Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

ถั่วลิสงแซมยาง สร้างเงิน! เกษตรกรสตูลเผยสูตรสำเร็จ ปลูก 2 ไร่ 3 เดือนรายได้งาม

ถั่วลิสงแซมยาง สร้างเงิน! เกษตรกรสตูลเผยสูตรสำเร็จ ปลูก 2 ไร่ 3 เดือนรายได้งาม

         เกษตรกรต้นแบบที่ จ.สตูล สร้างรายได้เสริมด้วยการปลูกถั่วลิสงแซมในสวนยางพารา  ที่บ้านอุใดใต้  หมู่ที่ 5 ตำบลอุใดเจริญ  อำเภอควนกาหลง  จังหวัดสตูล

         

         โดยนางสาวสุภาพ  ศรีทอง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ รักษาราชการแทนเกษตรอำเภอควนกาหลง พร้อม น.ส.จุฑามาศ เกียรติอุปถัมภ์  นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ และ นายธารสวาท พิมเสน  นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ลงพื้นที่เยี่ยมเกษตรกรและให้คำแนะนำการปลูกและดูแลพืชระยะสั้นที่ให้ผลผลิตเร็ว อย่างการปลูกถั่วลิสง

 

          ซึ่งเกษตรรายนี้คือ  นายนิรันดร  คลิ้งนวล อายุ 63 ปี  คุณลุงพร้อมภรรยา  เกษตรกรชาวบ้านอุใดใต้  ได้ปลูกถั่วลิสงแซมในสวนยางที่ยังไม่เปิดกรีด  เป็นทางเลือกที่ดีในการสร้างรายได้เสริม โดยใช้พื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์ระหว่างรอยางโตบนพื้นที่ปลูก 2 ไร่  โดยใช้เมล็ดพันธุ์เพียง 15 กิโลกรัมต่อไร่ มีเทคนิคการปลูกที่ไม่ยุ่งยาก เริ่มจากการไถดินและหว่านปูนขาวเพื่อป้องกันหนอน ปลูกโดยเว้นระยะห่าง 1 ไม้บรรทัด ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15 สองครั้งในช่วงอายุ 15 และ 30 วัน

         นางสาวสุภาพ ศรีทอง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ รักษาราชการแทนเกษตรอำเภอควนกาหลง กล่าวว่า   ถั่วลิสงเป็นพืชที่ปลูกง่าย ใช้เวลาสั้นเพียง 3 เดือนก็เก็บผลผลิตได้ และยังช่วยบำรุงดินอีกด้วย ที่สำคัญ ในพื้นที่ 1 ไร่ สามารถให้ผลผลิตถึง 300 กิโลกรัม ขายได้กิโลกรัมละ 50 บาท และหากแกะล้างเรียบร้อยราคาจะเพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 75 บาท สร้างรายได้เสริมให้เกษตรกรได้เป็นอย่างดี

 

         โดยรายได้จากการขายถั่วลิสงต่อไร่ 15,000 บาท   ในพื้นที่จำนวน 2 ไร่  คุณลุงนิรันดร สามารถสร้างรายได้ภายใน 3 เดือน 30,000 บาท ควบคู่ไปกับพืชชนิดอื่นที่ปลูกแซมไปพร้อมกันด้วย

 

         นอกจากนี้ หลังเก็บเกี่ยวถั่วลิสงแล้ว ยังสามารถปลูกพืชหมุนเวียนอื่น ๆ เช่น ข้าว ข้าวเหนียวดำ หรือข้าวโพด ข้าวไร่  ได้อีกด้วย เกษตรกรที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณลุงนิรันดร คลิ้งนวล โทร 083-656-1525 หรือที่สำนักงานเกษตรอำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล

……………………………………………

อัพเดทล่าสุด

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

เยาวชนสตูล ร่วมสืบสานวิถีชาวนาพื้นบ้าน เรียนรู้ตั้งแต่เก็บเกี่ยวถึงการแปรรูป

เยาวชนสตูล ร่วมสืบสานวิถีชาวนาพื้นบ้าน เรียนรู้ตั้งแต่เก็บเกี่ยวถึงการแปรรูป

         บรรยากาศอันสวยงามของทุ่งข้าวเหนียวดำพันธุ์พื้นเมืองที่กำลังออกรวงเต็มท้องทุ่ง พร้อมให้เก็บเกี่ยวบนพื้นที่ 30 ไร่ในแปลงยางพาราอายุไม่เกิน 3 ปี ณ บ้านนาโต๊ะขุน ตำบลแป-ระ อำเภอท่าแพ จังหวัดสตูล ได้กลายเป็นห้องเรียนธรรมชาติที่มีชีวิตสำหรับเยาวชนรุ่นใหม่

        วันนี้ (20 พ.ย. 67) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนพิมานพิทยาสรรค์จำนวน 38 คน ได้มีโอกาสเรียนรู้วิถีชีวิตชาวนาผ่านการแข่งขันเก็บเกี่ยวข้าวด้วย “แกะ” เครื่องมือพื้นบ้านที่สืบทอดมาแต่โบราณ โดยมีนายหร่ออ๊บ มุเส็มสะเดา นายอำเภอท่าแพ นางสาวกำไลทิพย์ เศรษฐ์ วิชัย เกษตรจังหวัดสตูล  นายอารีย์  โส๊ะสันสะ เกษตรอำเภอท่าแพ และชาวบ้านในชุมชนร่วมลงแขกเก็บเกี่ยวไปพร้อมกัน

         เพื่อสืบสานภูมิปัญญาการทำข้าวเม่า  หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ผู้ร่วมงานได้เรียนรู้กระบวนการทำข้าวเม่าแบบดั้งเดิม เริ่มจากการคั่วข้าวเหนียว ตำในครก และฟัดด้วยกระด้ง ก่อนนำไปแปรรูปเป็นเมนูพื้นบ้าน “ข้าวเม่าคลุกมะพร้าวอ่อน” ที่ใช้ส่วนผสมจากวัตถุดิบในท้องถิ่น 

         นางสาวชนกสุดา เจริญศิลป์  และนายธนกฤต เพชรสงค์  นักเรียน ชั้น ม.6  โรงเรียนพิมานพิทยาสรรค์     เปิดเผยว่า “แม้จะเป็นคนสตูลแต่ไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสกับการเก็บเกี่ยวข้าวมาก่อน การได้มาเรียนรู้วันนี้ทำให้ภูมิใจในภูมิปัญญาท้องถิ่นของเรา และเห็นศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดเป็นวิสาหกิจชุมชน”

 

        ด้าน นางรำไพ สตันน๊อด ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผลผลิตบ้านนาโต๊ะขุน เล่าถึงที่มาของโครงการว่า เกิดจากแนวคิดในการใช้ประโยชน์พื้นที่ว่างหลังการโค่นยางพารา โดยหันมาปลูกข้าวเหนียวดำเพื่อสืบสานวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชน

 

        ปัจจุบัน อำเภอท่าแพมีพื้นที่ปลูกข้าวรวม 3,048 ไร่ จาก 615 ครัวเรือน โดยเฉพาะในตำบลแป-ระมีพื้นที่ปลูกข้าว 1,576 ไร่ แบ่งเป็นนาข้าว 778 ไร่ และข้าวไร่ 798 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกแซมในสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน สะท้อนให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างวิถีเกษตรดั้งเดิมกับการเกษตรสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว

………………………

อัพเดทล่าสุด

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา เกษตร - อาชีพ

“ขาหมูจันทร์เจริญ” สูตรลับจากจีนสู่ร้านดังเมืองสตูล ทายาท วัย33 ปีบริหารด้วยใจรักงานบริการ ตอบโจทย์ทุกวัยสายหมู

“ขาหมูจันทร์เจริญ” สูตรลับจากจีนสู่ร้านดังเมืองสตูล ทายาท วัย33 ปีบริหารด้วยใจรักงานบริการ ตอบโจทย์ทุกวัยสายหมู

         เส้นทางความสำเร็จของร้านขาหมูจันทร์เจริญ  เริ่มต้นจากคุณแม่เพ็ญผู้ได้รับการถ่ายทอดสูตรอันเป็นเอกลักษณ์จากชาวจีนใน จ.พังงา  ก่อนจะมาเปิดร้านของตัวเองที่อำเภอควนกาหลง  เป็นเวลาเกือบ 10 ปี จนได้ย้ายเข้าสู่ตัวเมืองสตูล โดยแวะพักที่แฟลตตำรวจ 1 ปี ก่อนจะมาตั้งรกรากที่ปัจจุบันบนถนนยนตรการกำธร ตำบลคลองขุด อำเภอเมืองสตูล

 

          ปัจจุบัน กิจการได้ส่งต่อมาถึงรุ่นที่ 2 โดยคุณวันจันทร์  จีวตระกูล วัย 33 ปี ผู้มีใจรักในการค้าขายและการทำอาหาร ซึ่งเสริมอาชีพจากอาชีพกู้ชีพที่ภูเก็ต มาเป็นผู้บริหารร้านร่วมกับครอบครัว

         

         โดยจุดเด่นของร้านเคล็ดลับความอร่อยที่ใครก็ต้องลอง  กับเมนูขาหมูนุ่มละลายในปาก ที่ผ่านการตุ๋นนาน 3-4 ชั่วโมง – น้ำจิ้มซีฟู้ดรสเด็ดได้ใช้น้ำมะนาวสดๆ  และวัตถุดิบคุณภาพ  โดยปริมาณการขายต่อวัน:ขาหมู 8-10 ขา   หมูทอด 6 กิโลกรัม หมูกรอบ 10 กิโลกรัม

         สำหรับเมนูแนะนำและราคา   ข้าวขาหมูธรรมดา 60 บาท , ข้าวขาหมูพิเศษ 70 บาท , ข้าวหมูทอด 50 บาท ,ก๋วยจั๊บ (เพิ่มเครื่องใน) 50 บาท , ขาหมูล้วน (กล่อง) 100 บาท- คากิล้วน (กล่อง) 100 บาท  นอกจากนี้ยังมีเมนูอื่นๆ เช่น หมูกรอบ หมูแดง แกงส้ม และบริการจัดเลี้ยงแบบกล่อง

 

          ร้าน- เปิดบริการ: 07:30 – 15:00 น. หยุดทุกวันอาทิตย์   ที่ตั้ง: ถนนยนตรการกำธร (ตรงข้าม อบจ.สตูล) ต.คลองด อ.เมืองสตูล  – โทร: 098-369-2536, 096-792-7024  และ เร็วๆ นี้มีบริการสั่งอาหารออนไลน์

 

          สำหรับร้านขาหมูจันทร์เจริญ เป็นที่นิยมในทุกกลุ่มลูกค้า  ทั้งข้าราชการและลูกค้าขาจร ด้วยรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์และการบริการที่ใส่ใจ ทำให้ร้านนี้กลายเป็นหนึ่งในร้านขาหมูที่ได้รับความนิยมในจังหวัดสตูล

 

…………

อัพเดทล่าสุด

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา เกษตร - อาชีพ

“วันเดียวเที่ยวฉลุง” สัมผัส 6 จุด มนต์เสน่ห์วิถีชุมชนดั้งเดิมแห่งสตูล

วันเดียวเที่ยวฉลุง” สัมผัส 6 จุด มนต์เสน่ห์วิถีชุมชนดั้งเดิมแห่งสตูล

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสตูล ร่วมกับเครือข่ายผู้ผลิตข่าวสตูล เชิญชวนนักท่องเที่ยวร่วมสัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวสุดพิเศษในโครงการ “วันเดียวเที่ยวฉลุง” เส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่จะพาทุกท่านย้อนรอยประวัติศาสตร์ผ่าน 6 จุดหมายสำคัญของชุมชนฉลุง โดยการเดินทางด้วยรถส้มท้องถิ่นที่จะทำให้การท่องเที่ยวครั้งนี้มีเสน่ห์ยิ่งขึ้น

### ไฮไลท์การท่องเที่ยว 6 จุดหมายห้ามพลาด

**1. วัดดุลยาราม** – สักการะหลวงพ่อแก่ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง พระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามญาติที่แกะสลักจากไม้ด้วยฝีมือช่างล้านนา มีประวัติความเป็นมาอันน่าอัศจรรย์จากการลอยน้ำมาตามคลองฉลุง

**2. บ้านแตนาน** – คาเฟ่สุดคลาสสิกในบ้านโบราณอายุกว่า 80 ปี แหล่งรวมของสะสมโบราณที่หาชมได้ยาก เหมาะสำหรับการพักผ่อนและซึมซับบรรยากาศย้อนยุค

**3. พิพิธภัณฑ์บ้านมีชีวิต หมอฮวด** – แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์การแพทย์แผนโบราณของสตูล ผ่านเรื่องราวของหมอฮวด ฉัตรชัยวงศ์ หมอแผนโบราณผู้เป็นที่เคารพนับถือของชุมชน

**4. ชิมขนมตาหยาบ** – สัมผัสรสชาติขนมพื้นบ้านที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

**5. มัสยิดกลางฉลุง** – ศาสนสถานเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี สะท้อนความงดงามของวิถีชีวิตพหุวัฒนธรรม

**6. ร้านจูนีฮาลาล สตรีทฟู้ด** – อิ่มอร่อยกับอาหารท้องถิ่นรสเด็ด ทั้งจิ้มจุ่ม ย่างเนย โรตีนาน และชาปากีเครื่องดื่มขึ้นชื่อ

### การเดินทางและการติดต่อ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสตูล

– โทร: 074-740-724, 062-595-7748

– อีเมล: tatsatun@tat.or.th

– Facebook: ททท.สำนักงานสตูล : TAT Satun Office

– Line: tatsatun

– ที่อยู่: เลขที่ 52 ถนนคูหาประเวศน์ ตำบลพิมาน อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล 91000

ร่วมสัมผัสมนต์เสน่ห์แห่งวิถีชีวิตดั้งเดิม เรียนรู้ประวัติศาสตร์ และลิ้มรสอาหารท้องถิ่นในทริปเดียว กับ “วันเดียวเที่ยวฉลุง” เส้นทางท่องเที่ยวที่จะทำให้คุณหลงรักเสน่ห์ของสตูลอย่างไม่รู้ลืม

อัพเดทล่าสุด

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา เกษตร - อาชีพ

สตูล-สืบสานขนมพื้นบ้านโบราณ จนเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ชุมชน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหัวเขาพัฒนาสูตรดั้งเดิมสู่ธุรกิจยั่งยืน

สตูล-สืบสานขนมพื้นบ้านโบราณ จนเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ชุมชน กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหัวเขาพัฒนาสูตรดั้งเดิมสู่ธุรกิจยั่งยืน

          ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหัวเขา หมู่ที่ 9 ตำบลฉลุง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล แม่บ้านกว่า 10 คน ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มฯ กำลังร่วมแรงร่วมใจกันทำขนมตามออเดอร์ลูกค้า โดยเฉพาะขนมไข่กรอบและขนมโกยบังเกต ที่ส่งกลิ่นหอมหวานชวนน้ำลายสอ

 

         ขนมไข่กรอบ หนึ่งในผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของกลุ่ม ใช้วัตถุดิบหลักเพียง 3 อย่าง ได้แก่ แป้งสาลี 700 กรัม ไข่ไก่ 10 ฟอง ไข่เป็ด 5 ฟอง และน้ำตาลทรายขาว 900 กรัม วิธีทำเริ่มจากตีไข่กับน้ำตาลให้ขึ้นฟู ใส่แป้งคลุกเคล้าให้เข้ากัน ก่อนหยอดแป้งในพิมพ์และอบ 15 นาที จนได้ขนมไข่หอมกรุ่น มีทั้งพิมพ์รูปปลาราคาชิ้นละ 5 บาท และพิมพ์รูปมะเฟืองชิ้นละ 3 บาท

 

          ส่วนขนมโกยบังเกตหรือขนมผิง อีกหนึ่งเมนูยอดนิยม ใช้แป้งมันสำปะหลัง 800 กรัม แป้งสาลี 200 กรัม ไข่ไก่ 5 ฟอง น้ำตาลทรายขาว 1.5 กิโลกรัม และน้ำกะทิ 1 กิโลกรัม นำไปเคี่ยวจนข้น ผสมแป้ง พิมพ์เป็นรูปดอกไม้ และอบจนสุกหอม เหมาะรับประทานคู่กับชากาแฟยามสาย ราคาชิ้นละ 3 บาท

 

         นางปรีดะ อายาหมีน ประธานกลุ่มฯ เล่าว่า กลุ่มก่อตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2548 จากการรวมตัวของสตรีในหมู่บ้าน 15 คน เริ่มจากการผลิตขนมพื้นเมือง 2-3 ชนิด ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการ จนพัฒนาผลิตภัณฑ์เพิ่มเป็น 13 ชนิด ปัจจุบันมีสมาชิก 12 คน มีรายได้เฉลี่ยคนละ 4,000-5,000 บาทต่อเดือน

 

       “นอกจากสร้างรายได้ให้สมาชิกแล้ว กลุ่มยังสนับสนุนชุมชนด้วยการรับซื้อไข่ไก่และไข่เป็ดจากคนในพื้นที่” นางปรีดะกล่าว

 

        ด้านนางสาวณฉัตร ยุงคุณ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองสตูล กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้จัดอยู่ในระดับดี มีจุดเด่นที่ผลิตภัณฑ์หลากหลาย เป็นขนมพื้นเมืองที่มีเอกลักษณ์และรสชาติเฉพาะตัว ได้รับมาตรฐานจนเป็นที่ไว้วางใจของผู้บริโภค

 

          สำหรับขนมของกลุ่ม  มีหลายชนิดอย่าง  ขนมไข่กรอบ  ขนมโดนัท  คุกกี้สิงค์โปร์  ขนมโกยบังเกตหรือขนมผิง  ขนมเสี้ยวจันทร์  ขนมมกระหรี่ปั๊บอบ  ขนมเจาะหู  ขนมไข่เต่า  ขนมผูกรัก โรตีกาปาย และบุหงาบูดะ

 

        ผู้สนใจสามารถสั่งซื้อขนมได้ในราคาถุงละ 35 บาท หรือ 3 ถุง 100 บาท และถุงละ 50 บาท นอกจากนี้ยังรับจัดกระเช้าราคาเริ่มต้น 500 บาท มีขนมให้เลือกมากกว่า 10 ชนิด สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 086-9554522 หรือ 083-1682878

………………….

อัพเดทล่าสุด

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา เกษตร - อาชีพ

“ตาแปแยะ”  ขนมรับแขกบ้านแขกเมือง สูตรเข้มข้นฝีมือแม่บ้านชายแดนไทยมาเลเซีย

สตูล – “ตาแปแยะ”  ขนมรับแขกบ้านแขกเมือง สูตรเข้มข้นฝีมือแม่บ้านชายแดนไทยมาเลเซีย ขนาดประเทศต้นตำรับยังแห่ซื้อเป็นของฝาก หาทานยากมีที่ชุมชนรักษ์ท่องเที่ยวตำมะลัง จ.สตูล

           ที่จังหวัดสตูล  จะพาไปรู้จักขนมพื้นถิ่นที่หาทานยาก  ขนมที่มีลักษณะคล้ายข้าวเกรียบทอด แต่มีถั่วลิสงตกแต่งบนหน้าและมีปลาจิ้งจั้ง  ชาวบ้านเรียกขนมนี้ว่า  “ตาแปแยะ” เป็นชื่อเรียกภาษามลายูแปลว่าเครื่องเทศเยอะ

 

          ที่หมู่บ้านริมชายฝั่งตำบลตำมะลัง หมู่ที่ 3 อำเภอเมืองสตูล (ชายแดนไทยมาเลเซีย)  ซึ่งเป็นที่ตั้งของบ้านนางยาตี  นาวา อายุ 46 ปี  สมาชิกวิสาหกิจชุมชนรักษ์ท่องเที่ยวตำมะลัง  พร้อมด้วยทุกคนในครอบครัวกำลังเร่งมือทำขนมพื้นเมือง  ตาแปแยะ  เพื่อให้ทันตามออเดอร์ของลูกค้า 

 

         โดยส่วนผสมของขนมชนิดนี้ประกอบไปด้วย  แป้งข้าวเจ้าผสมกับไข่ไก่  น้ำปูนใสสะอาด  พริกแห้งบดละเอียด  เครื่องเทศ พริกไทย ข้าวเล็กๆ ข้าวใหญ่นำส่วนผสมทั้งหมดคลุกเคล้ากันแล้วตักใส่พิมพ์แต่งหน้าด้วยถั่วลิสง และปลาจิ้งจั้ง นำมาทอดในน้ำมันที่ร้อนกำลังดี  โดยการทำขนมในแต่ละครั้งจะใช้ส่วนผสมครั้งละ  7 กรัมเมื่อหมดก็จะปรุงขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ได้ขนมที่มีคุณภาพดี

 

        การทำขนมครั้งละ 7 กรัมจะได้ขนมประมาณ 5-6 ถุง (ถุงละ 35 ชิ้น) ขายราคาถุงละ 50 บาท โดยวันนึงจะทำ 2 รอบเป็นธุรกิจในครัวเรือน  มีลูกสาวและสามีของนางยาตี มาช่วยทอดและสามารถทำงานแทน  ฝีมือไม่แพ้คุณแม่เลย

            นางยาตี  นาวา เจ้าของสูตรขนมตาแปแยะ  บอกว่า  ขนมนี้ทำขายเป็นอาชีพที่สองของครอบครัว รองจากขายโรตีอาหารเช้าและอาหารเย็น   ซึ่งจริงแล้วสูตรขนมได้มาจากเพื่อนอีกทอดหนึ่ง  ที่ไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียเมื่อ 8 ปีที่แล้วมาปรับสูตรให้เข้มข้นทำขายตามออเดอร์   เป็นขนมพื้นเมืองที่ทำขายทานเจ้าของในตำมะลัง  ส่งขายให้นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวไทยมาเลเซีย

 

            และนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย ต่างชาติที่มาเที่ยวชุมชนตำมะลังได้ชิมลิ้มรสชาติที่มีส่วนผสมของเครื่องเทศได้รสชาติเฉพาะตัว ของถั่วลิสงและปลาจิ้งจั้งที่อร่อยกรอบ เป็นของฝากและของทานเล่น   จะขายดีในช่วงเดือนฮารีรายอ  มีออเดอร์เข้า 200 ถึง 400 ถุง  สนใจโทร.0949615776 ,0950251108

 

          นางสาวรุ่งญาดา  เจริญทรัพย์  เลขาวิสาหกิจชุมชนรักษ์ท่องเที่ยวตำมะลัง บอกว่า  ทุกครั้งที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวชุมชนจะนำกลุ่มแม่บ้านไปทำโชว์และชิมกันเลย ได้รับความสนใจกับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก หลายคนติดใจซื้อเป็นของฝากกับไปจำนวนมาก โดยเฉพาะต้นกำเนิดของขนมที่มาจากมาเลเซีย เมื่อมาชิมสูตรใหม่ของไทยหลายคนติดใจกันเป็นแถว 

………………..

อัพเดทล่าสุด

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา เกษตร - อาชีพ

สตูลกลุ่มธนาคารปูม้าบ้านทุ่งริ้น  ต่อยอดสินค้าชุมชนสู่การเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนนกอาหารท้องถิ่นสร้างรายได้เพิ่ม หลังพบปริมาณในธรรมชาติลดน้อยลง

สตูล-กลุ่มธนาคารปูม้าบ้านทุ่งริ้น  ต่อยอดสินค้าชุมชนสู่การเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนนกอาหารท้องถิ่นสร้างรายได้เพิ่ม หลังพบปริมาณในธรรมชาติลดน้อยลง

          ที่ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบ้านทุ่งริ้น  หมู่ที่ 1 ตำบลสาคร  อำเภอท่าแพ  จังหวัดสตูล  โดยชาวบ้านได้เข้าร่วมโครงการนวัตกรรมธนาคารปูม้าสู่การจัดการทรัพยากรชายฝั่งตามแนวทางเศรษฐกิจสีน้ำเงินในจังหวัดสตูล โดยได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยและนวัตกรรมจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ในการส่งเสริมอาชีพและการจัดการทรัพยากรชายฝั่งที่ยังยืน

 

         นายดาด  ขุนรายา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 (ปธ.ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบ้านทุ่งริ้น)  บอกว่า  จุดเริ่มต้นมาจากชุมชนได้ทำธนาคารปูม้า  ที่มีชาวประมงพื้นบ้าน 20 คน  มาร่วมกันเป็นสมาชิก โดยทุกคนได้เล็งเห็นความสำคัญของทรัพยากร ของการ ดำเนินการโครงการฯ  และได้รับการสนับสนุน ภายใต้โครงการนวัตกรรมธนาคารปูม้า สู่การพัฒนาทรัพยากรชายฝั่งตามแนวทางเศรษฐกิจสีน้ำเงินในจังหวัดสตูล   โดยมี ผศ.ดร.ทัศนภา ว่องสนั่นศิลป์  เป็นหัวหน้าโครงการที่ได้รับทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

 

         ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 (ปธ.ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบ้านทุ่งริ้น)  บอกด้วยว่า จากนั้นได้ทำต่อมาเรื่อย ๆ  และมีการต่อยอดให้สมาชิกในกลุ่มมีรายได้เพิ่มจนเป็นที่มาของโครงการเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนนก    โดยได้เล็งเห็นว่าตลาดน่าจะไปได้เพราะขายในพื้นที่ก็ไม่เพียงพอ  อีกทั้งในธรรมชาติเริ่มหาน้อยเต็มที  และยังหาทานยาก    โดยข้อดีของการเพาะเลี้ยงพบว่าสาหร่ายไม่มีทราย  หรือเศษดินปะปน  เพียงแค่นำมาล้างและรับประทานได้เลย  ถ้าเป็นสาหร่ายที่ขึ้นตามธรรมชาติจะมีเม็ดทรายปะปนและมีกลิ่นคาวของน้ำ   แต่การเพาะเลี้ยงลักษณะนี้รับประทานได้อย่างอร่อย  สามารถมีทานได้ตลอดทั้งปี อนาคตจะต่อยอดขยายให้กับสมาชิกเพิ่มอีก  ดูแล้วทิศทางเป็นไปได้ โดยวันนี้เป็นเพียงตัวอย่างก็ได้รับการตอบรับอย่างดี เชื่อว่าจะเพิ่มช่องทางรายได้ให้กับชาวประมงพื้นบ้านได้เป็นอย่างดี 

 

         นอกจากที่นี่จะศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบ้านทุ่งริ้น  และเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนนกแล้ว ทางกลุ่มฯยังเป็นแหล่งท่องบเที่ยวชุมชนมีแพกลางน้ำของชุมชนบริหาร นักท่องเที่ยวสายแคมปิ้งในคลองทุ่งริ้น ได้ดื่มด่ำธรรมชาติ และทานอาหารทะเลสด ๆตามฤดูกาลด้วย   หากสนใจสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที  โทร 063-7302873

 

         การเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนนก ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบ้านทุ่งริ้น  หมู่ที่ 1 ตำบลสาคร  อำเภอท่าแพ  ได้เพาะเลี้ยงจำนวน 10 ตะกร้า โดยใช้ออกซิเจนในการดูแลสาหร่ายอยู่ภายใต้โรงเรือน  สมาชิกได้กลุ่มจะได้รับการสร้างองค์ความรู้ก่อนเลี้ยง โดยการให้ปุ๋ย  วัดค่าน้ำเพียง  2 อาทิตย์ก็สามารถเก็บขายได้แล้ว 

 

         ทางกลุ่มจะหมุนเวียนโดยเก็บขาย  อาทิตย์ละครั้ง /เก็บครั้งละ 2 ตะกร้าได้ 1 กิโลกรัม  ขายกิโลกรัมละ 200 บาท สาหร่ายขนนกนอกจากจะทานสดกับน้ำจิ้มซีฟู้ดแล้ว  ยังสามารถไปปรุงเมนูยำสาหร่ายขนนก   สลัดสาหร่ายขนนก   ข้าวเกรียบสาหร่ายขนนกได้อีกด้วย 

 

        ลักษณะเฉพาะของสาหร่ายขนนกคือ จะตายง่ายเมื่อถูกน้ำจืด จึงควรรับประทานสด ๆ ทันทีที่ขึ้นจากน้ำไม่นานเพราะจะเสียรสชาติความอร่อย

…………………………………

อัพเดทล่าสุด

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

เกษตรสตูล ส่งมอบสารชีวภัณฑ์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสตูล

เกษตรสตูล ส่งมอบสารชีวภัณฑ์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสตูล

          วันที่ 8 ตุลาคม 2567 นางสุดา ยาอีด เกษตรจังหวัดสตูล พร้อมด้วย นางสาวพรรษกร จันทร์แก้ว  หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช และเจ้าหน้าที่กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดสตูล ส่งมอบสารชีวภัณฑ์ ได้แก่ เชื้อราไตรโคเดอร์มา (เชื้อสด) และหัวเชื้อไตรโคเดอร์มา โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริม และเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดสงขลา จำนวน 420 กิโลกรัม และหัวเชื้อไตรโคเดอร์มา จำนวน 240 ขวด เพื่อใช้ควบคุมโรครากเน่า โคนเน่า หลังน้ำลด อีกทั้งได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ผัก และถั่วฝักยาวไร้ค้าง (พันธุ์สุรนารี 1) จากศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 2 จังหวัดตรัง

 

        ซึ่งได้ส่งมอบให้แก่สำนักงานเกษตรอำเภอ ทั้ง 7 อำเภอในจังหวัดสตูล เพื่อให้เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ นำมอบให้แก่เกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติ (อุทกภัย) ด้านพืช ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่จังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา โดยส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และเกิดน้ำท่วมขัง ในพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยจังหวัดสตูลมีเกษตรกรผู้ประสบภัย จำนวน 2,281 ครัวเรือน พื้นที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 9,422 ไร่ และพื้นที่คาดว่าจะเสียหาย จำนวน 1,664 ไร่

          ทั้งนี้ เกษตรกรผู้ปลูกพืชที่ได้รับผลกระทบ สามารถติดต่อขอรับการสนับสนุนเชื้อราไตรโคเดอร์มาเพื่อควบคุมโรครากเน่า โคนเน่า และขอรับคำปรึกษาด้านการป้องกันกำจัดโรคพืชได้ ณ ศูนย์บริการเกษตรพิรุณราชสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้านท่าน

อัพเดทล่าสุด

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล-อดีตผู้รับเหมาก่อสร้าง  ชีวิตพลิกผัน  ทำไม้กวาดขาย  สู้ชีวิตไม่ย่อท้อ

สตูล-อดีตผู้รับเหมาก่อสร้าง  ชีวิตพลิกผัน  ทำไม้กวาดขาย  สู้ชีวิตไม่ย่อท้อ

         นายไตรรงค์   คงปาน วัย 57 ปี อดีตผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่   ผู้ที่ชีวิตพลิกผันหลังประสบอุบัติเหตุขี่รถตกหลุมจนร่างกายไม่เหมือนเดิม  แต่ด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง เขาเลือกที่จะลุกขึ้นสู้ทันทีที่ร่างกายดีขึ้น  ด้วยการผันตัวมาทำไม้กวาดขาย  โดยจำวิธีการจากคนอื่นแล้วมาทดลองทำเองจนสร้างรายได้

        “ผมไม่อยากเป็นภาระให้ใคร”   นายไตรรงค์กล่าวขณะสาธิตการทำไม้กวาดทางไม้ไผ่จากไม้ไผ่สีสุก   ที่กระท่อมหลังเล็กสร้างขึ้นอย่างง่ายเพื่ออยู่อาศัย   ในที่ดินของน้องสาวย่านซอยคลองขุด 19 ( หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าซอยน้องแป้น)  หมู่ที่ 7 เขตเทศบาลตำบลคลองขุด  อำเภอเมือง จังหวัดสตูล

          ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น  เขาเลือกเชื่อว่าจะช่วยสร้างรายได้แม้ไม่มาก แต่ไม่เป็นภาระน้องสาวหรือภาระใคร  โดยใช้ไม้ไผ่สีสุกที่มีคุณสมบัติโค้งงอได้ดีมาทำเป็นซี่ไม้กวาด   ส่วนด้ามจะใช้ไม้ไผ่ที่มีเปลือกหนาเพื่อความแข็งแรง เพื่อจำหน่ายในราคาย่อมเยา   โดยไม้กวาดด้ามเล็กราคาขายเพียง  50 บาท ส่วนด้ามใหญ่ตามความสูงของลูกค้าราคาอยู่ที่  80 บาท

         จุดเริ่มต้นของธุรกิจเล็ก ๆ  นี้ เริ่มจากการทำตัวอย่างเพียง 2 อันไปเสนอตามร้านค้า  เมื่อได้รับการตอบรับที่ดี จึงรับออร์เดอร์ครั้งละ 10 อัน  ใช้เวลาประมาณ 10-15 วันในการผลิตและส่งมอบสินค้าแต่ละรอบ

          นอกจากการทำไม้กวาดแล้ว    นายไตรรงค์  เขายังใช้พื้นที่ว่างของน้องสาวเพื่อปลูกผักสวนครัว  โดยตั้งใจแบ่งปันให้น้องสาวและเพื่อนบ้านได้ทานโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย  สะท้อนให้เห็นถึงน้ำใจที่มีต่อชุมชน แม้สภาพร่างกายยังไม่สมบูรณ์นักจากอุบัติเหตุ

          นายชัยณรงค์  ไชยจิตต์  ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองสตูลในพื้นที่  เล่าว่า   “ผมติดตามชีวิตของเขามากว่า 2 ปี เห็นถึงความมุ่งมั่นและการเป็นคนที่มีน้ำใจ แม้สภาพร่างกายจะไม่สมบูรณ์ แต่ก็ไม่เคยย่อท้อ” พร้อมเสริมว่าในอนาคตอยากผลักดันให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ที่กำลังท้อแท้ได้เห็นว่า ชีวิตยังมีหนทางให้สู้เสมอ

          การไม่ย่อท้อต่อโชคชะตาของชีวิตที่พลิกพัน ชั่วข้ามคืนจากที่เคยมีเงิน  มีงาน มีครอบครัว  มีลูกน้องจำนวนมาก  แม้วันนี้จะเหลือเพียงน้องสาวกับแม่บังเกิดเกล้า  แต่เขาก็ไม่คิดจะให้เป็นภาระกับใคร  พอใจกับรายได้ที่ทำด้วยน้ำพักน้ำแรง  มีข้าวกิน  มีเงินจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ  และได้แบ่งปันสังคมบ้างตามกำลัง     โดยเฉพาะเงินหมื่นบาทที่ได้รับจากรัฐบาลมาก็ตั้งใจจะเอาไปต่อยอดธุรกิจ ซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อขยายการผลิตไม้กวาดต่อไป

         ผู้สนใจสามารถติดต่อสั่งซื้อไม้กวาดได้ที่ โทร. 093-054-1664

…………………………………………….

อัพเดทล่าสุด

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

เทคโนโลยีพร้อมใช้สู่แก้ปัญหาให้กับเกษตรกรผู้เพาะเห็ดจังหวัดสตูล

เทคโนโลยีพร้อมใช้สู่แก้ปัญหาให้กับเกษตรกรผู้เพาะเห็ดจังหวัดสตูล

          ที่ฟาร์มเห็ดบ้านช่าง ตำบลอุไดเจริญ  อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ซึ่งมีนายทวีศักดิ์  เรหนูกลิ่น (เกษตรกร) เป็นหนึ่งในเกษตรกรพื้นที่โมเดลที่มีการส่งเสริมอาชีพด้วยการใช้โรงเรือนแบบอัจฉริยะ  จากทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จ.สงขลา  ซึ่งวันนี้ ผศ.ดร.อภิรักษ์  สงรักษ์   รองอธิการบดี  มทร.ศรีวิชัยพร้อมด้วยคณะวิศวกรรมศาสตร์ , อ.ดีน อาจารย์มทร.ศรีวิชัย หัวหน้าโครงการวิจัยฯ

 

          ลงพื้นที่ติดตามความก้าวโครงการ พบว่ากระบวนการผลิตก้อนเห็ดยังคงต้องมีการพัฒนา และ นำเทคโนโลยีควบคุมอุณหภูมิการบ่มเพาะก้อนเห็ดรวมทั้งการใช้เทคโนโลยีราคาย่อมเยาว์มาใช้เพื่อทุ่นแรงกรณีมีความต้องการของที่มากขึ้น  ส่วนการใช้เทคโนโลยีแบบอัจฉริยะมาควบคุมอุณหภูมิโรงเรือนและก้อนเห็ดในสภาพอากาศที่แปรปรวนของพื้นที่ จ.สตูล  สามารถสร้างผลผลิตให้ออกอย่างสม่ำเสมอ และตรงความต้องการของตลาด

 

          ผศ.ดร.อภิรักษ์  สงรักษ์   รองอธิการบดี  มทร.ศรีวิชัย  บอกว่า   ส่งเสริมอาชีพการใช้โรงเรือนแบบอัจฉริยะทางมหาวิทยาลัยได้เข้ามาช่วยดูเรื่องกระบวนการผลิตและพบว่า การพัฒนาก้อนเห็ดของจังหวัดสตูลมีปริมาณเพียงพอที่จะตอบโจทย์โจทย์ก้อนเห็ดและการปลูกเห็ด  ต่อไปคือทำอย่างไรให้ก้อนเห็ดมีคุณภาพก็ให้ลูกค้าได้ก้อนเห็ดมีคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ พบว่าที่นี่ยังต้องการความรู้การจัดการก้อนเห็ดอย่างมีคุณภาพในช่วงบ่มก้อนเห็ดหลังสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป  การใช้เครื่องทุ่นแรงในกรณีมีความต้องการมาก  ที่เป็นเทคโนโลยีอย่างง่ายไม่ได้แพงเกินไป  มาปรับใช้ให้เหมาะกับพื้นที่  ปัญหาที่ต้นน้ำเรื่องของ supply คนปลูกและก้อนเห็ดเป็นการเตรียมความพร้อมหากต้องเจอกับตลาดใหญ่  ความต้องการที่มากขึ้นเกษตรกรสามารถตั้งรับได้  แล้วสามารถเชื่อมโยงกับ B2B หรือ b2c ที่เชื่อมโยงมาอย่างต่อเนื่องได้  นั่นหมายความว่าความมั่นคงของอาชีพครัวเรือนและรายได้ที่เราคาดหวังมีอย่างต่อเนื่องและมั่นคง  

 

          เกษตรกรเพาะเห็ดสตูลพลิกวิกฤตด้วยเทคโนโลยี หลังขาดทุนกว่า 5 หมื่นจากสภาพอากาศแปรปรวน

เกษตรกรผู้เพาะเห็ดในจังหวัดสตูลเผยความสำเร็จหลังนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในการผลิต แก้ปัญหาผลผลิตไม่สม่ำเสมอจากสภาพอากาศแปรปรวน พร้อมวางแผนขยายกำลังการผลิตรองรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น

        นายทวีศักดิ์ เรหนูกลิ่น เกษตรกรผู้เพาะเห็ดในจังหวัดสตูล เปิดเผยว่า ฟาร์มเห็ดของตนประสบปัญหาขาดทุนกว่า 50,000 บาทในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัดและแห้งแล้ง ส่งผลให้การผลิตไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในขั้นตอนการบ่มก้อนเห็ดที่ใช้เวลานานขึ้นจาก 30 วัน เป็น 45 วัน

        “ผมแบ่งการผลิตเป็น 2 ส่วน คือ การผลิตก้อนเห็ดและการเพาะดอกในโรงเรือน ซึ่งได้นำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ที่ 30-32 องศา และรักษาความชื้นให้สม่ำเสมอ ทำให้มั่นใจว่าในปีหน้าจะสามารถรับมือกับสภาพอากาศแปรปรวนได้ดีขึ้น  ปัจจุบัน ฟาร์มมีลูกค้าประจำรับซื้อผลผลิตวันละ 50 กิโลกรัม โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ช่วยให้ผลผลิตมีความสม่ำเสมอ  ไม่ขึ้นลงตามสภาพอากาศเหมือนแต่ก่อน  นอกจากนี้ ยังสร้างความได้เปรียบทางการตลาด เนื่องจากเกษตรกรทั่วไปยังไม่มีการใช้เทคโนโลยีนี้ ทำให้ได้รับคำสั่งซื้อก้อนเห็ดจำนวนมากในช่วงฤดูเย็นชื้น” นายทวีศักดิ์ กล่าว 

 

มทร.ศรีวิชัย แนะเทคโนโลยีช่วยเกษตรกรเพาะเห็ด พร้อมเป็นพี่เลี้ยงผู้สนใจลงทุนใหม่

          ผศ.พิทักษ์ สถิตวรรธนะ  เจ้าของผลงานวิจัยฯ อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย เปิดเผยถึงความสำเร็จของการนำเทคโนโลยีไปช่วยเกษตรกรผู้เพาะเห็ด โดยเฉพาะกรณีของ “ช่างเดี่ยว” เกษตรกรที่มีพื้นฐานช่างไฟฟ้า  “จากเดิมที่เคยดูแลเพียงโรงเรือนและควบคุมความชื้น นวัตกรรมใหม่นี้สามารถควบคุมอุณหภูมิของก้อนเห็ดโดยตรง เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ระบบจะให้ความชื้นอัตโนมัติตามเวลาที่กำหนด ส่งผลให้เห็ดออกดอกสม่ำเสมอ” ผศ.พิทักษ์ กล่าว

 

          เทคโนโลยีดังกล่าวได้พิสูจน์ประสิทธิภาพแล้วกับโรงเรือน 4 หลังของช่างเดี่ยว ทำให้ทางมหาวิทยาลัยต้องการผลักดันให้เป็นต้นแบบสำหรับเกษตรกรรายใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มผู้เกษียณอายุที่สนใจทำธุรกิจเพาะเห็ด เพื่อป้องกันความเสียหายจากการลงทุนที่อาจสูงถึงหลักแสนบาท   สำหรับผู้สนใจเริ่มต้นธุรกิจเพาะเห็ด ผศ.พิทักษ์แนะนำว่า “ควรเริ่มจากตู้เพาะเห็ดก่อน เพื่อเรียนรู้ทักษะการดูแลและการจัดการโรค เมื่อมั่นใจแล้วจึงค่อยลงทุนขยายเป็นโรงเรือน ซึ่งในจังหวัดสตูลมีให้เห็นทั้งสองรูปแบบ”  ทางมหาวิทยาลัยได้พัฒนาอุปกรณ์ 2 รูปแบบ:   ตู้เพาะเห็ดพร้อมกล่องควบคุม สำหรับผู้เริ่มต้น กล่องควบคุมอย่างเดียว สำหรับผู้ที่มีโรงเรือนอยู่แล้ว   “ราคาชุดอุปกรณ์อยู่ที่ 5,500 บาท รับประกัน 1 ปี พร้อมให้คำปรึกษาตลอดการใช้งาน ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่สถาบันดูแลนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยโดยตรง” ผศ.พิทักษ์กล่าวทิ้งท้าย

 

          และในวันเดียวกันได้มีการ “อบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนานักวิจัยและนวัตกรรมชุมชน สรุปผลถอดบทเรียนและวางแผนงานวิจัยเพื่อขยายผลการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีแบบมีส่วนร่วม”  โดยเชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วม  ที่ห้องประชุมสมาคม วัฒนพลเมืองอำเภอละงู  จังหวัดสตูล

 

          ด้าน นางสุดา  ยาอีด   เกษตรจังหวัดสตูล  กล่าวว่า  ในส่วนของการต่อยอดเทคโนโลยีจากงานวิจัยนี้เราดูแล้วในส่วนของการเพาะเห็ดซึ่งส่วนมากเกษตรกรจะใช้ขั้นตอนวิธีการแบบเดิม ๆ ซึ่งก็เป็นโอกาสดีที่ทางมหาวิทยาลัยฯ นำงานวิจัยตรงนี้มาใช้สำหรับพี่น้องเกษตรกรโดยนำเอานวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อที่จะให้พี่น้องเกษตรกรมีผลผลิตในเรื่องของเห็ดเพิ่มมากขึ้นต่อยอดในเรื่องของรายได้สร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับพี่น้องเกษตรกร  ในส่วนของการขยายผลคิดว่างานวิจัยตรงนี้น่าจะมีการขยายผลให้กับพี่น้องเกษตรกรที่อยากมีอาชีพเสริมในเรื่องของการเพาะเห็ด  ก็อาจจะมีงบประมาณมาสนับสนุนส่งเสริมให้กับพี่น้องเกษตรกรทำให้พี่น้องเกษตรกรเรามีรายได้เพิ่มขึ้นและมีอาชีพที่มั่นคง

 

          “นอกจากเพราะเห็ดก็สามารถนำไปสู่ผลผลิตชนิดอื่นได้  ผลผลิตจากเห็ดนี้ถ้ามีจำนวนมากเราก็อาจจะสนับสนุนถ่ายทอดความรู้ในเรื่องของการแปรรูปเพื่อที่จะให้มีผลิตภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น และมีหลากหลายสินค้าที่ส่งเสริมให้กับพี่น้องเกษตรกรเพราะว่าสตูลของเราเองเป็นเมืองท่องเที่ยว  สามารถนำเป็นของฝากของขวัญให้แก่พี่น้องเกษตรกร และผู้ที่มากท่องเที่ยวจังหวัดสตูล  สุดท้ายก็เป็นนโยบายของทางภาครัฐโดยตลาดนำ   นวัตกรรมเสริม   เพิ่มรายได้  งานวิจัยนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พี่น้องเกษตรกรสามารถที่จะดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐได้” เกษตรจังหวัดสตูลกล่าวในที่สุด

 

           สำหรับเครือข่ายเกษตรกรผู้เพาะเห็ดในจังหวัดสตูล  ทางทีมวิจัยได้พัฒนาโจทย์ ภายใต้โครงการวิจัย “ขยายผลการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมแบบมีส่วนร่วมเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากให้เครือข่ายเกษตรกรผู้เพาะเห็ดในจังหวัดสตูล โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) มีกลุ่มเป้าหมาย 10 กลุ่มเป้าหมาย ในพื้นที่ 9 ตำบล 4 อำเภอของจังหวัดสตูล

 

           ชุดเทคโนโลยีการเพาะเห็ดอัตโนมัติของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ประเภทเทคโนโลยีการเกษตรและนวัตกรรมเกษตร ลักษณะเด่นและคุณสมบัติการใช้งานเทคโนโลยีโครงตู้สามารถถอดประกอบได้ง่ายมีน้ำหนักเบาภายในตู้บรรจุก้อนเห็ดได้สูงสุด 120 ก้อน  มีระบบการให้ละอองน้ำ. แบบจานหมุนเหวี่ยงความเร็วสูงกล่องควบคุมสั่งงานผ่านระบบไร้สายและมีปุ่มเปิดปิดระบบให้น้ำแบบสัมผัสด้านหน้าระบบใช้พลังงานไฟฟ้ากระแสตรงแรงดันไม่เกิน 12 โวลต์ขนาดไม่เกิน 15 วัตต์

 

         การนำไปใช้ประโยชน์ตู้เพาะเห็ดออกแบบให้ผู้ใช้สะดวกในการประกอบขึ้นเป็นโรงเรือนขนาด ขนาดเล็กใช้สำหรับนำก้อนเห็ดจำนวนไม่เกิน 120 ก้อนเข้าไปเพราะดอกเห็ดเพื่อใช้จำหน่ายหรือบริโภคภายในครัวเรือนสามารถควบคุมให้ความชื้นก้อนเห็ดแบบอัตโนมัติ  โดยระบบการให้ละอองน้ำแบบจานหมุนเวียนความเร็วสูงผ่านกล่องควบคุมที่ใช้กำลังไฟฟ้าทั้งระบบไม่เกิน 15 วัตต์  ระบบควบคุมผ่านสัญญาณ WiFi จากกล่องควบคุมแบบออฟไลน์หมดได้

 

         โครงการวิจัยขยายผลการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมแบบมีส่วนร่วมเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากให้เครือข่ายเกษตรกรผู้เพาะเห็ดในจังหวัดสตูล  ภายใต้กรอบวิจัยการขยายผลเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและแก้หนี้ครัวเรือนสนับสนุนโดยกองทุนส่งเสริมกอวนและหน่วยบ.พ.ท

………………………………………..

อัพเดทล่าสุด

 เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน

สตูล- เห็ดนางฟ้า…พาเปลี่ยนชีวิต จากครูสู่วิสาหกิจชุมชน บ้านทางยางสตูล สร้างรายได้มั่นคง–แบ่งปันโอกาสให้ชุมชน