Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

  สตูล-เร่งประชาสัมพันธ์เชิญชวนชิม แตงโมริมทะเลแหลมสน ที่หวานฉ่ำกรอบ หน้าสวนขายเพียงกก.ละ 10-12 บาท หลังแตงโมหลายพื้นที่ออกมาตีตลาด    

สตูลเร่งประชาสัมพันธ์เชิญชวนชิม แตงโมริมทะเลแหลมสน ที่หวานฉ่ำกรอบ หน้าสวนขายเพียงกก.ละ 10-12 บาท หลังแตงโมหลายพื้นที่ออกมาตีตลาด

          หลังว่างเว้นจากการออกเรือประมงและทำนาข้าว  ชาวบ้านริมชายทะเลหมู่ที่ 3 ตำบลแหลมสน อำเภอละงู จังหวัดสตูล  จะลงมือปลูกแตงโมพันธุ์  เมย์ย่า และ โบอิ้ง  ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมของตลาด  และเหมาะสมกับการปลูกในพื้นที่   เนื่องจากที่นี่มีสภาพเป็นดินทรายน้ำไม่ขัง  มีความเป็นกรดและด่าง  มีแคลเซียมจากเปลือกหอย  จึงทำให้แตงโมแหลมสนมีความหวาน  กรอบอร่อย  และขึ้นชื่อมาอย่างยาวนาน

 

         แตงโมแหลมสน  จะปลูกปีละ 2 ครั้ง บนพื้นที่ 200 ไร่  มีเกษตรกรปลูกมากถึง 60 ราย  โดยภายใน 60 วัน  ที่นี่จะเต็มไปด้วยแตงโม เฉลี่ยผลผลิต 2.5 ตัน/ไร่ สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกร  30,000 บาท/ไร่   จากราคาที่จำหน่ายหน้าสวน 10 – 12 บาท/กิโลกรัม

 

          นายวัชระ  ติ้งโหยบ   อายุ 51 ปี  เกษตรกรหมอดินอาสา  ปลูกแตงโมแหลมสน  บอกว่า  ในช่วงแล้งเกษตรกรจะปลูกในระบบบ่อน้ำตื้น  และระบบน้ำหยดที่ให้ปุ๋ยไปพร้อมกับการปล่อยน้ำ  รดสวนแตงโม  เป็นปุ๋ยเคมีกับปุ๋ยอินทรีย์  ใช้เวลาปลูกเพียง 60 วัน  ก็เก็บผลผลิตได้  ในช่วงแล้งนี้ก็จะประสบปัญหาเรื่องแมลงเพลี้ยไฟ  เพลี้ยอ่อน  ที่เข้ามาดูดน้ำเลี้ยงทำให้ผลไม่โตบ้างเหมือนกัน  อีกทั้งปัญหาแล้งที่ยาวนานไปหน่อย  แต่ก็ยังพอใจ   ราคาพออยู่ได้  แต่ไม่ดีเท่าปีก่อนที่กิโลกรัมละ 15 บาท  แต่ปีนี้เหลือเพียง  10 บาท  อยากให้ภาครัฐช่วยหาแม่ค้ามารับซื้อ  เพราะแตงโมหลายพื้นที่ออกพร้อมกัน  หลายคนหวัง  จะขายในช่วงเดือนถือศีลอด

 

         นางสาวมนัสนันท์ นุ่นแก้ว เกษตรอำเภอละงู พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอละงู ลงพื้นที่ตรวจสอบ   สวนแตงโมของเกษตรกร   ตลาด  และประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จัก  หลังพบว่าปีนี้เกษตรกรประสบปัญหาทางการตลาด  ที่มีการปลูกแตงโมพร้อม ๆ กันในหลายพื้นที่   ทำให้แม่ค้ามารับซื้อลดลง   ในการรับซื้อผลผลิตของเกษตรกร โดยได้ประสานกลุ่มเครือข่ายต่าง ๆ ให้เข้ามารับซื้อผลผลิตเพิ่มขึ้น  หากลูกค้าท่านใดสนใจสามารถกติดต่อสอบถาม  ได้ที่เกษตรอำเภอละงู  หรือติดต่อเกษตรกรโดยตรงที่   สนใจติดต่อ 092-627  3653  พร้อมกันนี้ทางเกษตรอำเภอละงู  จะช่วยส่งเสริมและผลักดันให้เกษตรกรได้รับมาตรฐาน GAP ด้วย

          นอกจากนี้  ที่นี่ยังมีการปลูกแตงไท  และพริกสด อีกหนึ่งแหล่งรายใหญ่ของจังหวัดสตูลด้วย

…………………………………..

 

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 ไส้ไก่ย่างกอและโบราณ  ขายมานาน 10 ปี  ไม้ละ 10 บาท อาหารละศีลอดขายดี  ยอดปัง  วันละ 200-250 ไม้     

ของถูกที่สตูล..เมนูไส้ไก่ย่างกอและโบราณ  ขายมานาน 10 ปี  ไม้ละ 10 บาท อาหารละศีลอดขายดี  ยอดปัง  วันละ 200-250 ไม้

         ตกเย็นในทุก ๆ วัน  ช่วงเดือนถือละศีลอดของพี่น้องชาวไทยมุสลิม  ในพื้นที่ตำบลพิมาน   อำเภอเมือง   จังหวัดสตูล  หนึ่งในเมนูที่หลายคนนึกถึง  ทานง่าย จ่ายคล่อง เมนูประจำถิ่นกำลังฮิตในเวลานี้  คือ เมนูไก่ย่างกอและโบราณ  ที่ขายดี ชนิดแบบย่างแทบไม่ทัน  ไม้ละ 10 บาทเท่านั้น

        โดยร้านนี้เป็นของนางสาวศิริขวัญ    มาสชรัตน์    เจ้าของร้านไก่ย่างกอและสูตรโบราณ    อยู่ในซอยนกบินหลา   ถนนสฤษดิ์ภูมินารถ  ซอย 3    ตำบลพิมาน   อำเภอเมือง   จังหวัดสตูล  ที่นี่มีไก่ย่าง  6 เมนู  ได้แก่  ไก่ย่างนมสด   ไก่ย่างเทอริยากิ   ไก่ย่างพริกไทยดำ  เนื้อโคขุนย่าง  และกำลังได้รับความชื่นชอบ  คือเมนูไส้ไก่กอและย่าง  เป็นการนำไส้ไก่ที่ทำความสะอาดอย่างดีมาคลุกกับผงขมิ้น  หอมอบอวล  ขายดีทุกเมนู  เพียงไม้ละ 10 บาท  และข้าวเหนียวห่อละ 5 บาท  โดยเฉพาะในเดือนรอมฏอน หรือ เดือนถือศีลอดพี่น้องมุสลิม จะขายดีเป็นเท่าตัวจากวันละ 100 ไม้  เพิ่มเป็น 200 ไม้ถึง 250 ไม้

           ที่นี่เป็นการทำธุรกิจในครอบครัว  คุณพ่อมีหน้าที่ย่าง  คุณแม่มีหน้าที่เสียบไม้ ส่วนคุณลูกมีหน้าที่ขาย และไปส่งตามออเดอร์  ซึ่งรับรองได้ว่าที่นี่สูตรน้ำราดอร่อยเป็นพิเศษ  เผ็ดนำเล็กน้อย เด็ก ๆก็ทานได้ โดยสูตรน้ำราด  ทำมาจากถั่วไม่ได้ใส่กะทิ  และผสมกับเครื่องแกงสูตรปัตตานีทำเอง  นอกจากนี้ทางร้านยังมี  หมี่คลุกโบราณ ผัดหมี่เบตง ในราคาชุดละ 40 บาท    เริ่มขาย ตั้งบ่าย 3 โมงเย็น  มีบริการจัดส่งตามบ้าน  โทรสอบถาม  086-966-9398 และ 088-9190-695   หรือทักเฟสส่วนตัว Sirikwan mascharat   หยุดทุกวันเสาร์และอาทิตย์

……………………………………………………………………………………………………………………….

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 ขนมพื้นเมืองเตาฟืน  100 ปี สืบทอดสู่รุ่นที่ 4 ครองใจนักท่องเที่ยวและชาวสตูล แห่อุดหนุนกันคึกคักจนเพิ่มกำลังผลิต     

ขนมพื้นเมืองเตาฟืน  100 ปี สืบทอดสู่รุ่นที่ 4 ครองใจนักท่องเที่ยวและชาวสตูล แห่อุดหนุนกันคึกคักจนเพิ่มกำลังผลิต

         บรรยากาศการจับจ่ายในช่วงเดือนรอมฎอน หรือเดือนถือศีลอดของพี่น้องชาวไทยมุสลิมทางภาคใต้หลายพื้นที่คึกคัก   อย่างเช่นที่ร้านแห่งนี้  ซึ่งตั้งอยู่เส้นทางมุ่งหน้าไปท่าเทียบเรือปากบารา (สู่เกาะตะรุเตาและเกาะหลีเป๊ะ)  ต.ปากน้ำ  อ.ละงู  จ.สตูล   ตั้งแต่ 9 โมงเช้าของทุกวันเป็นต้นไป  จะมีลูกค้ามายืนรอจับจ่ายกันตั้งแต่เช้าเพื่อซื้อขนมคาวหวานไว้ละศีลอดในช่วงเวลาประมาณ  18.30 น. ซึ่งเป็นอยู่อย่างนี้ทุกวัน  

 

         ร้านก๊ะกร หรือร้านของ  นางทิพากร  บิหลาย อายุ  45 ปีเจ้าของร้านซึ่งเป็นทายาทสืบทอดการทำขนมรุ่นที่ 4 แล้ว ยอมรับว่า ลูกค้าที่มาซื้อเป็นลูกค้าประจำตั้งแต่สมัยรุ่นปู่ย่าตายาย ที่ทำขนมขายมานานถึง 100 ปี  โดยทุก ๆ วันจะทำขนมหวานวันละ 15 ชนิด อาทิ ขนมแบงกัง ขนมหม้อแกงไข่  ขนมหม้อแกงถั่ว  ขนมชั้น  ขนมเมล็ดขนุน ขนมทองหยอด และขนมโกยยาโกยที่ทำจากแป้งข้าวเหนียวน้ำตาลแดงและกะทิ   ขายตั้งแต่ราคา ชิ้นละ 2-3 บาท  ปัจจุบันขายที่ชิ้นละ 5 – 10 บาท (ในเมนูที่ใส่ไข่จะราคาชิ้นละ 10 บาท)

 

         โดยขนมที่ได้รับความนิยมคือ  ขนมแบงกัน  ลักษณะขนมคล้ายขนมหม้อแกง  แต่!ใส่ไข่น้อยกว่า   เพราะมีรสชาติอร่อยถูกปากคนพื้นที่   เพราะมีความมัน และกลมกล่อม เนื่องจากขนมทุกชนิดของที่นี่  ส่วนใหญ่จะใช้เตาไม้ฟืน(ยางพารา)  เพื่อเพิ่มความหอมของขนม  และลดต้นทุนการผลิตทำให้ขายได้ในราคาถูก   ซึ่งปกติทางร้านขาย  ในเวลา 15 นาฬิกาถึง 16 นาฬิกา  ของก็จะหมดเกลี้ยง  แต่ในช่วงนี้ลูกค้าจะมารอซื้อตั้งแต่เช้า  ทำให้ทางร้าน  ต้องทำไป  ขายไปกันแบบสด ๆ 

         นางสาวนาเดีย  ลูกค้า บอกว่า เป็นลูกค้าประจำซื้อมาตั้งแต่เด็ก ๆ ชอบในความสดอร่อย มีขนมหลากหลายให้เลือก รสชาติอร่อยถูกปาก โดยขนมที่ซื้อส่วนใหญ่คือขนมแบงกัง  ขนมลูเป๊ะ

 

          ทายาทรุ่นที่ 4 ขายมานานกว่า 100 ปีตั้งแต่บรรพบุรุษ   บอกว่า  ครอบครัวทำขนมหวานขาย   มายาวนานจากรุ่นสู่รุ่น  ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านและนักท่องเที่ยว  มาซื้อหาก่อนลงเรือไปเที่ยวชมเกาะแก่งในจ.สตูล 

 

           ในแต่ละวันในช่วงนี้  ทางร้านจะทำขนมวันละ 40 ถาด (ซึ่งขนม 1 ชนิดจะทำอย่างละ 4-6 ถาด)  ภายใน 1 ถาดจะได้ 30 ชิ้น  ขายยกถาดละ 200 บาท ส่วนเมนูไส่ไข่อย่างสังขยา หรือหม้อแกง  ขายยกถาดละ 250 บาท  แรงงานที่มาช่วยกันทำขนม  ก็เป็นคนในครอบครัว ญาติและแรงงานในหมู่บ้าน  ท่านได้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่   062 074 9335

……………………….

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 “ขนมตาหยาบ” ชายแดนใต้ที่สตูล  ไส้หวานฉ่ำสร้างรายได้งามช่วงรอมฎอน     

“ขนมตาหยาบ” ชายแดนใต้ที่สตูล  ไส้หวานฉ่ำสร้างรายได้งามช่วงรอมฎอน

           ที่บ้านเลขที่  83/1 ม.7 ต.ควนสตอ อ.ควนโดน  จ.สตูล  นางฮาหยาด  เกปัน  วัย 66 ปี   กำลังกุลีกุจอทำขนมโบราณ  หรือที่ชาวบ้านในพื้นถิ่นแดนใต้สตูลเรียก  “ขนมตาหยาบ”  มีลักษณะคล้ายขนมสายไหม  และ  ขนมโตเกียว  เพราะด้านนอกห่อด้วยแป้งนุ่มๆ  ที่มีการผสมสีเขียวจากใบเตย   หวานฉ่ำด้วยไส้มะพร้าวทึนทึกไปค่อนข้างอ่อน   ซึ่งเป็นการผสมผสานที่เข้ากันได้อย่างดี

 

        โดยสูตรเริ่มจากน้ำมะพร้าวทึนทึกไปผัดกับน้ำตาลทรายขาว และน้ำตาลทรายแดง   บางรายใส่น้ำมันพร้าวอ่อนลงไปด้วย ใส่เกลือนิดหน่อย   จากนั้นเตรียมแป้งสาลีอเนกประสงค์  เกลือ  ไข่ไก่ และน้ำใบเตยลงไป ผสมให้เข้ากัน   เสร็จแล้วก็ไปเตรียมกระทะตั้งไฟอ่อน  โดยเอาผ้าชุบน้ำมันทาบาง ๆ จากนั้นเทแป้งลงไปและทำให้เป็นแผ่นกลมๆ ก่อนจะนำออกมาใส่ไส้มะพร้าวอ่อนพร้อมกับห่อเป็นแท่ง   เท่านี้ก็เสร็จพร้อมทานกับน้ำชาหรือกาแฟได้เลย

 

          นางฮาหยาด  หรือ  ม๊ะฮาหยาด  บอกว่า  เริ่มทำขนมตาหยาบโบราณมาจากพ่อแม่ที่เปิดร้านขายมาก่อนกว่า 30 ปีที่เรียนรู้ทำขนมขนเป็นที่ติดอกติดใจลูกค้าประจำ และลูกค้าคนรุ่นใหม่ท่าชื่นชอบขนมโบราณทานง่าย แป้งนิ่มหนึบไส้หวานฉ่ำเข้ากันได้ดี  ขนมชนิดนี้ทำให้สามารถเลี้ยงลูกรับราชการ และโตมาได้ถึง 4 คน โดยขายตั้งแต่วันละ 200 บาท ปัจจุบันนี้ในช่วงรอมฏอนวันละ 2,000 บาท ลูก ๆ บอกให้หยุดทำได้แล้วแต่ม๊ะยังชื่นชอบและบอกว่าไหว เพราะลูกค้ายังเรียกร้องทำให้ม๊ะฮาหยาดต้องทำขนมต่อ

 

           สำหรับขนมตาหยาบโบราณ  จะทำขายเป็นกล่องละ 10 บาท (ข้างในมีจำนวน 4 ชิ้น) ในช่วงรอมฏอนนี้จะมีออเดอร์สั่งรัว ๆ เพราะใช้ทานแก้บวช จะหวานฉ่ำชุ่มคอ และทานเป็นอาหารเบรกระหว่างวันได้เป็นอย่างดี ส่วนใครจะนำไปประกอบอาชีพทุนไม่มากนักรายได้ดีหากมีฝีมือ  โดยอุปกรณ์ของม๊ะฮาหยาด  บอกว่า ของใหม่นำมาทำขนมแล้วไม่อร่อย ม๊ะ  ใช้กระทะเหล็กใบเก่าอายุ กว่า 30 ปี ตะหลิว และจวัก แม้จะมีบางส่วนชำรุดแต่ก็ยังปรุงเมนู ขนมตาหยาบได้อร่อยเหาะ จนมีออเดอร์ปังวันละ 200 กล่องเพียง 2 – 3 ชั่วโมงก็ทำเสร็จหมดเกลี้ยง โดยพ่อค้าแม่ค้า  10 เจ้า  มารับที่บ้านเพื่อไปจำหน่าย

         สนใจติดต่อสั่งขนมให้ที่โทร 065 610 4484

…………………………

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 สตูล -แล้งนี้ชาวทุเรียนโอดครวญกับสภาพอากาศที่ร้อนและแล้งจัด   ส่งผลกระทบให้ช่อดอกทุเรียนล่วงหล่น  และเชื่อว่าจะแล้งยาวนานไปจนถึงพ.ค.นี้  ผลผลิตปีนี้พยากรณ์น้อยกว่าทุกปี  แม้เกษตรกรจะมีระบบน้ำ     

สตูล แล้งนี้ชาวทุเรียนโอดครวญกับสภาพอากาศที่ร้อนและแล้งจัด   ส่งผลกระทบให้ช่อดอกทุเรียนล่วงหล่น  และเชื่อว่าจะแล้งยาวนานไปจนถึงพ.ค.นี้  ผลผลิตปีนี้พยากรณ์น้อยกว่าทุกปี  แม้เกษตรกรจะมีระบบน้ำ

          ที่สวนโกฮก  หมู่ 2 เขตเทศบาลตำบลฉลุง  อำเภอเมือง จังหวัดสตูล   เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอเมืองสตูล   ลงพื้นที่เยี่ยมสวนแห่งนี้    ซึ่งมีพื้นที่ 10 ไร่  ได้ปลูกทุเรียน 100 ต้น  หลังพบว่า   ที่สวนแห่งนี้ได้รับผลกระทบจากช่อทุเรียนได้แห้งและล่วงหล่นจำนวนมาก  แม้สวนแห่งนี้   จะเป็นสวนที่มีระบบน้ำเพียงพอ   แต่สภาพอากาศที่ร้อนและแล้งจัด  เชื่อว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะยาวนานไปจนถึงเดือน พ.ค.นี้   ทำให้เกษตรกรแม้จะมีระบบน้ำ   ต้องเพิ่มความถี่ในการรดน้ำที่โคนต้น  เป็นระยะ ๆ  เพื่อหล่อเลี้ยงรักษาระดับความชื้น    

 

          นายพิสุทธิ์  กั้วพานิช  อายุ 46 ปีเจ้าของสวนทุเรียน  กล่าวว่า  ปีนี้ต้องดูแลสวนทุเรียนเป็นพิเศษเพราะเป็นพืชหลักที่ทำรายได้ให้กับทางสวน รองลงมาเป็นมังคุด และเงาะ  สถานการณ์ภัยแล้งขณะนี้ทางสวนกลัวมาที่สุดคือ  ฝน เพราะหากฝนตกหนักในช่วงนี้อาจจะทำให้ผลที่เริ่มติดดอก  ล่วงหล่นเพิ่มได้   แต่ก็ยังมีพืชบางชนิดที่ยังคงต้องการช่วงแล้ง  พร้อมเชื่อว่าปีนี้   ผลผลผลิตจะลดน้อยกว่าทุกปีเหลือร้อยละ   60-70

 

        ขณะที่ทางด้านเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองสตูล  ได้แนะนำให้เกษตรกร  รดน้ำพืชผลเป็นช่วงๆ ก่อนออกดอก  โดยจะให้น้ำในระยะเวลานึง   เมื่อติดดอก…..ผสมเกสร ต้องลดปริมาณน้ำลง   เกษตรกรเองก็ต้องประเมินว่าพื้นที่ของตัวเองมีปริมาณน้ำเพียงพอหรือไม่  สำนักข่าวไทยอสมท.รายงานจากจ.สตูล 

 

          นางสาวศรัณยา สว่างภพ  นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองสตูล กล่าวว่า  สำหรับพืชที่มีความเสี่ยงจะให้ผลผลิตลดน้อยลง   ในช่วงแล้งนี้   ได้แก่   ทุเรียน มังคุด  เงาะ จำปาดะ ลองกอง  ซึ่งต้องมีการพยากรณ์อีกครั้ง   ในช่วงเมษายนว่า   จะมีฝนตกลงมาหรือไม่   สำหรับเกษตรกรรายไหนที่มีระบบน้ำ  สำรอง   ในช่วงนี้ไม่ต้องการให้ฝนตกเพราะในสวนกำลังออกดอกติดผลผลิต    ผิดกับ เกษตรกร   ที่ไม่มีระบบน้ำ   ในช่วงนี้ต้องการเพียง   รักษาต้น   ให้รอดตายจากฤดูแล้งนี้

………………………………

Categories
ข่าวทั่วไป

สตูล-พลังภาคีเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง  ประกาศให้ท่าเรือตำบลขอนคลาน เป็นท่าเรือสีขาวแห่งแรกของจังหวัด  แก้ปัญหายาเสพติดด้วยการจัดการกันเอง

สตูล..พลังภาคีเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง  ประกาศให้ท่าเรือตำบลขอนคลาน เป็นท่าเรือสีขาวแห่งแรกของจังหวัด  แก้ปัญหายาเสพติดด้วยการจัดการกันเอง

         ปัญหายาเสพติดยังไม่มีท่าทีว่าจะลดน้อยลง  แม้รัฐบาลได้กำหนดให้ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี   นำความปลอดภัยมาสู่พี่น้องประชาชน   ปัจจุบันภายใต้แนวคิด  เปลี่ยนผู้เสพมาเป็นผู้ป่วย   ดังนั้นหากชุมชนมีความเข้มแข็ง   ไม่มีผู้เสพหน้าใหม่   ผู้ค้าและขบวนการยาเสพติดก็จะหมดสิ้นไปในที่สุด   แนวคิดนี้เป็นที่มาของการทำโครงการท่าเรือสีขาว  ของตำรวจภูธรจังหวัดสตูล  ที่กำหนดให้ทุกสถานีต้องประกาศท่าเรือสีขาวให้ได้ก่อนสิ้นปีงบประมาณ  จากจำนวนท่าเรือที่มีมากถึง 100 แห่ง

          ที่ท่าเทียบเรือบ้านราไว   หมู่ที่ 4  ตำบลขอนคลาน  อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล  ที่ชุมชนแห่งนี้ชาวบ้านประกอบอาชีพประมงเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์   รวมทั้งอาชีพต่อเนื่องจากประมง  การทำประมงที่นี่   ใช้เรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก  ทำประมงชายฝั่งเพื่อเลี้ยงชีพ   บวกกับความเข้มแข็งของคนในชุมชน ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น และหลายภาคส่วนราชการ   ให้ความร่วมมือด้วยดีในการเข้ามาแก้ไขปัญหา  ป้องกันยาเสพติดจนเกิดความเข้มแข็ง 

         ทำให้สถานีตำรวจภูธรทุ่งหว้า สามารถประกาศให้ท่าเรือบ้านราไว  ตำบลขอนคลาน  เป็นท่าเรือสีขาวแห่งแรกของจังหวัดสตูลได้สำเร็จ   จากความร่วมมือของทุกฝ่าย  ที่เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันป้องกัน และแก้ไขปัญหา  โดยมีชุมชนเป็นหัวใจหลัก  ในการขับเคลื่อนร่วมกับ ตำรวจ และสาธารณสุข และหลายภาคส่วนที่ร่วมด้วยช่วยกัน

         นายประพันธ์  ขาวดี  กำนันตำบลขอนคลาน  กล่าวว่า  จากการพูดคุยกันหลายเวทีของภาคีเครือข่ายในชุมชน  ร่วมกันแก้ไขปัญหายาเสพติด  โดยเริ่มต้นจากกองทุนแม่ด้วยเงินงบประมาณเบื้องต้น 8,000 บาท เพื่อใช้ในการดูแลช่วยเหลือคนวิกลจริต บำบัดคนในชุมชน  ป้องกันจากปัญหายาเสพติด จึงได้จัดกิจกรรมร่วมกันเพื่อระดมทุน  แคมปิ้งหาดราไว  ซึ่งได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีไว้ทำกิจกรรมในชุมชนในการแก้ไขปัญหายาเสพติด  รวมทั้งชุมชนช่วยกันตรวจสอบให้ข้อมูลเบาะแสในการเฝ้าระวังป้องกันร่วมกับเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาร่วมกันจนเป็นที่มาของการได้ชัยชนะ  โครงการท่าเรือสีขาวแห่งแรกของจังหวัดสตูล

 

            โครงการท่าเรือสีขาว มุ่งเน้นการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเป็นรูปประธรรมแบบยั่งยืนเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยและสงบสุข   ในส่วนของสภ.ทุ่งหว้า   ประชาชนประกอบอาชีพประมงเป็นส่วนใหญ่ดังนั้นการดำเนินโครงการนี้ถือว่ามีความมีประโยชน์อย่างยิ่งและสอดรับกับบริบทของพื้นที่ในการดำเนินการดังกล่าวซึ่งได้รับความร่วมมือจากกำนันตำบลขอนคลาน  พัฒนาชุมชนอำเภอทุ่งหว้า   โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลขอนคลาน  อาสาสมัครสาธารณสุข   ตลอดจนพี่น้องประชาชนที่ประกอบอาชีพประมงและอาชีพที่เกี่ยวเนื่องเป็นอย่างดี  จนทำให้บรรลุผลตามโครงการเป็นอย่างดี

          พลตำรวจตรีจารุต  ศรุตยาพร  ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสตูล  กล่าวว่า  โครงการท่าเรือสีขาว ทุกสถานที่ ที่มีท่าเรือในจังหวัดสตูลต้องจัดทำฐานข้อมูล ตั้งแต่คนขับเรือ คนเรือ ขยายผลไปว่าคนขับเรือบ้านอยู่ที่ไหนและวิถีชีวิตโดยให้ไปดูที่บ้านว่ากินอยู่อย่างไร   เป็นการทำข้อมูลท้องถิ่นเพื่อขยายผล  เช่นเดียวกับที่สถานีทุ่งหว้า ตำบลขอนคลาน  ต้องมีการทำข้อมูลขยายผลไปถึงเรือประมงส่งสัตว์น้ำทะเลไปที่ไหน  ให้กับใคร  ขยายไปถึงการตรวจสารเสพติด  ในร่างกายตลาดแห่งนั้นเพื่อให้เชื่อว่าไม่มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด  นั่นก็แสดงให้เห็นว่าไม่มีผู้เสพในพื้นที่  จึงได้มอบธง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า ที่นี่เป็นพื้นที่สีขาว ปลอดยาเสพติด

         นี่คือเป้าวัตถุประสงค์ของเราคือไม่ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด  เพื่อเป็นการลดผู้เสพ  ซึ่งการทำงานจะทำเพียงหน่วยเดียวไม่ได้ต้องร่วมด้วยช่วยกัน 

         โดยทางตำรวจภูธรจังหวัดสตูล  ได้ตั้งเป้าหมายก่อนสิ้นปีงบประมาณนี้ทุกท่าเรือต้องประกาศเป็นท่าเรือสีขาวให้ได้   แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย  ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือกัน 

………………………..

Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

   สตูล-แขวงทางหลวงสตูลเอาใจบุคลากรและประชาชน  เปิดห้องฟิตเนสและเต้นแอโรบิคบริการ  ให้ทุกคนมีสุขภาพกายใจที่ดี

สตูล-แขวงทางหลวงสตูลเอาใจบุคลากรและประชาชน  เปิดห้องฟิตเนสและเต้นแอโรบิคบริการ  ให้ทุกคนมีสุขภาพกายใจที่ดี

         ที่แขวงทางหลวงสตูล อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล นายศักระ กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการส่งเสริมสุขภาพชาวทาง แขวงทางหลวงสตูล โดยมีนายชาตรี ณ ถลาง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล นางสาวธัญรัศม์ ไตรพันธ์รัชตะ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสตูล  นายณรงค์ศักดิ์ นันทคำภิรา ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงสตูล พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก

         แขวงทางหลวงสตูล จัดกิจกรรมขึ้นเพื่อให้บุคลากรของหน่วยงานราชการและประชาชนทั่วไป ได้ออกกำลังกาย เป็นการส่งเสริมให้มีสุขภาพพลานามัยทั้งร่างกายและจิตใจที่ดี ส่งผลให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี

            โดยให้บริการหลังจากปฏิบัติงานจะมีการเต้นแอโรบิค   นอกจากนี้ยังมีห้องฟิสเนสไว้เพื่อรองรับการออกกำลังกายอีกรูปแบบหนึ่ง โดยจะมีครูผู้มีความรู้ ทักษะ ประสบการณ์มาให้คำแนะนำด้วย ทั้งนี้การออกกำลังกายด้วยวิธีการที่ถูกต้องและเหมาะสม ตามระดับความสามารถของร่างกายถือเป็นกุญแจสำคัญ เพราะเป็นประโยชน์ต่อร่างกายและจิตใจของผู้ออกกำลังกายโดยตรง ส่วนประโยชน์ในทางอ้อมจะช่วยให้ผู้ที่ออกกำลังกายได้ผ่อนคลายความเครียด โดยทั่วไป

 

       ประโยชน์ที่ได้รับจากการออกกำลังกาย มักเกี่ยวข้องกับระบบหัวใจ ปอด การไหลเวียนเลือด และความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเป็นหลัก ผลพลอยได้จากการออกกำลังกายนั้น สามารถลดอัตราการเกิดโรค หรือลดความรุนแรงในบางโรคได้

………………………………………………

Categories
ข่าวเด่น

สตูล-ประมงพื้นบ้านดีเดย์รวมพล  ค้านแก้กฎหมาย  เปิดช่องให้เครื่องมือประมงหนักเปลี่ยนมาเป็นประมงพื้นบ้าน

สตูล-ประมงพื้นบ้านดีเดย์รวมพล  ค้านแก้กฎหมาย  เปิดช่องให้เครื่องมือประมงหนักเปลี่ยนมาเป็นประมงพื้นบ้าน

          วันที่ 13 มีนาคม 2567 ที่ศาลากลางจังหวัดสตูล  นายเหลด   เมงไซ   ตัวแทนจากประมงพื้นบ้านท่าแพ  และตัวแทนในอำเภอต่างๆของจังหวัดสตูลกว่า30 คน  เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายชัยวุฒิ  บัวทอง  ปลัดจังหวัดสตูล  หลังได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัด  นายธนภัทร   เด่นบูรณะ  ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสตูล, ผู้แทนประมงจังหวัด  ,เพื่อผ่านไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 พ.ศ. ….

 

          ถึงข้อกังวลและข้อเสนอต่อการแก้ไขกฎหมายประมงฯของชาวประมงพื้นบ้าน ถึงสภาผู้แทนราษฎร  โดยสืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติเห็นชอบในหลักการ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.๒๕๕๘ พ.ศ. …. ตามที่คณะรัฐมนตรี เสนอ พร้อมกับฉบับของพรรคการเมืองต่างๆ อีก ๗ ฉบับ และได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติฯดังกล่าว จำนวน ๓๗ คน ไปพิจารณารายละเอียด โดยใช้ร่างฉบับของคณะรัฐมนตรีเป็นฉบับหลัก ในการพิจารณา และมีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แล้วสองครั้ง

          โดยมีสาระสำคัญ คือ การตัดวัตถุประสงค์การคุ้มครองช่วยเหลือชาวประมงพื้นบ้านและชุมชนประมงท้องถิ่น ออก รวมทั้งกรณี การลดเขตทะเลชายฝั่ง การเปิดช่องให้เครื่องมือประมงหนักเปลี่ยนมาเป็นประมงพื้นบ้าน เปลี่ยนแปลงข้อกำหนดเกี่ยวกับกรรมการประมงประจำจังหวัด และการลดโทษลง เป็นต้น

 

          ทั้งนี้ กลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน ในจังหวัดชายทะเล ประกาศไม่เห็นด้วยกับการ ยกเลิกการคุ้มครองประมงพื้นบ้าน โดยมองว่า ชาวประมงพื้นบ้านเป็นประชาชนในท้องถิ่น ที่จำเป็นต้องได้รับการคุ้มครอง การช่วยเหลือสนับสนุนจากภาครัฐ

 

          จึงกำหนดวัน ดีเดย์ วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๗ นัดหมายชาวประมงพื้นบ้านทุกจังหวัดชายฝั่งทะเล เข้ายื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด ถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.๒๕๕๘ พ.ศ. …. พร้อมกัน

 

          นายเหลด   เมงไซ   ตัวแทนจากประมงพื้นบ้านท่าแพ  กล่าวว่า  อยากให้ทุกคนคิดตามว่าเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงหรือชนิดทำลายล้างกลับเข้ามาทำประมงชายฝั่งที่ประมงพื้นบ้านทำมาหากินทำทั้งกอบ้างซั้งเชือกบ้าง พยายามที่จะรักษาห่วงโซ่อาหาร เพื่อให้ปลาได้เติบโต แต่กลับพยายามทำให้เครื่องมือเหล่านี้เข้ามาอยู่ในทะเลชายฝั่ง  และที่น่าอนาถคือ 10 เครื่องมือประมงเหล่านี้ได้กลายมาเป็นประมงพื้นบ้าน  ให้อำนาจประมงจังหวัดซึ่งอำนาจเหล่านั้นก็มาจากประมงพาณิชย์ เอาลงที่กลายพันธ์ก็คือประมงพาณิชย์เดิม  มองว่ามันเป็นการทำเป็นแบบกระบวนการ กระบวนการทำลายล้างทรัพยากร รู้จักแต่กอบโกยไม่รู้จักการรักษา

………………

Categories
ข่าวทั่วไป ท้องถิ่น-การเมือง

ขยะแลกบุญ ลดรายจ่ายปีละ 2 แสนบาท

ขยะแลกบุญ ลดรายจ่ายปีละ 2 แสนบาท

         ชาวบ้านจิตอาสาทั้งชายหญิงในหมู่บ้านที่ 12  บ้านเขาน้อยใต้  ตำบลฉลุง  อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ต่างพร้อมใจกันมาช่วยคัดแยกขยะ  ออกเป็นแต่ละประเภท   เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการต่อ  ซึ่งขยะทั้งหมดนี้เป็นขยะที่มาจาก  จุดรับบริจาคขยะแลกบุญ  ทันทีที่จุดรับขยะเต็มจะมีการนำมาคัดแยกในทันที

 

          นายสาและ  ตำบัน  ประธานกลุ่มขยะแลกบุญ กล่าวว่า แนวคิดของคนในหมู่บ้านที่เห็นตรงกันคือ   อยากให้หมู่บ้านสะอาด มีการจัดเก็บขยะเป็นที่เป็นทาง ใช้ประโยชย์จากขยะให้สูงสุด   และจัดหารายได้จากขยะเพื่อมาเป็นส่วนหนึ่งของการทำบุญ  ช่วยเด็กกำพร้าในหมู่บ้าน  โดยทำบุญผ่านมัสยิดในหมู่บ้านชุมชนของตนเอง 

 

          นายอดุลย์  โย๊ะหมาด  คอเต็บมัสยิดดารุสลาม กล่าวว่า  โครงการขยะแลกบุญมีการกำหนดไว้  ในการรับบริจาคขยะแลกบุญด้วยกัน  2 จุดคือ   ที่มัสยิด และ จุดที่สองที่ บาลาย  เงินที่ได้มาจะนำไปช่วยเหลือผู้ยากไร้และมาทำกิจกรรมด้านศาสนาของมัสยิด  ช่วยเหลือเด็กกำพร้า   โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และยังช่วยแก้ปัญหาขยะได้ด้วย  ทางมัสยิดเองก็จะช่วยประชาสัมพันธ์บอกให้กับทุกคนที่มาร่วมกิจกรรมทางศาสนา  ได้รับรู้ข้อดีของโครงการขยะแลกบุญ  แทนที่จะนำขยะไปทิ้งหรือเผาทำลาย  ก็นำมายังจุดรับบริจาคเพื่อแลกบุญ 

         นายทรงพล  สารบัญ  ผอ.กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม อบต.ฉลุง  กล่าวว่า  สถานการณ์ขยะในชุมชนตำบลฉลุงในปี 2566 มีขยะทั้งปี 1410 ตัน เนื่องจากตำบลฉลุงมี 14 หมู่บ้าน 3,300 ครัวเรือน ทำให้ต้องใช้งบประมาณเยอะในการจัดการขยะนำขยะไปทิ้ง จำนวน 770,000 บาทต่อปี  หากรวมค่าจ้างบริหารจัดการเกือบ 2 ล้านบาทต่อปี

          นายก อบต.ฉลุง จึงเกิดแนวทางการลดปัญหาขยะ  เริ่มแรกจากการทำประชาคมเพื่อปลอดถังขยะ  จากนั้นก็เริ่มสร้างแกนนำชุมชนประชาชนเข้ามาช่วย  โดยใช้ชื่อว่า  “อาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก” อถล. ในทุกหมู่บ้าน  เพื่อให้ความรู้ในเรื่องของการคัดแยกขยะในครัวเรือน  การจัดการขยะเพื่อลดปัญหาขยะในตำบล  จากนั้นก็พาไปศึกษาดูงาน  เมื่อได้องค์ความรู้แล้ว  ได้ส่งเสริมให้เกิดการสร้างกลุ่ม  จึงเป็นที่มาของกลุ่มขยะแลกบุญในปัจจุบัน

 

          จุดเริ่มต้นจากแกนนำ อถล.  10 คน โดยมีกำนัน  ผู้ใหญ่บ้านและผู้นำศาสนา  หลังจากทำโครงการสามารถคัดแยกได้จำนวน 3 ครั้ง ผ่านโครงการขยะแลกบุญ   เน้นในเรื่องของการประชาสัมพันธ์เป็นหลัก  จากครั้งที่ 1 มาสู่ครั้งที่ 2 จะเห็นได้ว่าการรับบริจาคขยะเยอะมากขึ้น  ชุมชนชาวบ้านมาร่วมมากขึ้น  ครั้งที่ 3 ขยะเยอะขึ้นกว่าเดิมเยอะ  ชาวบ้านเยาวชนผู้สูงอายุภาคประชาชน  มาร่วมกิจกรรมคัดแยกตั้งแต่เช้า  ถือว่าเป็นการประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง  ในมิติการประชาสัมพันธ์และการลดขยะ  

 

          ที่สำคัญการทำเรื่องขยะมาบวกกับเรื่องบุญ  จะยิ่งทำให้ชุมชนให้ความสำคัญอย่างมาก  เพราะหวังจะได้บุญไม่ได้มีผลประโยชน์อย่างอื่น   ไม่ว่าจะนำเงินรายได้ไปช่วยผู้ยากไร้  แนะนำไปทำนุบำรุงศาสนา  ผู้พิการและให้ทุนเด็กต่างๆ    ทำให้ปี 2567  พบว่าขยะจาก 1,410 ตัน เหลือ1,369 ตัน  ลดไป  312 กิโล   หากคิดเป็นเงินงบประมาณเกือบ 2 แสนบาท  และเตรียมขยายจากหมู่บ้านนำร่องไปยังหมู่บ้านอื่น ๆ เข้ามาดู   และปีจะจัดการขยายไปทีละหมู่บ้านเพื่อให้ครบทุก 14 หมู่บ้านในตำบลฉลุง  

……………………………………..

Categories
ท้องถิ่น-การเมือง ท่องเที่ยว-กีฬา

   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  เปิดเกมส์กีฬา  ภูมิใจไทยสัมพันธ์  ท้องถิ่น ท้องที่ คัพ” ครั้งที่ 2

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  เปิดเกมส์กีฬา  ภูมิใจไทยสัมพันธ์  ท้องถิ่น ท้องที่ คัพ” ครั้งที่ 2

               วันที่  9 มี.ค.2567  ที่สนามกีฬาหญ้าเทียมบ้านควน  อำเภอเมือง จังหวัดสตูล   นายพิพัฒน์  รัชกิจประการ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน  พร้อมนายพิบูลย์  รัชกิจประการ  ส.ส.เขต 1 สตูลและนายวรศิษฎ์  เลียงประสิทธิ์  ส.สเขต 2 สตูล  นายสัมฤทธิ์  เลียงประสิทธิ์  นายกอบจ.สตูลลงพื้นที่เป็นประธานเปิดการแข่งขันกีฬา  “ภูมิใจไทยสัมพันธ์  ท้องถิ่น ท้องที่ คัพ” ครั้งที่ 2 โดยมีนายกูดานัน  หลังจิ  นายกอบต.บ้านควน (ประธานจัดการแข่งขัน) ให้การต้อนรับและกล่าวรายงาน  พร้อมนายกแต่ละพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ  ซึ่งการแข่งขันกีฬาในครั้งนี้เป็นเกมส์กีฬาที่มีเจ้าหน้าที่ชาวบ้าน ,จากอบต. ,  เทศบาล และอบจ,  มากถึง 20 แห่งในจังหวัดสตูลจัดส่งนักกีฬาเข้าแข่งขัน ท่ามกลางการต้อนรับอย่างคับคั่งกับแฟนคัพชาวภูมิใจไทย

 

                จากนั้นในวันเดียวกัน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานพร้อมคณะและอธิบดีกรมแรงงาน  ได้เดินทางไปเปิดโครงการ  กระทรวงแรงงานบริการประชาชน  ที่มีการออกหน่วยยังที่ว่าการอำเภอละงู  จังหวัดสตูล โดยมีการโชว์สินค้าจากแรงงานที่โดดเด่น เช่นกลุ่มกาแฟโกปี้นาข่า  กลุ่มดาหลาปาเต๊ะ , กลุ่มขนมผูกรัก และสินค้าโอทอปจากกลุ่มในพื้นที่ตำบทคลองขุด  ที่นำมาแสดงโชว์ และพบปะกลุ่มอาสาสมัครแรงงานจังหวัดสตูล, อีกทั้งมีการออกหน่วยนัดพบแรงงานบริการผู้ว่างงานหลายตำแหน่งบริการในครั้งนี้ด้วย

            ก่อนจะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน  โดยนายพิพัฒน์  รัชกิจประการ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน   กล่าวว่า   จะมีการประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 หลังจากที่ได้หารือนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน  ตามนโยบายของรัฐบาลควรจะมีค่าแรงที่ 400 บาท  โดยได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานชุดใหญ่ของไตรภาคี   มีการตั้งอนุศึกษาของไตรภาคี  มีรองปลัดเดชาเป็นประธาน

 

            หลังมีการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567  หลังประชุมเรียบร้อยไปเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  โดยหาข้อสรุปได้ใน 10 จังหวัดนำร่อง  ที่ประกาศว่าจะมีค่าแรงขั้นต่ำ  400 บาท ในบางอาชีพบางพื้นที่  ว่ามีอาชีพอะไรบ้าง  จังหวัดไหนบ้าง  ในแต่ละพื้นที่ให้คณะอนุกรรมการทำการศึกษา  26 มี.ค.นี้จะมีการประชุมและประกาศอย่างช้าที่สุด  ไม่เกินวันที่ 12 เมษายน 2567 โดยได้รับปากนายกรัฐมนตรีเศรษฐาทวีสินว่าจะประกาศให้เป็นของขวัญ  วันปีใหม่ไทย กับค่าแรง 400 บาท

 

          หลังจากนี้คณะกรรมการชุดนี้ก็คงต้องทำงานต่อ  จนถึงสิ้นปี โดยเฉพาะในแต่ละจังหวัด ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดก็จะเป็นประธานอนุ  ในทุกๆจังหวัด  โดยจะหาค่าเฉลี่ยว่าจังหวัดไหน ในแต่ละอาชีพมีอาชีพอะไรบ้าง พี่ควรจะขึ้นและปรับค่าแรงขั้นต่ำขึนในปี68  ขึ้นไปเท่าไหร่  เชื่อว่าในปี 2568 จะมีหลายอาชีพที่เพิ่มขึ้นหลายอาชีพไปที่ 400 บาท

 

          ใน 10 จังหวัดจะมีการนำร่องปรับค่าจ้าง 400 บาท  บางอาชีพบางพื้นที่ คือที่จังหวัดสงขลา,กระบี่,พังงา,ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี, ใน 5 จังหวัดภาคใต้เรา ภาคกลางมีจังหวัดระยอง บางส่วน ชลบุรี,กรุงเทพมหานคร,จังหวัดเชียงใหม่,ขออภัยอีกหนึ่งจังหวัดจำไม่ได้ ยอมรับช่วงนี้เริ่มเบลอๆงงๆเหมือนกัน

 

          ในแต่ละจังหวัดที่จะมีการประกาศเป็นของขวัญปีใหม่ไทย จะเป็นเกณฑ์เดียวว่าเป็นอาชีพอะไร ในหมวดไหน ยังไม่มีการหว่านไปทุกอาชีพ จะเลือกอาชีพที่เป็นอาชีพที่ฟื้นจากสถานการณ์โควิดแล้ว แต่อาชีพที่ยังไม่ฟื้น เริ่มจะฟื้นเรายังคงไม่ไปถึงตรงนั้นจึงขอแจ้งเพื่อทราบ

         

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน   กล่าวว่า   เพิ่มเติมว่า   สุดท้ายนี้อยากจะฝากไปถึงเพื่อนๆโดยเฉพาะในพรรคการเมืองต่างๆ ว่า  ยังไงก็ช่วยศึกษากฎหมายแรงงาน ศึกษารายละเอียดพรบ.ที่จะนำเข้าเสนอในสภาผู้แทนราษฎรว่าอันไหนควรอันไหนไม่ควร ไม่ใช่ว่าคุณทำเพื่อการหาเสียง  แต่จริงๆคุณทำไม่ได้แล้วมาด้วยค่ากระทรวงแรงงาน ในฐานะที่ตัวผมเองเป็นเจ้ากระทรวง  ที่ได้รับมอบหมายจากท่านนายกฯเศรษฐา  ทวีสิน  ตัวผมเองจะไม่ยอมเด็ดขาด แต่ถ้าพวกคุณมาด้อยค่าพวกเรามากๆ ตัวผมเองจะลุกขึ้นมาต่อสู้กับพวกคุณแน่นอน  เพราะฉะนั้นหากคุณนำเสนอในสิ่งที่เป็นไปได้ ตัวผมเองพร้อมที่จะน้อมรับ และพร้อมที่จะหารือกับพวกคุณ แต่มาด้วยค่าในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้พวกเราชาวกระทรวงแรงงานจะลุกขึ้นมาต่อสู้ พวกคุณอย่างแน่นอน นี่คือสิ่งที่อยากจะฝากไปคนที่พยายามที่จะยื่นร่างฯหรืออะไรแล้วมาด้วยค่ากระทรวงแรงงาน พวกเราก็มีชีวิตจิตใจ  การกระทำทุกสิ่งทุกอย่าง ก็ไม่ใช่กระทรวงแรงงานเราเพียงกระทรวงเดียว ที่ต้องรับผิดชอบ  การจะทำอะไรในเรื่องของประกันสังคม ของสวัสดิการ ของค่าแรง มันเป็นอะไรที่พวกเราและพวกท่านต้องช่วยกันระดมสมองช่วยกันคิด  ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างกระทรวงแรงงานจะต้องไปคิดแล้วคุณมีหน้าที่คือโจมตี  หากพวกคุณทำอย่างนี้  หากทำไม่ถูกต้อง ผมเรียนตรงไปตรงมาว่าผมสู้ชีวิตผมไม่มีคำว่ายอม ประกาศต่อหน้าได้เลย ฝากสื่อมวลชน ถ้าใครได้ค่าพวกเราชาวแรงงาน เราจะไม่ยอม

………………………………………………………….