Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

   กล้วยทอดเตาถ่านสูตรโบราณไม่ใส่น้ำตาล   

กล้วยทอดเตาถ่านสูตรโบราณไม่ใส่น้ำตาล

         ที่หัวสะพานคลองมำบัง   เส้นบายพาสห่างจากโกลบอลเฮ้าส์  ตำบลบ้านควน  อำเภอเมือง  จังหวัดสตูล  มีเพิงเล็กๆตั้งอยู่กลางทุ่งนาและสวนปาล์มน้ำมัน  หากไม่ตั้งใจสังเกตน้อยคนนักจะรู้ว่าที่นี่ขายกล้วยทอดเตาถ่านสูตรโบราณ  เพราะจะรู้เฉพาะกลุ่มชาวบ้านและเกษตรกรชาวสวนยางพารา  ที่ออกมากรีดยางในช่วงเช้าเท่านั้น

          โดยสองพี่น้องจะช่วยกันขายกล้วยทอด  และ  เมนูข้าวมันปลาเค็มสูตรโบราณที่เน้นการขายแบบไม่ปรุงแต่งมากนัก  อย่างปลาเค็มที่นำมาใช้ก็จะนำไปย่างมากกว่าทอด  เพราะจะได้ความหอมอร่อยอีกหนึ่งรสชาติตามแบบฉบับวิถีชาวบ้าน  ในราคาจานละ 20 บาท  ทานกันแบบจุก ๆ อิ่มไปเลย พิเศษหน่อยก็ราคา 25 บาท นอกจากนี้ทางร้านยังมีส้มตำ และโกปี้  ที่กินกับข้าวมันปลาเค็ม หรือ กล้วยทอดด้วย

          โดยเฉพาะกล้วยทอดที่นี่ ถือว่า  เป็นการใช้วิธีแบบพื้นบ้าน  คือ  ใช้ไม้ฟืนที่หาได้ในพื้นที่ ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการทอด  นอกจากจะลดค่าใช้จ่ายในการใช้แก๊สหุงต้มแล้ว    ยังเพิ่มรสชาติความหอมอร่อยให้กับกล้วยที่ทอด  ด้วยสูตรโบราณที่นี่คือ  ไม่ใส่น้ำตาลทรายเพิ่มความหวานให้เสียสุขภาพ  เพราะกล้วยที่นำมาใช้มีความหวานในตัวอยู่แล้ว  และจะใส่เพียงแค่น้ำปูนใสเพิ่มความกรอบ   ไข่ไก่   แป้งข้าวจ้าว  มะพร้าวขูด  น้ำเกลือเล็กน้อย  ใบเตยเพิ่มความหอมเท่านั้น   และน้ำตาลทรายที่ไม่ใส่ยังทำให้กล้วยออกมาสีสวยน่ากินด้วย  สำหรับกล้วยที่ใช้  แล้วแต่ฤดูกาล บ้างก็เป็นกล้วยน้ำหว้า และกล้วยไข่ ขาย 13 ชิ้น 20 บาท

         นางดารารัตน์  ขวัญเมือง  ลูกค้าที่ผ่านไปมาแวะชิมต่างชมเป็นเสียงเดียวกันว่า   มีรสชาติที่อร่อยสำหรับคนที่ชอบกล้วยไม่สุกงอมเกินไป  และข้อดีคือไม่ใส่น้ำตาลเพราะกล้วยมีความหวานอยู่แล้ว  และมีความหอมของเตาฟืนและใบเตย ดื่มกับโกปี้ยิ่งเพิ่มรสชาติให้การกินกลมกล่อมมากขึ้น

         นางรจนา  ศรีสุข อายุ  62 ปี แม่ค้า บอกว่า  ในหนึ่งวันจะขายข้าวมันปลาเค็มวันละ 2 กก.และกล้วยทอดวันละ 5 หวี ให้กับชาวสวนยาง และชาวบ้านที่ผ่านไปมาและคนที่ชอบออกกำลังกาย  แวะมานั่งทาน แบบบ้าน ๆ ในราคาเบา ๆ โดยจะขายตั้งแต่เวลา 6 โมงเช้าจนของหมด ในหนึ่งเดือนจะหยุด 2 ครั้ง  หากสนใจอยากกินอาหารพื้นบ้าน โทรสอบถามได้ที่   098 724 1697

         นอกจากนี้ทางร้านคุณป้าทั้งสอง  ยังนำหน่อกล้วยมาปลูกไว้ข้างร้าน  รวมทั้งผักสวนครัวเพื่อให้ลูกค้ามั่นใจแหล่งที่มาของอาหาร  และลดรายจ่ายได้อย่างดีงามน่าเอาเป็นแบบอย่าง

………………………………….

อัพเดทล่าสุด

พม.สตูล จัดโครงการเสริมสร้างเครือข่ายสื่อมวลชน เพื่อประชาสัมพันธ์ภารกิจกระทรวง พม. และ ศรส.

พม.สตูล จัดโครงการเสริมสร้างเครือข่ายสื่อมวลชน เพื่อประชาสัมพันธ์ภารกิจกระทรวง พม. และ

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

   จากธุรกิจเพาะลูกนกกรงหัวจุกขาย สู่ยารักษาหวัดนก และกรงนกใบละหลักแสนบาท   

จากธุรกิจเพาะลูกนกกรงหัวจุกขาย สู่ยารักษาหวัดนก และกรงนกใบละหลักแสนบาท  เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ที่ชมรมนกกรงหัวจุกสตูลเดินหน้าผลักดัน ปกป้องให้เกมกีฬาพื้นบ้าน  ถูกต้องตามกฎหมาย   อยู่คู่สังคมไทย

          นกกรงหัวจุกจำนวนกว่า 30 ตัวที่นายสักรินทร์   อังวรโชติ  หรือ  “โจ ท่าน้ำ”  อายุ 38 ปีได้เพาะเลี้ยงเพื่อขายให้กับผู้ที่ชื่นชอบเลี้ยงนกกรงหัวจุก  โดยมีพ่อแม่พันธุ์สีขาวเผือกอมชมพู  ที่รูปทรงสวยงาม  และพ่อแม่พันธุ์ที่มีประสบการณ์  ผ่านสนามชนะหลายเวที    รวมทั้งการทำยาหวัดนกขาย  สร้างรายได้อีก 1 ทางให้กับผู้ที่ชื่นชอบเลี้ยงนกกรงหัวจุก

          นอกจากตัวนก  อาหารนก  ก็ยังมีสินค้าที่เชื่อมโยงกับนกกรงหัวจุก  โดยเฉพาะกรงนกที่เหล่าบรรดาเซียนนก  ที่มีกำลังทรัพย์มักจะซื้อไว้ประดับบารมี  และให้นกได้อยู่อาศัย  ด้วยผลงานที่มีฝีมือของช่างทำกรงนก  จากหลากหลายพื้นที่  เป็นงานฝีมือที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์  ในการออกแบบกรงนกให้สวยงามวิจิตรบรรจง  เหมือนอย่างกรงนกใบนี้ที่มีราคาหลักแสนบาท   ด้วยการใช้มุกประดับตกแต่งและการแกะสลักลวดลาย  แม้กระทั่งภาชนะใส่น้ำในกรงนก  มีการใช้ถ้วยเบญจรงค์ บ้างก็ใช้ถ้วยทำจากหินอ่อน หรือถ้วยทำจากหยก  ตกแต่งได้อย่างสวยงามทรงคุณค่า

          นายสักรินทร์    อังวรโชติ  บอกว่า  เสียงที่ไพเราะ รูปทรงที่สวยงามทำให้ตนหลงใหลนกกรงหัวจุกมาตั้งแต่เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4  จนถึงปัจจุบันยิ่งหลงไหล รัก และชื่นชอบ  การเพาะเลี้ยง การแข่งขัน การทำยารักษา รวมทั้ง การครอบครองกรงนกจากความชื่นชอบ   พร้อมยอมรับว่าเห็นด้วยหากจะมีการเอาจริงเอาจังหรือเอาผิดคนที่จับนกในป่ามาขายหรือแข่งขัน

         แต่ส่วนตัวเห็นว่าจากอดีตจนถึงปัจจุบัน  นกกรงหัวจุกสามารถเพาะเลี้ยงได้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างมูลค่าให้กับหลากหลายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง  อาทิ  เกษตรกรที่หาผลไม้อย่างกล้วยและมะละกอ  มาขายกลุ่มที่ชอบเลี้ยงนก  , กรงนกที่เห็นถึงความสวยงามด้านงานฝีมืออันทรงคุณค่า  เสมือนการสะสมทองคำ  เพราะราคาและฝีมือของช่างยิ่งเพิ่มมูลค่าให้กับกรงนกอย่างมากมายมหาศาล   นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว  ไม่ต่างกับการแข่งขันกีฬาทั่วไป   ทุกครั้งที่มีการแข่งขันนักกีฬาแข่งนก  ไม่น้อยกว่า 200 คนที่ตระเวนไปตามจังหวัดต่างๆ เกิดการกระจายรายได้  ที่พักโรงแรม  เพราะเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการแก้ไข ปลดล็อคนกกรงหัวจุกออกจากสัตว์ป่าคุ้มครอง

       ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนให้มีการปลดล็อกจากพ.ร.บ.สัตว์ป่าคุ้มครอง  ล่าสุดชมรมนกกรงหัวจุกจังหวัดสตูลและเครือข่ายทั่วประเทศ ได้ยื่นเรื่องขึ้นสู่สภาผู้แทนราษฎรแล้ว

……………………..

 

อัพเดทล่าสุด

พม.สตูล จัดโครงการเสริมสร้างเครือข่ายสื่อมวลชน เพื่อประชาสัมพันธ์ภารกิจกระทรวง พม. และ ศรส.

พม.สตูล จัดโครงการเสริมสร้างเครือข่ายสื่อมวลชน เพื่อประชาสัมพันธ์ภารกิจกระทรวง พม. และ

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

ลูกหยี ผลไม้ป่าโบราณ  ทางวัดทำสวนป่าปลูกอนุรักษ์เป็นศูนย์เรียนรู้   

ลูกหยี ผลไม้ป่าโบราณ  ทางวัดทำสวนป่าปลูกอนุรักษ์เป็นศูนย์เรียนรู้

       ลูกหยีผลดกดำ  อายุกว่า 20 ปี  ยืนต้นสูงเด่น 15 เมตร  เป็นหนึ่งในพันธุ์ไม้หายาก  ขึ้นอยู่ภายในพื้นที่วัดนิคมพัฒนารามผัง 7  ต.นิคมพัฒนา  อ.มะนัง  จ.สตูล   พร้อมๆกับ  ลูกตะขบ   ลูกละไม   ลองกอง  มังคุด  สละอินโด  มะม่วง และมะพร้าว

        ในฤดูกาลนี้ลูกหยี ให้ผลผลิตจำนวนมาก   แต่การเก็บผลลูกหยีที่มีขนาดเล็กบนต้นใหญ่  เป็นเรื่องที่ยุ่งยาก  ผู้เก็บเกี่ยวต้องใช้ทักษะและความชำนาญเฉพาะตัว  ปีนขึ้นไปตัดกิ่งขนาดใหญ่  ผูกเชือกค่อยๆหย่อนลงมา  ทำให้ได้ผลลูกหยีที่มีคุณภาพ  ผลไม่หลุดร่วงจากช่อ    

         พระครูโสภณปัญญาสาร เจ้าอาวาสวัดนิคมพัฒนาราม  ผัง 7  //เจ้าคณะอำเภอมะนัง  นำทีมชาวบ้านในพื้นที่  เก็บลูกหยีในสวนป่าภายในวัดอย่างชำนาญ  ได้ผลลูกหยีจำนวนมาก  พร้อมขายผลสดเป็นพวงละ 50-100  บาท  รายได้ส่วนหนึ่งนำมาเป็นค่าแรง และเป็นปุ๋ยบำรุงต้น 

        สำหรับ “ลูกหยี “ เป็นผลไม้ป่าชนิดหนึ่งที่มีรสเปรี้ยวอมหวาน เปลือกสีดำ เนื้อในสีแดงส้ม เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ให้ผลผลิตปีละ 1 ครั้ง ประมาณเดือน ตุลาคม – พฤศจิกายน มีรสเปรี้ยวจัด หากนำเมล็ดออกแล้ว คลุกน้ำตาล รสชาติอร่อย ส่วนผลสด จะมีขายตามตลาดนัด เฉพาะในช่วงฤดูกาลเท่านั้น และจะขายตามตลาดออนไลน์ อยู่ที่กิโลกรัมละ 80 ถึง 165 บาทขึ้นไป

       ลูกหยีต้นนี้  เป็นไม้ป่าโบราณผลหาทานยาก   ที่ทางเจ้าอาวาสวัดนิคมพัฒนาราม ผัง 7 ตั้งใจปลูกและขยายพันธุ์ไว้ พร้อมต้นไม้หาทานยากอีกกว่า 20 ชนิด บนพื้นที่ 20 ไร่  เพื่ออนุรักษ์และต้องการทำเป็นศูนย์เรียนรู้ส่งต่อไปยังคนรุ่นหลังได้ศึกษาต่อไป

          พระครูโสภณปัญญาสาร เจ้าอาวาสวัดนิคมพัฒนาราม  ผัง 7  กล่าวว่า  เคยมีแนวคิดว่าเราจะหาพันธุ์ไม้ผล  ผลไม้พื้นถิ่นใน 14 จังหวัดภาคใต้มาปลูกรวมไว้ที่วัดพัฒนารามผัง 7  เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้   อนุรักษ์พันธ์ไม้หายาก   ซึ่งปัจจุบันจะมีประเภทไม้ผล 20 กว่าชนิดด้วยกัน   ลูกหยีก็เป็นไม้พื้นบ้านที่ปลูกไว้ใช้เวลายาวนาน 20 กว่าปี  ปีนี้เป็นปีที่สองแล้วที่ให้ผลและดกมาก

        ด้าน นางภาสพิชญ์  นาควงค์   อายุ 58 ปี ชาวบ้านที่ชอบทานผลไม้ป่าโบราณ  บอกกับทีมข่าวว่า  มีโอกาสเห็นต้นลูกหยีที่วัด  มันสูงใหญ่  ยิ่งเมื่อเห็นการเก็บเกี่ยวรู้สึกสงสารคนปีนไปเก็บ  มันเสี่ยงมาก   ซึ่งลูกหยีผลสดจะหาทานยากในยุคสมัยนี้ คนที่ปลูกก็มีน้อย ใช้เวลาหลายปีกว่าจะโตให้ผลที่กินได้   

……………………………………………………………………

อัพเดทล่าสุด

พม.สตูล จัดโครงการเสริมสร้างเครือข่ายสื่อมวลชน เพื่อประชาสัมพันธ์ภารกิจกระทรวง พม. และ ศรส.

พม.สตูล จัดโครงการเสริมสร้างเครือข่ายสื่อมวลชน เพื่อประชาสัมพันธ์ภารกิจกระทรวง พม. และ

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

   กลุ่มคนเพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุกในจังหวัดสตูล เดินหน้าต้องการให้ปลดล๊อกจากบัญชีรายชื่อกฎหมายสัตว์ป่าคุ้มครอง   และวันที่ 18 ต.ค. นี้   เตรียมเดินทางขึ้นสมทบร่วมกับจังหวัดอื่นในการยื่นเรื่องขอแก้กฎหมาย   

กลุ่มคนเพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุกในจังหวัดสตูล เดินหน้าต้องการให้ปลดล๊อกจากบัญชีรายชื่อกฎหมายสัตว์ป่าคุ้มครอง   และวันที่ 18 ต.ค. นี้   เตรียมเดินทางขึ้นสมทบร่วมกับจังหวัดอื่นในการยื่นเรื่องขอแก้กฎหมาย

           กลุ่มเพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุก ยังคงยื่นเรื่องเพื่อให้ปลดล็อกนกกรุงหัวจุก  ออกจากสัตว์ป่าคุ้มครอง  และมองว่าขึ้นทะเบียนนกกรุงหัวจุกเพราะเป็นเรื่องยุ่งยาก และกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงนกกรงหัวจุกจังหวัดสตูล  เตรียมพร้อมขึ้นไปกรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนการยื่นเรื่องข้อเสนอในครั้งนี้

           ด้านนายอัสหาด   หลังจิ  อดีต ประธานชมรมนกกรงหัวจุกสตูล  มองว่า  กฎหมายเดิมนั้นไม่ทันสมัย ต้องการให้เปลี่ยนแปลงมากกว่านี้  โดยในวันที่ 18 ตุลาคมนี้ กลุ่มเพาะเลี้ยงนกกรุงหัวจุกในจังหวัดสตูล ทั้ง 7 อำเภอ  นับ 100 คน จะเหมารถตู้เพื่อเดินทางขึ้นไปยังกรุงเทพฯ ร่วมสมทบกับคนเพาะเลี้ยงนกกรุงหัวจุกจากจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้  และการที่ได้ออกมาเรียกร้องในครั้งนี้เพราะมองว่า การเพาะเลี้ยงนกกรุงหัวจุก เป็นรากฐานเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง และเป็นอาชีพหนึ่งที่สามารถทำรายได้ ได้ดีอีกด้วย

 

         ด้านนาย สักรินทร์    อังวรโชติ  อายุ 38 ปี  หนึ่งในผู้เพาะเลี้ยงนกกรุงหัวจุก กล่าวเพิ่มเติมว่า นกกรุงหัวจุก เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ดี ที่นิยมเพาะเลี้ยงกัน แต่เมื่อกฎหมายเข้มงวดก็ลำบาก   และมีผลกระทบกับทางกลุ่มเพาะเลี้ยงมาก จึงฝากให้ทางกรมอุทยานแห่งชาติ   ได้ทบทวนข้อเรียกร้องในครั้งนี้  ส่วนกรณีคนไปดักจับนกกรุงหัวจุกในป่า  ก็ควรจับมาลงโทษขั้นเด็ดขาด  แต่ก็ควรมองถึงกลุ่มเพาะเลี้ยง ที่ต้องการทำเรื่องขึ้นทะเบียนนกกรุงหัวจุกให้ง่าย และสะดวกกว่าที่ผ่านมา

        สำหรับในพื้นที่จังหวัดสตูล มีสนามการแข่งขันเสียงนกกรุงหัวจุก  ที่ถูกต้องตามกฎหมายหลายสนาม นกทุกตัวได้ขึ้นทะเบียนตามที่อุทยานฯ กำหนด  ถึงจะยุ่งยากในหลายๆ  ขึ้นตอน  แต่ก็ได้ทำตามข้อกฎหมาย ส่วนการเรียกร้องในครั้งนี้ เรียกร้องเพื่อส่วนรวม   มิใช่เป็นการเห็นแก่ตัวของกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงนกกรุงหัวจุกแต่อย่างใด

อัพเดทล่าสุด

พม.สตูล จัดโครงการเสริมสร้างเครือข่ายสื่อมวลชน เพื่อประชาสัมพันธ์ภารกิจกระทรวง พม. และ ศรส.

พม.สตูล จัดโครงการเสริมสร้างเครือข่ายสื่อมวลชน เพื่อประชาสัมพันธ์ภารกิจกระทรวง พม. และ

           สำหรับหรับนกกรงหัวจุก หรือ นกปรอดหัวโขน เป็นนกที่มีสีสันสวยงาม มีเสียงอันไพเราะ จึงเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ที่ชอบสัตว์เลี้ยงเพื่อฟังเสียง   และได้มีการประกวดเสียงร้อง  เช่นเดียวกับนกเขาชวา  ในปัจจุบันนกกรงหัวจุก  จัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกนก  ลำดับที่ 550  ตามกฎกระทรวงกำหนด  ให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ.2546 ห้ามล่า หรือจับมาจากธรรมชาติ แต่เปิดโอกาสให้เพาะพันธุ์ในกรงเลี้ยงได้ แต่ยังมีผู้เพาะเลี้ยงที่ไม่ได้รับอนุญาตจำนวนมาก  เนื่องจากมีขั้นตอนการขออนุญาตหลายขั้นตอน  ต้องใช้หลักฐานหลายอย่าง และต้องลงทุนสูง

……………………………………………………

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

   สตูลสืบสานการลงแขก ปลูกข้าวพื้นเมืองอัลฮัมดุลิลละห์ สร้างความมั่นคงทางอาหาร   

สตูลสืบสานการลงแขก ปลูกข้าวพื้นเมืองอัลฮัมดุลิลละห์ สร้างความมั่นคงทางอาหาร

        ทันทีที่ฝนทิ้งช่วง  ชาวนาในจังหวัดสตูลต่างพร้อมใจกัน  ลงปักดำพันธุ์กล้าข้าวในท้องนาที่ชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำ  เพื่อให้ทันต่อการปลูกข้าวในรอบปีนี้

        ซึ่งชาวบ้านในตำบลควนสตอ  อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล  โดยเฉพาะในแปลงนาข้าวของ  ศูนย์เรียนรู้บ้านสวนปันสุข  ที่ยังคงอนุรักษ์การปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง  อัลฮัมดุลิลละห์  บนพื้นที่นาของบรรพบุรุษ  ที่ส่งต่อกันมา    พร้อมเชิญชวนเพื่อนบ้าน  ผู้นำในหมู่บ้าน  และเด็ก ๆ  มาร่วมกันลงแขกดำนา    เป็นการแสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจ หรือการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน   พร้อมทั้งยังเป็นการสร้างความสามัคคีกันภายในหมู่บ้าน  อีกทั้งเด็ก ๆ  จะได้ร่วมซึมซับบรรยากาศของการทำนา และการได้มาซึ่งข้าว  อาหารหลักของเราอีกด้วย   โดยทางเจ้าของที่นา  จะจัดเตรียมข้าวปลา-อาหาร  คาวหวาน เอาไว้เลี้ยงเพื่อนบ้าน ที่เข้ามาช่วยลงแขกดำนาในครั้งนี้ด้วย

      นางมารียำ  อุสนุน   เจ้าของศูนย์เรียนรู้บ้านสวนปันสุข  วันนี้เปิดพื้นที่ให้เพื่อนบ้านและเด็ก ๆ ได้มาร่วมกันดำนาปี  ปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง  อัลฮัมดุลิลละห์   โดยเริ่มหว่านกล้าในช่วงเดือนสิงหาคม  จะเก็บเกี่ยวประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปี  วันนี้ก็เป็นการลงแขกโดยมีชาวบ้านมาช่วยกัน  ทันทีที่ฝนหยุดก็เริ่มลงมือดำนาเลยทันที ที่ไม่ตรงกับการกรีดยางพารา ข้าวส่วนใหญ่ที่ปลูกจะเอาไว้ทานกันเอง  โดยเฉพาะข้าวพันธุ์พื้นเมืองมีรสชาติเฉพาะกลมกล่อม   ไม่มีสารเคมีเจือปน  อีกทั้งเป็นการปลูกไว้ทานเพื่อเป็นการรักษาสุขภาพ

อัพเดทล่าสุด

พม.สตูล จัดโครงการเสริมสร้างเครือข่ายสื่อมวลชน เพื่อประชาสัมพันธ์ภารกิจกระทรวง พม. และ ศรส.

พม.สตูล จัดโครงการเสริมสร้างเครือข่ายสื่อมวลชน เพื่อประชาสัมพันธ์ภารกิจกระทรวง พม. และ

         นายสอลีหีน   สาเบาะ   ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 10 ตำบลควนสตอ   กล่าวว่า  ชาวบ้านในอำเภอควนโดนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม จะมีการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองพันธุ์อัลฮัมดุลิลละ  เป็นหลัก   เนื่องจากมีรสชาติหอมอร่อย  

        และในปัจจุบันยังพบว่าการปลูกข้าวลดน้อยลง   เนื่องจากราคาในท้องตลาดถูก  แต่ชาวบ้านในอำเภอควนโดนของเรา   ยังอนุรักษ์ในเรื่องของการปลูกข้าวไว้อยู่   เพื่อความมั่นคงของอาหาร   ซึ่งจะเห็นได้จากช่วงที่ผ่านมาในสภาวะโรคระบาดในพื้นที่ตำบลควนสตอ  อำเภอควนโดน  ก็ยังมีข้าวไว้กิน   นาข้าวที่ศูนย์เรียนรู้บ้านสวนปันสุข  ของนางมารียำ  ก็มีการอนุรักษ์การทำนาข้าวพันธุ์พื้นเมืองให้เห็น  และเป็นแบบอย่าง  ให้รุ่นต่อไปได้ร่วมการสืบสานและเรียนรู้

……………

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

   พิษโควิด 3 ปีที่ผ่านมาทำให้หนุ่มนิเทศฯสตูล  ผันตัวเป็นเกษตรกรปลูกผักปลอดภัย  รายได้งาม   

พิษโควิด 3 ปีที่ผ่านมาทำให้หนุ่มนิเทศฯสตูล  ผันตัวเป็นเกษตรกรปลูกผักปลอดภัย  รายได้งาม 

        หากคุณมีความตั้งใจ และมุ่งมั่น   ไม่ว่าสิ่งนั้นที่ลงมือทำ  จะไม่ถนัด   แต่เชื่อว่า   การขวนขวายเรียนรู้   ก็จะทำให้ประสบความสำเร็จได้เหมือนอย่างคุณอา   หรือนายภัทรนันต์   บุญรอด   อายุ 27 ปี  เกษตรกรหนุ่ม   อาศัยอยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลคลองขุด อำเภอเมือง  จ.สตูล  เจ้าของ “บุญรอดไฮโดรฟาร์ม”  ที่เริ่มต้นทำเกษตรด้วยการปลูกพืชในลังโฟม  ก่อนจะค่อย ๆเรียนรู้   จนมาถึงวันนี้  เข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว ของธุรกิจด้านการเกษตร   เติบโตมาจนถึง 5 โรงเรือนบนพื้นที่ 1 ไร่  ได้ทำเกษตรแบบระบบโรงเรือน  สามารถผลิตผักปลอดภัยส่งลูกค้าทุกวัน  วันละ 15 กก.

        ถือว่าไม่ธรรมดาสำหรับหนุ่มสตูลรายนี้  ที่ได้ก้าวเข้าสู่วงการเกษตรกรแบบสถานการณ์บังคับ   หลังเรียนจบคณะนิเทศศาสตร์  มาในช่วงพิษโควิด19 เข้ามาระบาดพอดี  งานหลายอย่างที่ตั้งใจไว้   ต้องหยุดชะงัก   แต่คุณอา  หนุ่มสตูลก็ไม่หยุดคิด   ก่อนจะมองว่า  อาชีพเกษตรกรมีความจำเป็นต่อชีวิต  ช่วงที่สถานการณ์โควิดทุกอย่างก็จะหยุดไป  แต่การเกษตรไม่หยุด   เพราะทุกคนต้องกิน  ทำให้สนใจว่า   หากทำสิ่งนี้ก็จะมีความมั่นคงทางด้านอาหาร จึงสนใจผักสลัด เห็นว่าเป็นเทรนของการรักษ์สุขภาพ  กำลังได้รับความสนใจมากขึ้น  

           จึงลงมือศึกษาเอาจริงเอาจังกับการปลูกผักสลัด หรือที่เรียกว่า  ผักไฮโดรโปนิกส์  ผักปลอดสารพิษ  เรียนรู้อย่างจริงจังและลงมือทำ   โดยยอมรับว่า   ขั้นตอนของการเรียนรู้  ทางการเกษตร   เป็นช่วงแรกถือว่ายากที่สุดแล้ว ต้องเรียนรู้ใหม่เองทั้งหมดทางออนไลน์   ตั้งแต่การเพาะ  เลือกเมล็ดและชนิดพันธุ์  เลือกระบบที่จะปลูกว่าเป็นระบบไหน  ทั้งระบบดิน  ระบบน้ำ ก็เลยศึกษามาเรื่อย ๆ ตรงนั้นถือเป็นจุดที่ยากที่สุด  

           มาวันนี้คุณอา  ทำการเกษตรแบบรับปลูก   ตามออเดอร์เท่านั้น  โดยมีกลุ่มลูกค้าประจำเพียง 9 ราย   แต่ ติดต่อขอรับผักทุกวัน   วันละ 15 กก.โดยมีการตกลงเสนอขายกิโลกรัมละ 100 บาท   ในผัก 8 ชนิด อาทิ  กรีนโอ๊ค  เรดโอ๊ค  ที่ขายดีที่สุด  ส่วน  บัตเตอร์เฮด  กรีนปัตตาเวีย  คอส  ผักเคล  ฟินเล่ ก็มีปลูก  ตามออเดอร์ลูกค้า  มีรายได้เฉลี่ย 30,000 ถึง 45,000 บาท

อัพเดทล่าสุด

พม.สตูล จัดโครงการเสริมสร้างเครือข่ายสื่อมวลชน เพื่อประชาสัมพันธ์ภารกิจกระทรวง พม. และ ศรส.

พม.สตูล จัดโครงการเสริมสร้างเครือข่ายสื่อมวลชน เพื่อประชาสัมพันธ์ภารกิจกระทรวง พม. และ

         นางสาวปฏิมา   ลิมานัน    นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร  กล่าวว่า    ทางเกษตรอำเภอได้เข้ามาแนะนำในเรื่องของเชื้อรา   ป้องกันการเกิดโรครากเน่า  โคนเน่า พร้อมแนะนำให้น้องเข้าสมัครเข้าร่วมโครงการยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์   ในการเข้าโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เวทีระดับจังหวัด  เป็นเกษตรกรที่ปลูกผักปลอดสารพิษจุดเด่น 

         สำหรับแปลงผักของคุณอา  ใช้ระบบปิด   ปลูกในโรงเรือน  จำนวน 5 โรงเรือน  สภาพอากาศร้อนจัดและฝนเยอะทำให้ต้องเรียนรู้ และศึกษา   ทำความรู้จักพืชนิดนี้  และขณะนี้ก็กำลังทดลองปลูกนอกโรงเรือน  ว่าจะมีแมลง หรือปัจจัยอย่างอื่นที่มีผลต่อผักหรือไม่  หากไม่มี   ก็พร้อมจะขยายพื้นที่ปลูกเพิ่ม  เพราะต้นทุนจะได้ถูกลงด้วย  และอนาคตจะใช้ระบบสมาร์ทโฟนเข้าควบคุมน้ำ ปุ๋ย โดยผักสลัดใช้เวลา 40-45 วัน   ก็ให้ผลผลิตแล้ว

         เมื่ออาชีพนี้อยู่ตัวแล้ว  คุณอาก็อยากส่งต่อให้พ่อกับแม่ เป็นคนดูแลต่อ  และตัวเองก็อยากตามหาฝัน   กับอาชีพที่เรียนมา  วิชาเอกภาพยนตร์  คณะนิเทศศาสตร์  เพื่อตามความใฝ่ฝัน  แต่หากท่านใดสนใจอาชีพปลูกผักสลัดนี้   คุณอา ก็ยินดีจะแลกเปลี่ยนความรู้   ติดต่อสอบถามได้ที่   โทร  063-2042636 

………………………………………..

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

   สตูลสร้างคลังอาหารให้กลุ่มชาติพันธุ์ชาว  มานิศรีมะนัง  หลังพบว่าเริ่มขาดแหล่งอาหาร 

สตูลสร้างคลังอาหารให้กลุ่มชาติพันธุ์ชาว  มานิศรีมะนัง  หลังพบว่าเริ่มขาดแหล่งอาหาร 

         วันที่ 19 ก.ย.2566  ที่ทับภูผาเพชร  บ้านเหล็กไหล   ตำบลปาล์มพัฒนา  อำเภอมะนัง  จังหวัดสตูล  ภายในหน่วยพิทักษ์ป่าภูผาเพชร   พระครูโสภณปัญญาสาร   เจ้าคณะอำเภอมะนัง/เจ้าอาวาสวัดนิคมพัฒนารามผัง 7  นายอำเภอมะนัง  นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปาล์มพัฒนา   และกำลังเจ้าหน้าที่  ช่วยกันนำอาหาร และ อุปกรณ์เครื่องมือ  จอบ เสียม เครื่องตัดหญ้า  รวมทั้งพืชพันธุ์ไม้ยืนต้น  อย่างต้นทุเรียนบ้าน   ต้นมะพร้าว  ต้นสะตอ   มาช่วยกันสร้างคลังอาหารให้กับกลุ่มชาติพันธุ์  ชาวมานิศรีมะนัง  ที่ทับภูผาเพชร  ที่มีประมาณ  30 คนที่อาศัยที่ทับแห่งนี้นานถึง 10 ปีแล้ว

       จากสภาพปัญหาความแร้นแค้น  อาหารป่าเริ่มขาดแคลน   ทำให้ชาวมานิกลุ่มนี้ยอมรับว่า  หาอาหารในป่าได้น้อยลง  น้ำผึ้ง  หรือแม้กระทั่งหัวสมุนไพร  ไปแลกกับข้าวก็ได้ราคาไม่ดี   และแม้จะออกไปรับจ้างชาวบ้านขึ้นต้นสะตอ ต้นเงาะ แต่ด้วยฝีมือแรงงานที่ไม่หลากหลายเหมือนชาวบ้านทั่วไป  ทำให้การจ้างงานก็น้อย  มาวันนี้ทางภาครัฐเห็นว่า   หากไม่เข้ามาช่วยเหลือ  ในการสร้างแหล่งอาหารที่ยั่งยืน  ด้วยการ เลี้ยงไก่  เลี้ยงปลา ปลูกพืชให้ผล  ก็อาจจะสร้างความยากลำบากให้พวกเขาได้ในภายภาคหน้า 

       นายแป้น  ศรีมะนัง  ชาวมานิทับภูผาเพชร   บอกว่า  ตนคิดว่าไม่ยาก  การเลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เมื่อเจ้าหน้าที่เอามาให้เลี้ยง หรือมาปลูกต้นไม้ให้  ก็น่าจะดี  จะได้ไม่ต้องไปพึ่งพาชาวบ้านในชุมชนมากนัก

      นอกจากนี้  การส่งเสริมอาชีพประเภทงานฝีมือ  การจักสารกระเป๋า  ในรูปแบบต่าง ๆ พบว่าชาวมานิหลายคนมีฝีมือ หากได้รับการต่อยอดด้านฝีมือ และช่วยกระจายสินค้ายามที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา  น่าจะเป็นรายได้ให้พวกเขาไม่มากก็น้อย 

อัพเดทล่าสุด

พม.สตูล จัดโครงการเสริมสร้างเครือข่ายสื่อมวลชน เพื่อประชาสัมพันธ์ภารกิจกระทรวง พม. และ ศรส.

พม.สตูล จัดโครงการเสริมสร้างเครือข่ายสื่อมวลชน เพื่อประชาสัมพันธ์ภารกิจกระทรวง พม. และ

           ด้าน  นายเชษฐ  บุตรรักษ์  นายอำเภอมะนัง  กล่าวว่า   ที่ทับมานิแห่งนี้มี 4 ครอบครัวใหญ่ 30 คน  ทุกคนมีชื่อในทะเบียนราษฎร  มีบัตรประจำตัวประชาชน  และได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล  มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ   ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต  ทางผู้บังคับบัญชาระดับจังหวัดและส่วนกลาง โดยเฉพาะท่านปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้ความสำคัญมากโดยได้ส่งผู้ตรวจราชการ  กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาเยี่ยม  และมีแนวทางในการพัฒนาความมั่นคงด้านอาหาร  คุณภาพชีวิตและการศึกษา  รวมทั้งเรื่องสาธารณสุข 

          โดยเฉพาะเรื่องเร่งด่วน  คือความมั่นคงทางด้านอาหาร  โดยมีแผนพัฒนาแหล่งน้ำโดยจัดหาน้ำจากน้ำตก  ที่อยู่ห่างจากทับแห่งนี้ประมาณ 1 กิโลเมตร  โดยใช้ระบบประปาภูเขา  จากน้ำตกใช้ในการอุปโภคบริโภค  เลี้ยงปลาในบ่อ  และเลี้ยงไก่ไข่  ไก่พื้นเมืองและแปลงเกษตร เพื่อพัฒนาแหล่งอาหารให้   โดยพบว่ามานิหลายคนให้ความสนใจมาก จากที่พาไปดูงานที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์42 จ.สตูล  ที่มีบ่อปลาเขาตื่นเต้นมาก  ชอบทานปลาน้ำจืด  น่าจะเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญให้ได้   และยังพบว่ากลุ่มชาติพันธ์มานิชุดนี้    สามารถสื่อสารพูดคุยกับเขาได้โดยตรง  ว่ามีความต้องการสิ่งใด

………………………….

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

   หนุ่มสตูลดีกรีปริญญาโท  เนรมิตพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก  ไร้ประโยชน์  เป็นสวนเสารส พันธุ์บรูไน   ลูกโต ให้ผลผลิตทั้งปี

หนุ่มสตูลดีกรีปริญญาโท  เนรมิตพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก  ไร้ประโยชน์  เป็นสวนเสารส พันธุ์บรูไน   ลูกโต ให้ผลผลิตทั้งปี

       จากพื้นที่ 1 งาน  ที่ดูเหมือนจะไม่มีประโยชน์เพราะน้ำท่วมขังตลอดเกือบทั้งปีที่ฝนตกหนัก  ที่บ้านทุ่งพัฒนา ม.13   ต.ละงู  อ.ละงู   จ.สตูล   มาวันนี้นายอานนท์  แอหลัง อายุ 33 ปี  ดีกรีปริญญาโท คณะสัตวศาสตร์   มหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย  ได้เนรมิตพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก  เป็นสวนเสาวรสสายพันธุ์บรูไน   ลูกใหญ่   ผลโต   น้ำหนักดี   และยังให้ผลผลิตทั้งปี  สร้างรายได้อย่างงามให้กับครอบครัวได้ไม่น้อย

      จากคุณสมบัติพิเศษของเสาวรส สายพันธุ์บรูไน  ที่คุณอานนท์  นำมาปลูกด้วยความชื่นชอบผลไม้ชนิดนี้เป็นพิเศษ  อีกทั้งพบว่า   มีคุณสมบัติในการทนทานต่อน้ำท่วมขังได้เป็นอย่างดี  และแมลงที่ไม่สามารถจะเจาะเปลือกผลเสาวรสที่หนาได้  มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน  และผลใหญ่ 8-9 ลูกต่อกิโลกรัม  ทำให้เป็นพืชที่เหมาะกับการปลูกเป็นอย่างมาก 

        นายอานนท์  แอหลัง  เจ้าของสวนเสาวรสสตูล  บอกว่า  เรียนจบมาเป็นครูได้เพียง  7 ปี  ตัดสินใจลาออก   กลับมาอยู่บ้านที่ จ.สตูล  มาทำงานเป็น  หน.นักวิชาการเกษตร ทต.กำแพง  และก็หารายได้เสริมจากการปลูกเสาวรส   ปัจจุบันจะแซงรายได้หลักแล้ว   โดยจุดเริ่มต้นของการปลูกเสาวรสพันธุ์บรูไน  เป็นความชอบส่วนตัว  เมื่อก่อนเคยอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย  ชื่นชอบในการปลูกพืช  จึงได้ลาออกจากงาน มาปลูกพืช   พืชชนิดแรกที่นำมาปลูกก็คือเสาวรส  เนื่องจากที่ดินใกล้บ้านเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมบ่อยครั้ง  และพบว่าเสาวรสเป็นพืชที่ทนน้ำ  จึงเป็นที่มาของการปลูกเสาวรส

       สำหรับเสาวรสที่นำมาปลูกเป็นสายพันธุ์บรูไน   มีความพิเศษคือ  ลูกใหญ่ลูกดก  มีรสชาติเปรี้ยวอมหวานนิดๆ  อร่อยกว่าพันธุ์อื่นเยอะ  จึงเอาลักษณะเด่นนี้มาปลูกในพื้นที่ของตน  การให้ผลผลิตอยู่ที่ 50 กิโลต่อ 1 ต้น ในพื้นที่มีทั้งหมด 35 ต้น  โดย 1 กิโลตกอยู่ที่ 8-9 ลูก  ให้ผลผลิตทั้งปี  ช่องทางการตลาดขายผ่านตลาดออนไลน์  มีบริการส่งทั่วประเทศ  ราคากิโลกรัมละ 80 บาท  ดูแลง่ายมากไม่ต้องห่วงเรื่องโรคหรือแมลง  เพราะเสาวรสเป็นพืชที่แมลงไม่สามารถทำลายเปลือกของมันได้  เพราะมีเปลือกแข็งทำลายได้ยาก  

อัพเดทล่าสุด

พม.สตูล จัดโครงการเสริมสร้างเครือข่ายสื่อมวลชน เพื่อประชาสัมพันธ์ภารกิจกระทรวง พม. และ ศรส.

พม.สตูล จัดโครงการเสริมสร้างเครือข่ายสื่อมวลชน เพื่อประชาสัมพันธ์ภารกิจกระทรวง พม. และ

          ด้าน นายปิยทัศน์   ทองปาน   นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สนง.เกษตรอำเภอละงู  กล่าวว่า   เสาวรสที่สวนให้ผลผลิตทั้งปี แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อผู้บริโภค  ทางสำนักงานเกษตรอำเภอละงู  จะมีการส่งเสริมให้มีการขยายพื้นที่  โดยมีการจำหน่ายต้นพันธุ์  แล้วส่งเสริมให้ตัวเกษตรกรได้ใบรับรองสินค้าการเกษตร  หรือว่า  GAP  จะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตได้   นอกจากนี้ก็จะแนะนำให้มีการแปรรูป เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตด้วย

       นายอานนท์  แอหลัง  เจ้าของสวนเสาวรสสตูล  บอกด้วยว่า  อนาคตจะเพาะพันธุ์ต้นขาย   โดยขณะนี้มีน้องสาวและครอบครัว  มาช่วยดูแลในการทำร้านน้ำ   จากเสาวรส  กาแฟเสาวรส   ติดต่อสอบถามโทร  094 – 876  3659

……..

Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา เกษตร - อาชีพ

  อส.สตูล ยึดหลักเกษตรพอเพียง โค่นสวนยางพารา ปรับทำสวนส้ม สวนผสม  7 ไร่ สร้างรายได้หลักแสนบาท รองรับชีวิตหลังเกษียณ

อส.สตูล ยึดหลักเกษตรพอเพียง โคนสวนยางพารา ปรับทำสวนส้ม สวนผสม  7 ไร่ สร้างรายได้หลักแสนบาท รองรับชีวิตหลังเกษียณ

        สวนส้มโชกุล  และส้มเขียวหวาน  รวมถึงพืชสวนอื่นๆที่กำลังให้ผลผลิต  บนพื้นที่ 7 ไร่  ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ต.เกตรี อ.เมือง จ.สตูล  บรรยากาศหลังฝนตก มีสายหมอกปกคลุมสดชื้นสวยงาม  พิกัดนี้เจ้าของสวนพร้อมเปิดให้นักท่องเที่ยว  และผู้สนใจเข้ามาดูงาน  เพลิดเพลินกับธรรมชาติ  และเพื่อเป็นแนวทางก้าวสู่วิถีเกษตรกร

        ส้ม เป็นพืชชนิดหนึ่งที่  นายอับดลเลาะห์ จังแดหวา อายุ 56 ปี  อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส. ) ประจำพื้นที่ว่าการอำเภอเมืองสตูล  ปลูกไว้พร้อมๆกับ สละสายพันธุ์อินโด และสายพันธุ์สุมาลี  รวมถึงกาแฟสายพันธ์โรบัสต้า  และแบ่งพื้นที่เป็นบ่อเลี้ยงปลา  ตามหลักเกษตรพอเพียง เดินตามรอยพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9  กล้าที่จะคิด กล้าที่จะทำ

        นายอับดลเลาะห์  จังแดหวา  บอกว่า  ส่วนตัวและครอบครัวชอบทำสวนเกษตรอยู่แล้ว  เดิมนั้นปลูกยางพารา แต่ช่วงที่ราคายางตกต่ำ จึงมีแนวคิดที่จะแบ่งปลูกสวนผลไม้  ซึ่งจะเลือกปลูกสิ่งที่ชอบกิน  อย่างส้ม  ซึ่งยอมรับว่าปลูกยาก  แต่ก็ทำได้   ตอนนี้ส้มสร้างรายได้ให้กับครอบครัวแล้ว  ในปีแรกมีรายได้จากส้มทั้ง 2 ชนิดที่ปลูกไว้หลักแสนบาท  และยังมีรายได้จากพืชชนิดอื่นอีก ที่สามารถสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวหลังเกษียณอย่างสบาย  โดยจะใช้เวลาว่างเว้นจากงานประจำเข้าสวน  มีภรรยาและลูกชาย คอยช่วยดูแลอีกแรงหนึ่ง

        นายอับดลเลาะห์ จังแดหวา  ในวัย 56 ปี  เปิดเผยอีกว่า  ได้ทดลองทำเกษตรแบบผสมผสาน แบ่งพื้นที่สวนยางพารามาทำเป็นสวนผลไม้ และขุดบ่อเลี้ยงปลา  โดยใช้ระยะเวลาเพียง 2 ปีเศษ ก็เก็บเกี่ยวผลผลิตขายสร้างรายได้เป็นอย่างดี  บนพื้นที่ 7 ไร่ ได้แบ่งปลูกสละสายพันธุ์ อินโด จำนวน 80 ต้น  ปลูกสละพันธ์สุมาลี 100 ต้น  ทั้งนี้ที่ให้ผลผลิตทำรายได้แล้วนั้นคือ  ส้มโชกุน และ  ส้มเขียวหวาน  รวม 160 ต้น  ปลูกต้นกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้า อีก 100 ต้น   และขุดสระทำบ่อเลี้ยงปลาน้ำจืด เช่น ปลาดุก, ปลาตะเพียน, ปลาสวาย และปลาพันธุ์อื่น ๆ เกือบ 10 ชนิด 

          ด้านนางฮาบีบ๊ะ จายุพันธ์  นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร เกษตรอำเภอเมืองสตูล กล่าวว่า ต้องขอชื่นชมว่า เกษตรกรรายนี้ มีแนวคิดดี ทำงานแบบครอบครัว และที่สำคัญ  นอกจากทำงานประจำแล้วยังใช้พื้นที่เพียง 7 ไร่ ทำสวนเกษตรผลไม้ผสมผสาน สร้างรายได้ดี ต่อปี ถึง 1แสน 4 หมื่นบาทเลยทีเดียว และยังเก็บเกี่ยวผลไม้อื่นๆ เช่น กล้วย มะพร้าว  ขายมีรายได้ในทุกๆวัน  

          สำหรับท่านที่สนใจสามารถติดต่อสอบถาม ได้ที่   080-544-5982

  ………………………………………………………………………….

 

พม.สตูล จัดโครงการเสริมสร้างเครือข่ายสื่อมวลชน เพื่อประชาสัมพันธ์ภารกิจกระทรวง พม. และ ศรส.

พม.สตูล จัดโครงการเสริมสร้างเครือข่ายสื่อมวลชน เพื่อประชาสัมพันธ์ภารกิจกระทรวง พม. และ

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

แม่ค้าทุเรียนใจดี    แจกฟรีหมอนทอง ชะนี 3000 กิโล แก่ชาวบ้าน หลังบนบานตาหลวงไข่ วัดเจดีย์   ยอดขายส่งออกทุเรียนได้กำไรทะลุเป้า

แม่ค้าทุเรียนใจดี    แจกฟรีหมอนทอง ชะนี 3000 กิโล แก่ชาวบ้าน หลังบนบานตาหลวงไข่ วัดเจดีย์   ยอดขายส่งออกทุเรียนได้กำไรทะลุเป้า

        เมื่อวันที่ 12  กันยายน 2566  ชาวจังหวัดสตูล ทั้งเด็กเล็ก  จนไปถึงผู้ใหญ่ คนเฒ่าคนแก่ กว่า 500 คน มายืนรอ รับทุเรียนสายพันธุชะนี หมอนทอง  ของนางสาวจุฑาพร   สุดสวย  อายุ 26 ปี  หรือ เจ๊เมย์  ที่ขายทุเรียนผ่านเพจร้านของตนเอง  ชื่อว่า พรรณารา  เด็กใต้ทุเรียนซิ่ง  โดยโพสต์ก่อนหน้านี้ว่า ( พรุ่งนี้เจอกันที่สตูล  แจกทุเรียนฟรี ช่วยแชร์กันเยอะๆ  จะนำไปแจกกินฟรี ยกให้ทั้งลูก ให้ชาวบ้าน โดยทำการแจกจ่ายบริเวณตรงข้าม ศาลากลางจังหวัดสตูล ใกล้ร้านข้าวมันไก่บังโกบ ตำบลพิมาน อำเภอเมือง จังหวัดสตูล )

      ทางทีมข่าวได้พูดคุยสอบถาม  นางสาวจุฑาพร   สุดสวย  อายุ 26 ปี (เจ๊เมย์) เจ้าของทุเรียน ซึ่งได้เล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า ที่ได้นำทุเรียนมาแจกให้กับชาวบ้านในครั้งนี้ คือได้บนบานสานกล่าวไว้กับตาหลวงไข่ วัดเจดีย์ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช  โดยบนไว้ว่า  ให้แผงทุเรียนของตนที่่ทำการขายส่งออก ถึงเป้าหมายรายได้ที่กำหนดไว้ ให้มีกำไรสุดปัง  ยอดขายเป็นหมื่นเป็นแสน    และถ้าสำเร็จดังที่ขอ  จะรีบไปแก้บนโดยนำทุเรียน สายพันธุ์หมอนทอง สายพันธุ์ชะนี  ลูกใหญ่ๆ ไปแจกให้กับชาวบ้านที่ยากจน ผู้มีรายได้น้อยและเด็กๆ ได้กิน 

     นางสาวจุฑาพร   เจ้าของทุเรียน ยังกล่าวอีกว่า  ในวันนี้สิ่งที่บนบานสานกล่าวไว้   เป็นผลสำเร็จบรรลุยอดถึงเป้าหมาย  จึงรีบมาแก้บนทันที  โดยได้นำทุเรียนหมอนทอง และชะนี จำนวน 3000 กิโลกรัม ประมาณ 1,000 ลูก และเมื่อแก้บนตามที่ขอไว้แล้ว ก็จะเดินทางไปกราบตาหลวงไข่   วัดเจดีย์   ที่จังหวัดนครศรีธรรมราชอีกครั้ง  เพราะเชื่อว่า หากบนบานสานกล่าวอะไรไว้ เมื่อท่านรับสิ่งที่เราบนบาน เราต้องรีบมาแก้ หากช้ากลัวท่านจะไม่ให้พรอีก

อัพเดทล่าสุด

พม.สตูล จัดโครงการเสริมสร้างเครือข่ายสื่อมวลชน เพื่อประชาสัมพันธ์ภารกิจกระทรวง พม. และ ศรส.

พม.สตูล จัดโครงการเสริมสร้างเครือข่ายสื่อมวลชน เพื่อประชาสัมพันธ์ภารกิจกระทรวง พม. และ