Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

  สตูล-พบฝูงวาฬบรูด้า  8-10 ตัว โผล่กระโดดเล่นน้ำทะเล  อวดโฉม เป็นของขวัญส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

สตูล-พบฝูงวาฬบรูด้า  8-10 ตัว โผล่กระโดดเล่นน้ำทะเล  อวดโฉม เป็นของขวัญส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่

         วันที่ 21 ธ.ค.2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  เพจของอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จ.สตูล  โพสต์คลิปพบฝูงวาฬบรูด้าโผล่เล่นน้ำ   อวดโฉมความน่ารัก กระโดดบนผิวน้ำทะเล  จำนวน 8-10  ตัว  สร้างความฮือฮาให้กับผู้พบเห็น   โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่  ขณะที่ออกตรวจลาดตระเวนบริเวณหน้าเกาะอาดัง เขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา  จ.สตูล

 

          นายมงคล  แดงกัน  หน.อุทยานฯตะรุเตา จ.สตูล  เปิดเผยกับทีมข่าวว่า  ทางเจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่ แจ้งว่า  จนท.ชุดลาดตระเวนที่006 (ส่วนกลาง) ที่ออกลาดตระเวนในพื้นที่ ขณะลาดตระเวนอยู่บริเวณหน้าเกาะอาดัง หน่วยพิทักษ์ฯที่ตต.5 (แหลมสน เกาะอาดัง) ได้พบวาฬบรูด้าจำนวน  2  ฝูง นับได้ 8-10  ตัว  ดำผุดดำว่ายอวดโฉม สร้างความตื่นตาตื่นใจแก่จนท.เป็นอย่างมาก เจ้าหน้าที่จึงบันทึกภาพความสวยงามของธรรมชาติไว้ได้หลายมุม

 

          สำหรับทะเลอันดามันในจังหวัดสตูล มีความสวยงาม สมบูรณ์  จึงมักพบสัตว์ทะเลตัวใหญ่มากมาย ทั้ง เต่าตนุ  พะยูน  โลมาหลากหลายสายพันธุ์ รวมทั้งวันนี้พบ  วาฬบรูด้า และถือว่าเป็นสิ่งบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลสตูลได้ชัดเจน  ซึ่งโดยปกติในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว  วาฬบรูด้าจะโผล่ขึ้นมาอวดโฉมให้  นทท.ได้ถ่ายรูป

 

          สำหรับวาฬบรูด้า   มักจะอยู่รวมกันเป็นฝูง ปกติจะพบแค่ 2-3  ตัว แต่ครั้งนี้พบ 2 ฝูงประมาณ 8-10 ตัว ถือว่าเป็นจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้ได้   ทั้งนี้  วาฬบรูด้า ยังเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์จำเป็นต้องสงวนและอนุรักษ์ไว้อย่างเข้มงวด    ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 อีกด้วย

……………………………………………..

ขอบคุณภาพจากอุทยานแห่งชาติตะรุเตา

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา เกษตร - อาชีพ

  สตูล – อาหารฮาลาลสุดชิค  นักท่องเที่ยวและสายคอนเทนต์ไม่ควรพลาด! กับเมนูในตำนานข้าวต้มบ้านหยังเครื่องอัดแน่น ส่งต่อรุ่นที่ 3 ตกแต่งร้านสไตล์อบอุ่น

สตูล – อาหารฮาลาลสุดชิค  นักท่องเที่ยวและสายคอนเทนต์ไม่ควรพลาด! กับเมนูในตำนานข้าวต้มบ้านหยังเครื่องอัดแน่น ส่งต่อรุ่นที่ 3 ตกแต่งร้านสไตล์อบอุ่น

        เมนูสุดชิคทั้งเครื่องดื่มและอาหารทานเล่นที่   บ้านหยัง คาเฟ่  บรรยากาศอบอุ่นเสมือนมานั่งทานที่บ้านญาติ  กับเมนูคุ้นเคย  ข้าวต้มบ้านหยัง  เครื่องแน่นอิ่มจุกๆ  ปอเปี๊ยะกรอบอร่อยสไตล์บ้านหยังและอีกหลากหลายเมนูสากลฮาลาล  ตอบโจทย์สายคอนเทนต์ และนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่ไม่ควรพลาด

 

          บ้านหยังคาเฟ่   (เป็นภาษามลายู  ที่แปลว่า บ้านคุณอา  หรือญาติผู้ใหญ่)  ตั้งอยู่ตรงข้าม รพ.สต.ย่านซื่อ  ถนนยนตรการกำธร  หมู่ที่ 2 ตำบลย่านซื่อ  อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล  ที่ร้านนี้  อดีตเป็นร้านประจำของใครหลายคนในหมู่บ้าน  ที่ขึ้นชื่อเรื่องข้าวต้มทรงเครื่อง  และมักจะมีการเรียกติดปากว่า  ไปกินข้าวต้มบ้านหยัง  จากวันนั้นถึงวันนี้  เข้าสู่รุ่นที่ 3  กว่า 15 ปีแล้ว  มีการปรับปรุงร้านให้เข้ากับยุคสมัย  แต่ยังคงกลิ่นไอความอบอุ่นเสมือนไปนั่งเล่นทานอาหารที่บ้านญาติผู้ใหญ่  ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมาเลเซีย  และสายทำคอนเทนต์มาแวะถ่ายรูป และอิ่มอร่อยกันไม่ขายสาย

 

          ภายในร้านตกแต่งสไตล์โมเดิลกึ่งไทยมาเลเซีย   มีเมนูหลากหลายทั้งไทยและสากล โดยเมนูเด่นคือ  ข้าวต้มไก่ และปลาบ้านหยัง  เครื่องอัดแน่น เป็นที่ถูกใจทุกวัย  โดยเฉพาะกลุ่มคนสูงวัยมักชื่นชอบเมนูนี้   และเมนูปอเปี๊ยะบ้านหยัง  ที่ทำเอง  ใหม่สดทุกวัน  ตามแบบฉบับของร้าน  ที่อยากให้ทุกคนมาลิ้มลอง

 

           นางสาวฟิรดาวส์   หลีเส็น   อายุ 28  ปี  ผู้บริหารร้านรุ่นที่ 3 บ้านหยังคาเฟ่  บอกว่า  เมนูที่หลากหลายให้อารมณ์เหมือนมาทานอาหารที่บ้านญาติผู้ใหญ่  กับ  เมนูข้าวเนื้อตุ๋น  ข้าวไก่ย่างเทอริยากิ   สปาเก็ตตี้คาโบนาร่า  ผัดไทยไข่ข้น  ยำไก่ยอข้าวโพดและอีกหลากหลายเมนู  รวมทั้งเมนูเครื่องดื่มที่ชื่นใจ อาทิ มัทฉะน้ำดอกมะพร้าว  ,  ชาเย็นที่ขึ้นชื่อของเมืองสตูลที่รสชาติไม่เหมือนใคร , แอสเปสโซ่น้ำดอกมะพร้าว ,อเมริกาโน่ส้ม   ทานกับขนมเค้กแสนอร่อย

 

          ร้านเปิดทุกวันเว้นวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา 11 นาฬิกาถึง 21 นาฬิกา  โปรโมรชั่นพิเศษ   รับปีใหม่   1) ซื้อกาแฟ 2 แก้ว แถม!! โรตีธรรมดานมน้ำตาล 1 ชุด ตั้งแต่วันที่ 1 ถึง 15  ม.ค. 67    และอีก 1 โปรโมรชั่นปีใหม่  เริ่ม 29 ธ.ค. 66 – 1 ม.ค. 67   สั่ง ครบ 599 บาท แถมฟรี!! ปอเปี๊ยะ 1 ชุด   ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมทางเพจร้าน  BAAN YANG อาหารฮาลาล กาแฟสด อาหารทานเล่น หรือโทร.086-320  3009,

 

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

สตูล – ดันประเพณีลอยเรือชาวเลอูรักลาโว้ย  สู่  ซอฟต์พาวเวอร์ หลังถูกขึ้นบัญชีให้เป็นมรดกภูมิปัญญา  ทางวัฒนธรรม ระดับชาติ ประจำปี 2566

สตูล-ดันประเพณีลอยเรือชาวเลอูรักลาโว้ย  สู่  ซอฟต์พาวเวอร์ หลังถูกขึ้นบัญชีให้เป็นมรดกภูมิปัญญา  ทางวัฒนธรรม ระดับชาติ ประจำปี 2566

          ประเพณีลอยเรือชาวเลอูรักลาโว้ย  เป็นหนึ่งใน 18  บัญชี  ประกาศให้เป็นมรดกภูมิปัญญา  ทางวัฒนธรรม ระดับชาติ ประจำปี 2566  ด้านแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล 

          จากการเสนอของคณะกรรมการส่งเสริม  และรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และผ่านการพิจารณาคัดเลือก  จากคณะอนุกรรมการกลั่นกรอง  ตามลักษณะมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม  ที่”เสี่ยงต่อการสูญหาย” ต้องได้รับการส่งเสริมและรักษาอย่างเร่งด่วน

           นางแสงโสม  หาญทะเล  รักษาการแทน ผอ.โรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ  กล่าวว่า   ในนามชาวเลอูรักลาโว้ย  รู้สึกภาคภูมิใจและ ดีใจที่มีภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงวัฒนธรรม  ได้เห็นความสำคัญของงานประเพณีที่มีการสืบทอดกันมาร่วม  300 ปี  งานประเพณีนี้ยังมีคุณค่าทางจิตใจ อีกทั้งยังเป็นงานที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วโลกได้เข้ามามีส่วนร่วมสัมผัส   และศึกษาความงดงาม  ของงานประเพณีลอยเรือชาวเล  บนเกาะหลีเป๊ะ ที่มีขึ้นเป็นประจำปีละ 2 ครั้ง

 

          นางสาวอาซีซ๊ะ  สะมะแอ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสตูล  กล่าวว่า การขับเคลื่อนประเพณีลอยเรือชาวเลอูรักลาโว้ยของจังหวัดสตูล  เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการจัดประเพณีลอยเรืออูรักลาโว้ยของจังหวัดสตูล  ร่วมกับชุมชนชาวเลอูรักลาโว้ยสตูล ประชาสัมพันธ์การจัดประเพณีลอยเรือของจังหวัดสตูล  ส่งเสริมการท่องเที่ยว  สนับสนุนข้อมูลองค์ความรู้  เกี่ยวกับประเพณีลอยเรืออูรักลาโว้ย  สำหรับต่อยอดงานวิชาการ การวิจัย และพัฒนาเพื่อการเรียนรู้ สืบสานและต่อยอด  ให้คงอยู่ต่อไป  อีกทั้ง   เห็นว่างานประเพณีนี้เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ของจังหวัดสตูล

 

          การจัดพิธีลอยเรือของชาวเลอูรักลาโว้ยมีความเชื่อว่า เพื่อเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ โดยการสะเดาะเคราะห์ร้าย  และโรคภัยไข้เจ็บให้หมดสิ้นไป เป็นการแสดงความเคารพบรรพบุรุษ  ส่งวิญญาณกลับสู่แดนฆูนุงฌีรัย และล้างบาปอันเกิดจากการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตที่แล้วมา  นอกจากนี้  ยังเป็นพิธีการเสี่ยงทาย  การทำมาหากินของชาวเลตลอดทั้งปี   ชาวเลอุรักลาโว้ยสตูล มีความเชื่อว่า  ผู้ที่ผ่านพิธีลอยเรือ  จะเป็นผู้ที่ผ่านทุกข์โศกโรคภัยไข้เจ็บไปหมดแล้ว ชีวิตต่อไปข้างหน้าจะประสบแต่ความสุข  และโชคดีในการทำมาหากิน

 

          ประเพณีลอยเรือเป็นประเพณีของชาวเล หรือว่า ชาวน้ำ ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณหมู่เกาะแถบทะเลอันดามัน เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ  อันเกี่ยวเนื่องกับตำนาน ความเชื่อ ความเป็นมา วิถีชีวิต และทุกอย่างของชาวเลอูรักลาโว้ย

 

          พิธีลอยเรือ   จัดขึ้น 2 ครั้งต่อปีในวันพระจันทร์เต็มดวง  ของเดือน 6 และเดือน 11 ตามปฏิทินจันทรคติ จัดครั้งละ 3 วัน  เรือที่ใช้ในพิธีเรียกว่า ปลาจั๊ก หรือ เปอลาจั๊ก ทำจากไม้ตีนเป็ดและไม้ระกำ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ “ยาน” ที่จะนำวิญญาณของคนและสัตว์ไปอีกภพหนึ่ง   ไม้ระกำทำหน้าที่นำเคราะห์โศกโรคภัยของสมาชิกในแต่ละครอบครัว  เดินทางไปกับเรือ  และเครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ ที่จะให้วิญญาณบรรพบุรุษนำไปยังถิ่นฐานเดิม  ที่เรียกว่า ฆูนุงฌีรัย  บุคคลสำคัญที่สุดในพิธีลอยเรือ คือ โต๊ะหมอ เป็นผู้นำทั้งทางโลกและทางธรรม เป็นบุคคลที่ชาวเลศรัทธา มีความแม่นยำในพิธีการ และสื่อสารกับวิญญาณบรรพบุรุษได้

 

          ทั้งนี้ทางกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะดำเนินการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และเผยแพร่คุณค่าสาระความสำคัญ รวมทั้งให้การส่งเสริมสนับสนุนในด้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการดำรงรักษาต่อไป

………………………………………………………

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา เกษตร - อาชีพ

สตูล – ชวนนักท่องเที่ยวทำกระดาษสาจากใบเมล่อน  ที่วิสาหกิจชุมชน ฉิมเมล่อน  แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

สตูล-ชวนนักท่องเที่ยวทำกระดาษสาจากใบเมล่อน  ที่วิสาหกิจชุมชน ฉิมเมล่อน  แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

            นายไพรัช  สุขงาม  ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสตูล  พร้อมเจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่  หมู่ที่ 4  ตำบลทุ่งหว้า อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล  ซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชน ฉิมเมล่อน แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร    ที่พร้อมรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย และต่างชาติ เช่น กลุ่มชาวจีน เกาหลี และกลุ่มประเทศมาเลเซีย ที่เข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดสตูล   ก่อนมุ่งหน้าลงทะเลอันดามัน  สามารถแวะเที่ยวชม  ชิม ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเมล่อน และกิจกรรมที่เสริมเข้ามาให้นักท่องเที่ยวได้ทำ  เพื่อสันทนาการที่สวนเกษตร ฉิมเมล่อน

 

              วิสาหกิจชุมชน ฉิมเมล่อน เริ่มกิจการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน  2556 ด้วยความใส่ใจ ในการผลิตเป็นอย่างดีทุกขั้นตอน ตั้งแต่วันเพาะปลูก จนเก็บเกี่ยว ทำให้เมล่อนมีรสชาติหวาน ฉ่ำ จนปัจจุบันนี้เจ้าของสวน  หันมาทำประโยชน์จากส่วนต่างๆ โดยเฉพาะใบเมล่อน คือ นำไปทำแปรรูปเป็น กระดาษสาใบเมล่อน  โดยการทำ กระดาษสาจากใบเมล่อน  นำ-ใบเมล่อน 3 กิโลกรับ + โพแทสเซียมไฮด๊อกไซด์ 90 กรัม นำไปต้ม 6 ชั่วโมง จากนั้นนำไปปั่นละเอียด จนได้เนื้อยุ่ยๆ หลังจากนั้นนำไปกรองกับผ้าขาว – นำเนื้อยุ่ย 300 กรัม + น้ำ 23 ลิตร + สาร cmc 5 ช้อนโต๊ะ คนๆให้เข้ากันจะได้ เป็นน้ำ   ที่ผสมเสร็จพร้อมทำกระดาษสา

 

              นำแผ่นกรองสี่เหลี่ยมขนาดเท่ากับ กระดาษ A4  จุ่มลงไปในน้ำที่ผสมเสร็จแล้ว ค่อยๆยกให้สะเด็ดน้ำ ก่อนนำไปตากแดด เมื่อแห้งได้ที่ ก็จะได้กระดาษสาจากใบเมล่อน สามารถนำไปใช้ตกแต่งประดับเป็นของชำร่วย หรือการ์ดงานแต่ง  หรือนำไปตกแต่งอย่างอื่นได้

            นายชยพัทธ์ หล่อสุพรรณพร วิสาหกิจชุมชน ฉิมเมล่อน  ท่องเที่ยวเชิงเกษตร  กล่าวว่า ฉิมเมล่อน เป็นแหล่งเรียนรู้การท่องเที่ยวเชิงเกษตร  การปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน (ไฮโดรโปนิกส์) การผสมเกษรของเมล่อน มีร้านกาแฟ จำหน่ายผลิตภัณฑ์เมล่อนแปรรูป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมล่อนจีโอปาร์ค (อัตลักษณ์หนึ่งเดียวในโลก) อันหมายถึงการสลักลายจีโอปาร์คลงบนผิวผลเมล่อน

 

               ด้าน นายไพรัช  สุขงาม   ผู้อำนวยการ  การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสตูล   กล่าวว่า ที่นี่มีสินค้าการเกษตรที่ทำมาจาก เมล่อน มีโรงเรือนที่เพาะพันธุ์เมล่อน  และผลผลิตเมล่อน ที่น่ากิน มีทั้งเครื่องดื่มที่ทำจากเนื้อเมล่อน จนมาเป็นกิจกรรมการ  การสร้างการอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อม โดยเชื่อมโยงเรื่องการท่องเที่ยวได้ดี

           

          สำหรับนักท่องเที่ยวทั้งใน และต่างจังหวัดที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในจังหวัดสตูล   ต้องการที่จะมาร่วมกิจกรรมทำกระดาษสาใบเมล่อน หรือมาถ่ายรูปชมเมล่อน ซื้อของฝากจากสวนเมล่อน โทรติดต่อ 081 -839  8022 หรือ เพจ ททท.สำนักงานสตูล : TAT Satun Office   โทร 074-740 724

…………………………………………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา สัมภาษณ์พิเศษ-คอลัมน์นิสต์

สัมภาษณ์พิเศษกลุ่มออกแบบ นักสร้างสรรค์ และหน่วยงานสำคัญ   ที่ช่วยผลักดัน “มาแต่ตรัง” เทศกาลท่องเที่ยวสร้างสรรค์ ให้เกิดขึ้นได้

สัมภาษณ์พิเศษกลุ่มออกแบบ นักสร้างสรรค์ และหน่วยงานสำคัญ   ที่ช่วยผลักดัน “มาแต่ตรัง” เทศกาลท่องเที่ยวสร้างสรรค์ ให้เกิดขึ้นได้

          คุณเพ็ญศิริรัตน์ อาจทวีกุล ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง  งาน “มาแต่ตรัง” ดำเนินการภายใต้กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน จังหวัดตรัง โดยสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง คุณเพ็ญศิริรัตน์ อาจทวีกุล ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง เผยถึงแนวคิดในการจัดงานครั้งนี้ว่า “เราริเริ่มมาจากสำนวนโบราณของคนตรังที่มักพูดกันว่า “มาแต่ตรัง ไม่หนังก็โนราห์” ซึ่งเป็นสำนวนที่สื่อให้เห็นว่าเมืองตรังเป็นแหล่งศิลปะการแสดงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมโนราห์ หรือหนังตะลุง นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นด้วยว่าเมืองตรังเป็นเมืองแห่งศิลปิน ตัวคนตรังเป็นคนมีปฏิภาณไหวพริบ  มีความเป็นศิลปิน การจัดงานนี้ก็จะเหมือนเป็นการเปิดเวทีให้ศิลปิน นักสร้างสรรค์ รวมถึง  ผู้ประกอบการต่าง ๆ ได้มานำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนความมคิดเห็นซึ่งกันและกัน รวมถึงสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในจังหวัดตรังด้วย”

         “นอกจากนี้เราคาดหวังในเรื่องของการสร้างเครือข่ายกลุ่มนักสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดกลไกการทำงานร่วมกันในกลุ่มคนพื้นที่ และคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นในห้วงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองเก่า รวมถึงเกิดการต่อยอดธุรกิจใหม่ และมีการรับรู้การจัดการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองเก่าตรังเป็นวงกว้าง”

         ดร. สัญญา ศรีวิเชียร นายกเทศมนตรีนครตรัง    หนึ่งในหน่วยงานที่มีบทบาทอย่างมากในเทศกาลท่องเที่ยวสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรม “มาแต่ตรัง” คือเทศบาลนครตรัง โดยดร. สัญญา ศรีวิเชียร นายกเทศมนตรีนครตรัง กล่าวว่า “เทศบาลนครตรังเป็นหน่วยงานท้องถิ่น มีนโยบายและภารกิจเรื่องการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และแก้จน พัฒนาคน พัฒนาเมือง เรามุ่งพัฒนาเมืองทุกส่วนให้เกิดความยั่งยืน พัฒนาสวนสาธารณะให้พี่น้องได้พักผ่อนได้ออกกำลังกาย”

           “ผมต้องการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม เพื่อที่จะให้อนุชนรุ่นหลังมีความเข้าใจ อาทิ การคัดแยกขยะ การดูและแยกพลาสติกไม่ให้ลงแม่น้ำลำคลองที่จะไหลลงไปสู่ทะเล ซึ่งตอนนี้เราได้ดำเนินการทำ MOU กับมูลนิธิของเยอรมัน เราทำโครงการบำบัดน้ำเสีย ต้องการไม่ให้น้ำเสียลงคลองห้วยยาง ไม่ให้น้ำในครัวเรือนลงในคลองน้ำเย็น ทั้งสองคลองในเทศบาลนครตรัง เพื่อต้องการความยั่งยืนเช่นกัน ฉะนั้นเรามีของดีอยู่แล้ว เราก็พยายามให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคตในทุกเรื่อง”

“ซึ่งบัดนี้ น้ำในคลองห้วยยางก็ดูสะอาดมากยิ่งขึ้น คลองสวยน้ำใส สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแหล่งหนึ่งในทางวัฒนธรรม ในทางประวัติศาสตร์ของคลองห้วยยาง การที่เราจัดงานนี้เพื่อต้องการที่จะสืบสานพัฒนาเมืองเก่าของเรา พัฒนาสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น และช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย”

 

         พยุงศักดิ์ ช่องลมกรด กลุ่ม Back Yard Cinematic พูดถึงการมีส่วนร่วมในงาน “มาแต่ตรัง” ในครั้งนี้ว่า “Back Yard Cinematic เป็นกลุ่มฉายหนังนอกกระแส เหมือนเป็นตัวเลือกหนึ่งในการดูหนัง เพิ่มความหลากหลายในการดูหนัง ปกติในตรังจะมีโรงหนังที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าซึ่งฉายหนังตลาดอยู่แล้ว เราเป็นกลุ่มที่เพิ่มมุมมอง เพิ่มกิจกรรมในการดูหนังขึ้นมา อาจจะแตกต่างออกไป เราจะฉายหนังที่หาดูยากหน่อย พอดูจบแล้วเราก็จะคุยกันถึงความรู้สึกของคนดูว่ารู้สึกอย่างไร หรือมีอะไรไปทัชใจเขา เป็นความรู้สึกร่วมกับหนัง ปกติทุกคนดูจบก็จะลุกไป ของเราดูจบก็จะได้มาคุยกัน เป็นคอมมูนิตี้ใหม่ ๆ”

กลุ่มนักออกแบบสร้างสรรค์ หัว – Born 

      กลุ่มหัว – Born  (หัวบอน) คือ หัวที่เกิดความคิดสร้างสรรค์ให้วัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่เข้าถึงงานศิลปะและมีความคิดสร้างสรรค์ในจังหวัดตรังมากขึ้น คุณอัจจิมา รัตตมณี (ผึ้ง) ตัวแทนจากกลุ่มหัวบอนเล่าถึงกิจกรรมที่กลุ่มหัวบอนได้จัดขึ้นที่ ตึกตรังชาตะ (ตึกเก่า) โดยเริ่มตั้งแต่ 10.00 – 21.00 น. ตลอด 5วัน

       “งานนี้เราใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ตั้งแต่เริ่มเดินเข้ามาในตึกชาตะ เราจะมี Blind Test มีอาหาร มีเวิร์คชอปต่าง ๆ ที่ใช้วัสดุธรรมชาติ มีดินปั้นแปะเป็นผลงานสร้างสรรค์ของทุกคน และจะมีนิทรรศการภาพถ่ายในห้องมืด เพื่อให้คนที่ไปร่วมชมงานได้มีส่วนร่วมกับคนที่ถ่ายทอดภาพด้วย ส่วนฝั่งตรงข้ามตึกตรังชาตะเป็นปศุสัตว์ เราจัดเป็นตลาดนัดครีเอทีฟ เรียกว่า เถเพลย์ครีเอทีฟมาร์เก็ต แนวคิดคือ ต้องการนำวัสดุของผู้ประกอบการในตรังมาใช้ อาจจะเป็นสิ่งของที่ไม่ใช้แล้ว เราก็เอามาทำให้เป็นงานศิลปะแนวใหม่ ๆ เช่น กระดาษของสำนักพิมพ์ แกนผ้า ตระกร้าผลไม้ ตระกร้าขนมจีนที่วางทิ้งไว้ พอมาอยู่ในมือนักสร้างสรรค์ก็จะเกิดเป็นงานศิลปะ”

        “ตลาดนัดครีเอทีฟ เป็นการรวมตัวของผู้ค้าในจังหวัดตรังและจังหวัดใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็น สงขลา นครศรีธรรมราช ยะลา ปัตตานี ในงานมีส่วนการจัดแสดงของ Plan Toys (ผู้ผลิตของเล่นไม้เจ้าดังของไทย) มีเกมที่ทางหัวบอนจะจัดให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เข้ามาร่วมสนุกและมีการแสดงโชว์ทั้งเด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ มาเต้นลีลาศ รองเง็ง นอกจากนี้ยังมีหน่วยย่อยของนิทรรศการ เป็นเวิร์คชอป ลองเล่น. ลองทำ. ลองเถ เมืองประชา – ซน คนช่างเถ ที่เราอยากให้คนในจังหวัดตรัง และจังหวัดใกล้เคียง ได้มามีส่วนร่วม มาเล่น ให้เขารู้สึกสนุก เรามีเกมและของรางวัลเล็กๆ น้อยๆ ให้คนที่มาร่วมงานด้วย ทางกลุ่มทีมหัวบอนจึงอยากให้รู้ว่าจังหวัดตรังไม่ได้มีแค่ของกิน แต่เรามีงานศิลปะ งานแสดงที่คนรุ่นใหม่ต้องการถ่ายทอดให้ทุกคนได้ชมกัน”

กลุ่มนักออกแบบสร้างสรรค์ Urban Seeker

         กลุ่ม Urban Seeker คือกลุ่มที่ตามหาคุณค่าของเมืองว่าเมืองนี้มีคุณค่าอย่างไร เราได้ใช้ความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรมมาจัดการ เรียบเรียง เผยแพร่ให้คนอื่น ๆ ดู ทำให้คนที่สนใจ รักเมืองนี้ หรือมีงานอดิเรกได้ติดตามต่อได้

       

        คุณยิ่งยศ แก้วมี (กอล์ฟ) จากกลุ่ม Urban Seeker ให้ความเห็นถึงแนวคิดในการส่งเสริมการท่องเที่ยวว่า “ถ้าเราเป็นเจ้าบ้านที่ดี มีข้อมูลที่ดี ทุกคนสามารถเป็นไกด์ให้เมืองได้หมดทุกอย่าง ซึ่งจะมีเรื่องที่สงวนไว้ให้คนเมืองเท่านั้นที่จะรู้ ฉะนั้นเวลานักท่องเที่ยวมาก็ต้องตามหาคนเมือง เข้าถึงจะรู้เรื่องราวนั้น ๆ”

       งาน “มาแต่ตรัง” ในครั้งนี้ กลุ่ม Urban Seeker ได้นำเสนอผลงานสร้างสรรค์การท่องเที่ยวเมืองเก่า ในรูปแบบศิลปะการจัดวาง Installation Art อาทิ “ผักบุ้งริมคลอง ตัวแทนพืชผักริมคลองในอดีตประกอบกับชุมชนในอดีตเขาเลี้ยงหมู ชาวบ้านเขาก็จะนำ 2 อย่างนี้มาผสมกัน เกิดเป็นนวัตกรรมอย่างนึง เรียก “หัวหมูผักบุ้ง” ซึ่งน่าจะมีเฉพาะที่ตรังเท่านั้น” ผลงานสร้างสรรค์ชิ้นนี้สะท้อนถึงความมั่นคงทางอาหารที่เกิดจากความอุดมสมบูรณ์ของคลองห้วยยาง ในเมื่อครั้งอดีตคนตรังทับเที่ยงได้นำหมูที่เลี้ยง และผักบุ้งที่ปลูกริมคลอง มารังสรรค์อาหารร่วมกับน้ำราดสีแดงอันเป็นเอกลักษณ์ เพื่อเรียกร้องให้ผู้คนหันกลับมาทบทวนถึงความมั่นคงทางอาหารในชุมชนเมืองทับเที่ยงนี้อีกครั้ง

        “เรื่องที่สองคือ ไซดักทรัพย์ สามารถเห็นได้ตามร้านค้า เราจำลองมาเพื่อดักทรัพย์ให้กับเมือง ไซดักทรัพย์ ยังไปพ้องกับไซจับปลา ซึ่งในอดีตมีปลาชุกชมอยู่ในคลอง สะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของคลองห้วยยางในอดีตได้อีกด้วย”

          อีกไฮไลท์ของกลุ่ม Urban Seeker คือ Pocket Park พื้นที่นั่งเล่นสร้างสรรค์ที่เล่าผ่านภูมิปัญญาของทางเดินห้าฟุต (หง่อคาขี่) ใต้อาคารบ้านแถวตึกแถวในอดีต พื้นที่แห่งนี้บ่งบอกถึงความเข้าใจในสภาพบริบทของที่ตั้งอาคาร รวมทั้งเป็นหนึ่งในการแสดงออกถึงความใจกว้างของเจ้าของอาคารที่ให้ความสำคัญต่อประโยชน์แห่งสาธารณะในกรรมสิทธิ์ของตน เพราะแม้เป็นพื้นที่ใต้ที่ดินของคนอื่น แต่เราสามารถเดินผ่านได้ สามารถหลบแดดหลบฝนได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความใจกว้างของคนตรังนั่นเอง

ชมภาพบรรยากาศ “งานมาแต่ตรัง” ได้ที่เพจ https://facebook.com/TrangRenown

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

เดอบัว  คาเฟ่   บนพื้นที่ 3 ไร่  ถูกเนรมิตเป็นห้องรับแขกของชาวสตูล

เดอบัว  คาเฟ่   บนพื้นที่ 3 ไร่  ถูกเนรมิตเป็นห้องรับแขกของชาวสตูล

        หากคุณกำลังมองหาร้านอาหารสุดชิค  บรรยากาศสุดชิลล์  พื้นที่กว้างๆ  บรรยากาศโอบล้อมด้วยแมกไม้  และมีอาหารถูกปากให้เลือกมากมาย   ที่สำคัญอยู่ในตัวเมืองด้วย  ต้องร้านนี้เลย  เดอบัว  คาเฟ่ สตูล  พิกัดร้านตั้งอยู่ในพื้นที่  คลองขุด  ซอย2  อ.เมือง  จ.สตูล  ขับเลยป้ายแอดไวท์(สีฟ้าๆ) มานิดเดียว เลี้ยวเข้าซอยนิดนึงตามป้าย  ก็จะเจอร้านแล้ว  ที่จอดรถกว้างขวางมาก

        บนพื้นที่ 3 ไร่  ถูกจัดสรร  แบ่งไว้เป็นโซนธรรมชาติ มีดอกไม้  สระบัว ให้ได้ถ่ายรูปเช็คอินระหว่างรออาหาร  หากไปช่วงเที่ยงแนะนำโซนด้านใน  ที่ทางร้านตกแต่งได้เก๋ไก๋สไตล์นอดิกซ์  เป็นโซนคาเฟ่นั่งชิคๆ แอร์เย็นๆ   ส่วนด้านบนจะเปิดไว้สำหรับท่านที่ไม่ชอบความวุ่นวาย  เป็นอีกโซนที่น่านั่งมากๆ   มีระเบียงให้ได้ถ่ายภาพมุมสูงกันด้วย  นอกจากนี้ยังมีห้องละหมาด และมีห้องประชุมที่รองรับลูกค้าได้ถึง 40 ท่าน

       ส่วนอาหารนั้นเจ้าของร้านบอกว่า   ตั้งใจยกอาหารทะเลตันหยงโปมาไว้ที่ร้านนี้เลย  นอกจากนี้ยังมีเมนูอาหารพื้นถิ่นอย่าง  แกงตอแมะ  แกงส้มอ้อดิบ  และอาหารสากลอย่าง  สเต็กปลาเซลม่อน สเต็กพรีเมี่ยม อ้อยังมี   ข้าวซอยที่เจ้าของร้านบอกว่า  เป็นการนำวัฒนธรรมทางปักษ์ใต้รวมกับทางเหนือ  จึงได้ข้าวซอยที่อร่อย รสชาติเข้มเข้นด้วยกระรี่   เป็นอีกเมนูที่ถูกปากลูกค้า

  

         นายอาเล็น  ระสุโส๊ะ  เจ้าของร้าน กล่าวว่า  สำหรับร้านเดอะบัวจุดเริ่มต้นของเราต้องการให้ร้านนี้เป็น เหมือนห้องรับแขกของชาวสตูล  ซึ่งเราจะเต็มไปด้วยจุดเช็คอิน  มาร้านอาหารแต่เหมือนมาท่องเที่ยวด้วยเป็นบรรยากาศธรรมชาติที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองแค่ 5 นาที  ก็จะได้สัมผัสกับธรรมชาติวิวหลักล้านอาหารหลัก 100  นี่เป็นส่วนนึงของร้าน เดอบัว คาเฟ่  อาหาร ถือว่าตอบโจทย์สำหรับทุกคนที่มาที่นี่ คนที่ชอบอาหารที่เป็นจุดเด่นของจังหวัดสตูลทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นซีฟู้ดเราก็ยกทะเลตันหยงโปมาไว้ที่ร้านนี้   บางคนมาสตูลอยากได้อาหารธรรมชาติเราก็มีอาหารที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมมาด้วยนั่นก็คือแกงตอแมะ  แกงส้มออดิท  เป็นแกงส้มของคนสมัยก่อนในสตูล   สำหรับสายชิลล์  สายคาเฟ่   อยากกินสเต็กที่นี่สเต็กก็อร่อย  เป็นสเต็กแซลมอน   สเต็กเนื้อ   สเต็กพรีเมี่ยม  นอกจากนั้นสตูลเราเป็นบรรยากาศของท้องทะเล  หลายๆคนจากภาคเหนือนิยมมาเที่ยวที่สตูลเราก็มีข้าวซอยที่ถือว่าเป็นการผสมผสานระหว่างความเป็นปักษ์ใต้มีกะหรี่กับเข้าซอยและเป็นสูตรของเดอะบัวคาเฟ่

         ที่ร้านเดอบัว  เปิดตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง สี่ทุ่ม   ที่มาของเดอะบัวตรงนี้เป็นโซนธรรมชาติที่เข้ามาบุกเบิกมีท้องทุ่งนา   แต่ในท้องทุ่งนามีบัวซึ่งเป็นบัวพื้นเมืองเล็กๆ ดอกสีขาวเยอะมาก   เลยมองว่าในจังหวัดสตูลน่าจะนำเสนอมุมมองของต้นไม้พื้นเมืองท้องถิ่น  ที่เป็นลักษณะของบัว   ซึ่งหายากในสตูลเรา   จึงอยากรื้อฟื้นบัวพวกนี้กลับมา เลยเป็นที่มาของคำว่าเดอบัวคาเฟ่   ที่นี่จะมีห้องสำหรับประชุมและจัดเลี้ยงที่จุผู้คน 40 คนและมีโซนกาแฟต่างๆสำหรับคนที่เดินทางเข้ามาเพื่อที่จะได้สัมผัสกับกาแฟที่ราคาไม่สูงในบรรยากาศดีดี

         เจ้าของร้านบอกอีกว่า   Concept ของร้านอาหารเดอบัวคาเฟ่   เป็นคาเฟ่ที่ฮาลาล 100% เพราะตรงนี้เราต้องการเป็นห้องรับแขกให้ชาวสตูลทั้งหมด   โดยส่วนใหญ่พี่น้องจากมาเลเซียที่เดินทางเข้ามาในจังหวัดสตูล  ค่อนข้างจะเยอะมาก   ส่วนหนึ่งพี่น้องมาเลเซียเข้ามาคืออยากสัมผัสอาหารพื้นเมืองของชาวสตูล  

          อิ่มหนำสำราญกันแล้ว  เข้าห้องน้ำเติมแป้ง  ลิปติกก็สักนิด  ก็ชิคๆกันต่อกับมุมเช็คอินที่มีมากมาย ตั้งแต่หน้าประตูจนถึงภายในร้าน   สำรองจองโต๊ะ  097-470 6522  ร้าน เปิดทุกวันตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง สี่ทุ่ม    

………………………….

 

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

เปิดงาน Roadshow and Consumer Fair Andaman มุ่งหวังสร้างโอกาสและเพิ่มช่องทาง จําหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ สินค้าและบริการท่องเที่ยวชุมชน 

เปิดงาน Roadshow and Consumer Fair Andaman มุ่งหวังสร้างโอกาสและเพิ่มช่องทาง จําหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ สินค้าและบริการท่องเที่ยวชุมชน

         วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566   ณ ห้างเซ็นทรัลอุดรธานี อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี   ดร.สันติ ป่าหวาย หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในพิธีเปิดงาน“Roadshow and Consumer Fair Andaman สินค้าชุมชนและบริการท่องเที่ยวของเครือข่ายท่องเที่ยวระดับประเทศ” ครั้งที่ 3 โดยมี นายสุรศักดิ์  อักษรกุล  รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายสุรัตน์ จรณโยธิน ท่องเที่ยว และกีฬาจังหวัดกระบี่ พร้อมด้วยท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดอุดรธานี ท่องเที่ยวและกีฬากลุ่มจังหวัดภาคใต้ ฝั่งอันดามัน (จังหวัดสตูล ภูเก็ต ระนอง กระบี่ พังงา และตรัง) ผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหาร และผู้ประกอบการกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน

           ด้านนายสุรัตน์ จรณโยธิน ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า “Roadshow and Consumer Fair” มีจุดหมายในการเพิ่มจํานวนนักท่องเที่ยวในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันและอุทยาน ธรณีโลกสตูลตลอดจนพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT) และเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวและประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรอง และมุ่งหวังสร้างโอกาสและเพิ่มช่องทาง จําหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ สินค้าและบริการท่องเที่ยวชุมชน

           สําหรับการจัดงานมหกรรม “Roadshow and Consumer Fair Andaman สินค้าชุมชน และบริการท่องเที่ยวของเครือข่ายการท่องเที่ยวระดับประเทศ” ครั้งถัดไป จะถูกจัดขึ้นในภาคใต้ ระหว่างวันที่ 23 – 26 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

…………………….

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

 ททท.ชวนหรอยแรง ที่สตูลกับ 7 จุดเช็คอิน  ท่องเที่ยวชุมชนบากันใหญ่เที่ยวอิ่มจุใจในวันเดียว 

ททท.ชวนหรอยแรง ที่สตูลกับ 7 จุดเช็คอิน  ท่องเที่ยวชุมชนบากันใหญ่เที่ยวอิ่มจุใจในวันเดียว 

         การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสตูล นำโดยนายไพรัช   สุขงาม  ผอ.ททท.สำนักงานสตูล  จัดกิจกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยว  เพื่อกระตุ้นการเดินของนักท่องเที่ยว  ในกลุ่มสูงวัย  ด้วยการท่องเที่ยวเชิง  อาหาร Gastronomy Tourism  เพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดสตูล  ภายใต้ชื่อ  “หรอยแรง ที่สตูล”   ที่บ้านบากันใหญ่  ตำบลเกาะสาหร่าย   อำเภอเมือง จังหวัดสตูล  กับ 7 จุดเช็คอิน

          เริ่มการเดินทางไปยังเกาะเล็ก ๆ ที่ใกล้ฝั่งนั่งเรือเพียง 30 นาที  เพื่อสัมผัสความสวยงามของธรรมชาติ และวิถีชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านบนเกาะแห่งนี้  กับบรรยากาศที่นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสการเดินทางด้วยการนั่งซาเล้ง  เพื่อชื่นชมวิถีชีวิตชาวบ้านรอบเกาะ

          จุดแรกที่จะสัมผัสคือ  ธนาคารปูม้า  ของชุมชนบากันใหญ่   ที่นี่มีการอนุบาลปูม้า  มีการขยายพันธุ์ปูม้า ก่อนปล่อยคืนสู่ทะเล

         นอกจากนี้ยังได้ชมความมหัศจรรย์ของ   ต้นมะขามคู่นับร้อยปี ที่ตั้งเด่นตระหง่าน  อยู่คู่ชาวชุมชนบากันใหญ่มาอย่างยาวนาน  ให้ผลผลิตเก็บทานกันในหมู่บ้านกันจากอดีตจนปัจจุบัน

          นอกจากต้นมะขามคู่ใหญ่ยักษ์แล้ว   ที่นี่ยังมีรุกขมรดกของแผ่นดินที่ชวนกันมาลอดอุโมงค์ลำพูทะเล ขนาดใหญ่อายุมากกว่า 300 ปี ตามความเชื่อที่ว่า หากใครลอดผ่านอุโมงค์แล้วอธิษฐานจะได้ดั่งสมปรารถนา

          และแน่นอนเมื่อนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมทะเลที่เกาะสาหร่าย   นักท่องเที่ยวจะต้องให้ชิมลิ้มรส  อาหารทะเลสด ๆ โดยเฉพาะปูม้า  และปูพื้นถิ่นอย่างปูโบ้  และเมนูอาหารทะเลสด ๆ มากมายที่ท่องเที่ยวชุมชนปรุงพร้อมเสิร์ฟ

          บรรยากาศเช็คอิน   สันหลังมังกรแดง   อีกหนึ่งเช็คอินที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด ค้นพบโดยกรมทรัพยากรธรณี ช่วงน้ำลงผืนกรวดสีแดงจะค่อยๆ โผล่ขึ้นเหนือผืนน้ำ ส่วนหัวจะขนาบบนเกาะของชาวบ้าน ส่วนหางคดเคี้ยวพลิ้วไปตามสายน้ำเป็นแนวยาวยื่นลงไปในทะเล คล้ายกำลังเดินอยู่บนสันหลังมังกรสีแดงตัวใหญ่กลางทะเล ซึ่งเมื่อ 500 ล้านปีที่แล้ว ได้เกิดการระเบิดของภูเขาไฟ เมื่อมีความเย็นตัวลงได้กลายเป็นหินกรวดสีแดงทอดยาว 150 เมตร ส่วนหัวมังกร จะพาดบนแผ่นดินใหญ่ ส่วนปลายหางจะทอดยาวลงไปในทะเล สวยงามให้ตื่นตาตื่นใจ

          นอกจากนี้ยังมี  เกาะหอยขาว   ที่นี่มีสุสานหอยขาวทับถมสวยงามทั้งเกาะเกือบ 1 กม.  รอนักท่องเที่ยวมาสัมผัสความมหัศจรรย์ของที่นี่

          และอีกหนึ่งจุดเช็คอินที่สวยและไม่ควรพลาด คือจุดเช็คอิน    ต้นจามจุรี  ที่แผ่กิ่งก้านสาขาสวยงามจากธรรมชาติรังสรรค์ของให้ถ่ายรูปกันเต็มอิ่ม

          นายเจ๊ะอาหลี   สันโด   ประธานโฮมสเตย์บ้านบากันใหญ่  กล่าวว่า  การท่องเที่ยวบนเกาะแห่งนี้ยังได้รับการประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักน้อย อยากให้รัฐบาลช่วยส่งเสริมเป็นที่รู้จักเพื่อให้ท่องเที่ยวชุมชนได้มีโอกาสต้อนรับนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้นสนใจติดต่อที่เบอร์ 08-1541-9448, 08-9659-7194 (บังดุล, บังอารี)

          ขณะที่ นายไพรัช  สุขงาม  ผอ.ททท.สำนักงานสตูล กล่าวว่า  ท่องเที่ยวชุมชนบ้านบากันใหญ่มีความหลากหลายของธรรมชาติที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ เดินทางไปมาสะดวกง่าย พร้อมบริการนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนและชื่นชอบการท่องเที่ยวแนวนี้

…………………………

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

 กินเจทั้งปีสไตล์อาหารปักษ์ใต้  กับอาหารเจป้าใจ ที่สตูล

กินเจทั้งปีสไตล์อาหารปักษ์ใต้  กับอาหารเจป้าใจ ที่สตูล

          สำหรับท่านที่ชื่นชอบการรับประทานอาหารเจ  หรือต้องการจะละเว้นการทานเนื้อสัตว์ในช่วงวันสำคัญ ๆ ของตัวเอง หรือในช่วงเทศกาลถือศีลกินเจ  อยากจะแนะนำร้านนี้เลย  ร้านตั้งอยู่ที่ริมถนนภูมินารถภักดี  (วงเวียนหน้าป่าไม้) ตำบลพิมาน อำเภอเมือง จังหวัดสตูล

          ที่ร้านอาหารเจ  ป้าใจ ที่นี่ขายอาหารเจตอบโจทย์สายรักสุขภาพ และคนที่ถือศีลกินเจกับแบบตลอดทั้งปีกับอาหารเจที่มีมากกว่า 40 ชนิด  ทั้งเมนูจืด เมนูเผ็ดและเมนูปักษ์ใต้อย่างแกงไตปลา แกงส้ม คั่วกลิ้ง  ในราคาเพียงถุงละ 30 บาท หรือจะเป็นข้าวราดแกง 1 อย่าง 30 บาท 2 อย่างก็ 30 บาทเช่นกัน ส่วนราดแกง 3 อย่าง 40 บาทจะเห็นได้ว่าร้านนี้ลูกค้าแวะเวียนกันมาไม่ขาดสาย

          โดยเฉพาะเมนูพิเศษของทางร้านคือ ปลาเค็ม  ที่ทำเองแบบไม่เค็มเกินไป  ขายทั้งแบบสดชิ้นใหญ่ 50 บาทกลับไปทำทานเองที่บ้าน   และแบบทอดแล้วชิ้นละ 10 บาท นอกจากนี้ยังมีเมนูขนมจีน  ที่นี่ก็ขึ้นชื่อ  โดยน้ำแกงกะทิทำจากข้าวโพด  แต่จะมีขายเฉพาะวันพระเท่านั้น ทำให้มีลูกค้าทั้งเจ้าประจำและขาจร  จากปากต่อปากแวะเวียนกันมาไม่ขาดสาย ด้วยรสชาติที่อร่อย  ราคาถูก ที่สำคัญสะอาด

          นางสุธีรา  สุขแต้ม อายุ  65 ปีลูกค้าประจำที่ทานมาแล้ว 5 ปี บอกว่า  อาหารเจที่นี่ทานแล้วอร่อย  หลากหลายและที่สำคัญราคาไม่สูง  ทุกครั้งที่อยากทานอาหารเจก็จะมาทานที่นี่  โดยเมนูที่ชื่นชอบคือ ปลาเค็ม แกงส้ม แกงไตปลาเจ

นางนงนาถ    ทองมี    อายุ  60 ปี  เจ้าของร้านอาหารเจ ป้าใจ  บอกว่า ตนเป็นพี่สาวคนที่ 5 จากพี่น้องหมด 10 คน โดยผู้บุกเบิกร้านอาหารเจป้าใจ คือชื่อของพี่สาวคนโตที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ  แต่ตอนนี้ท่านเสียชีวิตแล้ว น้อง ๆ ก็ช่วยการสานต่อความตั้งใจยึดเป็นอาชีพ โดยมีน้อง ๆ ช่วยกันดูแลร้านที่เน้นความใส่ใจในทุกด้าน  ทั้งในเรื่องความอร่อย สะอาด ราคาที่ถูกและที่สำคัญคือ วัตถุดิบต้องเป็นธัญพืชแท้เพื่อตอบปัญหาสุขภาพได้

           ร้านอาหารเจป้าใจ  เปิดมากว่า 20 ปีแล้ว  จากลูกค้าทั่วไปจนมีลูกค้าประจำ ข้าราชการ หมอ ทนายความ เชื่อว่ามาจากการรับรู้ปากต่อปาก เพราะทางร้านไม่มีความถนัดในการใช้สื่อโซเซียล  โดยร้านจะเปิดตั้งแต่ตี 5 ครึ่ง  พร้อมคนใส่บาตรและปิดในช่วง  6 โมงเย็น (ในช่วงเทศกาลกินเจ)  หากเลยเทศกาลจะปิดในเวลาประมาณบ่าย  3 โมงครึ่ง

           อยากให้คนมาทานเจได้อิ่ม อร่อย สะอาด กับเมนูที่หลากหลายในสไตล์อาหารปักษ์ใต้เจ  คือหัวใจสำคัญของร้านอาหารเจ ป้าใจ

………………………

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

ลูกครึ่งมลายูไทยจีน ร่วมกันสืบสานวิถีการกิน แต่งกาย และภาษา  ผ่านงาน เปอรานากัน หรรษา

กลุ่มสตรี  ลูกครึ่งมลายูไทยจีนในพื้นที่จังหวัดสตูล  พร้อมใจกันใส่ชุดเคบายา  หลากหลายสีสัน  ซึ่งเป็นชุดพื้นเมืองในอดีต  ที่นิยมใส่ผ้าลูกไม้และผ้าถุงปาเต๊ะ   เป็นชุดที่มีการผสมผสานระหว่างชุดมลายูกับวัฒนธรรมไทยจีน   ที่สตรีในอดีตนิยมใส่   พร้อมใจกันเดินออกจากศาลเจ้าโป๊เจ๊เก้ง ต.พิมาน อ.เมือง  จ.สตูล   โดยทางชมรมเปอรานากันสตูล  จัดขึ้นโดยเดินขบวนไปตามท้องถนน ผ่านย่านเมืองเก่าพหุวัฒนธรรม   เพื่อรณรงค์อนุรักษ์  การใส่ผ้าพื้นเมือง  อีกทั้งเป็นการสืบสานวัฒนธรรมด้านความเป็นอยู่ในอดีตที่ดีงาม

 

สำหรับชมรมเปอรานากันสตูล  จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์  เพื่อการอนุรักษ์ สืบสาน และส่งเสริมวัฒนธรรมเปอรานากันสตูล  ด้วยความร่วมมือของสมาชิกและเครือข่าย ในการรวบรวม  และเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมเปอรานากันสตูล  ผ่านวิถีอาหารการกิน  การแต่งกายในอดีต  และภาษาพูด   ตลอดจนจัดกิจกรรมและพัฒนาพื้นที่   แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ระหว่างสมาชิก   และผู้สนใจในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสร้างคุณค่าแห่งการอยู่ร่วมกัน

 

นางสาว ศมานนท์  พฤกษ์พิเนต ปธ. ชมรมเปอรานากันสตูล  กล่าวว่า   ทางชมรมฯ ได้จัดงานราตรีเปอรานากันหรรษา ในห้วงเทศกาลไหว้พระจันทร์  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเป็นพื้นที่ในการสานรัก  สร้างความสามัคคีกลมเกลียวของชาวสตูล  โดยมีวิถีวัฒนธรรมเปอรานากันที่งดงามเป็นสื่อกลาง   เป็นงานเล็ก ๆ ที่ทุกท่านมีบทบาทเป็นเจ้าภาพร่วมในการจัดงาน

          สำหรับเปอรานากัน  หรือ บาบ๋า-ย่าหยา คือกลุ่มลูกครึ่ง มลายู-จีน ที่มีวัฒนธรรมผสมผสาน และสร้างวัฒนธรรมแบบใหม่ขึ้นมา  โดยนำเอาส่วนดี  ระหว่างจีนกับมลายูมารวมกัน โดยชื่อ “เปอรานากัน” มีความหมายว่า “เกิดที่นี่” สำหรับประเทศไทยส่วนใหญ่มีชาวเปอรานาอาศัยอยู่ในจังหวัดภูเก็ต  ตรัง  และสตูล

……..