Categories
ข่าวทั่วไป

สตูล – ผู้ว่าฯ สตูล นำส่วนราชการและภาคเอกชน ร่วมจัดทำผีเสื้อประดิษฐ์จากผ้าไทย ผ้าพื้นถิ่นประจำจังหวัด เพื่อใช้สำหรับงานกาชาด 100 ปี ร้านกาชาด กระทรวงมหาดไทย

สตูล – ผู้ว่าฯ สตูล นำส่วนราชการและภาคเอกชน ร่วมจัดทำผีเสื้อประดิษฐ์จากผ้าไทย ผ้าพื้นถิ่นประจำจังหวัด เพื่อใช้สำหรับงานกาชาด 100 ปี ร้านกาชาด กระทรวงมหาดไทย

          วันที่  15 พ.ย. 66  ที่จวนผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล อำเภอเมือง จังหวัดสตูล นายศักระ  กปิลกาญจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล พร้อมด้วยทันตแพทย์หญิงสุกีรติ กปิลกาญจน์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสตูล นำส่วนราชการและภาคเอกชน ร่วมจัดทำผีเสื้อประดิษฐ์จากผ้าไทย ผ้าพื้นถิ่นประจำจังหวัด เพื่อใช้สำหรับงานกาชาด 100 ปี พุทธศักราช 2566 ร้านกาชาด กระทรวงมหาดไทย โดยมีนายชาตรี ณ ถลาง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล นายชูชีพ ธรรมเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ปลัดจังหวัดสตูล หัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัดสตูล สมาชิกชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสตูลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก

          สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้มอบหมายให้จังหวัดสตูล จัดทำผีเสื้อประดิษฐ์จากผ้าไทย ผ้าพื้นถิ่นประจำจังหวัด เพื่อใช้สำหรับงานกาชาด 100 ปี พุทธศักราช 2566 ร้านกาชาด กระทรวงมหาดไทย จำนวน 600 ตัว โดยภายในงานผู้ราชการจังหวัดพร้อมประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดสตูล นำสาธิตการประดิษฐ์ผีเสื้อจากผ้าไทย ผ้าพื้นถิ่นประจำจังหวัดสตูล ในโอกาสนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ร่วมรับมอบผีเสื้อจากส่วนราชการ ภาคเอกชนและภาคประชาชนที่ได้ร่วมกันประดิษฐ์จากผ้าไทย เพื่อนำไปประดับในร้านกาชาด กระทรวงมหาดไทย งานวันกาชาดไทย 100 ปี พุทธศักราช 2566 ที่มีกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 8 – 18 ธันวาคม 2566 ณ บริเวณสวนลุมพินี กรุงเทพมหานครอีกด้วย

……………………………..

ภาพ-ข่าว : ภาสินี  จันทจักษุ/ ส.ปชส.สตูล

อัพเดทล่าสุด
Categories
ข่าวเด่น

สตูล-ผู้การสตูลยืนยัน  แป้งนาโหนด  ยังอยู่บนเขาบรรทัด  ไม่ได้ลงมาขอข้าวชาวบ้านกินตามที่เป็นข่าว ปิดประเด็นหลบหนีต่างประเทศได้เลย  

สตูล-ผู้การสตูลยืนยัน  แป้งนาโหนด  ยังอยู่บนเขาบรรทัด  ไม่ได้ลงมาขอข้าวชาวบ้านกินตามที่เป็นข่าว ปิดประเด็นหลบหนีต่างประเทศได้เลย

         วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566  พลตำรวจตรีจารุต  ศรุตยาพร   ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสตูล  เปิดเผยว่า  เป็นไปไม่ได้เลยที่คนร้าย  แป้งนาโหนด  หรือ  นายชวลิต  ทองด้วง  ผู้ต้องหารายสำคัญ  จะลงจากเขาบรรทัด   เข้ามาช่องทางจังหวัดสตูล  โดยเฉพาะลงมาขอข้าวกินในหมู่บ้าน  แล้วก็กลับขึ้นไปบนเขาใหม่   เพราะไม่ใช่เส้นทางที่จะเดินกันสะดวกขึ้นลงง่ายๆ  และโอกาสจะหลุดเข้ามาในตัวเมืองเป็นไปได้ยาก   เรามีด่านความมั่นคงโดยเฉพาะบริเวณทางเข้าทั้ง 2 จุด  ทุกโรงพักโดยรอบมีการตั้งจุดเคลื่อนที่เร็ว ทางการข่าวทำให้เรามั่นใจว่าแป้งนาโหนด  ยังหลบหนีอยู่บนเขาบรรทัด

 

          ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสตูล  เปิดเผยเพิ่มเติมว่า   กำลังตำรวจทุกหน่วยและของราชทัณฑ์ เกือบ 400 นาย อยู่บนเขา  แต่เป็นการสับเปลี่ยนกำลังกัน ไม่ได้เป็นการนำคนทั้ง 400 คนมาเดินหน้ากระดานและเดินค้นหา  ค่อนข้างลำบากเนื่องจากเป็นป่าดงดิบรกทึบ  ในแต่ละวันการเดินสำรวจได้ไม่เยอะ  ยิ่งสภาพอากาศในช่วงนี้ฝนตกทุกวัน ไม่ใช่เฉพาะตำรวจที่ลำบาก  ตัวแป้งเองที่หลบหนีอยู่ข้างบนเชื่อว่าก็ไม่ได้สบายนัก  ถ้าเป็นไปได้มามอบตัวก็น่าจะจบ   แต่ดูแล้วน่าจะไม่มอบตัวง่ายๆ   ก็เป็นหน้าที่ของตำรวจที่จะต้องใกล้ชิดติดตัวเขาไปเรื่อยๆ เชื่อว่าใกล้จะจบแล้วสำหรับประเด็นนี้  เนื่องจากระยะเวลาที่หนีมาใช้เวลานานพอสมควร  โดยเฉพาะโอกาสที่จะหลบหนีมาทางจังหวัดสตูลมีโอกาสน้อย

            ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสตูล  ยืนยันด้วยว่า   ในส่วนโอกาสที่จะหลุดไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ยืนยันว่ายากมาก เนื่องจากแป้งเองเป็นผู้ต้องหาคดีอาวุธปืนและยาเสพติด ทางมาเลเซียมีโทษสูงคือประหารชีวิต เชื่อว่าแป้งไม่หลบหนีไปที่นั่นทำให้ปิดประเด็นที่จะหลบหนีไปประเทศมาเลเซียได้เลย   เจ้าหน้าที่ตำรวจ   กรมประมง  กรมเจ้าท่า   และชาวบ้านในละแวกนั้น   เชื่อว่าโอกาสที่จะหลุดเข้ามาโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่รู้น่าจะยากมาก   จากช่องทางความคุ้นเคยของแป้งเชื่อว่าพัทลุงยังมีโอกาสที่ยังหลบหนีได้มากกว่า

         

          ขณะนี้กลายเป็นว่าตำรวจให้ข้อมูลมากกลับส่งผลให้ชาวบ้านเกิดความหวาดกลัว  แทนที่จะใช้ชีวิตตามปกติสุขและคอยแจ้งข่าว ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าออกไปตัดยาง  ทำให้ชีวิตประจำวันเขาเปลี่ยนไป  ไม่อยากจะทำให้ชาวบ้านเกิดความตื่นตระหนกจนทำอะไรไม่ได้  แต่จะมีช่องทางให้สื่อสารกับตำรวจว่าหากเจอหรือพบ จะต้องทำอย่างไร  หากนึกอะไรไม่ออก 191 ไว้ก่อน  พร้อมที่จะสนับสนุนโดยเรามีชุดปฏิบัติการหลายชุดที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง

 

          ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสตูล  ยอมรับว่า  ปัญหายาเสพติดและอาวุธปืนในพื้นที่จังหวัดสตูลยอมรับว่ายังมีเยอะอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจค้นปืนเจอยาเสพติด  ค้นยาเสพติดเจออาวุธปืนยังมีอยู่  โดยให้ทุกพื้นที่ปิดล้อมตรวจค้นทุก 10 วัน คุณต้องมีเป้าอย่างน้อย 3-5 เป้า จากคนที่เคยเสพติด  พ่อค้ารายย่อย  โดยจะมีการประเมินหัวหน้าสถานีตลอดเวลา

…………

Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

เดอบัว  คาเฟ่   บนพื้นที่ 3 ไร่  ถูกเนรมิตเป็นห้องรับแขกของชาวสตูล

เดอบัว  คาเฟ่   บนพื้นที่ 3 ไร่  ถูกเนรมิตเป็นห้องรับแขกของชาวสตูล

        หากคุณกำลังมองหาร้านอาหารสุดชิค  บรรยากาศสุดชิลล์  พื้นที่กว้างๆ  บรรยากาศโอบล้อมด้วยแมกไม้  และมีอาหารถูกปากให้เลือกมากมาย   ที่สำคัญอยู่ในตัวเมืองด้วย  ต้องร้านนี้เลย  เดอบัว  คาเฟ่ สตูล  พิกัดร้านตั้งอยู่ในพื้นที่  คลองขุด  ซอย2  อ.เมือง  จ.สตูล  ขับเลยป้ายแอดไวท์(สีฟ้าๆ) มานิดเดียว เลี้ยวเข้าซอยนิดนึงตามป้าย  ก็จะเจอร้านแล้ว  ที่จอดรถกว้างขวางมาก

        บนพื้นที่ 3 ไร่  ถูกจัดสรร  แบ่งไว้เป็นโซนธรรมชาติ มีดอกไม้  สระบัว ให้ได้ถ่ายรูปเช็คอินระหว่างรออาหาร  หากไปช่วงเที่ยงแนะนำโซนด้านใน  ที่ทางร้านตกแต่งได้เก๋ไก๋สไตล์นอดิกซ์  เป็นโซนคาเฟ่นั่งชิคๆ แอร์เย็นๆ   ส่วนด้านบนจะเปิดไว้สำหรับท่านที่ไม่ชอบความวุ่นวาย  เป็นอีกโซนที่น่านั่งมากๆ   มีระเบียงให้ได้ถ่ายภาพมุมสูงกันด้วย  นอกจากนี้ยังมีห้องละหมาด และมีห้องประชุมที่รองรับลูกค้าได้ถึง 40 ท่าน

       ส่วนอาหารนั้นเจ้าของร้านบอกว่า   ตั้งใจยกอาหารทะเลตันหยงโปมาไว้ที่ร้านนี้เลย  นอกจากนี้ยังมีเมนูอาหารพื้นถิ่นอย่าง  แกงตอแมะ  แกงส้มอ้อดิบ  และอาหารสากลอย่าง  สเต็กปลาเซลม่อน สเต็กพรีเมี่ยม อ้อยังมี   ข้าวซอยที่เจ้าของร้านบอกว่า  เป็นการนำวัฒนธรรมทางปักษ์ใต้รวมกับทางเหนือ  จึงได้ข้าวซอยที่อร่อย รสชาติเข้มเข้นด้วยกระรี่   เป็นอีกเมนูที่ถูกปากลูกค้า

  

         นายอาเล็น  ระสุโส๊ะ  เจ้าของร้าน กล่าวว่า  สำหรับร้านเดอะบัวจุดเริ่มต้นของเราต้องการให้ร้านนี้เป็น เหมือนห้องรับแขกของชาวสตูล  ซึ่งเราจะเต็มไปด้วยจุดเช็คอิน  มาร้านอาหารแต่เหมือนมาท่องเที่ยวด้วยเป็นบรรยากาศธรรมชาติที่อยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองแค่ 5 นาที  ก็จะได้สัมผัสกับธรรมชาติวิวหลักล้านอาหารหลัก 100  นี่เป็นส่วนนึงของร้าน เดอบัว คาเฟ่  อาหาร ถือว่าตอบโจทย์สำหรับทุกคนที่มาที่นี่ คนที่ชอบอาหารที่เป็นจุดเด่นของจังหวัดสตูลทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นซีฟู้ดเราก็ยกทะเลตันหยงโปมาไว้ที่ร้านนี้   บางคนมาสตูลอยากได้อาหารธรรมชาติเราก็มีอาหารที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมมาด้วยนั่นก็คือแกงตอแมะ  แกงส้มออดิท  เป็นแกงส้มของคนสมัยก่อนในสตูล   สำหรับสายชิลล์  สายคาเฟ่   อยากกินสเต็กที่นี่สเต็กก็อร่อย  เป็นสเต็กแซลมอน   สเต็กเนื้อ   สเต็กพรีเมี่ยม  นอกจากนั้นสตูลเราเป็นบรรยากาศของท้องทะเล  หลายๆคนจากภาคเหนือนิยมมาเที่ยวที่สตูลเราก็มีข้าวซอยที่ถือว่าเป็นการผสมผสานระหว่างความเป็นปักษ์ใต้มีกะหรี่กับเข้าซอยและเป็นสูตรของเดอะบัวคาเฟ่

         ที่ร้านเดอบัว  เปิดตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง สี่ทุ่ม   ที่มาของเดอะบัวตรงนี้เป็นโซนธรรมชาติที่เข้ามาบุกเบิกมีท้องทุ่งนา   แต่ในท้องทุ่งนามีบัวซึ่งเป็นบัวพื้นเมืองเล็กๆ ดอกสีขาวเยอะมาก   เลยมองว่าในจังหวัดสตูลน่าจะนำเสนอมุมมองของต้นไม้พื้นเมืองท้องถิ่น  ที่เป็นลักษณะของบัว   ซึ่งหายากในสตูลเรา   จึงอยากรื้อฟื้นบัวพวกนี้กลับมา เลยเป็นที่มาของคำว่าเดอบัวคาเฟ่   ที่นี่จะมีห้องสำหรับประชุมและจัดเลี้ยงที่จุผู้คน 40 คนและมีโซนกาแฟต่างๆสำหรับคนที่เดินทางเข้ามาเพื่อที่จะได้สัมผัสกับกาแฟที่ราคาไม่สูงในบรรยากาศดีดี

         เจ้าของร้านบอกอีกว่า   Concept ของร้านอาหารเดอบัวคาเฟ่   เป็นคาเฟ่ที่ฮาลาล 100% เพราะตรงนี้เราต้องการเป็นห้องรับแขกให้ชาวสตูลทั้งหมด   โดยส่วนใหญ่พี่น้องจากมาเลเซียที่เดินทางเข้ามาในจังหวัดสตูล  ค่อนข้างจะเยอะมาก   ส่วนหนึ่งพี่น้องมาเลเซียเข้ามาคืออยากสัมผัสอาหารพื้นเมืองของชาวสตูล  

          อิ่มหนำสำราญกันแล้ว  เข้าห้องน้ำเติมแป้ง  ลิปติกก็สักนิด  ก็ชิคๆกันต่อกับมุมเช็คอินที่มีมากมาย ตั้งแต่หน้าประตูจนถึงภายในร้าน   สำรองจองโต๊ะ  097-470 6522  ร้าน เปิดทุกวันตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง สี่ทุ่ม    

………………………….

 

Categories
ข่าวเด่น

สตูล-เสียงปืนดังสนั่นหมู่บ้านติดเทือกเขาบรรทัด รอยต่อบ้านตระ   เส้นทางที่แป้งนาโหนด  อาจหลบหนีเข้ามาได้  โดยตำรวจจับได้ 1 รายคาบ้านกลางสวนยางพารา พร้อมอาวุธ  

 สตูล-เสียงปืนดังสนั่นหมู่บ้านติดเทือกเขาบรรทัด รอยต่อบ้านตระ   เส้นทางที่แป้งนาโหนด  อาจหลบหนี   ฝ่ายความมั่นคงพลัดหลงเข้ามาได้  โดยตำรวจจับได้ 1 รายคาบ้านกลางสวนยางพารา พร้อมอาวุธ

        วันที่ 13 พ.ย.2566 ภาพนาทีที่  พ.ต.อ.อุเทน   แก้วจันทอน ผกก.สภ.ทุ่งหว้า   จังหวัดสตูล   นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ  สภ.ทุ่งหว้า  พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง  และกำลังหน่วยพิทักษ์ป่าคีรีวง   เข้าจู่โจมนับสิบนายตรวจสอบบ้านต้องสงสัยในป่ายางพารา  ติดเทือกเขาบรรทัด  ในพื้นที่หมู่ที่ 9  บ้านราวปลา  ตำบลทุ่งหว้า อำเภอทุ่งหว้า   จังหวัดสตูล

       หลังได้รับแจ้งจากสายรายงานว่ามีเสียงปืนดังขึ้น  ในบริเวณดังกล่าว   ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ติดริมเขาบรรทัด  รอยต่ออำเภอปะเหลียนจังหวัดตรังและสตูล  จึงนำกำลังจู่โจมปิดล้อมเข้าตรวจค้นและควบคุมผู้ต้องหาได้ 1 คนอายุ 18 ปี  พร้อมอาวุธปืน  และเครื่องกระสุนปืน   พบอาวุธปืนยาวจำนวน 2 กระบอกและปืนสั้นจำนวน 1 กระบอก  พร้อมเครื่องกระสุน

         จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบบ้านข้างเคียงซึ่งเป็นบ้านร้าง  ที่เชื่อได้ว่าอาจจะมีสิ่งผิดกฎหมายซ่อนอยู่  หรือ อาจมีบุคคลตามหมายจับ   นายเชาวลิต  ทองด้วง  หรือ  แป้งนาโหนดหลบซ่อนได้

         ผู้ต้องหาวัย 18  ยืนยันว่า  ไม่รู้จักแป้งนาโหนด  แต่ตนยอมรับว่าฝึกทำอาวุธปืนจากยูทูป และเสพยาเสพติดจริง  ไม่เคยไปทำปืนขายใคร

        พ.ต.อ.อุเทน   แก้วจันทอน ผกก.สภ.ทุ่งหว้า  เปิดเผยว่า  การปฏิบัติงานของตำรวจท้องที่ทุ่งหว้าเฝ้าระวังในแนวราบ  ในหมู่บ้านคีรีวง หมู่บ้านราวปลา  หมู่บ้านธารปลิว  ตำบลทุ่งหว้า  และ  หมู่บ้านทุ่งดินลุ่ม  หมู่บ้านสะพานวา  ตำบลป่าแก่บ่อหิน  อำเภอทุ่งหว้า  ซึ่งมีรอยต่อติดกับเทือกเขาบรรทัด โดยใช้ 3 มาตราการ  สื่อสารสร้างการรับรู้ให้ชาวบ้าน  การเฝ้าระวังพื้นที่  และการหาข่าวเชิงลึก

         สำหรับหมู่บ้านราวปลา   หมู่ที่ 9 ตำบลทุ่งหว้า  อำเภอทุ่งหว้า  จังหวัดสตูล   เป็นหมู่บ้านติดริมเขาบรรทัดมีช่องทางเดินป่าในอดีตของกลุ่มคอมนิวส์ และของชาวมานิในปัจจุบัน  เพียงไม่กี่สิบกิโลเมตรก็เดินทางถึง  ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่อาจเป็นช่องทางในการเดินพลัดหลงมาของ แป้งนาโหนดได้ แม้คนในพื้นที่หลายคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่มีใครู้จักมาก่อน  

…………………….

Categories
ข่าวเด่น

สตูล-มานิ เซ็งแป้งนาโหนด อดเข้าหาของป่า โดยเจ้าหน้าที่นำภาพให้ดูเพิ่มความระมัดระวัง  ขณะที่ท่องเที่ยวชุมชน งดโปรแกรมเดินป่า  

สตูล-มานิ เซ็งแป้งนาโหนด อดเข้าหาของป่า โดยเจ้าหน้าที่นำภาพให้ดูเพิ่มความระมัดระวัง  ขณะที่ท่องเที่ยวชุมชน งดโปรแกรมเดินป่า  

          นายเชษฐ์   บุตรรักษ์  นายอำเภอมะนัง มอบหมายให้ปลัดป้องกัน อส. และ และอสม.  นำอาหารปลาดุก อาหารไก่ ไปมอบให้ชาวมานิ  ศรีมะนัง  ที่ทับชาวมานิ  อาศัยอยู่กว่า  30 คนในหน่วยพิทักษ์ป่าภูผาเพชร  หมู่ที่ 9  ตำบลปาล์มพัฒนา  อำเภอมะนัง  จังหวัดสตูล    เพื่อใช้เลี้ยงสัตว์ เป็นอาหาร  พร้อมนำภาพถ่าย  แป้งนาโหนด  ให้ชาวมานิดูหากพบเห็นให้ระมัดระวังตัว

          โดยในช่วงที่ขอความร่วมมือไม่ให้เข้าไปเข้าหาอาหารในป่าตามแนวเทือกเขาบรรทัดในช่วงนี้    เพราะอาจเกิดความไม่ปลอดภัยได้ เนื่องจากขณะนี้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้กระชับพื้นที่แนวเทือกเขาบรรทัดในการติดตามไล่ล่า  แป้งนาโหนด   หรือ  นายชวลิต  ทองด้วง  ผู้ต้องหารายสำคัญ

          นายแป้น  ศรีมะนัง   เปิดเผยว่า   ไม่ได้เข้าไปหาของป่าเป็นเวลา 3 วันแล้ว  หลังทางการขอความร่วมมือ  เพราะกลัวอันตรายจากคนร้ายที่ทราบว่ามีอาวุธปืนติดมาด้วย   ทำให้พวกตนต้องกินอาหาร  จากเจ้าหน้าที่ของรัฐและชาวบ้านที่นำมาให้แทน   ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะต้องขอความร่วมมืออีกกี่วัน  เอาพวกตนชอบหาอาหารป่ากินมากกว่า  

          โดยปกติจะออกไปหาอาหารป่า เดินไปตามช่องทางเดิมซึ่งชาวมานิได้บุกเบิกไว้  เพียง 10  ชั่วโมงเดินทางก็สามารถเข้าเขตพื้นที่จังหวัดพัทลุงได้  พวกตนไม่มีถ้ำพักระหว่างทาง  แต่ช่วงนี้ยอมรับว่าไม่กล้าที่จะเดินเข้าป่า  ซึ่งเห็นตามรูปภาพที่เจ้าหน้าที่เอามาให้ดูยืนยันว่าไม่เคยเห็น  แป้งนาโหนด  ในพื้นที่ของตนมาก่อน

           หากเจอตัวก็พร้อมจะวิ่งหนีเพราะเขามีปืน   อยู่ในทับก็รู้สึกอุ่นใจเพราะเจ้าหน้าที่เข้ามารักษาความสงบเรียบร้อยดูแลอยู่ตลอด

          ขณะที่ด้านฝ่ายปกครอง โดยนายประกิจ   หลีเหมือน  ปลัดป้องกันอำเภอมะนัง ยืนยันว่าขณะนี้ไม่มีเบาะแสผู้ต้องหารายสำคัญเข้ามาในพื้นที่  ได้มีการร่วมกันสกัดกั้น  เส้นทางเข้าออก รวมทั้งการส่งเสบียงขึ้นเขา  โดยขอความร่วมมือไปยังชาวบ้าน   โดยเฉพาะชาวมานิ  ให้อยู่ยังจุดที่พัก  ซึ่งมีเจ้าหน้าที่มาคอยรักษาความสงบเรียบร้อยสร้างความอุ่นใจเพื่อไม่ให้ตื่นตระหนก

          ขณะที่ด้านการชุมชนท่องเที่ยวถ้ำภูผาเพชร หมู่ที่ 9 บ้านควรดินดำ  ตำบลปาล์มพัฒนา  อำเภอมะนังจังหวัดสตูล ยอมรับว่าโปรแกรมเดินป่าต้องเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด  เนื่องจากเกรงความไม่ปลอดภัย  และไม่อยากเป็นภาระในช่วงนี้ที่เจ้าหน้าที่กำลังปิดล้อมตรวจค้นเทือกเขาบรรทัด   เพื่อไล่ล่าคนร้าย

          นางประจวบ   คงแก้ว  ไกด์ชุมชน/ชุมชนท่องเที่ยวถ้ำภูผาเพชร  กล่าวว่า  โปรแกรมการเดินป่าในช่วงนี้ต้องยุติไปก่อนอย่างไม่มีกำหนดเพื่อไม่ต้องการเป็นภาระให้กับเจ้าหน้าที่ที่กำลังติดตามคนร้าย  แต่ในส่วนของการท่องเที่ยวถ้ำภูผาเพชร/และทับมานิยังคงสามารถท่องเที่ยวได้ตามปกติ

        ขณะที่ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจ/ฝ่ายปกครอง ผู้นำท้องที่ท้องถิ่น ในอำเภอมะนัง ยังคงเข้มข้นในการเฝ้าระวัง พร้อมลาดตระเวนและตั้งจุดตรวจสกัดเพื่อป้องกันการหลบหนีของแป้งนาโนดมาทางช่องทางนี้ 

………

Categories
ข่าวเด่น

สตูล-ชาวสวนยางผวา  แป้ง นาโหนด  พกอาวุธข้างกายตลอดแม้ยามนอน  เปลี่ยนเวลากรีดยางพาราหวั่นอันตราย  ขณะที่ฝ่ายความมั่นออกลาดตระเวนไม่ลดละ  

สตูล-ชาวสวนยางผวา  แป้ง นาโหนด  พกอาวุธข้างกายตลอดแม้ยามนอน  เปลี่ยนเวลากรีดยางพาราหวั่นอันตราย  ขณะที่ฝ่ายความมั่นออกลาดตระเวนไม่ลดละ  

          วันที่ 13  พ.ย. 66   ความคืบหน้าคดีไล่ล่า   แป้งนาโหนด หรือ เสี่ยแป้ง   หรือ  นายเชาวลิต  ทองด้วง   บนเทือกเขาบรรทัดรอยต่อพัทลุง  ตรัง และสตูล  ยังคงมีเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนและติดตามกันอย่างไม่ลดละ  แม้ฝ่ายความมั่นคงจะกระจายกำลังปิดล้อมกระชับพื้นที่ขึ้นบนภูเขาจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่พบตัว 

         ได้สร้างความหวาดกลัวให้กับชาวบ้าน  และชาวสวนยางพาราที่อาศัยริมเทือกเขาบรรทัด บ้านป่าพน หมู่ที่ 9 ตำบลปาล์มพัฒนา อำเภอมะนัง จังหวัดสตูล  ยอมรับว่ารู้สึกถึงความอันตราย และไม่ปลอดภัย  โดยไม่รู้จะเกิดขึ้นกับตนหรือไม่   ล่าสุดชาวบ้าน   เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า   จากกระแสข่าวการติดตามไล่ล่าว่าอาจจะหลบหนีมาทางเขาบรรทัดด้านจังหวัดสตูล  ยิ่งสร้างความหวาดกลัวไม่กล้าจะออกไปกรีดยางพาราในเวลากลางคืน  ทำให้ต้องปรับเวลาในการกรีดยางพาราเป็นช่วงฟ้าสางแทน   

         นางสาวเอ  ชาวบ้านป่าพน  ยอมรับว่า  หลังมีกระแสข่าวชาวบ้านในละแวกนี้ประมาณ 100 ครัว ต่างผวา และหวาดกลัวไม่กล้าที่จะเปิดประตูบ้านทิ้งไว้    โดยเฉพาะคนแปลกหน้า   หรือแม้กระทั่งจะนั่งพูดคุยกัน  ก็ต้องนั่งรวมกลุ่มกันหลายๆคน เพื่อสร้างความอบอุ่นใจ    ยามค่ำคืนหรือแม้กระทั่งยามนอน  ต้องพกมีดพร้า  หรือของมีดมีคมวางไว้ข้างกายทั้งยามนอนก็ตาม  เพื่อความอุ่นใจ   เพราะหมู่บ้านเราใกล้กับเทือกเขาบรรทัด กลางดึกก็กลัวจะมีใครมาเคาะประตูบ้าน หรือบุกเข้ามาในบ้านเพราะ   แป้ง นาโหนด   มีอาวุธปืนสงครามยิ่งสร้างความหวาดกลัว  ทำให้ต้องเปลี่ยนเวลาการกรีดยางพาราในยามดึกมากรีดยางพาราในตอนเช้าแทน  ซึ่งพวกตนยอมรับว่ากลัว แม้เจ้าหน้าที่จะบอกว่าไม่มีอะไรก็ตาม

       ทางด้านความมั่นคง  สภ.มะนัง  ได้มีการตั้งกำลังผสม ทั้งฝ่ายปกครอง   ตำรวจ และ เจ้าหน้าที่ป่าไม้  เป็นพื้นที่รับผิดชอบใกล้เทือกเขาบรรทัด โดยมีนายเชษฐ์   บุตรรักษ์  นายอำเภอมะนัง  ได้มอบหมายให้ปลัดป้องกัน อส. พลัดเปลี่ยนกำลังที่มี เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.ทุ่งหว้า  ชุดสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัด  ชุดป้องกันและปราบปราม และสืบสภ.มะนัง   พร้อมอาวุธครบมือลาดตระเวนและตั้งจุดตรวจสกัด 24 ชั่วโมง ตรวจตรารถยนต์เข้าออกทุกคัน ที่มุ่งหน้าไปเที่ยวชมถ้ำภูผาเพชร และ หมู่บ้านชาวมานิ   เพื่อป้องกันไม่ให้มีการพยายามเข้ามาส่งเสบียง  และสกัดทุกช่องทางที่จะเชื่อได้ว่าเป็นเส้นทางหลบหนี

………………………………………………………………………….

Categories
ท่องเที่ยว-กีฬา

เปิดงาน Roadshow and Consumer Fair Andaman มุ่งหวังสร้างโอกาสและเพิ่มช่องทาง จําหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ สินค้าและบริการท่องเที่ยวชุมชน 

เปิดงาน Roadshow and Consumer Fair Andaman มุ่งหวังสร้างโอกาสและเพิ่มช่องทาง จําหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ สินค้าและบริการท่องเที่ยวชุมชน

         วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566   ณ ห้างเซ็นทรัลอุดรธานี อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี   ดร.สันติ ป่าหวาย หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานในพิธีเปิดงาน“Roadshow and Consumer Fair Andaman สินค้าชุมชนและบริการท่องเที่ยวของเครือข่ายท่องเที่ยวระดับประเทศ” ครั้งที่ 3 โดยมี นายสุรศักดิ์  อักษรกุล  รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายสุรัตน์ จรณโยธิน ท่องเที่ยว และกีฬาจังหวัดกระบี่ พร้อมด้วยท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดอุดรธานี ท่องเที่ยวและกีฬากลุ่มจังหวัดภาคใต้ ฝั่งอันดามัน (จังหวัดสตูล ภูเก็ต ระนอง กระบี่ พังงา และตรัง) ผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหาร และผู้ประกอบการกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน

           ด้านนายสุรัตน์ จรณโยธิน ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า “Roadshow and Consumer Fair” มีจุดหมายในการเพิ่มจํานวนนักท่องเที่ยวในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันและอุทยาน ธรณีโลกสตูลตลอดจนพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของเครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT) และเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวและประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรอง และมุ่งหวังสร้างโอกาสและเพิ่มช่องทาง จําหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ สินค้าและบริการท่องเที่ยวชุมชน

           สําหรับการจัดงานมหกรรม “Roadshow and Consumer Fair Andaman สินค้าชุมชน และบริการท่องเที่ยวของเครือข่ายการท่องเที่ยวระดับประเทศ” ครั้งถัดไป จะถูกจัดขึ้นในภาคใต้ ระหว่างวันที่ 23 – 26 พฤศจิกายน 2566 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

…………………….

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

   สตูล-นอภ.เนรมิตที่ว่าการอำเภอมะนังสร้างสุข   มะนังยั่งยืน  เป็นคลังอาหาร  บริการปชช.พร้อมเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ครบวงจร

สตูล-นอภ.เนรมิตที่ว่าการอำเภอมะนังสร้างสุข   มะนังยั่งยืน  เป็นคลังอาหาร  บริการปชช.พร้อมเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ครบวงจร

       

          หลังกระทรวงมหาดไทยให้ทุกอำเภอ   ทำโครงการบำบัดทุกข์บำรุงสุข   โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องประชาชน   โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่     

 

           ทำให้ที่บริเวณด้านหลังที่ว่าการอำเภอมะนัง  จังหวัดสตูล  นายเชษฐ บุตรรักษ์    นายอำเภอมะนัง   ได้ใช้พื้นที่ว่างเปล่า 20 ไร่ ของทางอำเภอเป็น บ่อปลาดุก  บ่อปลานิล ขนาดไซส์ต่างๆ ไว้เพื่อเป็นคลังอาหาร   ให้กับข้าราชการ และบุคลากรภายในอำเภอ    อีกทั้งยังสร้างโรงเลี้ยงแพะ   ภายในสวนปาล์มน้ำมันของที่ว่าการทางอำเภอ   โรงเลี้ยงไก่ไข่  ไก่บ้าน  และ เป็ดบ้าน รวมทั้งได้แบ่งพื้นที่  3 ส่วนได้แก่  ด้านประมง  ปศุสัตว์  รวมทั้งด้านการเกษตร  

 

            ซึ่งขณะนี้  สวนกล้วยพันธ์เพชรบุรี  ที่กำลังให้ผลผลิตสามารถเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านที่มาศึกษาดูงาน   ที่ศูนย์เรียนรู้แห่งนี้   นำพันธุ์ไปปลูกขยาย ในครัวเรือนได้อีกด้วย  นอกจากพันธุ์พืชแล้ว  ยังมีพันธุ์ปลา  ก็สามารถมาขอแบ่งปัน   จากที่ว่าการอำเภอมะนังได้  

 

พันธุ์สับปะรดในสวนผสม  เลี้ยงผึ้ง  และผักสวนครัวเพื่อเป็นคลังอาหาร โดยผลผลิตทั้งหมดนี้   นอกจากเป็นอาหารให้กับข้าราชการและบุคลากรภายในอำเภอแล้ว   ส่วนหนึ่งที่นำมาจำหน่าย   รายได้เฉลี่ยเดือนละ 10,000 บาท  จากผลผลิตปาล์มน้ำมัน   และผลผลิตทางด้านเกษตรและปศุสัตว์  โดยเม็ดเงินทั้งหมดจะนำมาหมุนเวียนจัดซื้ออุปกรณ์อาหารสัตว์ภายในที่ว่าการอำเภอ

            นายเชษฐ บุตรรักษ์   นายอำเภอมะนัง   กล่าวเพิ่มเติมว่า   สำหรับพื้นที่อำเภอมะนัง  มีจุดแข็งคือมีพื้นที่ของทางราชการ มากถึง 20 ไร่จากที่ประชุม 7 ภาคีเครือข่ายมีแนวทางในการพัฒนา บำบัดทุกข์บำรุงสุข  ภายใต้ชื่อมะนังสร้างสุข มะนังยั่งยืน  โดยใช้พื้นที่ที่มีอยู่เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ให้ข้าราชการบุคลากรของอำเภอ  ไปพร้อมกับเป็นศูนย์กลางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน     

 

          โดยแบ่งพื้นที่ เป็น 3 ส่วนได้แก่ด้านการเกษตรประมงและปศุสัตว์  โดยเฉพาะการส่งเสริมการปลูกกล้วยหอมเพชรบุรี ด้านประมงการเลี้ยงปลาดุก  การเลี้ยงปลานิล  ด้านปศุสัตว์ส่งเสริมการเลี้ยงแพะเลี้ยงเป็ดพื้นบ้านเลี้ยงไก่ไข่และไก่พื้นบ้าน  โดยส่งเสริมให้ชาวบ้านได้เข้ามาเรียนรู้  เพื่อนำไปปรับใช้ในครัวเรือนของตัวเองเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารและลดรายจ่ายในครัวเรือน   ผลผลิตที่ได้จะนำไปช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนอีกส่วนนำไปจำหน่ายเพื่อมาเป็นรายได้หมุนเวียนในการจัดซื้อวัตถุอุปกรณ์อาหารสัตว์  เพื่อบริหารจัดการในพื้นที่

 

อยากให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้เข้ามาเรียนรู้เพื่อนำไปฝึกเป็นอาชีพเสริมในการจัดหารายได้ว่าให้คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นได้ ไปทางอำเภอก็พร้อมจะสนับสนุนในเรื่องของพันกล้าพันธุ์สัตว์ให้กับพี่น้องประชาชนได้

……………………………..

Categories
ข่าวทั่วไป

สตูล-เลขาธิการ “บุญสงค์” เผย ความสำคัญ เลือกตั้ง คกก.ประกันสังคม เชิญชวน นายจ้างผู้ประกันตน ลงทะเบียนใช้สิทธิได้แล้ว วันนี้ถึง 10 พ.ย. 66

สตูล-เลขาธิการ “บุญสงค์” เผย ความสำคัญ เลือกตั้ง คกก.ประกันสังคม เชิญชวน นายจ้างผู้ประกันตน ลงทะเบียนใช้สิทธิได้แล้ว วันนี้ถึง 10 พ.ย. 66

            วันที่ 7 พ.ย.2566 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจัดการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม (ศอ.กต.นจ.ผปต.)  พร้อมคณะลงพื้นที่ยังสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสตูล  เพื่อตรวจเยี่ยมการเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม และให้แนวทางการทำงาน  โดยมี นางธาราทิพย์    ธนูทอง  ประกันสังคมจังหวัดสตูล และเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ

         

          โอกาสนี้  นายบุญสงค์  ทัพชัยยุทธ์  เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการจัดการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม (ศอ.กต.นจ.ผปต.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานประกันสังคมได้มีการจัดการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน  เป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม ในวันที่ 24 ธันวาคม 2566 เป็นการจัดการเลือกตั้งครั้งแรกของสำนักงานประกันสังคม  เพื่อคัดสรรค์ตัวแทนในการดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน และบริหารกองทุนประกันสังคมให้มีเสถียรภาพ  โดยคณะกรรมการประกันสังคมมีหน้าที่ในการบริหารจัดการและกำกับดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน  พร้อมกำหนดแนวทางเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ การบริหารเงินกองทุนรวมทั้งจัดหาผลประโยชน์ของกองทุนประกันสังคม โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง อีกทั้งมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและแนะนำคณะกรรมการ /สำนักงานประกันสังคม และปฏิบัติการอื่นๆ ใด ตามกฎหมาย หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานมอบหมาย ซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน ฝ่ายละ 7 คน นั้น มาจากผู้ประกันตนมาตรา 33 มาตรา 39 มาตรา 40 และนายจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม

 

          ในการนี้สำนักงานประกันสังคมได้เปิดโอกาสให้นายจ้างและผู้ประกันตนลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม ภายในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ผ่านทางเว็บไซต์ www.sso.go.th ตลอด 24 ชั่วโมง  หรือที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด ทั่วประเทศ ในเวลา 08.30 – 16.30 น. ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ

 

          เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม   กล่าวอีกว่า   จากตัวเลขยอดผู้ลงทะเบียน ณ วันที่ 7 พ.ย.2566 จำนวน 7 แสนกว่ารายทั่วประเทศ  ซึ่งถือว่ายอดผู้ลงทะเบียนไม่น้อย  เพราะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรก  โดยทางประกันสังคมได้สื่อสารทุกช่องทาง   

  

            นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวย้ำว่า ขอเชิญชวนนายจ้าง ผู้ประกันตน รีบลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม ตั้งแต่วันนี้ถึง 10 พฤศจิกายน 2566 เพื่อเป็นตัวแทนในการดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน และบริหารกองทุนประกันสังคมให้มีเสถียรภาพ อันจะนำไปสู่การยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของนายจ้าง ผู้ประกันตน สามารถสอบถามรายละเอียด และคำแนะนำในการจัดการเลือกตั้งเพิ่มเติม ได้ที่ ศูนย์อำนวยการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม (ศอ.กต.นจ.ผปต.) โทร. 02-956-2222 ในเวลา 08.30 – 16.30 น. ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ

 

        ด้านนางสาวโชติรส  ขุนเศษ  อายุ 29 ปี  ผู้ประกันตนมาตรา 39 (บริษัททัวร์)กล่าวหลังเดินทางมาลงทะเบียนเลือกตั้ง   ว่า   หลังทราบข่าวก็ได้มาลงทะเบียนและจะไปลงเลือกตั้ง  แม้ไม่ทราบสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนที่จะได้จากบอร์ดผู้ประกันสังคม แต่คิดว่าจะมีทิศทางที่ดี  สำหรับสิ่งที่อยากให้ประกันสังคมเพิ่มเติมคือ อยากให้เพิ่มยอดเงินจากการรักษาฟันบเพราะยอดต่อปี  900 บาท มันน้อยไป

 

          สำหรับจังหวัดสตูล ตัวเลขการลงทะเบียนผู้ใช้สิทธิในการเลือกตั้งผู้แทนผ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน  ณ วันที่ 6 พ.ย.2566  จำนวนนายจ้างทั้งหมด 950 ราย  ผู้ประกันตน  48,486  ราย  คาดการณ์ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง  แยกเป็นนายจ้าง 706 ราย   ผู้ประกันตน  24,161  ราย  รวมผู้มีสิทธิเลือกตั้ง  24,867  ราย   ส่วนยอดผู้ลงทะเบียนแล้ว  แยกเป็นนายจ้าง  18 ราย  ผู้ประกันตน  2,107  ราย  รวม  2,125 ราย(8.55%)   มีผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน จำนวน 1 ราย   

………………………………………………….

Categories
ข่าวทั่วไป เกษตร - อาชีพ

   สตูล-เลี้ยงปลาดุกอุยในสวนยางข้างบ้าน ต่อยอดแปรรูปส่งขาย   

สตูล-เลี้ยงปลาดุกอุยในสวนยางข้างบ้าน ต่อยอดแปรรูปส่งขาย

        ชาวบ้านหมู่ที่ 8 ตำบลนิคมพัฒนา   อำเภอมะนัง  จังหวัดสตูล ใช้พื้นที่ว่างในสวนยางพารา  และ พื้นที่ข้างบ้าน เป็นกระชังบก ขนาด 3x 6 เมตรเพื่อเลี้ยงปลาดุกบิ๊กอุย จำนวน 700 ตัว  ไว้บริโภคอีกทั้งเป็นการลดรายจ่ายในครัวเรือน

 

          ซึ่งนายวิชิต  ชูน้อย  อายุ 65 ปี ส.อบต.นิคมพัฒนา  บ้านเลขที่  115  ม.8  นิคมพัฒนา อ.มะนัง บอกว่า ก่อนที่จะลงมือเลี้ยงทางตนได้เข้าอบรมรับความรู้จากประมงจังหวัด เรื่องเทคนิคการเลี้ยง  การดูแลระบบน้ำ  การให้อาหาร  ดูแล้วไม่ยาก  เพราะใช้พื้นที่ข้างบ้านในการเลี้ยงที่ไม่มากนัก  หลือจากรับประทานก็สามารถขายเพื่อนบ้านในราคาถูกกว่าท้องตลาดได้   ขณะนี้ทางชาวบ้านได้มีการตั้งเป็นกลุ่ม ชื่อ  กลุ่มประมงน้ำจืดหมู่ที่ 8  มีสมาชิก 15 คนทุกครัวเรือนมีกระชังบกทุกบ้าน

 

         สำหรับปลาดุกบิ๊กอุย ที่เหลือจากรับประทานภายในครัวเรือนยังสามารถที่จะนำมาแปรรูปส่งขายไปนอกพื้นที่ได้   ซึ่งกลุ่มชาวบ้านภายใต้ชื่อสวนลุงธา  ตำบลนิคมพัฒนา  อำเภอมะนัง  จังหวัดสตูล  เป็นอีกหนึ่งแหล่งเรียนรู้ ในการสอนแปรรูปปลาดุกร้า  (ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในวิธีการถนอมอาหาร) โดยใช้เกลือในสัดส่วน 15 ถุงน้ำตาลทราย 5 กิโลกรัมและปลาดุก 15 กก. คลุกเคล้าและยัดเกลือและน้ำตาลที่ผสมกันแล้วลงไปในท้องปลาดุก  พักไว้ในกล่องพลาสติกที่มีฝาปิดมิดชิดจำนวน 3 วัน จากนั้นนำมาล้างให้สะอาดและนำไปตาก 3 แดด ก็สามารถนำมารับประทานและส่งขายได้ในกิโลกรัมละ 330 บาท

      นายนิพนธ์   เสนอินทร์  ประมงจังหวัดสตูล  กล่าวว่า  โครงการนี้เป็นงบประมาณเหลือจ่ายประจำปี 2566 เป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร  โดยโครงการนี้อุดหนุนในเรื่องของพันธุ์ปลาดุก  อาหารและกระชังปลา  ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่อำเภอท่าแพ  อำเภอทุ่งหว้า  อำเภอมะนัง  อำเภอควนกาหลง  และอำเภอควนโดน จำนวน 5 รุ่นรุ่นละ 35 รายรวมทั้งสิ้น 175 ราย

 

          โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้  ไม่มีบ่อดินและขาดโอกาส  สามารถใช้พื้นที่เล็กน้อยและไม่มีแหล่งน้ำสามารถเลี้ยงไว้ข้างบ้าน  หลังครบ 40 วัน จากนั้นก็จะมีการติดตามผลโดยมีปราชญ์ทางด้านเกษตร ผู้แทนภาคประชาชน  มาร่วมให้คำแนะนำและวางแผน  จากการติดตามพบว่าอัตราการรอดดีมากรวมทั้งการเติบโตของปลาดี

 

          นอกจากจะมีรับประทานภายในครัวเรือนแล้วสำนักงานประมงจังหวัดสตูลยังคาดหวังว่าจะสามารถแบ่งปันขายในชุมชนรวมทั้งการแปรรูปเป็นสินค้าภายในชุมชนหรือส่งขายไปด้านนอกชุมชนได้  เป็นผลิตภัณฑ์ปลาดุกร้าหรือปลาดุกเค็มต่อไปได้

……………..