่อนบ้านและเด็ก ๆ ได้มาร่วมกันดำนาปี  ปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง  อัลฮัมดุลิลละห์   โดยเริ่มหว่านกล้าในช่วงเดือนสิงหาคม  จะเก็บเกี่ยวประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปี  วันนี้ก็เป็นการลงแขกโดยมีชาวบ้านมาช่วยกัน  ทันทีที่ฝนหยุดก็เริ่มลงมือดำนาเลยทันที ที่ไม่ตรงกับการกรีดยางพารา ข้าวส่วนใหญ่ที่ปลูกจะเอาไว้ทานกันเอง  โดยเฉพาะข้าวพันธุ์พื้นเมืองมีรสชาติเฉพาะกลมกล่อม   ไม่มีสารเคมีเจือปน  อีกทั้งเป็นการปลูกไว้ทานเพื่อเป็นการรักษาสุขภาพ

อัพเดทล่าสุด

         นายสอลีหีน   สาเบาะ   ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 10 ตำบลควนสตอ   กล่าวว่า  ชาวบ้านในอำเภอควนโดนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม จะมีการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองพันธุ์อัลฮัมดุลิลละ  เป็นหลัก   เนื่องจากมีรสชาติหอมอร่อย  

        และในปัจจุบันยังพบว่าการปลูกข้าวลดน้อยลง   เนื่องจากราคาในท้องตลาดถูก  แต่ชาวบ้านในอำเภอควนโดนของเรา   ยังอนุรักษ์ในเรื่องของการปลูกข้าวไว้อยู่   เพื่อความมั่นคงของอาหาร   ซึ่งจะเห็นได้จากช่วงที่ผ่านมาในสภาวะโรคระบาดในพื้นที่ตำบลควนสตอ  อำเภอควนโดน  ก็ยังมีข้าวไว้กิน   นาข้าวที่ศูนย์เรียนรู้บ้านสวนปันสุข  ของนางมารียำ  ก็มีการอนุรักษ์การทำนาข้าวพันธุ์พื้นเมืองให้เห็น  และเป็นแบบอย่าง  ให้รุ่นต่อไปได้ร่วมการสืบสานและเรียนรู้

……………