Categories
สัมภาษณ์พิเศษ-คอลัมน์นิสต์

แจ้งคำสั่งผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน … ถือว่าได้รับแจ้งวันใด ?

แจ้งคำสั่งผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน … ถือว่าได้รับแจ้งวันใด ?

           ความก้าวหน้าในอาชีพการงาน นับเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่พึงปรารถนา เพราะนั่นหมายถึงความมั่นคงในชีวิตหากได้รับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งดังที่หวังไว้ด้วยความเป็นธรรม แต่เส้นทางแห่งความสำเร็จมักจะไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป หากผู้เสนอผลงานเพื่อประเมินเลื่อนระดับได้เลือกผลงานที่ตนเห็นว่าดีที่สุดเพื่อส่งประเมินแล้ว แต่กลับได้รับแจ้งว่าเป็นผู้ไม่มีคุณสมบัติเข้ารับการประเมิน ซึ่งเมื่อมีเหตุเช่นว่านี้เกิดขึ้นและผู้เสนอผลงานเห็นว่าไม่เป็นธรรม ก็อาจกลายเป็นคดีพิพาทขึ้นสู่ศาลปกครองได้ครับ

 

            ประเด็นชวนคิด : หากหน่วยงานต้นสังกัดได้แจ้งผลการพิจารณาผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงานว่า ผู้เสนอผลงานไม่มีคุณสมบัติเข้ารับการประเมิน จะถือว่าผู้เสนอผลงานได้รับแจ้งมติหรือคำสั่งดังกล่าววันใด ? เนื่องจากวันได้รับแจ้งจะมีผลต่อการนับระยะเวลาในการอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่ง รวมไปถึงการใช้สิทธิฟ้องคดี
ต่อศาล (กรณีคำสั่งซึ่งกฎหมายมิได้กำหนดให้ต้องอุทธรณ์โต้แย้งก่อนฟ้องคดี เช่น คำสั่งที่ออกโดยคณะกรรมการ สามารถใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้เลยภายในระยะเวลาที่กำหนด)

 

            ข้อเท็จจริงของคดี : ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นข้าราชการครูชำนาญการพิเศษได้เสนอผลงานเพื่อขอรับการประเมินเลื่อนเป็นวิทยฐานะครูเชี่ยวชาญ แต่เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) มีมติว่าไม่มีคุณสมบัติเข้ารับการประเมิน (เนื่องจากมีรางวัลและผลงานไม่ครบ ๓ รายการ กล่าวคือ ผลงานเทียบเคียงของผู้ฟ้องคดีจำนวน ๒ รายการ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด) ผู้ฟ้องคดี
จึงขอให้ ก.ค.ศ. (ผู้ถูกฟ้องคดี) ทบทวนคุณสมบัติของตน แต่ ก.ค.ศ. พิจารณาแล้วมีมติเช่นเดิมและได้ออกประกาศผลการพิจารณาคุณสมบัติ (กรณีทบทวน) ทางเว็บไซต์ของสำนักงาน โดยผู้ฟ้องคดีได้ถูกตัดสิทธิในการเข้าประเมิน ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผลงานของตนเทียบเท่ากับผลงานเทียบเคียงอื่นที่หน่วยงานได้ให้การรับรอง จึงนำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้ศาลปกครองเพิกถอนมติดังกล่าว

 

           ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาว่า : คำสั่งหรือมติกรณีข้าราชการครูยื่นคำขอทบทวนคุณสมบัติเข้ารับการประเมิน ย่อมถือเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล อันเป็นคำสั่งทางปกครองที่เกิดขึ้นใหม่ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ซึ่งมาตรา 68 วรรคสอง ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2539) ออกตามความในพระราชบัญญัติเดียวกัน กำหนดให้คำสั่งทางปกครองที่แสดงให้ทราบโดยทางเสียง แสง หรือสัญญาณที่สามารถทำให้รับรู้ถึงคำสั่งทางปกครองนั้นได้ทันที เป็นคำสั่งทางปกครองที่มีผลเมื่อได้แจ้ง

 

          ดังนั้น การที่ ก.ค.ศ. แจ้งผลการพิจารณาคุณสมบัติ (กรณีทบทวน) ลงวันที่ 30 มีนาคม 2565
ทางเว็บไซต์ของสำนักงาน (ประกาศสำนักงาน ก.ค.ศ. กำหนดให้มีการแจ้งผลการทบทวนทางเว็บไซต์ของสำนักงาน)โดยในส่วนที่ไม่เห็นชอบให้เป็นผู้มีคุณสมบัติเข้ารับการประเมิน รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,673 ราย รวมถึงผู้ฟ้องคดี จึงถือว่าผู้ฟ้องคดีรู้ผลการพิจารณาโดยทางอินเทอร์เน็ตในวันดังกล่าวแล้ว และเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายเมื่อมติของ ก.ค.ศ. เป็นคำสั่งทางปกครองที่ออกโดยคณะกรรมการ จึงสามารถนำคดีมาฟ้องได้โดยไม่จำต้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งก่อน การที่ผู้ฟ้องคดีนำคดีมาฟ้องในวันที่ 21 มิถุนายน 2565 จึงเป็นการยื่นฟ้องภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แล้ว จึงรับคำฟ้องไว้พิจารณา (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 1722/2566)

 

           สรุปได้ว่า : คำสั่งทางปกครองจะมีผลใช้ยันต่อบุคคลตั้งแต่ขณะที่ผู้นั้นได้รับแจ้งเป็นต้นไป
โดยการแจ้งคำสั่งทางปกครองไม่จำต้องแจ้งด้วยหนังสือหรือวาจาเสมอไป แต่อาจแจ้งโดยวิธีการอื่นได้ เช่น หน่วยงานประกาศว่าจะดำเนินการแจ้งให้ทราบทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน ซึ่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการ
ทางปกครองและกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกำหนดให้คำสั่งทางปกครองที่แจ้งให้ทราบผ่านทางเว็บไซต์ (ถือเป็น
การแจ้งโดยทางเสียง แสง หรือสัญญาณ) มีผลเมื่อได้มีการแจ้ง (วันที่นำคำสั่งลงเว็บไซต์)

(ปรึกษาการฟ้องคดีปกครองได้ที่ “สายด่วนศาลปกครอง 1355”)

โดย ลุงถูกต้อง

  รมว.ศึกษา เปิดงาน TJ-SIF 2024 ผลักดันเยาวชนไทย-ญี่ปุ่นพัฒนานวัตกรรมไอซีทีสู่การขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต

รมว.ศึกษา เปิดงาน TJ-SIF 2024 ผลักดันเยาวชนไทย-ญี่ปุ่นพัฒนานวัตกรรมไอซีทีสู่การขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต

อัพเดทล่าสุด
Categories
สัมภาษณ์พิเศษ-คอลัมน์นิสต์

ปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต แม้ไม่ละเมิดแต่รัฐยังต้องรับผิด !

ปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต แม้ไม่ละเมิดแต่รัฐยังต้องรับผิด !

ดย ลุงถูกต้อง

          “หลักความรับผิดโดยปราศจากความผิด อาจไม่ค่อยคุ้นหูมากนัก แต่หลักการนี้สำคัญ
และคุ้มครองประชาชนที่ได้รับความเสียหายหรือรับผลกระทบจากการจัดทำบริการสาธารณะหรือการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งการรับภาระสาธารณะเกินสมควรกว่าบุคคลทั่วไป และการรับความเสี่ยงภัย
เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งวันนี้ … จะมาคุยกันถึงเรื่องการรับความเสี่ยงภัยจากการปฏิบัติหน้าที่ในการจับกุมผู้ร้าย

 

            ทั้งนี้ หลักความรับผิดโดยปราศจากความผิดและทฤษฎีเสี่ยงภัยมาจากแนวคิดที่ว่า รัฐมีอำนาจในการดำเนินงานต่าง ๆ ตามกฎหมาย แต่หากการดำเนินกิจกรรมบางลักษณะก่อให้เกิดความเสี่ยงภัย
หรืออันตรายซึ่งทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน และประชาชนบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้รับภัยนั้น
เป็นกรณีพิเศษ แม้รัฐจะไม่ได้กระทำความผิดใด ๆ ก็ตาม รัฐก็ต้องรับผลในการกระทำนั้น รวมทั้งต้องเยียวยา
ความเสียหายอันเกิดจากการดำเนินกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงภัยนั้นด้วย

 

            ลุงถูกต้องได้นำคดีตัวอย่างที่รัฐต้องรับผลในการกระทำของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นไปตามหลักการข้างต้นมาให้ศึกษากันครับ !  

             ประเด็นปัญหา : บุตรชายของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง (บิดา-มารดา) ถูกชุดปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นพิสูจน์และจับกุมบุคคลตามหมายจับ (เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี) ยิงจนถึงแก่ความตาย ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า บุตรของตนมิใช่บุคคลตามหมายจับและมิได้กระทำความผิด (นายบีเป็นบุคคลตามหมายจับในข้อหาร่วมกันก่อการร้าย) จึงฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้สำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดี) ในฐานะหน่วยงาน
ต้นสังกัดชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงาน
ทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง

              ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาว่า : เมื่อบุตรของผู้ฟ้องคดีถูกยิงเสียชีวิตเป็นผลมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นพิสูจน์และจับกุม โดยขณะปฏิบัติหน้าที่ได้พบกลุ่มของผู้ตาย
ซึ่งต้มน้ำกระท่อมในพื้นที่ป่า และเกิดการปะทะกันระหว่างหลบหนี ทั้งนี้ จากผลการตรวจพิสูจน์และพยานหลักฐานต่าง ๆ ฟังได้ว่าผู้ตายมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการก่อการร้าย ไม่มีประวัติอาชญากร ไม่พบ
สารเสพติด โดยพบอาวุธปืนเล็กกล จำนวน 1 กระบอก และพบลูกระเบิด 1 ลูก (ด้านใช้งานไม่ได้) อยู่ในกระเป๋ากางเกง แต่ไม่พบ DNA ของผู้ตายที่อาวุธปืน ทั้งผู้ตายเป็นเพียงเยาวชนอายุ 18 ปี จึงยังไม่มีน้ำหนักพอที่จะ
รับฟังได้ว่าผู้ตายยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ

              อย่างไรก็ตาม เมื่อบริเวณที่เกิดเหตุเป็นป่าละเมาะ โดยเจ้าหน้าที่ได้รับรายงานว่าบุคคล
ตามหมายจับมีการเคลื่อนไหวเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งแม้จะฟังได้ว่าผู้ตายมิได้ยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่
แต่ในสถานการณ์เช่นว่านี้ เจ้าหน้าที่ย่อมชอบที่จะใช้สิทธิป้องกันตัวโดยการยิงต่อสู้ กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่า
เป็นการกระทำละเมิด
โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อต่อผู้ตาย ทั้งนี้ แม้การปฏิบัติหน้าที่จะเป็นไป
เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามหมายจับโดยชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่สำนักนายกรัฐมนตรียังต้องรับผิด
จากการใช้อาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ผู้ก่อให้เกิดความเสี่ยงภัยหรืออันตรายแก่ราษฎรคือผู้ตาย อันถือเป็นความรับผิดอย่างอื่นของรัฐ (รับผิดโดยปราศจากความผิด) อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย สำนักนายกรัฐมนตรี
จึงต้องเยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 969/2566)

            สรุปได้ว่า : กรณีที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ใช้อำนาจตามกฎหมายอันมีลักษณะก่อให้ความเสี่ยงภัยหรืออันตรายแก่ประชาชน แม้จะดำเนินการโดยชอบหรือไม่เข้าลักษณะการกระทำละเมิด แต่หน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ยังต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้น ทั้งนี้เป็นไป
ตามหลัก “ความรับผิดโดยปราศจากความผิดและทฤษฎีเสี่ยงภัย” นั่นเองครับ

             

          (ปรึกษาการฟ้องคดีปกครองได้ที่ “สายด่วนศาลปกครอง 1355”)

 

  รมว.ศึกษา เปิดงาน TJ-SIF 2024 ผลักดันเยาวชนไทย-ญี่ปุ่นพัฒนานวัตกรรมไอซีทีสู่การขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต

รมว.ศึกษา เปิดงาน TJ-SIF 2024 ผลักดันเยาวชนไทย-ญี่ปุ่นพัฒนานวัตกรรมไอซีทีสู่การขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต

อัพเดทล่าสุด
Categories
สัมภาษณ์พิเศษ-คอลัมน์นิสต์

แกงไตปลาฟรีเวอร์ ศิลปินชาวใต้ชื่อดัง  น้ำกชพร   ออกบทเพลงเซฟอาหารปักษ์ใต้ พร้อมชวนคนไทยไม่ลืมอาหารบรรพบุรุษที่เป็นเอกลักษณ์

แกงไตปลาฟรีเวอร์…ศิลปินชาวใต้ชื่อดัง  น้ำกชพร   ออกบทเพลงเซฟอาหารปักษ์ใต้ พร้อมชวนคนไทยไม่ลืมอาหารบรรพบุรุษที่เป็นเอกลักษณ์

           “ไตปลาไม่หรอยตรงไหน   ไตปลาคืออาหารไทย  สุดยอดอาหารของเมืองใต้  ต้องยกให้ไตปลา” ท่อนฮุกในบทเพลง “แกงไตปลา”  โดย  ศิลปิน   (น้ำ กชพร)     หรือ  น.ส.กชพร   แกล้วกล้าหาญ   ศิลปินน้องใหม่ชาวปักษ์ใต้  ได้ออกบทเพลงชื่อ  แกงไตปลา  ที่กำลังเป็นกระแสในสังคมกับการจัดอันดับของชาวต่างชาติที่ให้เป็นอาหารยอดแย่   โดยบอกถึงแรงบันดาลใจในการแต่งบทเพลงในครั้งนี้ว่า  เป็นอาหารที่ตนชอบมาก  ไม่อยากให้ใครมาบูลลี่อาหารของเรา  เพราะเป็นอาหารอันดับ 1 ในใจเรา  การที่เขียนบทเพลงนี้ออกมาอยากให้ทุกคนได้รู้ว่า   อาหารชนิดนี้คือที่หนึ่งของเรานะ  มันอาจไม่ดีสำหรับคุณแต่มันดีสำหรับเราก็เลยอยากจะอธิบายออกมาเป็นบทเพลง   อยากจะบอกว่าอย่ามาบูลลี่อาหารของประเทศของฉัน

 

          และจากกระแสข่าวที่เกิดขึ้น   รู้สึกขำมากกว่าว่าคุณมาตัดสินให้  แกงไตปลา  เป็นอาหารที่แย่ได้อย่างไร   คุณเอาอาหารอะไรมาตัดสิน  อาหารที่คุณคิดว่าได้ที่ 1 อาจจะเป็นที่สุดท้ายของบ้านเราก็ได้   อยู่ที่ใครเป็นคนตัดสินมันไม่ยุติธรรม  มากกว่าการมาตัดสินกันแบบนี้และอยากจะแหลงเป็นภาษาใต้ว่า   “มันไม่หรอยตรงไหน   มันหรอยนะสำหรับฉัน”

   

          ศิลปิน น้ำกชพร   บอกด้วยว่า   โดยส่วนตัวแล้วน้ำเองมีความสัมพันธ์กับแกงไตปลาเป็นอย่างมาก  เริ่มกินแกงไตปลาตั้งแต่ป.2  ป.3  เด็ก ๆ กินเกือบทุกวันช่วยแม่ขายของในตลาด  ตอนเรียนมหาวิทยาลัยราม  ก็ทำกินตลอดเลยจน  เพื่อนๆ ที่สนิทสมัยเรียนรามฯ ครูก็จะให้ฉายาว่า น้ำเคย   เพราะกินไตปลาทุกวันจนครูเรียกว่า  น้ำเคย  ภาษาใต้ก็จะเรียกแกงไตปลาว่า  น้ำเคย

 

          จริงๆในการเขียนเพลงนี้ขึ้นมา  นอกจากอยากจะสื่อให้ตัวเองสบายใจแล้ว   ก็อยากให้คนที่ไม่รู้จักแกงไตปลาได้รู้จัก  ถ้าใครไม่รู้จักก็ไม่อยากให้ใครมาบูลลี่  หรือมาจัดอันดับว่าของเราเป็นอันดับสุดท้าย  โดยคิดว่าแฟนเพลงทางใต้น่าจะโดนใจ  ก็น่าจะมีความคิดเหมือนกันกับน้ำฯ  และวันนี้จะปล่อยบทเพลง  แกงไตปลา  ออกอากาศทางยูทูป กชพรมิวสิค  TikTok น้ำ กชพร และเพจ น้ำ กชพร  พร้อมกันทั่วประเทศ

 

          สำหรับผลงานช่วงนี้ก็จะปล่อยเพลงรัวๆ ก่อนสงกรานต์อย่างบทเพลง โบ๋ชาย และยิ่งเสพข่าวในช่วงนี้ก็มีข่าวเยอะแยะมากมายเป็นแนวข่าวสะเทือนใจ   จะได้ทำเพลงทิ้งไว้ 1 เพลงที่ยังไม่ได้ปล่อย  ชื่อเพลงว่า  ปลงเท่านั้น   เวลากลับบ้านก็อยากฟังเพลงนี้มาก คือปลง  รู้สึกว่าโล่งอกและดี   หลังจากตัดปล่อยใน tiktok ก็ได้รับกระแสตอบรับดีมาก 3 วันเกือบ 20,000 คนเล่น

            สำหรับบทเพลงของ   น้ำกชพร   ก็จะมีหลายแบบ แบบที่ดังในติ๊กต๊อกเกือบล้านคลิปจะเป็นเพลงแนวให้กำลังใจ นับหนึ่งแล้วเริ่มต้นใหม่  เพลงที่เป็นที่นิยมมาก ๆ ก็จะเป็นเพลงเกี่ยวกับให้แนวคิดเหมือนอย่างบทเพลง  ไม่มีใครใหญ่ไปกว่าโลง  จะให้แนวคิดว่าไม่ว่าเราจะยิ่งใหญ่แค่ไหน  รวยจน ก็ต้องตายทุกคนอย่าไปแกร่งแย่งกัน  ช่วงนี้ก็จะมีงานเข้ามาเยอะโดยเฉพาะในช่วงสงกรานต์จะไปเดินสายเล่นคอนเสิร์ตที่มาเลเซียไปที่รัฐเคดาห์   รัฐอลอสตาร์ 

 

          อยากจะฝากให้พี่น้องชาวใต้ทุกคนและก็เชื่อว่าพี่น้องชาวใต้ทุกคนไม่ลืม  แกงไตปลา  อย่างแน่นอน เป็นสิ่งที่พ่อแม่และบรรพบุรุษของเราสืบทอดมาอย่างช้านาน  เชื่อว่าทุกคนต้องเคยเจอและเคยรับประทาน  อาจจะชอบบ้าง  ไม่ชอบบ้าง  แต่ส่วนใหญ่ให้เป็น number one อยู่แล้ว ฝากพี่น้องทุกภาคอย่าทิ้งแกงไตปลา  ซึ่งเป็นเอกลักษณ์อัตลักษณ์ของภาคใต้เราฝากสนับสนุนเพลง  แกงไตปลา   ของน้ำกชพร  ศิลปินน้องใหม่ล่าสุดในวงการทางใต้ด้วยนะคะ 

……………………………………

  รมว.ศึกษา เปิดงาน TJ-SIF 2024 ผลักดันเยาวชนไทย-ญี่ปุ่นพัฒนานวัตกรรมไอซีทีสู่การขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต

รมว.ศึกษา เปิดงาน TJ-SIF 2024 ผลักดันเยาวชนไทย-ญี่ปุ่นพัฒนานวัตกรรมไอซีทีสู่การขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต

อัพเดทล่าสุด
Categories
สัมภาษณ์พิเศษ-คอลัมน์นิสต์

สัมภาษณ์พิเศษ  ปีเตอร์  พีรพัฒน์  รัชกิจประการ  ทายาท ส.ส.สตูล แนวคิดปลุกสตูลให้ตื่น เปลี่ยนโต้รุ่ง เป็น ตลาดแลจันทร์ ดึงลูกทัวร์มาเลเซียเข้าพื้นที่

สัมภาษณ์พิเศษ  ปีเตอร์  พีรพัฒน์  รัชกิจประการ  ทายาท ส.ส.สตูล  กับแนวคิดปลุกสตูลให้ตื่น เติมสีสัน เปลี่ยนโต้รุ่ง เป็น ตลาดแลจันทร์ ดึงลูกทัวร์มาเลเซียเข้าพื้นที่

           เป็นความหวังของชาวสตูลอีกครั้ง  เมื่อผู้บริหารหนุ่มคนรุ่นใหม่ มีแนวคิดจะเปลี่ยนโฉมตลาดโต้รุ่งเมืองสตูลที่หลายคนคุ้นเคย  ซึ่งมีมานาน 30 ปี  สู่  “ตลาดแลจันทร์” ศูนย์อาหารครบจบในที่เดียว ด้วยงบประมาณ 10 ล้านบาท  ให้ชาวสตูลมีช่องทางทำมาค้าขาย  และต้อนรับนักท่องเที่ยว  ชาวไทยและต่างชาติ ที่จะเข้ามาจับจ่ายซื้อสินค้า

ทีมข่าวได้พูดคุยกับ “ปีเตอร์”  คุณพีรพัฒน์  รัชกิจประการ  วัย 30 ปี  บุตรชาย โกโต  คุณพิบูลย์  รัชกิจประการ  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์จังหวัดสตูล เขต 1  กับแนวคิดที่จะปลุกเมืองสตูลที่หลับใหล  ให้เศรษฐกิจสตูลกลับมาคึกคัก  

 

@ แนวคิด “ตลาดแลจันทร์”     

ครับ  ผมมีโอกาสไปเรียนที่ประเทศสิงคโปร์ ตั้งแต่เด็ก  จบจากคณะสถาปัตย์  พอกลับมาประเทศไทยก็อยากทำโปรเจคที่ได้ใช้ความสามารถที่ได้เรียนรู้มาในเรื่องของการดีไซน์    ไอเดียของตลาดนี้เป็นสิ่งที่ทางบ้านผมอยากทำมานานแล้ว   แต่พอผมกลับมาเข้าช่วงโควิดพอดี  หลังจากโควิดเศรษฐกิจสตูลก็เห็นได้ชัดว่ามันแย่ลง    หลายคนบ่นว่าในเมืองสตูลนี้ค่อนข้างเงียบ   ไม่มีสีสัน   ผมจึงคุยกับคุณพ่อว่า เราทำอะไรได้บ้าง?  

สำหรับตัวผมเองเวลาเพื่อนจากต่างประเทศ   ญาติจากต่างจังหวัดมาสตูล   ถามผมว่าที่สตูลไปเที่ยวที่ไหนได้บ้าง?   ในฐานะที่เป็นคนสตูลเองก็รู้สึกอาย   ก็คิดว่าโปรเจคตลาดแลจันทร์ที่จะเกิดขึ้นจะตอบสนองความต้องการของคนสตูลได้ดี   ให้เมืองมีสีสันมากขึ้น   มีความคึกคักมากขึ้น

 

@ รูปแบบของตลาดเป็นแบบไหน วาง concept ไว้ยังไง ?

          ตลาดแลจันทร์เป็นตลาดกลางคืน เปิดตั้งแต่ 4 โมงเย็นไปจนถึง 4 ทุ่ม   ส่วนตัวตลาดเองก่อนหน้านี้เป็นตลาดโต้รุ่ง  ตลาดโตรุ่งเองก็มีพ่อค้าแม่ค้าอยู่แล้วประมาณ 70 ล็อค   หลักๆของผมที่ออกแบบตลาดจะคิดว่าถ้ามีพ่อค้าแม่ค้ามากขึ้น   ผมก็ต้องหาลูกค้ามาให้มากขึ้นเช่นกัน   วันนี้คนมาเดินโต้รุ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่เดินมาซื้ออาหารซะส่วนใหญ่   เป็นกลุ่มลูกค้าที่เช็คอเวย์  จะมี LINE MAN มาซื้อ   ก็เลยคิดว่าถ้าหาลูกค้าเพิ่ม   ก็ต้องเข้าใจก่อนว่าคุณสตูลชอบแบบไหน  คนสตูลเวลากลางคืนชอบไปนั่งร้านน้ำชา    ตอนดีไซน์ตลาดขึ้นมาคิดว่าต้องมีโซนนั่งชิลล์   ให้คนมานั่งทานอาหาร   ซึ่งเป็นที่โล่งๆ  สามารถดูดาวหรือพระจันทร์ได้   มันเป็นส่วนหนึ่ง  

 

         นอกจากนี้ก็จะมีโซนหลักๆอีกสองโซน   จะเป็นโซนลานจัดกิจกรรม   จะมีของตกแต่งสวยงามมีต้นไม้   แสงสี   เป็นจุดเช็คอิน    คิดว่าการจัดกิจกรรมจะทำให้เมืองมีสีสันมากขึ้น  ถ้าในพื้นที่มีการจัดงานไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มใหญ่   หลักๆคืออยากให้พื้นที่จัดงานตรงนี้สามารถมาจัดได้ฟรี   อยากให้คนสตูลได้ออกอีเวนท์ต่างๆ   ถ้าในตลาดมีจุดเช็คอินสวยๆ  ก็จะดึงลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ว่าจะเป็นชาวต่างชาติ   หรือคนต่างจังหวัดเข้ามา   ไหนๆก็จะทำตลาดทั้งทีจึงคิดว่าก็ทำให้ดีไปเลย    ของเราจะมีการคัดแม่ค้า   อยากจะประชาสัมพันธ์ตัวเองว่าเป็น Local best   หรือ สินค้าท้องถิ่นที่ดีที่สุด   ที่จะมาขายในตลาดของเรา   ตัวตลาดเองก็จะเป็นพื้นที่ปูนคอนกรีต   ทางตลาดจะมีสิ่งอำนวยความสะดวก   เช่น  ห้องน้ำ   ลานจอดรถ   จะมีแม่บ้าน   มียาม  มีกล้องวงจรปิด   ดูแลเรียบร้อย

@ รองรับจำนวนลูกค้าได้มากน้อยแค่ไหน ?

          ปัจจุบันนี้ลูกค้ามาที่โต้รุ่งก็เกือบ 1,000 หรือมากกว่า 1,000 คน   ในอนาคตก็จะมีที่จอดรถเพิ่มให้ด้วยหลัก 2,000 คน ก็น่าok.  เพราะตลาดเรามีถนนล้อมสามด้าน  มีที่จอดรถเยอะเป็นพิเศษ

 

@ กลุ่มเป้าหมายนอกจากเป็นคนในท้องถิ่น  คนต่างจังหวัด  และต่างประเทศ  เราเล็งกลุ่มไหนไว้เป็นพิเศษ ?

          หลักๆก็ต้องเป็นเพื่อนบ้าน   คือกลุ่มนักท่องเที่ยวมาเลเซีย  ที่จริงคนมาเลเซียมาเที่ยวสตูลเยอะมาก   เพียงแต่ไม่ได้ผ่านเข้ามาในเมือง   ก็ได้มีการเข้าไปคุยกับกลุ่มทัวร์ในมาเลเซียว่า  คุณสนใจที่จะมาลงที่นี่ไหม  เพราะเขาทำทัวร์เหมือนกัน   เวลามาสตูลก็จะไปดูนกที่ตำมะลัง  ไปทานอาหารทะเลที่ตันหยงโป  จึงเสนอไปว่า  “ทัวร์ของคุณจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นไหมถ้าคุณมีที่อื่นให้ไปด้วย”   ซึ่งเค้าก็สนใจติดต่อเข้ามา

 

@ สิ่งที่เป็นห่วงของการทำตลาดตรงนี้คือคุณพ่อให้คำชี้แนะยังไงบ้าง?

          พ่อเป็นคนอยากให้ทำ   พ่อเข้าใจดีว่าพี่น้องชาวสตูลต้องการอะไร   แต่ผมโชคดีตรงที่ผมมีที่ปรึกษาที่ดีเยอะ   เพราะพ่อมีเพื่อนเยอะ เจ้าของตลาดกรีนเวย์ ก็เป็นเพื่อนกับพ่อ  จริงๆแล้วมีเจ้าของตลาดเป็นที่ปรึกษาที่สำคัญมากสำหรับตลาดแลจันทร์   คือเวลามีอะไรก็จะถาม

 

@ ปัญหาอุปสรรค?

          เรื่องฝนก็เป็นปัญหาหลักปัญหาหนึ่ง   แต่โซนที่เป็นอาหารก็จะมีโซนที่ไม่มีหลังคา   ส่วนโซนที่มีหลังคาก็มีเช่นกัน    ปัญหาหลักๆที่นึกได้ก็คือ   พ่อค้าแม่ค้าชาวสตูลต้องเข้าใจว่าพวกเขามีงบไม่เยอะ   ส่วนหลักๆคือทำยังไงให้ค่าเช่าต่ำที่สุด   โชคดีตรงที่ว่าเจ้าของที่ดินเป็นที่ดินของกงสี ผมก็ไปเจรจากับทางกงสี  ซึ่งที่ดินกลางเมืองสี่ไร่นี้ถ้าคิดค่าเช่าจริงๆ คิดได้เยอะเลย   แต่ก็เจรจาขอให้ตลาดติดก่อนไม่ต้องขึ้นค่าเช่ากับแม่ค้า

 

@ สิ่งที่มุ่งหวัง?

           ผมหวังว่า   หลักๆการที่ผมทำโปรเจคตลาดแลจันทร์   จะทำให้เศรษฐกิจสตูลดีขึ้น   อย่างน้อยพ่อค้าแม่ค้ามีลูกค้ามาเดินตลาดเยอะๆ  ชีวิตของพ่อค้าแม่ค้าก็จะสบายขึ้นเยอะ  นอกจากนั้นก็มองว่าถ้าตลาดสำเร็จจริงๆ   มันจะไม่ใช่ตลาดอย่างเดียวที่ได้รับผลประโยชน์   เพราะถ้านักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัดมา   กิจการอย่างอื่นเช่น   โรงแรม   ก็มีผลพลอยได้ไปด้วยก็อยากจะขอฝากพี่น้องชาวสตูลว่า  เราเป็นสตูลเหมือนกัน อยากให้พี่น้องชาวสตูลมาช่วยสนับสนุนเพราะถ้าเราไม่ช่วยสนับสนุนกันเองก็ไม่รู้ว่าใครจะมา

          ตอนนี้ยังเปิดรับสมัครพ่อค้าแม่ค้าทางเพจ Facebook ตลาดแลจันทร์ มาช่วยกันสนับสนุนตลาดสตูลกันนะครับ

……………

  รมว.ศึกษา เปิดงาน TJ-SIF 2024 ผลักดันเยาวชนไทย-ญี่ปุ่นพัฒนานวัตกรรมไอซีทีสู่การขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต

รมว.ศึกษา เปิดงาน TJ-SIF 2024 ผลักดันเยาวชนไทย-ญี่ปุ่นพัฒนานวัตกรรมไอซีทีสู่การขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา สัมภาษณ์พิเศษ-คอลัมน์นิสต์

สัมภาษณ์พิเศษกลุ่มออกแบบ นักสร้างสรรค์ และหน่วยงานสำคัญ   ที่ช่วยผลักดัน “มาแต่ตรัง” เทศกาลท่องเที่ยวสร้างสรรค์ ให้เกิดขึ้นได้

สัมภาษณ์พิเศษกลุ่มออกแบบ นักสร้างสรรค์ และหน่วยงานสำคัญ   ที่ช่วยผลักดัน “มาแต่ตรัง” เทศกาลท่องเที่ยวสร้างสรรค์ ให้เกิดขึ้นได้

          คุณเพ็ญศิริรัตน์ อาจทวีกุล ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง  งาน “มาแต่ตรัง” ดำเนินการภายใต้กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน จังหวัดตรัง โดยสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง คุณเพ็ญศิริรัตน์ อาจทวีกุล ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง เผยถึงแนวคิดในการจัดงานครั้งนี้ว่า “เราริเริ่มมาจากสำนวนโบราณของคนตรังที่มักพูดกันว่า “มาแต่ตรัง ไม่หนังก็โนราห์” ซึ่งเป็นสำนวนที่สื่อให้เห็นว่าเมืองตรังเป็นแหล่งศิลปะการแสดงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมโนราห์ หรือหนังตะลุง นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นด้วยว่าเมืองตรังเป็นเมืองแห่งศิลปิน ตัวคนตรังเป็นคนมีปฏิภาณไหวพริบ  มีความเป็นศิลปิน การจัดงานนี้ก็จะเหมือนเป็นการเปิดเวทีให้ศิลปิน นักสร้างสรรค์ รวมถึง  ผู้ประกอบการต่าง ๆ ได้มานำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนความมคิดเห็นซึ่งกันและกัน รวมถึงสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในจังหวัดตรังด้วย”

         “นอกจากนี้เราคาดหวังในเรื่องของการสร้างเครือข่ายกลุ่มนักสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดกลไกการทำงานร่วมกันในกลุ่มคนพื้นที่ และคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นในห้วงการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองเก่า รวมถึงเกิดการต่อยอดธุรกิจใหม่ และมีการรับรู้การจัดการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองเก่าตรังเป็นวงกว้าง”

         ดร. สัญญา ศรีวิเชียร นายกเทศมนตรีนครตรัง    หนึ่งในหน่วยงานที่มีบทบาทอย่างมากในเทศกาลท่องเที่ยวสร้างสรรค์เชิงวัฒนธรรม “มาแต่ตรัง” คือเทศบาลนครตรัง โดยดร. สัญญา ศรีวิเชียร นายกเทศมนตรีนครตรัง กล่าวว่า “เทศบาลนครตรังเป็นหน่วยงานท้องถิ่น มีนโยบายและภารกิจเรื่องการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และแก้จน พัฒนาคน พัฒนาเมือง เรามุ่งพัฒนาเมืองทุกส่วนให้เกิดความยั่งยืน พัฒนาสวนสาธารณะให้พี่น้องได้พักผ่อนได้ออกกำลังกาย”

           “ผมต้องการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม เพื่อที่จะให้อนุชนรุ่นหลังมีความเข้าใจ อาทิ การคัดแยกขยะ การดูและแยกพลาสติกไม่ให้ลงแม่น้ำลำคลองที่จะไหลลงไปสู่ทะเล ซึ่งตอนนี้เราได้ดำเนินการทำ MOU กับมูลนิธิของเยอรมัน เราทำโครงการบำบัดน้ำเสีย ต้องการไม่ให้น้ำเสียลงคลองห้วยยาง ไม่ให้น้ำในครัวเรือนลงในคลองน้ำเย็น ทั้งสองคลองในเทศบาลนครตรัง เพื่อต้องการความยั่งยืนเช่นกัน ฉะนั้นเรามีของดีอยู่แล้ว เราก็พยายามให้เกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคตในทุกเรื่อง”

“ซึ่งบัดนี้ น้ำในคลองห้วยยางก็ดูสะอาดมากยิ่งขึ้น คลองสวยน้ำใส สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแหล่งหนึ่งในทางวัฒนธรรม ในทางประวัติศาสตร์ของคลองห้วยยาง การที่เราจัดงานนี้เพื่อต้องการที่จะสืบสานพัฒนาเมืองเก่าของเรา พัฒนาสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น และช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย”

 

         พยุงศักดิ์ ช่องลมกรด กลุ่ม Back Yard Cinematic พูดถึงการมีส่วนร่วมในงาน “มาแต่ตรัง” ในครั้งนี้ว่า “Back Yard Cinematic เป็นกลุ่มฉายหนังนอกกระแส เหมือนเป็นตัวเลือกหนึ่งในการดูหนัง เพิ่มความหลากหลายในการดูหนัง ปกติในตรังจะมีโรงหนังที่อยู่ในห้างสรรพสินค้าซึ่งฉายหนังตลาดอยู่แล้ว เราเป็นกลุ่มที่เพิ่มมุมมอง เพิ่มกิจกรรมในการดูหนังขึ้นมา อาจจะแตกต่างออกไป เราจะฉายหนังที่หาดูยากหน่อย พอดูจบแล้วเราก็จะคุยกันถึงความรู้สึกของคนดูว่ารู้สึกอย่างไร หรือมีอะไรไปทัชใจเขา เป็นความรู้สึกร่วมกับหนัง ปกติทุกคนดูจบก็จะลุกไป ของเราดูจบก็จะได้มาคุยกัน เป็นคอมมูนิตี้ใหม่ ๆ”

กลุ่มนักออกแบบสร้างสรรค์ หัว – Born 

      กลุ่มหัว – Born  (หัวบอน) คือ หัวที่เกิดความคิดสร้างสรรค์ให้วัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่เข้าถึงงานศิลปะและมีความคิดสร้างสรรค์ในจังหวัดตรังมากขึ้น คุณอัจจิมา รัตตมณี (ผึ้ง) ตัวแทนจากกลุ่มหัวบอนเล่าถึงกิจกรรมที่กลุ่มหัวบอนได้จัดขึ้นที่ ตึกตรังชาตะ (ตึกเก่า) โดยเริ่มตั้งแต่ 10.00 – 21.00 น. ตลอด 5วัน

       “งานนี้เราใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ตั้งแต่เริ่มเดินเข้ามาในตึกชาตะ เราจะมี Blind Test มีอาหาร มีเวิร์คชอปต่าง ๆ ที่ใช้วัสดุธรรมชาติ มีดินปั้นแปะเป็นผลงานสร้างสรรค์ของทุกคน และจะมีนิทรรศการภาพถ่ายในห้องมืด เพื่อให้คนที่ไปร่วมชมงานได้มีส่วนร่วมกับคนที่ถ่ายทอดภาพด้วย ส่วนฝั่งตรงข้ามตึกตรังชาตะเป็นปศุสัตว์ เราจัดเป็นตลาดนัดครีเอทีฟ เรียกว่า เถเพลย์ครีเอทีฟมาร์เก็ต แนวคิดคือ ต้องการนำวัสดุของผู้ประกอบการในตรังมาใช้ อาจจะเป็นสิ่งของที่ไม่ใช้แล้ว เราก็เอามาทำให้เป็นงานศิลปะแนวใหม่ ๆ เช่น กระดาษของสำนักพิมพ์ แกนผ้า ตระกร้าผลไม้ ตระกร้าขนมจีนที่วางทิ้งไว้ พอมาอยู่ในมือนักสร้างสรรค์ก็จะเกิดเป็นงานศิลปะ”

        “ตลาดนัดครีเอทีฟ เป็นการรวมตัวของผู้ค้าในจังหวัดตรังและจังหวัดใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็น สงขลา นครศรีธรรมราช ยะลา ปัตตานี ในงานมีส่วนการจัดแสดงของ Plan Toys (ผู้ผลิตของเล่นไม้เจ้าดังของไทย) มีเกมที่ทางหัวบอนจะจัดให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เข้ามาร่วมสนุกและมีการแสดงโชว์ทั้งเด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ มาเต้นลีลาศ รองเง็ง นอกจากนี้ยังมีหน่วยย่อยของนิทรรศการ เป็นเวิร์คชอป ลองเล่น. ลองทำ. ลองเถ เมืองประชา – ซน คนช่างเถ ที่เราอยากให้คนในจังหวัดตรัง และจังหวัดใกล้เคียง ได้มามีส่วนร่วม มาเล่น ให้เขารู้สึกสนุก เรามีเกมและของรางวัลเล็กๆ น้อยๆ ให้คนที่มาร่วมงานด้วย ทางกลุ่มทีมหัวบอนจึงอยากให้รู้ว่าจังหวัดตรังไม่ได้มีแค่ของกิน แต่เรามีงานศิลปะ งานแสดงที่คนรุ่นใหม่ต้องการถ่ายทอดให้ทุกคนได้ชมกัน”

กลุ่มนักออกแบบสร้างสรรค์ Urban Seeker

         กลุ่ม Urban Seeker คือกลุ่มที่ตามหาคุณค่าของเมืองว่าเมืองนี้มีคุณค่าอย่างไร เราได้ใช้ความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรมมาจัดการ เรียบเรียง เผยแพร่ให้คนอื่น ๆ ดู ทำให้คนที่สนใจ รักเมืองนี้ หรือมีงานอดิเรกได้ติดตามต่อได้

       

        คุณยิ่งยศ แก้วมี (กอล์ฟ) จากกลุ่ม Urban Seeker ให้ความเห็นถึงแนวคิดในการส่งเสริมการท่องเที่ยวว่า “ถ้าเราเป็นเจ้าบ้านที่ดี มีข้อมูลที่ดี ทุกคนสามารถเป็นไกด์ให้เมืองได้หมดทุกอย่าง ซึ่งจะมีเรื่องที่สงวนไว้ให้คนเมืองเท่านั้นที่จะรู้ ฉะนั้นเวลานักท่องเที่ยวมาก็ต้องตามหาคนเมือง เข้าถึงจะรู้เรื่องราวนั้น ๆ”

       งาน “มาแต่ตรัง” ในครั้งนี้ กลุ่ม Urban Seeker ได้นำเสนอผลงานสร้างสรรค์การท่องเที่ยวเมืองเก่า ในรูปแบบศิลปะการจัดวาง Installation Art อาทิ “ผักบุ้งริมคลอง ตัวแทนพืชผักริมคลองในอดีตประกอบกับชุมชนในอดีตเขาเลี้ยงหมู ชาวบ้านเขาก็จะนำ 2 อย่างนี้มาผสมกัน เกิดเป็นนวัตกรรมอย่างนึง เรียก “หัวหมูผักบุ้ง” ซึ่งน่าจะมีเฉพาะที่ตรังเท่านั้น” ผลงานสร้างสรรค์ชิ้นนี้สะท้อนถึงความมั่นคงทางอาหารที่เกิดจากความอุดมสมบูรณ์ของคลองห้วยยาง ในเมื่อครั้งอดีตคนตรังทับเที่ยงได้นำหมูที่เลี้ยง และผักบุ้งที่ปลูกริมคลอง มารังสรรค์อาหารร่วมกับน้ำราดสีแดงอันเป็นเอกลักษณ์ เพื่อเรียกร้องให้ผู้คนหันกลับมาทบทวนถึงความมั่นคงทางอาหารในชุมชนเมืองทับเที่ยงนี้อีกครั้ง

        “เรื่องที่สองคือ ไซดักทรัพย์ สามารถเห็นได้ตามร้านค้า เราจำลองมาเพื่อดักทรัพย์ให้กับเมือง ไซดักทรัพย์ ยังไปพ้องกับไซจับปลา ซึ่งในอดีตมีปลาชุกชมอยู่ในคลอง สะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของคลองห้วยยางในอดีตได้อีกด้วย”

          อีกไฮไลท์ของกลุ่ม Urban Seeker คือ Pocket Park พื้นที่นั่งเล่นสร้างสรรค์ที่เล่าผ่านภูมิปัญญาของทางเดินห้าฟุต (หง่อคาขี่) ใต้อาคารบ้านแถวตึกแถวในอดีต พื้นที่แห่งนี้บ่งบอกถึงความเข้าใจในสภาพบริบทของที่ตั้งอาคาร รวมทั้งเป็นหนึ่งในการแสดงออกถึงความใจกว้างของเจ้าของอาคารที่ให้ความสำคัญต่อประโยชน์แห่งสาธารณะในกรรมสิทธิ์ของตน เพราะแม้เป็นพื้นที่ใต้ที่ดินของคนอื่น แต่เราสามารถเดินผ่านได้ สามารถหลบแดดหลบฝนได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความใจกว้างของคนตรังนั่นเอง

ชมภาพบรรยากาศ “งานมาแต่ตรัง” ได้ที่เพจ https://facebook.com/TrangRenown

  รมว.ศึกษา เปิดงาน TJ-SIF 2024 ผลักดันเยาวชนไทย-ญี่ปุ่นพัฒนานวัตกรรมไอซีทีสู่การขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต

รมว.ศึกษา เปิดงาน TJ-SIF 2024 ผลักดันเยาวชนไทย-ญี่ปุ่นพัฒนานวัตกรรมไอซีทีสู่การขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต

อัพเดทล่าสุด
Categories
สัมภาษณ์พิเศษ-คอลัมน์นิสต์

ภาคธุรกิจสตูลฝาก ผู้ว่าฯยอด ผู้ว่าสตูลคนใหม่   ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวสตูลทุกมิติ  และสะพานสตูลเปอลิสต่อเนื่อง

ภาคธุรกิจสตูลฝาก ผู้ว่าฯยอด ผู้ว่าสตูลคนใหม่   ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวสตูลทุกมิติ  และสะพานสตูลเปอลิสต่อเนื่อง

          ภาคธุรกิจฝากความหวังถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลคนใหม่  เดินหน้าพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสตูล  หลังจังหวัดสตูล ขาดผู้ว่าราชการจังหวัด นานร่วม 1 ปี  โอกาสนี้ชาวจังหวัดสตูลร่วมต้อนรับนายศักระ  กปิลกาญจน์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงมหาดไทย  มาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล

         สำหรับ นายศักระ  กปิลกาญจน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล  เป็นคนจังหวัดสงขลา  เรียนชั้น ประถมศึกษา ที่โรงเรียนอนุบาลสตูล   มัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนแสงทองวิทยา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา  ระดับ  มัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนเซนต์ดอมินิก กรุงเทพฯ   จบปริญญาตรี : รัฐศาสตรบัณฑิต (การปกครอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2532  และได้เรียนจบ ระดับปริญญาโท : รัฐศาสตรมหาบัณฑิต (การปกครอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี  2536

         รับราชการ  ตำแหน่งแรก ปลัดอำเภอละงู และ อำเภอเมืองสตูล  จังหวัดสตูล  ในปี 2535 -2539  จากนั้นในช่วงในปี  2539 – 2544  ปฏิบัติหน้าที่ สำนักงานเลขานุการกรมการปกครอง  ปี 2544 – 2550   ปลัดอาวุโสในพื้นที่จังหวัดสงขลา   ในปี 2550   เป็นนายอำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา  ในปี 2551  ถัดมาเป็น นายอำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา  และได้กลับมาจังหวัดสตูลอีกครั้งเมื่อปี 2556  ในตำแหน่ง  นายอำเภอละงู จังหวัดสตูล  และรับตำแหน่งนายอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา  ในช่วงปลายปีเดียวกัน   ในปี 2558  เป็นนายอำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา  ก่อนเป็นปลัดจังหวัดสงขลา  ในปีเดียวกัน  จากนั้น 2 ปี ในวันที่ 1 ตุลาคม 2560  รับตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา  และในปี 2562   รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล    ปี 2565  รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา และ รับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง  ในช่วงปลายปี 2565  ก่อนมีโอกาสกลับมาจังหวัดสตูลอีกครั้ง ในฐานะ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล  เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566 

       และในวันที่ 4 ตุลาคม 2566  ที่ผ่านมา ที่อาคารเฉลิมพระเกียรติ  80 พรรษา  ศาลากลางจังหวัดสตูล    นายชาตรี  ณ ถลาง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล พร้อมด้วย นายชูชีพ ธรรมเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล   หัวหน้าสำนักงานจังหวัด  หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดสตูล นายอำเภอ สมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัดสตูล  หน่วยงานภาครัฐ  ภาคเอกชน และภาคประชาชน   ร่วมให้การต้อนรับกันเป็นจำนวนมาก   โอกาสนี้  นายเอกรัฐ  หลีเส็น  อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล พร้อมภริยา ก็นำช่อดอกไม้มาร่วมแสดงความยินดีกับผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลคนใหม่  ในวันนี้ด้วย   

          ด้าน นายศักระ  กปิลกาญจน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล  หรือผู้ว่ายอด   ได้กล่าวขอบคุณ ทุกภาคส่วน    ซึ่งตนตั้งใจมาทำงานให้กับพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดสตูล  อย่างเต็มความสามารถ  ยินดีรับฟังความคิดเห็นในทุกเรื่อง  ที่จะช่วยแก้ปัญหาของประชาชน  และขอให้ทุกภาคส่วนร่วมกันคิด ร่วมกันแก้ปัญหา และร่วมกันพัฒนาจังหวัดสตูลไปด้วยกัน

       ขณะที่ ภาคธุรกิจ  ต่างคาดหวังอยากให้จังหวัดเดินหน้าขับเครื่องเศรษฐกิจของสตูล  โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว  และผลักดันเส้นทางเชื่อมสตูล-เปอร์ลิส  โดยเชื่อว่าจุดนี้สามารถพัฒนาสตูลได้แบบพลิกโฉมสตูลเลยทีเดียว 

           ทางด้าน  นายชวรณ สุธาพานิชย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสตูล  กล่าวว่า อยากฝาก 2 ประเด็น  ประเด็นแรก เรื่องของผังเมืองซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาจังหวัด มีปัญหากับทางสภาอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม คือ ผังเมืองในบางพื้นที่ห้ามก่อสร้างโรงงาน  ว่าด้วยกฎหมายโรงงานทุกชนิด  ประเด็นที่ 2 อยากให้ผู้ว่าฯขับเคลื่อนเศรษฐกิจจังหวัดสตูล  ผ่านการท่องเที่ยว  เนื่องจากว่า เครื่องจักรสำคัญของการท่องเที่ยวจังหวัดสตูล  นักท่องเที่ยวสามารถพาคนต่างจังหวัดเข้ามาพัก  มากิน  มาใช้ ในสตูล  ได้ก็น่าจะเป็นการดี

 

         ในส่วนของหอการค้าจังหวัดสตูล โดย  นายกฤษฎา อึ้งสกุล ประธานหอการค้า  กล่าว ในโอกาสมาร่วมต้อนรับผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ว่า  ถ้าพูดถึงเศรษฐกิจปัจจุบัน จังหวัดสตูล  มีเม็ดเงินที่เข้ามาเร็วที่สุดคือในภาคการท่องเที่ยว   การท่องเที่ยวจะส่งผลถึงเศรษฐกิจของเกษตร  เกษตรกรสามารถพัฒนายกระดับสินค้าทางการเกษตรได้ด้วย   ส่วนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานหลักๆที่อยากให้ผู้ว่าฯช่วยผลักดันก็คือ  สะพานสตูลเชื่อมกับเปอร์ลิส หรือสะพานมิตรภาพไทย-มาเลเซีย จุดนี้คาดว่าจะเปลี่ยนโฉมหน้าของจังหวัดสตูลได้อย่างพลิกโฉม และจะเชื่อมต่อไปถึง ปีนัง ถึง ภูเก็ต  จะช่วยเรื่องการท่องเที่ยว ให้เกิดเส้นทางอันดามัน ส่วนประเด็นการศึกษาก็อยากฝากท่านผู้ว่าช่วยยกระดับการศึกษาของสตูลให้ทันจังหวัดอื่น ไม่ว่าจะเป็นหาดใหญ่  ภูเก็ต  เพื่อให้เด็กของเราเป็นคนคุณภาพเพื่อมาพัฒนาจังหวัดมากขึ้น  ส่วนประเด็นฮาลาล  ปัจจุบันสตูลเรื่องอุตสาหกรรมยังมีน้อยมาที่จะดึงนักลงทุนมา  อยากจะดึงนักลงทุนมาจากมาเลเซียมาลงทุน  เพราะเรามีประชากรมุสลิมกว่า 80 % ซึ่งเป็นจุดแข็งของเรา  เราจะนำฮาลาลมาเป็นจุดแข็งในการพัฒนาจังหวัดเราได้ในแผนระยะกลาง

………………………………

  รมว.ศึกษา เปิดงาน TJ-SIF 2024 ผลักดันเยาวชนไทย-ญี่ปุ่นพัฒนานวัตกรรมไอซีทีสู่การขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต

รมว.ศึกษา เปิดงาน TJ-SIF 2024 ผลักดันเยาวชนไทย-ญี่ปุ่นพัฒนานวัตกรรมไอซีทีสู่การขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต

อัพเดทล่าสุด
Categories
ท้องถิ่น-การเมือง สัมภาษณ์พิเศษ-คอลัมน์นิสต์

สภาอุตสาหกรรมสตูลฝากความหวังถึงนายกเศรษฐา  ช่วยลดรายจ่ายประชาชนเป็นวาระเร่งด่วน!  สานต่อ Soft Loan ช่วยภาคธุรกิจจากพิษโควิด และเมกะโปเจคเปิดเมืองชายแดนสะพานสตูล-เปอร์ลิส

สภาอุตสาหกรรมสตูลฝากความหวังถึงนายกเศรษฐา  ช่วยลดรายจ่ายประชาชนเป็นวาระเร่งด่วน!  สานต่อ Soft Loan ช่วยภาคธุรกิจจากพิษโควิด และเมกะโปเจคเปิดเมืองชายแดนสะพานสตูล-เปอร์ลิส

       วันที่ 24 ส.ค.2566  ภาคธุรกิจจังหวัดสตูลเริ่มขยับหลังมีการแต่งตั้งให้เศรษฐา  ทวีสิน  นั่งนายกรัฐมนตรี  โดยเห็นว่าวาระเร่งด่วนที่ต้องเร่งขยับเคลื่อนคือการลดรายจ่ายของประชาชนที่กำลังประสบอยู่ในขณะนี้  โดยเฉพาะค่าน้ำ  ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเพราะนั่นคือต้นทุน  พร้อมจัดหาเงินกู้หรือซอฟต์โลนช่วยภาคธุรกิจที่ประสบกับภาวะโควิด  และสานต่อโครงการเมกะโปเจค สตูลเปอร์ลิสเพิ่มช่องทางค้าขาย

       นายชวรณ สุธาพานิชย์  ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสตูล  เปิดเผยว่า  การรอคอยการจัดตั้งนายกรัฐมนตรีของทุกภาคส่วนเพื่อเดินหน้าประเทศ เพื่อเป็นความหวังให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหา ลดรายจ่ายของประชาชนเป็นวาระเร่งด่วน  ไม่ว่าจะค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีต้นทุนที่สูงในขณะนี้  ภาคธุรกิจไม่สามารถจะปรับราคาขึ้นได้เพราะเห็นว่าเป็นการผลักภาระให้กับประชาชน 

      ส่วนประเด็นที่อยากให้มีการสานต่อคือ  การจัดหาเงินกู้หรือ  Soft Loan ให้กับภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิด 19  การจัดการหนี้ NPL ที่ดีเพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถพยุงตัวเองขึ้นกลับมาได้  รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้ท่องเที่ยวนำ ดึงนักท่องเที่ยวจีน 40 ล้านคนที่หายไปจากภูเก็ต กระบี่ และสตูลกลับคืนมา พร้อมผูกมิตรกับเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย  อินโดนีเซียซึ่งเป็นลูกค้าอีกส่วนที่สำคัญในการท่องเที่ยวจังหวัดชายแดนสตูล ด้วยการส่งเสริมให้มีจุดเด่น  จุดขาย  ในการรองรับนักเที่ยวให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น

        ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสตูล  เปิดเผยต่อว่า  โครงการพัฒนาเมกะโปรเจค  สะพานเชื่อมสตูล เปอร์ลิส  ประเทศมาเลเซีย ระหว่าง 2 ประเทศที่เสมือน 2 หมู่บ้านที่ไปมาหาสู่กันได้ง่ายยิ่งขึ้นในการขนถ่ายสินค้าและการสัญจรไปมาได้สะดวก  จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการค้าขายให้กว้างยิ่งขึ้นแม้ในช่วงแรกอาจจะดูไม่คุ้มค่า แต่เชื่อว่าในระยะยาวจะสร้างเม็ดเงินมหาศาลเข้าประเทศจากการลงทุน  สร้างงาน สร้างรายได้อย่างแน่นอน 

       ส่วนนโยบายเด่น “ดิจิทัลวอลเล็ต” หรือ “กระเป๋าเงินดิจิทัล”ของพรรคเพื่อไทย   ที่จะเข้ามากระตุ้นด้วยเม็ดเงิน 5 แสน 6 หมื่นล้านบาทเชื่อว่า    จะช่วยกระตุ้นเศรษฐ์กิจของประเทศได้เป็นอย่างดีหากเป็นจริง แต่ก็มีข้อกังวลเมื่อเห็นการใช้เงินจากโครงการลักษณะคล้ายกันจากรัฐบาลที่ผ่านมา เนื่องจากบางผู้ประกอบการและผู้ใช้เงินใช้ผิดวัตถุประสงค์  ด้วยการหักถอนเงินจนทำให้เงินไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาล อีกทั้ง อีก 6 เดือนกว่าจะเบิกเงินได้  ฉะนั้นต้องมีเงินทุนสำรอง  นักวิชาการหลายคนกลับมองว่าในระยะเวลา 6 เดือนจะทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มว่าในปัจจุบันก็กำลังเพิ่มขึ้น ในทั่วโลกหลายประเทศเพิ่มขึ้น  แต่ในประเทศไทยมีการควบคุมได้ดีเพราะมีเงินทุนสำรองจำนวนมากในอันดับต้น ๆ ของภูมิภาคเอเชีย

……………………………………….

  รมว.ศึกษา เปิดงาน TJ-SIF 2024 ผลักดันเยาวชนไทย-ญี่ปุ่นพัฒนานวัตกรรมไอซีทีสู่การขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต

รมว.ศึกษา เปิดงาน TJ-SIF 2024 ผลักดันเยาวชนไทย-ญี่ปุ่นพัฒนานวัตกรรมไอซีทีสู่การขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวเด่น สัมภาษณ์พิเศษ-คอลัมน์นิสต์

สตูลเอกชนมอบที่ดิน 1 ไร่ครึ่งมูลค่า 100 ล้านบาทเพื่อเป็นโฉนดให้ชุมชนชาวเลอุเส็นพร้อมโบสก์คริสต์ใช้ร่วมกัน  โดยมีเงื่อนไขห้ามซื้อขาย

สตูลเอกชนมอบที่ดิน 1 ไร่ครึ่งมูลค่า 100 ล้านบาทเพื่อเป็นโฉนดให้ชุมชนชาวเลอุเส็นพร้อมโบสก์คริสต์ใช้ร่วมกัน  โดยมีเงื่อนไขห้ามซื้อขาย

       สตูลเดินหน้าแก้ปัญหาข้อพิพาทที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะอย่างต่อเนื่อง    ล่าสุดทางด้านนายอำเภอเมืองสตูลที่เพิ่งมารับตำแหน่งได้รับการประสานจากเอกชนยินดีมอบที่ดิน 1 ไร่ครึ่งมูลค่า 100 ล้านบาทให้กับชุมชนอุเส็น  ที่มีชาวบ้านอาศัยอยู่  12 ครัวเรือน พร้อมโบสก์คริสต์ที่เป็นศูนย์กลางของชุมชน  หมู่ที่ 7 ตำบลเกาะสาหร่าย อำเภอเมืองสตูล   เพื่อเป็นโฉนดชุมชนโดยมีเพียงเงื่อนไข   ห้ามซื้อขายเป็นระยะเวลา 30 ปี 

       เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูลวันนี้แม้จะเข้าสู่ช่วงฤดูโลซีซัน แต่ยังคงมีนักท่องเที่ยวและแรงงานหลากหลายเดินทางกันมาเยือนเกาะแห่งนี้กันไม่ขาดสาย  แม้บนเกาะขณะนี้ยังมีหากหลายข้อพิพาพาทที่ยังรอการแก้ไขจากคณะ  พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล

 

          ล่าสุด นายพีรพัฒน์  เงินเจริญ  นายอำเภอละงู  (รักษาราชการแทนนายอำเภอเมืองสตูล) คนใหม่ที่เพิ่งเดินทางมารับตำแหน่งใหม่แทนคนเก่า  (ที่ป่วยพักรักษาตัว) เดินหน้าลงเก็บประเด็นปัญหาทางเดินลงทะเลของชาวเลอุรักลาโว้ยและนักท่องเที่ยวที่ยืนยันว่าเป็นที่สาธารณะใช้มาตั้งแต่บรรพบุรุษ   ขณะนี้คดีความอยู่ที่ศาลอยู่ระหว่ารอศาลตัดสิน    ปัญหาการถมที่ดิน และบุกรุกการก่อสร้างลำรางน้ำบนเกาะหลีเป๊ะ ขณะนี้ยังรอความชัดเจนว่าอยู่ในความรับผิดชอบของอุทยานตะรุเตา หรือ ทางท้องถิ่น

 

         นางสาวสุริยงค์   หาญทะเล   อายุ 38 ปี ชาวบ้านชุมชนอุเส็น  กล่าวว่า  พี่น้องมีความหวังมากขึ้นในเรื่องที่ดิน  เพราะช่วงนี้มีปัญหากับนายทุน  ตึกที่อยู่หน้าหาดหากมีการมอบโฉนดชุมชนให้จริงทุกคนในชุมชนมีความหวังมากขึ้น

 

         นายพีรพัฒน์   เงินเจริญ    นายอำเภอละงู (รรท.นายอำเภอเมืองสตูล) กล่าวว่า  ความคืบหน้าการแก้ปัญหาปัญหาที่อยู่อาศัยชาวเลในชุมชนอุเส็นมีความคืบหน้าไปมาก   จากเดิมชุมชนแห่งนี้เคยมีคดีความกับเอกชน ปรากฏว่าเอกชนคือคุณณรงค์ศักดิ์ (เอกชน) ได้ชนะคดี  ในชั้นศาลฎีกา  ชนะมาหลายปีแล้ว

        หลังจากนั้นทางคุณณรงค์ศักดิ์ ปัทมปาณีวงศ์ (เอกชน) ก็มีเจตจำนงว่ามีความประสงค์จะยกที่ดินแปลงนี้ นส 3 เลขที่ 10 เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ครึ่ง ให้กับชุมชนชาวเลอุเส็นได้อยู่ร่วมกัน โดยมีเงื่อนไขว่าห้ามขายอยู่อาศัยไปตลอดชีวิต โดยทางผู้ให้อยากจะอุทิศที่ดินผืนนี้เพราะในอดีตเคยมาทำมาหากินบนเกาะหลีเป๊ะจนมีฐานะและนี่คือเจตนารมณ์ของเอกชนผู้มอบให้

 

          หลังจากนั้นได้มาอธิบายให้กับผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวเลบนเกาะหลีเป๊ะ แล้วผู้ใหญ่บ้านทั้ง 2 หมู่บ้าน พบว่ายังมีชาวบ้านที่มีความระแวงว่าอยู่ดีๆที่ดินมูลค่า 100 ล้านมายกให้เป็นไปได้อย่างไร    จากนั้นก็ให้ทางปลัดส่วนหน้ามาพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อสร้างความเข้าใจ  บางส่วนก็เริ่มเข้าใจ โดยตั้งใจจะทำให้ที่ดินแปลงนี้เป็นโฉนดด้วยพร้อมสลักหลังว่าห้ามขาย ซึ่งอาจจะเป็นแปลงแรกของเกาะหลีเป๊ะ หากชาวบ้านทุกคนรับ  หลังจากนั้นจะออกโฉนดให้โรงเรียนและอนามัยบนเกาะซึ่งจากขับเคลื่อนให้เสร็จภายในเดือนนี้ โดยนำเรียนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะพลตำรวจเอกสุรเชษฐ์  หักพาล

         ซึ่งการลงมาครั้งนี้ได้มาตรวจสอบหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำเรื่องไฟฟ้าเรื่องน้ำท่วมเกาะและปัญหายาเสพติดและที่อยู่อาศัยที่ไม่มั่นคงโดยทั้งหมดนี้จะเข้ามาช่วยพี่น้องชาวเลในการแก้ปัญหาก่อน    หลังจากช่วยชาวเลเสร็จ  ในส่วนของผู้ประกอบการขอแก้ไขกฎกระทรวง และออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารและใบอนุญาตโรงแรมตามขั้นตอนต่อไป

         เกาะหลีเป๊ะต้องวางมาตรการให้ชาวเลและผู้ประกอบการอยู่ด้วยกันได้อย่างพึ่งพาอาศัย  และเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างยั่งยืนนี่คือเป้าในการทำงานโดยได้ดำเนินงานผ่านไปแล้ว 7-80%  ซึ่งยังมีในส่วนของข้อพิพาทในที่ดินแปลงอื่น ชุมชนชาวเลออื่นก็จะดำเนินการลักษณะนี้เหมือนกัน  ให้เป็นชาวบ้านอยู่ร่วมกันห้ามซื้อขาย   ส่วนข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนหรือเอกชนกับชาวเลที่อยู่ในขบวนการพิจารณาคดีชั้นศาลขอไม่ก้าวร่วง  ส่วนชาวเลที่คิดว่าไม่ได้รับความยุติธรรมจะประสานหาทนายความผ่านสภาทนายความให้

…………………………

  รมว.ศึกษา เปิดงาน TJ-SIF 2024 ผลักดันเยาวชนไทย-ญี่ปุ่นพัฒนานวัตกรรมไอซีทีสู่การขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต

รมว.ศึกษา เปิดงาน TJ-SIF 2024 ผลักดันเยาวชนไทย-ญี่ปุ่นพัฒนานวัตกรรมไอซีทีสู่การขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต

อัพเดทล่าสุด
Categories
สัมภาษณ์พิเศษ-คอลัมน์นิสต์

เปิดวิสัยทัศน์นายกฯดีกรีปริญญาโท  กับยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนควนโดนสู่เมืองอัจฉริยะ

เปิดวิสัยทัศน์นายกฯดีกรีปริญญาโท  กับยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนควนโดนสู่เมืองอัจฉริยะ

ทรัพยากรในพื้นที่ท้องถิ่นๆต่างมีความหลากหลายแตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่  ส่วนพื้นที่ไหนที่มีทั้งทรัพยากร  และมีผู้นำที่มีองค์ความรู้  มีความสามารถดึงจุดแข็งออกมาใช้อย่างเต็มศักยภาพ ถือสุดยอด   ฉบับนี้ทางทีมงานมีโอกาสพูดคุยกับนายกฯริส  “วริศ  มาลินี”   แห่งอบต.ควนโดน  ที่เป็นลูกหลานชาวควนโดน  จ.สตูล โดยกำเนิด  ดีกรีทั้งด้านการศึกษาและการทำงานถือว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว  เพราะทุกก้าวเดินคือการเรียนรู้เพื่อเพิ่มศักยภาพ

          นายกฯริส จบปริญญาตรีถึง 2 ใบ จบคณะรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์  และ จบปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์  สาขาการจัดการงานสาธารณะ (Public Management) ม.รามคำแหง  อีกด้วย  นอกจากนี้ยังได้รับใบอนุญาตว่าความ  สำนักสภาทนายความ  ทนายความผู้ทำคำรับรองลายมือชื่อและเอกสาร (Notarial Services Attorney) และเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายของบริษัท 

          ส่วนการทำงานก่อนจะมาเป็นนายกฯ ดูแลพี่น้องประชาชนชาวควนโดน  นั้น ท่านเคยทำงานบริษัทในธุรกิจลอจิสต์ติก  เป็นเวลาหลายปีทั้งบริษัทของอเมริกัน เกาหลี ญี่ปุ่น  ในระดับปฏิบัติการ และระดับผู้บริหาร  มีความเชี่ยวชาญด้านลอจิสติก และที่ปรึกษาด้านกฎหมายระหว่างประเทศ

@ มองพื้นที่ตำบลควนโดนเป็นอย่างไรบ้าง ควรเดินไปในทิศทางไหนถึงจะเหมาะกับบริบทของพื้นที่

            สำหรับพื้นที่อำเภอควนโดน   มีศักยภาพต้นทุนทางธรรมชาติหลายอย่าง  ซึ่งต้องการคนมาพัฒนาพื้นที่เป็นโจทย์อย่างหนึ่งในการเข้ามาทำงานการเมืองสำหรับผม   เช่น   การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ   การผลักดันวิสาหกิจชุมชนให้ชาวบ้านมีรายได้ที่เพิ่มเติม   การค้าขายออนไลน์   ซึ่ง  ณ ปัจจุบันผมได้เข้าร่วม โครงการสมาร์ท ซิตี้ ร่วมกับ depa (สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตัล)  เพื่อพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะในบริบทของอำเภอควนโดน   เช่น   เรื่องการค้าออนไลน์   โดยสินค้าชายแดนมีตัวเลข  จากบริษัทขนส่งออนไลน์  ว่ามีสินค้าออกจากอำเภอควนโดนไปเยอะแยะมากมาย    ซึ่งผมต้องพัฒนาตรงนี้  โดยผ่านแพลตฟอร์มของบริษัทที่ร่วมทำงานกัน ณ วันนี้ต่อไปข้างหน้าอีกสามเดือน   เพื่อให้จบโปรเจ็ค  เป็นการทำโปรเจค “ควนโดนโดนใจ”   เฟ้นหาสุดยอดไอเดียของเยาวชน   เพื่อมาพัฒนาเป็นเป็นแอพพลิเคชั่น ในแพลตฟอร์มต่างๆ  ในการพัฒนาพื้นที่เมืองตอบโจทย์แก้ปัญหาของเมือง  โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหานั้น

           ส่วน  ทิศทางการเดินของควนโดนต้องนำรายได้เข้ามา  โดยผ่านการท่องเที่ยว  และนำเงินจากข้างนอกเข้ามา   การซื้อสินค้าจากภายในออกไปด้านนอก   นี่คือโจทย์  สินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนต้องขายออกไป  สินค้าจีไอ  เช่น  จำปาดะต้องพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์   เพื่อส่งขายออกไปต่างจังหวัดต่างประเทศต่อไป   สินค้ากระท้อนซึ่งเป็นพืชจีไอเช่นกัน   จะมีการพัฒนาต่อยอดเพื่อนำไปเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป  หรือผลขายสด   แต่ทุเรียน  เงาะ มังคุด   ลองกอง  ก็ต้องพัฒนาต่อยอดขายออกไปยังพื้นที่ข้างนอก  เพื่อนำรายได้เข้าสู่พี่น้องประชาชน   และสินค้าอื่นในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนก็เพิ่มพื้นที่ในการพัฒนาเพิ่มขึ้น  เพื่อต่อยอดสินค้าเหล่านี้ให้อยู่ในตลาดและรู้จักในวงกว้างต่อไป

@ มีเรื่องอะไรอีกที่ต้องผลักดันต่อไป?

           เรื่องที่ต้องผลกดันคือเรื่องเยาวชน   ให้เกิดการเรียนรู้เป็นสมาร์ทซิตี่เกี่ยวกับ learning ชุมชน  สังคม  แห่งการเรียนรู้  รวมถึงการพัฒนาอาชีพเพื่อหารายได้   การเรียนรู้เพื่อประกอบอาชีพ   การเรียนรู้ในด้านศาสนา   การเรียนรู้เพื่อพัฒนาเมือง   พัฒนาสังคมต่อไป   ไม่ว่าเรื่องเทคโนโลยี   เรื่ององค์ความรู้ทางสังคมที่จะมาพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นไป

@ สุดท้ายมองว่านักการเมืองน้ำดีเป็นอย่างไร  และอยากฝากถึงคนรุ่นใหม่อย่างไรบ้าง

          นักการเมืองน้ำดี   คือทุกๆกระบวนการคิด   การกระทำ   ต้องคิดเพื่อสังคม   ทำเพื่อสาธารณะ   เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง   มีโจทก์มีเป้าหมายในการเดิน   เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะสูงสุด   ทุกๆกิจกรรมให้คิดถึงประชาชนเป็นที่ตั้ง   ทุกองค์ความรู้ที่สรรหามา  ทุกการอบรม  เพื่อตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาสังคม   ไม่ว่าด้านโครงสร้างพื้นฐาน   ด้านอาชีพ  ด้านสังคม  ด้านสิ่งแวดล้อม   ทุกๆเรื่องขอให้บูรณาการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นข้างเคียง   และหน่วยงานระดับภูมิภาค   เพื่อให้งานตามฟังชั่น หน่วยงานภูมิภาคได้ขับเคลื่อนเต็มศักยภาพ   และหน่วยงานท้องถิ่นคอยซัพพอร์ต   เพื่อให้กระบวนการแก้ไขปัญหากับพี่น้องประชาชนเดินหน้าต่อไปเต็มศักยภาพ   และมีประสิทธิภาพสูงสุด  สุดท้ายแล้วผลประโยชน์ก็จะตกกับพี่น้องประชาชน   

 

         ผมเข้ามาทำงานเกือบจะสองปีแล้ว   ยังเหลือเวลาอีกสองปีกว่า   ก็มีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาต่อไป   และบางปัญหาต้องใช้เวลา   ใช้งบประมาณ   ใช้ทรัพยากร   เพื่อพัฒนาพื้นที่   ก็ขอฝากให้กับทีมงานให้ทุกท่าน   ได้ร่วมกันทั้งเรื่องของกระบวนการคิด   จะลงมือทำ   เพื่อพัฒนาบ้านเมืองของเราต่อไปให้เกิดประโยชน์สูงสุด

……………………………..

 

 

 

  รมว.ศึกษา เปิดงาน TJ-SIF 2024 ผลักดันเยาวชนไทย-ญี่ปุ่นพัฒนานวัตกรรมไอซีทีสู่การขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต

รมว.ศึกษา เปิดงาน TJ-SIF 2024 ผลักดันเยาวชนไทย-ญี่ปุ่นพัฒนานวัตกรรมไอซีทีสู่การขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวทั่วไป ข่าวเด่น ท้องถิ่น-การเมือง ท่องเที่ยว-กีฬา ทั้งหมด สัมภาษณ์พิเศษ-คอลัมน์นิสต์ เยาวชน-การศึกษา

สตูล เขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ ชวนส่องนกอพยพ และ นกประจำถิ่น หลากชนิดกว่า 5,000 ตัวหนีหนาวอวดโฉมรับปีใหม่

สตูล เขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ ชวนส่องนกอพยพ และ นกประจำถิ่น หลากชนิดกว่า 5,000 ตัวหนีหนาวอวดโฉมรับปีใหม่

ที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่า  “หนองปลักพระยา เขาระยาบังสา”  ตำบลฉลุง   อำเภอเมือง  จังหวัดสตูล  เป็นห้วงที่มีการอพยพของนกต่างถิ่นหนีหนาวมาจากซีกโลกเหนือ   อพยพมาอยู่ที่นี่กันเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นเขตอบอุ่นและมีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ  โดยเฉพาะนกเป็ดแดง   นกอ้ายงั่ว   นกอีโก้ง   นกกระสา   และกลุ่มนกยางชนิดต่างๆ

          โดยเฉพาะนกเป็ดแดงที่อพยพมาจำนวนมากและนกนานาชนิดรวมไม่น้อยกว่า 5,000 ตัว   ที่มาอวดโฉมให้เห็นในห้วงเดือน ก.ย.- ส.ค.ของทุกปี   ทำให้บรรดานักส่องนกทั้งมือเก่าและมือใหม่   จะเดินทางมาชมนกที่นี่กันเป็นจำนวนมาก  ที่นี่มีความพิเศษที่ไม่ได้มีเฉพาะหนองน้ำเท่านั้น    ที่นี่ยังมีภูเขาและมีนกหายากให้ชม   อย่างนกประจำถิ่น “นกทึดทือพันธุ์เหนือ”   เป็นตระกูลนกเค้าแมวและเป็นสัญลักษณ์ประจำเขตห้ามล่าสัตว์ป่า  “หนองปลักพระยา เขาระยาบังสา” ที่หาดูได้ยากแต่สามารถหาดูได้ที่นี่ที่มีประชากร 10 ตัว

นายชุติพงค์   พลวัฒน์ 

          นายชุติพงค์   พลวัฒน์   นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ  หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองปลักพระยาและเขาระยาบังสา  กล่าวว่า  สำหรับนกประจำถิ่นที่หาชมได้ยากแต่มีที่นี่คือนกทึดทือพันธุ์เหนือ  เป็นตระกูลนกเค้าแมวและเป็นสัญลักษณ์ประจำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองปักพญา หาดูได้ยากและเป็นนกประจำถิ่น    สำหรับนักดูนกที่สนใจจะมาทำกิจกรรมที่นี่สามารถดูได้ตลอดทั้งปี หากจะดูนกอพยพก็สามารถมาดูได้ในห้วงเดือนกันยายนถึงเมษายนของทุกปีสามารถเข้ามาติดต่อเจ้าหน้าที่ได้ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุปกรณ์ต่างๆก็มีบริการให้สำหรับนักท่องเที่ยว 

และในห้วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ทางกรมอุทยานฯ มอบให้สำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใน  เขตห้ามล่าสัตว์ป่า“หนองปลักพระยา  เขาระยาบังสา” จะมีบริการน้ำดื่ม  กาแฟ  และความปลอดภัย  ให้กับนักท่องเที่ยวรวมถึงการงดจัดเก็บการเข้ามาใช้บริการ 31 -1 มกราคม  2566

และในห้วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ทางกรมอุทยานฯ มอบให้สำหรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใน  เขตห้ามล่าสัตว์ป่า“หนองปลักพระยา  เขาระยาบังสา” จะมีบริการน้ำดื่ม  กาแฟ  และความปลอดภัย  ให้กับนักท่องเที่ยวรวมถึงการงดจัดเก็บการเข้ามาใช้บริการ 31 -1 มกราคม  2566

  รมว.ศึกษา เปิดงาน TJ-SIF 2024 ผลักดันเยาวชนไทย-ญี่ปุ่นพัฒนานวัตกรรมไอซีทีสู่การขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต

รมว.ศึกษา เปิดงาน TJ-SIF 2024 ผลักดันเยาวชนไทย-ญี่ปุ่นพัฒนานวัตกรรมไอซีทีสู่การขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต

อัพเดทล่าสุด