Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 ชาวสวนสตูลรวมกลุ่มทำปาล์มน้ำมันคุณภาพ  ต่อรองกับลานเทอับราคาได้สูงกว่าหน้าร้าน พร้อมยอมรับการเมืองมีผลต่อการขึ้น ลง ของพืชเศรษฐกิจ  

ชาวสวนสตูลรวมกลุ่มทำปาล์มน้ำมันคุณภาพ  ต่อรองกับลานเทอับราคาได้สูงกว่าหน้าร้าน พร้อมยอมรับการเมืองมีผลต่อการขึ้น ลง ของพืชเศรษฐกิจ

        ปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัด  แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าราคาผันผวนทำให้เกิดผลกระทบ  การรวมตัวเป็นแปลงใหญ่ของเกษตรกรปาล์มน้ำมัน  เป็นโอกาสดีในการต่อรองราคาให้สูง  ภายใต้ผลผลิตคุณภาพ   ซึ่งทางกรมส่งเสริมการเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดสตูล  ตั้งเป้าหมาย 5 ด้าน ลดต้นทุนการผลิต 20% เพิ่มผลผลิต 20%  พัฒนาคุณภาพ/พัฒนาให้ได้มาตรฐาน บริหารจัดการ และ การตลาด 

        ที่วิสาหกิจชุมชนปาล์มน้ำมันแปลงใหญ่อำเภอควนโดน มีสมาชิก 183 ราย พื้นที่ปลูกปาล์มรวม 1,111 ไร่  มีนายศุภเรศน์  แซะอามา  เป็นประธานฯ  ได้รับองค์ความรู้ด้านการดูแลสวน  การจัดการสวน  ตลอดจนการตลาด  กระทั่งสามา รถผลิตปาล์มคุณภาพ  และสามารถต่อรองราคาได้สูงกว่าราคาป้ายที่ผันผวนตลอดเวลา

         นายชาญณรงค์ วิรุณสาร เกษตรจังหวัดสตูล  พร้อมทีมเกษตรอำเภอควนโดนลงติดตามความก้าวหน้าการของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปาล์มน้ำมันแปลงใหญ่อำเภอควนโดน ซึ่งเป็นหนึ่งใน 15 แปลงของจังหวัดสตูลโดยมีการบูรณาการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงเกษตรเอง  และนอกกระทรวง  ทั้งภาคเอกชน   ให้การสนับสนุนเรื่ององค์ความรู้ทำอย่างไรให้พี่น้องเกษตรกรสามารถที่จะเพิ่มผลผลิตต่อไร่  โดยใช้หลักวิชาการเข้ามาเกี่ยวข้อง  ไม่ว่าจะเป็นการให้น้ำ  ให้ปุ๋ย  เรื่องพันธุ์ต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรมีผลผลิต เพิ่มขึ้นการตรวจวิเคราะห์ดิน   การวิเคราะห์ใบปาล์ม  เพื่อที่จะให้ตอบสนองและสอดคล้องกับความต้องการจริงๆ   การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมเพื่อสนับสนุนให้การใช้ปุ๋ยเคมีมีประสิทธิภาพมากขึ้น

        ในเรื่องของมาตรฐานคุณภาพปาล์มที่ตัดทุกทะลายจะต้องมีคุณภาพเป็นปาล์มที่แก่จัด เกษตรกรก็จะสามารถอัพราคาขึ้นมาได้  แปลงใหญ่ทั้งหมดเราให้ความสำคัญโดยจะไม่ตัดปาล์มไม่มีคุณภาพส่งโรงงาน   ในอีกส่วนหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับสมาชิกแปลงใหญ่โดยตรงคือการรวมตัวกันเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง  พัฒนากลุ่มให้มีความเข้มแข็ง  เพื่อเชื่อมโยงด้านความร่วมมืออำนาจในการต่อรองการร่วมกันจัดการ   ไม่ว่าจะเรื่องการรับองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่จะเข้ามา  ทั้งในเรื่องการต่อรองกับลานเทต่างๆ

       นายศุภเรศน์  แซะอามา  ประธานแปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันอำเภอควนโดน  กล่าวว่า   กรมส่งเสริมฯได้อบรมให้ความรู้กับสมาชิกปาล์มแปลงใหญ่   ทุกคนมีองค์ความรู้สามารถที่จะปลูกปาล์มน้ำมัน  หรือพัฒนาปาล์มน้ำมันที่ปลูกเรื่องด้านการตลาดจะเห็นได้ว่า  เมื่อกลุ่มมีพลัง  สมาชิกเองมีระบบการจัดการที่ดี   กลุ่มเองก็มีการตกลงกับลานเท   เพื่อที่จะต่อรองว่าเรามีคุณภาพแล้ว  เราสามารถได้ราคาที่ดีกว่าเกษตรกรทั่วไป   นี่คือสิ่งที่เราให้การสนับสนุน  โดยความร่วมมือจากในหน่วยงานเกษตรทั้งหมด

      จากองค์ความรู้  ทางกลุ่มทำปาล์มคุณภาพโดยตัดปาล์มสุก  ซึ่งให้สังเกตดูที่พื้นถ้าใต้โคนมีลูกร่วงอยู่ประมาณ3- 4 เม็ด ถึง 10 เม็ด สามารถที่จะตัดปาล์มเอาไปขายได้   เพราะเป็นปาล์มมีคุณภาพ ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันที่ 21% ขึ้นไป  เมื่อทางกลุ่มมีปาล์มที่มีคุณภาพ มากกว่า 90%    ก็ได้ทำ  MOU กับลานปาล์ม   เมื่อทางกลุ่มส่งปาล์มคุณภาพให้    กลุ่มฯจะได้ส่วนต่างเพิ่มราคาหน้าป้าย 20  สตางค์  เช่นวันนี้ราคาปาล์ม 5.60 บาททางกลุ่มฯ จะได้อย่างน้อย 5.80 บาท  บางคนบวกได้สูงถึง 40 สตางค์  อันนี้คือเป็นผลดีกับเกษตรกรที่ได้เข้าร่วมกลุ่มปาล์มแปลงใหญ่

       สำหรับผลผลิตโดยรวมของแปลงใหญ่  เริ่มจากตอนที่ยังไม่ได้เข้ากลุ่มฯ  ไม่มีองค์ความรู้ต่างคนต่างทำผลผลิตเฉลี่ยตอนนั้น 2,300 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี   แต่หลังจากที่เราได้รวมกลุ่มฯกัน  มีองค์ความรู้พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ เป็น 2.5 ตัน ถึง 2.7 ตัน ในปีที่ผ่านมา 2565 เราได้ผลผลิต 3,245 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี เพิ่มขึ้นแตะ 3 ตันสูงกว่าระดับประเทศอยู่ตอนนี้

       ทางด้าน  ลานเทปาล์มครูเหม ซึ่งตั้งอยู่ บ้านควนบ่อทอง  ต.ทุ่งนุ้ย  อ.ควนกาหลง  จ.สตูล  เป็นลานเท ที่ทำ MOU กับ เกษตรกร แปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันควนโดน  ทุกๆวันจะมีปาล์มคุณภาพจากเกษตรกรเข้ามาเฉลี่ยวันละ  1.8-2 ตัน   โดย  นายเจ๊ะบารอเหม   ยาหลี  เจ้าของลานปาล์มครูเหม  กล่าวถึงผลดีเมื่อได้ทำ MOU ร่วมกับ แปลงใหญ่ปาล์มน้ำมันควนโดน  ถึงข้อดีคือ   ลานเทมีปริมาณปาล์มเข้ามากขึ้น ลูกค้ามีแน่นอน   ผลดีของลานเทคือ  ได้ปาล์มที่มีคุณภาพ  ส่งเข้าโรงงาน   ทางลานเทก็สามารถที่จะอัพราคาให้กับปาล์มแปลงใหญ่ได้ เพิ่มถึง 20 สตางค์  หากมีแปลงปาล์มมากกว่า 50 ไร่ก็จะเพิ่มสูงถึง 25 สตางค์ต่อกิโลกรัม   ขึ้นอยู่กับช่วงราคาที่เราได้จากโรงงานด้วย  

      ส่วนการเมืองที่อยู่ระหว่างจัดตั้งรัฐบาล  นายเจ๊ะบารอเหม   ยาหลี  เจ้าของลานปาล์มครูเหม  กล่าวเพิ่มเติมว่า  การเมืองมีผลต่อพืชผลเศรษฐกิจหลายด้าน  ทั้งด้านการประกันราคา  ปริมาณสินค้าจากต่างประเทศไม่ให้ทะลักเข้าประเทศเพราะส่งผลต่อราคาที่ผันผวนได้  ทำให้มีการดีดกลับไปที่โรงงาน   และดีดกลับมาที่ลานเท  แม้ขณะนี้ราคายังทรงอยู่   หลายฝ่ายรอดูสถานกาณณ์ผู้นำจะทำอย่างไร อยากให้รัฐบาลมาดูแลทุกขั้นตอนทุกระดับ ให้ฐานะดีขึ้นทั้ง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา

      สำหรับ  สถานการณ์ปาล์มน้ำมันของลานเท  ณ ปัจจุบันปริมาณคงที่  วันหนึ่งเฉลี่ย 20 ตันต่อวัน   โดยบางวันก็อาจจะแค่ 18  -19 ตัน แล้วแต่ช่วงจังหวะฝนตกหรือจังหวะที่ผลผลิตน้อย  

…………………………………………

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล-หนุ่มรัฐศาสตร์  เปิดกระทรวงเกษา รับรุนผมไม่หวั่นแม้วันมามาก  วัยรุ่นนักการเมืองจองคิวแน่น

สตูลหนุ่มรัฐศาสตร์  เปิดกระทรวงเกษา รับรุนผมไม่หวั่นแม้วันมามาก  วัยรุ่นนักการเมืองจองคิวแน่น

        กระทรวงเกษา  ป้ายชื่อร้านที่เขียนด้วยตัวอักษรสีทองดูโดดเด่นสดุดตา  จนต้องหาคำตอบว่า ร้านอะไร  หรือหน่วยงานราชการ สังกัดใดกัน  สำหรับ  “กระทรวงเกษา” เป็นร้านตัดผม ของนายจักรพงษ์  หมันเหตุ อายุ 39 ปี  ดีกรีปริญญาตรี รัฐศาสตร์ เป็นชาวจังหวัดสตูล  ที่แม้จะเรียนจบมา  ทำงานไม่ตรงกับสายที่เรียนเท่าไหร่    ก่อนค้นพบตัวเองว่าชื่นชอบการตัดผม  จึงไปศึกษาหาความรู้  ก่อนจะยึดเป็นอาชีพนี้มายาวนานถึง  10  ปีจนถึงปัจจุบัน

       สำหรับร้าน กระทรวงเกษา  ตั้งอยู่ในพื้นที่ถนนสายใน  ก่อนถึงเทศบาลตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล  ดำเนินงานภายใต้สโลแกน  “พร้อมรุน…แม้วันที่คุณจะมามาก!”

       เมื่อทีมข่าวเดินทางเข้าไปภายในร้าน  ซึ่งตกแต่งเก๋ๆสไตล์วัยรุ่น   บรรยากาศผ่อนคลาย    โดยมีกลุ่มวัยรุ่น  ลูกค้าแวะเวียนมานั่งเสวนา   และรับบริการตัดผม  ซึ่งลูกค้าที่จะมาตัดผมที่ร้าน  กระทรวงเกษา  ต้องจองคิวล่วงหน้าเท่านั้น  จะเดินเข้ามาตัดในร้านแบบสุ่มๆไม่ได้  เพราะทางร้านต้องตัดตามลำดับคิว  นับเป็นการบริหารจัดการร้านอย่างหนึ่ง  และลูกค้าก็ไม่ต้องมานั่งรอนาน ด้วย 

          ทางด้านลูกค้าบอกว่า  ตัดผมเดือนละครั้ง  โดยจะมาทุกเดือน  เพราะเจ้าของร้านเป็นกันเอง คุยสนุกสำหรับทรงผมนั้นก็เอาแบบมาให้ดู  มีบางครั้งช่างก็จะบอกว่าทรงนี้ไม่เหมาะกับโครงหน้า  ก็จะแนะนำให้  ส่วนราคาสู้ได้อยู่

         นายจักรพงษ์  หมันเหตุ เจ้าของร้านกระทรวงเกษา กล่าวว่า   โดยเฉพาะช่วงเทศกาล  จะมีลูกค้าเข้าคิวตัดผม  ยาวไปถึงเช้าก็เคยมีมาแล้ว   ส่วนวันธรรมดาลูกค้าก็จองคิวยาวไปจนถึงค่ำมืด  สำหรับลูกค้าก็มีหลากหลาย แม้กระทั่ง สส.ของจังหวัดสตูล ยังมาจองคิวตัดผมกันที่ร้านนี้ด้วย   การันตีฝีมือกันไปเลย

         ทางร้านรับลูกค้าเฉลี่ยวันละ20 คน  รายได้ตกเดือนละ  36,000 บาท อนาคตเตรียมปั้นช่างเพิ่ม

       สำหรับราคาบริการตัดผม  อยู่ที่  60-100 บาท  เด็ก 60  วัยรุ่น 80  ส่วนผู้ใหญ่ 100 บาท  ทุกทรง โดยลูกค้าสามารถ จองคิวได้ทางเพจของร้าน  กระทรวงเกษา  หรือโทรจองได้เบอร์ 089-653  4586 

  …………………………………….

จันทนา  กูรีกัน //รายงาน

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

 ชี้เป้าของถูก ขนมจีนเจ้าอร่อยในตำนาน100 ปี  เมืองท่องเที่ยวใน อำเภอละงู จ.สตูล  

ชี้เป้าของถูก…ขนมจีนเจ้าอร่อยในตำนาน100 ปี  เมืองท่องเที่ยวใน อำเภอละงู จ.สตูล

         พูดถึงขนมจีน  หลายจังหวัดก็จะมีเจ้าดังเจ้าเด่นที่อร่อย  ที่อำเภอละงู  จังหวัดสตูลก็มีเช่นกัน  ร้านที่อยากจะแนะนำ  ก่อนนักท่องเที่ยวจะเดินทางลงไปยังเกาะหลีเป๊ะ  อยากให้แวะร้านนี้เลย   “ร้านขนมจีนเจ้าอร่อยในตำนานของอำเภอละงู” ชาวบ้านในพื้นที่เรียกว่า ร้านก๊ะแดง หรือว่า ร้านจ๊ะสาหนี   ซึ่งเป็นธุรกิจร้านขายอาหารกันในครอบครัว   โดยเฉพาะขนมจีนที่ส่งต่อมาสู่รุ่นที่ 3 แล้ว  ร้านตั้งอยู่สามแยกปากปิง (มุ่งหน้าไปบ่อเจ็ดลูกแหล่งท่องเที่ยว) ประมาณ 50 เมตร ในเขตเทศบาลตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล

        ที่ร้านนี้มีความโดดเด่นในเรื่องของผักเครื่องเคียงที่จัดมาแบบจุใจ  หลากหลายกับผักพื้นบ้าน  และผักดอง   นอกจากนี้  น้ำยาขนมจีนยังใช้ปลาสดจากท้องทะเลสตูล   ทำขายวันต่อวัน 60 ถึง 100 กิโลกรัม ขณะที่เส้นขนมจีนต้องสั่งเจ้าประจำที่ใช้เครื่องมือโบราณ  และพิถีพิถันกับการทำเส้นสด   มีลูกค้าติดใจและเป็นลูกค้าของทางร้านมายาวนานมาจนถึงทุกวันนี้

        น้ำยาขนมจีนแกงกะทิ  แกงไตปลา  และแกงหวาน  ที่ตักเสิร์ฟเติมชนิดจุใจ   ลูกค้าอิ่มชนิดร้องขอชีวิต   ด้วยราคาจานละ 25 บาท  ไข่ต้มฟองละ 6 บาท  นอกจากนี้ภายในร้าน    ไม่ได้มีขายเฉพาะขนมจีนเท่านั้น    ยังมีข้าวเหนียวไก่ทอด  ข้าวหมกไก่ทอด   หรือข้าวแกง   ชากาแฟไว้บริการด้วย   ลูกค้าส่วนใหญ่นอกจากนักท่องเที่ยวแล้ว  จะมีลูกค้าประจำจากรุ่นแรกๆและบอกต่อปากต่อปากมาทานกันที่นี่

         ร้านเปิดทุกวันตั้งแต่เวลา 6:00 น จนถึงบ่ายโมง  รับออเดอร์ซื้อเป็นกิโลกรัมไปทานที่บ้าน หรือรับทำเป็นชุด  จะขายที่ร้านแห่งนี้และในตลาดถนนคนเดิน 2 แห่งเท่านั้น

         ก๊ะแดง  นางจรรญา   อุโยบ  อายุ 63 ปี เจ้าของร้านบอกว่า  ที่ร้านแห่งนี้ทำเป็นธุรกิจในครอบครัวขายมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่และมาสืบทอดจนถึงรุ่นพวกตน รุ่นที่3  เราจะใส่ใจ  ในส่วนของวัตถุดิบตั้งแต่ผักเครื่องเคียง  ที่มาทานกับขนมจีน  รวมทั้งเส้นขนมจีนที่จะต้องเป็นเส้นสดเท่านั้น   อีกทางวัตถุดิบในการทำปลาและเครื่องแกงจะทำเองกับมือ  เพื่อให้ได้น้ำยาขนมจีนใหม่สดทุกวัน    ลูกค้า ถ้าเป็นวันธรรมดาจะขายวันละ 60 กิโลกรัม   หากเป็นวันตลาดนัดหรือถนนคนเดินขายวันละ 100 กิโลกรัม ลูกค้าที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามหรือสั่งซื้อได้ทางหมายเลขโทร. 085  080  9311

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล-ชี้เป้าของถูกอร่อย…ข้าวเหนียว-ไก่ทอด อาหารสุดฮิตชิ้นใหญ่จัมโบ้เพียง 15 บาท  ขายไม่กี่ชั่วโมงเกลี้ยง   เจ้าของเผยขายถูกต้องการช่วยเหลือสังคมยุคข้าวของแพง 

สตูลชี้เป้าของถูกอร่อย…ข้าวเหนียว-ไก่ทอด อาหารสุดฮิตชิ้นใหญ่จัมโบ้เพียง 15 บาท  ขายไม่กี่ชั่วโมงเกลี้ยง   เจ้าของเผยขายถูกต้องการช่วยเหลือสังคมยุคข้าวของแพง 

        อาหารเช้าในพื้นที่ของจังหวัดสตูล  นอกจากโรตี-ชาชักหรือชาร้อนๆแล้ว   เมนูยอดฮิตทั้งเด็กนักเรียนและคนวัยทำงานโปรดปรานคือ  “ข้าวเหนียวไก่ทอด”  อยู่ที่ไหนก็ฮิตได้รับความนิยมเช่นเดียวกันร้านนี้   ชื่อร้าน  “ไก่ทอดหาดใหญ่”  ตั้งอยู่ก่อนถึงสะพานข้ามคลองซอยทรายทอง (ซอยเอวหัก)  หมู่ที่ 7  ตำบลคลองขุด  อำเภอเมือง  จังหวัดสตูล  โดยมีสองสามีภรรยาเจ้าของร้านไก่ทอดซึ่งเป็นชาวหาดใหญ่   ก่อนหน้าเคยไปขายข้าวเหนียวไก่ทอดที่จังหวัดกระบี่และเป็นคนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19  ก่อนมาตั้งรกรากกับญาติที่จังหวัดสตูลนานร่วม 3 ปี

       แล้วโดยเริ่มแรกขายชิ้นละ 10 บาทก่อนขยับขึ้นมาเป็นชิ้นละ 15 บาทเพราะราคาไก่แพงขึ้นปัจจุบันขายชุดละ 20 บาท (ข้าวเหนียว 5 บาท ไก่หนึ่งชิ้นใหญ่ 15 บาท) ได้รับการตอบรับจากลูกค้าทั่วไปและต่างหมู่บ้านมาซื้อกันคึกคักเพราะด้วยไก่ทอดชิ้นใหญ่ราคาถูกที่ชาวบ้านเข้าถึงได้ง่าย ข้าวเหนียวก็นิ่มอร่อยชุดเดียวก็อิ่มจุก อร่อยหาทานยากในข้าวยากหมากแพง  

       ทางร้านเปิดขายตั้งแต่เวลา 6 โมงเช้าถึง 10 โมงเช้าเท่านั้นทุกวันจันทร์ – ศุกร์ วันละ 50 กิโลกรัม  ส่วนวันเสาร์,อาทิตย์ ขาย 60 กิโลกรัม รายได้ยังไม่หักค่าใช้จ่ายวันละ 5,000-6,500 บาท

       นางฮาซานะ   หมานระโต๊ะ   เจ้าของร้านไก่ทอดหาดใหญ่ ที่จ.สตูล  บอกว่า  สูตรของทางร้านจะเป็นสูตรเฉพาะหมักไก่ไว้หนึ่งคืนในช่องฟิตแล้วเอามาทอด โดยมีชิ้นส่วนของ (อกไก่  สะโพกไก่  ปีก และน่องไก่ เพียงชิ้นละ 15 บาทและโคลงไก่ชิ้นละ 20 บาท ข้าวเหนียวห่อละ 5 บาท)  ขายในราคาถูกแบบนี้ไม่เคยคิดขึ้นราคาเลยสงสารลูกค้าที่มีลูกเยอะ ได้ทานกันทุกคน   สิ่งหนึ่งที่ขายราคาถูกเพราะ ใจอยากช่วยเหลือสังคมในยุคข้าวยากหมากแพง  ซื้อทานได้ในราคาถูก

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

ขนมหวานสไตล์โมเดิร์น  ตอบโจทย์ทุกวัย  ร้านบัวลอยจงเจริญสตูล  รวม  100 เมนู  เมนูแนะนำ “บัวลอยน้ำชาไทย” “ปังเย็นบัวลอยชาไทยภูเขาไฟ” จากดินแดนมลายูสตูล

ขนมหวานสไตล์โมเดิร์น  ตอบโจทย์ทุกวัย  ร้านบัวลอยจงเจริญสตูล  รวม  100 เมนู  เมนูแนะนำ “บัวลอยน้ำชาไทย” “ปังเย็นบัวลอยชาไทยภูเขาไฟ” จากดินแดนมลายูสตูล

       ถนนหัตถกรรมศึกษา  (ฝั่งเดียวกับรพ.สตูล)  ตำบลพิมาน  เขตเทศบาลเมือง  จังหวัดสตูล  ในเวลานี้หากไม่พูดถึงร้านนี้ไม่ได้เลย  “ร้านบัวลอยจงเจริญ”  ร้านที่รวบรวมเมนูขนมหวานมากกว่า 100 ชนิด  มาไว้ที่นี่ อาทิ  บัวลอยน้ำกะทิ น้ำขิง  บัวลอยน้ำชาไทย บัวลอยไข่หวาน ไข่เค็ม บัวลอยทรงเครื่อง   โดยเฉพาะเมนูแนะนำคือ  บัวลอยจงเจริญ  ของทางร้าน  และสายรักสุขภาพ ก็มีบัวลอยงาดำน้ำขิง นมสด น้ำเต้าหู้  และบัวลอยคัสตาร์ดไข่เค็มน้ำชาไทย  เฉาก็วย  ไอติมมะพร้าวอ่อน ไอติมกะทิโบราณทรงเครื่อง  ทับทิบกรอบ ซ่าหริ่มน้ำกะทิสด  ปังเย็นบัวลอยชาไทย ภูเขาไฟ   เพิ่มท็อปปิ้งได้ไม่อั้น

        นางสาวณิชากร   จินดานุ   หรือ คุณเตี๊ยบ  คุณครูวิทยาลัยชุมชน และ นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ เทศบาลตำบลคลองขุด  เปิดเผยว่า จากที่ชื่นชอบการทานบัวลอยและขนมทานเล่น  จึงคิดกับเพื่อนบ้านสนิทว่า  เราน่าจะลงหุ้นกัน  กับเพื่อน  3 คน  เปิดร้านรวบรวมขนมหวานในพื้นที่  จ.สตูล  สักหนึ่งแห่ง  จึงมาตกผลึกกันที่  ร้านบัวลอยจงเจริญ  โดยทางร้านเห็นว่าในย่านนี้จะมีแต่ร้านอาหารคาว  แต่ยังขาดร้านขนมหวาน  เมื่อตัดสินใจเปิดไม่คิดว่าจะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี   โดยแรงงานที่มาช่วยขาย  ก็จะเป็นนักเรียนที่เรียนในวิทยาลัยชุมชน 10 คน ถือว่าเป็นการสร้างงานให้เด็ก ๆ ด้วย

 

        แต่ละเมนูของทางร้าน  จะเดินสายหวานกลาง ลูกค้ารักสุขภาพสามารถบอกระดับความหวานได้  และเป็นเมนูเพื่อสุขภาพหลากหลาย เหมาะกับเด็ก ผู้ใหญ่ และวัยรุ่น   ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีกับขนมหวานไทย   ทางร้านเปิดทุกวันตั้งแต่เวลา 11 นาฬิกาถึง 20 นาฬิกา 

       สำหรับบัวลอยจงเจริญ  เป็นขนมหวานสูตรโบราณกว่า 60 ปี ของคุณยายเขียน  โชคสมาน  อำเภอหาดใหญ่   จังหวัดสงขลา  มาปรับเป็นร้านขนมสไตล์โมเดริ์น  ต่างเป็นที่ชื่นชอบของคนรุ่นใหม่ตอบรับเป็นอย่างดี 

……………………………

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูลร้านในตำนาน  ไก่ย่างสมุนไพร 5 บาทลูกค้าตรึมแบ่งขายวันละ 2 รอบหมดเกลี้ยงทุกวัน

สตูลร้านในตำนาน  ไก่ย่างสมุนไพร 5 บาทลูกค้าตรึมแบ่งขายวันละ 2 รอบหมดเกลี้ยงทุกวัน

       ที่บ้านเลขที่ 122/1 บนถนนปานชูรำลึก  (ซอยแม่เนียน)  ตำบลพิมาน  เขตเทศบาลเมือง  จังหวัดสตูลวันนี้ผู้สื่อข่าวพามารู้จักร้านที่เชื่อว่า    ตอบโจทย์ใครหลายคนในช่วงภาวะเศรษฐกิจฝืด  นั่นก็คือ “ร้านไก่ย่าง 5 บาท”  ซึ่งมีนางอำพร   อบทอง   อายุ 67 ปี   เจ้าของร้านที่ขายไก่ย่างมาเกือบตลอดชีวิต  โดยสูตรที่นำมาขายเป็นสูตรสมุนไพร  ซึ่งเป็นสูตรเดียวกันกับไก่ย่างอบโอ่งที่เคยขายในกรุงเทพมหานครฯ  เมื่อสามีเสียชีวิต จึงกลับมาอยู่จังหวัดสตูลกับลูก ๆ 3 คน  และทำอาชีพขายไก่ย่างเลี้ยงลูกมานานนับ 28 ปีจนถึงทุกวันนี้

        “ร้านไก่ย่าง 5 บาท” เป็นราคาที่ขายมาอย่างยาวนานและไม่คิดจะขึ้นราคาแม้ราคาไก่จะปรับตัวขึ้นตลอดเวลา  โดยคุณป้าอำพร  บอกว่าในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้หลายคนมองหาอาหารอร่อยและราคาที่เข้าถึงได้ง่าย  และนี่คิดว่าจะช่วยให้เด็ก ผู้ใหญ่ แม้ข้าราชการ หรือคนทำงานทั่วไปซื้อง่าย ทานอิ่ม หลายคนเป็นลูกค้าร้านมาตั้งแต่เด็กจนทำงานก็ยังเป็นลูกค้าอยู่  ป้าเองก็มีทั้งแจกทำแถม ให้ลูกค้าประจำ 

       ทางร้านไก่ย่าง 5 บาท จะขายวันละ 2 รอบคือรอบเช้าตั้งแต่ตี 5 ถึง 11 โมงเช้า และรอบ่ายโมง ถึง 2 ทุ่ม  โดยในแต่ละวันใช้ไก่ 15 กิโลกรัมหรือวันละ 300 ไม้ มีตั้งเนื้ออกไก่,ตับ, (โครงไก่ย่าง 10 บาท) และข้าวเหนียวห่อละ 5 บาทด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีลูกชิ้นมาเพิ่มตัวเลือกให้ลูกค้าด้วย

      ด้านลูกค้าส่วนใหญ่ ขาประจำ  ยอมรับว่า ในยุคข้าวของแพงยอมรับว่าการมาซื้อไก่ย่างกิน  ช่วยลดค่าใช้จ่าย  โดยเฉพาะเด็ก ๆ จะชื่นชอบทานง่ายพร้อมข้าวเหนียวก็อยู่ท้อง และเป็นลูกค้าร้านนี้มานานเหมือนกัน

 ……………………………………

 

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล – เริ่มแล้วเทศกาลผลไม้  วันจำปาดะสตูล   21-23 ก.ค.66   เหล่าผู้นำ  ชิม  โชว์  เปิดงานเรียกน้ำย่อยยืนยันความอร่อย ขณะที่เพื่อนบ้านมาเลเซียเข้าช้อปกันไม่ขาดสาย

สตูล  เริ่มแล้วเทศกาลผลไม้  วันจำปาดะสตูล   21-23 ก.ค.66   เหล่าผู้นำ  ชิม  โชว์  เปิดงานเรียกน้ำย่อยยืนยันความอร่อย ขณะที่เพื่อนบ้านมาเลเซียเข้าช้อปกันไม่ขาดสาย

         ที่ลานอเนกประสงค์ เทศบาลตำบลฉลุง อ.เมือง  จ.สตูล  สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสตูล  พร้อมด้วย  องค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล   จัดงาน  “เทศกาลผลไม้ ของดีสตูล’66” และวันจำปาดะ   ระหว่างวันที่ 21-23 กรกฎาคม 2566   โดยภายในงาน  มีการนำผลไม้พื้นเมืองและผลไม้ที่ขึ้นชื่อ  ภายในจังหวัด  มาร่วมจัดแสดง อาทิ  จำปาดะขวัญสตูล กระท้อนนาปริก ทุเรียนบ้านโตน    และอีกมากมาย  รวมทั้งจัดการประกวดผลไม้  เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีคุณสมบัติเด่น  ในการเพิ่มมูลค่าและอนุรักษ์สายพันธุ์   ให้มีคุณภาพยิ่ง ๆ ขึ้นไป 

         นอกจากนี้ภายในงาน  มีการแสดงสินค้าพืชผลทางการเกษตร  ไม่ว่าจะเป็นจำปาดะ  โดยเฉพาะพันธุ์ขวัญสตูลที่โดดเด่น จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 80 บาท ทั้งผลสดและการแปรรูปเป็นแบบทอด  การจำหน่ายพันธุ์ทุเรียน พันธุ์กระท้อน และพันธุ์จำปาดะ  รวมทั้งผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ  อีกมากมาย ผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ทางสำนักงานพัฒนาชุมชนสตูล  คัดสรรมาร่วมออกบูธ นอกจากนี้   ยังมีบูธอาหารจานเด็ด  มัดรวมของอร่อยสตูล

 

       การจัดงานในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการปลูก  และประชาสัมพันธ์ผลไม้อัตลักษณ์ท้องถิ่นสตูล   ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ส่งเสริมด้านการตลาด ให้ผู้ซื้อพบผู้ผลิต  และกระตุ้นให้เกษตรกรผลิต   ผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ  เป็นที่ต้องการของตลาด  อีกทั้ง   ยังส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดสตูล  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจในจังหวัด

      และไฮไลท์การเปิดงานในครั้งนี้มี  นายสัมฤทธิ์  เลียงประสิทธิ์  นายกอบจ.สตูล  ประธานเปิดงาน  นางปุณณานันท์  ทองหยู  ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสตูล  และททท.สำนักงานสตูล และบรรดาผู้นำท้องถิ่นในจังหวัดสตูล  ที่มาร่วมเปิดงานด้วยการชูความอุดมสมบูรณ์ของผลผลิตที่ลูกใหญ่  ลูกโต  ผลหวาน  ปลอดภัยจากสารเคมี และชิมโชว์ความเอร็ดอร่อย   เรียกน้อยย่อยได้ไม่น้อย

       สำหรับบรรยากาศภายในงาน   นักท่องเที่ยวภายในและต่างจังหวัด  รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างแดนในมาเลเซีย  เข้าชิม ช็อป ชมงานกันไม่ขาดสาย

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล-ผู้ดูแลและผู้พิการ ทำน้ำพริก (ปลาร้า-ปลาจิงจัง) ลดรายจ่าย สร้างรายได้ สร้างคุณค่าให้กับตัวเอง

สตูล-ผู้ดูแลและผู้พิการ ทำน้ำพริก (ปลาร้า-ปลาจิงจัง) ลดรายจ่าย สร้างรายได้ สร้างคุณค่าให้กับตัวเอง

        ที่ห้องประชุมศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ  เทศบาลตำบลคลองขุด  อ.เมือง จ.สตูล   ผู้ปกครองและน้องๆ ที่มีความพิการทางร่างกายและสติปัญญา  ได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมอาชีพ  แก่ผู้พิการและผู้ดูแลคนพิการ จำนวน 30 คน  ซึ่งศูนย์บริการคนพิการเทศบาลตำบลคลองขุด  ร่วมกับ พมจ.สตูล  กิจกรรมจัดขึ้นเป็นหลักสูตร 1 วัน   

        ในการสอนทำน้ำพริกปลาจิ้งจั้ง  และน้ำพริกปลาร้า  ซึ่งเป็นเมนูที่ได้รับความนิยม  ขายง่าย  และไม่ยุ่งยาก  โดยน้อง ๆ ที่มีความพิการสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง  ในการร่วมทำกิจกรรม อาทิ  การปอกหอม หรือ การเด็ดพริก  เด็ดกระเทียมตามความสามารถที่เขาจะทำได้  เพื่อให้ผู้พิการและผู้ดูแลได้มีอาชีพติดตัว  และมีรายได้ในการจุนเจือครอบครัว พร้อมกับ  รู้จักคุณค่าในตัวเอง

         โดยนายสุนทร  พรหมเมศร์  นายกเทศมนตรีตำบลคลองขุด  บอกว่า  งบประมาณที่ พมจ.สตูล อุดหนุนมาในครั้งนี้   จะเป็นทักษะในการให้ทั้งผู้พิการและผู้ดูแลมีรายได้เสริม  หรืออาจเป็นรายได้หลัก  มาช่วยเหลือครอบครัวได้อีกทางหนึ่ง  พร้อมทั้ง  เป็นการสร้างกำลังใจที่ดี ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้  ซึ่งการอบรมในครั้งนี้  ให้ความรู้ด้านเทคนิคการทำ   ก่อนไปประกอบอาชีพหลักหรืออาชีพเสริม  ซึ่งจุดเด่นของการทำน้ำพริกคือ  สามารถหาวัตถุดิบในการทำได้ในพื้นที่

        ขณะที่  นางหนูผัด  เตยแก้ว   ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลผู้พิการ  บอกว่า  เป็นโครงการที่จะให้ทุกคนได้ร่วมกันทำ  ในส่วนที่ทำได้ และอีกทั้งยังสามารถขายได้จริง เพราะน้ำพริก เป็นเมนูที่ได้รับความนิยมซื้อรับประทานกันเป็นส่วนใหญ่

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล-อิหม่ามนำชาวบ้านขอดุอาร์ บรรพบุรุษ  ที่มอบทุเรียนพื้นบ้านโบราณอายุ 217 ปี  ให้มีลูกดกนับหมื่นลูกต่อปี

สตูล-อิหม่ามนำชาวบ้านขอดุอาร์ บรรพบุรุษ  ที่มอบทุเรียนพื้นบ้านโบราณอายุ 217 ปี  ให้มีลูกดกนับหมื่นลูกต่อปี

         ภายในสวนทุเรียน  หมู่ 3 บ้านหัวกาหมิง  ต.ทุ่งนุ้ย  อ.ควนกาหลง  จ.สตูล  อิหม่าม  ผู้นำศาสนาอิสลามพร้อมชาวบ้าน  มาร่วมสวดดุอาร์ขอพร   ให้กับนางสาวอรัญนาถ   ฉลาดเลิศ อายุ 53 ปี  เจ้าของสวนทุเรียนโบราณอายุ 217 ปี ที่ทำนูหรี ด้วยการใช้ทุเรียนโบราณจำนวน 50 ลูก (ซึ่งประเพณีงานบุญจัดเลี้ยงอาหารอย่างไม่เป็นทางการ) โดยทางเจ้าของสวนต้องการจะทำบุญเลี้ยง  และขอบคุณบรรพบุรุษที่มอบต้นทุเรียนโบราณพันธุ์ซุ้มหมู  ให้มีผลผลิตในแต่ละปีไม่น้อยกว่า 10,000 ลูก เช่นเดียวกันกับปีนี้   ที่ให้ผลผลิตมากถึง 2 รุ่น

          ปัจจุบันทุเรียนโบราณต้นนี้   ตั้งเด่นตระหง่านเพียงต้นเดียว  สูงขนาด ตึก 8 ชั้น และใหญ่มากถึง 21 คนโอบ  ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั้งใกล้และไกล  สั่งซื้อกันไม่ขาดสาย  ด้วยสายพันธุ์ที่มีรสชาติเนื้อครีม หวานกำลังดีกลิ่นไม่แรง  ทำให้หลายคนติดใจ สั่งซื้อในราคากิโลกรัมละ 80 บาท และสั่งต้นพันธุ์ขายในราคาต้นละ 600 บาท  เพื่อนำไปปลูก

          นางสาวอรัญนาถ   ฉลาดเลิศ  เจ้าของสวนทุเรียนโบราณ  บอกว่า  ปกติทุกปีจะทำนูหรี  เพื่อเลี้ยงญาติพี่น้อง  และทำบุญให้กับบรรพบุรุษที่มอบต้นทุเรียนโบราณต้นนี้  มาให้มีผลผลิตดีทุกปี และยืนต้นสง่า งดงามจนเป็นที่รู้จักกล่าวขานไปทั่วประเทศถึงอายุที่ยืนยาว

         ด้าน นางอภิวันท์  ทองแท่น  เกษตรอำเภอควนกาหลง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอควนกาหลง  บอกว่า  ทางเจ้าของสวน มีความตั้งใจจะอนุรักษ์ ดูแลทุเรียนพันธุ์ดังกล่าวเป็นอย่างดี เพื่อให้ลูกหลานและผู้คนที่หลงใหล  ในการลิ้มรสทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองได้ชิม

         ทุเรียนบ้านโบราณพันธุ์ซุ้มหมู ความเป็นมา จากอดีต   จุดนี้เคยเป็นสถานที่อยู่ของหมูป่า และตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น  ตั้งแต่พ.ศ.2349 ในสมัยรัชกาลที่.5  ราคาสูงกว่าทุเรียนบ้านทั่วไป  เนื่องจากมีความพิเศษ  ตรงที่เนื้อของทุเรียน แม้จะเป็นสีขาวนวล แต่เนื้อแน่นหนา ไม่ขม กลิ่นไม่ฉุนแรงเหมือนทุเรียนบ้านทั่วไป  และกรอบนอกนุ่มใน เม็ดเล็ก ลูกมีหลายขนาด ซึ่งเจ้าของต้องรอให้สุกหล่นจากต้นเท่านั้น  ถึงจะเก็บมากินหรือจำหน่ายได้  เนื่องจากต้นมีความสูงใหญ่มาก   ต้นทุเรียนบ้านโบราณ พันธุ์ซุ้มหมูนี้  ยังได้รับประกาศเกียรติบัตรการันตี จากอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม  ให้เป็น  รุกขมรดกของแผ่นดินใต้ร่มพระบารมี เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561

…………………………

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

สตูล – เกษตรกรเมืองสตูลหันมาปลูกสับปะรดแซมยางพาราก้าวผ่านปัญหาราคายางพาราตกต่ำรับรายได้ 4 แสนบาทต่อปี

สตูลเกษตรกรเมืองสตูลหันมาปลูกสับปะรดแซมยางพารา ก้าวผ่านปัญหาราคายางพาราตกต่ำ  รับรายได้ 4 แสนบาทต่อปี

         จากสภาพปัญหาราคาผลผลิตยางพาราในปัจจุบันที่ตกต่ำผนวกกับปัจจัยการผลิตมีราคาสูง จึงได้ปรับเปลี่ยนจากพื้นที่ปลูกยางพาราเดิมเป็นแปลงสับปะรด โดยเริ่มจากการปลูกแซมภายในแปลงยางพาราที่อายุไม่เกิน 3 ปี ซึ่งการปลูกแซมในแปลงยางพารานั้น   ไม่ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของยางพาราแต่ตรงกันข้ามการปลูกสับปะรดในแปลงทำให้การเจริญเติบโตของต้นยางพาราดีขึ้น    เนื่องจากยางพาราได้รับธาตุอาหารจากปุ๋ยที่ใส่ให้กับสับปะรด เมื่อไหร่ที่ต้องปลูกยางพาราใหม่ก็จะใช้สับปะรดเป็นพืชแซมในสวนยาง เสริมด้วยไม้ผลบริเวณรอบแปลง  และแบ่งพื้นที่ไว้บางส่วนในการขุดสระเก็บน้ำไว้ใช้ในการเพาะปลูกในฤดูแล้ง และใช้วิธีการทางธรรมชาติโดยการเลี้ยงผึ้งโพรงเพื่อช่วยในการผสมเกสรเพิ่มโอกาสในการติดผล

          โดยนายอิสมาแอน ไชยมล บ้านเลขที่ 161 หมู่ที่ 6 ตำบลควนโพธิ์ อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูลเป็นเกษตรกรที่ปลูกสับปะรดปลอดภัย ตามระบบการจัดการคุณภาพ การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (Good Agriculture Practices : GAP)  สับปะรดในแปลงได้รับมาตรฐานการรับรองสินค้า Q ซึ่งบ่งบอกว่าเป็นสับปะรดที่มีมาตรฐาน คุณภาพ และความปลอดภัย   จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 15-20 บาทรายได้จากการจำหน่ายสับปะรด  400,000 บาท/ปี ส่วนใหญ่จะมีแม่ค้ามารับเองที่สวนและจำหน่ายในพื้นที่ ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบเรื่องของตลาด   

           สำหรับเทคนิคการปลูกสับปะรดของนายอิสมาแอน ไชยมล คือ วางแผนบังคับให้ผลผลิตออกไม่พร้อมกันทีเดียวทั้งแปลง เพื่อป้องกันผลิตออกมามากจนเกินไปจนส่งผลกระทบต่อราคาผลผลิต   มีการจดบันทึกทำปฏิทินการผลิต  อีกทั้งยังมีการเปิดหน้าร้านเพื่อจำหน่ายผลผลิตเองที่หน้าสวนให้ผู้บริโภคโดยตรง สามารถกำหนดราคาสับปะรดเองได้    หลีกเลี่ยงการถูกกดราคารับซื้อผลผลิตจากพ่อค้าคนกลาง

             ด้วยแนวคิดดังกล่าวจึงได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนการผลิตพืชเดิมจากยางพารามาเป็นสับปะรดด้วยสภาพพื้นที่ที่มีความเหมาะสม   เป็นพืชทนแล้งและผลผลิตมีราคาดี สามารถสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัวให้มีวิถีชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งยังเป็นแบบอย่างและแนวทางให้แก่เกษตรกรผู้ที่สนใจจะปรับเปลี่ยนชนิดพืชในพื้นที่ได้นำไปปรับใช้ในแปลงของตนเองได้ สร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้แก่ชุมชนและเกษตรกรผู้ที่สนใจต่อไป

………………………………

อัพเดทล่าสุด